ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย

ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย

โดย : ตัวแน่น

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………………………………

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ชาติที่แล้วคงไม่ได้เกิดในอิตาลี ส่วนชาตินี้ก็ไม่ได้เรียนศิลปากร แต่เราชอบเหลือเกินที่จะไปสิงสถิตอยู่ในห้องทำงานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งทุกวันนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ดูฟรี ออฟฟิศเราก็ดันอยู่ใกล้นิดเดียวแค่ท่าพระจันทร์ วันไหนพักเที่ยงแต่ไม่หิวข้าว หรือริอยากจะชิ่งงานระหว่างวันก็มักจะเดินข้ามถนนมาที่นี่ ห้องทำงานอาจารย์ศิลป์นั้นหาไม่ยาก มีป้ายเห็นเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าประตูทางเข้าที่อยู่ติดกับลานจอดรถของกรมศิลปากร ไม่ต้องขึ้นตึก หรือไต่บันไดให้วกวน ภายในห้องสี่เหลี่ยมกำแพงสีเหลืองอ๋อยแห่งนี้ ถ้านับว่าที่นี่เป็นห้องทำงานก็ถือว่าเป็นห้องทำงานที่ใหญ่โตโอ่อ่าอยู่ แต่ถ้านับว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ก็น่าจะเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กกะจิ๋วหลิวที่สุดในโลก แต่ถึงจะเล็กก็เล็กพริกขี้หนู เพราะภายในนั้นอัดแน่นไปด้วยสมบัติพัสถานของอาจารย์ศิลป์ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างครบครัน ทั้งโต๊ะทำงานตัวเดิม เครื่องเขียน เครื่องพิมพ์ดีด แว่นตา ตำราต่างๆ รวมถึงผลงานประติมากรรมต้นแบบฝีมือของท่านก็มีวางเรียงรายไว้มากมายในตู้กระจกที่ตั้งอยู่รอบๆ ห้อง

เครื่องพิมพ์ดีดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

และไม่ใช่แค่ผลงานของอาจารย์ศิลป์เท่านั้นที่หาดูได้ที่นี่ ทุกๆกำแพง ทุกๆ ชั้นวาง ในห้องทำงานแห่งนี้ยังถูกใช้จัดแสดงผลงานผลงานของศิษย์ก้นกุฏิของท่านจนเต็มพื้นที่ แต่ละชิ้นนี่ก็ไม่ใช่ธรรมดา เป็นชิ้นเด็ดๆ ของศิลปินไทยระดับสุดยอดทั้งนั้น ที่พีสุดจนติดตา เห็นแล้วเก็บเอามาฝันแทบทุกคืน ก็เช่น ชุดาพนู้ดและภาพวิวที่วาดในอิตาลีของ เฟื้อ หริพิทักษ์ภาพช่อดอกบัว ภาพภูเขาทอง และภาพ สุวรรณี สุคนธา ฝีมือ ทวี นันทขว้างผลงานที่ได้รางวัลศิลปกรรมแห่งชาติของ จำรัส เกียรติก้องชลูด นิ่มเสมอมานิตย์ ภู่อารีย์เขียน ยิ้มศิริ และอรหันต์ท่านอื่นๆ อีกพรึ่บ ระหว่างที่เสพผลงานศิลปะสุดอลังการในบรรยากาศอันแสนขลัง ในห้องนั้นยังเปิดเพลง ซานตา ลูเซีย เพลงโปรดของอาจารย์ศิลป์ แบบเบาๆ แค่พอให้ท่วงทำนองลอยล่องมาตามอากาศช่วยบิลด์อารมณ์ร่วมขึ้นอีกมากโข ชวนให้เกิดมโนภาพนอสแตลเจียลางๆ เห็นอาจารย์ศิลป์ยังนั่งก้มหน้าก้มตาพิมพ์ดีดต๊อกแต๊กอยู่บนโต๊ะไม้เก่าๆ ตัวเขื่องกลางห้อง ประเดี๋ยวประด๋าวก็มีเหล่าลูกศิษย์สลับกันโผล่เข้ามาขอคำปรึกษา ลูกศิษย์วัยละอ่อนซึ่งหลายท่านเติบใหญ่กลายเป็นปูชนียบุคคลของวงการศิลปะไทย ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ต่อๆ ไปยังหลานศิษย์ เหลนศิษย์ โหลนศิษย์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น ห้องทำงานแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่สถานที่ธรรมดา แต่เปรียบดั่งศูนย์กลางจักรวาล จุดกำเนิดปรากการณ์บิ๊กแบงของวงการศิลปะไทยสมัยใหม่ ก่อร่างสร้างรากฐานวงการศิลปะให้รุ่งโรจน์โชติชวาลอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน 

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวัยหนุ่ม ขณะอยู่ในประเทศอิตาลี (ภาพจากหนังสือปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2556)

คนไทยส่วนใหญ่ที่คลั่งไคล้ในศิลปะคงจะรู้อยู่แล้วว่าอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี นั้นถูกเชิดชูให้เป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย แต่อาจจะยังงงๆ สงสัยว่าแล้วจู่ๆ อยู่ดีๆ ทำไมฝรั่งตาน้ำข้าวชาวยุโรปถึงจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นวีรบุรุษของเมืองไทยซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดของท่านกว่าครึ่งค่อนโลกได้ เพื่อไขข้อกังขานี้เลยขอโหนไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปซักศตวรรษกว่าๆ ในวันที่ 15 กันยายน .. 2435  ย่านซานโจวันนี (San Giovanni) ในเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี วันนั้นนาย อาร์ทูโด (Artudoและนางซานตินา (Santina) ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่มีชื่อว่า คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Ferociนครฟลอเรนซ์แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางศิลปะวิทยาการของยุโรปเมื่อหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยเรอเนซองส์ มีศิลปินรุ่นใหญ่ไฟกะพริบสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประดับประดาเมืองนี้ไว้มากมายยกแก๊ง ทั้งมิเกลันเจโลลีโอนาร์โด ดาวินชีซานโดร บอตติเชลลีราฟาเอลทิเชียคาราวัจโจโดนาเตลโลโลเรนโซ กีแบร์ตี และอีกเพียบ บรรยากาศในเมืองเลยอบอวลไปด้วยกลิ่นไอของศิลปะ จะหันไปทางไหนก็ไฉไลไปหมด จึงนับเป็นบุญของเด็กชายคอร์ราโดที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในสถานที่แห่งนี้เพราะได้ซึมซับความประทับใจในศิลปะชั้นสูงที่อยู่รายล้อมไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว พอยิ่งโตก็ยิ่งอิน คอร์ราโดจึงเริ่มฝึกฝนฝีมือทางศิลปะอย่างจริงๆ จังๆ โดยการไปสมัครเป็นเด็กช่วยงานในสตูดิโอของศิลปินเก่งๆ จนปีพ.. 2451 เมื่อถึงวัยที่จะต้องเข้ามหาวิทยาลัย คอร์ราโดก็ตัดสินใจเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze) ทั้งๆ ที่บุพการีไม่สนับสนุนให้เอาดีทางด้านศิลปะเพราะอยากจะให้เรียนในสาขาวิชาที่สามารถเอาความรู้มาช่วยธุรกิจค้าขายของทางบ้านมากกว่า 

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อแรกเข้ามารับราชการในประเทศไทย (ภาพจากหนังสือนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 100 ปี ศิลป์ พีระศรี)

หลังจากเรียนศิลปะจนครบหลักสูตร 7 ปี คอร์ราโดในวัย 23 ก็สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และตอนจบมาก็ไม่ได้ถนัดแค่งานปั้น งานแกะสลัก งานวาด ด้านทฤษฎีทั้งประวัติศาสตร์ศิลป์ สุนทรียศาสตร์ และปรัชญาอีกร้อยแปดคอร์ราโดก็แน่นปึ๊ก เก่งซะรอบด้านขนาดนี้ภายหลังเลยได้รับการบรรจุให้เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยสอนรุ่นน้องต่อ ถ้าอยากเห็นผลงานสมัยวัยรุ่นตอนที่คอร์ราโดเพิ่งเรียนจบหมาดๆ ว่ามีฝีมือจัดจ้านแค่ไหน ยังไปตามหาดูได้ในอิตาลี เช่น อนุสาวรีย์ผู้กล้าในสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเกาะเอลบา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบระดับประเทศ

ตัดฉากฉุบฉับกลับมาที่ประเทศไทย หรือที่ยังเรียกว่าประเทศสยามในขณะนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมัยนั้นอิทธิพลของตะวันตกกำลังมาแรงแซงโค้งในบ้านในเมืองของเรา ด้วยเหตุนี้จึงต้องพึ่งศิลปินชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมากในการออกแบบก่อสร้างปราสาทราชวัง อาคารราชการ อนุสาวรีย์ และผลงานศิลปะที่ใช้ประดับประดาสถานที่เหล่านี้ หากจะต้องเสียตังค์จ้างฝรั่งตลอดไปเห็นทีจะไม่เวิร์ รัฐบาลสยามจึงประสานไปยังรัฐบาลอิตาลีให้ช่วยคัดสรรศิลปินฝีมือดีมารับราชการ และสร้างศิลปินชาวไทยให้มีความรู้และฝีมือสูสีดู๋ดี๋กับต้นตำรับจากตะวันตก รัฐบาลอิตาลีจึงเสนอชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดการออกแบบเงินตราสยามซึ่งก็คือ คอร์ราโด เฟโรชี ศาสตราจารย์ด้านศิลปะที่ขณะนั้นอยู่ในวัย 32 

พระเศียรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ปั้นโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

คอร์ราโดหอบผ้าหอบผ่อนข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยเรือโดยสาร ตุเลงๆ อยู่แรมเดือนจนมาเทียบท่าที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มกราคม .. 2466 พร้อมๆ กับภรรยา แฟนนี วิเวียนนี (FanniVivianniและอิซาเบลลา (Isabella) บุตรสาว ตำแหน่งแรกที่ได้รับคือช่างปั้น ประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ด้วยเงินเดือน 800 บาท แถมค่าเช่าบ้านอีก 80 บาท ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าไม่น้อย อยู่ได้สบายๆ ทั้งครอบครัว ช่วงแรกๆ

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถ่ายภาพคู่กับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือนิทรรศการเชิดชูเกียรติ 100 ปี ศิลป์ พีระศรี)

ที่มาอยู่กรุงเทพฯ คอร์ราโดยังไม่มีโอกาสจะโชว์ของ เลยยังไม่ค่อยมีใครเห็นหัวซักเท่าไหร่ โชคดีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เห็นแววจึงทรงอุปถัมภ์แนะนำ อีกทั้งยังทดลองประทับเป็นแบบให้คอร์ราโดปั้นพระเศียร ผลปรากว่าปั้นออกมาเหมือนเป๊ะ ด้วยความพอพระทัย กรมพระยานริศฯจึงช่วยโปรโมคอร์ราโดโดยทรงนำรูปปั้นพระเศียรชิ้นนี้ไปโชว์บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ดู เห็นปุ๊บต่างก็ร้องอู้หูในความมีชีวิตชีว่าอย่างน่าประหลาด ถึงขั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นดีเห็นงามไปด้วย พระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คอร์ราโดปั้นพระบรมรูปส่วนพระเศียรของพระองค์เองขึ้นมา ถึงขั้นนี้แล้วไม่นานไม่ว่าใครๆ ในบ้านเมืองต่างก็ซูฮกยกให้คอร์ราโดเป็นช่างปั้นมือหนึ่งของประเทศ พอหมดสัญญาทำงาน 3 ปีกับทางราชการไทย คอร์ราโดก็เลยได้รับการต่อสัญญา ได้ตำแหน่งใหม่ไปเป็นอาจารย์วิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา และช่วงแรกๆ ที่มาอยู่เมืองไทย บรรยากาศเป็นใจ คอร์ราโด และวิเวียนนี เลยมีทายาทแถมมาอีกคนเป็นบุตรชายชื่อ โรมาโน (Romano)

พอชื่อเสียงเริ่มกระหึ่ม งานการก็ชักชุก ซึ่งหนึ่งในงานหลักของท่านคือการปั้นประติมากรรมประดับประดาสถานที่ และสร้างอนุสาวรีย์ โดยในปี .. 2471 รัฐบาลอยากให้มีอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐานไว้ที่เชิงสะพานพุทธ งานนี้กรมพระยานริศฯ ทรงออกแบบฐาน ในขณะที่คอร์ราโดออกแบบปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ไซส์ใหญ่บิ๊กเบิ้ม ในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถหล่อประติมากรรมขนาดมโหฬารแบบนี้ได้ จึงต้องส่งแบบไปผลิตที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ครั้งนั้นคอร์ราโดจึงมีโอกาสลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเป็นเวลา 3เดือน เดิมทีก็กะจะไปฮอลิเดย์พักผ่อน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่วายจะต้องไปคุมงานหล่ออนุสาวรีย์ที่ตัวเองออกแบบให้ออกมาสมดังใจ เป็นอันว่าอยู่ต่างแดนก็ยังต้องทำงานอยู่ดี 

เมื่องานก่อสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 สำเร็จเสร็จสิ้น คอร์ราโดเห็นว่าถ้าประเทศไทยมีโรงปั้นหล่อที่มีมาตรฐาน และบุคลากรที่มีทักษะ สามารถสร้างผลงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ๆ เองได้โดยไม่ต้องคอยส่งไปทำที่เมืองนอกแล้วจะเวิร์มากเพราะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้โข รู้งี้แล้วคอร์ราโดจึงเริ่มจัดคลาสถ่ายทอดเคล็ดวิชาแบบเน้นๆ ให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และลูกศิษย์กลุ่มแรกๆ นี้เองที่ได้กลายเป็นผู้ช่วยเหลือคอร์ราโดสร้างอนุสาวรีย์แบบเมดอินไทยแลนด์ เกิดผลงานประติมากรรมอื่นๆ ขึ้นอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม ที่โคราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สุพรรณบุรีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สวนลุมพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเอาเป็นว่าอนุสาวรีย์ที่จัดสร้างกันแบบถี่ๆในยุคที่คอร์ราโดมีชีวิตอยู่ เหมารวมๆได้ว่าเป็นฝีมือของท่านและลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดแทบทั้งหมด

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ขณะปั้นต้นแบบ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ภาพจากหนังสือปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2556)

 แต่อย่างไรก็ตามคุณูปการณ์สูงสุดที่คอร์ราโดฝากไว้ให้กับผืนแผ่นดินไทยของเรา ไม่ใช่งานสร้างอนุสาวรีย์ แต่คือการที่ท่านได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษา วางรากฐานหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะให้มีมาตรฐานทัดเทียมอารยประเทศ ทั้งหมดทั้งปวงนี้พัฒนามาจากห้องเรียนแบบบ้านๆ ที่คอร์ราโดเปิดสอนลูกศิษย์เพื่อสร้างบุคลากรมาช่วยงานปั้นหล่ออนุสาวรีย์ เรียนจบก็ได้แต่วิชาไม่มีปริญญงปริญญาอะไรทั้งนั้น และแล้วการเรียนการสอนก็เริ่มเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อคอร์ราโดได้ไปช่วยวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมให้กับโรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ ภายหลังก็ได้ถูกควบรวมกับโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง จนในปี .. 2486 ขณะที่จอมพล พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ยกฐานะโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้คอร์ราโดเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมและคณะประติมากรรมซึ่งเป็นเพียง 2 คณะของมหาวิทยาลัยในสมัยแรกเริ่ม คอร์ราโดทุ่มเทให้กับงานในมหาวิทยาลัยมาก ทั้งบริหารกิจการ และลงมือสอนเอง โดยกิจวัตรประจำวันของท่านนั้นแสนจะเรียบง่ายแต่หนักหน่วง 7 โมงเช้าเมื่อมาถึงมหาวิทยาลัยก็จะเดินตรวจความเรียบร้อยของห้องเรียนทุกๆ ห้องก่อน หลังจากนั้นก็จะสอนคลาสเช้ารวดเดียวยันเที่ยง กลางวันทานแซนด์วิชกับกล้วยในห้องทำงาน ก่อนจะงีบสั 15 นาที แล้วมาลุยงานราชการ งานเขียนตำรับตำราต่อจนค่ำ กว่าจะกลับบ้านก็ทุ่มนึงเป็นอย่างน้อย ชีวิตมีแต่งานกับงาน ไม่เคยผดวันประกันพรุ่ง ด้วยคติประจำใจที่ว่า ‘พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว‘ แต่ท่านก็มีความสุขที่ได้รับใช้ศิลปะที่ท่านรัก และท่านก็ยังเป็นที่รักของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเปรียบดั่งพ่อคนที่สองของทุกคน

ในปี .. 2487 ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากประเทศอิตาลียอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร จากที่เคยอยู่ฝ่ายอักษะพวกเดียวกับประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น อิตาลีจำใจต้องย้ายก๊กไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม พอเป็นซะอย่างนี้กองทัพญี่ปุ่นซึ่งคุมประเทศไทยอยู่ในขณะนั้นเลยไล่จับชาวอิตาลีไปเป็นเชลยศึกเพราะถือว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกันแล้ว คอร์ราโดก็เลยโดนหางเลขไปด้วยเกือบจะถูกส่งไปเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแควเข้าให้แล้ว แต่โชคยังดีที่รัฐบาลไทยเห็นท่าไม่ดี เพราะขืนไม่มีคอร์ราโด มหาวิทยาลัยที่เพิ่งตั้งใหม่มีหวังพังไม่เป็นท่าแน่ รัฐบาลเลยหาทางช่วยไว้ได้ทันโดยให้หลวงวิจิตรวาทการขอย้ายสัญชาติของคอร์ราโดจากอิตาลีมาเป็นไทย และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศิลป์ พีระศรี ให้ใกล้เคียงกับชื่อเดิมที่คนไทยชอบเรียกคอร์ราโด แบบย่อๆ ว่า ซีเฟโรชี  หลังจากนั้นลูกศิษย์ก็เรียกท่านว่า อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เรื่อยมา 

แรกๆ สมัยที่อาจารย์ศิลป์ เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วยเรเงินเดือน 800 บาท ก็สามารถเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้สบายดีอยู่ แต่หลังจากที่รับราชการมากว่า 20 ปี เงินเดือนกลับกระเตื้องขึ้นเพียงนิดหน่อยไม่สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ เลยเกิดปัญหาฝืดเคืองต้องขายบ้านขายรถ เปลี่ยนเป็นขี่จักรยานมาทำงาน นานๆ ไปพอเงินยิ่งเฟ้ออะไรๆ ก็แพงไปหมดก็ยิ่งอยู่ไม่ไหว ทำให้ในปี .. 2489 อาจารย์ศิลป์เลยต้องจำใจลาราชการหอบลูกหอบเมียกลับไปหางานทำที่อิตาลี แต่ถึงตัวจะอยู่ไกลใจก็ยังคิดถึงเมืองไทย เห็นได้จากจดหมายรำพึงรำพันที่ท่านเขียนถึงลูกศิษย์ที่อยู่ที่นี่ บอกแม้กระทั่งว่าถึงตัวท่านจะเป็นฝรั่งแต่หัวใจนั้นเป็นไทยไปหมดแล้ว อิตาลีไม่ใช่บ้านของท่านอีกต่อไป บ้านของท่านที่แท้จริงคือเมืองไทย

ทุกๆ ฝ่ายเสียดายฝีมืออาจารย์ศิลป์ เลยไปช่วยกันหาทางปรับค่าจ้างให้เรียลิสติกสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ แล้วไปทาบทามอาจารย์ศิลป์ให้กลับมาใหม่ในปี .. 2492 ครั้งนั้นอาจารย์ศิลป์ได้แยกทางกับครอบครัวซึ่งขออยู่ที่อิตาลีต่อ และเดินทางมาประเทศไทยโดยลำพัง หลังจากนั้นอาจารย์ศิลป์ก็ได้กลับเข้ามาพัฒนาวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อแบบจัดหนัก บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากร จนขยายใหญ่ครอบคลุมหลายสาขาวิชากลายเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสอนหนังสือสร้างลูกศิษย์ขึ้นมาสืบสานวงการศิลปะอีกนับไม่ถ้วนเขียนบทความแนะนำ และวิจารณ์ศิลปะ เผยแพร่ให้ชาวไทยและต่างประเทศเกิดความรู้ความสนใจริเริ่มจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งยังคงมีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ศิลปินมีเวทีประกวด เวทีแสดงผลงานจะได้เป็นที่รู้จักของสาธารณชนและยังเป็นโต้โผในการนำผลงานศิลปะฝีมือคนไทยออกไปแสดงยังต่างประเทศให้โลกได้รับรู้อีกด้วย

อาจารย์ศิลป์อุทิศน้ำพักน้ำแรง และเวลากว่าครึ่งชีวิตให้กับวงการศิลปะไทย ถึงท่านจะนำความเป็นสากลเข้ามา แต่อาจารย์ศิลป์ก็พร่ำสอนเสมอว่าจงอย่าหลงระเริงไปกับอิทธิพลศิลปะแบบตะวันตกจนลืมรากเหง้าของความเป็นไทย คำสอนนี้เกิดดอกออกผลเป็นลูกศิษย์มากหน้าหลายตาที่สามารถผสมผสานความเป็นไทยให้เข้ากับรูปแบบศิลปะสมัยใหม่จากต่างประเทศได้อย่างกลมกลืนมีเอกลักษณ์ จนประสบความสำเร็จได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินระดับชาติ 

 เรื่องศิลปะไทยโบราณแบบดั้งเดิมอาจารย์ศิลป์ท่านมีความประทับใจตั้งแต่โมเมนต์แรกที่ได้เห็นแล้ว วัดวาอาราม ปราสาท ราชวัง พระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนังที่บรรพบุรุษไทยสร้างสรรค์ต่อเนื่องกันมานับพันปีนั้นเป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับฝรั่งอย่างท่านเป็นอันมาก อาจารย์ศิลป์จึงศึกษาค้นคว้าศิลปะไทยอย่างลึกซึ้งและเขียนตำรับตำราออกมาเผยแพร่มากมายเพื่อให้คนไทยเกิดความหวงแหน และช่วยกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนี้ท่านยังสนับสนุนลูกศิษย์มือดีๆ ให้ออกไปสำรวจสถาปัตยกรรมโบราณ และตระเวนคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังที่ผุพังไร้การเหลียวแลก่อนจะสูญสลายหายไป เพื่อใช้เป็นข้อมูลเผื่อวันหน้าวันหลังจะบุญพาวาสนาส่งมีงบประมาณมาช่วยจัดการซ่อมแซม

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถ่ายภาพคู่กับภาพเหมือน มาลินี เคนนี่ ที่วาดโดย จำรัส เกียรติก้อง (ภาพจากหนังสือปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2556)

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต อาจารย์ศิลป์ได้พบรักใหม่อีกครั้งกับ มาลินี เคนนี และแต่งงานกันเมื่อ .. 2502 แต่ไม่ได้มีบุตรร่วมกัน หลังจากที่รับใช้วงการศิลปะไทยมา 38 ปี ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ขณะผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารที่โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์ศิลป์ในวัย 69 ก็ถึงแก่อนิจกรรม มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อวันที่ 17 มกราคม .. 2506 ก่อนที่จะแยกอัฐิส่วนหนึ่งของท่านส่งไปยังประเทศอิตาลีบ้านเกิด โดยฝังไว้ที่เคียงข้างกับครอบครัวที่สุสานในเมืองฟลอเรนซ์ อัฐิอีกส่วนถูกบรรจุไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ซึ่งก็คือห้องทำงานของท่านที่ถูกเก็บรักษาไว้ตามสภาพเดิม และในอนุสาวรีย์ ศิลป์ พีระศรี ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งเท่าที่เรานึกออกท่านน่าจะเป็นฝรั่งเพียงคนเดียวในเมืองไทยที่มีอนุสาวรีย์ตั้งเด่นเป็นสง่า แถมมีผู้คนมากมายแห่แหนมากราบไหว้บูชาไม่ต่างอะไรกับไอ้ไข่ทั้งๆ ที่อาจารย์ศิลป์ก็ไม่น่าถนัดให้เลขเด็ด

ทุกวันนี้นอกจากจะมีอนุสาวรีย์ มหาวิทยาลัยศิลปากรยังนำคำคมของอาจารย์ศิลป์ที่ว่า ‘Ars longa vita brevis’ แปลว่า ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น‘ มาเป็นคติพจน์ประจำมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัยก็ยังเลือกใช้เพลง ซานตา ลูเซีย (Santa Lucia) เพลงที่อาจารย์ศิลป์ชอบเปิดฟังในยามว่าง และยังมีการจัดงานรำลึกที่มหาวิทยาลัยเป็นประจำเรื่อยมาทุกวันที่ 15 กันยายน ซึ่งตรงกับวันเกิดของอาจารย์ศิลป์ ไม่ใช่วันที่ท่านจากไป เพราะสำหรับชาวมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ท่านไม่ได้หายไปไหน แต่ทุกๆ ความทรงจำอันสวยงามยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ในหัวใจของทุกคนและจะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป 

เคยมีคนกล่าวไว้ว่ามนุษย์เราทุกคนนั้นตาย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเมื่อหมดลมหายใจ ครั้งสุดท้ายคือเมื่อไม่มีใครระลึกถึง คิดได้อย่างนี้ก็ดีจะได้ไม่ต้องเหนื่อยขึ้นเขาลงห้วยตามหายาอายุวัฒนะที่ไหนให้เมื่อยตุ้ม ใครๆ ก็เป็นอมตะได้ถ้าตั้งใจ ดูอย่างอาจารย์ศิลป์สิ ถึงแม้ชีวิตท่านจะสั้นก็ไม่สำคัญถ้าเกียรติยศยังอยู่ยืนยาว ว่าแล้วต้องรีบกลับมามองดูตัวเอง ว่าวันนี้ทำอะไรดีๆ มีประโยชน์หรือยัง เพราะไม่แน่พรุ่งนี้อาจจะสายเสียแล้วก็ได้ 

Don`t copy text!