นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ

นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์

 

งานศิลปะบางครั้งก็เปรียบเสมือนคู่ครอง มีสเปกอยู่ในใจ แต่ถึงแม้จะดิ้นรนเสาะแสวงหาแค่ไหนก็ไม่ยักจะเจอในแบบที่ใช่สักที แต่พออ่อนล้า คิดจะเลิกควานหา จู่ๆ ก็เจอที่ถูกใจเข้าให้แบบง่ายๆ งงๆ งงๆ ง่ายๆ ดังเช่นเรื่องนี้ เรื่องการจ๊ะเอ๋ผลงานชิ้นที่ไม่คาดฝันของ เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินรุ่นเดอะหนึ่งในประติมากรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของเมืองไทย

“เริงระบำ” ก่อน พ.ศ. 2508 เทคนิค หล่อทองสำริด ขนาด 153×65 เซนติเมตร

เขียน ยิ้มศิริ เป็นบุตรของ นายเขียว และ นางสงวน ยิ้มศิริ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2465 ที่ตำบลบ้านช่างหล่อ แถวๆ บางกอกน้อย ตอนเด็กๆ เขียนเรียนที่โรงเรียนอัมรินทร์โฆษิต เพราะชอบศิลปะเลยสอบเข้าที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม พอจบในปี พ.ศ. 2485 เขียนในวัยรุ่นสมัครเข้ารับราชการในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และได้กลายเป็นศิษย์มือขวาสุดเลิฟของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยช่วยสอนศิลปะในโรงเรียนประณีตศิลปกรรมซึ่งภายหลังพัฒนาใหญ่โตจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

ระหว่างรับราชการเขียนได้รับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อไปเรียนต่อสาขาประติมากรรมที่โรงเรียนศิลปะเชลซี ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เวลานั้น เฮนรี มัวร์ ประติมากรชื่อดังคับฟ้า เป็นผู้กำกับการสอน หลังเรียนจบจากอังกฤษอีกไม่กี่ปี เขียนก็ได้รับทุนของรัฐบาลอิตาลีให้ไปเรียนต่อด้านประติมากรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรมอีก พอกลับมาเมืองไทย เขียนกลับเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความสามารถและความขยันขันแข็ง เขียนได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ. 2507 ขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาประติมากรรมในขณะนั้น เขียนต้องขึ้นรับตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อจากอาจารย์ศิลป์ที่ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน และอีกไม่นาน อีกเพียงแค่ 7 ปีหลังจากนั้น เขียนก็เสียชีวิตในวัย 49 ปี ทิ้งภรรยาและลูกสาวที่ยังเล็กอีกสองคนไว้เบื้องหลัง

“เริงระบำ” (ภาพจาก สูจิบัตรการแสดงศิลปนานาชาติ ครั้งที่ 1 ณ โรงละครแห่งชาติ 11-25 กุมภาพันธ์ 2508)

งานศิลปะของ เขียน ยิ้มศิริ ในยุคแรกๆ สมัยที่พึ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมแบบเหมือนจริง เขียนปั้นเจ้านายในวัง พระสงฆ์องค์เจ้า และบุคคลสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เขียนได้รับคำชมอยู่เนืองๆ เพราะนอกจากผลงานจะเหมือนจริงแล้วยังสามารถแสดงอารมณ์ออกมาอย่างกับจะกระดุกกระดิกได้

หลังจากนั้นเขียนค่อยๆ พัฒนารูปแบบประติมากรรมให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากงานศิลปะไทยสมัยบรรพบุรุษ เขียนหลงใหลในเส้นสายที่สวยงามดั่งสวรรค์บันดาลของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และชอบความอิสระและจริงใจในการแสดงอารมณ์ของตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตาฝีมือชาวบ้านที่ปั้นด้วยดินแบบง่ายๆ เป็นรูปคนในอิริยาบถต่างๆ เพื่อใช้ในพิธีทางไสยศาสตร์ เขียนได้คิดค้นวิธีนำเอาลักษณะไทยๆ อันมีเสน่ห์เหล่านี้มาสร้างสรรค์ให้กลมกลืนไปกับอิทธิพลศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตก ที่มีการลดทอนรายละเอียดยุบยิบและเน้นให้ความสำคัญกับรูปทรงและเส้นสาย อารมณ์ไทยสไตล์ฝรั่งปะติดปะต่อกันอุตลุด แต่ลงตัวอย่างน่าพิศวงเกิดเป็นผลงานรูปแบบสากลที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครแถมยังล้ำหน้าเกินยุคเกินสมัย

“เสียงขลุ่ยทิพย์” (ภาพจาก สูจิบัตร นิทรรศการศิลปานุสรณ์ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หอศิลป 7 กันยายน – 7 พฤศจิกายน 2522)

ผลงานสำคัญในรูปแบบสมัยใหม่ที่ เขียน ยิ้มศิริ สร้างสรรค์ขึ้นมาและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมีอยู่หลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่น ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ประติมากรรมรูปคนนั่งขัดสมาธิเป่าขลุ่ย เอี้ยวตัวโชว์ลีลาบรรเลงเพลงอย่างพลิ้วไหว นิ้วมือนิ้วเท้าที่แหลมเรียวดุจพระพุทธรูปก็กระดกบิดงอตามจังหวะเพลง ในขณะเดียวกันก็ประคองด้ามขลุ่ยไว้ได้อย่างแผ่วเบา ดูมุมไหนก็สวยสมบูรณ์แบบไปหมด ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ไม่น่าแปลกใจที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกของประเทศที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2492

“ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม” (ภาพจาก สูจิบัตร นิทรรศการศิลปานุสรณ์ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  หอศิลป 7 กันยายน – 7 พฤศจิกายน 2522)

‘ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม’ เป็นประติมากรรมรูปนางรำหน้ายิ้มแฉ่งกำลังร่ายรำสะบัดสะโพกดินระเบิดอย่างร่าเริง ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงอุปนิสัยของคนไทยที่แจ่มใสและสนุกสนาน  ‘ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม’ สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ที่พบเห็นได้สมชื่อ เขียน ยิ้มศิริ เจ้าของผลงานเลยได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ไปตามระเบียบ

“แม่กับลูก” (ภาพจาก สูจิบัตร นิทรรศการศิลปานุสรณ์ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป 7 กันยายน – 7 พฤศจิกายน 2522)

 ‘แม่กับลูก’ ประติมากรรมรูปแม่ประคองลูกที่ยังเป็นทารกอยู่ในอ้อมแขนขณะกำลังชันเข่าให้นม เป็นอิริยาบถที่มองดูแล้วรู้สึกได้ถึงความผูกพันอันแสนจะอบอุ่น ผลงานชิ้นนี้ชนะรางวัลเหรียญเงินจากงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2494

‘เริงระบำ’ เป็นประติมากรรมรูปหญิงชายเต้นระบำเกี้ยวพาราสีกัน นักระบำทั้งสองกวาดแขนกรีดนิ้วในท่วงท่าของการฟ้อนรำแบบไทย ในขณะเดียวกันก็เขย่งขา จิกปลายเท้าราวกับนักบัลเลต์ตะวันตก เขียน ยิ้มศิริ ผสมผสานลีลาการเต้นของสองวัฒนธรรมให้เข้ากันไม่ขัดหูขัดตาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ว่ากันว่า ‘เริงระบำ’ นั้นมีอยู่ 2 เวอร์ชันซึ่งมีหน้าตาและท่าทางต่างกัน เวอร์ชันแรกคือ ‘เริงระบำ’ ไซซ์ปกติ ขนาดสูงประมาณ 3 ฟุตที่ส่งเข้าร่วมชิงรางวัลในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2496 และคว้ารางวัลเหรียญเงินไปได้ในครั้งนั้น 

กับอีกเวอร์ชันที่เขียนบรรจงทำขึ้นมาให้ตัวโตเป็นพิเศษขนาดพอๆ กับคน เป็นผลงานประติมากรรมชิ้นมโหฬารที่สุดที่ท่านสร้าง ‘เริงระบำ’ พิมพ์ใหญ่เวอร์ชันคับห้องนี้เขียนปั้นและหล่อทองสำริดขึ้นมาเพียงชิ้นเดียวให้กับโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อไปตั้งโชว์ แต่ภายหลังพอโรงแรมแห่งนั้นเลิกกิจการไป นักระบำคู่นี้ก็ได้อันตรธานหายไป เหลือไว้แต่เพียงเรื่องราวและภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ ให้ดูต่างหน้า

“เริงระบำ” (ภาพจาก สูจิบัตร นิทรรศการศิลปานุสรณ์ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป 7 กันยายน – 7 พฤศจิกายน 2522)

ด้วยผลงานที่สวยงามดูเพลินและรางวัลการันตีอีกเพียบ อีกทั้งภายหลัง เขียน ยิ้มศิริ ยังได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติอีก งานประติมากรรมของท่านก็เลยเป็นที่หมายปองมากันมาตั้งนานแล้วจนมีคนอุตริทำของเลียนแบบขึ้นมาขายกันเกร่อ ทุกวันนี้ผลงานของเขียนที่ถือว่าเป็นของแท้ไร้ข้อครหานั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือผลงานที่เขียนควบคุมการปั้นหล่อขึ้นมาเองในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แบบนี้ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของพิพิธภัณฑ์และนักสะสมมากที่สุด เพราะได้ครบทั้งความออริจินัลและความขลัง แต่ด้วยความจริงที่ว่างานประติมากรรมนั้นพอมีแม่พิมพ์ก็สามารถปั๊มผลงานออกมาให้เหมือนกันเด๊ะได้หลายๆ ชิ้น ปัจจุบันเลยเกิดปัญหาเพราะเราไม่ทราบจำนวนผลิตเป๊ะๆ ของผลงานเหล่านี้ เขียนเป็นศิลปินที่ไม่ได้เน้นการค้า ท่านสร้างงานศิลปะของท่านออกมาทีละนิดทีละหน่อย เอาไว้แบ่งปันให้คนสนิทและผู้ที่สนใจไปครอบครอง ไม่ได้ระบุจำนวน สลักเอดิชันนัมเบอร์ หรือเซ็นชื่ออะไรเอาไว้บนชิ้นงาน จะหาผลงานรุ่นนี้มาเก็บถ้าไม่มีหลักฐานหรือที่มายืนยันแบบชัดๆ ก็พิสูจน์กันยาก

ผลงานของแท้แบบที่ 2 ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ไม่ต้องกลัวใครเรียกตำรวจมาตามจับนั้นเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นมาใหม่ภายหลังโดยทายาทของ เขียน ยิ้มศิริ หลังจากที่เขียนเสียชีวิตไปนานแล้ว ผลงานชุดนี้มีระบุจำนวนผลิตและสลักเอดิชันนัมเบอร์ไว้ชัดเจน คนซื้อไม่ต้องกลัวไม่ชัวร์เพราะทายาทยังมีใบรับประกันความแท้แถมให้อีกต่างหาก

เราเองก็ชื่นชอบผลงานรูปแบบสมัยใหม่ของ เขียน ยิ้มศิริ และเคยพยายามเสาะหาผลงานของ เขียน ยิ้มศิริ รุ่นดั้งเดิมที่ท่านผลิตขึ้นมาเองโดยการสืบค้นดูในสูจิบัตรรุ่นเก๋ากึ้กสมัยครึ่งศตวรรษที่แล้วเพื่อจะพลิกหารายชื่อผู้ที่ครอบครองงานของท่านในยุคนั้น ไล่เรียงดูมีแต่ชื่อพิพิธภัณฑ์ของชาติ ลูกท่านหลานเธอ และนักสะสมนามสกุลดัง เงินถุงเงินถังทั้งนั้น เห็นอย่างนี้แล้วความหวังก็ดูแสนจะริบหรี่

บอกตามตรงว่าเลิกคิดเลิกฝันจะตามหาผลงานรุ่นเก่าของ เขียน ยิ้มศิริ ไปแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่งเพื่อนสมัยประถมโทร.มาแจ้งข่าวว่าญาติรุ่นราวคราวปู่ของเขาพึ่งจะขายบ้านได้ และต้องการจะระบายเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านกระจุกกระจิกออก ก่อนที่บ้านจะถูกรื้อเอาไปสร้างเป็นคอนโดฯ ตอนนั้นเราก็กำลังหาซื้อโต๊ะตู้เข้าบ้านใหม่อยู่พอดี เลยนัดแนะไปดูของที่ญาติของเขาจะโละกันเผื่อถูกใจ

บ้านญาติเพื่อนเราไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล อยู่ใจกลางสุขุมวิทนี่เอง พอถึงวันนัดเรายังจำได้แม่น พอเดินผ่านประตูรั้วเข้าไป เราตกตะลึงกับพื้นที่ข้างในที่ใหญ่อย่างกับวัง ที่กลางเมืองแปลงบะเร่อเท่อ เดินนิดเดียวถึงสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ ขนาดและโลเกชันระดับ A++ อย่างนี้ ไม่กล้าจะจินตนาการราคาเลย ท่ามกลางสวนใหญ่โตรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม มีบ้านหลังโตตามกันสร้างอยู่ตรงกลาง ตัวบ้านรายรอบไปด้วยกระจกบานใหญ่สูงจากพื้นถึงเพดานเพื่อรับวิวสวน ถึงแม้จะสร้างมานานหลายสิบปีแล้วแต่ก็ยังดูเท่และทันสมัย ถ้าตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ คงดูอวกาศสุดๆ

เขียน ยิ้มศิริ (ภาพจาก หนังสือชีวิตและงานของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ)

เรากับเพื่อนเข้าไปในบ้านเพื่อสำรวจดูเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่างๆ ระหว่างที่ดูข้าวของอยู่นั้น สายตาก็เหลือบมองผ่านกระจกห้องรับแขกไปเห็นงานประติมากรรมชิ้นมหึมาตั้งตระหง่านอยู่บนแท่นปูนริมสระว่ายน้ำกลางสวน ประติมากรรมรูปนักเต้นระบำในรูปแบบไทยปนฝรั่งที่คุ้นตาสุดๆ พอไปลูบๆ คลำๆ เล็งดูใกล้ๆ ยังเห็นลายเซ็นที่เขียนว่า ข. ยิ้มศิริ สลักอยู่ตรงฐานอีก หรือว่านี่จะเป็น ‘เริงระบำ’ เวอร์ชันในตำนานที่หายสาบสูญ เราเลยซักไซ้ประวัติความเป็นมาจนได้ใจความว่าเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนญาติของเพื่อนท่านนี้เคยทำธุรกิจโรงแรม และในสมัยนั้นได้ว่าจ้างประติมากรที่ดังที่สุดนาม เขียน ยิ้มศิริ ให้ออกแบบและสร้างผลงานศิลปะชิ้นใหญ่มาประดับไว้ที่หน้าล็อบบี้ ตอนหลังพอโรงแรมต้องถูกปิดตัวลง ญาติของเพื่อนก็เลยยกงานศิลปะสุดหวงแหนนี้มาประดับสวนที่บ้านแทน

ฟังเรื่องราวแล้วช่างเหมือนกับที่เคยได้รับรู้มาก่อนหน้านี้ไม่ผิดเพี้ยน วันนั้นเลยปลื้มปริ่มสุดๆ เพราะได้พบผลงาน เขียน ยิ้มศิริ ชิ้นที่ชอบ แถมเป็นชิ้นสำคัญที่มีชิ้นเดียว และยังได้เจอเจ้าของเดิมอีก ถึงแม้จะถูกใจแค่ไหน แต่วันนั้นบุญคงไม่ถึงหรือไม่ก็กรรมบัง เพราะเพื่อนเราเป็นคนตาดี รสนิยมเยี่ยม จองประติมากรรมชิ้นนี้เอาไว้ก่อนเลย ส่วนตัวเราก็ได้แต่ทำตาปริบๆ ถึงแม้จะแอบอิจฉาแต่ก็ดีใจด้วยที่เพื่อนเราจะได้งานศิลปะสวยๆ ประวัติดีๆ ไปเก็บไว้ ในอีกไม่กี่วันถัดมา ‘เริงระบำ’ พร้อมสูจิบัตร เอกสารหลักฐาน และรูปถ่ายเก่าๆ ที่เกี่ยวกับงานชิ้นนี้แบบครบเซต ก็ได้ย้ายสำมะโนครัวหลังจากเต้นระบำกรำแดดกรำฝนจนตัวเขียวปี๋อยู่ริมสระน้ำตรงนั้นมากว่า 50 ปี

แม้เวลาจะผ่านไปอีกหลายปี แต่เราก็ไม่เคยลืมภาพ ‘เริงระบำ’ ที่ได้ชายตามองในวันนั้นเลย จนจู่ๆ อยู่ดีๆ บ่ายวันหนึ่งเพื่อนเราก็โทร.มาถามว่ายังสนใจประติมากรรมชิ้นยักษ์นี้อยู่หรือเปล่า ไม่รู้อะไรดลใจให้เพื่อนเราถามอย่างนั้น หรือว่าแอร์เมสจะออกกระเป๋าเบอร์กิ้นรุ่นใหม่ที่ทำจากหนังจระเข้เผือก 2 หัว 6 ขา 8 หาง ตัวเดียวในโลกจากเทือกเขาหิมาลัย มาขายเพื่อนเราหรือเปล่า เธอเลยยอมตัดใจปล่อยงานศิลปะชิ้นงามออกเพื่อไปสมทบทุนกับสิ่งที่เธอชอบมากกว่า

ส่วนฝั่งเราก็รู้อยู่แกใจว่าอยากได้ แต่จะโชว์อาการสนอกสนใจแบบออกหน้าออกตาเดี๋ยวจะเสียจริต เลยทำเป็นเฉยๆ ดึงเช็งอยู่สองสามวันจนตบะแตกทนไม่ไหว และในที่สุดนักระบำก็ได้ย้ายเวทีอีกครั้งแบบง่ายๆ งงๆ มาอยู่กับผู้ที่หลงรักและหลงใหลสุดแสนจะประทับในลีลาการร่ายรำของเธอตั้งแต่แรกพบ

Don`t copy text!