ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี

ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

………………………………………………..

ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนในศิลปะว่ามันดีอย่างนู้นอย่างนี้ ถ้าเลือกเก็บผลงานให้ถูกชิ้น ถูกศิลปิน นับวันมูลค่าจะยิ่งทวีคูณมีสิทธิ์ได้กำไรเป็นเศรษฐี สมัยแรกๆ ที่เราริเริ่มสะสมศิลปะ ก็ยังฟังหูไว้หูไม่รู้ว่าสตอรี่สุดอเมซิ่งร้อยแปดพันเก้าเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริงหรือขี้โม้ แต่ไปๆ มาๆ พอได้คลุกคลีกับวงการนี้นานวันเข้า เลยได้รู้ได้เห็นเรื่องทวีราคาคาตาด้วยตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน เก็บงำไว้คนเดียวเดี๋ยวโลกลืมคิดอยากแชร์ประสบการณ์แต่ก็เลือกไม่ถูกว่าจะเริ่มด้วยเรื่องไหนเพราะมันเยอะเหลือเกิน เอางี้ดีกว่าไหนๆ ก็ว่ากันถึง ทวีคูณ ทวีค่า ทวีราคา ไปแล้ว งั้นจะขอเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับผลงานของ ทวี นันทขว้าง ที่มีชื่อคล้องจองซักเรื่องสองเรื่องก่อนพอเป็นกระษัยละกัน

บางกะปิแกลเลอรี (ภาพจากหนังสือศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย : มองผ่านความเคลื่อนไหวของหอศิลป์เอกชนและการซื้อขายงานศิลปะในกรุงเทพมหานคร ทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2530)

เรื่องแรก ต้องเท้าความกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2505 เหตุเกิดที่ 3 แยกอโศก (สมัยนั้นยังเป็น 3 แยกเพราะถนนที่ตัดมาทางศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยังไม่มี) ตรงปากซอยอโศกฝั่งถนนสุขุมวิทมีร้านเสริมสวยอยู่ร้านหนึ่งเพิ่งจะหมดสัญญาเช่า เจ้าของที่ดินซึ่งมียศเป็นร้อยตำรวจเอกนามว่า สุวิทย์ ตุลยายน ผู้ชอบศิลปะเป็นทุนเดิมจากการที่ได้ถูกปลูกฝังตอนไปเรียนต่างประเทศ เกิดความคิดอยากจะเอาพื้นที่ตรงนี้มาประกอบธุรกิจแกลเลอรีซื้อขายผลงานศิลปะ ไอเดียนี้น่าจะเวิร์กเพราะพอเจ้าของทำเองก็ไม่มีค่าเช่า แถมบ้านสุวิทย์ยังอยู่ติดกับร้านไปมาหาสู่สะดวกสบาย ‘บางกะปิแกลเลอรี’ จึงถือกำเนิดขึ้นแทนร้านทำผม โดยสุวิทย์ตัดสินใจใช้ชื่อ อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร ที่ตั้งสมัยนั้นของสถานที่แห่งนี้มาตั้งเป็นชื่อแกลเลอรี ไม่ต้องคิดมากหาชื่อประหลาดให้ปวดหัว

ถวัลย์ ดัชนี และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในพิธีเปิดการแสดง ณ บางกะปิแกลเลอรี (ภาพจากหนังสือ มนุษย์ต่างดาว ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรอวตารจากดาราจักรผู้อยู่เหนือตัวตน เมธีสุนทรียศาสตร์แห่งเทวาลัยทิพยสถานบ้านดำ)

สุวิทย์บริหารบางกะปิแกลเลอรีเอง โดยได้ ‘กลุ่มมักกะสัน’ ที่ก่อตั้งโดย ดำรง วงศ์อุปราช และเพื่อนๆจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยเรื่องคอนเนกชันเชื้อเชิญศิลปินมาแสดงงาน ที่นี่เลยเต็มไปด้วยศิลปินมากหน้าหลายตาสลับสับเปลี่ยนกันมาโชว์ฝีมือจนหัวบันไดไม่แห้ง งานแสดงเด่นๆ เช่น วันแมนโชว์ของถวัลย์ ดัชนี ที่มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นประธาน, งานแสดงเดี่ยวของ ประหยัด พงษ์ดำ, สวัสดิ์ ตันติสุข, และศิลปินในตำนานอีกหลายท่านก็เคยจัด ณ สถานที่แห่งนี้ บางกะปิแกลเลอรีจึงมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานในแวดวงศิลปะ และตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอๆ แต่ถึงดังเป็นพลุแตกแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้สุวิทย์ร่ำรวยอะไร เพราะสมัยนั้นผลงานศิลปะไม่ได้มีราคาเท่าไหร่ แถมคนซื้อก็มีไม่มาก แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยกันในละแวกนั้น คนไทยเรายังไม่เก็ต

บรรยากาศภายในบางกะปิแกลเลอรี โดยมี เฉลิม นาคีรักษ์ (ที่ 2 จากซ้าย) ประหยัด พงษ์ดำ (ที่ 2 จากขวา) และ เขียน ยิ้มศิริ (ขวา) (ภาพจาก Facebook ประวัติโรงเรียนเพาะช่าง)

เป็นที่น่าเศร้าที่บางกะปิแกลเลอรีต้องปิดฉากลงไปในปี พ.ศ. 2510 เหตุจากสุวิทย์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ภาพวาดที่ค้างสต๊อกอยู่จึงถูกขนเอาไปใช้ประดับอพาร์ตเมนต์ให้เช่าของครอบครัวสุวิทย์ที่ตั้งอยู่ด้านหลังแกลเลอรี ส่วนชิ้นที่เกินๆ มากมายไม่มีที่แขวนก็ถูกพิงๆ หมกไว้ในห้องเก็บของ เวลาผ่านไปหลายปีจู่ๆ ก็มีนักสะสมของเก่าสุดเก๋าไปสืบทราบมาว่าผลงานศิลปะจากบางกะปิแกลเลอรีถูกเก็บจนฝุ่นกลบไว้ที่นี่ พอติดต่อไปญาติๆ ของสุวิทย์ก็ตอบตกลงจะแบ่งขาย ก่อนจะนัดแนะให้มาหาและพาไปเลือกในห้องเก็บของที่มีรูปภาพกองพะเนินเป็นตั้งๆ วันนั้นจบดีลกันไป 3-4 ชิ้น ยอดรวมเป็นเงินพันกว่าบาท ซื้อแค่พอจะขนไหว เพราะนักสะสมท่านนั้นกะว่าคราวหน้าจะกลับมาซื้อใหม่ แต่นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์เพราะหลังจากครั้งนั้นญาติๆ ของสุวิทย์ก็เกิดเสียดายเลิกขายไปเฉยๆ

“ภูเขาทอง” พ.ศ.2502 เทคนิคสีน้ำมันบนกระดานไม้ ขนาด 90 x 67 เซนติเมตร ศิลปิน ทวี นันทขว้าง

ในบรรดาภาพวาดที่เปลี่ยนมือกันในวันนั้นชิ้นที่พีกที่สุดเห็นจะเป็นภาพ ‘ภูเขาทอง’ ที่วาดด้วยสีน้ำมันบนแผ่นไม้อัดฝีมือ ทวี นันทขว้าง เมื่อ พ.ศ. 2502 ที่ว่าเด็ดเพราะผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานหายากจากยุคแรกๆ ของทวีที่ยังวาดด้วยสีน้ำมันด้วยฝีแปรงหนาๆในสไตล์อิมเพรสชันนิสม์อยู่ เลยอาจจะดูไม่คุ้นตาแฟนคลับเหมือนภาพดอกไม้ต้นไม้สไตล์เหมือนจริงที่ทวีวาดในยุคหลังด้วยสีอะคริลิก แถมซีรีส์ภาพภูเขาทองยังเป็นภาพชุดดังที่ทวีวาดไว้เพียงไม่กี่ชิ้น และหนึ่งในภาพชุดนี้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงกับเลือกเอาไว้ประดับห้องทำงาน และก็ยังแขวนอยู่ในห้องนั้นจนวันนี้

เจ้าของ ภาพภูเขาทอง ชอบและหวงแหนผลงานชิ้นนี้มาก จัดแจงสั่งทำกรอบด้วยไม้สักแกะสลักอย่างวิลิศมาหรา อุตส่าห์ตกแต่งซะดีแต่เพราะภาพดันถูกวาดบนแผ่นไม้ปลวกมอดก็เลยแห่มากัดกินทำเอาเจ้าของใจแป้ว โชคยังดีที่สีน้ำมันปลวกไม่ชอบ จึงพากันหม่ำแต่ไม้ด้านหลัง ด้านหน้ายังอยู่ดีไม่มีตำหนิ ผลสุดท้ายเพื่อแยกส่วนที่เสียหายออกจึงต้องเอาภาพไปแช่น้ำให้ไม้อัดลอกเป็นชั้นๆ แล้วแยกแผ่นหน้าที่ภาพวาดติดอยู่ออกมายึดใหม่บนผ้าใบหนาๆ เพื่อเสริมความแข็งแรง และไม่ล่อแมลงอีกในอนาคต

ไหนๆ ก็คลุกฝุ่น ตะลุยน้ำกันแล้ว เพื่อให้ควอลิไฟด์ไปแข่งโอลิมปิกไตรกีฬา ภาพ ภูเขาทอง นี้ยังเคยฝ่าเขม่ารอดหวุดหวิดจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านนักสะสมย่านผ่านฟ้าในขณะผลงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่โชคไม่ดีเท่าอันตรธานหายวับไปกับกองเพลิง เหมือนกับว่าภาพภูเขาทอง ทนไฟสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกภาพนี้น่าจะมี ‘ของ’ แนวๆ มหาอุตม์ คงกระพัน แคล้วคลาด น่าเสียดายภาพใหญ่ไปหน่อยไม่งั้นคงเอามาห้อยคอแล้ว

อีกเรื่องที่อยากจะเล่า เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2526 ตอนที่ ณรงค์ ทิวไผ่งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งาม มีดำริจะสร้างตึกหอประชุมขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเพื่อรองรับกิจกรรมในโรงเรียนที่กำลังขยายตัว ตึกนี้ณรงค์จัดหนักลงทุนเต็มที่ให้ออกมาสวยงามรโหฐานที่สุด ไฮไลต์ของตึกคือห้องประชุมที่จุได้ 1,500 คน ภายในห้องนี้ทั้งขอบประตู ขอบหน้าต่าง บัวฝ้า บัวเพดาน ล้วนประดับประดาด้วยไม้สักที่สลักเสลามาอย่างวิจิตร ผนังบุด้วยผ้าไหมอย่างดี มีโคมระย้า และพรมทอ ลวดลายดอกกุหลาบที่ออกแบบมาพิเศษให้แมตชิ่งกันเป๊ะ คราวนี้พอถึงคิวต้องหาภาพที่จะใช้ประดับตกแต่งณรงค์จึงคิดถึงภาพวิวฝีมือ ทวี นันทขว้าง เหตุเพราะณรงค์เติบโตมาในบรรยากาศชนบทริมน้ำละแวกนครชัยศรีเลยมีความผูกพันกับธรรมชาติ ผลงานภาพทิวทัศน์ของทวีก็เลยถูกจริตเป็นแนวที่ณรงค์ชอบเป็นพิเศษ

เดิมทีณรงค์ก็คุ้นเคยกับผลงานของทวีอยู่แล้ว และยังซื้อหามาเก็บไว้หลายชิ้น โดยภาพแรกได้มาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2520 เป็นภาพวาดหุ่นไล่กาซื้อมาในราคา 20,000 บาท ภาพนี้และภาพอื่นๆในคอลเลกชันของณรงค์มาจากแกลเลอรีล้วนๆ เพราะยังไม่มีโอกาสได้รู้จักทวีตัวเป็นๆ ซะที โชคดีที่สถาปนิกผู้ออกแบบตึกหอประชุมแห่งใหม่เป็นลูกศิษย์ทวีพอดีเลยอาสาแนะนำให้ เย็นวันหนึ่งณรงค์จึงได้เดินทางไปพบกับทวีที่บ้านในซอยพาณิชยการธนบุรี ณ ตึกแถว 3 ชั้นแห่งนี้ทั้งคู่คุยกันถูกคอทั้งเรื่องศิลปะและสัพเพเหระตั้งแต่ 2 ทุ่มยันเที่ยงคืน คุยไปคุยมาณรงค์ก็เอ่ยปากขอให้ทวีช่วยวาดภาพขนาดยาว 3 เมตรหน่อย สัก 12 ภาพไว้ประดับหอประชุม แทนที่จะดีใจได้งานใหญ่ทวีกลับปฏิเสธทันควันบอกว่าภาพใหญ่ขนาดนี้ไม่เคยวาดและไม่คิดว่าจะวาดได้ เหมือนจะหมดหวังกันไปแล้ว พอตี 1 ก่อนจะแยกย้ายณรงค์ตัดสินใจฮึดสู้ลองขออีกทีโดยบอกทวีว่า

“อย่านึกว่าเขียนให้ผมเลยครับ คิดว่าเขียนภาพเหล่านี้ขึ้นเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ได้อยู่ในห้องประชุมเด็กๆ ผู้ปกครอง และผู้มาเยี่ยมชมโรงเรียนได้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กๆ จะได้ยึดถือผลงานของอาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดี เปรียบเสมือนเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียน เป็นครูที่พูดไม่ได้ แต่ค่อยๆ สอนเด็กให้สัมผัสและซึมซาบความงามของศิลปะเข้าไปเรื่อยๆ โดยที่เด็กๆไม่รู้ตัว” 

ได้ยินดังนั้นทวีถึงกับน้ำตาไหลพรากเพราะไปแทงใจดำ ทำเอาณรงค์งงอยู่พักใหญ่ ทวีเลยแถลงไขว่าณรงค์ใช้คำพูดเดียวกับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ทวีเทิดทูนบูชา เพราะตอนที่อาจารย์ศิลป์มีชีวิตอยู่เคยบอกทวีว่าถ้ามหาวิทยาลัยศิลปากรมีงบจ้างอาจารย์มาสอนแทนทวี อาจารย์ศิลป์จะให้ทวีมาทำงานที่มหาลัยโดยไม่ต้องสอนสักกะคลาส แต่จะให้นั่งวาดรูปทั้งวี่ทั้งวัน สร้างผลงานขึ้นมามากๆ ประเทศไทยจะได้มีสมบัติชาติเพิ่มขึ้นเยอะๆ ซึ่งในที่สุดนั่นก็เป็นเพียงแค่ฝันของอาจารย์ศิลป์ โป๊ะเชะมามุมนี้ทวีเลยต้องยอมใจรับปากว่าจะวาดภาพขนาดใหญ่พิเศษ 12 ภาพให้ตามที่ณรงค์ขอ

“บึงบัว” (ภาพจากหนังสือ MOCA BANGKOK)

หลังจากตกลงกันเสร็จสรรพทวีใช้เวลาบรรจงวาดภาพชุดนี้อยู่ถึง 3 ปี โดยวาดเป็นทิวทัศน์ต่างๆ เช่น บึงบัว, ชายทะเล, น้ำตก, ทุ่งดอกฝิ่น, ทุ่งบัวตอง ที่ให้อารมณ์ลึกซึ้งแตกต่างกันอย่างน่าประหลาด ทั้งหมดเป็นภาพธรรมชาติ มีเพียงหนึ่งในนั้นที่เป็นภาพตึกโรงเรียนทิวไผ่งามมองจากมุมตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อภาพขนาด 3 เมตรเศษ 12 ภาพแล้วเสร็จ ก็เป็นช่วงที่ณรงค์ปลูกบ้านใหม่พอดี ณรงค์จึงขอให้ทวีช่วยวาดภาพเพิ่มอีก 2 ภาพเพื่อนำมาประดับบ้าน ครั้งนี้ทวีระเบิดพลังวาดให้ใหญ่กว่าเดิมอีกโดยเป็นภาพสวนหินขนาด 4 เมตร 1 ภาพ และภาพดอกกล้วยไม้ 23 ชนิดขนาด 4 เมตรเศษๆอีก 1 ภาพ พอ 2 ภาพขนาดมโหฬารนี้วาดเสร็จดันเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคอย่างไรไม่รู้ ภาพสวนหินกลับตกเป็นสมบัติของธนาคารไทยพาณิชย์ ณรงค์เลยได้ภาพกล้วยไม้มาแขวนบ้านเพียงภาพเดียว

“ดงตาล” (ภาพจากหนังสือ MOCA BANGKOK)

เมื่อสรุปรายจ่าย ภาพขนาด 3 เมตรเศษชุดนี้ณรงค์จ่ายไปในราคาภาพละ 50,000 บาทส่วนภาพกล้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิตของทวีนั้นมีราคา 150,000 บาท ใช่แล้ว ห้าหมื่น กับ หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ตาไม่ได้ฝาด ยืนยันว่าตัวเลขเท่านี้จริงๆ ไม่ได้ตกศูนย์ไปเลยสักกะตัว

“ดอกบัวตอง” เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ ขนาด 310 x 125 เซนติเมตร ศิลปิน ทวี นันทขว้าง
“กล้วยไม้” เทคนิคสีอะคริลิกบนผ้าใบ ขนาด 420 x 280 เซนติเมตร ศิลปิน ทวี นันทขว้าง

ภาพวาดเซตใหญ่ไฟกะพริบนี้ถูกประดับอยู่ที่โรงเรียนทิวไผ่งามและที่บ้านณรงค์อยู่นานปี ทำหน้าที่ครูที่พูดไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ จนถึงเวลาที่ณรงค์ตัดสินใจจะขยับขยาย นำงบประมาณไปสมทบทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ของครอบครัวแห่งใหม่ที่เน้นอนุรักษ์ผลงานไม้แกะสลัก ผลงานชุดนี้จึงถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งกระจัดกระจายไปอยู่กับนักสะสมศิลปะรุ่นเดอะหลายท่านที่ชื่นชมผลงานทวีเช่นเดียวกัน ถ้าสงสัยว่าภาพเหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์มีพลัง เหมาะจะเรียกว่าสมบัติชาติแค่ไหน แนะให้ไปยืนดูอยู่ตรงหน้าผลงานจริง อย่าหาดูแต่ในรูปถ่าย รับรองว่าจะไม่ผิดหวัง ปัจจุบันมีอยู่ 2 ภาพจากซีรีส์นี้ที่ถูกจัดแสดงอยู่ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ MOCA ตรงวิภาวดีรังสิต ภาพที่ว่าเป็นภาพบึงบัวกับกอไผ่ที่ดูสงบเย็น กับภาพดงตาลที่ดูเหงาวิเวกวังเวง ส่วนภาพอื่นๆ เจ้าของใหม่ก็มียอมเอาออกมาแสดงเป็นครั้งคราวในงานใหญ่จริงๆ ที่มีระบบซิเคียวริตี้แน่นหนา และมีเบี้ยประกันพอจะคัฟเวอร์ผลงานศิลปะมูลค่าน่าตกใจนี้ได้

จะไม่ให้ตกใจได้ยังไงล่ะ เวลาผ่านไป 30 ปีผลงานในตำนานชุดนี้กลับมีราคาพรวดพราดขึ้นมาหลายร้อยเท่า โดยราคาที่ว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขมโนที่คนขายตั้งสูงโด่เด่ทะลุฟ้า แบบที่คนซื้อพอได้ฟังแล้วอยากแยกย้ายขี้เกียจต่อให้เสียอารมณ์ แต่เป็นตัวเลขที่มีการซื้อขายจ่ายตังค์กันไปจริงๆ เห็นกับตาสาบานได้

ถึงสุดท้ายแล้วภาพวาดชุดทิวไผ่งามจะมีมูลค่าสูงกว่า แต่อัตราทวีคูณหลายร้อยเท่านั้นยังจิ๊บๆ เมื่อเทียบกับภาพภูเขาทองของขลังจากบางกะปิแกลเลอรี ที่พอเวลาผ่านไป 50 ปีภาพนี้ถึงกับเปลี่ยนมือกันที่มูลค่าสูงกว่าตอนที่ญาติสุวิทย์ขายมาประมาณ 5,000 เท่า รู้แล้วรู้สึกคันคะเยอไปทั้งตัวอยากจะย้อนเวลากลับไปเหมาภาพในโกดังหลังแกลเลอรีแห่งนั้นซะเหลือเกิน โอ๊ย 

Don`t copy text!