ชีวิตแสนเศร้าของเจ้าหญิงอินเดียนแดง

ชีวิตแสนเศร้าของเจ้าหญิงอินเดียนแดง

โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้

Loading

“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง

ถ้าเอ่ยชื่อเจ้าหญิง “มาโตอาคา” เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก  เพราะชาวโลกรู้จักเธอในอีกชื่อหนึ่ง นั่นคือ “โพคาฮอนตัส”  ชื่อนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เมื่อวอลล์ดิสนีย์นำมาสร้างเป็นการ์ตูน

ใครเลยจะรู้ว่าชีวิตจริงของเจ้าหญิงมาโตอาคาไม่ได้สวยงามหวานชื่น อย่างที่เห็นในการ์ตูนแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับขมขื่นอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว  ทั้งที่เป็นถึงลูกสาวหัวหน้าเผ่า  เรื่องราวของโพคาฮอนตัสเริ่มต้นขึ้นในช่วงก่อตั้งอาณานิคมเจมส์ทาวน์ อันเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษในโลกใหม่ ก่อนที่จะกลายเป็นอเมริกาวันนี้

หลังจากนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางสู่อเมริกาเหนือ  ชาวยุโรปก็หลั่งไหลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย เพื่อลงหลักปักฐานสร้างชุมชนบนดินแดนใหม่  โดยเฉพาะห้าชาติจากยุโรปคือ อังกฤษ สเปน ฮอลแลนด์ โปรตุเกส และฝรั่งเศส

แต่การเข้ามาประกาศว่า “จอง” ที่ดิน  ไม่ใช่เครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง  ตามความคิดของชนชาติยุโรปยุคนั้นคือจะต้องนำพลเมืองจากประเทศแม่เข้ามาก่อตั้งอาณานิคมอย่างชัดเจน ถึงจะประกาศว่าเป็นเจ้าของดินแดน ทั้งที่แผ่นดินที่เข้าไปจับจองล้วนเป็นแผ่นดินของอินเดียนแดงทั้งสิ้น แต่ทั้ง 5 ชาติก็ไม่สนใจ  นอกจากคิดว่าจะลำเลียงผู้คนมาลงหลักปักฐานบนแผ่นดินใหม่ให้ได้มากที่สุด

ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 อังกฤษก้าวขึ้นสู่ความเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือ เริ่มตื่นตัวทางการค้าและการตั้งอาณานิคมในดินแดนต่างๆ  เพราะเห็นว่าประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะสเปน “ปล้น” ดินแดนอื่นจนมั่งคั่งร่ำรวย อังกฤษเลยอยากได้ทรัพย์สินจากดินแดนแปลกหน้าเช่นนั้นบ้าง จึงเกิดความคิดที่จะตั้งอาณานิคมของตนในดินแดนอื่นทั่วโลก รวมทั้งในอเมริกาด้วย

การที่อังกฤษกลายเป็นเจ้าแห่งการเดินเรือ ส่งผลให้ชาวอังกฤษมองหาโอกาสดีๆ ในชีวิต การเดินทางมาเป็นชาวอาณานิคมหมายถึงการได้รับที่ดินและโอกาสในการทำมาหากิน ประจวบกับเวลานั้นเกิดปัญหาภายในประเทศมากมาย  จึงทำให้ชาวอังกฤษตัดสินใจเดินทางมาแสวงหาโอกาสบนแผ่นดินใหม่มากมาย

หลังจากที่อังกฤษพยายามก่อตั้งอาณานิคมมาก่อนหน้านี้ถึงสองหนแต่ล้มเหลว วันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1607  เรือสามลำคือเรือซูซาน คอนสแตน (Susan Constant) ก๊อดสปีด ( God Speed) และดิสโคเวอรี่ ( Discovery) บรรทุกข้าวของเครื่องใช้ เสบียงอาหารและชายชาวอังกฤษหนึ่งร้อยคนมาถึงอเมริกาในวันที่ 24 พฤษภาคมปีเดียวกัน ผู้อพยพตั้งชื่อแม่น้ำสายที่ไหลผ่านบริเวณนั้นว่าแม่น้ำเจมส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และตั้งชื่ออาณานิคมในโลกใหม่ว่า “เจมส์ทาวน์” ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ชาวอาณานิคมทนสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมไม่ได้ เพาะปลูกพืชด้วยเมล็ดพันธุ์ที่บริษัทนำมาไม่ขึ้น เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิในปีรุ่งขึ้น ปรากฎว่าเหลือชาวอาณานิคมอยู่เพียงแค่ 40 คน นอกนั้นเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาวอันยาวนาน ภายใต้การปกครองของจอห์น สมิธ ซึ่งพยายามทำตัวเป็นมิตรกับอินเดียนแดงที่อาศัยอยู่ละแวกนั้น

ก่อนหน้าการมาถึงของกัปตันจอห์น สมิธ  บริเวณอ่าวเชซาพีก (Chesapeake Bay) มีอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งคือเผ่าเชซาพีกอาศัยอยู่อย่างสงบ แต่อินเดียนแดงอีกเผ่าหนึ่งนำโดยหัวหน้าเผ่าพาวฮาทัน ผู้เป็นพ่อของโพคาฮอนตัสบุกโจมตีและยึดดินแดนแถวนี้เป็นของตนเพื่อรวบรวมเผ่าต่างๆ เป็นปึกแผ่น

เมื่อจอห์น สมิธและผู้อพยพชาวอังกฤษเข้ามาตั้งอาณานิคมก็รุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของพาวฮาทัน  อินเดียนแดงจึงจับตัวจอห์น สมิธวัย 28 ปีไว้ ลูกสาวหัวหน้าเผ่าชื่อ ‘มาโตอาคา’ (Matoaca) หรือรู้จักในนาม “โพคาฮอนตัส” วัย 11 ขวบมาขวางเอาไว้เพราะความสงสาร ไม่ใช่ความรักตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดสร้าง เพราะอายุห่างกันมาก  สุดท้ายคนผิวขาวและอินเดียนแดงก็กลายเป็นมิตร เมื่อจอห์น สมิธกลับอังกฤษเพราะบาดเจ็บ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอาณานิคมกับเผ่าของพาวฮาทันลดน้อยถอยลง จากนั้นทั้งชาวอาณานิคมและอินเดียนแดงก็ปะทะกันมาตลอด

ความอดอยากและจำนวนชาวอาณานิคมที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกไปเรื่อยๆ ทำให้หัวหน้าเผ่าพาวฮาทันรู้สึกว่าคนผิวขาวเหล่านี้คือศัตรูคุกคามเผ่าของตน ในปี ค.ศ.1613 แซมมวล อาร์แกลลักพาตัวโพคาฮอนตัสเพื่อเอาไว้ต่อรองกับอินเดียนแดง แถมฆ่าสามีอินเดียนแดงของโพคาฮอนตัสและตั้งใจจะฆ่าลูกชายของเธอ แต่เธอซ่อนลูกชายไว้จึงรอดตาย    ส่วนตัวโพคาฮอนตัสโดนข่มขืนอย่างทารุณ

แม้หัวหน้าเผ่าพาวฮาทันจะทำตามที่ชาวอาณานิคมเรียกร้องทุกอย่าง โดยยอมปล่อยเชลยผิวขาวแลกกับอิสรภาพของลูกสาว แต่กลับไม่มีการปล่อยตัวโพคาฮอนตัสตามที่ตกลงกันไว้ เพราะต้องการเอาไว้แลกเปลี่ยนกับข้อเรียกร้องที่เอื้อประโยชน์แก่คนผิวขาวจนกระทั่งโพคาฮอนตัสตั้งครรภ์อันเป็นผลพวงจากการถูกข่มขืนจึงได้รับการปล่อยตัว

หลังจากโดนปล่อยตัว เธอเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ โดยได้รับการตั้งชื่อแบบคริสเตียนว่า “รีเบคกา” จากนั้นก็แต่งงานกับจอห์น รอล์ฟ (John Rolfe) วันที่ 5 เมษายน ปี ค.ศ. 1614 ทำให้ความสัมพันธ์ของอินเดียนแดงและชาวอาณานิคมดีขึ้น การแต่งงานกับจอห์น รอล์ฟไม่ได้เป็นการแต่งงานเพราะความรัก แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ จอห์น รอล์ฟ นำพันธุ์ยาสูบของอินเดียนแดงมาปลูกในอาณานิคม กลายเป็นที่สินค้ายอดนิยมในตลาดยุโรปจนทำรายได้มากมายให้อาณานิคมเจมส์ทาวน์ และแน่นอนความมั่งคั่งของตัวเองด้วยเช่นกัน

ฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1616 โพคาฮอนตัส จอห์น รอล์ฟ และลูกที่เพิ่งเกิดเดินทางไปอังกฤษ อาศัยอยู่ที่นั่นช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาอาณานิคมเจมส์ทาวน์ในอเมริกา แต่เธอล้มป่วยด้วยโรคฝีดาษ เพราะอินเดียนแดงไม่มีภูมิต้านทานโรคฝีดาษ

สุดท้ายโพคาฮอนตัสเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 21 ปี ประกอบพิธีฝังศพในอังกฤษเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1617 เรื่องนี้ทำให้หัวหน้าเผ่าพาวฮาทันตรอมใจจนเสียชีวิต เพราะไม่ได้เห็นหน้าลูกสาวกับหลานที่เพิ่งเกิด ส่วนจอห์น รอล์ฟก็แต่งงานใหม่หลังจากนั้น

หลังจากหัวหน้าเผ่าพาวฮาทันเสียชีวิต พี่ชายของพาวฮาทันชื่ออัลกอนควินขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่าแทน อัลกอนควินไม่เห็นด้วยที่คนผิวขาวเข้ามายึดดินแดนตน จึงเปิดศึกกับชาวอาณานิคมไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือผู้หญิง

ชาวอาณานิคมจึงเอาคืนด้วยการลวงอินเดียนแดงมาแล้ววางยาพิษ ลูกชายของโพคาฮอนตัสที่เกิดจากสามีอินเดียนแดงกลับร่วมมือกับชาวอาณานิคมฆ่าคนในเผ่าตัวเอง อัลกอนควิน ลุงของโพคาฮอนตัสถูกจับ ส่วนอินเดียนแดงที่รอดตายก็ถูกชาวอาณานิคมอังกฤษบังคับให้กลายเป็นทาส เห็นไหมล่ะว่าชีวิตโพคาฮอนตัสไม่ได้งดงามเหมือนในการ์ตูนเลยแม้แต่นิดเดียว

 

Don`t copy text!