ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์ 

ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์ 

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

 

“ผลงานการบูรณะหอไตรจากซากปรักหักพังจนเสร็จสมบูรณ์

ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศ

จนคณะกรรมการพิจารณารางวัลแมกไซไซ

มีมติมอบรางวัลแมกไซไซให้กับเฟื้อ

ในสาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2526 “

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่รู้อะไรดลใจให้สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วแหกขี้ตาบรรจงเขียนบทความเล่าเรื่องราวการค้นพบผลงานศิลปะที่ถูกซ่อนไว้ของ เฟื้อ หริพิทักษ์ มาวันนี้ตอนเที่ยงจู่ๆ อยู่ดีๆ ก็ได้พบพี่ทำนุกับพี่บี๋ ลูกชายและลูกสะใภ้ผู้น่ารักของเฟื้ออีก ท่านทั้งสองอุตส่าห์กรุณาแวะมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ หลังจากที่เราไม่ได้พบกันมาน้านนาน พอตกเย็นเราไปนั่งหม่ำข้าวเหนียวหมูทอดกับเพื่อนๆ ที่สนิทสนม เขาก็ชวนกันคุยเรื่องเฟื้ออีก ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้เริ่มก่อน เอ๊ะชักจะยังไง ช่วงนี้อะไรๆ ก็เฟื้อ เลยคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆแล้ว คืนนี้มานอนเขียนเรื่องของท่านให้อ่านกันต่อจากที่เล่าไว้คร่าวๆ เมื่อคราวที่แล้วน่าจะดี ก่อนอื่นขออินโทรให้รู้กันก่อนว่าประวัติความเป็นมาของเฟื้อนั้นไม่ธรรมดา มีหวานมีขมครบรสจนเรียกได้ว่าชีวิตจริงของท่านนั้นเหมือนอย่างกับบทละคร ถ้าเรามีงบจะทำหนังเกี่ยวกับชีวิตของศิลปินสักเรื่อง ชีวิตของเฟื้อนี่แหละที่เราจะเลือกทำ รับประกันว่าคนที่มาดูหนังจะได้นั่งลุ้นตัวโก่งจนป๊อปคอร์นกระเด็น สลับสับเปลี่ยนกับการปาดน้ำมูกน้ำตาด้วยแขนเสื้อของคนข้างๆ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2453 ทารกนามว่า เฟื้อ นามสกุล ทองอยู่ ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาในเรือนแพย่านราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ที่สมัยนี้ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปแล้ว นายเปล่ง บิดาของเฟื้อเป็นมหาดเล็กกรมช่างผู้มีฝีมือในการวาดภาพ แต่ไม่ได้อยู่สอนลูกชายเพราะท่านลาโลกไปก่อนตั้งแต่ตอนที่เฟื้อยังไม่ทันคลอด ต่อมา นางเก็บ ผู้เป็นมารดา ท่านก็บ๊ายบายตายตามกันไปอีก ยายทับทิม ผู้เป็นยายแท้ๆ ของเฟื้อ จึงต้องรับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเฟื้อกำพร้าแต่เพียงลำพัง โลกทั้งใบของเฟื้อเลยมีแต่ยายคนเดียว

‘กุมภกัณฐ์สู้รบกับสุครีพ คัดลอกจากหอไตรวัดระฆัง’ ประมาณ พ.ศ. 2513-2525 เทคนิคดินสอสีบนกระดาน ขนาด 68 x 50 เซนติเมตร

เมื่ออายุครบเกณฑ์ เฟื้อเข้าเรียนชั้นประถมที่วัดสุทัศน์ ที่นั่นท่านได้เห็นผลงานจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่างไทยโบราณเป็นครั้งแรกจนเกิดความรู้สึกประทับใจฝังรากลึกอยู่ภายในอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เฟื้อเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร พอจบก็ไปสมัครงานเป็นเสมียนรถไฟ ทำได้ 2 วันก็ลาออกเพราะไม่ถูกจริต เลยไปสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2472 หวังจะเอาดีทางด้านศิลปะ เฟื้อเรียนอยู่ 5 ปี สอบผ่านหมดแล้วเกือบทุกวิชา แต่ตัดสินใจเลิกเรียนเอาดื้อๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่จบ เพราะมีแนวคิดที่แตกต่างจากกรอบการเรียนการสอนที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ในขณะนั้น

หลังจากที่ออกจากโรงเรียน เฟื้อไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์นอกชั้นเรียนของขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต นักเขียนการ์ตูนคนแรกของเมืองไทย และว่ากันว่าเป็นศิลปินไทยคนแรกที่เริ่มวาดภาพในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ เฟื้อก็เลยได้รับอิทธิพลศิลปะในรูปแบบนี้ติดตัวมาด้วยจากตอนนั้น ต่อมาเฟื้อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้คอยดูแล

ในช่วงเวลาที่เฟื้อเป็นนักเรียนศิลปะไส้แห้ง ท่านได้พบกับหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร ทั้งคู่ปลูกดอกรักกันท่ามกลางการกีดกันจากญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง แต่ก็ไม่มีอะไรจะมาหักห้ามความรักระหว่างเขาและเธอได้ สุดท้ายถึงกับต้องหนีตามกันไปอยู่ห้องเช่าเล็กๆ ทั้งคู่ต่างเป็นนักศึกษาศิลปะด้วยกัน ตอนเช้าก็ไปเรียนตอนค่ำก็กลับมานั่งจู๋จี๋ นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งของบุคคลทั้งสอง โลกทั้งใบช่างสดใสเป็นสีชมพูเรื่อๆ ถึงแม้จะอัตคัดขัดสนเงินทองก็ไม่แคร์ เฟื้อและภรรยาให้กำเนิดบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนซึ่งก็คือพี่ทำนุ

ภาพติดบัตรของ เฟื้อ หริพิทักษ์

พอเรียนไปเรียนมาเฟื้อเริ่มจะอึดอัดกับกรอบการสอนศิลปะของโรงเรียนประณีตศิลปกรรม เลยซ้ำรอยลาออกไปอีกทีซะให้รู้แล้วรู้รอด แล้วไปขอเป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์แบบตัวต่อตัว อาจารย์ศิลป์ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไรเพราะชื่นชมในฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของเฟื้อมาก ถึงแม้เฟื้อจะมีจิตวิญญาณอิสระคิดขัดแย้งกับหลักการเรียนการสอนก็เถอะ เฟื้อเรียนไปด้วยช่วยงานอาจารย์ศิลป์ไปด้วย จนปี พ.ศ. 2484 ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ศิลป์ และทุนทรัพย์จากภรรยา ที่อินเดียเฟื้อได้เห็นการคัดลอกและอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมโบราณ จากตามกำแพงโบสถ์ กำแพงถ้ำ เลยเกิดไอเดียขึ้นว่าบ้านเราน่าจะทำแบบนี้บ้าง ช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่เมืองแขกก็มีความสุขดี แต่ไม่กี่เดือนท่านก็ได้รับข่าวร้ายแบบสองต่อ ต่อแรกคือคุณยายทับทิมผู้ซึ่งเป็นบุพการีคนเดียวของเฟื้อถึงแก่กรรม ต่อที่สองภรรยาของท่านเกิดมีอาการทางสติ ครอบครัวจับย้ายไปรักษาถึงเมืองพระตะบองในเขมร จนทำให้ขาดการติดต่อและห่างหายกันไปในที่สุด เฟื้อเสียใจแทบสิ้นสตินั่งมองฟ้าในสายฝน หวังจะฝากชีวิตไว้กับเทพยดาในประเทศอินเดีย ตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ทองอยู่’ เป็น ‘หริพิทักษ์’ ที่แปลว่า ‘คุ้มครองโดยพระนารายณ์’

เหมือนความวัวจะยังไม่ทันหายความควายก็ดันเข้ามาแทรก เฟื้อเรียนหนังสืออยู่ได้แค่ปีเดียว ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แผ่ขยายเข้าไปในอินเดีย ครั้งนั้นอินเดียอยู่ฝั่งสัมพันธมิตร ส่วนไทยอยู่ฝ่ายอักษะ คนไทยในอินเดียเลยถูกจับเป็นเชลยศึก เฟื้อต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันที่แออัดกลางทะเลทราย สุขอนามัยก็ย่ำแย่ มีคนเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคติดต่อแทบทุกวัน เฟื้อที่ทั้งป่วยทั้งขาดอาหาร อยู่รอดมาได้โดยการทำสมาธิ ฝึกโยคะ ปล่อยอารมณ์ด้วยการวาดภาพจากวัสดุธรรมดาๆ เท่าที่พอจะหาได้ วาดดีจนได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดศิลปะที่เขาจัดกันในค่าย ขลุกอยู่อย่างนั้น 5 ปีจนสงครามเลิกจึงถูกปล่อยตัวกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน

พอกลับมาเฟื้อไม่มีบ้านเพราะไฟไหม้วอดวายไปหมดในระหว่างสงคราม พร้อมๆ กับผลงานศิลปะที่เคยวาดเก็บๆ เอาไว้ เฟื้อไม่มีเงินติดตัว ไม่มีญาติให้พึ่งพิง โชคยังดีที่ท่านมีครูบาอาจารย์ผู้เมตตา อาจารย์ศิลป์ชวนให้เฟื้อมาช่วยงานและรับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นรุ่นแรก ท่านเลยรอดชีวิตมาได้ ชีวิตของเฟื้อค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับจนได้พบรักใหม่กับหญิงสาวนามว่าสมถวิล เฟื้อที่เคยว้าเหว่ก็กลับมากระชุ่มกระชวยด้วยความรักอีกหน

สมุดสวดมนต์ ทำสมาธิของ เฟื้อ หริพิทักษ์

ระหว่างนั้นประเทศไทยมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 เฟื้อก็ไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ผลงานที่ว่าเป็นภาพทิวทัศน์ที่ท่านวาดเมื่อครั้งไปเที่ยวภูเขาแล้วมองลงมาเห็นต้นไม้ใบหญ้าเรือกสวนไร่นาสุดลูกหูลูกตา จนเกิดความประทับใจวาดภาพขึ้นมาแบบเร็วๆและตั้งชื่อว่า ‘เพชรบุรี’ ภาพนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ในปีถัดมา เฟื้อก็ร่วมส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดอีก คราวนี้เป็นภาพเหมือนภรรยาของ ชิต เหรียญประชา ศิลปินนักแกะสลักคนสำคัญของไทย เฟื้อตั้งชื่อภาพว่า ‘ประกายเพชร’ ด้วยสีสะอาดสดใสเป็นประกายดุจอัญมณีและสีหน้าท่าทางที่ให้อารมณ์สมจริงของบุคคลในภาพ ท่านก็เลยได้รับรางวัลเหรียญทองไปอีกรอบ

ในปี พ.ศ. 2497 เฟื้อได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีเพื่อเดินทางไปเรียนศิลปะที่ราชบัณฑิตยสถาน ณ กรุงโรม โดยมีเพียงจดหมายรับรองของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ฉบับเดียวแทนใบปริญญาซึ่งเฟื้อไม่เคยมี ช่วงที่ไปอยู่ต่างประเทศเฟื้อพัฒนาฝีมือที่ว่าเก่งที่สุดในประเทศแล้วให้ยิ่งก้าวล้ำขึ้นไปอีกจนมีมาตรฐานอยู่ในระดับโลก เมื่อเฟื้อกลับมาเมืองไทยในอีก 2 ปีให้หลัง ท่านก็ส่งผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ในอิตาลีเข้าประกวดอีกครั้งในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2500 ภาพที่ส่งไปเป็นภาพวาดสีน้ำมัน ภาพนางแบบฝรั่งปาดด้วยสีเร็วๆ หนาๆ ในแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ปนๆ ไปกับการมีเหลี่ยมมีสันในแนวคิวบิสม์ เฟื้อได้รับเหรียญทองไปเป็นอีหรอบเดิม นับเป็นเหรียญที่ 3 เข้าเกณฑ์ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติโดยอัตโนมัติ

อย่างที่ขยายความไปแล้วในบทความเมื่อครั้งก่อน แทนที่เฟื้อจะมุ่งเอาดีทางการวาดภาพรูปแบบสมัยใหม่ที่กำลังไปได้สวย วาดไปเรื่อยๆ มีหวังได้ร่ำรวยและมีชื่อเสียง เฟื้อกลับหันหลังให้โอกาสที่กำลังเข้ามาและมุ่งไปเอาดีทางด้านการคัดลอกและอนุรักษ์จิตรกรรมไทยฝีมือบูรพศิลปินที่กำลังผุพังเสียหายแทน เดิมทีอาจารย์ศิลป์ไม่เห็นด้วยเพราะเสียดายฝีมือการวาดภาพของเฟื้อ แต่พอท่านได้เห็นสิ่งที่เฟื้อลงมือทำ อาจารย์ศิลป์ก็เห็นดีเห็นงามไปด้วย และนำไอเดียเรื่องความสำคัญที่ต้องเร่งอนุรักษ์ผลงานจิตรกรรมไทยก่อนจะสูญหายไปมาเขียนเป็นบทความที่มีชื่อว่า ‘พรุ่งนี้ก็ช้าเสียแล้ว’ 

ภาพถ่ายขณะเฟื้อ หริพิทักษ์ รับรางวัล แมกไซไซ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

หนทางที่เฟื้อเลือกเดินนั้นแสนจะลำบากยากเข็ญและไม่ได้สร้างรายได้อะไร แต่ท่านก็ทำไปโดยไม่หวังลาภยศอะไรด้วยใจรักศิลปะโดยแท้ ในการทำงานเฟื้อไม่ได้สักแต่ว่าก๊อบปี้ลวดลาย แต่ด้วยฝีมือที่สูงส่งท่านจึงสามารถลอกเอาความรู้สึกและจิตวิญญาณของภาพออกมาได้ด้วย เฟื้อตะลอนไปทั่วอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ภาพบนกำแพงวัดนับหมื่นนับแสนภาพทั่วประเทศนั้นจึงเคยสัมผัสไอเหงื่อของเฟื้อมาแล้วทั้งนั้น ผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่เฟื้อฝากไว้ให้ลูกหลานชาวไทยได้ชื่นชมภูมิใจคือหอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม ที่บูรณะเสร็จสิ้นอย่างสวยงามทั้งหลัง หอไตรแห่งนี้เดิมทีใช้เก็บของและโลงศพรอเผา ตั้งอยู่ในบึงน้ำเน่าๆ และกำลังจะถูกรื้อ วันดีคืนดีเฟื้อมาสำรวจและพบว่าในหอไตรแห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝีมือศิลปินคนสำคัญอย่างอาจารย์นาค รวมถึงศิลปินนิรนามจากสกุลช่างอยุธยา ธนบุรี และ รัตนโกสินทร์ตอนต้น เขียนไว้เต็มไปหมด นับเป็นแหล่งชุมนุมศิลปินเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยอายุและฝุ่นจับหนาจึงเลือนไปมากไม่มีใครมองเห็น เฟื้อเห็นดังนั้นก็ร้องไห้ร้องห่มอย่างกับตอนญาติเสีย โทรหาทั้งเพื่อนฝูง ทั้งกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องอ้อนวอนของบมาอนุรักษ์ไว้ไม่ให้รื้อทิ้ง พอได้เงินได้ทองพอเป็นค่าใช้จ่ายมาท่านก็ค่อยๆ ลงมือบูรณะเองกับมืออย่างพิถีพิถันที่สุด กินนอนอยู่ที่นั่นเป็นเวลานับทศวรรษจนคนในละแวกนั้นเรียกเฟื้อว่า ‘ผีหอไตร’

ผลงานการบูรณะหอไตรจากซากปรักหักพังจนเสร็จสมบูรณ์นี้ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั้งในและนอกประเทศ จนคณะกรรมการพิจารณารางวัลแมกไซไซ รางวัลที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดในภูมิภาค หรือเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลของเอเชีย มีมติมอบรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2526 ให้กับเฟื้อ นับเป็นจิตรกรไทยรายแรกและรายเดียวที่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2528 ท่านก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์อีก

เฟื้อ หริพิทักษ์ ขณะพักผ่อนอยู่ในหอไตร วัดระฆัง (ภาพจากหนังสือ 100 ปีชาตกาล เฟื้อ หริพิทักษ์)

เฟื้อทำงานอนุรักษ์ร่วมกับการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจนวัยทะลุเกษียณจวนเจียนจะ 80 แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาให้ความรู้และปลูกฝังความรักและหวงแหนศิลปะไทยให้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่

และแล้วเฟื้อก็เริ่มล้มป่วยในปี พ.ศ. 2533 โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านป่วยอยู่ 3 ปี อาการไม่ดีขึ้นมีแต่แย่ลงจนท่านเป็นอัมพาต กลับกลายเป็นเจ้าชายนิทรา และถึงแก่กรรมในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536

เสียงนาฬิกาแขวนบนกำแพงดัง ติ๊งหน่อง! บอกเวลาว่าตอนนี้เที่ยงคืนแล้ว ถึงเวลาเริ่มต้นวันใหม่ เหลือบไปดูวันที่ เฮ้ย! วันนี้ 19 ตุลาคมนี่นา เลยถึงบางอ้อว่าทำไมช่วงนี้ถึงมีสิ่งดลใจ อะไรๆ ก็เฟื้อ คืนนี้ดึกแล้วพรุ่งนี้เช้าคงตื่นสายไม่ได้ไปใส่บาตรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน แต่จะรีบส่งบทความต้นฉบับที่กำลังเขียนอยู่นี้ไปเผยแพร่แทน หวังว่าดวงจิตวิญญาณของ เฟื้อ หริพิทักษ์ จะรับรู้ได้ถึงความปราถนาดีและเคารพรักจากเรา ผู้ที่ยกย่องเชิดชูท่านสุดหัวใจ และจะคอยหมั่นแบ่งปันเรื่องราวการทำความดีที่ท่านได้ทำไว้ให้กับวงการศิลปะและประเทศชาติอันแสนจะมากมายเหลือคณานับให้เป็นที่รู้กันโดยถ้วนทั่ว คืนนี้้ก่อนจะดับไฟคลุมโปงเข้านอนเราตั้งนะโม 3 จบ และแผ่เมตตาให้เฟื้อผู้เป็นดั่งครูบาอาจารย์ว่า อิทัง เมครุปัชฌายาจะรินายัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ครุปัชฌายาจะริยา ราตรีสวัสดิ์นะประเทศไทย ช่างภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกหลานร่วมชาติกับ เฟื้อ หริพิทักษ์ จริงๆ

 

Don`t copy text!