ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์
กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิด ใครคือจิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี… ถึงกระจกจะนิ่งไม่ตอบอะไร แต่เราก็มีคำตอบอยู่แล้วในใจ เช้าวันสบายๆ ของวันอาทิตย์ในเดือนมิถุนายนวันนี้เราจะได้พบกับจิตรกรผู้นั้น เรายืนกดออดท่ามกลางละอองฝนพรำๆ อยู่หน้าบ้านสีขาวในซอยวังเดิมที่ถูกต่อเติมเป็นให้สตูดิโอวาดภาพ บ้านของจิตรกรหญิงรุ่นใหญ่ ผู้ที่เป็นทั้งครูสอนศิลปะชื่อดัง นางเอกละคร ศิลปินในราชสำนัก และศิลปินแห่งชาติ วันนี้เรามีนัดกับ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินผู้ที่พร้อมพรั่งทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติแบบที่ไม่มีใครเสมอเหมือน
ไม่กี่อึดใจเราก็มานั่งอยู่บนเก้าอี้สีดำตัวเล็กๆ ในสตูดิโอของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ เราเรียกท่านว่า ‘อาจารย์แม่’ ตามที่ลูกของท่านซึ่งเราก็สนิทคุ้นเคยใช้เรียก อาจารย์แม่ในวัย 80 ต้นๆ ยังสวยสง่ากระฉับกระเฉง ท่านเมตตารินน้ำส้มให้เราแก้วใหญ่ก่อนจะไปนั่งเอกเขนกอยู่บนเก้าอี้อีกตัวใกล้ๆ วันนี้เราเลยสวมบทเจ้าหนูจำไม ค่อยๆ ถามถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เคยสงสัยในชีวิตอันแสนจะมีสีสันของท่าน
ลาวัณย์ อุปอินทร์ (นามสกุลเดิม ดาวราย) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2478 เป็นหนึ่งในลูกๆ 9 คนของ พลเรือโทศรี ดาวราย และ หม่อมราชวงศ์ อบลออ สุบรรณ ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของในหลวงรัชกาลที่ 3 ลาวัณย์ชอบวาดภาพโดยเฉพาะภาพคนมาตั้งแต่เล็ก ในปี พ.ศ. 2495 พอจบมัธยมจากโรงเรียนสตรีวัดระฆังทั้งๆ ที่ทางบ้านไม่ปลื้มที่จะให้เรียนศิลปะ ท่านก็แอบเนียนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมศิลปากร ผลปรากฏว่าสอบได้ที่ 1 ได้เข้าเรียนสมใจและ ในอีก 2 ปีต่อมาก็ได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรตามที่ตั้งใจไว้ ในระหว่างที่เรียนมหาลัย ลาวัณย์ต้องเลือกวิชาหลักว่าจะจบไปเป็นนักปั้นหรือนักวาด เพราะโดนบิลด์จาก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ ถ้าได้ปั้นอนุสาวรีย์ใหญ่ๆ ใครมารู้เข้าจะเจ๋งเป้งแค่ไหน ท่านเลยตัดสินใจเลือกเรียนปั้น แต่ด้วยอากาศในโรงปั้นที่อับชื้นเฉอะแฉะ และงานที่หนักหนาทำให้โรคประจำตัวของลาวัณย์กำเริบจนป่วยหนัก หมอสั่งห้ามกลับไปเรียนปั้นโดยเด็ดขาด ถ้ายังไม่อยากม่องเท่งก่อนกำหนด ท่านเลยจำใจต้องเปลี่ยนมาเลือกเรียนวิชาวาดภาพระบายสีเป็นวิชาหลัก ลาวัณย์เรียนจบในปี พ.ศ. 2503 นับเป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทยที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
ด้วยฝีมือที่เก่งกาจเกินนักเรียน ลาวัณย์ได้ผ่านการคัดเลือกให้บรรจุเข้าเป็นครูที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบแล้ว และหลังจากจบปริญญา ท่านก็ยังคงทำหน้าที่นี้ต่อในตำแหน่งครูผู้ช่วย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพราะอาจารย์ศิลป์เป็นฝรั่งพูดไทยไม่ชัด งานหลักอีกอย่างของลาวัณย์คือแปลไทยเป็นไทยให้คนอื่นที่ไม่คุ้นกับสำเนียงของอาจารย์ได้เข้าใจถูกต้องตรงเป๊ะอย่างที่อาจารย์อยากจะสื่อสาร เช่นครั้งหนึ่งอาจารย์ศิลป์สอนเกี่ยวกับวัดสุทัศน์ในอียิปต์ นักเรียนต่างก็งงเป็นไก่ตาแตกว่าอียิปต์จะไปมีวัดสุทัศน์ได้อย่างไร แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ศิลป์ต้องการจะพูดว่า ‘วัตถุธาตุ’ ไม่ใช่ ‘วัดสุทัศน์’ หรือเวลาที่อาจารย์ศิลป์พูดถึงอนุสาวรีย์ ‘คนขี้หมา’ อาจารย์ต้องการจะพูดถึงอนุสาวรีย์ ‘คนขี่ม้า’ ส่วนชื่อนักเรียนบางครั้งอาจารย์ศิลป์ก็ออกเสียงไม่ถูกอย่างเช่น ชื่อ ‘นงเยาว์’ อาจารย์ก็มักจะเรียกว่า ‘นมยาว’ อยู่บ่อยๆ
อาจารย์ศิลป์เวลาปกติจะเป็นคนใจดีสุดๆ แต่เวลาโกรธก็ดุสุดๆ เช่นเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะลาวัณย์ลูกศิษย์คนสนิทนั้นรู้มุมและทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เช่นในเช้าวันหนึ่งอาจารย์ศิลป์มาเล่าในชั้นเรียนให้ลูกศิษย์ฟังว่าได้ไปดูหนังเรื่อง แฟนตาเซีย มาสนุกอย่างงู้นอย่างงี้ ลูกศิษย์พอได้ฟังก็ทำตาลอยอ้าปากหวอไม่รู้ว่าดีอย่างไรเพราะไม่ได้ไปดูด้วย อาจารย์ศิลป์เห็นอย่างนั้นเลยแจกตังค์ให้นักเรียนไปดูหนัง แสบแต่จริงแทนที่เหล่าลูกศิษย์บังเกิดเกล้าจะรอหลังเลิกเรียนแล้วค่อยไปดูหนัง ลาวัณย์และผองเพื่อนกลับพร้อมใจกันโดดเรียนหายจ้อยไปดูหนังกันทั้งบ่ายนั้นเลย อาจารย์ศิลป์มาพบห้องเรียนโบ๋เบ๋ไม่มีสิ่งมีชีวิต ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กะว่าเจอหน้าลูกศิษย์แก๊งนี้อีกทีจะเฉ่งยกใหญ่ซะให้เข็ด แต่ลาวัณย์และเพื่อนๆ ก็ทำการบ้านมาดี พอเจออาจารย์ศิลป์อีกทีเลยชิงตัดหน้าชวนคุยเรื่องราวรายละเอียดและความประทับใจจาก แฟนตาเซีย เสียก่อน ทำให้อารมณ์อาจารย์เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี พ้นภัยไปได้โดยฉับพลัน
ในเรื่องหน้าที่การงาน นอกจากจะเป็นครูในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ลาวัณย์ได้สอนศิลปะให้กับคนดูทั่วประเทศออกอากาศเป็นประจำทางทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมอยู่นับสิบปี และด้วยรูปโฉมงดงามระดับซุปตาร์ ท่านยังเคยได้รับบทเป็นนางเอกละครทีวีเรื่อง ไอด้า อีกด้วย ลาวัณย์แสดงไปแค่เรื่องเดียวก็ไม่รับงานละครอีกทั้งๆ ที่มีผู้กำกับติดต่อทาบทามมาอีกเพียบเพราะท่านไม่อยากจะเป็นดาราแต่มีใจรักที่จะเป็นจิตรกรและครูสอนศิลปะมากกว่า ในสมัยก่อนเมืองไทยมีทีวีแค่ช่องเดียว ฉะนั้นถ้าบ้านไหนมีทีวี รับประกันว่าบ้านนั้นต้องเคยเห็นลาวัณย์แน่นอน
ลาวัณย์สมัยสาวๆ นั้นต้องบอกว่าฮอตสุดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะท่านออกจะสวย เก่ง และดังซะขนาดนั้น หัวกระไดบ้านลาวัณย์นี้ไม่เคยแห้ง หนุ่มๆ ทั่วทั้งสารทิศต่างแวะเวียนมาแจกขนมจีบอยู่อย่างไม่ขาดสาย แต่ลาวัณย์ไม่ได้สนใจจะหาคู่ครองที่ตำแหน่งหน้าที่หรือทรัพย์สินเงินทอง ท่านชอบผู้ชายที่เก่ง สมโภชน์ อุปอินทร์ ศิลปินมากความสามารถ จึงเป็นผู้โชคดีท่านนั้น ท่านเล่าว่าสมโภชน์ไม่ใช่คนมีฐานะอะไร เงินจะซื้อแหวนเพชรให้ก็ไม่มี ลาวัณย์เลยขอของหมั้นเป็นภาพวาด 100 ภาพแทน ทั้งคู่แต่งงานกันและมีทายาท 2 คน
ในเรื่องศิลปะ ผลงานของลาวัณย์ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่แพ้ตัวคนวาด ลาวัณย์ได้เข้าร่วมงานแสดงศิลปะทั้งงานเล็กงานใหญ่อยู่เสมอๆ จนครั้งหนึ่ง ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งสมเด็จพระราชินี เสด็จฯ มาเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในงานมีผลงานศิลปะต่างๆ ขนเอามาโชว์กันนับร้อยๆ ชิ้น ผลงานมากมายในงานนั้นเป็นแนวนามธรรมที่ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่อง พอพระราชินีทอดพระเนตรผลงานของลาวัณย์ที่เป็นภาพเหมือนบุคคล ดูสวยงาม แสดงอารมณ์ และเข้าใจง่ายก็รู้สึกถูกพระทัย จึงให้ลาวัณย์เข้าเฝ้าฯ และตรัสกับลาวัณย์ว่า “รู้ไหม ฉันเป็นแฟนอาจารย์ด้วย” เพราะทรงคุ้นหน้าคุ้นตาลาวัณย์จากรายการโทรทัศน์ หลังจากนั้นท่านก็เลยมีโอกาสได้ถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชินีอยู่เสมอๆ โดยการวาดภาพตามพระกระแสรับสั่งเพื่อนำไปประดับตกแต่งในพระตำหนักน้อยใหญ่ และเป็นผู้ถวายคำแนะนำในด้านศิลปะให้กับทั้งสองพระองค์
ชีวิตของลาวัณย์นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ท่านต้องพบกับมรสุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ลาวัณย์ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ทั้งที่ตัวท่านเองก็ยังงงๆ ว่าไปเกี่ยวข้องอะไรกันด้วย มิหนำซ้ำหลังจากนั้นไม่นานยังมีเหตุขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากรอีก ลาวัณย์จำใจต้องออกจากมหาวิทยาลัยไปตั้งหลักอยู่พักใหญ่ ถือเป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ไม่มีรายได้เลี้ยงปากท้องและครอบครัว แต่โชคยังดีที่สวรรค์มีตา ด้วยความช่วยเหลือของผู้ใหญ่และมิตรสหาย ลาวัณย์ได้กลับเข้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง และร่วมสร้างบัณฑิตอยู่ในรั้วศิลปากรจวบจนท่านเกษียณอายุ
เรานั่งฟังเรื่องราวของอาจารย์แม่อยู่นานจนเลยเที่ยงวันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลังจากชายตามองนาฬิกา เราเหลือบไปเห็นภาพสีน้ำมันที่อาจารย์แม่กำลังวาดค้างไว้วางอยู่บนขาตั้งภาพตรงมุมห้อง ทุกวันนี้อาจารย์แม่ก็ยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นเดียวกับที่ท่านทำมาเสมอๆ ถึงแม้จะมีโรครุมเร้าทำให้มือสั่นวาดภาพยากลำบากกว่าเมื่อก่อนแต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะ และเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคมและลูกศิษย์ลูกหานับพันนับหมื่นเป็นเวลาเกือบทั้งชีวิต จึงสมควรแล้วที่ท่านจะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นปูชนียบุคคลแบบอย่างให้กับศิลปินรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม
เช้าวันนี้ศิลปินระดับชาติอุตส่าห์เจียดเวลาอันมีค่ายิ่งมาคุยสัพเพเหระแบ่งปันเรื่องราวสนุกๆ ให้คนรุ่นลูกอย่างเราฟังอยู่เกือบครึ่งวัน ด้วยความเกรงใจเดี๋ยวไปๆ มาๆ จะคุยกันจนเลยเวลาทานข้าวเที่ยงของท่านไปอีก เราเลยรีบกุลีกุจอดื่มน้ำส้มที่เหลือในแก้วจนหมดก่อนจะกราบท่านเพื่อขอลา บ่ายคล้อยพอเรากลับถึงบ้าน ด้วยความประทับใจและประสบการณ์ที่สดใหม่ เลยตัดสินใจมานั่งเขียนเรื่องราวของอาจารย์แม่ที่เพิ่งได้ยินได้ฟังมาให้อ่านกัน
เขียนเสร็จแล้วหากแม้นว่ากระจกวิเศษมีจริง ถ้าเราได้ไปเล่าเรื่องอาจารย์แม่ให้กระจกวิเศษฟังและโชว์รูปตอนสาวๆ ของท่านให้กระจกดู กระจกวิเศษคงจะลืมสโนว์ไวท์ไปเลย
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี