เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
หลังจากติดแหง็กอยู่เมืองไทย ไปท่องโลกที่ไหนไม่ได้อยู่นานเนเพราะสถานการณ์โควิด ในที่สุดก็ถึงเวลาออกตะลุยต่างแดนให้หนำใจอีกครั้ง เช้านี้เราตื่นขึ้นมาที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดแจงแต่งเนื้อแต่งตัวเพื่อจะตะลอนทัวร์ไปยังเมืองบาเซิล ซึ่งอยู่ไม่ไกลระยะทางประมาณกรุงเทพฯ-ชลบุรี ที่อยู่ดีๆ เราริจะไปเมืองนี้ก็เพราะว่าในช่วงราวเดือนมิถุนายนของทุกปี ที่นี่เขามีจัดงานแสดงศิลปะสุดอลังการ ที่เรียกชื่องานตามชื่อเมืองว่า ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
งานอาร์ตบาเซิลนี่ถ้าจะให้เทียบให้เข้าใจง่ายก็คล้ายๆ งานกาชาดออกร้านขายของสำหรับสายอาร์ต ซึ่งจะเป็นแนวหรูๆ หน่อย ไม่บ้านๆ เหมือนของเรา งานจัดอยู่ในอาคารศูนย์นิทรรศการขนาดเบ้อเริ่มเทิ่มประมาณว่าถ้าจะเดินให้ทั่วแบบชิลๆ ต้องใช้เวลาเกินวัน เมื่อเรามาถึงหน้าตึกโดยปกติเขาจะให้ซื้อบัตรเข้างานซึ่งราคาสูงเอาเรื่องอยู่คือประมาณคนละ 2,000 บาท แต่วันนี้เป็นวันพรีวิวตั๋วปกติเข้าไม่ได้ เขาจัดให้เป็นวัน VIP สำหรับแขกเชิญให้มาเดินดูกันก่อนแบบไม่ต้องเบียด โชคดีเรามีรุ่นพี่ที่รักส่งตั๋วของวันนี้มาให้ เราเลยกลายเป็นบุคคลสำคัญสำหรับงานเขาซะอย่างงั้น
ก่อนเข้างานเราต้องโหลดแอพพลิเคชันของเขาลงมือถือเพื่อใช้สแกนตรงประตู นอกจากตั๋วแล้วในแอพฯ ยังมีข้อมูลทั้งหมดของงาน ทั้งแผนที่ ข่าวสาร และข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ เอาไว้ให้อ่านเผื่อใครมีเวลาเหลือ ซึ่งเราไม่มี งานอาร์ตบาเซิลในปี 2022 ที่เราตัดสินใจถ่อสังขารมานี้ถูกจัดแยกเป็นฮอลล์ๆ โดยฮอลล์ใหญ่สุดใช้จัดแสดงผลงานศิลปะขนาดยักษ์ พวกชิ้นที่ไม่มีทางวางพอในโซนจัดแสดงปกติ โซนนี้มีทั้งรูปวาดขนาดใหญ่กว่ากำแพงบ้าน ประติมากรรมสูงเท่าตึก และงานศิลปะแบบจัดวางที่กินที่พอๆ กับสนามบาส ใกล้ๆ ผลงานแต่ละชิ้นก็จะมีป้ายรายละเอียดแปะอยู่พร้อมคอนแท็กต์ของแกลเลอรีที่เป็นเจ้าของงาน เผื่อเฮียๆ ท่านไหนที่มีบ้านใหญ่ๆ ที่เหลือๆ เกิดสนใจซื้อหาก็สามารถติดต่อไปได้
ส่วนโซนที่น่าสนใจและคนแน่นที่สุดคือฮอลล์ถัดไป ซึ่งเต็มไปด้วยบูธที่นำเสนอโดยแกลเลอรีต่างๆ หลายร้อยบูธจากนานาประเทศ ต่างคนต่างก็จัดเต็มงัดไม้เด็ดเอาผลงานศิลปินในสังกัดที่คิดว่าเจ๋งเป้งออกมาโชว์เพื่อเรียกแขก ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ที่เอามาขายกันในงานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวร่วมสมัยคอนเท็มโพรารี ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมันก็จะดูออกแนวล้ำๆ เห็นแล้วต้องพยายามทำความเข้าใจกันนิดนึง เช่น ลูกบอลเป่าลมขนาดยักษ์ที่เดี๋ยวพองเดี๋ยวยุบ, หินแกะสลักเป็นรูปทรงแปลกตา, เศษเหล็กเอามาเชื่อมต่อกันให้ดูอวกาศ, วัสดุทั่วๆ ไปจับมาชุบทอง ชุบเงิน หรือเคลือบสีฉูดฉาดให้ดูไม่ธรรมดา หรือแม้กระทั่งบ้านที่ห้อยต่องแต่งมาจากเพดานพร้อมแมลงสาบตัวเท่ากะละมังซักผ้าไต่อยู่ยั้วเยี้ย แต่ก็มีบ้างบางบูธที่ขายกันเฉพาะแต่ผลงานศิลปินแนวโมเดิร์นเก่าๆ เข้าใจง่ายหน่อยจากศตวรรษก่อนที่ล่วงลับไปแล้ว อย่างเช่น ปิกัสโซ่, จิอาโคเมตติ, คาลเดอร์, มัวร์, ชากาล, วอร์ฮอล, บาสเกีย และศิลปินท่านอื่นๆ อีกมากมายเกินจะสาธยายได้หมด ผลงานศิลปะพวกนี้บางชิ้นราคาหลักพันล้าน เจ้าของแกลเลอรีก็แสนจะใจดี เอามาแขวนเรียงกันถี่ๆ ให้ดูใกล้ๆ ในระยะที่เราสามารถเอานิ้วจิ้มถึง เมื่อของที่เอามาขายเลเวลไปไกลถึงระดับนี้ แขกเหรื่อที่ถูกเชิญมาในงานวัน VIP จึงไม่ใช่ไก่กา วันนั้นเราได้กระทบไหล่กับไฮโซฝรั่ง เซเลบฯ ดารา ซึ่งหน้าตาคุ้นๆ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ที่เห็นแล้วร้องอ๋อก็พอจะมีแค่คนเดียว คือ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
และที่น่าดีใจ คือระหว่างที่จ้ำอ้าวเก็บข้อมูลว่าเทรนด์ศิลปะของโลกเขาไปถึงดาวไหนกันแล้ว ก็ดันไปจ๊ะเอ๋กับผลงานของศิลปินไทยด้วยโดยไม่คาดคิด บูธนี้ตรงด้านหน้ามีภาพผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย จากชุดกางเกงยีนส์ไฟไหม้ที่คุ้นตา ถูกแขวนโชว์หราอยู่ 1 ชิ้น เราชะงักและควักมือถือออกมาถ่ายรูปซะยกใหญ่ เลยเพิ่งจะรู้ว่าเรานี่รักชาติพอตัว ขนาดภาพปิกัสโซ่ราคาเท่ายานอวกาศห้อยต่องแต่งอยู่ตรงหน้าไม่เห็นจะตื่นเต้นอะไรขนาดนี้ คิดในใจถ้าศิลปินไทยท่านอื่นๆ ได้มีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือให้วงการศิลปะระดับโลกได้ยลก็น่าจะดี เพราะบอกตามตรงว่าเท่าที่ดูแล้วฝีไม้ลายมือ และคอนเซ็ปต์งานของศิลปินไทยหลายๆ ท่านก็ไม่แพ้เขา ขาดแต่มาร์เก็ตติ้ง พีอาร์ และแกลเลอรีใจถึงที่จะช่วยเป็นป๋าดันให้ก้าวออกนอกประเทศไปถึงฝั่งฝันได้
มองในอีกมุม นอกจากความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมศิลปินไทยให้โกอินเตอร์ เมืองไทยเองก็มีคุณสมบัติจะจัดงานอาร์ตที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ได้ อย่างไอเดียการจัดงานอาร์ตบาเซิล ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เขาจัดกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 โดยเจ้าของแกลเลอรีชื่อ เอิร์นส เบย์เลอร์ (Ernst Beyeler) และได้รับความช่วยเหลือจากเมืองบาเซิล งานช่วงแรกๆ มีบูธไม่ถึงร้อย มีคนเข้าชมงานประมาณหมื่นกว่าคน และเติบโตมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันแต่ละปีมีแกลเลอรีประมาณ 300 บูธ และผู้ชมเกือบแสนคนจากทั่วโลก แค่นั้นยังไม่พอ อาร์ตบาเซิลยังขยันแตกไลน์ขยายสาขาไปจัดงานแบบนี้ในที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยใช้แบรนด์เดิมแค่แปะชื่อเมืองที่ไปจัดห้อยท้าย เช่น อาร์ตบาเซิล ไมอามี, อาร์ตบาเซิล ฮ่องกง, อาร์ตบาเซิล ปารีส และก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เปิดที่ไหนก็ปังที่นั่น
พอจะเห็นมุมแล้วใช่ปะ เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเมืองไทยเราติดโผเมืองน่าเที่ยวระดับต้นๆ ของโลก การจะจัดงานอาร์ตระดับโลกแล้วเชิญชวนชาวต่างชาติ หาเงินเข้าประเทศช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เอกชนน่ะเชื่อว่าพร้อมอยู่แล้ว สำคัญตรงที่ว่ารัฐต้องสนับสนุนความสะดวกในเรื่องการนำเข้าส่งออกงานศิลปะ การลดภาษีนำเข้าเพื่อขยายตลาดศิลปะในประเทศไทย การยกเว้นภาษีสำหรับแกลเลอรีที่นำผลงานเข้ามาแสดงแล้วไม่ได้ขาย หรือขายให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาดูโชว์ในเมืองไทยแล้วซื้อผลงานออกไป และอะไรต่อมิอะไรยุบยิบจิปาถะอีกนิดหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงแน่นอน ซึ่งถ้ารัฐเอาจริงและเอกชนเอาด้วยในช่วงชีวิตเราอาจจะเห็นอาร์ตบางกอก ปักกิ่ง, อาร์ตบางกอก โตเกียว, อาร์ตบางกอก ลอนดอน, อาร์ตบางกอก นิวยอร์ก ก็ได้ ใครจะไปรู้
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี