เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ “ช้างที่หายไป”

เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ “ช้างที่หายไป”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ยามบ่ายเป็นช่วงเวลาหย่อนใจตามธรรมเนียมอังกฤษ ทว่าวันนี้ผู้ที่นั่งล้อมวงจิบน้ำชาต่างมีสีหน้าเคร่งเครียด อัดซิการ์พ่นควันเพื่อระบายความรู้สึกที่อัดแน่นในใจ บิสกิตที่เบ็ตตี้บรรจงอบสุดฝีมือแทบไม่มีใครแตะ แม้จะแบ่งกินคำเล็ก ๆ ตามที่หล่อนคะยั้นคะยอให้ลองชิมก็สากคอราวกลืนก้อนกรวด

“แค่วันเดียวเท่านั้น หลุยส์ก็ชิงตัดหน้าเช่าช้างจากชาวบ้านไปเกือบหมด”

วิลเลียมเปรยกับแพทริกผู้ดูแลบัญชีของปางไม้ พยายามไม่มองไปทางโทมัสให้อารมณ์ขุ่นมัว เพราะฝ่ายนั้นนั่งเอกเขนกสูบซิการ์ราวไม่เห็นเป็นเรื่องทุกข์ร้อนหรือไม่รู้สึกว่าเป็นธุระของตัว ซ้ำสายตาที่แลมายังมีแววดูแคลน เสียงเยาะที่ฝ่ายนั้นมิได้เอ่ยออกมาคือคำว่า เรื่องแค่นี้ก็ทำไม่ได้ กะอีแค่ไปขอเช่าช้างจากชาวบ้าน แต่วิลเลียมก็ไม่แปลกใจ เพราะโทมัสเคยรับหน้าที่นี้มาก่อน ซ้ำยังทำได้ดีไม่ปัญหาอะไรเลย

แพทริกยิ้มแห้ง ๆ เมื่อมองตัวเลขในบัญชีสลับกับใช้ผ้าเช็ดหน้าซับเหงื่อที่ใบหน้าและลำคอเพราะความร้อนของอากาศ แม้ร่างท้วมจะทำให้เชื่องช้าต่อการเคลื่อนไหว แต่สมองของเขาว่องไวเสมอเมื่อต้องคำนวณตัวเลขโดยเฉพาะค่าจ้าง ต้นทุน และผลกำไร หนุ่มอังกฤษผู้มีสมุดบัญชีติดกายอยู่เสมอถอนใจออกมาดัง ๆ

“ที่เราต้องมาตกที่นั่งแบกต้นทุนหนักขนาดนี้ก็เพราะมิสเตอร์สเลดแท้ ๆ”

โทมัสทำลมพ่นออกมาเป็นเสียง หึ หรือ ชิ ฟังไม่ถนัด แต่ชัดเจนว่าเขาไม่พอใจเมื่อได้ยินชื่อนั้น ช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาทีต่อมา วิลเลียมก็ได้รู้ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้จากปากของโทมัส ที่เล่าถึงมิสเตอร์สเลดให้ฟังด้วยน้ำเสียงเจืออารมณ์แทรกอยู่เป็นระยะ

มิสเตอร์สเลดที่ถูกเล่าถึงนี้คือ เฮอร์เบิร์ด เอ สเลด (1) ชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในสยาม จนเมื่อรัฐบาลสยามก่อตั้งกรมป่าไม้ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อดูแลการทำไม้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะป่าไม้สักทางเหนือของสยามที่มักเรียกกันรวม ๆ ว่าล้านนา มิสเตอร์สเลดก็ได้เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรกของสยาม ตั้งสำนักงานเขตภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภารกิจแรกที่มิสเตอร์สเลดทำก็คือ

เปลี่ยนคู่สัญญาจากบริษัททำไม้กับเจ้าหลวงเมืองเหนือ มาเป็นทำสัญญากับรัฐบาลสยาม

“ตอนที่เราทำสัมปทานกับพวกเจ้าเมือง ก็มีปัญหาให้สัมปทานพื้นที่ป่าทับซ้อนกัน” โทมัสอารมณ์ฉุนขึ้นเมื่อเล่าถึงอดีต “ไอ้ลิงเหลืองพวกนี้ดีแต่พูดหาประโยชน์แต่ไม่มีสัจจะ เวลาที่บริษัททำไม้ทะเลาะกันเรื่องตัดไม้ข้ามเขต ไอ้ลิงป่าก็ทำเฉไฉหรือนิ่งเฉยให้พวกเราตีกันเอง เพราะไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ ก็ต้องจ่ายค่าเปิดป่าและค่าตอไม้ให้มันอยู่ดี”

โทมัสอัดซิการ์หนักหน่วงขึ้น คิ้วที่ลู่ลงมาเกือบชนบอกให้รู้ว่าเขาไม่เคยลืมเรื่องที่ทำให้บริษัทเสียเปรียบ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี มองหน้าวิลเลียมดุจจะถามว่าพอเห็นเค้าของปัญหานี้บ้างหรือยังแต่มิได้เอ่ยออกมา ชายตาแลไปยังหญิงสาวหนึ่งเดียวที่ร่วมอยู่ในวงน้ำชา วางท่ากรีดกรายงดงามอย่างสตรีสูงศักดิ์ที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี แต่สายตาของโทมัสแทนคำพูดว่า หล่อนมานั่งทำอะไรอยู่ตรงนี้ ผู้ชายเขาจะคุยกัน หากก็ไม่เอ่ยออกมา ยังคงเล่าต่อไป

“รัฐบาลสยามก็ไม่ต่างอะไรกับไอ้ลิงป่าพวกนี้หรอก รักสบายและฉวยโอกาสเหมือน ๆ กัน เพียงแต่ทำแนบเนียนกว่าว่าเป็นระเบียบของหลวง ไม่ใช่ตั้งกฎตามอำเภอใจเหมือนไอ้ลิงป่า แต่มันน่าเจ็บใจที่มิสเตอร์สเลดเป็นคนอังกฤษแท้ ๆ กลับไม่ช่วยเหลือพวกเดียวกัน คิดว่าจะฝึกไอ้ลิงเหลืองให้เชื่องได้งั้นรึ…ชิ” หางเสียงในตอนท้ายปนสะใจ วิลเลียมมารู้ในภายหลังว่าชีวิตของมิสเตอร์สเลดหลังจากนั้นไม่สู้ดีนัก โทมัสจึงสะใจที่ได้รู้ว่าคนที่ตนไม่ชอบหน้าได้ก้าวไปสู่ความเสื่อมถอย

“สัญญาสัมปทานก็เลยต้องเปลี่ยนคู่สัญญา จากที่ทำกับเจ้าหลวงเจ้าเมือง ก็เปลี่ยนไปทำกับรัฐบาลสยามใช่ไหม” วิลเลียมถามกึ่งสรุปไปพร้อมกัน

“ถูกต้อง” โทมัสตอบหากไม่วายเหน็บ “ฉันดีใจที่บริษัทยังมีมาตรฐานในการเลือกคนมาทำงานที่นี่ อย่างน้อยคุณก็ไม่ได้สมองทึบเสียทีเดียว”

“ถ้าอย่างนั้น…พวกเจ้าเมืองก็ไม่มีความหมายอะไรให้พวกเราต้องเกรงแล้วสิ”

เบ็ตตี้บอกความคิดของหล่อน มีผลให้สีหน้าของโทมัสที่กำลังจะรื่นขึ้นเหี่ยวลง ส่ายหน้าน้อย ๆ อย่างระอาให้หล่อนเห็น แม้โทมัสจะไม่เอ่ยออกมา แต่ท่าทีที่เขาแสดงต่อหล่อนมันแทนคำพูดได้ว่า

ผู้หญิงหนอผู้หญิง มีปัญญาคิดได้เท่านี้ เหมาะแล้วที่จะใช้ชีวิตอยู่แต่ในครัวไปจนตาย

“สยามไม่หักหาญน้ำใจพวกเจ้าหัวเมืองขนาดนั้นหรอก แค่ค่อย ๆ ทอนอำนาจลงทีละน้อยด้วยการปกครองและเหมาเอากิจการต่าง ๆ ไปเป็นของสยาม อย่างการให้สัมปทานป่าไม้นี่ยังไง ก่อนหน้านี้เจ้าหลวงเป็นเจ้าของป่า มีสิทธิ์ขาดที่จะตั้งราคาและให้สัมปทานตามอำเภอใจ”

แพทริกเป็นผู้อธิบายขั้นตอนการทำสัญญาใหม่ให้เข้าใจกระจ่างขึ้นว่า แต่เดิมการทำสัญญากับเจ้าหลวงเจ้าของป่านั้นปัญหาใหญ่มักเกิดขึ้นตอนเปลี่ยนตระกูลเจ้าผู้ครองนคร เพราะสิทธิ์ในป่าทั้งหมดจะถูกถ่ายโอนไปเป็นของบุตรหลานเจ้าผู้ครองนครคนใหม่ ซึ่งมักจะเรียกร้องเอามากขึ้นกว่าเดิม

“พอรัฐบาลสยามออกระเบียบอย่างนี้ พวกเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยเป็นเจ้าของป่าก็ไม่รู้ว่าจะโต้แย้งยังไง เพราะที่ผ่านมาก็ส่งบรรณาการไปบางกอกทุกปีอยู่แล้ว คราวนี้ลามมาถึงเรื่องสัมปทานป่าสัก แม้รัฐบาลสยามจะถือกรรมสิทธิ์ว่าเป็นผืนป่าของแผ่นดิน แต่ก็ยังให้ส่วนแบ่งค่าตอไม้กับเจ้าเมืองเพื่อไม่ให้เป็นการหักหาญน้ำใจกันที่จู่ ๆ ก็มายึดผืนป่าเป็นกรรมสิทธิ์ของตัว ในเมื่อมีคนมารับหน้าที่ดูแลสัญญาแทน ไม่ต้องทำอะไร แต่ยังได้ส่วนแบ่งจากสัมปทาน ก็จะต้องเดือดร้อนอะไรเล่า มีแต่พวกเรานี่แหละที่ต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น”

วิธีการเปลี่ยนคู่สัญญาที่โทมัสและแพทริกสลับกันเล่าทำให้วิลเลียมเข้าใจช่วงเปลี่ยนแปลงนี้ว่า บริษัททำไม้ต้องนำสัญญาเดิมที่ทำไว้กับเจ้าหลวงคราวละ ๓ ปี มาเปลี่ยนคู่สัญญาเป็นรัฐบาลสยามที่ให้อายุสัมปทาน ๖ ปี ในช่วงต้นบริษัทบอมเบย์ดูจะเสียเปรียบมากที่สุด เพราะในบรรดาบริษัททำไม้ในป่าล้านนานี้ บอมเบย์ถือเป็นน้องใหม่ ได้สัมปทานแต่พื้นที่ป่าเหลือ ๆ แต่เพราะมีทุนทรัพย์มากจึงอาศัยซื้อสัญญาเช่าช่วงต่อจากคนทำป่ารายย่อยชาวพม่าในราคาสูง เมื่อคำนวณโดยรวมจึงมีพื้นที่ป่าที่ได้สัมปทานมากโดยเฉพาะแถบแม่น้ำสาละวิน ครั้นต้องเปลี่ยนไปทำสัญญากับรัฐบาลสยามจึงเป็นการจ่ายซ้ำซ้อนที่ ‘ต้องจ่าย’ มิสเตอร์สเลดที่รัฐบาลสยามยกย่องนักหนาจึงกลายเป็นคนไม่รักพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ชาวอังกฤษด้วยกัน ในสายตาของชาวอังกฤษที่เข้ามาทำไม้ในสยาม

แพทริกเล่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานบัญชีของเขาต่อทันที

“เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงขึ้น ค่าธรรมเนียมพวกนี้ก็ยิบย่อย เก็บเล็กเก็บน้อยแต่รวม ๆ แล้วเป็นเงินมาก ทั้งค่าเปิดป่า ค่าภาษีตอไม้ หรือค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ที่แทบจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากมาเดินตามเป็นภาระให้พวกเราต้องดูแล” แพทริกหยุดนิดหนึ่งเมื่อโทมัสพยายามกลั้นหัวเราะเมื่อเขาเล่าแกมบ่นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น “พวกเจ้าหลวงก็เจ้าเล่ห์ เมื่อไม่ได้ให้สัมปทานเอง ก็หารายได้จากการให้เช่าบ่าวไพร่มาเป็นแรงงานแทนค่าภาษีตอไม้ที่เมื่อก่อนเคยย่ามใจโกงกันซึ่งหน้า คุณอย่าคิดว่าแรงงานพวกนี้จะหากันได้ง่าย ๆ นะ คนที่นี่น่ะ มีสังกัดกันทั้งนั้น”

วิลเลียมเอียงหน้าแสดงความสงสัย แพทริกรู้ว่าเขายังไม่เข้าใจเรื่องกลโกงค่าภาษีตอไม้จึงไขให้กระจ่าง

“ไม้ที่ตัดทุกต้นต้องจ่ายภาษี เรียกว่าค่าตอไม้ เมื่อก่อนจ่ายแค่ต้นละ ๑ รูปี ต่อมาจึงคิดราคาตามขนาดของไม้วัดตามเส้นรอบวง คนที่นี่มีวิธีวัดแบบกะประมาณ คิดหน่วยเป็นกำ ไม่ใช้สายวัดที่ได้มาตรฐานอย่างของเรา”

แพทริกค่อย ๆ เล่าถึงหน่วยวัดที่มีผลต่อการจ่ายภาษีตอไม้ คนท้องถิ่นที่นี่มีหน่วยวัดเป็น ‘กำ’ บางถิ่นก็ออกเสียง ‘ก๋ำ’ ซึ่งก็คือกำมือ เป็นหน่วยวัดเส้นรอบวงของท่อนซุงที่ตัดเพื่อคำนวณภาษี ถ้ามีขนาด ๘-๑๐ กำ เสียภาษีต้นละ ๑ รูปี ไม้ขนาด ๑๑-๑๓ กำ เสียต้นละ ๒ รูปี ขนาด ๑๔-๑๖ กำ เสียต้นละ ๓ รูปี แต่หลังจากมีสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ก็ปรับขึ้นภาษีตอไม้เป็นต้นละ ๖ รูปี แล้วก็ขึ้นอีกเป็นต้นละ ๘ รูปี แพทริกเล่าเรื่องนี้ได้อย่างคล่องแคล่วเพราะคลุกคลีกับการคำนวณต้นทุนกำไรมานาน ในขณะที่วิลเลียมชักจะตามไม่ทันและคำนวณไม่ได้ว่าเฉพาะภาษีตอไม้ที่ต้องจ่ายนี้เป็นเงินเท่าใด

“มีระเบียบกำหนดเป็นมาตรฐานก็ดีตรงที่วัดได้เท่าไรก็เท่านั้น เราถูกโกงน้อยลง หากเทียบกับเมื่อครั้งวัดขนาดเป็นกำ” โทมัสเอ่ยขึ้นมา

วิลเลียมยกมือขึ้นมากำดูแล้วรำพึงว่า

“๘ กำมือนี่นะหรือ ต้องจ่าย ๑ รูปี หนึ่งกำนี่ยาวสักเท่าไรกัน”

“หนึ่งกำเท่ากับ ๔ นิ้วฟุต” โทมัสตอบพร้อมเล่าที่มาของการคำนวณเช่นนี้ เพราะเขาคือผู้ที่เคยเถียงกับเจ้าหลวงเจ้าของป่าถึงการวัดที่ไม่ได้มาตรฐานนี้หลายครั้ง ไอ้พวกลิงป่ามักฉวยโอกาสในการวัดเพื่อให้ได้ค่าตอไม้มากขึ้น “วิธีการก็คือเอาเชือกมาวัดขนาดรอบท่อนไม้ จากนั้นก็นำเชือกที่ได้ความยาวรอบวงนั้นมาทบครึ่ง แล้วจึงกำมือต่อกันไปเรื่อย ๆ จากด้านหนึ่งจนสุดปลายอีกด้านที่ทบครึ่ง…ได้กี่กำก็เท่านั้นละ”

“แบบนี้ก็โกงกันง่าย ๆ สิ ถ้าวัดตรงโคนต้น เส้นรอบวงก็ยาวกว่าวัดที่ปลายไม้ แล้วตอนกำมืออีก มือแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เอาคนมือเล็กมากำ ก็ได้มากกว่าคนมือใหญ่” วิลเลียมเอ่ยออกมา โทมัสก็แบมือยักไหล่

แพทริกพลิกหน้าบัญชีค่าใช้จ่ายที่ประมาณการไว้ ประกอบกับจำนวนช้างที่วิลเลียมเช่าจากชาวบ้านมาได้ เขาก็สรุปสถานการณ์นี้ว่า

“หลุยส์ชิงเช่าตัดหน้าไปเกือบหมด จะมองว่าจงใจแกล้งเราก็ได้ เพราะมีกรณีกันอยู่ หรือจะมองว่านี่เป็นกลทางธุรกิจของหลุยส์ก็ได้เหมือนกัน เรามีทางเลือกอยู่สองทางคือ หนึ่ง เช่าช้างต่อจากที่หลุยส์เช่ามาจากชาวบ้าน แน่นอนว่าเราจะต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะหลุยส์คงโก่งค่าเช่าเต็มที่ โดยเฉพาะถ้าผู้เช่าคือเรา หรือทางเลือกที่สอง เราไปหาเช่าช้างจากหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไปจากนี้ แต่…”

แพทริกทอดเสียงจบคำพูดลงแค่นั้น วิลเลียมก็ต่อได้รวดเร็ว

“แต่ก็ไม่รับประกันว่าจะได้ เพราะหลุยส์อาจไปเช่าตัดหน้าก่อนเราจะไปถึง…ใช่ไหม แบบนี้ใช่ไหมที่คุณจะบอกผม”

แพทริกพยักหน้ากลมป้อมน้อย ๆ แทนคำตอบ ซับเหงื่อเม็ดใหญ่บนหน้าผากก่อนที่มันจะร่วงลงมา

วิลเลียมแทบทิ้งร่างลงบนพนักเก้าอี้ ทำไมช่างอับจนไปเสียทุกทาง ยังจะเรื่องช้างที่หายไปอีก

ปู้คำแสนเป็นช้างแรงงานสำคัญที่ถูกฝึกฝนให้ลากซุงลงแม่น้ำ หายไปไร้ร่องรอยจนป่านนี้ก็ยังหาไม่พบ สอบถามจากปะเล หัวหน้าคนเลี้ยงช้างก็มีข้อสันนิษฐานหลายอย่าง ทั้งมันหนีเตลิดไป หรือถูกขโมยลักเอาไปเพื่อข้ามแดนไปขายต่อที่พม่า แต่คนเลี้ยงช้างบอกว่าไม่น่าจะเป็นการขโมย เพราะโดยวิสัยของโจรขโมยช้างนั้น สิ่งแรกที่จะทำก็คือปลด ‘ฮอก’ หรือกระดึงไม้สักที่แขวนคอช้างออกก่อนแล้วทิ้งไป เพื่อมิให้เกิดเสียงระหว่างก้าวเดิน

คนงานบอกว่าหาจนทั่วป่าแล้วยังไม่เจอฮอกของปู้คำแสนตกในป่า แสดงว่าไม่ใช่การขโมย

แต่วิลเลียมยังไม่ตัดข้อสันนิษฐานนี้ เพราะไอ้ขโมยมันอาจจะคิดขึ้นมาได้ว่าไม่ควรทิ้งหลักฐานไว้ แค่กระดึงคอช้างอันเดียว มันคงไม่เป็นภาระถึงขนาดต้องทิ้งไว้ให้เป็นร่องรอยในการตามหาหรอก

ความคิดเรื่องช้างที่หายไปทำให้นึกถึงลีรอย หลายวันแล้วที่เขาเดินทางไปเมืองระแหงเพื่อตามเมืองกลับมาช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าสถานการณ์ทางนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง เขาคิดถึง ‘สองพี่น้อง’ และนึกรู้อีกว่าถ้าลีรอยไปแจ้งข่าวนี้ เมืองจะไม่อิดออดเลยและมุ่ยก็คงขอติดตามพี่ชายมาด้วย

อุปสรรคหนึ่งเดียวก็คือหนานทิพย์ ผู้เป็นบิดาของสองพี่น้อง

 

เสียงร้องจากคนงานที่ลานดินดังขึ้นมาราวจะประกาศให้ได้ยินถ้วนทั่ว

“นายห้างมาแล้ว นายห้างปิ๊กมาแล้ว”

นาทีถัดมาลีรอยก็ปรากฏตัว ถอดหมวกกะโล่โบกไล่ความร้อน ถัดไปข้างหลังคือเมืองผู้อยู่ในชุดเสื้อสีขาวกางเกงสีทรายอย่างที่วิลเลียมชินตา ทว่าเมื่อชายหนุ่มถอดหมวกโค้งลงเป็นการทักทาย วิลเลียมจึงได้เห็นว่าหน้าของเมืองแม้จะเป็นหน้าเดิมที่คุ้นเคยแต่ศีรษะเกลี้ยงเกลาปราศจากเส้นผมเช่นเดียวกับคิ้ว เขาเคยเห็นแต่พระสงฆ์ของศาสนาพุทธที่โกนผมโกนคิ้วจนโล่งอย่างนี้ครองจีวรสีเหลืองแก่ไปจนถึงออกแดง ไม่เคยเห็นในเครื่องแต่งกายแบบอื่น

ถัดจากชายหนุ่มคือดวงหน้าละม้ายกัน ทว่าผมดำงามและคิ้วเรียวยังประดับบนใบหน้าของหล่อน แค่เห็นว่ามุ่ยมายืนตรงหน้า อารมณ์มึนซึมของหนุ่มอังกฤษก็แปรเปลี่ยนเป็นความยินดีที่ได้พบอย่างปิดไม่มิด

“อ้ายเมือง! มาแผวแล้วกา…มาถึงแล้วหรือ”

เสียงคนงานหลายคนที่รู้ข่าววิ่งเข้ามาทักทายต้อนรับ ดีใจที่เห็นเมืองกลับมาแล้วจริง ๆ จนวิลเลียมอดคิดไม่ได้ว่าน้ำเสียงยินดีของคนงานนั้นบอกว่ามีความหวังว่าจะตามหาช้างที่หายไปโดยพึ่งพาเมืองได้มากกว่าพวกนายห้างกุลาเผือกอย่างพวกเขา

หนึ่งในคนงานห้อตะบึงมาแจ้งข่าวทั้งยังหอบ

“นายห้าง อ้ายเมือง คนเซาะของป่าบอกว่า ชายป่าทางปู้นมีซากช้างต๋ายอยู่ บ่รู้ว่าเป็นช้างของปางไหน สีท่าจะตายมาหลายวันละ เหม็นเน่าสาบตึ๊งไปตึงป่าแล้ว”

“ปู้คำแสน!”

เมืองและมุ่ยร้องออกมาพร้อมกัน ถึงอย่างไรก็ต้องไปดูให้เห็นกับตาว่าซากช้างที่ชายป่านั้นเป็นปู้คำแสนหรือไม่ หากลึก ๆ ในใจพร่ำภาวนา…เจ้าป่าเจ้าเขาจงเมตตา ขออย่าให้เป็นปู้คำแสนเลย

เมืองไม่รอช้าสั่งการรวดเร็ว

“เตรียมม้า ปืน น้ำมันก๊าด”

คนงานที่ชุมนุมอยู่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร เมื่อได้คำสั่งจึงกระจายไปเตรียมตัวกันอย่างรวดเร็ว คงเหลือแต่นายห้างกุลาเผือกผู้ยังอ่อนประสบการณ์เท่านั้นที่เงอะงะ อยากถามหลายสิ่งที่สงสัยในคำสั่งของเมือง แต่ก็ยังไม่ใช่เวลาขอความรู้กันตอนนี้

“ป้อเจ้า” มุ่ยหันไปหาหนานทิพย์ผู้บิดา “ข้าเจ้าขอตวยอ้ายเมืองไปเซาะหาปู้คำแสนเน่อ ถ้าซากจ๊างต๋ายนั้นเป็นปู้คำแสนแต้ ข้าเจ้าจะได้ลากันเป็นเตื้อสุดท้าย”

ไม่ว่าจะเป็นเพราะหนานทิพย์เข้าใจความรู้สึกของลูกสาวที่ผูกพันกับช้างปู้คำแสนมาตั้งแต่เล็ก โตมาด้วยกันเหมือนพี่น้องและเพื่อนเล่น หรือเพราะยอมจำนนต่อดวงชะตาของบุตรสาวตามที่ได้ปรึกษาหารือกับหลวงพี่ ในครั้งนี้หนานทิพย์จึงไม่อิดออดรั้งตัวลูกสาวไว้เช่นเคยมา

“ฮักษาเนื้อฮักษาตัวหื้อดีเน่อ” อวยพรลูกสาวแล้วหนานทิพย์จึงหันมาทางนายห้างผู้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางตามหาช้างในครั้งนี้ กำชับแกมขู่วิลเลียมว่า “ถ้าลูกสาวเฮาเจ็บเป๋นอะหยังขึ้นมาเตื้อนี้ จะบ่มีวันที่นายห้างจะได้ปะหน้าลูกสาวเฮาแหมเลย”

“เฮาสัญญา” วิลเลียมรับคำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ใช้สรรพนามแทนตัวว่า ‘เฮา’ เพื่อแสดงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน

“เฮาจะดูแลมุ่ยเทียบเท่าชีวิตของเฮา”

คำพูดนั้นบอกแก่หนานทิพย์บิดาของมุ่ย แต่สายตาลึกล้ำที่มีความรู้สึกยิ่งกว่าดื่มด่ำจ้องอยู่ที่ดวงหน้าของบลูแวนด้าช่องาม…ฟ้ามุ่ยของเขา

 

กลิ่นเหม็นเน่าโชยมาแต่ไกลคลุ้งไปทั่วบริเวณและยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าใกล้เข้าไปทุกที เมืองนำไปก่อนเมื่อเห็นซากช้างล้ม ลีรอยตามไปไม่ห่าง วิลเลียมควักผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาพันปิดจมูกไว้ ด้วยกลิ่นเหม็นรุนแรงเหลือร้ายชวนให้อาเจียน ส่วนมุ่ยกระชับหน้าไม้ตามมาติด ๆ อยากดูให้เห็นโดยไวว่าช้างที่ล้มนั้นใช่ปู้คำแสนหรือไม่

“บ่ใช่ปู้คำแสน” เมืองร้องบอกทุกคนเมื่อพิจารณาถ้วนถี่แล้ว “แต่ก็เป็นช้างมีเจ้าของ”

ทั้งนี้เพราะรอบคอยังมีฮอกหรือกระดึงไม้สัก และที่ขาก็มีโซ่ล่ามไว้ อันเป็นธรรมดาของช้างที่มีเจ้าของเลี้ยง มิใช่ช้างป่า แต่เมืองก็ยังไม่รู้ว่าเป็นช้างของใคร ปะเล คนเลี้ยงช้างที่ติดตามมาสำรวจซากเพื่อหาสาเหตุการตาย ตรงเข้าไปดูที่รูทวารก่อนเป็นอันดับแรก พิจารณาว่ามีเลือดไหลออกจากรูทวารหรือไม่ ครั้นไม่พบก็ไปดูที่งวงและปากเพื่อความมั่นใจ ร้องบอกเมืองว่า

“บ่มีรอยเลือดไหลเลย อ้ายเมือง”

เมืองพยักหน้ารับรู้ ปะเลจึงสำรวจจุดอื่นเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ระหว่างนั้นเมืองก็เล่าให้ลีรอยและวิลเลียมฟังว่า

“ถ้าตรวจดูแล้วช้างมีเลือดไหลออกจากรูต่าง ๆ ในร่างกาย แสดงว่าเป็นโรคร้ายแรง”

“โรคอะไรที่ว่าร้ายแรง” ลีรอยถาม

“แอนแทรกซ์ หรือไม่ก็ฝีช้าง” เมืองตอบเห็นผู้ฟังยังสงสัยจึงแก้คำใหม่ว่า “โรคเซอร่าน่ะนายห้าง”

“ที่ปางไม้เราไม่มีหมอรักษาช้างหรือ” วิลเลียมถาม “ฉันหมายถึง สัตวแพทย์”

“อ้อ…บ่มีประจำหรอก แต่แวะเวียนมาดูปีละเตื้อ ถ้าช้างเจ็บต้องล้างแผลทุกวัน เตื้อนั้นหมอก็จะอยู่เมินหน้อย…อยู่นานขึ้น”

เสียงปะเลดังขึ้นมาเรียกให้ทุกคนไปรวมกันตรงจุดที่เขาอยู่ คือสีข้างค่อนไปทางโคนขาหลังของช้างที่ล้ม ชี้ให้เมืองดูรอยเขี้ยวขนาดใหญ่สองรูชัดเจน เพียงเท่านั้นเมืองก็รู้สาเหตุทันทีว่าช้างล้มเพราะถูกงูกัด เมืองจับหางช้างดึงเบา ๆ ขนหางก็หลุดติดมือมากระจุกใหญ่

“งูขบแน่แล้ว” เมืองเอ่ยออกมา หันไปอธิบายแก่ลีรอย “พิษงูร้ายแรงนัก ถ้าขบแล้ว พิษจะซึมไปทั่วร่างกาย ขนจะหลุดง่าย” เพราะรูขุมขนเปื่อย

เมืองย้อนกลับไปดูที่สีข้างอีกครั้ง ชี้ให้เหล่านายห้างดูรอยบวมที่ผิดปกติตรงจุดที่ปรากฏรอยเขี้ยวงู

แม้จะรู้สาเหตุแล้ว แต่มุ่ยไม่วายสงสัย

“จะใดงูมับขบได้สูงขนาดนี้ มันบินได้กา”

“จะกัดได้ยังไงก็ช่าง ตอนนี้เรารู้สาเหตุแล้ว รีบจัดการซากช้างนี้แล้วไปหาปู้คำแสนต่อเถอะ” วิลเลียมว่า หากยังไม่มีผู้คล้อยตาม

“บ่ได้หรอกนายห้าง ถึงจะรู้ว่างูขบ แต่เฮาก็ต้องรู้หื้อได้ว่าเป็นงูอะหยัง ป่าแถวนี้อุดมสมบูรณ์ มีอาหารของช้างมากมาย ทั้งใบไม้ ใบไผ่ และดงกล้วยป่า เลยไปตางหน้าก็เป็นลำห้วย ช้างชอบเล่นน้ำ ช่วงที่ปล่อยช้างเข้าป่า มันชอบพากันมาแถวนี้” เมืองบอกถึงความสำคัญที่จะละเลยไม่หาคำตอบให้กระจ่างมิได้

“ถ้าอย่างนั้นก็ช่วยกันสำรวจดู ว่ามีร่องรอยอะไรให้เราได้รู้บ้าง”

ปะเลพากุลีไปตรวจสอบแถวลำห้วยก็ไม่พบอะไรผิดสังเกตนอกจากรอยครูดกับต้นไม้ใหญ่ ซึ่งก็คงเป็นรอยที่ช้างครูดถูตัวเองหลังจากที่อาบโคลนป้องกันแมลงมาตอมไต่อันเป็นธรรมชาติของช้าง ปะเลกำลังจะย้อนกลับไปที่ซากช้าง แต่วิลเลียมชะงักเท้าไม่ก้าวตามเพราะเห็นโพรงใหญ่ที่รอยครูดของต้นไม้

หรือโพรงนี้จะมีงูอาศัยอยู่?

วิลเลียมคิดเองแต่ไม่บอกใคร จากตำแหน่งรอยเขี้ยวบนตัวช้างที่ล้ม ถ้างูฉกตอนที่ช้างเอาสีข้างครูดกับต้นไม้อยู่ ก็ไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าเหตุใดงูจึงฉกได้สูงเช่นนั้น วิลเลียมอยากพิสูจน์ให้รู้แจ้งจึงสั่งปะเลหาไม้ยาว ๆ ให้เขา ปะเลตัดไม้รวกลำหนึ่งส่งให้ วิลเลียมก็แหย่ไม้เข้าไปในโพรงนั้น ขณะที่ปะเลและกุลีคนอื่น ๆ เริ่มรู้แล้วว่านายห้างคิดอะไรอยู่ จึงมองดูด้วยท่าทีกล้า ๆ กลัว ๆ เตรียมวิ่งหนีถ้ามีอะไรโผล่ออกมา

รวดเร็วจนเกือบตั้งตัวไม่ทัน ท่อนยาวเท่าน่องสีดำมะเมื่อมเลื้อยพุ่งออกมาอย่างรวดเร็ว วิลเลียมผงะหงายล้มลงไปด้วยตกใจ ฝ่ายกุลีก็วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น กุลีคนหนึ่งช้ากว่าเพื่อนเพราะก้าวขาไม่ออก แต่เห็นว่างูดำเลื้อยตรงเข้ามาแล้วจึงถอดผ้าโพกหัวโยนลงไปหมายจะไล่ เจ้างูร้ายก็ฉกลงไปบนผืนผ้าจนจมเขี้ยว

ลูกดอกจากหน้าไม้แล่นลิ่วแหวกอากาศมา จังหวะเดียวกับที่เสียงปืนดังขึ้น

ปัง!

วิลเลียมยิงปืนรีวอลเลอร์ที่พกติดตัวออกไปหนึ่งนัด

วินาทีต่อจากนั้นพลันโลกหยุดนิ่งไป ไร้ลมพัด ใบไม้ไม่ไหวติง วิลเลียมรู้สึกว่าเหงื่อไหลชุ่มโซมกาย นานเท่าไรไม่รู้กว่าจะมีสติได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่งย่ำใบไม้แห้งไปยังจุดที่เขานั่งแปะอยู่ราวสี่เมตร

มุ่ยตรงเข้ามาหาเขาแล้วโยน ‘กองเชือกสีดำ’ ขดใหญ่ข้างตัว วิลเลียมมองตัวแข็งค้างราวทั้งร่างกลายเป็นหิน แต่เจ้าขดเชือกก็สงบนิ่งไม่ไหวติง ไม่เหลือร่องรอยของชีวิตอีก

“งูเห่าคอดำ” มุ่ยบอกเรียบ ๆ แต่วิลเลียมรู้สึกว่าน้ำเสียงนั้นเอ็ดเขาอยู่ในที “ขนาดช้างตัวใหญ่ตัวหลวงโดนขบยังต๋าย ถ้าหายห้างโดนขบ ก็ตงต๋ายเป็นผีเฝ้าป่าอยู่นี่ละ”

“เธอช่วยชีวิตฉันไว้อีกครั้งแล้วนะ มุ่ย”

“บ่ใช่เฮาหรอก นายห้างเป็นคนฆ่ามันเอง”

ว่าแล้วมุ่ยก็ชี้ให้ดูลูกดอกที่ตนยิงมา มันปักคาอยู่ที่แม่เบี้ยเท่านั้น เลื่อนนิ้วมาที่กลางหัวเจ้างูเพชฌฆาต รอยกระสุนเจาะเด่นชัด

“มันตายเพราะกระสุนที่นายห้างยิง” คราวนี้คนพูดหัวเราะนิด ๆ ดุจจะเย้า “บ่รู้ว่าเพราะนายห้างโชคดี หรือว่าแม่นปืน”

วิลเลียมไม่ตอบคำถามใด วินาทีนี้รู้เพียงว่าการยังมีชีวิตรอดหลังจากเดินอยู่บนเส้นลวดข้ามเหวที่อยู่ระหว่างความเป็นและความตายเป็นอย่างไร กุลีช่วยพยุงตัวลุกขึ้นแล้วเขาก็สั่งปะเลให้นำซากงูไปรวมกับซากช้างแล้วจัดการไปพร้อมกัน

เมืองสั่งปะเลให้ช่วยกันตัดงาช้างเก็บกลับไป จากนั้นกุลีก็ราดน้ำมันก๊าดที่หิ้วมาด้วยหลายปี๊บจนทั่วตัวช้าง มุ่ยแจกดอกไม้ป่าสีฟ้าและม่วงที่หาได้จากแถวนั้นแก่ทุกคนให้วางลงที่ซากช้าง ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแม้มิใช่ช้างของตน ก่อนจุดไฟเผาเป็นลำดับสุดท้าย

ตะวันคล้อยต่ำฟ้ามืดลงแล้ว กุลีรีบกางเต็นท์เตรียมที่พักให้นายห้าง หลังมื้อค่ำที่กินอาหารง่าย ๆ เพียงให้อิ่มท้อง ทั้งหมดก็มานั่งล้อมรอบกองไฟ ความคิดมุ่งไปทางเดียวกันว่า

จะหาตัวปู้คำแสนได้อย่างไร

 

เชิงอรรถ :

(1) กรมป่าไม้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๒ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เจ้ากรมคนแรกเป็นชาวอังกฤษชื่อ มิสเตอร์เฮอร์เบิร์ด เอ สเลด (Herbert A Slade)

 



Don`t copy text!