จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ

จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

เป็นสัจธรรมที่อาชีพใดๆ ก็แล้วแต่รวมถึงศิลปินน้อยใหญ่ล้วนต้องกินต้องใช้ การจะมุ่งสร้างผลงานศิลปะที่ดูสวยๆ งามๆ เพื่อเอาใจลูกค้า ต้องตาแกลเลอรีนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร แบบแผนทางศิลปะที่ถูกสอนต่อๆ กันมาจากสถาบันการศึกษา แล้วนำมาใช้ผลิตผลงานในรูปแบบที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะถ่ายทอดต่อๆ กันไปอีกเป็นทอดๆ จากรุ่นสู่รุ่นนั้นก็เป็นเรื่องปกติ บางทีสิ่งที่เป็นเรื่องธรรมดาแบบว่าใครๆ ก็ทำกันนั้นอาจจะกลายเป็นดาบสองคม เพราะด้วยพันธนาการที่ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังเหล่านี้ศิลปินมากมายจึงถูกฉุดรั้งไว้จนไม่สามารถจะก้าวข้ามไปยังพรมแดนใหม่แห่งโลกศิลปะที่ไม่เคยมีใครย่างกรายไปถึงได้

นี่อาจเป็นสาเหตุให้ศิลปินท่านหนึ่งซึ่งไม่คิดจะหารายได้จากงานศิลปะ ไม่แคร์แกลเลอรี ไม่อี๋อ๋อลูกค้า แถมยังไม่เคยได้ร่ำเรียนศิลปะ สถาบงสถาบันก็เลยไม่มี จึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ล้ำลึกกว่าใครๆจนสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นศาสดาแห่งลัทธิทางศิลปะในรูปแบบใหม่ได้ ในฐานะลูกหลานร่วมชาติเราจึงภูมิใจมากที่จะได้นำเสนอเรื่องราวของสุดยอดปรมาจารย์ไร้สำนักที่มีนามว่า จ่าง แซ่ตั้ง

จ่าง แซ่ตั้ง เป็นลูกจีนทั้งแท่ง พ่อชื่อซังเป็นจีนที่ระหกระเหินมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนแม่ชื่อเฮียงเป็นจีนที่เกิดในเมืองไทย ครอบครัวของจ่างนั้นยากจน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องโดยการนึ่งปลาทูขายอยู่ในตลาดสมเด็จฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนบุรี จ่างเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นวันกรรมกรพอดี ตอนเกิดที่บ้านตั้งชื่อให้ว่า เด็กชายเอ็งจ่าง แซ่ตั้ง จนตอนโตถึงได้มาเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นจ่างเฉยๆ ตั้งแต่เล็กจ่างถูกเลี้ยงดูขึ้นมาเพื่อให้เป็นแรงงานจึงไม่ได้เรียนหนังสือ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นออกกฎหมายให้เด็กทุกคนต้องมีการศึกษา จ่างเลยได้เข้าเรียนชั้นมูล หรือชั้นเตรียมประถมที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดพิชัยญาติใกล้ๆ บ้าน ในชั้นเรียนจ่างเป็นเด็กที่โตกว่าใครเพื่อนเพราะเริ่มเรียนช้ากว่าคนอื่น แต่เรียนๆ อยู่ได้แค่ปีเดียวยังไม่ทันจะอ่านออกเขียนได้ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาเสียก่อน จึงทำให้จ่างต้องออกจากโรงเรียน และหลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนที่ไหนอีก

สมัยเด็กๆ จ่างหาลำไพ่พิเศษโดยการรับจ้างแบกของลงเรือ เข็นรถขึ้นสะพานพุทธฯ แจวเรือข้ามฟาก และตักส้วม เพื่อนจ่างในตลาดก็แสบซะเหลือเกินชักชวนกันไปเป็นโจรล้วงกระเป๋า โชคดีที่จ่างไม่ได้อินด้วยเลยไม่ต้องไปนอนในซังเต เมื่อเสร็จจากงานจ่างชอบเดินข้ามถนนไปหาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เจ้าอาวาสวัดอนงคารามที่กุฏิของท่าน โดยมักจะหิ้วลำไยถุงเล็กๆ ไปถวาย และชวนพระคุยไปด้วยนั่งกินลำไยไปด้วย เลยไม่รู้ว่าไอ้ลำไยที่หิ้วไปถวายนี่ใครได้กินกันแน่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านเป็นผู้ใหญ่ใจดีเมตตาสอนจ่างต่างๆ นานา จ่างจึงได้ซึมซับพระธรรมคำสอนตามหลักศาสนาพุทธไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวตั้งแต่อายุแค่ 9 ขวบ

จ่าง แซ่ตั้ง ในวัยหนุ่มและพระบรมฉายาลักษณ์ เทคนิคสีผงถ่าน (ภาพจากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน)

เพราะความขัดสน ของเล่นของจ่างในวัยเด็กจึงเป็นของที่คนอื่นเขาทิ้งแล้วที่หาเก็บได้ฟรีๆ ในตลาด เช่น ก้อนถ่าน ชอล์ก จ่างเอามาละเลงเป็นภาพวาดตามพื้น ตามรั้ว ตามฝาบ้าน จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด ถึงโดนแม่เอ็ดพ่อตีก็ไม่เลิก พอได้เงินมาหน่อยจากงานรับจ้างจิปาถะก็เอาเงินไปซื้อกระดาษซื้อดินสอซื้อสีมาวาดภาพเหมือนพ่อแม่พี่น้องและคนรอบๆ ตัว ทีแรกก็ไปยืนดูช่างที่เขารับจ้างวาดภาพดูว่าเขาทำกันยังไงแต่ก็โดนไล่ จ่างเลยต้องฝึกเองไปเรื่อยๆ แบบไม่มีครู ฝึกไปฝึกมาอีท่าไหนไม่รู้จนในที่สุดสามารถวาดได้เก่งขนาดเอาไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ เมื่อโตขึ้นจ่างจึงเปิดร้านรับจ้างวาดภาพเหมือน โดยลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มานั่งทำหน้าแป้นแล้นเป็นแบบ แต่จะนำภาพถ่ายขาวดำเล็กๆ ขนาดประมาณภาพติดบัตรมาให้ หน้าที่ของจ่างคือขยายภาพเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพวาดเทคนิคสีผงถ่านบนกระดาษที่มีขนาดใหญ่พอจะสามารถจะเอาไปใส่กรอบแขวนฝาผนัง หรือตั้งหน้าโลงในงานศพได้ ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะสมัยนั้นร้านอัดขยายภาพด้วยเครื่องยังไม่มี ถ้าอยากได้ภาพเหมือนขนาดใหญ่ก็ต้องใช้วาดเอาทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนมา จ่างไม่เพียงแค่วาดภาพบุคคลได้อย่างยอดเยี่ยมเหมือนจริงสุดๆ แต่ยังสามารถวาดเทวดาและสวรรค์วิมานในสไตล์จีนได้แบบไม่เป็นสองรองใคร จ่างจึงถูกจ้างให้วาดภาพประดับประดาศาลเจ้าต่างๆ อีกด้วย

จ่างรักการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ พอมีเวลาว่างก็มักออกไปวาดวิวทิวทัศน์บ้านเมือง ชนบท ป่าเขา ทะเล กับแก๊งเพื่อนซี้ที่มีสมาชิกคอเดียวกัน เช่น ประเทือง เอมเจริญ ทริปแรกๆ ก็ได้ภาพวิวแบบปกติกลับมาบ้าน แต่พอออกไปวาดบ่อยๆ เข้า ภาพที่วาดก็เริ่มออกไปทางแนวนามธรรมขึ้นเรื่อยๆ จนชักจะดูไม่รู้เรื่อง ภายหลังจ่างติสต์แตกจนถึงจุดพีกตัดสินใจปิดร้านรับจ้างวาดภาพ ปวารณาว่าชาตินี้จะเลิกขายผลงานศิลปะ และหันมาเปิดแผงขายและให้เช่าหนังสือแทนเพื่อจะได้สามารถสร้างผลงานในสไตล์ตามใจตูได้อย่างเต็มที่

เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วหรือเมื่อราวปี พ.ศ. 2500 ในขณะที่เมืองไทยกำลังตื่นเต้นกับลัทธิทางศิลปะของยุโรปที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในบ้านเราใหม่ๆ อย่าง อิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ ศิลปินมากมายต่างเริ่มสร้างผลงานในสไตล์นี้ มีการจัดแสดง จัดประกวด และบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบัน จนกลายเป็นศิลปะกระแสหลักที่มีคนแห่กันชื่นชมเป็นจำนวนมาก แต่ผลงานของจ่างกลับยิ่งแหวกแนวออกไปจนไม่ได้มีความใกล้เคียงกับของที่ชาวบ้านชาวช่องเขานิยมกันเลยแม้แต่น้อย ลองจินตนาการถึงภาพสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์สีสันแพรวพราวผนวกกับฝีแปรงที่เร้าอารมณ์แบบเดียวกับโมเนต์ หรือภาพสไตล์คิวบิสม์ที่ตัดเส้นกันฉุบฉับหั่นภาพให้เป็นเหลี่ยมเป็นสันด้วยเทคนิคอันสลับซับซ้อนแบบเดียวกับปีกัสโซ แล้วเอามาเปรียบเทียบกับภาพผลงานของจ่างที่มีสีดำเป็นปื้นๆ เปรอะอยู่บนพื้นสีขาวจนถูกหาว่าเหมือนหมาขี้แล้วเอาหางละเลง ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจ่างถึงถูกดูถูกดูแคลนต่างๆ นานาจากผู้คนทั่วไป หรือแม้แต่เพื่อนศิลปินในสมัยนั้น แต่จ่างก็หาได้แคร์ไม่ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครชอบ หรือจะขายผลงานให้ใคร ก็เลยมุ่งสร้างผลงานในแบบของตัวเองนี้ออกมาอีกมากมายด้วยความอินสุดๆ จนถึงกับประกาศว่า ‘นามธรรมคือชีวิตของฉัน’

จ่าง แซ่ตั้ง และผลงานศิลปะนามธรรม (จากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง : จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม)

ผลงานสไตล์นามธรรมของจ่างนั้นดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนทำง่ายแค่ปาดสีมั่วๆ เหมือนเด็กที่วาดภาพไม่เป็น แต่อย่าลืมว่าอาชีพเก่าของจ่างนั้นคือการรับจ้างวาดภาพเหมือน เพราะฉะนั้นการจะวาดอะไรก็แล้วแต่ให้ดูสมจริงสวยงามสำหรับจ่างนั้นเป็นเรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ในมุมมองของจ่างผลงานนามธรรมนั้นสร้างสรรค์ยากกว่ามากเพราะจ่างต้องทุ่มเททั้งสติปัญญาและเรี่ยวแรงทั้งหมดอย่างเต็มที่เพื่อให้ออกมาลงตัว และหนึ่งวิธีการสร้างผลงานสไตล์นามธรรมของจ่างคือการนำผ้าใบเปล่าๆ มาขึงไว้นอกบ้าน หลังจากนั้นก็จะเริ่มกวนสีทาเรือทะเลข้นๆ ในกระป๋อง กวนวนไปวนมาอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ เป็นเวลานานเพื่อทำสมาธิบังคับจิตให้นิ่งสนิทปล่อยวางทุกอย่างทำนองเดียวกับการเดินจงกรม เมื่อถึงจุดที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลยแม้กระทั่งเสียงนกเสียงกา ร้อน หนาว หรือความรู้สึกใต้ฝ่าเท้าในขณะที่ยืนอยู่บนพื้น หรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ‘เอกัคคตภาวะ’ แล้ว จ่างก็จะพุ่งพรวดเข้าไปหาผ้าใบ ตวัด ปาด ละเลง ขูด ด้วยแปรง และส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งมือ ทั้งเท้า ทั้งนิ้ว ทั้งเล็บ จนสีซ่านกระเซ็นไปทั่วผืนผ้า ชายคา และหลังคาบ้าน กระโดดโลดเต้นอยู่อย่างนั้นอย่างสุดกำลังจนกระทั่งหมดแรงสลบเหมือดลงไปกองอยู่กับพื้น เมื่อเสร็จภารกิจลูกเมียที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านก็จะรู้หน้าที่ พากันออกมาหิ้วร่างจ่างไปปฐมพยาบาลให้ฟื้นคืนสติดังเดิม นี่ถ้าเราเผอิญเดินผ่านบ้านจ่างขณะกำลังวาดภาพเราคงคิดว่าสถานที่นี้คงเป็นสำนักเข้าทรงพ่อปู่เฮ่งเจีย หรือพ่อปู่บรูซ ลี อะไรซักกะอย่าง ไม่คิดว่าเป็นบ้านศิลปินนักวาดภาพเป็นแน่

ในวงการศิลปะสมัยใหม่ศิลปินที่วาดภาพได้เหมือนต้นแบบนี่นับว่าเป็นผู้บรรลุแค่ขั้นพื้นฐาน ศิลปินที่วาดภาพด้วยวิธีการแบบเดิมๆ เพิ่มเติมตรงที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองประมาณว่าเห็นภาพที่ไหนแค่ไม่ทันเห็นลายเซ็นก็รู้ได้ทันทีว่าใครวาด ศิลปินประเภทนี้เปรียบเสมือนผู้บรรลุโสดาบัน ส่วนศิลปินที่ริเริ่มรูปแบบ แนวคิด และวิธีการอันแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนี่ต้องยกให้เป็นผู้บรรลุอรหันต์ขั้นสุด ถ้าลองมานั่งพินิจพิเคราะห์กันแล้วจ่างนับว่าเป็นศิลปินไทยเพียงไม่กี่คนหรือดีไม่ดีอาจจะเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่มีคุณสมบัติขั้นสุดนี้ ถ้าจะให้เล่าว่าทำไมเราถึงกล้ายกยอปอปั้นจ่างถึงขนาดนั้น ก่อนอื่นต้องขอย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าที่จ่างจะวาดภาพด้วยวิธีการแบบนี้สักสิบกว่าปี หรือประมาณช่วง ค.ศ. 1940 ซึ่งเท่ากับ พ.ศ. 248X นิดๆ ในเวลานั้นมีศิลปินกลุ่มหนึ่งในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มสร้างผลงานศิลปะในสไตล์นามธรรมที่เกิดจากการสำแดงพลังอารมณ์ หรือที่เรียกว่า แอ็บสแตรกต์ เอ็กเพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ออกมา ศิลปินที่เป็นเจ้าลัทธินี้มีหลายคน ที่เด่นๆ เช่น แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ผู้ปฏิวัติการวาดภาพโดยการเอาผ้าใบเปล่าๆ กางไว้กับพื้น แล้วคว้ากระป๋องสีกับแปรงเดินวนซ้ายเวียนขวาก้มๆ เงยๆ หยด สาด เท สีอย่างคล่องแคล่วทะมัดทะแมงเต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลัง ที่พอลล็อกต้องออกแรงแอ็กชันกันขนาดนั้นเพราะเชื่อว่าวิธีการและขั้นตอนในการสร้างผลงานนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวผลงานเอง

ถัดจาก ค.ศ. 1940 มาอีกหนึ่งทศวรรษในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่จ่างเริ่มสร้างผลนามธรรม ก็เกิดมีกลุ่มศิลปินคิดนอกกรอบในประเทศญี่ปุ่นรวมตัวกันและตั้งชื่อก๊วนว่า กูไต (Gutai) กลุ่มนี้มีแนวความคิดคล้ายๆ กับแอบสแตรกต์ เอ็กเพรสชันนิสม์ คือแสดงอารมณ์แบบนามธรรม และคล้ายกับพอลล็อกตรงที่ให้ความสำคัญกับวิธีการและขั้นตอนในการสร้างงานศิลปะมากๆ มากเสียจนบางครั้งก็แทบจะหลุดกรอบจากงานจิตรกรรมกลายเป็นการแสดงไปเลย ยกตัวอย่างเช่น ซาบูโระ มุราคามิ (Saburo Murakami) ที่เอาบานประตูกระดาษแบบเดียวกับที่ใช้ในบ้านญี่ปุ่นโบราณ มาตั้งซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้ววิ่งทะลุประตูทั้งหมดให้ฉีกขาดเป็นรูโบ๋เป็นอันเสร็จพิธี ในขณะที่ศิลปินอีกคนอย่าง คาซูโอะ ชิรากะ (Kazuo Shiraga) เลือกที่จะขึงผ้าใบไว้บนพื้น ก่อนที่จะเอามือโหนเชือกที่ผูกอยู่กับขื่อเพดาน แล้วใช้เท้าละเลงสีไปบนผ้าขณะที่ตัวเองกำลังห้อยต่องแต่งไปมา เกิดเป็นภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากฝีไม้ลายตีน

จ่าง แซ่ตั้ง และผลงานศิลปะนามธรรม (จากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง : จิตรกรรมนามธรรม บทกวีรูปธรรม)

หน้าตา และวิธีการสร้างผลงานในรูปแบบนามธรรมของจ่าง ถ้าดูเผินๆ อาจจะละม้ายคล้ายคลึงกับของอเมริกาและญี่ปุ่น แต่มันก็เป็นแค่ความบังเอิญ เพราะจ่างไม่รู้มาก่อนว่ามีใครกำลังทำอะไรแบบนี้ที่ไหนในโลก และด้วยสาเหตุที่จ่างคิดค้นทุกอย่างขึ้นมาเอง ถ้าดูให้ดีๆ แล้วจะพบว่าผลงานของจ่างถึงจะคล้ายแต่ก็มีรายละเอียดและวิธีการสร้างที่ไม่เหมือนใคร เช่น จังหวะการปาดป้ายสีของจ่างนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นตะวันออกโดยเฉพาะความเป็นจีนอันเป็นรากเหง้าของจ่าง ถ้าย้อนดูผลงานชิ้นเก่าๆ จะเห็นได้ชัดแจ๋วเลยว่า จ่างเริ่มต้นจากการศึกษาการเขียนตัวอักษรภาษาจีนจนแตกฉาน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดทอนรูปร่าง และเส้นสายของตัวอักษร ในขณะที่เพิ่มพละกำลังและอารมณ์ลงไป พัฒนาลองผิดลองถูกอยู่ยาวนานจนสำเร็จกลายเป็นเส้นสายสไตล์นามธรรมแบบจ่าง ไม่ได้เกิดจากการไปก๊อปของใครเขามาแน่ๆ เพราะจ่างมีความคิดฝังหัวอยู่ว่าศิลปินต้องหมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าไม่สร้างสรรค์มัวแต่ไปเลียนแบบของคนอื่นอย่างนี้ต้องเรียกว่านักปล้น

แนวคิดในการสร้างผลงานของจ่างนั้นก็แตกต่างจากของคนอื่น จ่างมองว่าการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมเป็นการเจริญธรรมส่วนตัว เป็นกิจวัตรแบบเดียวกับที่เราสวดมนต์ก่อนนอน จ่างไม่ได้กะจะวาดไปโชว์ให้ใครดูหรือเอาไปขายหาสตางค์เหมือนของคนอื่น ทุกครั้งก่อนจะลงมือ จ่างจึงให้ความสำคัญมากกับการทำสมาธิ กำหนดจิตตามวิถีทางของศาสนาพุทธ ในขณะเดียวกันก็พยายามที่จะหลุดพ้นเป็นอิสระจากแรงปรารถนาตามหลักคำสอนของลัทธิเต๋าที่จ่างเลื่อมใส และในจังหวะที่กำลังวาดภาพจ่างยังเอาศาสตร์ของการเคลื่อนไหว และการถ่ายทอดลมปราณแบบกังฟูมาช่วยอีกด้วย ผลที่ออกมาคือภาพนามธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำหนักอ่อนแก่ แสดงความรู้สึกทั้งสงบนิ่ง ทั้งรุนแรง ซึ่งก่อเกิดจากสมาธิ พลัง และจิตวิญญาณบริสุทธิ์ อันปราศจากกิเลสใดๆ ทั้งปวง

ผลงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ที่จัดแสดงภายในบ้าน (ภาพจากหนังสือ ทัศนศิลป์ – กวีนิพนธ์ จ่าง แซ่ตั้ง)

นอกจากจะเจริญธรรมด้วยการวาดภาพแบบนามธรรม จ่างยังเลือกที่จะแสดงสัจธรรมของชีวิต สภาวะจิตใจ และสิ่งที่ตนเองและแต่ละสรรพสิ่งมีแผ่ซ่านอยู่ภายใน หรือที่เรียกให้ซับซ้อนว่า อัพภันตรภาพ ออกมาในแบบอย่างที่ไม่ซ้ำใครด้วยการวาดภาพใบหน้าตัวเองในอารมณ์ต่างๆ จ่างมีความเชื่อว่าการจะวาดอะไรขึ้นมาให้ดีได้เราจะต้องทำความเข้าใจสิ่งนั้นให้ถ่องแท้เสียก่อน เช่น การจะวาดภูเขาสักลูกไม่ใช่แค่เห็นภูเขาแล้วจะวาดได้ ศิลปินผู้นั้นต้องคลุกคลีจนกลายเป็นภูเขาให้ได้ จึงจะถ่ายทอดความเป็นภูเขาออกมาเป็นภาพได้อย่างครบถ้วน ตัวตนของจ่างจึงไม่มีใครอีกแล้วที่จะเข้าใจและถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตจิตใจ ครบถ้วนด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ดีกว่าตัวจ่างเอง จ่างวาดหน้าตัวเองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วัยหนุ่มยันแก่จนมีอยู่มากมายเป็นจำนวนหลายร้อยชิ้น และที่น่าทึ่งสุดๆ คือภาพหน้าตัวเองจำนวนมหาศาลที่ว่านี้แทนที่จะดูซ้ำซากจำเจ กลับมีความวาไรตี้เป็นที่สุด ทั้งในแง่ความรู้สึกที่มีทั้งว้าเหว่ เศร้าสร้อย อ่อนแอ โกรธเกรี้ยว ทรนง ดุดัน ขึงขัง และในแง่วัสดุที่มีหมดทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีโปสเตอร์ หมึกจีน ปากกา ดินสอ ผงถ่าน ทั้งวาดบนผ้าใบ วาดบนกระดาษ แกะสลักบนไม้ ปั้นด้วยปูน หลากหลายแม้กระทั่งเทคนิคการสร้างสรรค์ที่มีทั้งแบบจุด แบบขีด แบบขูด มีทั้งแบบที่ดูสมจริง และแบบที่ลดทอนรายละเอียดจนกลายเป็นภาพนามธรรม

“ละแวกบ้าน” พ.ศ. 2531 เทคนิคสีโปสเตอร์บนกระดาษ ขนาด 36.5 x 26.5 เซนติเมตร

ในช่วงบั้นปลายของชีวิตจ่างพบว่าตัวเองมีโรครุมเร้ายุบยิบ จ่างไม่อยากตายไวจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการวาดภาพ จากที่ชอบใช้พละกำลังมากมายจนถึงกับต้องสลบไสล ก็หันมาวาดภาพวิวทิวทัศน์สไตล์ชิลๆ แทน ถ้าในหนังจีนก็เปรียบเสมือนจอมยุทธผู้ท่องยุทธจักรมาอย่างตรากตรำตัดสินใจกลับมาปักกระบี่ไว้ยังที่จุดเดิมเหมือนสมัยที่เริ่มฝึกวิทยายุทธใหม่ๆ ภาพวิวในยุคนี้ของจ่างส่วนใหญ่จึงเป็นภาพต้นไม้และอาคารในละแวกบ้าน โดยจ่างมักใช้สีโปสเตอร์สีสันฉูดฉาดจนแทบจะเรืองแสงได้แบบที่ศิลปินคนอื่นเขาไม่กล้าใช้กัน ป้ายปุบปับด้วยพู่กันอย่างช่ำชองจนเกิดเป็นภาพทิวทัศน์ที่มีรายละเอียดฝีแปรงอันทรงพลัง แฝงไว้ด้วยคราบไคลของงานนามธรรมที่เคยทำเมื่อกาลก่อน แตกต่างจากภาพวิวในยุคแรกเริ่มของจ่างที่มีสีตุ่นๆ และมีฝีแปรงแบบปกติ

เล่าถึงผลงานด้านจิตรกรรมมายาวเหยียดจนพอหอมปากหอมคอแล้ว เราเลยจะขอเล่าต่อถึงผลงานด้านวรรณกรรมซึ่งจ่างก็นับได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มการเขียนบทกวีในรูปแบบใหม่อีกเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่เรียนจบแค่ชั้นอนุบาล จ่างมุมานะหัดพูด อ่าน เขียน ภาษาไทย และภาษาจีนด้วยตนเองโดยการอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านแบบเรียนภาษาไทยสมัยโบราณอย่าง มูลบทบรรพกิจ จินดามณี รวมถึงอ่านบทประพันธ์ของศรีปราชญ์ สุนทรภู่ เจ้าฟ้ากุ้ง เล่าจื้อ เต้าฉี จ่างฝึกภาษาจนคล่องปร๋อ คล่องขนาดที่สามารถแปลหนังสือปรัชญาภาษาจีนที่เข้าใจโคตรยากทั้งภาษาและเนื้อหาเช่นคัมภีร์เต้าเต๋อจิง ซึ่งเป็นหลักคำสอนของลัทธิเต๋าเอามาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยให้คนอ่านเข้าใจได้

บทกวีของ จ่าง แซ่ตั้ง : เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน (ภาพจากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน)

จ่างเริ่มเขียนบทกวีของตัวเองครั้งแรกในวัยหนุ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 ตอนที่ออกไปตระเวนวาดภาพวิวกับแก๊งเพื่อนๆ วันหนึ่งขณะที่จ่างปลีกตัวมาเล่นกับฝูงมด และนอนมองฟ้าปล่อยอารมณ์ไปกับแดดอุ่นๆคลอด้วยสายลมเอื่อยๆ อยู่ข้างกองฟาง จ่างเขียนบทกวีออกมาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า

‘ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปเท่าที่แสงแดดจะส่องไปถึง’

จ่างใช้คำง่ายๆ ซ้ำๆ เขียนไปตามจินตนาการแบบซื่อๆ ดิบๆ ไม่ได้สนใจว่าจะต้องคล้องจองตามฉันทลักษณ์แบบโบราณที่มีมา ไม่ต้องมีภาษาบาลีสันสกฤตให้ต้องดูวิลิศมาหรา เขียนไปเขียนมาก็เลยชักมัน ตะบี้ตะบันเขียนไปเรื่อยๆ อีกนับร้อยนับพันบท แล้วรวบรวมเอาไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ พอเผยแพร่ออกไปทีแรกก็โดนสวดซะเละเทะ ถูกหาว่าเป็นกวีติดอ่างบ้าง เป็นเจ๊กหัดเขียนหนังสือไทยบ้าง แต่ยิ่งโดนด่าจ่างก็ยิ่งเขียน มิหนำซ้ำยังตีพิมพ์หนังสือรวบรวมบทกวีร่วมสมัยที่ไร้พันธนาการนี้ออกมาอีกหลายสิบเล่ม โดยเล่มแรกพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 หน้าตาหนังสือก็อินดี้พอๆ กับเนื้อหาภายใน คือมีปกสีดำมะเมี่ยมเห็นแค่ภาพจ่างนั่งอ่านหนังสืออยู่รางๆ เปิดมาหน้าแรกพิมพ์แค่ ‘จ่าง แซ่ตั้ง 1967 1968’ ส่วนหน้าถัดๆ ไปก็เป็นบทกวี 38 บท ไม่มีชื่อหนังสือ คำนำ หรือคำอธิบายใดๆ เลย

บทกวีรูปธรรม หรือ วรรณรูป ของ จ่าง แซ่ตั้ง (ภาพจากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน)

จ่างไม่หยุดอยู่กับที่พัฒนาการเขียนบทกวีอย่างต่อเนื่อง และด้วยพื้นฐานที่แน่นปึ้กในด้านจิตรกรรมภายหลังจ่างจึงเอาความสามารถนี้มารวมกับวรรณกรรม เอาคำซ้ำๆ สไตล์จ่างมาจัดวางเป็นภาพ กลายเป็น กวีรูปธรรม หรือวรรณรูป ซึ่งก็เป็นหนึ่งในอีกหลายต่อหลายอย่างที่จ่างริเริ่มขึ้นมาเองเป็นครั้งแรกในเมืองไทย จ่างเขียนกวีตามแบบของตัวเองอย่างไม่แคร์คำครหาใดๆ จนในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับในวงการวรรณกรรม หนังสือรวบรวมบทกวีของจ่างถูกเอาไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ เพื่อเผยแพร่ในต่างประเทศ จ่างถูกเชิญไปปาฐกถาในมหาวิทยาลัยชั้นนำมากมาย และในปี พ.ศ. 2531 จ่างยังได้รับรางวัลจากสมาคมกวีนานาชาติมาการันตีความสามารถอีกด้วย

ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่ว่าชาตินี้จะไม่ขายภาพกิน และจะอุทิศชีวิตเพื่อทำงานศิลปะบริสุทธิ์และเขียนบทกวี บ้านไม้ซอมซ่อในชุมชนแออัดย่านซอยวัฒนาของจ่างเลยอัดแน่นไปด้วยภาพวาด กับบทกวีนับพันชิ้น จ่างเคยร่วมแสดงงานศิลปะกับเพื่อนๆ ตามหอศิลป์อยู่บ้าง แต่ก็แสดงอยู่ไม่กี่ที เช่น ร่วมแสดงงานในนิทรรศการศิลปกรรมไทยจีน เมื่อ พ.ศ. 2503 และแสดงร่วมกับกลุ่มศิลปินร่วมสมัยที่ หอศิลป์ปทุมวัน เมื่อ พ.ศ. 2509 แต่ก็ไม่ค่อยจะอินกับวงการศิลปะในบ้านเราสักเท่าไหร่ เพราะจ่างไม่มีสถาบัน ไม่มีก๊กไม่มีเหล่า จึงมักโดนกีดกัน และเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปง้อใคร จ่างเลยเปลี่ยนบ้านเก่าๆ ของตัวเองให้กลายเป็นหอศิลป์ซะเลยให้รู้แล้วรู้รอด แขวนๆ แปะๆ ทั้งภาพวาด ทั้งบทกวีเอาแบบตามมีตามเกิด แล้วตั้งชื่อว่า หอศิลป์กวี จ่าง แซ่ตั้ง

จ่าง แซ่ตั้ง และ หอศิลป กวี จ่าง แซ่ตั้ง (ภาพจากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน)

พอมีสำนักเป็นหลักเป็นแหล่ง จ่างก็เริ่มมีสาวกที่อินกับแนวคิดสวนกระแสมาฝากตัวเป็นศิษย์มากหน้าหลายตา บ้างก็มาอยู่กินจนกลายเป็นผู้อยู่อาศัยด้วยเลยก็มี นอกจากเรื่องศิลปะและบทกวี หอศิลป์แห่งนี้ยังเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองที่ต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลทหาร เหตุที่จ่างไม่ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับไปขังคุกและถูกสั่งปิดหอศิลป์ในยุคนั้น ก็เพราะลุกส์ที่ดูซำเหมา ปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนหนวดเครายาวรุงรัง แถมยังชอบวาดภาพที่ดูไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่เลยมองว่าจ่างเป็นคนบ้าไม่น่ามีพิษมีภัย

เหตุการณ์เข่นฆ่านักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้จ่างสลดใจมากจนถึงกับลุกขึ้นมาวาดภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่เป็นภาพตัวเองนั่งแก้ผ้า ไม่มีมือ ไม่มีลูกกะตา ก่อนที่จะเลิกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และแต่งบทกวีอยู่พักใหญ่ เนื่องจากไม่มีกะจิตกะใจจะทำงานภายใต้อำนาจของเผด็จการ ภาพนี้ซึ่งต่อมาถูกตั้งชื่อว่า ‘ตัดมือกวี ควักตาจิตรกร’ ได้กลายเป็นหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย ที่แสดงถึงบทบาทของศิลปินที่มีต่อสังคม

‘ตัดมือกวี ควักตาจิตรกร’ ภาพจากสูจิบัตรนิทรรศการ Tang Chang: The Painting that is Painted with Poetry is Profoundly Beautiful ที่จัดขึ้น ณ Smart Museum of Art The University of Chicago

ว่าด้วยเรื่องชีวิตส่วนตัว จ่างในวัยสะรุ่นเคยเป็นหนุ่มตี๋หล่อเฟี้ยว สาวๆ เห็นเป็นต้องเหลียว ไม่ได้ผมยาวหนวดเครารุงรังเป็นฤๅษีเหมือนสมัยหลังๆ จ่างตัดสินใจแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาเพราะไปถูกชะตากับแม่ค้าขายไข่ในตลาดชื่อเซี้ยะ จ่างและภรรยามีลูกด้วยกัน 7 คน เพราะไม่ขายงานศิลปะ รายได้ที่ใช้ในการจุนเจือครอบครัวหลังจากที่ปิดร้านรับจ้างวาดภาพและแผงหนังสือแล้วจึงมาจากการขายของจิปาถะ เช่น เข็นรถขายน้ำเก๊กฮวยในสนามหลวง ขายไก่ย่าง ออกแบบของเล่น พิมพ์หนังสือแปลและบทกวีขาย อาชีพทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ไม่ได้สร้างรายได้อะไรให้จ่างเท่าไหร่ สมาชิกในครอบครัวทุกชีวิตจึงต้องอยู่อย่างสมถะ ค่อนไปทางอัตคัด ได้เงินมาแต่ละทีก็ต้องคอยเอาไปจ่ายหนี้ร้านค้าแถวบ้านที่ไปเชื่อของของเขามากินมาใช้ก่อน

“ต้นไม้ค้างคืน” ภาพวาดชิ้นสุดท้ายของ จ่าง แซ่ตั้ง (ภาพจากหนังสือ จ่าง แซ่ตั้ง เพราะฉันต้องการที่ว่างของฉัน)

ในบั้นปลายชีวิตจ่างเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต ด้วยความขัดสนจ่างต้องพึ่งบัตรสงเคราะห์ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่หลายปี แต่อาการป่วยก็ทรงๆ ทรุดๆ จนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2533 จ่างก็จากไปด้วยโรคไตวายในวัย 56 ปีที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยก่อนตายผลงานชิ้นสุดท้ายที่จ่างวาดไว้ เป็นภาพดอกไม้เยี่ยมไข้ในแจกันที่เริ่มจะเหี่ยวๆ วาดด้วยปากกาขณะที่นอนอยู่บนเตียง คล้ายจะสื่อถึงความร่วงโรยที่จ่างเองก็กำลังประสบอยู่ ลายเซ็นและวันที่ในภาพนี้ก็เขียนซ้ำกันแบบผิดๆ ถูกๆ เบี้ยวๆ บูดๆ แสดงถึงภาวะที่ใกล้จะไปต่อไม่ไหว ภาพสำคัญนี้จ่างตั้งใจจะวาดให้พยาบาลที่มาคอยดูแล แต่พยาบาลกลับทิ้งเอาไว้ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ภาพชิ้นนี้ก็เลยยังอยู่กับลูกหลานเพื่อเป็นหนึ่งในอนุสรณ์ให้ระลึกถึงบรรพบุรุษ

บอกตามตรงว่าก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับจ่างสักเท่าไหร่ รู้แต่เพียงว่าจ่างเป็นศิลปินไทยซึ่งวาดภาพที่ดูไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเราก็เลยมัวแต่ไปชอบภาพดอกไม้ ชายทะเล อะไรที่ดูสวยงามสมจริง แต่พอนานวันไปรสนิยมก็ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนไป เหมือนเด็กที่ชอบกินอาหารนิ่มๆ ย่อยง่ายๆ ชอบจืดๆ กินเผ็ดไม่ได้ แต่พอโตขึ้นก็เริ่มคุ้นเคยกับอาหารรสชาติที่จัดจ้านรุนแรง กินร้านไหนก็ต้องขอพวงเครื่องปรุงมาจ้วงพริกจ้วงน้ำปลาให้ซู่ซ่า ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าตอนนี้เราอินกับงานศิลปะที่ไม่เน้นประณีต แต่เน้นที่จะใส่อารมณ์ลงไปเต็มๆ ถึงบางทีจะดูไม่รู้เรื่องแต่นั่นยิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นจินตนาการ

อีกอย่างที่เมื่อก่อนเราไม่ยักจะเข้าใจ คือทำไมตอนที่จ่างยังมีชีวิตไม่เห็นจะมีใครมาสนใจผลงานศิลปะของจ่างมากมาย รางวลรางวัลอะไรก็ไม่เคยได้ นิทรรศการแสดงผลงานก็มีอยู่ไม่กี่ที แต่หลังจากที่จ่างตายไป พิพิธภัณฑ์ต่างชาติหลายต่อหลายแห่งอยู่ดีๆ เขาก็อินนักอินหนา พากันยืมเอาผลงานของจ่างไปจัดแสดงมาแล้วจนแทบจะทั่วสารทิศ ที่พอจะนึกออกก็มีญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แถมหลายๆ งานเขายังให้ความสำคัญกับจ่างไม่ต่างกับศิลปินระดับโลก ภาพวาดฝีมือจ่างเลยได้ไปห้อยต่องแต่งแสดงร่วมกับผลงานศิลปะของศิลปินเจ้าลัทธิ เช่น ปีกัสโซ, ชากาล, มาติส, คานดินสกี รวมถึงตัวพ่อแห่งวงการแอบสแตรกต์ เอ็กเพรสชันนิสม์อย่างมาเทอร์เวล พอเราได้ศึกษาเรื่องของจ่างอย่างถี่ยิบจึงถึงบางอ้อว่า สาเหตุที่จ่างไปได้ไกลในระดับอินเตอร์ขนาดนี้เพราะปัจจุบันโลกได้ตระหนักรู้แล้วว่าจ่างเป็นศิลปินสไตล์นามธรรมระดับเจ้าลัทธิผู้คิดค้นรูปแบบและวิธีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมาเองด้วยรากฐานแบบตะวันออก อันเป็นปัจเจกไม่เหมือนใคร

สมัยที่จ่างยังอยู่ ถ้าใครไปถามว่าความใฝ่ฝันสูงสุดของชีวิตคืออะไร จ่างจะตอบทันทีทันใดว่าไม่มี แต่ถ้าจะให้มีก็คงมีเพียงอย่างเดียวคือ ขอมีชีวิตที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น จ่างยอมจนในวัตถุธรรม แต่ไม่ยอมจนในคุณธรรม ทั้งชีวิตใฝ่ฝันแค่นั้นจริงๆ ไม่ได้อยากร่ำรวย ไม่อยากมีชื่อเสียง ไม่ได้หวังให้ใครมาชอบทั้งนั้น แต่เพชรแท้ยังไงก็คือเพชร ถึงจะฝังอยู่ในโคลนตมไม่ว่าจะลึกแค่ไหน สักวันก็ต้องมีคนที่รู้ค่ามาจ๊ะเอ๋เข้าจนได้ ดั่งเช่นวันนี้ที่ประกายของเพชรเม็ดนั้นได้เฉิดฉายไปไกลกว่าวงการศิลปะในประเทศไทย วงการที่เคยพยายามจะเหยียบๆ จ่างเอาไว้แต่ก็ทำไม่ได้สักที

เพราะ จ่าง แซ่ตั้ง ไม่ได้เป็นแค่ชื่อที่จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะของบ้านเราเท่านั้น แต่ข้ามขั้นจนมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกเลยทีเดียว

 

Don`t copy text!