พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 6.2 : พิพิธภัณฑ์ผ้าเคซัง

พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 6.2 : พิพิธภัณฑ์ผ้าเคซัง

โดย : พงศกร

Loading

พยับฟ้าพโยมดิน นวนิยายจากอ่านเอา โดย พงศกร เมื่อน้องชายฝาแฝดหายตัวไปอย่างลึกลับในหมู่บ้านกลางหุบเขาของภูฏาน เขาจำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาก่อนที่จะสายเกินไป เขาต้องยอมรับความช่วยเหลือจากนารีญาหญิงสาวที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขาตั้งแต่แรกเจอพ่วงไปด้วย เธอคนนี้อาจเป็นคนเดียวที่ไขปริศนาต่างๆ และพาเขาไปพบกับน้องชายได้

ลิ่วลมและคณะเดินทางชาวไทย เป็นแขกกลุ่มต่อไปที่จะเข้าไปพบกับเคซัง ลุนดรัป พอเห็นแฮโรลด์โดนไล่ตะเพิดออกมา ลิ่วลมก็อดจะกังวลมิได้

แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อได้กัน เคซัง ลุนดรัปไม่ได้มีท่าทางหงุดหงิดปรากฏให้เห็นแม้สักนิด นอกจากไม่หงุดหงิดแล้ว เขายังต้อนรับด้วยความเต็มอกเต็มใจอีกด้วย

“เชิญครับ” เขาผายมือเชื้อเชิญให้ทุกคนนั่งล้อมวงกัน เก้าอี้สำหรับรับแขกบุด้วยหนังนิ่ม นั่งสบายเสียจนลิ่วลมไม่อยากลุก

หลังจากคนของเขาเสิร์ฟน้ำชาสีน้ำตาลทอง กลิ่นหอมกรุ่นคล้ายกับรากไม้ให้แขกเรียบร้อย เคซังก็อธิบายว่า

“ชาถั่งเช่า…ชาเก่าแก่ของภูฏาน ลองดูสิครับ” เจ้าบ้านหัวเราะเบาๆ “คนภูฏานดื่มชาถั่งเช่ากันมานานแล้ว”

“หอมจังเลยค่ะ” อัญญาวีร์ส่งยิ้มให้ กลิ่นหอมของน้ำชาทำให้เธออดคิดถึงใครบางคนมิได้

“เคยดื่มชาถั่งเช่าไหมครับ” เคซังถาม

“ไม่เคยครับ”

“ไม่เคยค่ะ”

ลิ่วลม อัญญาวีร์ และนารีญาพากันส่ายหน้าพร้อมกัน

“ที่เมืองไทยขายกันแพงมากค่ะ” อัญญาวีร์เสริม

“ขายราคาแพง เพราะเก็บยากมากครับ” เยชิช่วยเล่า “ต้องเดินขึ้นไปบนเขาเป็นวันๆ และคนที่เก็บต้องชำนาญมากถึงจะหาพบ”

“มีนักวิจัย เอาไปปลูกในห้องทดลองกันมากขึ้น” เคซังเล่า “ถั่งเช่าจากห้องทดลองจะมีราคาถูกว่าถั่งเช่าธรรมชาติ ทว่าสรรพคุณอาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนัก”

เชวัง ทินเลย์เคยเล่าให้อัญญาวีร์ฟังว่า ถั่งเช่าเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในหนอนผีเสื้อกลางคืน ที่จำศีลในฤดูหนาว พวกมันมีอยู่มากในพื้นที่ภูเขาสูงในภูฏาน ธิเบตและจีน

รูปร่างของถั่งเช่ามีลักษณะเด่นที่แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นหนอนของผีเสื้อ

ในฤดูร้อนหนอนพวกนี้จะเก็บกินสปอร์ของเห็ดที่ตกอยู่ตามพื้นดิน พอถึงฤดูหนาว หนอนเหล่านั้นก็จะหนีความหนาวโดยการขุดลงไปซ่อนตัวอยู่ใต้ดินซึ่งอุ่นกว่า ระหว่างนั้นเองเมื่อสปอร์ของเห็ดในตัวหนอน ก็จะเริ่มเจริญเติบโตโดยการดูดกินสารอาหาร แร่ธาตุจากตัวหนอน จากนั้นก็จะแผ่เส้นใยของเห็ดราไปจนทั่วทั้งตัวหนอน และหนอนก็จะเริ่มอ่อนแรงลง

จังหวะที่หนอนอ่อนแรงลง เชื้อราก็จะเข้าควบคุมสมองของมัน และสั่งให้หนอนคลานกลับขึ้นมาบนผิวดินอีกครั้ง เพื่อมารับแสงจากดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน หลังจากนั้นหนอนก็จะตาย และสปอร์ก็เข้ายึดร่างกายหนอนสำเร็จ จนกลายเป็นเห็ดไปนั่นเอง

ส่วนที่สอง ก็คือเห็ดที่งอกออกมาจากตัวหนอน ซึ่งก็คือถั่งเช่า ซึ่งมาจากคำว่า ตังถั่งเช่า ที่แปลว่าฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้านั่นเอง

ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรหายาก มีราคาสูง และมีสรรพคุณสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

คนภูฏานรู้จักถั่งเช่ามานานแล้ว พวกเขาจะเก็บถั่งเช้ามาตากแห้ง บดเป็นยา และใช้ชงดื่ม เป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพ และเชื่อกันว่าทำให้มีอายุวัฒนะ

“เยชิบอกว่าพวกคุณอยากมาคุยเรื่องผ้าเก่าๆ ของภูฏาน” เคซังรอจนแขกของเขาดื่มน้ำชาไปจนเกือบหมดแก้ว จึงเปิดบทสนทนาขึ้นก่อน

“ครับ” ลิ่วลมพยักหน้า

“รู้ไหม” เขาว่า “นี่ถ้าไม่ใช่เยชิ ลูกพี่ลูกน้องของผมแนะนำมาละก็…ผมคงไม่ตอบรับพวกคุณง่ายๆ หรอก”

อ้อ…ลิ่วลมพยักหน้ากับตนเอง…เข้าใจแล้วว่าทำไมเคซังจึงต้อนรับพวกเขาด้วยใบหน้าเป็นมิตร เพราะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเยชินั่นเอง

“ขอบคุณครับ” ลิ่วลมพยักหน้าอีก

“รู้ไหมว่าผมเพิ่งไล่ฝรั่งไปคนหนึ่ง” เคซังหัวเราะชอบใจ “มีอย่างที่ไหน มาถึงก็พูดถึงแต่เรื่องเงิน…มาจากประเทศวัตถุนิยม คงไม่เข้าใจหรอกว่า เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง”

“ผมเห็นด้วย” ลิ่วลมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

“ตามผมมาสิครับ” เคซังเชื้อเชิญให้แขกของเขาลุกขึ้น และพาเดินชมผ้าในตู้กระจก “แต่ละท้องถิ่นของภูฏานใช้วัสดุในการทอผ้าที่แตกต่างกันออกไป สิ่งทอแต่ละชิ้นก็มีลักษณะพิเศษของแต่ละภูมิภาค ผ้าภูฏานตอนเหนือมักจะทอจากขนจามรีและขนแกะ ภูฏานตะวันออกและทางใต้ นิยมใช้ผ้าที่ทอจากฝ้าย ป่าน พืชตระกูลตำแย และไหม”

ลิ่วลมได้แต่ทำตาปริบๆ ก่อนหน้านี้พ ผ้าแต่ละผืนสำหรับเขาก็คือ…สวยหรือไม่สวย เท่านั้น

แต่พอได้ฟังผู้เชี่ยวชาญอย่างเคซังเล่า สายตาที่ฃิ่วลมมองผ้าก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

“ลวดลายบนผ้าภูฏานได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว ดูนี่สิครับ” เขาชี้ให้ทุกคนดูผ้าผืนหนึ่ง ที่ลวดลายละเอียดราวภาพวาด “คุณเห็นลายพวกนี้ไหม…ตานกพิราบ…เล็บลิง…ปีกแมลงวัน…ตรงนี้…”

เขาชี้ไปที่อีกมุมหนึ่งของผ้าผืนเดียวกัน

“สถูป…พระ…สายฟ้า” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ “ศิลปินบันทึกเรื่องราวต่างๆรอบตัวของเขาลงไปบนผืนผ้า ฉะนั้น ถ้าคุณศึกษาผ้าภูฏานให้ละเอียดแล้วละก็…เห็นลายอะไรสักอย่าง ก็จะบอกได้เลยว่าผ้าผืนนี้มาจากภูมิภาคอะไร”

“บางผืน…เหมือนเป็นแผนที่เลยนะคะ” อัญญาวีร์ชี้ไปที่ผ้าโบราณผืนหนึ่ง

ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าผืนนั้น ที่เส้นทางเหมือนถนน ลัดเลาะไปบนหน้าผาสูงชัน ลายปักเป็นรูปคนนั่งอยู่บนหลังม้า ศิลปินปักภาพละเอียดขนาดมีรูปม้าพลัดตกลงมาจากเหว บอกให้รู้ถึงความยากลำบากของเส้นทาง

ถนนเส้นเล็กที่ปรากฏบนผืนผ้านั้น ยังทอดยาวมุ่งหน้าผ่านไปในหุบเขาที่มีต้นไม้และสัตว์ป่านานาชนิด จนไปสิ้นสุดลงที่อาคารบนหน้าผา ที่มีรูปร่างคล้ายกับวัด

“ผ้าผืนที่คุณชี้นั่นเป็นแผนที่จริงๆนั่นละ ผ้าแผนที่แบบนี้เราใช้แขวนผนังมากกว่าจะเอามาสวมใส่” เคซังพยักหน้า “คนที่ทอผ้าผืนนั้นขึ้นมา ตั้งใจใช้เป็นแผนที่ บอกเส้นทางการเดินทางสู่พยัคฆาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางของหุบเขาลัปซาคา เส้นทางนี้นับเป็นเส้นทางหฤโหดสายหนึ่งของภูฏานเลยก็ว่าได้ การเดินทางต้องใช้ม้าเลินเลาะไปตามไหล่เขา หลายครั้งก็มีนักเดินทางและม้าพลาดตกลงไปสู่แม่น้ำข้างล่าง…ดูนี่สิ”

เขาชี้ไปที่รูปม้าตัวเล็กๆที่พลัดตกลงมาจากหน้าผา ถ้าเคซังไม่ชี้ให้ดู ลิ่วลมคงไม่ทันสังเกต

“คนปักผ้าบันทึกภาพม้าตกเขาเอาไว้ด้วย เพื่อจะบอกเป็นนัยให้รู้ว่า เส้นทางสายนี้มีจุดที่ต้องระมัดระวัง”

“โอ้โห แยบยลมากๆ เลยนะคะ” นารีญาอ้าปากค้าง ไม่นึกว่าคนที่ปักผ้าผืนนี้จะซ่อนรายละเอียดเอาไว้ขนาดนี้

“คุณยังมีผ้าที่เป็นแผนที่แบบนี้อีกเยอะไหมครับ” ดวงตาของลิ่วลมเปล่งประกาย

“มีหลายผืนครับ สมัยก่อนเราไม่มีกระดาษ พวกผู้หญิงก็จะปักแผนที่ลงไปบนผ้า…แต่เนื่องจากผ้าพวกนี้เป็นผ้าโบราณ และหลายครั้งก็เป็นเส้นทางสำคัญที่คนทอไม่อยากให้คนนอกรู้ บางผืนเลยใช้สัญลักษณ์ที่คนในปัจจุบันตีความไม่ออกอยู่เหมือนกัน”

“คุณเคซัง…คุณมีผ้าที่เป็นแผนที่ของซัมเซไหมครับ”

ลิ่วลมละล่ำละลักถาม พร้อมกับกลั้นใจรอฟังคำตอบจากเคซัง ลุนดรัป…



Don`t copy text!