จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

 

หลายปีมาแล้วไปได้ภาพวาดสีน้ำมันผู้หญิงใส่สไบนั่งสีซอมาภาพหนึ่ง เจ้าของเก่าบอกว่าวาดโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต สมัยเป็นนักเรียนมัธยม ตอนนั้นคิดในใจว่าเด็กมัธยมที่ไหนจะวาดภาพได้สวยขนาดนี้ น่าจะลองไปขอให้ศิลปินช่วยพิจารณาดูให้รู้แล้วรู้รอดเลยดีกว่า คิดดังนั้นเลยไม่พูดพร่ำทำเพลง นัดกับเพื่อนรุ่นพี่ขับรถไปจอดที่บิ๊กซีเอกมัย แล้วแบกภาพข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างทุลักทุเลก่อนที่จะไปยืนชะโงกโชว์หน้าแฉล้มอยู่ข้างๆ ประตูเหล็กสีเขียวของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เรากดออดแล้วยืนขาสั่นรออยู่ ที่สั่นนี่ไม่ใช่เพราะว่าภาพที่กระเตงมามันหนัก แต่สั่นเพราะตื่นเต้นที่กำลังจะมีบุญได้พบศิลปินที่เราชื่นชอบตัวจริงเสียที

พอมีคนมาเปิดประตูให้แล้วได้เดินเข้าไปภายในรั้ว จากห้างสรรพสินค้าใหญ่โต คอนโดฯ สูงเสียดฟ้า และรถราที่จอแจ ที่เพิ่งจะเดินผ่านมาเมื่อไม่ถึงอึดใจ ตอนนี้เรามาอยู่ท่ามกลางกลุ่มบ้านไม้แบบโบราณ รายรอบไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่อันแสนจะร่มรื่น บริเวณใต้ถุนบ้านที่เปิดโล่งรับลมเย็นจากในสวนมีโต๊ะทำงานจัดไว้ตามมุมต่างๆ แต่ละโต๊ะมีช่างฝีมือกำลังขะมักเขม้นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกันอย่างตั้งอกตั้งใจ ทั้งวาด ทั้งปั้น ทั้งแกะสลัก ทั้งปักผ้า ทั้งลงรักปิดทอง ทั้งบ้านทั้งคนให้บรรยากาศราวกับได้ย้อนกลับไปในอีกยุคอีกสมัยเหมือนในละคร บุพเพสันนิวาส

“วิสุตา” พ.ศ. 2508 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 95 x 77 เซนติเมตร

วันนั้นเราไม่ได้เจอพี่โป๊ป แต่ได้พบกับ พี่ต๋อง-วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ศิษย์เอกของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่กรุณาออกมาต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จักรพันธุ์จะค่อยๆ ก้าวลงบันไดมาจากชั้น 2 เดินมาที่โต๊ะกินข้าวตัวใหญ่ที่พวกเรายืนล้อมวงกันอยู่ ด้วยความดีใจเราจึงรีบกราบท่านในแบบที่ก้มที่สุดเท่าที่พุงแน่นๆ ของเราจะงอได้ และขอเรียกท่านว่าอาจารย์ ในความรู้สึกส่วนตัว สรรพนามที่เรียกนี้ยังต่ำต้อยเกินไปด้วยซ้ำ เพราะสำหรับเราแล้ว จักรพันธุ์เปรียบเสมือนเทวดาที่จุติลงมาเนรมิตภาพนางฟ้านางสวรรค์ที่งดงามไม่มีที่ติให้มนุษย์เดินดินธรรมดาอย่างเราได้ยลโฉม แต่ขืนวันนั้นถ้าเราทิ้งตัวนอนลงแนบพื้น ไปหมอบกราบอยู่ข้างๆ หมาตัวเท่าหมูของท่านที่ใต้โต๊ะ แล้วเรียกท่านเป็นเทพ อาจารย์จักรพันธุ์คงคิดว่าเราเป็นบ้าแล้วเดินหนีตาลีตาเหลือกกลับขึ้นบ้านไปเป็นแน่

อาจารย์จักรพันธุ์ทักทายถามไถ่สารทุกข์สุขดิบด้วยความเมตตา คุยกันอยู่สักพักก่อนที่เราจะโชว์ภาพที่แบกมาให้ท่านดู อาจารย์มองภาพแล้วนิ่งไปหลายวินาทีด้วยดวงตาที่ดูอิ่มเอมเป็นประกายปิ๊งปั๊ง เพิ่งมารู้ภายหลังว่าท่านรักผลงานทุกชิ้นของท่านดั่งเลือดเนื้อเชื้อไข ผลงานที่จากกันไปไม่ได้เห็นเป็นเวลานาน พอได้เห็นอีกทีก็ดีใจเป็นธรรมดา วันนั้นท่านเล่าให้เราฟังอย่างละเอียดเป็นฉากๆ ว่าวาดภาพนี้ทำไม วาดที่ไหน วาดเสร็จแล้วเอาไปให้ใคร แล้วคนที่ได้เอาไปให้ใครต่อ ความทรงจำยังชัดเจนเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานทั้งๆ ที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ภาพผู้หญิงสีซอภาพนั้นดูเก่ากึ๊กตามอายุ มีฝุ่นจับเกรอะกรัง อาจารย์คงทนเห็นเลือดเนื้อของท่านดูขมุกขมัวไม่ไหว เลยบอกให้เราฝากภาพเอาไว้ เดี๋ยวท่านจะช่วยทำความสะอาดให้เอง เรากับเพื่อนรุ่นพี่เลยขอกราบลาแล้วเดินข้ามถนนกลับไปที่บิ๊กซี เพราะตื่นเต้นตลอดเวลาจนคิดว่านั่งคุยกับอาจารย์ไปแค่ 15 นาที แต่พอเจอค่าจอดรถบานตะไทถึงได้รู้ตัวว่าคุยกันไป 2 ชั่วโมงกว่า วันนั้นเป็นวันแรกที่เราได้พบ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม, บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย, และไอดอลในดวงใจของเราเอง

สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2508

จักรพันธุ์ โปษยกฤต เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพฯ ท่านเป็นบุตรของ นายชุบ และ นางสว่างจันทร์ โปษยกฤต จักรพันธุ์มีความสามารถในการวาดภาพมาตั้งแต่เล็ก ว่าไปแล้วน่าจะวาดเก่งตั้งแต่ชาติปางก่อนด้วยซ้ำเพราะวาดได้ปร๋อก่อนจะเขียน ก ไก่ ข ไข่ เป็นซะอีก เวลาผู้ใหญ่พาไปดูโขนตามงานวัด เมื่อกลับมาบ้านจักรพันธุ์ก็จะวาดตัวละครที่เห็นมา ทั้งตัวยักษ์ตัวนางท่านวาดออกมาแต่ละตัวมีรายละเอียดครบเป๊ะโดยไม่ต้องมีใครสอน

จักรพันธุ์เข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในโรงเรียนนอกจากจะปลูกฝังด้านวิชาการและด้านกีฬาแล้ว พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในสมัยนั้น ยังสนับสนุนด้านศิลปะ โดยจัดหาครูระดับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่าง เปรม ไสยวงษ์, นิโร โยโกต้า มาสอนวาด และ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ มาสอนปั้น อีกทั้งทางโรงเรียนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ส่งผลงานศิลปะเข้าแข่งขันในงานประกวด ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกก็หนีไม่พ้นจักรพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นพอได้เริ่มเรียนศิลปะก็ยิ่งเก่งขึ้นอีกเป็นกอง เก่งขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งทางโรงเรียนส่งผลงานของท่านขณะที่เรียนอยู่ชั้น ป.3 ไปร่วมประกวดศิลปะเด็กในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ แต่ภาพวาดของจักรพันธุ์ดันถูกคัดออกตั้งแต่แรก เพราะสวยเกินจนกรรมการไม่เชื่อว่าเป็นผลงานของเด็ก ร้อนถึงพระยาภะรตราชาจนต้องไปเคลียร์กับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้จัดงานให้ได้ทราบข้อเท็จจริง

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวัยหนุ่ม (ภาพจากวีดิทัศน์บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย พ.ศ. 2552)

ทั้งในเวลาเรียนและเวลาเล่น จักรพันธุ์ฝึกฝนฝีมือการวาดภาพอยู่เสมอ สมุดหนังสือของท่านไม่ว่าจะวิชาอะไรก็เต็มไปด้วยภาพวาด ที่โรงเรียนวชิราวุธหลังบ่ายสามนั้นเป็นเวลาให้นักเรียนเล่นกีฬา ในขณะที่เพื่อนๆ เตะบอลเล่นรักบี้ชู้ตบาส จักรพันธุ์มักย่องไปแอบวาดภาพอยู่ในตึก ในช่วงที่จักรพันธุ์เรียนอยู่มัธยมปลาย บิดาของท่านได้พาไปพบ จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินชั้นแนวหน้าของไทยที่มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพบุคคลเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ และหลังจากนั้นญาติของจักรพันธุ์ยังได้พาท่านไปฝากเนื้อฝากตัวกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านจึงได้ศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์นอกเวลาเรียนอยู่พักใหญ่ เมื่อจักรพันธุ์จบชั้นมัธยมก็สอบเข้าคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรได้สำเร็จ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่อาจารย์ศิลป์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านั้นไม่นาน จักรพันธุ์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาศิลปะไทยที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่ออีก 5 ปี ก่อนจะออกมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน

“นางเงือก” พ.ศ. 2546 เทคนิคสีน้ำบนกระดาษขนาด 47.5 x 39.5 เซนติเมตร

ไม่รู้ทำบุญมาด้วยอะไร จักรพันธุ์ถึงมีพรสวรรค์ในเรื่องศิลปะแทบจะครบทุกด้าน ในด้านจิตรกรรมฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของท่านนั้นเป็นที่รู้กันทั่วว่าเก่งขั้นเทพจนได้รับรางวัลระดับชาติมาการันตีเพียบ ตั้งแต่สมัยที่จักรพันธุ์เป็นนักศึกษาอยู่ที่ศิลปากร เพื่อนๆ เห็นฝีมือของท่านเลยพากันยุให้ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทั้งๆ ที่จักรพันธุ์ไม่ได้เป็นคนที่ชอบประกวดประขันอะไร เพื่อนๆ ยุจนได้ที่แล้วยังแถมจัดแจงมานั่งเป็นแบบให้จักรพันธุ์วาดเพื่อส่งเข้าแข่งขันอีก ปีแรกภาพที่ส่งประกวดจักรพันธุ์และเพื่อนๆ คิดว่าสวยสุดยอดแต่ไม่รู้ทำไมกลับถูกกรรมการคัดออกก่อนการแสดงอย่างไม่เป็นท่า ปีถัดไปจักรพันธุ์เลยพยายามวาดอย่างสุดฝีมืออีกทีแล้วลองส่งเข้าประกวดใหม่ คราวนี้ได้ วิสุตา หัสบำเรอ เพื่อนนักศึกษาที่สวยโดดเด้งกว่าใครในกลุ่มมานั่งเป็นแบบให้ ภาพนี้เป็นภาพหญิงสาวสวยคมแบบไทย นั่งประสานมืออยู่บนเก้าอี้ในบรรยากาศดูลอยๆ น่าพิศวง แววตาและสีหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์ชัดเจนกระตุ้นให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะพยายามจินตนาการถึงความรู้สึกของเธอ ยิ่งมองลึกลงไปก็ยิ่งน่าค้นหา ด้วยคุณสมบัติที่วิเศษ ในที่สุดภาพ ‘วิสุตา’ จึงได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 ในปี พ.ศ. 2508 มีเรื่องเล่ากันว่าในการประกวดครั้งนั้น เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของจักรพันธุ์ที่ศิลปากร และเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน มากระซิบว่าเดิมทีคณะกรรมการจะให้รางวัลที่สูงกว่า แต่เพราะอยากให้จักรพันธุ์ได้เก็บภาพไว้เป็นความภูมิใจจึงให้เหรียญทองแดง เพราะถ้าได้เหรียญทองหรือเหรียญเงินตามกฎแล้วภาพนั้นจะต้องถูกเก็บไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากนั้นจักรพันธุ์ก็ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลอย่างสม่ำเสมอ ภาพ ‘สุวรรณี สุคณธา’ ได้รางวัลเหรียญเงินในปี พ.ศ. 2509, ภาพ ‘กลุ่ม’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในปี พ.ศ. 2512, ภาพ ‘ดวงตา นันทขว้าง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในปี พ.ศ. 2514, ภาพ ‘หลง’ ได้รางวัลเหรียญเงิน ในปี พ.ศ. 2515, และภาพ ‘คนนั่ง’ ได้รางวัลเหรียญเงินในปี พ.ศ. 2516 และเป็นปีสุดท้ายที่ท่านส่งผลงานเข้าประกวด ไล่เรียงดูแล้วภาพวาดชุดที่ได้รับรางวัลทั้งหมดเป็นภาพเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่จักรพันธุ์รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร จักรพันธุ์จึงสามารถวาดภาพที่แสดงบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลคนนั้นได้อย่างแม่นยำ และทุกภาพก็ไม่ใช่ภาพเหมือนบุคคลแบบปกติ เพราะจักรพันธุ์ได้สร้างองค์ประกอบ บรรยากาศ แสงเงา และสีสัน ในแบบเหนือจริงที่ไม่เหมือนใคร

“ตัวแน่น” พ.ศ. 2558 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 60 x 50 เซนติเมตร

นอกเหนือจากผลงานชุดที่ได้รับรางวัล จักรพันธุ์ได้วาดภาพเหมือนบุคคลอีกมากมาย ทั้งพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพพระสงฆ์องค์เจ้า ข้าราชการ นักธุรกิจ และลูกศิษย์ลูกหา ภาพเหมือนบุคคลของจักรพันธุ์นั้นมีการใช้สีและฝีแปรงที่เป็นรูปแบบเฉพาะของท่านเอง เราเคยไปนั่งดูจักรพันธุ์วาดภาพ ไม่ว่าภาพนั้นจะวาดด้วยสีน้ำมัน สีน้ำ หรือสีชอล์ก ท่านก็ไม่ได้ใช้ดินสอร่างภาพก่อน แต่ใช้ความแม่นยำระบายสีลงไปเลย ภาพที่ออกมาเลยดูสะอาด ผิวพรรณของคนในภาพเปล่งปลั่งเป็นสีชมพูดูมีชีวิตชีวา ใครได้มีโอกาสลองเทียบภาพที่จักรพันธุ์วาดกับคนจริงๆ ที่มานั่งตัวแข็งเป็นแบบให้ จะเห็นชัดเลยว่าคนในภาพดูสวยดูหล่อกว่าคนต้นฉบับอยู่มากโข ถ้ามีมนุษย์อัจฉริยะคนไหนสามารถสร้างแอพฯ ที่ทำให้ภาพหน้าปกติกลายเป็นหน้าสไตล์จักรพันธุ์ขึ้นมาได้รับรองยอดโหลดถล่มทลายแน่นอน เพราะยุคสมัยนี้เวลาจะเอาภาพถ่ายหนังหน้าไปโชว์ใครก็มักต้องเอาภาพมาแต่งในแอพฯ ก่อนให้ดูได้เรื่องได้ราวจะได้ไม่อายชาวบ้านร้านตลาด แอพฯ ที่ทำให้หน้าเรียว หน้าใส เบลอสิว ตาโต จมูกเรียว ปากชมพู ฟันขาว เลยมีคนโหลดกันเพียบ

ผลงานจิตรกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่จักรพันธุ์ชอบวาดเป็นพิเศษตั้งแต่เป็นเด็กคือภาพตัวละครในวรรณคดี เทพยดานางฟ้า และภาพหญิงงามอย่างไทย ภาพมนุษย์ในอุดมคติของอาจารย์ที่บรรจงวาดออกมาจากจิตนาการนั้นช่างอ่อนช้อย และดูสวยยิ่งกว่ามนุษย์ใดๆ ในโลก ถึงจะไม่ค่อยได้เห็นผลงานจริงเพราะทุกชิ้นมีเจ้าของที่หวงแหนราวกับไข่ในหิน แต่ทุกๆ ปีเราจะได้เห็นภาพเหล่านี้จาก ส.ค.ส. ของมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก และปฏิทินของบริษัทประกันภัย ตัวเราเองเวลาได้รับปฏิทินอะไรก็แล้วแต่ก็จะเอามาใช้ดูวันที่ ใช้ขีดๆ เขียนๆ พอพ้นปีก็โยนทิ้งไป แต่ถ้าได้รับปฏิทินภาพผลงานจักรพันธุ์ 12 เดือน 12 ภาพมาเมื่อไร จะห่อเก็บขึ้นหิ้งไว้ทันทีตั้งแต่ต้นปี ที่ห่อเพราะสวยจนไม่กล้าจะใช้ วันเดือนปีไม่รู้ไม่เป็นไร

ในขณะที่จักรพันธุ์สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย ท่านยังเป็นผู้สืบสานและต่อยอดจิตรกรรมแนวประเพณีของไทยไม่ให้ถูกมองว่าเป็นของเก่าของเชย ผลงานของจักรพันธุ์ไม่ได้ก๊อบปี้ของโบราณ แต่ต่อยอดด้วยรูปแบบและเทคนิคใหม่ที่ทันสมัยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พัฒนามายาวนานจนเรียกได้ว่าเป็น ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’  ท่านได้มีโอกาสร่วมซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังในระเบียงวัดพระแก้ว วาดภาพประดับพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ออกแบบม่านเวทีการแสดงหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเวทีการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ อีกทั้งยังได้สร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพฯ และวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นพุทธบูชา

ในด้านประติมากรรม จักรพันธุ์ได้สร้างผลงานสามมิติออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ภาพวาด ท่านได้ออกแบบควบคุมการสร้างผลงานชิ้นสำคัญ เช่น ประติมากรรมพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ รูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย, รูปไกรทองสู้กับชาละวัน, และเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนถวายลิง ที่ตั้งแสดงอยู่ที่ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม จักรพันธุ์ยังได้สร้างพระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามสุดๆ ในรูปแบบสกุลช่างของท่านเอง เพื่อนำมาประกอบฉากละครและให้เช่าบูชา

จิตรกรรมฝาผนัง วัดตรีทศเทพวรวิหาร (ภาพจากหนังสือจักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ)

ทางด้านการแสดง จักรพันธุ์เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเรื่องหุ่นกระบอก ตอนเล็กๆ ท่านเริ่มสนใจหุ่นกระบอกเพราะได้เห็นการแสดงของคณะครูเปียก ประเสริฐกุล ในทีวี จักรพันธุ์อินจัดจนถึงกับสร้างหุ่นและฉากแบบง่ายๆ ขึ้นมาเองจากเศษวัสดุเพื่อเอาไว้เชิดเล่น หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีจักรพันธุ์ถึงได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับบุตรสาวของครูเปียกคือ ครูชื้น สกุลแก้ว เพื่อเรียนรู้วิธีการเชิดหุ่น และรำละครแบบจริงๆ จังๆ จริงจังจนเกิดคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ขึ้นมาและแสดงโชว์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2518 ใน เรื่อง พระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ และถัดไปอีก 2 ปีก็จัดแสดงอีกในเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนนางลอย จากนั้นคณะหุ่นกระบอกจักรพันธุ์ใช้เวลาทุ่มเทสร้างหุ่นสร้างเครื่องแต่งกายและสร้างฉากใหม่อีกนับสิบปีเพื่อจัดแสดงเรื่อง สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2530 การแสดงครั้งนั้นยิ่งใหญ่ราวกับหนังฟอร์มยักษ์แบบที่ไม่มีคณะหุ่นกระบอกที่ไหนเคยลงทุนทำถึงขนาดนี้มาก่อน

หลังการแสดงประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จักรพันธุ์ไม่รีรอที่จะเริ่มวางแผนการแสดงในเรื่องถัดไป โดยหมายมั่นปั้นมือให้ยิ่งใหญ่วิลิศมาหราขึ้นไปอีก จึงเป็นต้นกำเนิดของเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย ที่รวบรวมเอาศิลปินแห่งชาติ และเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงมาร่วมงาน หุ่นกระบอกชุดนี้สร้างขึ้นมาด้วยกลไกล้ำยุค ร่ายรำขยับเขยื้อนคว้าหอกคว้าดาบ ได้ราวกับคนจริงๆ เสื้อผ้าหน้าผมเครื่องประดับก็สร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรแบบจัดเต็ม ใช้ทั้งทอง ทั้งเพชรนิลจินดา ทั้งผ้าราคาแพงแบบไม่มีกระมิดกระเมี้ยน ลุยสร้างหุ่น ฉาก บทละคร ดนตรี กันมาร่วม 30 ปี ยาวนานกว่ามหรสพเรื่องไหนในโลก จนวันนี้เกือบเสร็จแทบจะครบทุกฉากแล้ว ที่ผ่านมามีการซ้อมการแสดง ลิลิตตะเลงพ่าย กันอยู่เสมอที่มูลนิธิฯ โดยเปิดให้เข้าชมฟรี แถมในงานยังมีซุ้มอาหารของคาวของหวานเจ้าอร่อยจากแม่ยกพ่อยกมาเสิร์ฟให้กินกันแบบไม่อั้น ซ้อมแต่ละทีเลยมีคนมาดูครั้งละสี่ห้าร้อยคน จากบ้านเงียบๆ เลยกลายเป็นงานวัดย่อยๆ ถ้าผ่านไปแถวเอกมัยแล้วรถติดนั่นเป็นเพราะลิลิตอย่าคิดว่ามีคอนเสิร์ต เบิร์ด ธงไชย

นอกจากการวาด การปั้น และการแสดงแล้ว จักรพันธุ์ยังเป็นนักเขียนฝีมือเยี่ยม ท่านใช้นามปากกาว่า ‘ศศิวิมล’ ชื่อนี้ถูกตั้งให้โดย สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังและเป็นรุ่นพี่ที่ศิลปากร ศศิวิมลเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะ, ท่องเที่ยว, สังคม, หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่จักรพันธุ์ได้ไปพบเจอมา บทความของท่านถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร ลลนา นิตยสารที่แนวที่สุดในยุคนั้น พอเขียนไปเยอะๆ ก็มีการรวบรวมมาพิมพ์เป็นเล่ม กลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้้ำหลายครั้ง อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย หลัง ลลนา ปิดตัวลง จักรพันธุ์ยังตีพิมพ์บทความต่อในนิตยสาร พลอยแกมเพชร  นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่จักรพันธุ์เขียนและตีพิมพ์ขึ้นมาเผยแพร่ เช่น หุ่นไทย, หุ่นวังหน้า, หุ่นจักรพันธุ์, คิดถึงครู ไปลองหาอ่านกันดูได้

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ขณะแสดงหุ่นกระบอก (ภาพจากหนังสือนิทรรศการศิลปกรรมเชิดชูเกียรติ จักรพันธุ์ โปษยกฤต)

จักรพันธุ์ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ถึงผลงานของท่านจะเป็นที่นิยมและมีราคาสูงแค่ไหน ท่านก็ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย เงินทองที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง จักรพันธุ์เลือกที่จะนำไปดูแลลูกศิษย์ลูกหา สร้างศิลปินที่จะสานต่อศิลปะไทยในแขนงต่างๆ และเป็นทุนในการสร้างหุ่นกระบอกที่สุดแสนจะวิจิตรด้วยความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา อีกทั้งท่านยังกำลังก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์บนเนื้อที่กว้างขวางแถวๆ วัชรพล พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อแล้วเสร็จจะใช้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานศิลปะที่จักรพันธุ์ได้สร้างสรรรค์ขึ้นมาตลอดชีวิต ฝากไว้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทยให้สาธารณชนได้ชื่นชมภูมิใจ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต กับผลงานจิตรกรรม (ภาพจากนิตยสารพลอยแกมเพชร ฉบับที่ 217)

การที่พวกเราร่วมกันสนับสนุนศิลปะของบ้านเราเมืองเราให้พัฒนาและดำรงไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน ก็เป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ที่ใหญ่หลวงอีกวิธีหนึ่ง ไปกันเถอะ ไปกันที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ใกล้แค่เอกมัยนี่เอง ไปอุดหนุนโปสต์การ์ด ภาพพิมพ์สวยๆ หนังสืออ่านสนุก พระพุทธรูปองค์งาม ซื้อติดไม้ติดมือกันคนละนิดคนละหน่อย ได้ของดีแบบที่ไม่มีขายในห้าง แถมยังมีส่วนช่วยต่อลมหายใจศิลปะไทยที่นับวันจะแผ่วเบาให้ยืนยาวแข็งแรง

ป.ล. หลังจากฝากภาพผู้หญิงสีซอไว้เดือนกว่า พี่ต๋องก็โทร.ตามให้ไปรับคืน อาจารย์จักรพันธุ์ท่านจัดการขัดสีฉวีวรรณให้ จากผู้หญิงตัวคล้ำๆ มอมๆ กลับมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย เครื่องประดับที่เธอสวมใส่จากที่เคยดูหมองๆ ก็กลับมีประกายระยิบระยับเพิ่มขึ้นมา เห็นอีกทีแทบจะจำไม่ได้เพราะเธอดูดีขึ้นอีกเป็นกอง สวยครบจบในที่เดียวได้อย่างนี้ หมอเกาหลีชิดซ้ายไปเลย

Don`t copy text!