สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“ชื่อชั้นของสวัสดิ์นั้นอยู่ในระดับโอลด์มาสเตอร์ที่จะมีชื่อเสียง
อยู่คู่กับวงการศิลปะของไทยไปตลอดอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะถูกพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลา”
ในเมืองนอก คำว่า ‘โอลด์มาสเตอร์’ (Old Master) นั้นเป็นนิยามที่ใช้เรียกศิลปินยุโรปที่มีความสามารถโดดเด้งเป็นที่ประจักษ์ในช่วงยุคประมาณปี ค.ศ. 1200 ถึง ค.ศ. 1800 ศิลปินชื่อเหมือนนินจาเต่าที่เราคุ้นหูอย่าง ลีโอนาร์โด ดาวินชี, ไมเคิลแองเจโล, ราฟาเอล, โดนาเทลโล ล้วนนับเป็นโอลด์มาสเตอร์ทั้งสิ้น ส่วนในวงการศิลปะไทย คำว่าโอลด์มาสเตอร์นั้นมีความหมายแตกต่างออกไปเพราะมักใช้เป็นชื่อเรียกศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียงประมาณยุค อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่าน ถึงของเราจะไม่เก่าเท่าของฝรั่ง แต่โอลด์มาสเตอร์ไทยส่วนใหญ่ก็ล้วนล่วงลับกันไปหมดแล้ว รุ่นหลังๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีอายุใกล้จะ 80 ใกล้จะ 100 อยู่มะรอมมะร่อ
ไม่ว่าจะไทยหรือฝรั่ง พอขึ้นชื่อว่าโอลด์มาสเตอร์แล้ว สิ่งที่เหมือนกันในมโนคติของคนทั่วไปคือผลงานของท่านๆ เหล่านั้นล้วนจับต้องลำบากเพราะหาโคตรยากและอภิมหาแพง คู่ควรกับการเป็นสมบัติชาติจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ให้คนดูอู้หู อ้าหา มากกว่าแขวนไว้ตามบ้านช่องห้องหอ ตอนแรกๆ ที่เราเริ่มสะสมผลงานศิลปะเราก็คิดอย่างนี้มาตลอด เลยเน้นอุดหนุนศิลปินร่วมสมัยที่ผลงานยังพอหาได้ และราคายังสบายกระเป๋าอยู่พักหนึ่ง แต่พอนานๆ เข้าถึงเริ่มตระหนักว่าบางทีราคาผลงานของโอลด์มาสเตอร์ก็ไม่ได้เว่อร์วังอลังการอย่างที่กลัวๆ กัน ใครจะไปคิดว่ามีเงินหลักหมื่นก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของภาพวาดฝีมือศิลปินอาวุโสที่เป็นตำนานได้ ครั้งนี้เลยจะขอเล่าถึงโอลด์มาสเตอร์ท่านหนึ่งที่ทำให้เราเปิดใจหันมาเริ่มสะสมผลงานโอลด์มาสเตอร์เชื้อสายไทยอย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยผลงานของท่านที่สวยงามดูสบายในราคาที่เอื้อมถึง ท่านผู้นั้นคือ สวัสดิ์ ตันติสุข
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ณ บ้านเรือนไทยหลังคาแฝดริมคลองภาษีเจริญ นายคิ่ว และนางแม้น ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่ชื่อ สวัสดิ์ ตันติสุข ครอบครัวเชื้อสายจีนไหหลำนี้มีสมาชิก 5 คน คือมีพ่อแม่และลูกชาย 3 คน โดยสวัสดิ์เป็นลูกคนกลาง ในสมัยนั้นครอบครัวของสวัสดิ์มีรายได้หลักมาจากการเก็บผักผลไม้จากสวนโฮมเมดที่ปลูกเอง ขนใส่เรือไปขายให้ชาวบ้านร้านตลาดในย่านนั้น เมื่อโตขึ้นหน่อยสวัสดิ์ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดรางบัว ก่อนจะเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
ในปี พ.ศ. 2483 สวัสดิ์สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างตามพี่ชายและเพื่อนๆ ที่สนิทกัน สวัสดิ์เห็นว่าบัณฑิตที่จบจากเพาะช่างนอกจากจะมีงานมีการที่มั่นคง ยังมีสิทธิ์บรรจุเข้ารับราชการ และได้บรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงบ้าง คุณพระบ้าง พระยาบ้าง ก็ดูเท่ไม่หยอก ในชั้นเรียนสวัสดิ์เริ่มจะฉายแววแหวกแนวไม่เหมือนใครเพราะเป็นคนกล้าที่จะใช้สีสันฉูดฉาดระยิบระยับแบบที่เพื่อนคนอื่นๆ เขาไม่ทำกัน แทนที่จะโดนเฉ่งเพราะหลุดกรอบ แนบ บังคม ครูผู้สอนในขณะนั้น กลับชมเชยผลงานของสวัสดิ์ว่าใช้สีแปลกกว่าคนอื่น แล้วเอาไปเแสดงเป็นตัวอย่างหน้าชั้น นี่จึงเป็นกำลังใจอย่างยิ่งยวดให้สวัสดิ์กล้าเล่นกับสีที่ฉูดฉาดและพัฒนาผลงานต่อๆ มาจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ สวัสดิ์เป็นนักเรียนอัจฉริยะ สอบได้ที่ 1 อยู่บ่อยๆ จึงเรียนจบจากเพาะช่างได้แบบชิลๆ ในปี พ.ศ. 2485
และด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่จะเข้าใจศิลปะให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2486 สวัสดิ์จึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เพิ่งเปิดรับนักศึกษาเป็นรุ่นแรก สมัยนั้นมีพระยาอนุมานราชธนเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย และมี อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรสวัสดิ์ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ แนวคิดของศิลปะทั้งตะวันตกและไทย และได้เรียนรู้อีกว่า เมื่อศิลปินฝึกฝนฝีมือจนช่ำชองจนนึกจะวาดอะไรก็วาดได้แล้ว การวาดภาพก็ไม่ได้สักแต่จะต้องวาดให้เหมือนเปี๊ยบตามที่ตาเห็นอีกต่อไป เพราะถ้าจะเอาให้เหมือนอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับกล้องถ่ายภาพ ผลงานศิลปะที่ดีต้องสามารถแสดงความรู้สึกประทับใจของผู้สร้างสรรค์ออกมา อย่างเช่น ถ้าจะวาดดอกไม้สักช่อ ความยากไม่ใช่การวาดให้เหมือน แต่จะวาดอย่างไรให้ความสดชื่นและหอมตลบอบอวลของมวลหมู่ดอกไม้ที่ผู้วาดสัมผัสได้ในห้วงเวลานั้นถูกผนวกเก็บเอาไว้ในภาพ จนผู้ที่มาเห็นภาพนี้ในภายภาคหน้าสามารถรู้สึกไปได้ด้วยชั่วกัปชั่วกัลป์ อย่างนี้สิถึงจะเรียกว่าเจ๋ง
หลังจากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ 3 ปี สวัสดิ์ก็สอบได้อนุปริญญาศิลปบัณฑิตดั่งใจหวัง แถมพอเรียนจบก็ไม่ต้องไปเดินเตร็ดเตร่หางานทำที่ไหน เพราะอาจารย์ศิลป์ท่านจัดแจงฝากสวัสดิ์ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างตรี แผนกหัตถศิลปะ กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร สวัสดิ์ทำงานราชการที่ได้รับมอบหมาย ควบคู่ไปกับการมาช่วยอาจารย์ศิลป์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย แม้จะงานยุ่งแค่ไหนสวัสดิ์ก็ยังคงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง และไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ริเริ่มอย่างสม่ำเสมอ สวัสดิ์ได้รับรางวัลจากงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติตั้งแต่ครั้งแรกเรื่อยมาจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม (สาขาจิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2498
ในปีถัดมา สวัสดิ์ก็ได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี ในขณะที่ร่ำเรียนอยู่ในดินแดนมักกะโรนีเป็นเวลา 4 ปี สวัสดิ์พัฒนาทักษะทางด้านศิลปะขึ้นเป็นทวีคูณจนเก่งกาจไม่แพ้ฝรั่ง พิสูจน์ได้จากรางวัลชนะเลิศที่คว้ามาได้การประกวดผลงานศิลปะในอิตาลีหลายรางวัล เช่น รางวัลเหรียญทอง การแสดงงานจิตรกรรม เมืองราเวนนา อิตาลี ในปี พ.ศ. 2502, และรางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรม มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมในปี พ.ศ. 2503 ก่อนกลับเมืองไทย สวัสดิ์ยังได้แสดงฝีไม้ลายมือฝากไว้ให้เป็นที่กล่าวขานในนิทรรศการเดี่ยวที่จัดขึ้นในโรมและมิลาน ผลงานศิลปะของสวัสดิ์ในยุคที่ไปเรียนที่ยุโรปนี่แหละว่ากันว่าเป็นผลงานชุดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่าน ผลงานในยุคนี้มักเป็นภาพสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์ที่สวัสดิ์เกิดความประทับใจระหว่างที่ได้ท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ ในประเทศอิตาลี
เมื่อกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง สวัสดิ์นำความรู้จากยุโรปมาริเริ่มบุกเบิกการวาดภาพสไตล์แอ็บสแตรก (Abstract) หรือศิลปะแบบนามธรรมเป็นคนแรกๆ ของบ้านเรา ศิลปะประเภทนี้มุ่งเน้นที่จะแสดงความรู้สึกของศิลปิน โดยใช้สีสัน น้ำหนัก รวมกันให้เกิดเป็นภาพ ศิลปะแบบนามธรรมนี้หากดูเผินๆ เหมือนจะวาดง่าย ละเลงสีมั่วๆ เดี๋ยวก็เป็นภาพนามธรรมได้เอง แต่จริงๆ แล้วการที่จะสร้างสรรค์ภาพสไตล์นี้ให้ดูกลมกลืน ลึกซึ้ง ลงตัวไม่ขัดตา และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอย่างที่สวัสดิ์สามารถทำได้จนเป็นที่ยอมรับนั้นนับเป็นเรื่องหินสุดๆ
สวัสดิ์ใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษทำงานให้กับวงการศิลปะไทยอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ท่านเป็นทั้งศิลปิน อาจารย์ วิทยากร กรรมการตัดสินศิลปะ ผู้บริหารสถาบัน และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปด สวัสดิ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2528 ด้วยลูกศิษย์ลูกหาที่นับหน้าไม่ถ้วน และคุณูปการสร้างไว้อันเหลือจะคณานับ สวัสดิ์จึงได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2534
หลังเกษียณ สวัสดิ์ยังคงมีความสุขกับการวาดภาพทั้งสีน้ำและสีน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ท่านสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งในสตูดิโอที่บ้าน และเดินทางออกไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งตามวัดวา ป่าเขา เกาะแก่ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจโดยยึดถือคติที่ว่า ศิลปะต้องทำอย่างมีความสุข ไม่เกร็ง อย่าตั้งใจเกินไป และจงสนุกไปกับมัน เช่น เวลาวาดภาพสีน้ำอยู่นอกสถานที่แล้วเกิดฝนตกมีละอองน้ำปลิวมาโดนภาพ ถ้าเป็นเราคงเก็บข้าวของหนีหัวซุกหัวซุน แต่สำหรับสวัสดิ์ท่านกลับมองเป็นเรื่องแฮปปี้เพราะมีเทวดามาช่วยวาด หลายครั้งหลายคราที่ท่านปล่อยให้ละอองฝนผสมไปกับสีเกิดเป็นดอกเป็นดวงตรงนั้นตรงนี้บนภาพให้อารมณ์ความงามไปอีกแบบ ในวัยชราสวัสดิ์ก็ยังคงวาดภาพ พร้อมๆ ไปกับการใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างท่ามกลางลูกหลานที่ท่านรัก จนในที่สุดฟ้าดินก็พราก สวัสดิ์ ตันติสุข ไปในวัย 84 ปี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ตลอดระยะเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่ สวัสดิ์ได้มีโอกาสถ่ายทอดความสุขออกมาเป็นผลงานศิลปะจำนวนมากมาย ด้วยรูปแบบและสีสันที่ใครเห็นก็ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินจำเริญใจ ทำให้ผลงานของท่านเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมน้อยใหญ่ แทนที่สวัสดิ์จะตั้งราคาภาพไว้สูงโด่เด่ ท่านกลับเต็มใจจะแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจในราคาสุดแสนจะมิตรภาพ เพราะอยากให้ผลงานของท่านกระจายไปทั่วๆ ภาพแรกในชีวิตที่สวัสดิ์ขายไปมีชื่อว่า ‘ทุ่งทอง’ เป็นภาพที่ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ตอนปี พ.ศ. 2492 เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วสวัสดิ์ขายภาพนี้ไปในราคาเพียง 400 บาท ท่านขายผลงานอยู่ในราคาหลักร้อย จนหลังจากที่กลับมาจากอิตาลี ราคาภาพที่สวัสดิ์ขายจึงขยับขึ้นเป็น 2,000 กว่าบาท วันเวลาผ่านไปหลายสิบปีจนแม้ชื่อชั้นของท่านจะเข้าขั้นโอลด์มาสเตอร์แล้ว สวัสดิ์ก็ยังตั้งราคาผลงานของท่านในราคาไม่ต่างอะไรกับศิลปินรุ่นลูกรุ่นหลาน ภาพวาดสีน้ำยังขายอยู่ในหลักหมื่น ในขณะที่ภาพวาดสีน้ำมันชิ้นที่แพงที่สุดสวัสดิ์ขายไปในราคาไม่กี่แสน ในขณะที่ศิลปินในระดับเดียวกับท่านตั้งราคาขายผลงานกันในราคาแพงกว่านี้หลายเท่า
เมื่อสามสี่ปีก่อนเราได้มีโอกาสไปชมกรุสมบัติของนักสะสมศิลปะรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ตอนนั้นเราถึงกับงงเต้กเมื่อเปิดห้องเข้าไปเห็นพี่เขาเก็บผลงานของ สวัสดิ์ ตันติสุข คนเดียวเป็นโหลๆ เพื่อให้หายสงสัยเราจึงถามไปทันทีทันใดว่า ‘ทำไมพี่ถึงได้เลือกเก็บผลงานของสวัสดิ์ไว้มากมายขนาดนั้นครับ’ พี่เขาเลยให้เหตุผลมาว่า ประการแรก คุณภาพของผลงานสวัสดิ์นั้นอยู่ในระดับสูง ประการที่สอง ชื่อชั้นของสวัสดิ์นั้นอยู่ในระดับโอลด์มาสเตอร์ที่จะมีชื่อเสียงอยู่คู่กับวงการศิลปะของไทยไปตลอดอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะถูกพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลา ประการที่สาม ผลงานของท่านถึงจะเก่าแต่ก็ยังคงความเก๋า ดูไม่เชย ไม่ตกยุคตกสมัย เข้ากันได้กับจริตของนักสะสมไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ประการที่สี่ ในแง่การลงทุนถือว่าคุ้มค่าเพราะยังซื้อหาได้ในราคาที่ไม่สูงนัก เวลาจะขายก็มีโอกาสทำกำไรในสัดส่วนที่มากได้ไม่ยาก ลองคิดดูว่าถ้าลงทุนซื้อภาพวาดมาในราคา 2 ล้าน การจะขายให้ได้ 3 ล้านนี้รับประกันว่าหืดขึ้นคอ แต่ถ้าซื้อภาพวาดมาในราคา 2 แสน การจะขายให้ได้ 3 แสนนี่นับว่าเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก ทั้งๆ ที่สัดส่วนของกำไรนั้นเท่ากันเป๊ะ
รู้งี้แล้วหากเกิดอาการคันไม้คันมือผดผื่นขึ้นอยากจะริเริ่มสะสมผลงานระดับโอลด์มาสเตอร์ของไทยอย่าง สวัสดิ์ ตันติสุข เอาไว้บ้างก็น่าจะยังไม่สายจนเกินไป เราพอจะเห็นผลงานของสวัสดิ์ซื้อขายเปลี่ยนมือกันอยู่เสมอๆ แต่นับวันก็ยิ่งเห็นน้อยลงไปเรื่อยๆ เลยไม่รู้ว่าจะมีให้ไขว่คว้าในราคาที่จับต้องได้กันไปอีกนานแค่ไหน เพราะรู้มาว่าภาพวาดชิ้นเด็ดๆ จากยุคพีกๆ ของสวัสดิ์ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนมือกันแบบเจ้าของเดิมยังเสียดายร้องไห้ขี้มูกโป่งในราคาเป็นล้านๆ เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าราคาผลงานของท่านชิ้นอื่นๆ จะขยับขึ้นตาม
เรื่องมูลค่าก็ว่ากันไป ส่วนเรื่องคุณค่าถ้าถามใจเราแล้ว สิ่งที่เรารับรู้ได้จากผลงานศิลปะของ สวัสดิ์ ตันติสุข คือพลังความสุขอันล้นปรี่ที่ท่านได้ถ่ายทอดลงไปบนผลงานแทบทุกชิ้น เราเลือกที่จะแขวนภาพวาดสีสันสดใสของสวัสดิ์ไว้ใกล้ๆ ประตูบ้าน เพื่อทุกเช้าจะได้ชายตามองก่อให้เกิดอาการแฮปปี้กระดี๊กระด๊าเพิ่มกำลังวังชาก่อนจะออกไปเผชิญโลกภายนอกในแต่ละวัน ทุกวันนี้เลยไม่ต้องพึ่งเอ็ม-150 ไม่ต้องจิบสตาร์บัคส์ เพราะแค่มีสวัสดิ์เราก็คึกคักได้
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี