‘สตรีทอาร์ต’ อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
ประมาณเดือนตุลาคมปี 2018 มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นในวงการศิลปะโลก คลิปวีดีโอการประมูลผลงานของ แบงค์ซี่ (Banksy) ศิลปินแนวสตรีทอาร์ตนิรนามถูกส่งต่อเป็นไวรัลทั่วโลกออนไลน์ ในคลิปวีดีโอเป็นภาพขณะที่ผลงานสีสเปรย์รูปเด็กผู้หญิงกับลูกโป่งฝีมือแบงค์ซี่ถูกนำขึ้นประมูล มีผู้เสนอราคาห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านจนราคาประมูลไต่ขึ้นอย่างพรวดพราดไปสิ้นสุดที่ประมาณ 40 ล้านบาท
จุดไคลแม็กซ์ของคลิปวีดีโอนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขราคาอันสูงเด่ แต่เมื่อผู้ดำเนินการประมูลบนเวทีเอาค้อนทุบโต๊ะเสียงดังป๊อก เป็นการให้สัญญาณว่าการประมูลเป็นอันสิ้นสุดปั๊บ ภาพเด็กผู้หญิงที่ตอนนี้มีราคาพอๆกับคฤหาสถ์ก็ค่อยๆเลื่อนผ่านกรอบรูปด้านล่างที่มีเครื่องทำลายเอกสารซ่อนอยู่ภายใน ฉีกภาพขาดเป็นริ้วๆให้ห้อยต่องแต่งลงมาที่ใต้กรอบ ก่อนที่ใบมีดของเครื่องทำลายจะหยุดทำงานภาพเด็กกับลูกโป่งก็กลายเป็นริ้วๆไปซะครึ่งภาพแล้ว ทุกสายตาในห้องจับจ้องไปที่ผลงานศิลปะชิ้นนี้ด้วยอาการช๊อคซีเนม่า ขนาดตัวเราเองดูแค่คลิปภาพสั่นๆมัวๆที่ถูกส่งมาในมือถือยังถึงกับอึ้งกิมกี่ไปเลย
งานนี้ตัวแทนของแบงค์ซี่ออกมาเฉลยว่าศิลปินเองนั่นแหละเป็นผู้วางแผนให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ในขณะที่ตัวแทนของบริษัทประมูลรีบออกมาปฏิเสธอย่างทันควันว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องมหัศจรรย์พันลึกนี้ ส่วนคนที่ชนะการประมูลผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แทนที่จะเซ็งเป็ดเพราะภาพที่ได้มาถูกทำลายไปครึ่งหนึ่ง กลับดีใจเหมือนถูกหวย เพราะผลงานศิลปะที่ถูกตั้งชื่อให้ภายหลังว่า ‘เลิฟ อิส อิน เดอะ บิน’ (Love is in the Bin) ชิ้นนี้ได้กลายผลงานชิ้นโคตรดังที่ถูกแชร์ภาพและพูดถึงกันทั่วโลกในชั่วข้ามคืน ตอนนั้นเราไม่ได้อินกับสตรีทอาร์ตเท่าไหร่ได้แต่คิดในใจว่าศิลปะแนวนี้บางทีมันก็ฮาดีแฮะ
เวลาผ่านไปอีกไม่กี่เดือน ครั้งนั้นเรามีโอกาสได้ไปเปิดหูเปิดตาเดินเต็ดเตร่ดูงาน อาร์ทบาเซิล (Art Basel) ที่ฮ่องกง ในงานมีแกลเลอรี่นับร้อยจากทั่วโลกมาออกบูธแสดงผลงานของศิลปินในสังกัด และในตึกเดียวกันก็มีการจัดแสดงผลงานศิลปะที่กำลังจะถูกประมูลด้วย ท่ามกลางบรรดาสมบัติบ้าเหล่านั้นเราดันไปประทับใจภาพวาดแนวการ์ตูนฝีมือศิลปินสตรีทอาร์ตนามว่า คอวส์ (KAWS) ด้วยเนื้อหาที่สนุกสนาน สีสันสดใส และรูปแบบที่ทันสมัย เราเลยเกิดไอเดียว่าอยากจะลองประมูลภาพ คอวส์ มาแขวนฝาบ้านซักชิ้นสองชิ้นเพราะดูหน้าตาแล้วไม่น่าจะแพงเท่าไหร่ แต่แล้วความคิดทั้งหมดก็ได้มลายหายวับไปในอากาศ เพราะเมื่อเราเข้าไปดูป้ายราคาใกล้ๆ ผลงานของเฮียคอวส์นั้นตั้งราคาเริ่มต้นประมูลกันชิ้นละเป็นแสนเป็นล้าน ถึงรู้ตัวว่าซื้อไม่ไหวเพราะใจไม่ถึง แต่ด้วยนิสัยชอบเผือกเรื่องชาวบ้านวันรุ่งขึ้นเราเลยไปนั่งสังเกตการณ์อยู่ในห้องประมูลเพื่อไปแอบดูซิว่ามันจะมีคนบ้าดีเดือดประมูลผลงานสตรีทอาร์ตพรรค์นี้ไปในราคามหาแพงจริงๆหรือ
และแล้วช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายก็มาถึง ผลงานศิลปะของคอวส์ชิ้นที่เราชอบเป็นพิเศษเพราะดูมีรายละเอียดมากกว่าชิ้นอื่นก็ถูกเอาขึ้นประมูลบนเวที ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘เดอะ คอวส์ อัลบั้ม’ (The Kaws Album) เป็นภาพล้อเลียนปกแผ่นเสียงของวงเดอะบีเทิลส์แต่เอาตัวการ์ตูนจากเรื่องเดอะซิมป์สันส์มาใส่แทน ภาพนี้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกันอย่างเผ็ดมันถึงพริกถึงขิง แฟนคลับของคอวส์ที่เห็นยกมือประมูลกันก็เป็นวัยรุ่นใส่กางเกงยีนส์รองเท้าผ้าใบแทบทั้งนั้น เราเลยคิดไปเองว่าราคาไม่น่าจะไปไหนไกล แต่ที่ไหนได้ราคาสุดท้ายดันทะยานไปจบที่ประมาณ 450 ล้านบาท เฮ้ยสตรีทอาร์ทมันฮิตกันขนาดนี้เชียวหรือ โอ้วแม่เจ้า ตูจะบ้าตาย
ก่อนที่จะสาธยายอะไรกันไปไกลกว่านี้ เรามาทำความรู้จักมักจี่กันก่อนดีกว่าว่าสตรีทอาร์ทนี้มันคืออะไร ตามดิกชันนารีสตรีทอาร์ทนั้นหมายถึงผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นในที่สาธารณะ จริงๆแล้วศิลปะแนวสตรีทอาร์ทที่ดูทันสมัยถูกใจวัยโจ๋นั้นมีรากเหง้าที่เก่ากึ๊กมาก เพราะตั้งแต่หลายหมื่นหลายแสนปีที่แล้วที่เราเริ่มเลิกจะเป็นลิง เลิกร้องเจี๊ยกๆเก็บเห็บเก็บเหาจากหลังเพื่อนเอามาใส่ปากกิน และมีวิวัฒนาการจนให้เป็นผู้เป็นคน มนุษย์เราก็มือบอนหาวัสดุอะไรต่างๆนาๆมาขีดๆเขียนๆแล้ว ในสมัยดึกดำบรรพ์ สตรีทสเตริท ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องยังไม่มี มนุษย์หินหัวใจศิลปินก็เริ่มปลดปล่อยจินตนาการโดยการวาดภาพคน และสัตว์ลงไปบนผนังถ้ำกัน
ต่อมาในสมัยโรมันโบราณ การขีดเขียนในที่สาธารณะนั้นก็มีให้เห็นในรูปแบบและเนื้อหาที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามท้องถนนของนคร ปอมเปอี เมืองที่ถูกเถ้าภูเขาไฟฝังกลบไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 79 มีทั้งภาพและข้อความเชียร์นักรบแกลดิเอเตอร์กีฬาสุดโหดยอดฮิตของชาวโรมัน มีทั้งถ้อยคำหยาบคายด่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ข้อความโฆษณาชวนเชื่อ และอะไรต่อมิอะไรอีกเพียบ
ฟาสฟอร์เวิดมาอีกเกือบ 2000 ปีให้หลัง ในช่วงยุคทศวรรษที่ 60 ถึง 70 หลังจากที่กระป๋องสีสเปรย์ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา การจะละเลงผนังขนาดใหญ่ให้เต็มไปด้วยภาพและข้อความในเวลาอันรวดเร็วก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แก๊งกวนเมืองในอเมริกาได้เริ่มแอบพ่นข้อความไว้ตามที่สาธารณะเพื่อแสดงตัวตน ส่วนใหญ่มักเป็นการเขียนชื่อเสียงเรียงนามของคนพ่น หรือประกาศศักดาว่าข้าอยู่แก๊งนั้นก๊วนนี้ เพราะทั้งไม่สวยและไม่สร้างสรรค์ข้อความที่ถูกเขียนไว้ตามที่สาธารณะในสมัยนั้นจึงถูกมองเป็นเรื่องนอกคอก สร้างความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนให้กับเมืองที่ควรจะดูสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย
พอวันเวลาผ่านไป ผลงานของนักเลงกระป๋องสีสเปรย์ก็มีพัฒนาการจนเริ่มที่จะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะแนวสตรีทอาร์ท จากที่สักแต่ว่าจะพ่นให้เป็นคำ ก็มีการดีไซน์ตัวอักษรให้เป็นเอกลักษณ์ โชว์สกิลการพ่นเป็นภาพ และลงสีให้สวยงาม เกิดเป็นผลงานที่ดูน่ารื่นรมย์ยิ่งๆขึ้น และนอกเหนือจากรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานยังขยายอาณาบริเวณจากกำแพงบ้านๆที่เข้าถึงได้ง่ายไปครอบคลุมพื้นที่สาธารณะอื่นๆที่ไม่รู้ว่าอุตริสวมวิญญาณสไปเดอร์แมนแอบปีนขึ้นไปพ่นไว้ได้อย่างไร เช่น บนกำแพงตึกสูงๆ บนคานสะพาน บนป้ายบิลบอร์ด บนรถไฟ หรือแม้แต่บนตัวช้างในสวนสัตว์ก็ยังมีมนุษย์สุดเฮี้ยนเคยปีนไปพ่นสีมาแล้วทั้งสิ้น
ในยุคทศวรรษที่ 80 สตรีทอาร์ทยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปอีก พร้อมๆไปกับวัฒนธรรมเพลงแนวฮิพฮอพ และ แนวพังค์ ที่กำลังมาแรง ในนิวยอร์คทุกซอกทุกมุมของมหานครแห่งนี้เต็มไปด้วยภาพและข้อความที่ถูกพ่นเอาไว้มากมาย ที่เห็นจะดูลายพร้อยที่สุดก็น่าจะเป็นบนขบวนรถไฟใต้ดินที่ถูกพ่นทับกันจนแน่นเอี้ยดแทบจะไม่มีพื้นที่ว่างให้หายใจหายคอทั้งด้านนอกด้านใน และท่ามกลางผลงานจากศิลปินจากทั่วทุกสารทิศที่ถูกพ่นไว้กระจัดกระจายทั้งเมือง เพชรในตมที่มีสไตล์โดดเด่นชัดเจนอย่าง คีธ แฮริ่ง (Keith Haring) และ ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) ก็ถูกค้นพบโดยบรรดาแมวมอง และแล้วสตรีทอาร์ทก็ถูกคัดเลือกจากข้างถนนเอามาขึ้นหิ้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จู่ๆก็ถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะโลก สตรีทอาร์ทจากจุดเริ่มต้นที่เคยเป็นที่น่ารังเกียจ ให้ฟรีๆไม่มีใครเอา อยู่ดีๆก็กลายเป็นผลงานศิลปะสุดแสนล้ำค่าขวัญใจประชาชีในชั่วข้ามคืน
เราคิดว่าการที่สตรีทอาร์ทถูกยอมรับโดย แกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ นักสะสม รวมถึงนักการตลาดในโลกสมัยใหม่ เพราะความอินเทรนด์ ความสนุกสนาน และการที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ พูดง่ายๆคือศิลปินแนวนี้มักเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดนอกกรอบอยากทำอะไรก็ทำได้ถ้าใจอยาก ศิลปินสตรีทอาร์ทไม่จำเป็นต้องพกกระป๋องสีไปพ่นใส่กำแพงเสมอไป การขูดแคะแกะสลัก เอาสติกเกอร์หรือโปสเตอร์ไปแปะ เย็บผ้าไปคลุมสิ่งต่างๆในที่สาธารณะก็นับเป็นสตรีทอาร์ทได้ ศิลปะสไตล์นี้ยังนับรวมถึงผลงานที่ไม่ได้อยู่ในที่สาธารณะ แต่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินสตรีทอาร์ทเพื่อเอาใจเหล่าแฟนคลับ ซึ่งมีทั้ง ภาพวาดบนผ้าใบ ของเล่น ตุ๊กตา ก็เห็นขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอย่างเช่นงานประมูลผลงานของ คอวส์ ในราคาสูงเสียดฟ้าจนเราต้องแหงนหน้าจนคอวส์เคล็ด
หลังจากที่กลับมาจากฮ่องกงในครานั้น เราก็เลยเริ่มชักสงสัยว่าสตรีทอาร์ทเมืองไทยนั้นไปถึงไหน จะยังมีแต่แนวฮาร์ดคอร์ประเภท …คุมทุกสถาบัน …พ่อทุกสถาบัน อยู่หรือเปล่า เราะเกรงใจไม่กล้าเดินดุ่มๆไปถามพี่ๆช่างกลนักพ่นกำแพงเพราะดูน่าจะมีภารกิจรัดตัวต้องดูแลลูกๆทุกสถาบัน เราเลยรบกวนเพื่อนๆนักสะสมศิลปะช่วยแนะนำให้รู้จักศิลปินสตรีทอาร์ทประเภทใจดีแล้วขอนัดไปนั่งเมาท์มอยแทน คุยไปคุยมาถึงได้รับรู้ว่าวงการสตรีทอาร์ทบ้านเรานั้นก็มาไกลไม่แพ้ฝรั่งเขาเหมือนกัน เริ่มจากเมื่อราว 20 ปีที่แล้วที่กระแสแนวเพลงฮิพฮอพ การแต่งกายแนวใส่กางเกงหลุดตูดไปครึ่งก้น การเต้นบีบอยเอาหัวปักพื้น และกีฬาเอ็กซ์ตรีมไถสเก็ตตบอร์ดร่อนโรลเลอร์เบลด เข้ามาในเมืองไทย สตรีทอาร์ทซึ่งมีฐานแฟนคลับเทือกเดียวกันก็เลยติดสอยห้อยตามเข้ามาด้วยพร้อมๆกับกระแสความนิยมเหล่านี้
ในช่วงยุคบุกเบิกศิลปินสตรีทอาร์ทชาวไทยยังต้องพ่นกำแพงกันแบบหลบๆซ่อนๆเพราะกลัวจะโดนจับฐานฝ่าฝืนพ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งถ้าดวงซวยก็อาจจะโดนปรับได้ถึง 5000 บาท ถึงค่าปรับจะแพงพอๆกับค่าดาวน์มอเตอร์ไซค์แต่ก็มีวัยรุ่นใจถึงยอมเสี่ยงฝากผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ตามสถานที่ต่างๆ สตรีทอาร์ทนี้ได้เปรียบศิลปะแนวอื่นตรงที่สามารถเข้าถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าแบบเนียนๆไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องรอให้ไปดูในแกลเลอรี่ หรือพิพิธภัณฑ์ โดยหลักการแล้วถ้าผลงานดี และมีคนเห็นบ่อยในที่สุดศิลปินก็จะกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง ไม่ใช่ชื่อเสียแบบแต่ก่อน
พอสาธารณชนเริ่มชื่นชม ศิลปินสตรีทอาร์ทชาวไทยเลยไม่ต้องทำงานแบบลับๆล่อๆอีกต่อไป จากที่ถูกมองว่ารกรุงรัง กำแพงตึกไหนมีสตรีทอาร์ทนี่นับว่าอินเทรนด์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราจากที่เคยก่นด่า ไล่จับศิลปินสตรีทอาร์ทเข้าคุกเข้าตะราง ก็พากันเปลี่ยนความคิดใหม่ เทียบเชิญเหล่าบรรดาศิลปินมาพ่นตึกพ่นกำแพงให้เป็นสีเป็นสัน จนสตรีทอาร์ทในประเทศไทยนั้นแทบจะมีทุกจังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่ละที่เขาเอาไว้ใช้โปรโมตให้นักท่องเที่ยวแห่แหนกันมาถ่ายรูปเซลฟี่ แชร์กันในเฟสบุ๊ค ลงรูปในอินสตาแกรม กระหน่ำโพสต์ กระหน่ำเช็คอินเข้าไป จะได้พากันมาเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นดีนักแล
และไม่ใช่จะแค่ดังแต่ในเมืองไทย ทุกวันนี้ศิลปินสตรีทอาร์ทแถวหน้าของบ้านเรานั้นก้าวไกลไปในระดับสากลกันแล้ว นอกจากจะต้องตระเวนแสดงผลงานแทบจะทั่วโลก ศิลปินสัญชาติไทยยังถูกจีบให้ไปฝากฝีไม้ลายมือไว้บนผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังระดับโลกทั้งกระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า รองเท้า อีกร้อยแปด
รู้งี้แล้วในฐานะนักสะสมศิลปะอย่างเราจะพลาดได้ไง ตั้งปณิธานว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหาผลงานสตรีทอาร์ทของไทยมาประดับครัวเรือนไว้เป็นเกียรติเป็นศรีกับเขาบ้าง จนจู่ๆอยู่มาวันนึงระหว่างที่เดินกินไอติมอย่างเพลินใจอยู่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สายตาก็เหลือบไปเห็นตุ๊กตุ่นยางสูงประมาณคืบกว่าๆเป็นรูปน้องมาร์ดี เด็กน่ามุ่ยใส่ชุดกระต่าย ฝีมือ อเล็กซ์เฟส (Alex face) ศิลปินสตรีทอาร์ทขวัญใจเรา ตุ๊กตุ่นอะไรไม่รู้ตัวเกือบหมื่น เราเลยใช้เวลาเกือบ 15 นาทียืนเลียทั้งถ้วยทั้งช้อนไอติมจนสะอาดเอี่ยมกว่าจะตัดสินใจได้ แล้วเดินกำตังค์ไปบอกคนขายว่าเราอยากได้ตัวนึง ปรากฎว่าการจะได้ตุ๊กตุ่นที่ว่านี้มานอนกอดมันไม่ซิมเปิ้ลอย่างที่คิด คนขายบอกให้เราซื้อของอย่างอื่นก่อนแล้วจะได้ฉลากที่มีเบอร์ของเรา หลังจากนั้นให้เอาฉลากมาใส่กล่องไว้ เมื่อตกเย็นจะมีการจับฉลาก ผู้โชคดีที่จับฉลากได้ถึงจะมีสิทธิ์ได้จ่ายตังค์เกือบหมื่นซื้อตุ๊กตุ่นที่มีจำนวนจำกัดนี้ไป
ผ่านไปอีก 3 ชั่วโมงหลังจากที่ดูหนังในโรงหนังชั้นบน จบด้วยความคันตะหงิดๆ เราเลยเดินกลับไปที่บู้ธขายตุ๊กตุ่นอีกทีเผื่อไม่มีใครมารอจับฉลากเราจะได้เจรจาขอซื้อตุ๊กตุ่นไปเลยให้หมดเรื่องหมดราว พอเดินไปถึงเรากลับต้องตะลึงพรึงเพริดเพราะเห็นวัยรุ่นน้อยใหญ่ ทั้งชาวไทยชาวต่างชาตินับร้อยเฝ้าดูการจับฉลากอย่างลุ้นระทึก
พอใครจับฉลากได้ก็ทำท่าดีใจอย่างกับได้ฟรี ดีใจกันขนาดนี้ขืนเราไปขอซื้อต่อคงโดนด่าบุพการี ฝากไว้ก่อนนะมาร์ดีคราวหน้าพี่จะเตรียมตัวมาดีกว่านี้แน่
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี