จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“…นักสะสมหน้าใหม่ไม่รู้จะใช้ข้อมูลอะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาราคา
จะเชื่อราคาที่คนขายเสนอมาได้หรือเปล่า
เขาจะรักเราจริงหรือกะจะหลอกฟันเราก็ไม่รู้
ขนาดคนไทยยังเล่นกันยากแล้วต่างชาติจะเหลืออะไร”
นั่งดูทีวีเห็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งแล้วแทบจะหงายเงิบหกคะเมนตกเก้าอี้ ข่าวการประมูลภาพวาดที่คิดกันว่าเป็นผลงานของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี คนที่เป็นศิลปินไม่ใช่นินจาเต่า ประมูลกันดุเดือดเลือดพล่านจนราคาขึ้นไปจบที่ประมาณหมื่นห้าพันล้านบาท ภาพวาดอะไรไม่รู้ราคายังกะยานอวกาศ ด้วยความตกใจเลยรีบหยิบไอแพดขึ้นมาลองค้นในอินเทอร์เน็ตดูราคาภาพวาดฝีมือศิลปินไทยเราบ้างว่าใกล้จะหมื่นล้านแค่ไหนกันแล้ว
ไล่เรียงดูราคางานศิลปะสมัยใหม่ของไทยในตลาดโลกจากประวัติที่รวบรวมโดยสถาบันการประมูลต่างๆ ที่มีชื่อเสียงอย่างคริสตีส์ และโซเทบีส์ ต้องยอมรับว่างานของบ้านเรายังทำราคาได้ไม่ใกล้เคียงกับศิลปินรุ่นใหญ่ไฟกะพริบของฝรั่งเลย งานศิลปะของไทยแม้จะสร้างสรรค์โดยศิลปินระดับแนวหน้าของประเทศส่วนใหญ่ก็ยังขายได้อยู่ในหลักหมื่นหลักแสนในการประมูลระดับนานาชาติ ที่ประมูลได้ทะลุหลักล้านไปจนถึงหลักสิบล้านก็เห็นจะมีอยู่ไม่กี่ชื่อ เช่น ถวัลย์ ดัชนี, ทวี นันทขว้าง, มณเฑียร บุญมา, ดำรง วงศ์อุปราช, นที อุตฤทธิ์ และชื่ออื่นๆ อีกไม่ถึงสิบ
“หลับใหลในป่าใหญ่” ก่อน พ.ศ. 2517
เทคนิคแกะไม้ ขนาด 125×125 เซนติเมตร ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาผลงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยยังไม่ค่อยเป็นที่ฮือฮาเท่าที่ควร เพราะวงการนักสะสมศิลปะในบ้านเรายังค่อนข้างแคบและออกไปทางแนวลับๆ ล่อๆ ในเมืองไทย ศิลปิน ผู้ค้างานศิลปะ และนักสะสมนั้นมีไม่มาก แถมส่วนใหญ่ก็ดันรู้จักกันหมด เวลาจะซื้อขายแลกเปลี่ยนงานศิลปะก็ทำกันเอง แค่โทร. กริ๊งเดียว นัดมาเจอกัน รับของ จ่ายตังค์ ง่ายจะตาย เปลี่ยนมือกันทุกวี่ทุกวันไม่ต้องผ่านบริษัทประมูลให้เสียเวลาและค่าต๋ง เพราะเป็นซะอีหรอบนี้ เวลาใครซื้อใครขายจบกันที่ราคาเท่าไรก็ไม่มีการเปิดเผย พอการประมูลไม่เป็นที่นิยมในบ้านเรา ก็เลยมีไม่บ่อย ที่ยังพอมีจัดกันอยู่เรื่อยๆ ก็มักเป็นแนวงานประมูลเพื่อการกุศล งานแบบนี้บางทีก็ประมูลได้ราคาสูงปรี๊ด แต่จะเอามาใช้อ้างอิงเป็นราคาตลาดไม่ได้เพราะคนที่ประมูลชนะส่วนใหญ่เขาใจบุญตั้งใจจะบริจาคเงินให้องค์กรหรือมูลนิธิที่จัดงานนั้นอยู่แล้ว ส่วนบริษัทประมูลในเมืองนอกก็ไม่ค่อยจะกล้าเอางานศิลปะของบ้านเราไปเข้าร่วมงานของเขาเยอะแยะมากมายเพราะกลัวหน้าแตกขายไม่ออก ประวัติราคาประมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็เลยมีน้อยนิดจนเอามาใช้เป็นราคามาตรฐานไม่ค่อยจะได้ คราวนี้ก็ลำบากนักสะสมโดยเฉพาะหน้าใหม่ๆ ที่คิดจะเริ่มซื้องานศิลปะเพราะไม่รู้จะใช้ข้อมูลอะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาราคา จะเชื่อราคาที่คนขายเสนอมาได้หรือเปล่า เขาจะรักเราจริงหรือกะจะหลอกฟันเราก็ไม่รู้ ขนาดคนไทยยังเล่นกันยากแล้วต่างชาติจะเหลืออะไร
ในเมืองไทย การที่ทุกคนรู้จักกันหมด นักสะสมไปอ้อนซื้อผลงานศิลปะจากศิลปินโดยตรงได้นั้นยังทำให้ระบบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายศิลปะหรือแกลเลอรีในบ้านเราไม่ค่อยจะโต ระบบแกลเลอรีนี้ดีเพราะเป็นระบบที่ช่วยในการสร้างราคา และทำให้วงการศิลปะดูคึกคักไม่เหงาหงอย โดยทั่วๆ ไปแกลเลอรีจะเซ็นสัญญากับศิลปินที่ดูแววดีมีอนาคต แล้วศิลปินท่านนั้นก็จะขายผลงานผ่านแกลเลอรีคู่สัญญาเท่านั้น คราวนี้ศิลปินก็สบาย ไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องการขายให้ปวดขมับ มีเวลาก็มุ่งผลิตแต่ผลงานไป ส่วนแกลเลอรีก็มีหน้าที่ผลักดันทุกวิถีทาง ทั้งจัดงานแสดง ออกสูจิบัตรและหนังสือเกี่ยวกับศิลปิน เชิญนักวิจารณ์ศิลปะมาโม้เมาท์ ทำข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรมอีกร้อยแปดเพื่อให้เกิดกระแสดึงดูดคนซื้อ ที่เจ๋งกว่านั้นคือแกลเลอรีชั้นนำยังสามารถคุมราคางานศิลปะได้อีก แกลเลอรีจะทำให้ลูกค้าอยากได้งานศิลปะมากๆ แต่จะขายให้แค่นิดๆ หน่อยๆ พอเป็นน้ำจิ้ม ทำเวตติ้งลิสต์ขึ้นมาให้ลูกค้าต้องลงชื่อรอตามคิวแบบบาร์บีคิวพลาซ่า ทำให้มันซื้อยากๆ เข้าไว้ บางทีพอลูกค้าได้ของก็ห้ามเขาไม่ให้เอาไปขายต่อเป็นระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ แล้วอีกหน่อยถ้าเบื่ออยากปล่อยออกหาเงินไปกินหนมก็ให้มาบอกขายผ่านแกลเลอรีที่ซื้อ อย่าไปเที่ยวเร่ขายเอง ของจะได้ยังคงหายากและราคาจะได้ไม่เสีย
ข้อมูลงานศิลปะจากสถาบันการประมูล คริสตี้ส์
วันดีคืนดีพอบริษัทประมูลได้งานศิลปะที่หายากๆ รอคิวยาวๆ มาประมูล ลูกค้าที่คันมือจัดๆ รอซื้อจากแกลเลอรีไม่ไหว หรือพวกที่ขี้เกียจง้อใครก็ไปประมูลแข่งกันจนราคาขึ้นกันไปอีก สำหรับผลงานของศิลปินบางคนที่มีแกลเลอรีผลักดันดีๆ อย่าหวังว่าจะฟลุกประมูลได้ในราคาถูกหรอก เพราะเคยได้ยินมาว่าถ้าราคาประมูลไม่สูงพอ แกลเลอรีใหญ่ๆ บางเจ้าเขาจะไปนั่งยกป้ายประมูลซะเอง แข่งไปแข่งมากับหน้าม้าพวกเดียวกันที่จัดมา ยันราคาให้สูงๆ เข้าไว้ เพราะแกลเลอรีคงไม่ยอมให้ผลงานของศิลปินในสังกัดที่เขาถือไว้เยอะๆ มีลิสต์ลูกค้ายาวๆ ขายได้ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินโชว์หราอยู่ในประวัติการประมูลเป็นแน่ ทำแบบนี้ในตลาดหุ้นหรือวงการอื่นมีสิทธิ์ติดคุกหัวโต แต่ในวงการศิลปะถือว่าไม่ผิด เขาเลยใช้วิธีปั่นราคากันอย่างนี้จริงๆ
หนังสือ “ฟอร์ม ออฟ แมน” พิมพ์ในปี พ.ศ. 2517
รวบรวมภาพผลงานของถวัลย์ ดัชนี
ทุกวันนี้วงการศิลปะในประเทศเราที่อยู่ได้และยังมีราคาก็เพราะนักสะสมเอกชนมารุมซื้องานศิลปะเข้ากรุกันคนละหนุบคนละหนับ ต่างจากในหลายประเทศที่เขามีพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ เข้ามาแย่งซื้อด้วย ในบ้านเราพิพิธภัณฑ์รัฐยังอยู่ในสถานะไส้แห้ง ค่าตั๋วถูก คนดูโหรงเหรง ต้องรองบจากรัฐบาลอย่างเดียว ส่วนพิพิธภัณฑ์เอกชนของไทย รัฐก็ไม่ได้มีนโยบายอะไรมาสนับสนุน ใครอยากเก็บงานศิลปะอยากสร้างพิพิธภัณฑ์ก็เชิญควักกระเป๋ากันเอาเอง เจ๊งไปก็ตัวใครตัวมัน คนละเรื่องกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเมืองนอกที่เขาขายตั๋วได้ราคา มีคนดูเยอะ มีเงินรัฐสนับสนุนกันแบบเหลือๆ แถมดีไม่ดีมีทุนเอกชนมาช่วยอีกต่างหาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะในบางประเทศเขามีนโยบายให้เอกชน และบริษัทเอกชนสามารถบริจาคงานศิลปะให้กับพิพิธภัณฑ์แล้วเอาไปหักภาษีได้ นึกดูถ้าเรารายได้เยอะหรือเป็นเจ้าของบริษัท ข้อเสนอนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย แทนที่จะจ่ายภาษีแบบปกติแล้วให้รัฐเอาเงินไปทำอะไรก็ไม่รู้ สู้ไปซื้องานศิลปะชิ้นเด็ดๆ ราคาแพงๆ จากแกลเลอรีที่มีใบเสร็จหรือจากการประมูลไปบริจาคดีกว่า คราวนี้ใครมาดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์เห็นชื่อเราหรือบริษัทเราเป็นสปอนเซอร์ก็ดูดี๊ดีเป็นเกียรติประวัติไปยันรุ่นเหลนรุ่นโหลน คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม เอาล่ะสิ พอมีครบทั้งนักสะสม พิพิธภัณฑ์ และบริษัทเอกชน มาแข่งกันซื้อแข่งกันประมูลแบบนี้ ถ้าอยากได้งานศิลปะชิ้นเจ๋งๆ บอกได้เลยว่าราคาพุ่งพรวดจนคนซื้อขนหน้าแข้งร่วงหมดขา ไม่ต้องพึ่งมีดโกนอีกนาน
“หมู่บ้านชาวประมง” พ.ศ. 2505
เทคนิคสีน้ำมันบนกระดานไม้ ขนาด 77 x 35.5 เซนติเมตร ศิลปิน ดำรง วงศ์อุปราช
พอดูๆ หน้าตาผลงาน ชื่อศิลปิน และราคาประมูลของแต่ละท่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นทางสว่างสำหรับศิลปินไทย เพราะนอกจากศิลปินแบรนด์เนมชาวตะวันตกที่ใครๆ ได้ยินชื่อแล้วต้องร้องอ๋ออย่าง ปีกัสโซ, โมเนต์, แวนโก๊ะ ฯลฯ ที่ประมูลได้ราคาสูงลิบแล้ว ศิลปินชาวเอเชียผิวเหลืองจมูกบี้เพื่อนบ้านเราตั้งเยอะตั้งแยะก็สามารถขายผลงานได้ในราคาทะลุหลักร้อยล้านขึ้นไป ไม่ได้จะอวยกันเองแต่ถ้าเทียบกันจริงๆ แล้ว ฝีไม้ลายมือและเอกลักษณ์ของศิลปินไทยระดับท็อปนั้นก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร เห็นอย่างนี้แล้วบอกได้เลยว่าทุกวันนี้ราคางานศิลปะชั้นยอดของบ้านเรานั้นยังถูกแสนถูก ของดีๆ ขลังๆ เราก็มีอยู่กับตัวแล้ว ถ้าทุกๆ คนช่วยกันคนละไม้คนละมือ นักสะสมหากชอบซื้อขายกันแบบเดิมก็ไม่ว่ากัน แต่พอมีการประมูลก็ไปคอยซื้อคอยดันกันหน่อย ราคางานศิลปะจะได้สูงขึ้นและเป็นที่รู้กันทั่ว แกลเลอรีเขามีต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ค่าโปรโมตจิปาถะ ก็ไปอุดหนุนเขาบ้าง วงการจะได้มีสีสัน ยิ่งถ้ารัฐใจป้ำมาช่วยอีกแรง ผลักดันศิลปะหนักๆ จัดนโยบายเด็ดๆ ศิลปะสมัยใหม่ของไทยจะไปใกลกว่านี้มาก
ใจจริงก็ไม่อยากให้มองศิลปะที่มูลค่า ไม่อยากให้มองทุกอย่างเป็นตัวเลขไปเสียหมด เราควรมองศิลปะที่คุณค่าความสำคัญทางด้านวัฒนธรรม ควรมองให้เป็นสมบัติชาติที่น่าหวงแหนและน่าส่งเสริมมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคางานศิลปะที่สูงเสียดฟ้าจะสร้างความอู๋ววว อ๋าาา!!! ให้กับสาธารณชน เป็นกันซะอย่างนี้บางทีก็เลยจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงมูลค่า ทำให้คนที่ไม่คิดจะมองงานศิลปะหันมาสนใจบ้าง
ลองคิดดูว่า แค่มีคนยอมจ่ายเงินแห่แหนกันมาดูผลงานคนไทยสักหนึ่งในร้อยของคนที่พากันไปดูโมนาลิซา และขายผลงานฝีมือศิลปินไทยในการประมูลได้ราคาสักหนึ่งในร้อยของแวนโก๊ะ แค่นี้เงินก็ไหลทะลักเข้าประเทศปีละมหาศาลนับกันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว จริงหรือเปล่า
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี