เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“จำได้ว่าขนาดเราเองตอนเด็กๆ
อุตริเอาสีเทียนมาเขียนกำแพงบ้านเล่น
ยังถูกผู้ใหญ่เอ็ดเอาว่า ‘อยากจะเป็นเหมหรือ?'”
เรื่องผีๆ สมัยนี้เราว่าไม่ค่อยจะน่ากลัว โดยเฉพาะหนังผีดูไปบ่อยๆ ก็ชักจะเริ่มเซ็งเพราะพล็อตเรื่องคล้ายๆ กันหมด พอจะเดาได้ว่าเมื่อไหร่ผีจะโผล่พรวดออกมา ทำเอาเรารู้จังหวะหลับตาทันแทบจะทุกที มิหนำซ้ำผีในหนังสมัยนี้ยังชอบหลอกดะ ถ้าเป็นผีไทยอยู่ดีๆ ก็ไปไล่บีบคอ ถ้าเป็นผีฝรั่งก็เอาเลื่อยเอามีดไปไล่ฟันชาวบ้าน ไม่ได้มีสาเหตุความคับแค้นที่สมเหตุสมผลซักเท่าไหร่ ดูเป็นผีบ้าไร้สาระเลอะเทอะกันไปหมด ในความรู้สึกส่วนตัว เรื่องผีๆ สมัยนี้มันเทียบไม่ได้เลยกับความรู้สึกที่เคยได้สัมผัสสมัยเด็กๆ โดยเฉพาะตอนได้อ่านหนังสือนิยายผีที่บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้านเมืองเราสมัยก่อนตอนที่บรรยากาศยังเงียบๆ เปลี่ยวๆ ที่มักจะมีกระท่อมปลายนา ดงกล้วย ต้นตาล บ้านริมคลอง แต่ละเรื่องก็บรรจงอธิบายรายละเอียดซะถี่ยิบ ดึงเอาเราเข้าไปอยู่ในฉากนั้นด้วย หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ร้อยเรื่องสร้างเหตุสร้างผลขมวดปมทีละนิดทำให้อ่านเพลินยิ่งอยากติดตามจนโป๊ะเชะไปจ๊ะเอ๋กับผีเข้าอย่างไม่ได้ตั้งตัว เพื่อไม่ต้องให้มโนกันเอาเอง หนังสือนิยายเหล่านี้ยังมีภาพประกอบที่วาดได้อย่างชนิดที่ว่าน่ากลัวติดตาชวนขวัญผวาทำเอาเรากลัวผีจนอุจจาระหดผายลมหาย กลางค่ำกลางคืนจะหลับจะนอนต้องเปิดไฟ และยังระแวงมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ และก็เพิ่งจะมารู้เอาภายหลังตอนที่เราโตแล้วว่าทั้งคนเขียนเนื้อเรื่องสุดสยองและคนวาดภาพประกอบชวนขนหัวลุกในหนังสือนิยายผีสุดคลาสสิกหลายเล่มที่เราชมชอบนั้นคือคนคนเดียวกัน สุดยอดศิลปินผู้ที่มีความสามารถรอบด้านผู้นั้นก็คือ เหม เวชกร
เหม เวชกร เกิดในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2446 ณ ตำบลพระราชวัง อำเภอและจังหวัดพระนคร ที่ทุกวันนี้เรียกเขตพระนคร กรุงเทพฯ เหมมีเชื้อเจ้าเพราะเป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์หุ่น ทินกร กับหม่อมหลวงสำริด พึ่งบุญ ตอนเล็กๆ เหมเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ก็เรียนไม่จบสักที่เพราะขยันโดดเรียนเป็นประจำ เหมไม่ชอบเรียนหนังสือแต่รักการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ จึงขีดๆ เขียนๆ ฝึกฝนฝีมือด้วยตนเองมาเรื่อยๆ
เมื่อพ่อกับแม่ของเด็กชายเหมแยกทางกัน เหมเลยต้องย้ายไปอยู่ในอุปการะของ หม่อมราชวงศ์แดง ทินกร ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง และก็พอดิบพอดีกับที่ในขณะนั้นหม่อมราชวงศ์แดงมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้ควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ด้วย นอกจากจะต้องคอยประสานเก็บรายละเอียดอภิมหาอลังการงานสร้างพระที่นั่งแล้ว หม่อมราชวงศ์แดงยังมีหน้าที่ดูแลบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ในซอยวัดสามพระยา ย่านบางลำพู บ้านสไตล์ริเวอร์วิวหลังงามนี้มีไว้ให้เหล่าสุดยอดศิลปินฝรั่งที่รัฐบาลสยามลงทุนว่าจ้างมาจากประเทศอิตาลีใช้พักอาศัยระหว่างที่ทำงานตกแต่งพระที่นั่งอนันตสมาคม เพราะลุงต้องคอยดูแลบ้าน เด็กชายเหมก็เลยได้กินได้นอนอยู่ท่ามกลางฝรั่ง ณ ที่แห่งนี้ด้วย
จนมาวันหนึ่งขณะที่เด็กชายเหมกำลังนั่งวาดภาพด้วยสีชอล์กเพลินๆ อยู่บนท่าน้ำ คาร์โล ริโกลี จิตรกรผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบและวาดภาพประดับบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม ก็บังเอิญเดินผ่านมาสะดุดตาฝีมือของเหมเข้า ริโกลีเห็นเหมแล้วดูมีแววว่าจะรุ่ง และพอได้รู้ว่าเหมไม่เคยเรียนมาจากไหน ที่วาดได้เก่งเพราะพรสวรรค์ล้วนๆ ก็ยิ่งทำให้ทึ่งเข้าไปใหญ่ ด้วยความเอ็นดู ริโกลีเลยสอนเทคนิคการวาดภาพให้เหม และยังให้ไปช่วยงานที่พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย ริโกลีถูกใจนิสัยใจคอของเหมมากจนถึงกับชวนกลับอิตาลีด้วยกันเพื่อเหมจะได้ไปเรียนต่อทางศิลปะที่นั่น หม่อมราชวงศ์แดงก็เห็นดีเห็นงามด้วยไม่ได้ติดขัดอะไร แต่พ่อของเหมไม่ยอมให้ไปก็เลยอด
ด้วยความผิดหวังที่ไม่ได้โอกาสไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก เหมจึงเกิดอาการเซ็งจัด หนีออกจากบ้านร่อนเร่พเนจรรับจ้างทำนู่นทำนี่ไปเรื่อยเพื่อหารายได้ประทังชีวิต งานที่เหมทำมีทั้งเป็นคนงานอู่ต่อเรือ นายท้ายเรือโยง ช่างเครื่อง ในช่วงชีวิตนี้เองที่เหมเริ่มใช้นามสกุล ‘เวชกร’ ซึ่งเป็นนามสกุลของ ขุนประสิทธิ์เวชชกร หมอประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ซึ่งเคยช่วยเหลือเหมเมื่อยามลำบาก
‘ทิวทัศน์’ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด 39 x 29 เซนติเมตร
เหมเริ่มมาใช้ความสามารถทางศิลปะในการหาเลี้ยงชีพตอนที่มาเป็นช่างเขียนภาพประกอบตำราของกรมตำราทหารบก กระทรวงกลาโหม เหมมีฝีมือดีเลยได้รับคัดเลือกให้ไปซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังบนระเบียงวัดพระแก้วด้วย นอกเหนือจากงานวาด เหมยังหาลำไพ่พิเศษโดยการรับจ้างเล่นดนตรีไทยประกอบการฉายหนัง พองานดนตรีเริ่มจะฝืดๆ เหมเลยเริ่มรับจ้างวาดปกหนังสือนิยาย เหมเอาจริงเอาจังกับการวาดภาพประกอบมากจนถึงขั้นหุ้นกับเพื่อนๆ เปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง โดยตั้งชื่อว่า ‘สำนักพิมพ์เพลินจิตต์’ ตีพิมพ์นิยายเล่มบางๆ พร้อมภาพประกอบที่เหมวาดเองออกขายในราคาเล่มละ 10 สตางค์ หลังจากนั้นเหมก็ยึดอาชีพวาดภาพประกอบและเขียนนิยายมาเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าภายหลังสำนักพิมพ์ของท่านจะประสบปัญหาขาดทุนต้องปิดตัวไป แต่ด้วยความสามารถระดับแนวหน้าของประเทศ เหมก็ยังมีงานว่าจ้างมาให้ยุ่งอีนุงตุงนังอยู่อย่างไม่ขาดสาย ทั้งงานภาพประกอบนิยายชื่อดังเรื่อง ‘แผลเก่า’ ของ ไม้ เมืองเดิม ภาพประกอบหนังสือชุดประวัติศาสตร์ไทย วรรณคดีไทย สุภาษิต พุทธประวัติ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ และเรื่องผีๆ แบบไทยๆ รวมหลายร้อยเรื่อง และถ้าจะคำนวณจำนวนภาพประกอบที่เหมเคยวาดเอาไว้ก็น่าจะมีหลายหมื่นภาพ ผลงานมากมายก่ายกองขนาดนี้คนไทยในยุคนั้นเลยไม่มีใครไม่รู้จักท่าน จำได้ว่าขนาดเราเองตอนเด็กๆ อุตริเอาสีเทียนมาเขียนกำแพงบ้านเล่นยังถูกผู้ใหญ่เอ็ดเอาว่า ‘อยากจะเป็นเหมหรือ?’
ในยามที่ว่างเว้นจากงานประจำ เหมยังมีส่วนในการสร้างศิลปินรุ่นถัดๆ มาโดยการไปเป็นครูพิเศษที่โรงเรียนเพาะช่าง นอกจากนั้นในเวลาว่างเหมยังสวมบทบาทนักไวโอลิน ท่านเล่นเก่งขนาดถูกเชิญไปออกทีวีอยู่เนืองๆ และด้วยความสามารถทางด้านดนตรีนี่เองจึงทำให้เหมได้พบรักกับ แช่มชื่น คมขำ นักดนตรีประจำสำนักวังหลานหลวง และครองรักกันมายาวนานตลอดชีวิตของท่าน และแล้วในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2512 เหม เวชกร ก็อำลาจากวงการศิลปะไทยไปโดยไม่มีวันหวนกลับด้วยโรคหัวใจในวัย 66 ปี
เหม เวชกร
(ภาพจากหนังสือ 100 ปี เหม เวชกร 2446-2546)
เมื่อตอนที่เราได้มีบุญตาเห็นผลงานต้นแบบของจริงฝีมือเหมเป็นครั้งแรก ภาพหลายๆ ภาพสุดแสนจะคุ้นตาเหมือนว่าเคยเห็นมาก่อนเมื่อตอนเยาว์วัยในหนังสือเล่มไหนสักเล่ม การที่แฟนคลับอย่างเราได้เห็นผลงานจริงของท่านนั้นก็เปรียบได้กับคนที่บ้ามิกกี้เมาส์ มาได้เห็นลายเส้นจริงๆ ฝีมือ วอลต์ ดิสนีย์ ก็ย่อมจะตื่นตาตื่นใจเป็นธรรมดา พอยิ่งพินิจพิจารณาดูใกล้ๆ ได้เห็นเส้นสายที่บรรจงวาดอย่างแม่นยำมีชีวิตชีวา และสีสันที่สดใสกว่าที่เคยเห็นในหนังสือ กายวิภาคของตัวละครแต่ละตัวไม่ว่าจะวาดจากมุมไหนก็สุดจะเป๊ะ สีหน้าแววตาท่าทางของทั้งคน ทั้งสัตว์ ทั้งผี ก็สื่อถึงความรู้สึกออกมาได้อยากลึกซึ้งโดยแทบจะไม่ต้องเดาเลยว่าคิดอะไรอยู่ ก็ยิ่งตื่นเต้นมือไม้สั่นกิเลสครอบงำอยากมีอยากได้ภาพต้นฉบับเหล่านี้ไว้เชยชมให้ชื่นใจ
ทีแรกเราก็คิดในใจว่าภาพวาดที่สื่ออารมณ์ได้ถึงขนาดนี้ และสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยศิลปินชื่อดังที่รุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่มีใครไม่รู้จักนั้นราคาคงจะสูงเสียดฟ้าคุยกันไม่รู้เรื่องแน่ แต่ไฉนได้ พอรู้ว่าภาพฝีมือเหมนั้นเขาเอามาเสนอให้ในราคาภาพละไม่กี่หมื่นบาทก็แปลกใจ เพราะศิลปินเด็กๆ ที่เพิ่งเรียนจบยังไม่ทันมีชื่ออะไรเขาก็ขายผลงานกันในราคาเท่านี้แล้ว คิดไปคิดมาเราว่าสาเหตุที่ราคาผลงานของท่านยังไม่แพงอาจจะเป็นเพราะผลงานของท่านมีจำนวนมาก เกือบทั้งหมดวาดไว้บนกระดาษไม่ได้วาดไว้บนผ้าใบอย่างที่นักสะสมเขาชอบกัน และวาดมาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปตีพิมพ์เป็นภาพประกอบ เลยอาจจะมีบางคนมองว่าผลงานเหล่านี้เป็นเพียงงานฝีมือไม่ใช่ผลงานศิลปะ แต่ใครจะคิดยังไงก็ช่าง เราว่านี่แหละคือผลงานศิลปะชั้นยอดอันพรั่งพร้อมไปด้วยแง่มุมทั้งทางสุนทรียศาสตร์ และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างครบครัน
ได้สัมผัสผลงานของเหมที่คลาสสิกอยู่เหนือกาลเวลาอีกหนแล้วก็นึกเลยเถิดอยากจะเห็นค่ายหนังเอาเรื่องผีกับลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านไปทำเป็นภาพยนต์แอนิเมชัน คิดถึงภาพบรรยากาศหลอนๆ ที่เคยผ่านตาจนทำเอาเราขาสั่นตอนสมัยเด็กๆ ให้มาดูอีกทีวันนี้ก็คงยังฉี่เล็ดอยู่เหมือนเดิม
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี