เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย “พบและพราก”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย “พบและพราก”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

มุ่ยตื่นแต่เช้ามืดทุกวันเพื่อเตรียมอาหารเช้าวิลเลียมก็พลอยตื่นพร้อมกับภรรยา รู้สึกว่าช่วงเวลาเช้านี้เป็นเวลาที่สงบ จิตใจปลอดโปร่ง สมองโล่งสบาย บางวันที่ไม่มีเรื่องงานให้แก้ปัญหา วิลเลียมก็เข้ามาช่วยภรรยาในครัวโดยไม่เกี่ยงงอนว่าเป็นหน้าที่ของผู้ชายหรือผู้หญิง

วันนี้มุ่ยดูผิดไป วิลเลียมสังเกตว่ามุ่ยดูใจลอยบ่อยครั้ง ครั้นเขาเข้าไปช่วยนึ่งข้าวในครัวมุ่ยก็ปล่อยมือให้เขาทำต่อโดยดี แล้วก็มานั่งเหม่อหน้าเขียง เตรียมหั่นฟักเขียวแกงใส่ไก่ก็ยังถือมีดค้างไว้อย่างนั้น จนวิลเลียมถามออกไปตรง ๆ

“วันนี้มุ่ยเป็นอะไร เหมือนใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว”

“บอกบ่ถูกเหมือนกัน นายห้าง มันวับ ๆ หวำ ๆ ในใจอย่างใดบ่รู้”

มุ่ยดูอ่อนล้าอ่อนแรงจริง ๆ หากเป็นก่อนหน้านี้วิลเลียมอาจคิดว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีที่มุ่ยจะตั้งท้อง แต่วิลเลียมและมุ่ยพักเรื่องลูกไปนานแล้วตั้งแต่คลอดมาลี วิลเลียมจึงคิดไปในทางร้ายว่ามุ่ยอาจจะมีปัญหาสุขภาพ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าแข็งแรงดี เพียงแต่วันนี้ใจคอไม่ดีบอกไม่ถูก

เสียงฝีเท้าวิ่งเข้ามา การอยู่กับป่ามานานทำให้วิลเลียมรู้ว่าเสียงฝีเท้าม้าและช้างอย่างใดเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย เสียงที่ร้องเรียกมาว่าก่อนว่า “มุ่ย!…นายห้าง!” แม้ไม่รู้ว่าเป็นเสียงใครก็ทำให้วิลเลียมรู้ว่าเขามาส่งข่าวร้าย

วิลเลียมคว้าตะเกียงออกไปที่ระเบียง มุ่ยเดินตามมา พอเห็นหน้าคนบนหลังม้าก็ร้องทักไป

“แดง…” ยังไม่ทันจะถามว่าทำไมมาแต่เช้ามืด ฝ่ายนั้นก็รีบบอกทันที

“ป้อหนาน…” แดงหมายถึงหนานทิพย์

เพียงเท่านี้เข่ามุ่ยก็อ่อนยวบ วิลเลียมรีบประคองร่างภรรยาไว้ ซักถามไปอย่างมีความหวัง

“หนานทิพย์เป็นอะไร ป่วยใช่ไหม ให้ตามลูกหลานไปดูแลใช่ไหม”

“บ่ทันละนายห้าง…ป้อหนาน…บ่มีละ”

สิ้นคำนั้น…บ่มีละ…ไม่มีแล้ว…มุ่ยก็ทรุดลงไปกองกับพื้น เป็นลมไปวูบหนึ่ง เมื่อแก้ไขให้ฟื้นขึ้นมาก็พบว่าลูก ๆ ตื่นหมดแล้ว รอยเมืองกำกับดูแลน้อง ๆ ให้เตรียมตัวเดินทาง ปะเลคัดเลือกม้าฝีเท้าดีและควายเทียมเกวียนสำหรับการเดินทางไปที่เมืองระแหง มุ่ยจัดแจงตัวเองรวดเร็ว ไม่เสียเวลาแม้แต่จะกินข้าวเช้า บอกแค่ว่า

“กินบ่ลง ฟั่งไปหาป้อดีกว่า…รีบไปหาพ่อดีกว่า…ถ้าหิวแก่ กินในล้อก็ได้…ถ้าหิวจัดมาก ๆ กินในเกวียนก็ได้”

คนทั้งหมดจึงเดินทางจากแพร่ไปเมืองระแหงอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

เมื่อถึงบ้านที่ระแหง มุ่ยก็พบว่ามีคนมาช่วยเตรียมการสำหรับพิธีศพของหนานทิพย์มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสล่าหรือช่างฝีมือที่เป็นทั้งเพื่อนและลูกน้องของหนานทิพย์ โลงไม้ต่อไว้แล้วแต่ยังไม่ได้บรรจุศพ ตรงข่วง…ลานข้างบ้าน สล่ากลุ่มหนึ่งก็กำลังออกแบบปราสาทไม้ซึ่งจะเผาไปพร้อมกับศพในวันฌาปนกิจ ครั้นเห็นครอบครัวทางฝั่งลูกสาวมาถึง สล่าผู้หนึ่งก็ตรงเข้ามาหามุ่ยบอกกล่าว

“ลุงเสียใจ๋ตวยเน่อ แต่พ่อหนานก็ไปสบายละ มุ่ยบ่ต้องเสียใจอาลัยอะหยัง ตะวา…เมื่อวานนี้ พระก็มาอู้จาภาษาธรรมกับพ่อหนาน ใจบานใจใส หลับแล้วก็รวดไปจะอั้นละ” สล่าผู้นั้นเล่าถึงวาระสุดท้ายของหนานทิพย์อีกนิดหน่อยเพื่อให้มุ่ยได้รับรู้ว่า ก่อนลมหายใจสุดท้ายบิดาได้แวดล้อมไปด้วยเพื่อนสนิทมิตรสหาย จากไปแบบไม่มีห่วงกังวลใด จากไปอย่างไม่ทุกข์ร้อนทรมาน แม้ว่ามุ่ยจะไม่ได้มา ‘ดูใจ’ ในวาระสุดท้ายก็ตามที หลายครั้งที่สล่าจะอ้างถึง ‘พระ’ เพื่อป้องกันตัวเองกลาย ๆ ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นไปตามความคิดของพระท่าน

ครั้นแล้วก็มาถึงเรื่องที่พ่อสล่าไม่เห็นด้วยกับพระ

“ป้อหนานกับพระบอกไว้ว่าทำศพง่าย ๆ สวดแล้วก็เผา ปราสาทอะหยังก็บ่ต้องแป๋ง…ไม่ต้องทำ…แต่หมู่ลุงเขาอดบ่ได้ ป้อหนานเป็นสล่าใหญ่ ฝากฝีมือแกะไม้ประดับวัดวาคุ้มหลวงคุ้มน้อยมาเท่าใด ยามตายจากไปจะใส่ล้อง…โลง…เผาจี่กันง่าย ๆ ลุงว่ามันบ่เปิง…ไม่ค่อยเหมาะ”

มุ่ยรับฟังนิ่ง พอรู้อยู่ว่าคนพูดต้องการอะไร รอจนฝ่ายนั้นพูดออกมาเองว่า

“ถ้าพระถามเรื่องปราสาท มุ่ยช่วยอู้…พูด…หน่อยเน่อ ขอหมู่ลุงได้ทำให้ป้อหนานเต๊อะ เป็นเตื้อสุดท้ายจะได้ยะหื้อกั๋น มุ่ยกับพระ…พี่น้องกั๋น…มุ่ยช่วยอู้กำเน่อ”

มุ่ยพยักหน้ารับรู้ วิลเลียมอยู่ข้างกายภรรยา สะดุดหูกับบทสนทนานั้น

พี่น้องกัน…จะเป็นใครไปได้นอกจากเมือง

เมืองที่หลังจากเกิดเรื่องกับเบ็ตตี้ก็เหมือนคนหายสาบสูญไป รู้ว่าทางครอบครัวหนานทิพย์ซ่อนตัวไว้เพื่อให้ตัดขาดจากกัน แต่ไม่รู้ว่าซ่อนไว้ที่ไหน ที่แท้ก็บวชอยู่วัดที่ระแหงนี่เองหรือ

วิลเลียมตื่นเต้นจนรีบมองหาลีรอย เห็นเพื่อนและลูกช่วยกันถ่ายข้าวของลงจากเกวียน ก็รีบปรี่เข้าไปดึงแขนออกมากระซิบบอกกันสองคนว่า

“ฉันคิดว่าฉันรู้แล้วว่าเมืองอยู่ที่ไหน”

ท่าทางของลีรอยนิ่งเฉยจนวิลเลียมออกจะผิดหวัง หรือว่าวันเวลาที่ผ่านไปได้ทำให้ความอาลัยของลีรอยที่มีต่อเมืองจางไปแล้ว วิลเลียมอยากถามเพื่อนว่าไม่ตื่นเต้นที่จะได้รู้ข่าวหรือ ลีรอยก็บอกเสียก่อนว่า

“อีกเดี๋ยวก็คงได้พบกัน”

วิลเลียมงงกับคำตอบนั้น น้ำเสียงของลีรอยแฝงไว้หลายความรู้สึก มีทั้งปราโมทย์ หวาดหวั่น และแง่งอนอยู่ในนั้น หากสิ่งที่วิลเลียมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้ก็คือ ลีรอยคงรู้มาตลอดเหมือนกันว่าเมืองซ่อนตัวอยู่ที่ไหน

ตอนถึงทางเข้าหมู่บ้าน แดงปล่อยให้ปะเลคุมเกวียนไปยังบ้านหนานทิพย์ ส่วนตัวเองชักม้าต่อไปที่วัด ครั้นแล้วเมื่อครอบครัวนายห้างจากเมืองแพร่มาถึงไม่นาน พระสงฆ์รูปหนึ่งก็เดินเข้ามาที่บ้าน แดงเดินตามหลังมาต้อย ๆ

ทุกคนในที่นั้นยกมือไหว้พระ แม้แต่ลีรอยก็ยกมือไหว้ ชั่วเสี้ยววินาทีที่เห็นกันไกล ๆ ต่างฝ่ายต่างมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอารมณ์ใด คนที่ประหลาดใจที่สุดต่อการปรากฏตัวของพระเมืองก็คือวิลเลียม

มุ่ยเข้าไปอาบน้ำให้ร่างไร้วิญญาณของพ่อ ประแป้งเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่แล้วก็ดูเหมือนว่าหนานทิพย์แค่นอนกลางวันเท่านั้น บอกให้ลูก ๆ กราบตาแล้วพระจึงมัดตราสังบรรจุศพลงโลง

 

การมีเด็ก ๆ หลายคนในงานศพช่วยลดบรรยากาศโศกเศร้าให้คลายลงได้มาก ยิ่งลูก ๆ ของนายห้างวิลเลียมและมุ่ยมีหน้าตาเป็นลูกครึ่งแต่อู้คำเมือง…พูดจาภาษาถิ่นได้คล่องก็เป็นภาพที่ทั้งแปลก น่าขัน และน่าเอ็นดู ครั้นเมื่อเด็ก ๆ กระโจนลงในวงใดก็เป็นที่รักใคร่ของคนในวงนั้น

อย่างเช่นมาลี เด็กหญิงหน้าตากระเดียดไปทางฝรั่งอังกฤษมากกว่าเด็กท้องถิ่น แต่นุ่งซิ่นเดินเหินคล่องแคล่ว ที่ผิดจากเด็กวัยเดียวกันก็คือการถักเปียยาวสองหางผูกโบตรงปลาย แทนที่จะเกล้ามวยเหน็บดอกไม้เหมือนเด็กอื่น ๆ

“หน้าตาเหมือนพ่อนายพ่อเลี้ยง จิ้มลิ้มอย่างตุ๊กตา ผ่ออย่างใดก็บ่เหมือนละอ่อนบ้านเฮา” แม่เฒ่าคนหนึ่งว่าขณะฉีกใบตองเช็ดให้สะอาดเตรียมทำกรวยดอกไม้ มาลีเข้าใจทั้งหมด รู้ว่าเป็นคำชมก็เขินอายบิดตัว มุดหน้าแอบหลังแม่ เรียกเสียงหัวเราะอย่างเอ็นดูขึ้นมาในวงเตรียมดอกไม้

“อู้ได้กี่ภาษาละนี่” แม่ญิงอีกผู้หนึ่งถาม

มุ่ยกระตุ้นให้ลูกสาวตอบคำถามเอง สะกิดหลายรอบกว่ามาลีจะเอ่ยปาก

“หลายเจ้า คำเมือง คำฝรั่ง คำไทย”

“เก่งแต๊” หลายเสียงประสานชื่นชม คนหนึ่งหันมาบอกมุ่ย “ดีละ เฮียนหนังสือ ฮู้หลายภาษาได้ตึงดี ละอ่อนบะเดี๋ยวนี้บ่เหมือนสมัยเฮา มีโฮงเฮียนแล้วก็หมั่นเฮียนเอาเต๊อะ”

มาลีได้แต่บิดตัวไปมาซุกหน้ากับร่างแม่ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเขินอายก็จริง แต่อีกใจหนึ่งนั้นอยากไปสมทบกับพี่ชาย ได้ยินเสียงหัวเราะจากล่างเรือนก็คิดว่าต้องมีเรื่องสนุกแน่ แต่ไม่กล้าขอแม่ เพราะหลายครั้งที่จะขอ ก็จังหวะพอดีให้มีใครสักคนพูดถึงหน้าที่ของผู้หญิง นัยว่า

“อ่านออกเขียนได้ก็ดีละ จะได้ทันวอกป้อจาย…ทันเล่ห์ผู้ชาย…แต่งานบ้านงานครัวก็ละบ่ได้เน่อ”

“มาลีแป๋งสวยดอกจ้างก่?…ทำกรวยดอกไม้เป็นไหม…มานี่มา น้าจะสอน”

แล้วนายแม่มุ่ยก็ปิดประตูของมาลีด้วยคำว่า

“เป็นแม่ญ่าแม่ญิง ช่วยกันบนเฮือนนี้ละ บ่ต้องไปยุ่งไปซุ่น…วุ่นวาย…กับงานของป้อจายหรอก”

มาลีจึงได้แต่แอบเม้มปากด้วยความผิดหวังขณะฉีกใบตองให้ได้ขนาดตามที่น้า ๆ ป้า ๆ ต้องการ

 

กลุ่มป้อจายที่ทำงานอยู่ด้านล่างแบ่งเป็นสองวง วงหนึ่งคือวงสล่า ที่ช่วยกันออกแบบปราสาท วางลวดลายสำหรับต้องลายกระดาษสี แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อนำมาประกอบเป็นปราสาทศพภายในสามวัน รอยเมือง มาย และหมอก อยู่ในกลุ่มนี้ ในขณะที่อีกวงหนึ่งอยู่ข้างครัว เนื้อสด ๆ ก้อนใหญ่กองอยู่ตรงกลาง ข้าง ๆ มีชามใหญ่ใส่เลือดสดไว้ ถาดหลายใบบรรจุเครื่องเทศกลิ่นฉุนต่างชนิดกัน โอลิเวอร์และม่อนสนใจวงนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นวงทำลาบ

ลูกน้องหนานทิพย์คนหนึ่งมีท่าทางเป็นหัวหน้าวงนี้ นัยว่าถ้าเป็นเรื่องการทำลาบแล้วไม่มีใครเทียบเท่า โอลิเวอร์มองลีลาการทำลาบอย่างทึ่ง นับแต่การนำชิ้นเนื้อมาวางบนเขียงใหญ่หนา สับให้ละเอียดด้วยมีดในมือสองข้างที่สลับกันได้จังหวะ พักหนึ่งก็พลิกเนื้อและสับต่อ คนนั่งข้างคอยตักเลือดสดในชามหยอดลงไปบนเนื้อ สักครู่เนื้อสับและเลือดสดก็ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน ข้าง ๆ นั้นลูกมือซอยเครื่องในลวกเป็นชิ้น ๆ ไว้คลุกแกล้มตอนกิน

“อยากลองลาบดูก่อ นายห้าง” คนถือมีดสับลงเขียงยังรักษาจังหวะการลาบอย่างสม่ำเสมอขณะที่ปากร้องถามโอลิเวอร์ที่แสดงชัดว่าสนใจ ครั้นฝรั่งหนุ่มพยักหน้าว่าอยากลอง เขาจึงบอกลูกน้องให้ยกเขียงอันใหม่เข้ามาให้ วางชิ้นเนื้อและส่งมีดให้โอลิเวอร์

แรก ๆ โอลิเวอร์ก็มองไปทำตามไปอย่างงกเงิ่น ครั้งพอจับจังหวะการลงน้ำหนักมือตอนลาบได้ก็รัวใส่ลงไปไม่ยั้ง แล้วก็ต้องหยุดกลางคัน วางมีดบีบต้นต้นแขนด้วยความปวดเมื่อย มองเนื้อบนเขียงที่ยังไม่ละเอียดดี ซ้ำยังติดเขียงจนต้องถากออกมาพลิกและสับใหม่

“ย้อมใจสักหน่อย นายห้าง แล้วจะดีเอง” คนบอกส่งจอกเหล้าให้ โอลิเวอร์รับไปดื่มพรวดเดียวแล้วก็ร้อนวาบจากคอไปถึงท้อง ครั้นแล้วก็พยายามลาบต่อสลับกับ ‘ย้อมใจ’ เป็นพัก ๆ ตามคำชวน เมื่อลาบเสร็จ แก้มของโอลิเวอร์ก็แดงปลั่ง นัยน์ตาฉ่ำปรือ ทว่าเสียงหัวเราะครึกครื้นถูกใจ

เสร็จจากข้าวแลง…มื้อเย็นแล้ว ทุกคนก็มารวมกันอยู่บนเรือนเพื่อฟังพระสวด พระเมืองและพระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงรวม ๔ รูป สวดพระอภิธรรมแล้ว พระรูปอื่นก็กลับวัด เหลือพระเมืองที่ยังอยู่สนทนากับกลุ่มสล่าลูกน้องของบิดาอีกครู่หนึ่ง

ตลอดเวลาที่สวดพระอภิธรรมศพนั้น ทุกคนอยู่ในอาการสงบ ทว่าในดวงความคิดและความรู้สึกของบางคนไม่สงบ หนึ่งในคนผู้นั้นคือลีรอย

ลีรอยไม่จู่เข้าไปนมัสการทักทายพระเมืองตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น เขาทำเหมือนว่ามิได้รู้จักกันเป็นพิเศษ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาส ลีรอยก็จะมองพระเมืองอยู่ไม่รู้แล้ว มองด้วยความโล่งใจว่าเมืองยังเป็นสุขสบายดี มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ พระเมืองเองเมื่อหันมาสบตานายห้างลีรอย ก็รักษาท่าทางสงบนิ่งไว้ เพียงแต่แย้มมุมปากน้อย ๆ แทบมองไม่เห็น กับโค้งศีรษะให้กันน้อย ๆ เท่านั้น

ลูกของมุ่ยนั่งเรียงกันตามลำดับอยู่ข้างบิดา รอยเมือง ม่อน มาย หมอก และมาลี เสียงผู้หญิงคนหนึ่งกระซิบกระซาบกับมุ่ยเมื่อมองดูเด็ก ๆ

“คนเก๊า…คนโตนี่หน้าเหมือนพระนะ ถ้าบอกว่าเป็นลูกพระก็เชื่อ”

“พระกับเฮาเป็นพี่น้องกัน หน้าลูกเฮาก็เหมือน ๆ กันน่าก่ะ” มุ่ยตอบ

“มีเค้ามันก็อย่างหนึ่ง ที่ว่าเหมือนนี่มันก็อย่างหนึ่ง ลูกเก๊าเฮานี่หน้าเหมือนอ้ายบ่าวแต๊ะ ๆ นา…ลูกชายคนโตนี่หน้าเหมือนพี่ชายจริง ๆ นะ…เพียงแต่ว่าผิวพรรณค่อนไปทางนายห้าง”

มุ่ยเงียบแทนที่จะต่อความ อธิบายหรือแก้ต่างอะไร ปล่อยให้เป็นข้อสังเกตของชาวบ้านไปเถิด เรื่อง ‘ความจริง’ นี้ มุ่ยเชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่ไม่เอ่ยออกมาเท่านั้น

จนกระทั่งดึกน้ำค้างลง พระเมืองก็ขยับตัวลุก บอกว่าถึงเวลากลับวัดเสียที แดงกุลีกุจอรีบคว้าตะเกียงลงไปรอล่างเรือน นายห้างลีรอยจึงลุกตามไปแล้วบอกว่า

“ฉันไปส่งพระกลับวัดเอง”

“บ่เป็นหยังหรอกนายห้าง ทางไปวัดบ่มีอันตราย คืนนี้เดือนหงายตวย” แดงร้องบอกอย่างไม่อยากรบกวนนายห้างลีรอย ทว่าเหมือนจะไม่เข้าหู เพราะลีรอยยังคงสวมรองเท้าเดินตามพระมา

“ท่านบวชมานานเท่าใดแล้วครับ” ลีรอยถาม

“เท่าอายุของรอยเมือง”

“ผมคิดว่า…รอยเมืองอาจระแคะระคายเรื่อง…”

“เขาไม่ได้สงสัยหรอก เขารู้เลยทีเดียว เพียงแต่เขาไม่พูด” พระเมืองว่า “เด็กคนนี้ฉลาด ใครเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องภูมิใจ อาตมาขอบใจโยมมาก ที่รับรอยเมืองเป็นบุตรบุญธรรม”

“หลวงพี่จะสึกเมื่อไหร่ เรื่องอะไรที่เคยเกิดขึ้นก็ผ่านมานานแล้ว คงไม่มีใครมารื้อฟื้นอะไรอีกแล้ว” น้ำเสียงของลีรอยมีความหวัง

“ยังไม่คิดจะสึกหรอก อาตมายอมรับนะว่าตอนแรกที่บวชเพราะคิดว่าเป็นหนทางหนีปัญหา แต่มาถึงตอนนี้ อาตมาเป็นสุขดีในร่มเงาของพระพุทธศาสนา”

ลีรอยรับรู้มาว่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาคือผู้ที่ตัดและสละแล้วทุกอย่าง ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ความวูบหวำในใจจึงบังเกิดขึ้นด้วยว่าพระเมืองคงตัดความผูกพันแต่หนหลังกับเขาได้หมดสิ้นแล้ว

ถึงกุฏิพอดี ลีรอยเห็นต้นไม้ในกระถางยังสดชื่นแข็งแรงใต้แสงจันทร์

“ต้นสตรอว์เบอร์รีที่พระอยากเห็น ผมขอวิลเลียมนำมาจากอังกฤษ ไม่คิดว่าจะรอดหรือออกลูกได้ไหม”

พระเมืองหยุดมองกระถางนั้นแล้วว่า

“เกือบไม่รอดเหมือนกัน พรรณไม้นี้มาจากเมืองหนาว เจออากาศร้อนมากก็อยู่ไม่ได้ อาตมาต้องเอาไปพักไว้ในป่าใกล้น้ำตก รอให้ช่วงอากาศร้อนจัดผ่านไปก่อน จึงค่อยนำออกมาตั้งไว้ตรงนี้”

ลีรอยยิ้มน้อย ๆ ไม่ต้องมีคำพูดใดอีก เขาก็รู้สึกท่วมท้นในหัวใจ

“แม้ว่าอาตมาจะยังไม่มีกำหนดสึก แต่อาตมาก็จะดูแลต้นไม้ของโยมไว้ รอดูวันที่มันติดลูก หรืออย่างน้อยถ้าจะไม่มีลูกให้เห็น อาตมาก็จะดูแลอย่างดีที่สุด ไม่ให้มันตาย”

“ขอบคุณมาก เพียงเท่านี้ ผมก็ขอบคุณมากแล้ว”

ลีรอยมองจนพระเมืองขึ้นกุฏิไป เขายังอ้อยอิ่งใต้แสงจันทร์อีกพักใหญ่ มองต้นสตรอว์เบอร์รีที่กำลังผลิใบอ่อน เหมือนตัวเขาเองที่ยามนี้รู้สึกว่าได้พบความรักครั้งใหม่กับคนเดิมอีกครั้ง

 

หลังงานศพของหนานทิพย์แล้วก็ถึงเวลาต้องวางแผนชีวิตต่อไป สิ่งหนึ่งที่จะหายไปจากเดิมก็คือการเทียวไปเทียวมาระหว่างเมืองแพร่กับเมืองระแหง เมื่อสิ้นหนานทิพย์แล้วก็แทบว่าไม่มีภารกิจอะไรให้ต้องไปมาหาสู่กันอีก

บ่อยครั้งที่วิลเลียมได้นั่งทบทวนตนเองตามลำพัง มองลูก ๆ เล่นกันเองบ้าง คลุกคลีกับลูกคนงานบ้าง วิลเลียมก็อดนึกถึงอนาคตของลูกไม่ได้ ว่าทำอย่างไรลูกจะเติบโตไปอย่างดีที่สุด ตัวเขาเองนั้นมีพี่น้องก็จริงแต่ก็มิได้สนิทสนมกันอย่างที่ลูก ๆ เป็น พี่แอชตันกับพี่โทมัสโตกว่าเขาหลายปี ทั้งสองจึงทำตัวเป็นผู้ปกครองอีกชั้นหนึ่งต่อจากแม่ ครั้นโตมาอีกหน่อย พี่ทั้งสองก็เปลี่ยนเป็นจอมบงการ ส่วนฮิวจ์…พี่ชายที่อายุไล่เลี่ยกันก็เป็นไข่ในหินที่แม่ประคบประหงมเพราะปัญหาสุขภาพ วิลเลียมยังจำความรู้สึกที่ได้รู้ข่าวว่าฮิวจ์จากไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าในขณะที่อายุยังน้อยได้

จำได้ที่แม่ปลอบเขาว่า…พระผู้เป็นเจ้าทรงรักเด็ก ๆ ฮิวจ์เป็นเด็กน่ารัก พระผู้เป็นเจ้าต้องเมตตาแน่

เมื่อวันที่มาลีลูกสาวคนเล็กป่วยหนัก วิลเลียมกลับสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าเมตตา ประทานพรให้ชีวิตของมาลียืนยาวกว่าพี่ชายของเขา

วิลเลียมมิได้รังเกียจลูกกุลีในปางไม้ แต่จะให้ชีวิตของลูกเติบโตแค่ในสถานีป่าไม้นี้ก็ผิดนัก ชีวิตที่เมืองแพร่ในฐานะนายห้างป่าไม้เป็นชีวิตที่สุขสบาย ผู้คนยกย่อง คำหนึ่งที่ได้ยินบ่อยขึ้นคือคำว่า ‘พ่อเลี้ยง’ เป็นคำยกย่องเช่นเดียวกับนายห้าง อันแสดงว่าเป็นผู้มีฐานะดี ส่วนมุ่ยภรรยาของเขาก็ถูกเรียกว่า ‘แม่เลี้ยง’

ลูก ๆ ของเขาเรียนหนังสือที่บ้านหมอบริกส์ซึ่งเปิดเป็นโรงเรียนอเมริกันมิสชันบอยสกูล ทว่าชาวบ้านเรียกด้วยภาษาที่ชินปากว่า เฮือนหมอบริกส์ หรือเฮือนพ่อเลี้ยงบริกส์

วิลเลียมนึกถึงเชียงใหม่ เขาเห็นว่าที่ตรงนั้นต่อไปจะเจริญที่สุดในดินแดนแถบนี้ แม้ว่าหากถึงเวลานั้นเขาจะหาชีวิตไม่แล้ว แต่ลูก ๆ เขาจะยังคงอยู่และดำเนินชีวิตต่อไป วิลเลียมจึงหาช่องทางซื้อที่ดินที่เชียงใหม่เงียบ ๆ ไม่บอกให้รู้แม้แต่มุ่ยและลีรอย

มุ่ยมีเหตุผลในการไปมาหาสู่พ่อแม่ผู้แก่เฒ่าที่เมืองระแหง

ลีรอยก็ดูจะทอดอาลัยกับชีวิตทุกอย่างหลังจากเกิดเรื่องเมืองและเบ็ตตี้ ถือเอารอยเมืองเป็นหลักเลี้ยงลมหายใจของตนต่อไป ส่วนตนเองจะอยู่ที่ไหน กินอิ่มนอนสบายหรือไม่ เป็นเรื่องพ้นความสนใจไปแล้ว

วิลเลียมรีรอหาโอกาสเปรยกับภรรยา ว่าเขาอยากพาครอบครัวไปอยู่ที่เชียงใหม่ สบโอกาสคราวนี้เมื่อเสร็จพิธีส่งดวงวิญญาณของหนานทิพย์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องนั่งล้อมวงหารือกันว่าพรุ่งนี้ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร

“ฉันมองที่ทางเชียงใหม่ไว้ เรามีเงินจะซื้อที่สักแปลง ปลูกบ้านหลังงามให้ลูก ๆ ของเราอยู่ และมีที่วิ่งเล่น”

ไม่มีใครแปลกใจหรือทัดทาน ถ้อยคำหยั่งเชิงของวิลเลียมจึงไม่ผิดกับการบอกแผนการในอนาคตว่าครอบครัวบรูคหรือ ‘บูรวนาวงศ์’ จะย้ายไปอยู่เชียงใหม่

“ฉันเล็งที่ดินไว้แถวห้วยแก้ว” วิลเลียมเปรยต่อไปจนมาถึงเรื่องลูก เขาถามคนโตก่อนใคร “เมืองอยากไปเรียนที่ปีนังไหมลูก”

รอยเมืองรู้ว่าโรงเรียนที่บิดาเอ่ยถึงคือเซนต์เซเวียร์ ที่นั่นสอนด้วยหลักสูตรแบบอังกฤษ การไปเรียนที่นั่นคือการไปอยู่โรงเรียนประจำ เด็กหนุ่มยังไม่เอ่ยอะไรออกมาเพราะพ่อนายพูดต่อไปว่า

“พ่อจะให้เมืองกับม่อนไปอยู่ที่เซนต์เซเวียร์ โรงเรียนของอังกฤษดีกว่าที่นี่ ส่วนมายกับหมอกพ่อจะให้เรียนที่อัสสัมชัญ เป็นโรงเรียนประจำเหมือนกัน พ่อขึ้นลงบางกอกบ่อย ๆ ไปเยี่ยมหาลูก ๆ ได้”

เด็กชายต่างวัยทั้งสี่หันมองหน้ากันเมื่อได้ยินแผนการของพ่อและเห็นอนาคตของตัวเองว่าจะต้องไปเผชิญอะไร ม่อนดีใจที่จะได้เดินทางไกล ๆ ในขณะที่รอยเมืองเม้มปากอย่างใช้ความคิดก่อนเอ่ยว่า

“เมืองไม่อยากไปไกลถึงปีนัง ถ้าพ่อนายจะให้ไปอยู่ที่นั่นเพื่อดูแลน้อง พ่อนายไม่ต้องเป็นห่วง เพราะที่เซนต์เซเวียร์เป็นโรงเรียนอยู่ประจำ ลำพังบราเดอร์ทั้งหลายก็ควบคุมดูแลได้อยู่แล้ว”

วิลเลียมเห็นตามที่รอยเมืองว่า แปลบเล็ก ๆ ในใจที่รอยเมืองจับวัตถุประสงค์ของเขาได้ที่จะให้ไปดูแลน้องชายคนรองซึ่งเป็นลูกแท้ ๆ คนแรกของเขา เบาใจขึ้นเมื่อรอยเมืองเอ่ยต่อไปว่า

“ถ้าพ่อนายจะให้เมืองช่วยดูแลน้องจริง ๆ ให้เมืองไปเรียนที่อัสสัมชัญกับมายและหมอกดีกว่า น้องยังเล็ก และหน้าตาเป็นฝรั่ง”

รอยเมืองจบคำพูดเท่านั้น ทว่าต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าคำนั้นมีความหมายอย่างไร ‘ลูกฝรั่ง’ ในยามนี้คือคนที่ดูน่าขบขันสำหรับคนท้องถิ่น ด้วยผิวขาวซีด ตาสีอ่อน และผมสีทราย ทำให้กลายเป็นพวกที่ดูประหลาดต่างจากคนทั่วไป น่าขันน้อยอยู่เมื่อไหร่ที่ลูกฝรั่งหัวแดงพูดคำเมืองอย่างคนท้องถิ่น ลูกของวิลเลียมยังดีที่พ่อเป็นนายห้างป่าไม้ ยังมีคนเกรงใจอยู่มาก ต่างจากลูกครึ่งที่เรียกปนเหยียดว่า ‘ลูกช้าง’ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของหญิงชาวบ้าน เมียแขกยามหรือโสเภณี ที่เหล่านายห้างลงขันกันซื้อมาบำเรอความใคร่ ครั้นหญิงพวกนั้นตั้งท้องเกิดลูกออกมาหน้าตาเป็นลูกครึ่ง ก็ถูกผลักไสไม่ไยดี ปล่อยให้เลี้ยง ‘ลูกช้าง’ ที่หาพ่อไม่เจอแต่ลำพัง

ก่อนหน้านี้เวลาถูกล้อเลียน ม่อนจะเป็นคนออกหน้าปกป้องน้อง ๆ รอยเมืองรู้ว่าม่อนเอาตัวรอดได้ ไม่ต้องห่วงกังวล เขาจึงอาสาเข้าเรียนที่เดียวกับน้องเล็กทั้งสองเพื่อคอยปกป้องจากเรื่องที่รู้แน่ว่ามันจะต้องเกิดขึ้นในโรงเรียน

วิลเลียมพยักหน้าน้อย ๆ เอ่ยขอบใจเสียงเบา รู้ว่ารอยเมืองต้องเสียสละมากและมีความน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ในนั้น

“เรื่องมาลี มุ่ยเห็นอย่างไร”

ผู้เป็นภรรยาเอียงหน้ามองสามีด้วยแววตาที่รู้ว่าจะเอาเรื่อง

“อ้อ…นายห้างเห็นหัวเฮาอยู่นี่ตวยกา พาลูกไปจากอกเฮาหมดแล้ว เหลือลูกหล้าคนเดียว จะกึ๊ดอ่านอย่างใดก็ตามใจเต๊อะ บ่ต้องมาถามเฮาหรอก”

“ฉันอยากให้ลูกเรียนหนังสือทุกคน แม้จะเป็นผู้หญิงก็ต้องได้เรียน”

มุ่ยเม้มปากแน่น รอฟังแผนการของสามี มุ่ยมิได้โกรธที่สามีจะให้ลูกเรียนหนังสือเพราะตัวมุ่ยเองก็รักการเรียนหนังสือ ตอนที่เรียนภาษาอังกฤษกับหมอสจ๊วต มุ่ยดีใจที่อ่านตัวอักษรได้ แล้วยิ่งอัศจรรย์ว่าตัวหนังสือเหล่านั้นบรรจุเรื่องราวอะไรไว้มากมาย เป็นเรื่องที่ไม่เคยได้พบเห็น แต่ที่มุ่ยเคืองสามีเพราะเขาไม่เคยปรึกษาหารือเรื่องนี้มาก่อน

“เมื่อเราย้ายไปอยู่เชียงใหม่แล้ว ฉันจะให้มาลีอยู่ที่โรงเรียนนางชี เรยีนาเชลี”

มุ่ยพอนึกออก โรงเรียนนางชีนั้นตั้งอยู่ใกล้ที่ทำการป่าไม้ของสยามและกงสุลอังกฤษและฝรั่งเศส ในใจเห็นคล้อยตามสามีแล้ว แต่ที่แสดงออกไปมีแค่เพียง “ตามใจนายห้างเต๊อะ บ่ต้องมาถามเฮา”

ครั้นแล้ววิลเลียมจึงหันมาหารือลีรอย ก่อนหน้านี้มั่นใจว่าถ้าเขาอยู่ที่ไหนลีรอยก็จะอยู่นั่น จนกระทั่งลีรอยได้พบพระเมืองอีกครั้ง วิลเลียมจึงไม่แน่ใจ ถามความสมัครใจอีกครั้งว่าลีรอยจะย้ายตามครอบครัวเขาไปอยู่เชียงใหม่หรือไม่

“ไม่ละ ฉันขอทำงานอยู่ที่นี่ดีกว่า”

คำตอบของลีรอยไม่ผิดคาด เพราะลีรอยไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทอีก ที่ผ่านมาเขาเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว รับงานแบบเหมาเป็นงาน ๆ ไป ในขณะเดียวกันลีรอยก็ได้เรียนรู้ฝึกฝนการแกะสลักไม้จากหนานทิพย์และสล่าพื้นเมือง แม้ฝีมือจะยังไม่เข้าขั้นแต่ก็เห็นแววว่าจะทำได้ดี เพราะลีรอยมีหัวทางศิลปะอยู่แล้ว หลายคนเอ่ยปากชมไปทางเดียวกันว่า นายห้างลีรอยออกแบบเครื่องเรือนสวย

หลายปีหลังมานี้ หนานทิพย์จึงฝึกฝีมือแกะสลักให้เด็กรุ่นใหม่พร้อมกับรับงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก อันมีทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ตู้พระธรรม นอกเหนือไปจากงานซ่อมแซมลวดลายแกะสลักไม้ในวัดวาอารามต่าง ๆ

“ฉันคิดว่าจะเปิดโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่นี่ ได้ลองทาบทามลูกน้องหนานทิพย์ไว้บ้างแล้ว หลายคนเห็นด้วย”

“นายห้างใช้บ้านนี้เป็นโรงงานก็ได้” มุ่ยหมายถึงบ้านที่ระแหงที่นั่งคุยกันอยู่นี้ “ใกล้วัดตวย ตุ๊พี่ไปมาสะดวกกว่าไปที่เมืองแพร่” ความหมายของมุ่ยนอกจากกินนัยถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่แล้ว ยังเป็นเหตุผลที่หนักแน่นว่า ในบรรดาช่างฝีมือที่เป็นลูกศิษย์ของหนานทิพย์นั้น พระเมืองคือผู้ที่ได้รับมามากที่สุด

“เช่นนั้นฉันขอลงหุ้นด้วย หวังว่านายจะไม่ขัดข้อง” วิลเลียมว่า

“ได้สิ ฉันไม่มีอะไรขัดข้อง” ลีรอยตอบ

วิลเลียมจึงสรุปว่า

“ฉันจะไปจัดการเรื่องสร้างบ้านที่เชียงใหม่ก่อน ระหว่างนี้จะไป ๆ มา ๆ ช่วยเปิดโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่นี่ให้ตั้งตัวได้ ก็คงพอดีกับที่เชียงใหม่เรียบร้อย”

ไม่มีใครพูดอะไรอีก วิลเลียมกวาดสายตามองทุกหน้าแล้วยิ้มน้อย ๆ แทนคำขอบคุณ…ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจว่าทุกสิ่งที่เขาทำลงไปทั้งหมดนี้ เพื่อครอบครัวเพียงอย่างเดียว

 

รอยเมืองปลีกตัวจากน้อง ๆ เมื่อโตเป็นหนุ่ม เขาพอใจที่จะอยู่เงียบ ๆ กับการอ่านหนังสือ จนกระทั่งถึงวันที่ต้องทำงานเขาก็ไม่พอใจแค่เป็นเสมียนบัญชีในสถานีป่าไม้ รอยเมืองเป็นเลขาให้พ่อนายวิลเลียม งานที่ได้รับมอบหมายส่วนใหญ่คือการแปลเอกสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเพื่อส่งให้ข้าหลวงสยามอ่าน

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่วิลเลียมดูแคลน เพราะพวกข้าหลวงสยามที่มาประจำมณฑลชอบเบ่งและวางตัวเหนือกว่าคนที่นี่ด้วยการอ้างว่าเป็นตัวแทนมาจากส่วนกลาง ย่อมมีอำนาจเทียบเท่ากับที่บางกอก การเป็นเจ้าคนนายคนระดับนี้ต้องเป็นผู้มีการศึกษา ภาษาอังกฤษก็แค่ภาษาหนึ่งไม่ยากกระไร แต่ครั้นวิลเลียมส่งเอกสารเกี่ยวกับการขอสัมปทานป่าไม้เป็นภาษาอังกฤษเข้าไป ก็ถูกโวยวายว่าไม่สะดวก ควรจะแปลเป็นภาษาไทยให้เรียบร้อย รอยเมืองจึงรับหน้าที่นี้

วิลเลียมเชื่อมั่นว่าข้าหลวงผู้นี้ไม่รู้ภาษาอังกฤษดีแต่ไม่ยอมรับความไร้คุณสมบัติของตนเอง ในครั้งหนึ่งวิลเลียมจึงให้รอยเมืองแปลความหมายอย่างกว้าง ๆ ให้ดูเหมือนครอบคลุมเนื้อหาสำคัญและแนบเอกสารต้นฉบับภาษาอังกฤษที่มีรายละเอียดชัดเจนลงไปด้วย

ผลปรากฏว่าทางข้าหลวงเสียท่าให้กับบริษัทไม้จากอังกฤษ แม้จะโวยวายว่าใช้เล่ห์ลวง แต่ก็ต้องจำนนด้วยหลักฐานเอกสารแนบที่วิลเลียมคว้าปากกาจุ่มหมึกมาขีดเส้นใต้ย้ำให้ชัดว่า

“เอกสารระบุไว้ตรงนี้ชัดเจน ท่านไม่เห็นก่อนพิจารณาอนุมัติหรือ”

วีรกรรมครั้งนั้นรู้กันทั่วไปในหมู่ข้าหลวงและสังคมชาวต่างชาติจนข้าหลวงผู้นั้นอับอาย มิอาจสู้หน้าลูกน้องได้ ไม่นานก็ย้ายไปประจำที่อื่น แต่ไม่รู้ว่าไปไหน เพราะไม่มีใครสนใจจะติดตาม

และพร้อมกันนั้นก็ทำให้ชื่อรอยเมืองเป็นที่สนใจขึ้นมา

 

สิ่งหนึ่งซึ่งแสดงถึงปัญญาของคนรุ่นใหม่คือหนังสือพิมพ์

คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ไปร่ำเรียนในต่างแดน ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ครั้นสำเร็จการศึกษากลับมาสยามก็เข้ารับราชการในกระทรวงต่าง ๆ บางคนอยู่ได้นานเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเกษียณอายุราชการ ทว่าบางคนอดทนไม่ได้นาน รับราชการครู่เดียวก็ออกมารวมกลุ่มกันทำหนังสือพิมพ์

คนสยามทั้งหญิงชายอ่านออกเขียนได้มากกว่าเมื่อก่อนแล้ว สิ่งเสริมปัญญาและประเทืองอารมณ์ในรูปแบบหนังสือจึงแพร่หลายขึ้นในยุคนี้ มีหนังสือดี ๆ จากต่างประเทศเข้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องอ่านเล่น นิตยสาร หรือวรรณคดีต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ที่ถือกำเนิดขึ้นหลายฉบับในยุคนี้ก็เกิดจากปัญญาชนผู้ที่ตั้งใจจะเผยแพร่ความรู้ให้กว้างไกลออกไป ในวันหนึ่งรอยเมืองจึงได้รับการติดต่อทาบทามให้เข้าร่วมเป็นกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่แต่ขัดใจคนรุ่นเก่า

รอยเมืองใช้เวลาไม่นานในการตอบรับ แต่ใช้เวลาพักใหญ่ในการบอกเรื่องนี้แก่พ่อนายวิลเลียม แม่นายมุ่ย และลุงลีรอย ว่าเขาจะไปทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ที่บางกอก

แล้วรอยเมืองก็จากบ้านและน้อง ๆ ไป

ผลงานจากปลายปากกาของรอยเมืองมีเอกลักษณ์ทั้งนุ่มนวล บาดคม และเชือดเฉือน ดุจดังว่าเขาบังคับภาษาเหล่านั้นให้แล่นไหลไปตามที่ใจต้องการได้ เรื่องราวที่เขียนโดย ‘วงศ์รอยเมือง’ จึงมีผู้อ่านประจำที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า ‘แฟน’ อยู่ไม่น้อย

หากผลงานที่ทำให้ชื่อเสียงของรอยเมืองดังเปรี้ยงขึ้นมาทั้งทางชื่นชมและถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือผลงานแปลชิ้นหนึ่งที่ถกเถียงกันว่านี่คือเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง เพราะต้นฉบับนั้นระบุอย่างอาจหาญว่าเขียนมาจากเรื่องจริง ๗๕ เปอร์เซ็นต์ และอีก ๒๕ เปอร์เซ็นต์เป็นสิ่งที่ได้พบเห็นมาจริง ๆ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ลงตีพิมพ์บทแรกในหนังสือพิมพ์

สรุปเรื่องอย่างสั้น ๆ คือเป็นชีวิตของหญิงสาวชาวอังกฤษที่โชคชะตาพัดพาให้หล่อนมาอยู่ในดินแดนที่ล้าหลังและป่าเถื่อนในป่าทางภาคเหนือของสยาม ความป่าเถื่อนแวดล้อมอยู่รอบกายไม่ว่าในป่าหรือคุ้มเจ้าเมือง แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาใด ๆ แต่หล่อนก็ฝ่าฟันไปได้ ในที่สุด…หล่อนก็ได้เห็นว่าดินแดนแห่งนั้นเจริญขึ้นอย่างสังคมที่มีอารยะด้วยการชี้นำของหล่อนเอง

ตอนที่รอยเมืองได้ฟังเรื่องราวคร่าว ๆ ยังคิดว่าผู้เขียนออกจะหาญกล้าจนถึงอวดดีที่เอ่ยออกมาเช่นนี้ เขาไม่อยากรับแปล แต่บรรณาธิการบอกว่าภูมิหลังของเนื้อหาอยู่ที่ป่าทางเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของรอยเมือง จึงเชื่อว่าเขาจะเข้าใจบริบทต่าง ๆ และนัยยะระหว่างบรรทัดของเรื่องนี้

รอยเมืองมิได้ตัดสินใจแปลเพราะการหว่านล้อมของบรรณาธิการ

แต่เขาแปลเพราะสะดุดกับชื่อสตรีผู้แต่งเรื่องนี้

‘Banal Life’ ซึ่งรอยเมืองแปลเป็นชื่อภาษาไทยว่า ‘วิมานแดนเถื่อน’ เขียนโดยสตรีชาวอังกฤษ ผู้ใช้นามปากกาที่หล่อนอ้างว่าเป็นชื่อและนามสกุลจริงว่า ‘เบ็ตตี้ บรูค’ 



Don`t copy text!