อินเดียนแดงที่โลกลืม
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาทั้งหมด บางเรื่องเป็นแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้ คือสาระและบันเทิง
เมื่อพูดถึงอินเดียนแดงในอเมริกา หลายคนนึกถึงยอดนักรบอย่างเครซี่ฮอร์สบ้าง หัวหน้าเผ่าผู้ทรนงอย่างซิตติ้งบูลล์บ้าง บางคนก็นึกถึงวีรกรรมกล้าหาญของเจอโรนีโม่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะวีรกรรมห้าวหาญของอินเดียนแดงเหล่านี้ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มแทบทุกยุคสมัย
แต่อินเดียนแดงอีกคนหนึ่งกลับไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งที่เป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกัน อย่าว่าแต่คนไทยเลย คนอเมริกันแทบจะไม่เคยหยิกยกขึ้นมาสอนในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ คำกล่าวที่ว่าผู้ชนะย่อมเขียนประวัติศาสตร์ยังใช้ได้และเป็นจริงเสมอ
สิ่งที่คนผิวขาวกระทำต่ออินเดียนแดงในแง่มุมที่โหดร้ายป่าเถื่อนไม่เคยบรรจุลงในตำราเรียนเล่มไหนเด็กนักเรียนอเมริกันไม่รู้จักสงครามเมตาโคม ไม่คุ้นกับคำสาปแช่งของอินเดียนแดงในสงครามทิปปิคคานูและสงครามพีควอท ที่เศร้ากว่านั้นคือไม่เคยเรียนรู้ความจริงอีกด้านจากปากคำอินเดียนแดง หากไม่มีอินเดียนแดงคนนี้ อาจจะไม่มีอเมริกาเลยด้วยซ้ำ หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าอีตาอินเดียนแดงที่ว่านี่เป็นใคร ทำไมถึงได้ตกสำรวจขนาดนี้
ก่อนการเข้ามาของชาวยุโรป บริเวณที่เรียกว่านิวอิงแลนด์ในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของอินเดียนแดงหลายเผ่ารวมตัวกันเป็นเครือข่ายสมาพันธ์ที่พูดภาษาเดียวกัน แล้วเรียกตัวเองว่า “แวมพาโนค” (Wampanoag) หมายถึงผู้แลเห็นแสงตะวันยามเช้า เผ่าพาวทูเซตต์คือเผ่าหนึ่งในสมาพันธ์อินเดียนแดงแวมพาโนค นอกจากนี้ยังมีเผ่าโพคาโนเคต เผ่าแมสซาจูเซตต์ เผ่านารากันเซตต์ และเผ่านาอูเซตต์ แต่ละเผ่ามีหัวหน้าปกครองประจำเผ่า แต่ขึ้นตรงต่อหัวหน้าใหญ่ของสหพันธ์อินเดียนแดง
ปี ค.ศ.1614-1620 เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ นักสำรวจและพ่อค้าชาวยุโรปเดินทางมาสำรวจดินแดนแถบนี้แล้วแถมเชื้อโรคให้ อินเดียนแดงไม่มีภูมิต้านทานโรคแบบคนผิวขาวจึงล้มตายยกเผ่า อย่างเผ่าพาวทูเซตต์ สมาชิกในเผ่าประมาณสองพันกว่าคนล้มตายจนหมดสิ้น เหลืออินเดียนแดงเพียงคนเดียวที่รอดมาได้ อินเดียนแดงคนนั้นชื่อดิสควอนตัม (Tisquantum) หรือสควอนโต
ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเอง อังกฤษแอบย่องมาจับจองแผ่นดินแปลกหน้าอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ลงหลักตั้งอาณานิคมแห่งแรกในบริเวณรัฐเวอร์จิเนียในปัจจุบัน ทำให้เกิดการอพยพจากอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เช่น เรือเมย์ฟลาเวอร์ออกเดินทางออกจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1609 โดยมุ่งหน้าสู่อาณานิคมเวอร์จีเนีย แต่ปรากฎว่าเกิดพายุพัดโหมจนทำให้เรือเปลี่ยนทิศทางขึ้นไปทางเหนือไปยังท่าเรือพลีมัธบริเวณนิวอิงแลนด์แทน
ผู้โดยสารเรือเมย์ฟลาเวอร์ขนานนามชุมชนใหม่ของตนว่านิวพลีมัธ สภาพอากาศเวลานั้นหนาวแสนสาหัส ไม่มีเสื้อผ้าอบอุ่นเพียงพอ ทุกคนอิดโรยและป่วยไข้ การดำรงชีวิตอยู่ในอาณานิคมใหม่นั้นยากลำบากมาก ผู้คนล้มตายเป็นเบือ พอสิ้นฤดูหนาวปีแรก จำนวนชาวอาณานิคมพลีมัธจาก 102 คนเหลือเพียงแค่ 51 คนเท่านั้นเอง
ชนเผ่าอินเดียนแดงเผ่าโพคาโนเคต (Pokanoket Tribe) ซึ่งอยู่ใกล้กับอาณานิคมพลีมัธ มีหัวหน้าเผ่าชื่อแมซซาซอยต์ (Massasoit) แมซซาซอยต์คิดว่าหากเผ่าตนเป็นมิตรกับพวกอังกฤษเหล่านี้น่าจะดีกว่าเป็นศัตรู ทูตอินเดียนแดงคนแรกที่แมซซาซอยต์ส่งไปคือซาโมเซต ซึ่งสามารถพูดอังกฤษได้อย่างกระท่อนกระแท่นเพราะเคยเจอชาวประมงชาวอังกฤษมาก่อนเลยพอจำได้ภาษาอังกฤษได้แบบงูๆ ปลาๆ ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1621 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ซาโมเซตเดินอาดๆ เข้าไปในอาณานิคมพลีมัธ ชูแขนหราว่าไม่มีอาวุธ แล้วพูดภาษาอังกฤษว่า
“Welcome Englishman”
จากนั้นก็ถามชาวอาณานิคมเป็นภาษาอังกฤษว่า
“มีเบียร์หรือไม่”
บ๊ะ… มาถึงก็ถามหาเบียร์ทันที ซาโมเซตเลยติดลม กินดื่มกับพวกอังกฤษแถมนอนค้างในอาณานิคมเสียด้วย คาดว่าเมาจนลุกไม่ขึ้น พอสร่างก็จากไป ซาโมเซตบอกว่า ยังมีอินเดียนแดงอีกคนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าตน นั่นคือสควอนโต เพราะเคยถูกจับไปเป็นทาสที่ยุโรปมาก่อน
ครั้งแรกที่สควอนโตเดินเข้ามาในอาณานิคมพลีมัธ ซึ่งก็คือแผ่นดินถิ่นเกิดเผ่าตนเอง สควอนโตชูมือทั้งสองข้าง แล้ววางคันธนูลงกับพื้นให้เห็นว่ามาดี จากนั้นก็ชูปลาและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้ชาวอาณานิคมดู แล้วลงมือขุดดินเป็นหลุม นำปลาลงรองก้น เพื่อให้เป็นปุ๋ยแก่ข้าวโพด จากนั้นจึงฝังข้าวโพดลงไป
นอกจากสอนให้ชาวอาณานิคมปลูกข้าวโพดแล้ว ยังทำหน้าที่ล่ามให้หัวหน้าเผ่าแมซซาซอยต์และชาวอาณานิคมลงนามสัญญาสันติภาพ ระหว่างชาวอาณานิคมและหัวหน้าเผ่าแมซซาซอยต์ ข้อความในสัญญาสันติภาพมีใจความสำคัญว่าจะไม่รุกรานกัน หากชาวอาณานิคมถูกอินเดียนแดงเผ่าอื่นโจมตี เผ่าของแมซซาซอยต์จะช่วยรบ หากเผ่าของแมซซาซอยต์ถูกเผ่าอื่นโจมตี ชาวอาณานิคมจะช่วยเหลือ
หัวหน้าเผ่าแมซซาซอยต์ไม่ไว้ใจคนผิวขาวมากนัก จึงสั่งให้สควอนโตพักอยู่กับชาวอาณานิคม จากนั้นเป็นต้นมาสควอนโตกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งในอาณานิคมพลีมัธ และกลายเป็นเพื่อนสนิทของวิลเลียม แบรดฟอร์ด ผู้ว่าการอาณานิคมพลีมัธคนแรก
สควอนโตมีบทบาทสำคัญต่อชาวอาณานิคมมาก เพราะหากไม่มีสคอวนโต ไม่แน่ว่าชาวอาณานิคมจะสามารถรอดชีวิตหลังจากฤดูหนาวแรกได้ นอกจากสอนชาวอาณานิคมให้ปลูกข้าวโพดและถั่วแล้ว ยังสอนให้จับปลาไหล ปลา และสัตว์น้ำในลำธาร แต่บทบาทสำคัญที่สุดของสควอนโตคือการเป็นล่ามและทูตสันติภาพระหว่างอินเดียนแดงกับชาวอาณานิคม
หลังจากอาศัยอยู่ในอาณานิคมพลีมัธได้เพียงปีกว่า วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1622 ระหว่างที่สควอนโตเดินทางไปเจรจาแลกเปลี่ยนข้าวโพดระหว่างอินเดียนแดงและชาวอาณานิคม อยู่ๆ เลือดก็ไหลพรูออกมาจากจมูก ไม่กี่วันต่อมา สควอนโตก็สิ้นใจด้วยโรคที่เรียกว่า ‘ไข้อินเดียนแดง’
ศพของสควอนโตถูกฝังไว้โดยปราศจากชื่อและประวัติความเป็นมา จนทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าบริเวณไหนคือหลุมฝังศพของสควอนโต น่าเสียดายที่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงสควอนโตในตำราเรียนของนักเรียนอเมริกัน เรื่องราวของสควอนโตจึงเลือนหายไปจากความทรงจำ จนกลายเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันในหมู่อินเดียนแดงเท่านั้น