พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 8.1 : พยับฟ้าโพยมดิน

พยับฟ้าโพยมดิน บทที่ 8.1 : พยับฟ้าโพยมดิน

โดย : พงศกร

Loading

พยับฟ้าพโยมดิน นวนิยายจากอ่านเอา โดย พงศกร เมื่อน้องชายฝาแฝดหายตัวไปอย่างลึกลับในหมู่บ้านกลางหุบเขาของภูฏาน เขาจำเป็นต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อตามหาก่อนที่จะสายเกินไป เขาต้องยอมรับความช่วยเหลือจากนารีญาหญิงสาวที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขาตั้งแต่แรกเจอพ่วงไปด้วย เธอคนนี้อาจเป็นคนเดียวที่ไขปริศนาต่างๆ และพาเขาไปพบกับน้องชายได้

มลังเมลืองของสีฟ้าอมเขียวของผืนผ้า พลันทำให้ภายในห้องสว่างไสว แม้จะเป็นผ้าเก่าที่มีอายุหลายสิบปี หากสีของเส้นไหมยังคงงดงามเหมือนใหม่ ลวดลายปรากฏช่อชั้น หลั่นเมฆ และพยับแห่งผืนโพยม ตรึงสายตาของทุกคนเอาไว้ราวต้องมนต์

“พยับฟ้าโพยมดิน” เคซังย้ำ “เป็นชื่อของผ้าผืนนี้ครับ”

ท่ามกลางแสงสลัวของโคมระย้าบนเพดานกลางห้อง สะท้อนลวดลายโลกมนุษย์ สวรรค์ และนรก ซ้อนทับกันเป็นชั้น ดูเผินๆ คล้ายกับภาพเขียนไตรภูมิของไทยไม่มีผิด จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงรายละเอียดที่ปรากฏ สรวงสวรรค์ของไทยมีปราสาทราชวัง กำแพงแก้ว เจดีย์ ขณะที่สรวงสวรรค์ในผ้าผืนนั้นมีลักษณะคล้ายกับวิหารของนิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่

“ผ้าสวยมาก ชื่อของผ้าก็เพราะและความหมายดีมาก” อัญญาวีร์ไม่อาจละสายตาไปจากผ้าผืนตรงหน้า

“เหมือนภาพวาดเลยนะคะน้าอัญ” นารีญาพึมพำ ตอนแรกเธอนึกว่าลายบนผ้าเป็นลายที่วาดขึ้นด้วยพู่กัน แต่เมื่อพินิจดูรายละเอียดใกล้ๆ แล้ว หญิงสาวจึงเพิ่งเห็นว่าเป็นลวดลายปักด้วยไหมละเอียดจนดูเหมือนกับภาพวาด “ใครจะนึกว่าเป็นผ้าปัก”

“สวยงาม และละเอียดจนแยกแทบไม่ได้เลยใช่ไหมครับ ศรัทธาของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่จนแม้แต่ฟ้าดินยังต้องยอมจำนน”

เคซังยิ้มภูมิใจ ดวงตาคู่แจ่มกระจ่างของเขาจ้องมอง ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ ตรงหน้าแน่วนิ่ง

“ผ้าผืนนี้เรียกว่าทังก้า – Thangka ปักขึ้นมาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา…สำหรับแขวนเป็นฉากประดับภายในอาราม คนออกแบบตั้งใจวาดลวดลายให้เป็นภาพนรกสวรรค์ตามแบบพุทธนิกายมหายาน เห็นตรงนั้นไหมครับ…” เขาชี้ “มีวิหารเทพ ลอยอยู่บนผืนฟ้า ตรงนั้นคือกลุ่มมนุษย์บนผืนแผ่นดิน สรรพสัตว์ในหุบเขา มัจฉาในสายธาร คณาเมฆ มวลพฤกษาและเหล่าสรรพสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในโลกใบนี้ ต่ำลงไปก็คือขุมนรกที่เต็มไปด้วยคนบาป เปลวไฟเผาผลาญ นายนิรยบาลที่คอยลงทัณฑ์ เหล่านี้คือจักรวาลของเรา…แผ่นดินและผืนฟ้าที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ผ้าผืนนี้จึงมีชื่อว่า…พยับฟ้าโพยมดิน”

เขาชี้ไปที่มุมด้านล่างสุดของผืนผ้าที่มีอักษรเก่าแก่ปักชื่อของผ้าเอาไว้

“ผ้าแต่ละผืนจะมีความพิเศษแตกต่างกันไป” เคซังเล่าต่อ “ผืนนี้อุทิศให้กับซังเจ เมนลา…อือม…นั่นเป็นภาษาภูฏานน่ะครับ ทั่วไปจะเรียกกันว่าพระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า ไภษัชคุรุไวฑูรย์แปลว่าบรมครูผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดั่งไพฑูรย์”

“มิน่าล่ะ” อัญญาวีร์พึมพำ ดวงตายังไม่อาจละไปจากผ้าผืนตรงหน้าได้ “ผ้าผืนนี้ถึงมีสีพื้นเป็นเขียวอมฟ้า”

“ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้มนุษย์หายจากอาการป่วยไข้และความทรมาน” เคซังยังชี้ไปที่ภาพของพระพุทธเจ้าที่มีขนาดใหญ่ “พระหัตถ์ซ้ายจะถือบาตรหรือหม้อยาวางอยู่บนหน้าตัก ส่วนพระหัตถ์ขวาถือผลสมอ หรือบางครั้งก็จะวาดหรือปักภาพถือเป็นต้นสมุนไพร เห็นดังนี้ก็จะบอกได้ทันทีว่าคือพระพุทธเจ้าพระองค์ใด”

“แล้วพระพุทธเจ้าที่หนูกราบอยู่ทุกวันล่ะคะน้าอัญ” นารีญาหันไปทางน้าสาว อัญญาวีร์อมยิ้มแล้วอธิบายสั้นๆ ว่า

“พระพุทธศาสนาเล่าว่าในจักรวาลนี้ มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์มากๆ พระพุทธเจ้าพระองค์ที่อุบัติในสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้คือพระสมณโคดม ในอนาคตอีกหลายพันปีข้างหน้าก็จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาอุบัติ นั่นคือพระศรีอาริยเมตไตร”

นารีญาฟังแล้วได้แต่พยักหน้าหงึกๆ ขณะที่อัญญาวีร์หันไปเล่าให้เคซังฟังบ้าง

“เมืองไทยก็มีผ้าลักษณะคล้ายกับทังกาค่ะคุณเคซัง บางผืนเป็นภาพวาด บางผืนเป็นภาพปัก ส่วนมากจะเป็นภาพวาดเรื่องราวพุทธประวัติ เป็นผ้าผืนยาวที่เล่าเรื่องทุกอย่างอยู่ในนั้น…เราเรียกว่าผ้าพระบฏ”

ผ้าพระบฏที่อัญญาวีร์พูดถึง คือผ้าผืนยาวที่นิยมใช้แขวนไว้ในอาคาร หรือสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เพื่อเป็นสิ่งบูชา สักการะแทนองค์พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป

รูปแบบของการเขียนภาพลงบนผืนผ้า เป็นคตินิยมของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เริ่มจากจากประเทศอินเดีย ก่อนจะส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ธิเบต เนปาล

การสร้างพระบฏเป็นคตินิยม ทําขึ้นเพื่อการสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางครั้งก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว

“ผมเคยเห็น” เคซังพยักหน้า “ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าของมิสเตอร์แทนไท…เพื่อนของผม”

“คุณแทนไทกับคุณภุมรี ผมเคยเห็นข่าวของทั้งสองอยู่บ่อยๆ” ลิ่วลมพยักหน้า เขาเคยได้ยินชื่อของมหาเศรษฐีที่สร้างพิพิธภัณฑ์ให้ภรรยาเก็บสะสมผ้าโบราณจากทั่วทุกมุมโลก เริ่มต้นจากความชอบเล็กๆ มาถึงวันนี้พิพิธภัณฑ์ของภุมรีกลายเป็นแหล่งศึกษาผ้าโบราณที่ทรงคุณค่า

“คุณเล่าว่าได้พยับฟ้าโพยมดินผืนนี้มาจากซัมเซใช่ไหมคะ” อัญญาวีร์ถามด้วยความอยากรู้

“ครับ ผมได้ทังกาผืนนี้มาจาก…” คินซานิ่งนึกไปนิดหนึ่ง ดวงตาของเขาเหลือบมองรูปภาพของมารดาบนผนัง “ได้มาจากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง…เขาได้มาจากอารามเก่าแก่ในซัมเซ แล้วเอามาฝากให้ผมช่วยเก็บรักษาไว้ และขอให้ศึกษาผ้าผืนนี้อย่างละเอียดเพราะในผ้าผืนนี้ มีข้อมูลสำคัญถูกซ่อนเอาไว้หลายอย่าง”

ชายวัยกลางคนถอนใจเบาๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า

“เขาเล่าว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่เขาเป็นเด็ก เกิดเหตุร้ายขึ้นที่หมู่บ้าน อารามแห่งนั้นถูกไฟไหม้ จนแทบไม่เหลือซาก เคราะห์ดีที่ชาวบ้านฝ่ากองเพลิงเข้าไปเอาผ้าผืนนี้ออกมาได้ ไม่เช่นนั้น พวกเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นภาพพุทธศิลป์แบบซัมเซแท้ๆ…แต่กระนั้น…”

เขาชี้นิ้วไปที่รอยไหม้บนผืนผ้า ที่กระจายอยู่หลายตำแหน่ง

“กระนั้นก็ยังมีบางส่วนเสียหายไป” เคซังถอนใจเบาๆ “ครอบครัวเพื่อนของผมเก็บรักษาผ้าผืนนี้อยู่นานหลายปี ตอนที่เพื่อนของผมไปเรียนต่อ เขาเลยเอาผ้ามาฝากไว้ จนตอนนี้เรียนจบกลับมาได้หลายปีแล้วก็ไม่ยอมมารับคืนไป เขาบอกว่าผ้าเลือกเจ้าของ…พยับฟ้าโพยมดินอยากอยู่กับผมที่นี่”

“น่าเสียดายนะครับ” ลิ่วลมถอนใจ ดวงตายังจ้องมองผ้าผืนตรงหน้าด้วยความสนใจ “มีรอยไหม้แบบนี้ทำให้ลายผ้าขาดหายไปหลายช่วงเลย”

“ผมเคยคิดจะซ่อมพยับฟ้าโพยมดินอยู่เหมือนกัน” เคซังว่า “แต่ยังหาคนมีฝีมือดีๆ ที่จะมาซ่อมให้เนียนไปกับของเก่าไม่ได้”

“เดี๋ยวก็หาได้ค่ะ” อัญญาวีร์ส่งยิ้มให้เขา “คนภูฏานที่ทอผ้า ปักผ้าเก่งๆ มีออกจะเยอะไป”

อย่างเช่น…โซนัม ทินเลย์…มารดาของเชวัง เป็นต้น…อัญญาวีร์แอบนึกในใจ

“เอ๊ะ” ขณะที่ทุกคนกำลังสนทนากันอย่างตั้งอกตั้งใจ นารีญาก็พินิจพิเคราะห์ ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ อย่างตั้งอกตั้งใจเช่นกัน หญิงสาวก้มมองรอยไหม้ขนาดเท่าฝ่ามือที่อยู่ใจกลางของผืนผ้า เธอหันไปหยิบแว่นขยายแล้วส่องดูรายละเอียด “ดูตรงนี้สิลิ่วลม นั่นใช่ดอกไม้ที่นายกำลังมองหาหรือเปล่า”

นักพยากรณ์อากาศสาวชี้ เมื่อมองตามนิ้วเรียวยาวของนารีญา ใจของลิ่วลมก็เริ่มเต้นแรง ด้วยลายปักรูปดอกไม้ที่ปรากฏตรงนั้น มีลักษณะคล้ายกับดอกอุทุมพรจริงๆ

ทว่าเป็นดอกอุทุมพรที่แหว่งวิ่นไม่เต็มดอก

“Udumbara…อุทุมพร ผมคิดว่าใช่…คุณเก่งมาก” ลิ่วลมพยักหน้า เขาก้มหน้าลงไปจนเกือบชิดผืนผ้า…ใกล้เสียจนได้กลิ่นเหม็นไหม้จางๆ ที่ยังติดอยู่ในเส้นไหม

ดอกไม้ดอกนั้นเป็นดอกไม้สีขาว รูปลักษณะคล้ายระฆัง มีก้านยาวตรงที่ผุดขึ้นมาจากผืนดิน ซ่อนตัวอยู่ในซอกลึกของหุบเขา

ดูไม่รู้ว่าที่จริงแล้วมีอยู่กี่ดอก ขึ้นเป็นพุ่ม หรือเป็นดอกเดี่ยว เพราะรอบๆ ลายดอกไม้ที่นารีญาชี้นั้นถูกไฟไหม้เป็นวงกว้าง ดอกที่เหลือให้เห็นมีเพียงดอกเดียว ทั้งยังถูกเพลิงเผาไหม้ เหลือให้เห็นไม่เต็มดอกอีกต่างหาก

เขาดีใจจนอดไม่ได้ที่จะเอื้อมมือไปแตะดอกอุทุมพรบน ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ แผ่วเบา

หากทันทีที่ปลายนิ้วของเขาแตะโดนเส้นไหม ลิ่วลมรู้สึกราวถูกไฟฟ้าช็อต

“โอ๊ะ”

เขาร้องเสียงดัง ผงะหงายหลังไปราวถูกมือที่มองไม่เห็นจับเหวี่ยง พร้อมกันนั้น ในหัวของเขาก็เกิดภาพนิมิตมากมายผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว

…รุนแรง…

 



Don`t copy text!