เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย ” ไม้แปลกป่า”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย ” ไม้แปลกป่า”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ตอนเด็กวิลเลียมเคยสงสัยว่าทำไมผู้ใหญ่มักมีความคิดแปลก ๆ ที่เด็กอย่างเขาไม่เข้าใจ ทำไมต้องทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ แม้บางทีจะมีคำอธิบาย แต่ความคิดเล็ก ๆ ในหัวของเด็กวัยไม่ถึงสิบขวบที่วันหนึ่งมีแต่เรื่องเล่นสนุกก็ไม่เข้าใจอยู่ดี จนกระทั่งวันนี้เมื่อมีอายุสี่สิบกว่า ผ่านโลกและคนมาหลากหลาย นึกย้อนสู่ครั้งวัยเยาว์ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดพวก ‘ผู้ใหญ่’ จึงคิดเช่นนั้น

ในวัยหนุ่มสาว แต่ละคนมีความฝันเป็นตัวกระตุ้นให้ออกแสวงหาหนทางต่าง ๆ เพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง บางคนไปถึงจุดหมาย บางรายไปไม่ถึง…ทว่าเปลี่ยนทิศทางใหม่ ในขณะที่บางคนยังจมปลักอยู่กับที่ ขึ้นอยู่กับว่าไฟฝันของพวกเขาโหมแรงกล้าเพียงใด

เช่นที่วิลเลียมรอนแรมมาไกลจากอังกฤษ เขามิได้คิดว่าจะมาทำงานในปางไม้ แต่เพราะสอบตำรวจที่อินเดียไม่ได้ สายลมแห่งโชคชะตาจึงพัดพาให้เขามาอยู่ที่นี่

และในวันที่วิลเลียมเป็นพ่อคน มีลูกเป็นของตัวเองที่รักปานแก้วตาดวงใจถึงห้าคน วิลเลียมก็พบว่าเป้าหมายในชีวิตของตนแคบลงหากชัดเจนขึ้น นั่นคือความรุ่งเรืองของลูกแต่ละคนเมื่อพวกเขาเติบโต

Spare the rod, spoil the child…สงวนไม้เรียวไว้ทำให้เด็กเสียคน

สุภาษิตไทยก็มีทำนองนี้ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

วิลเลียมไม่เคยลืม เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ในนาทีต่อมาก้นของเขาจะต้องรับไม้เรียว ครูผู้ปกครองจะพูดย้ำเสมอเมื่อเงื้อแขนไปสุดล้าแล้วหวดไม้เรียวลงมาเมื่อพูดจบ จำนวนครั้งเท่ากับความผิดที่ได้กระทำ ส่วนผู้ถูกลงโทษมีหน้าที่เพียงยืนหันหน้าเข้าฝา กอดอกแน่น กลั้นทั้งเสียงร้องและน้ำตามิให้ร่วง

หลายครั้งที่ลูก ๆ ของวิลเลียมทำความผิด ชนิดต้องสั่งสอนให้หลาบจำ…โดยเฉพาะม่อนที่มักเป็นหัวโจก…วิลเลียมก็ไม่เคยลงโทษด้วยไม้เรียว แต่ใช้การเงียบ ไม่พูดด้วย เสมือนผู้ทำผิดเป็นอากาศธาตุ จนลูก ๆ อึดอัดและเสียใจที่พ่อนายไม่พูดจาเล่นหัวด้วย สารภาพความผิดในที่สุด วิลเลียมก็เรียกไปคุยตามลำพังเพื่ออบรม

เรื่องการทำโทษโดยใช้ไม้เรียวนี้เป็นความคิดที่ขัดกันกับภรรยา

ครั้งหนึ่งวิลเลียมกลับมาและพบว่ามุ่ยกำลังทำโทษลูกด้วยก้านมะยม เด็ก ๆ กลัวก้านมะยมและรู้ว่าแม่ไวในการทำโทษอย่างนี้ แม่สามารถเด็ดก้านมะยมได้คราวละหลายก้านรวบรูดใบออกแล้วฟาดลงมาที่น่องอ่อน ๆ ครั้งนั้นลูก ๆ ได้รอยก้านมะยมทุกคนเพราะมุ่ยบอกว่าทำด้วยกันผิดเท่ากัน ไม่สนว่าใครเป็นหัวโจกใครเป็นลูกไล่

วิลเลียมกับมุ่ยตึงใส่กันอยู่หลายวัน

เด็ก ๆ รู้ว่ายามอยู่บ้านพ่อนายมักจะลงให้แม่เสมอไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ แต่เรื่องทำโทษด้วยก้านมะยมนี้พ่อนายไม่ยอมให้ แม่นายก็ใช้วิธีวางเฉยต่องานบ้านทั้งปวง โดยเฉพาะการทำกับข้าว…แม่นายทำแต่ละมื้อพอกินกันสองคนคือแม่กับมาลีน้องเล็ก

ไม่รู้ว่าพ่อนายเบื่อหรือนายแม่เหนื่อย โดยที่ไม่เห็นการงอนง้อ แต่วันหนึ่งแม่ก็ทำแกงผักหวานใส่ไข่มดแดงมาขึ้นโต๊ะ พ่อนายตักจ้วงกินอย่างคนหิวจัดมาตลอดวัน ไม่มีใครพูดอะไร ทว่ามื้อเช้าของวันใหม่ก็มีขนมปังอบเนื้อนุ่มและซุปฟักทองวางไว้สำหรับทุกคน

นั่นเป็นไม่กี่ครั้งที่เด็ก ๆ เห็นพ่อนายและแม่นายตึงใส่กัน

ในอีกหลายปีต่อมาเมื่อลูกโต พ่อนายวิลเลียมฟังเรื่องเล่าในวัยเด็กของลูก ๆ แล้วแทบพลัดตกเก้าอี้ ด้วยว่ามีการลงโทษขั้นสูงกว่าก้านมะยมที่ลูก ๆ เคยเจอ แต่ตอนนั้นเขาไปนีปปิ้งหลายวัน และทุกคนก็เก็บเป็นความลับไม่เคยปริปากออกมา

สาเหตุในครั้งนั้นเพราะม่อนเล่นซนจนเตะหม้อต้มเหล้าหกจนเกลี้ยง

แม่นายลงโทษด้วยการจับมัดโยงไว้กับเสา สาดน้ำให้ตัวเปียก แล้วเด็ดรังมดแดงจากต้นมะม่วงมาตีใส่ให้มดแดงกัดจบแสบไปทั่วร่างแล้วยังฟาดซ้ำด้วยก้านมะยม

ม่อนเข็ดไปนานแต่มิได้หลาบจำ เพียงแต่ระวังตัวมากขึ้นเมื่อแม่ต้มเหล้า เขาจะพาน้อง ๆ ไปเล่นที่อื่น

วิลเลียมเชื่อว่าไม้เรียวไม่อาจ ‘สร้างคน’ ให้เป็นคนดีได้ แต่คนใช้ไม้เรียวต่างหากที่ได้ฝึกฝนการใช้อำนาจในมือทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ในกรณีนี้วิลเลียมมักนึกไปถึงครูประถมคนหนึ่งที่อังกฤษผู้มีอาวุธประจำกายคือไม้เรียว แทบว่าไม่มีเด็กคนใดที่ครูคนนี้ไม่เคยฟาดก้น จนหลายปีต่อมาครูคนนี้ได้เป็นบิชอป เหล่าลูกศิษย์ก็ชื่นชมในความก้าวหน้า แต่ก็อดถามกันไม่ได้ว่าคนอย่างเขาไปเป็นบิชอปได้อย่างไร

ในประเทศสยามนี้ก็มีการเฆี่ยนตีด้วยแส้ หวาย ไม้เรียว และหางกระเบน

แต่ละชนิดก็คงให้ความแสบและเจ็บปวดต่างกัน

วิลเลียมอยู่ในสยามมานานจนชินกับภาพการเฆี่ยนตีคนทำผิดเหมือนเฆี่ยนวัวควาย พวกเจ้านายทั้งหลายแหละตัวดี บางทีไม่มีสาเหตุแห่งความผิด แค่ไม่สบอารมณ์ก็เพียงพอที่จะเรียกบริวารคนหนึ่งมาเฆี่ยน บางคนสลบไปแล้วยังถูกสาดน้ำให้คืนสติแล้วเฆี่ยนซ้ำลงไปอีกจนครบจำนวน คนถูกเฆี่ยนถ้าไม่สลบคาหวาย ก็อาจตายในไม่กี่วันหลังจากนั้นเพราะแผลอักเสบและเน่าจนคนเจ็บทนพิษบาดแผลไม่ไหว

วิลเลียมจึงเชื่อมั่นว่าการลงโทษด้วยการเฆี่ยนตีมิใช่วิธีที่ดีในการฝึกคน แต่ควรเป็นการอธิบายให้เหตุผลในวันที่ผู้กระทำความผิดได้สำนึกในการกระทำของตนเองแล้วต่างหากที่จะได้ผลในการดัดนิสัย ไม้เรียวทำให้เข็ดขยาดหวาดกลัวแต่หาทำให้เกิดการสำนึกไม่

ครั้งหนึ่งม่อนปีนต้นไม้เก็บไข่นกมาเล่น แบ่งกันดูกับน้องชาย…มายและหมอก ความตื่นเต้นและสนุกสนานทำให้รับส่งไม่ระวัง ไข่นกหลุดมือตกแตกทุกฟอง เด็กทั้งสามกลัวความผิดรีบทำลายหลักฐาน แต่ก็นั่งสุมกันอยู่ใกล้ ๆ รังนก ตกบ่ายจึงเห็นแม่นกบินกลับมา มันร้องเสียงดัง บินออกไปแล้วกลับมาที่รังหลายหน เต้นวนไปมารอบรังดูกระวนกระวาย เช้าต่อมาหลังกินข้าวงาย ชวนกันมาดูอีกครั้งก็พบว่าแม่นกนอนตายในรัง มดแดงรุมกัด

วิลเลียมรู้ว่าลูกทำความผิดจากท่าทีที่เปลี่ยนไป…เด็ก ๆ ที่พยายามกลบเกลื่อนความผิดของตัวเองดูไม่ยาก เขาสังเกตไม่นานก็รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร ในคืนนั้นเขาจึงนัดแนะกับมุ่ยว่าจะหายไปจากบ้านหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งพอดีกับที่เขาต้องไปตรวจบัญชีไม้ที่สถานีปากน้ำโพ…ทุกครั้งที่จะไม่อยู่บ้านหลายวัน วิลเลียมจะบอกลูก ๆ เสมอแล้วสัญญาว่าจะกลับมาพร้อมของฝาก แต่ครั้งนี้เขาจะออกจากบ้านไปดื้อ ๆ ให้มุ่ยทำให้ลูกคิดว่าพ่อนายไม่อยากอยู่กับลูก ๆ อีกแล้ว

เมื่อพบว่าเย็นวันนั้นพ่อนายไม่กลับบ้าน ลูกชายทั้งสามก็หน้าเสียลอบมองกัน ผ่านไปสามวันก็เงื่องหงอย มายกับหมอกคุยกันเองว่าพ่อนายคงโกรธมาก ไม่อยากอยู่กับพวกเราแล้ว ม่อนได้ยินก็เบ้ปากร้องไห้โฮออกมา

มุ่ยทั้งสงสารทั้งขำท่าทีของลูก แต่ก็ต้องสะกดอารมณ์ไว้มิให้แผนแตก

หนึ่งสัปดาห์พอดีที่พ่อนายหายไปจากบ้าน ครั้นเห็นร่างสูงตรงเข้ามา ม่อนก็วิ่งไปคว้าไม้เรียวที่พิงข้างฝาแล้วยืนนิ่งดักหน้าพ่อ ก้มหน้ามองพื้นแต่ยื่นไม้เรียวขึ้นสูงเหนือศีรษะ สารภาพว่า

“ม่อนเอาไข่นกมาเล่น กะว่าดูแล้วจะเอาไปคืนไว้ที่เดิม แต่…” เสียงเด็กชายเริ่มสะอื้น น้ำตาร่วง แต่ยังคงสารภาพต่อไป “แต่ม่อนทำตก มันร่วงลงไปกระแทกหิน พ่อนายตีม่อนเลย จะตีกี่ครั้งก็ได้”

“พ่อนายตีแล้วได้อะไร พ่อนายตีจนไม้หัก แม่นกมันก็ไม่ฟื้น”

“ม่อนทำผิด ม่อนต้องถูกลงโทษ”

“ทำโทษก็แค่เจ็บ แต่ไม่หลาบจำ ไว้สำนึกผิดเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกันอีกที”

ระหว่างนี้มายกับหมอกก็เบียด ๆ ผลัก ๆ กันว่าจะทำอย่างไรดี ครั้นพ่อนายวิลเลียมตวัดสายตามองไปหมอกและมายก็ร้องไห้ปล่อยโฮออกมา หมอกคงกลัวหนักกว่าพี่ถึงกับฉี่ราดกางเกง

“รู้ไหมว่าแม่นกมันกกไข่มาแล้วกี่วัน มันคอยจะได้เห็นหน้าลูกของมัน ม่อนไม่เพียงแต่ทำให้แม่ลูกไม่ได้พบกัน แต่ม่อนยังทำให้มันตรอมใจตายด้วย ม่อนจะรู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งกลับบ้านมาแล้วไม่พบพ่อนายแม่นาย ม่อนจะเสียใจไหม ถ้าวันหนึ่งมีใครก็ไม่รู้พาพ่อนายแม่นายไปจากม่อน”

ในตอนนั้นวิลเลียมแค่สั่งสอนให้ลูกได้คิด แต่ไม่มีใครนึกเลยว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นจริงในอีกหลายปีต่อมา

ม่อนร้องไห้จ้าสัญญาว่าจะไม่ทำอีก โผเข้ากอดรัดเอวพ่อนายแน่น กลัว ‘ใคร’ ก็ไม่รู้มาพรากตัวพ่อนายไป

ในวันที่พ่อนายถูกพาไปที่แห่งหนึ่งด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์ ม่อนซึ่งในขณะนั้นรู้ความมากแล้วก็อดคิดถึงอดีตมิได้ว่า นี่คือผลกรรมที่เขาเคยพรากลูกนกจากอกแม่ตั้งแต่มันยังไม่ฟักเป็นตัว

 

จักรวรรดินิยมกำลังแผ่ไพศาล ประเทศมหาอำนาจช่วงชิงดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของตน สเปนและโปรตุเกสดูจะแผ่วลงในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสเข่นเขี้ยวแย่งชิงกันอย่างหนัก สยามในยามนี้ยังเป็นไข่แดงที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสพยายามเจาะให้ได้ ส่วนประเทศโดยรอบตกเป็นอาณานิคมสิ้นแล้ว

ฝรั่งเศสปกครองเวียดนามและกัมพูชา

อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมพม่าและมาเลเซีย

ส่วนสยามกลายเป็นรัฐกันชน รอดพ้นจากการตกอยู่ใต้อาณานิคมด้วยพระปรีชาของพระเจ้ากรุงสยามในการเจรจาต่อรองทางการเมืองและยอมเฉือนพื้นที่บางส่วนเสียไปเพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ให้ยังเป็นแผ่นดินสยามที่มีสัณฐานคล้ายขวานทอง

วิลเลียมเชื่อว่าการล่าอาณานิคมด้วยเรือกลไฟบรรทุกกระสุนดินปืนจะดำเนินต่อไปอีกไม่นาน

การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองและจบด้วยการรบพุ่งจะเป็นสิ่งล้าสมัย

การล่าอาณานิคมยุคใหม่จะเป็นการกล่อมเกลาความคิดให้คนส่วนใหญ่คล้อยตาม เห็นดีเห็นงามว่าสิ่งหนึ่งดีกว่า มีคุณค่าและน่าชื่นชมกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อคนส่วนใหญ่มีความคิดไปในทางเดียวกันแล้วก็ง่ายที่ชักจูงไปในทางใดก็ได้ เป็นการล่าอาณานิคมที่ดึงคนไว้ด้วยวิธีครองความคิดและจิตใจให้อยาก ‘กลายไปเป็น’ เช่นคนที่เห็นว่าดี วิธีนี้แม้ต้องค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาหลายปีแต่ในเวลาที่สัมฤทธิ์ผล ผู้คนเหล่านั้นก็ยอมจำนนโดยไม่มีการโต้แย้ง

ไม่ว่าดอกผลของการล่าอาณานิคมเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร วิลเลียมก็บอกตัวเองว่าปัจจุบันสำคัญที่สุด ลูกของเขาต้องเจริญเติบโตก้าวหน้า และสิ่งสำคัญที่จะเป็นใบเบิกทางก็คือการศึกษาที่ดี

วิลเลียมไม่ศรัทธากับระบบการศึกษาของคนที่นี่เท่าใดนัก เพราะมีเฉพาะเด็กชายที่ได้โอกาสเรียนหนังสือ ส่วนเด็กหญิงแม้จะเข้าโรงเรียนก็เป็นการฝึกฝนทักษะในการครองเรือนมากกว่าการฝึกฝนสติปัญญา วิลเลียมจึงตั้งใจว่าลูกทุกคนต้องอยู่ในโรงเรียนที่ดี มีระบบแบบแผนที่ช่วยให้เจริญสติปัญญา มากกว่าฝึกเย็บปักถักร้อย

ทว่าตอนนี้ยังไม่มีทางอื่นไป เขาต้องยอมให้ลูก ๆ อยู่โรงเรียนแถวบ้านไปก่อน

คนต่างชาติก็เหมือนไม้แปลกป่า ถึงเติบโตได้ก็ใช่ว่าจะงอกงามสมบูรณ์เหมือนโตในถิ่นกำเนิด แต่โลกมิได้หยุดนิ่งอยู่ที่เดิมอีกต่อไป คนทั้งหลายก็เช่นกัน ฉะนั้น สิ่งที่วิลเลียมคำนึงอยู่ตลอดเวลาคือการหาหนทางว่า จะทำอย่างไรให้ลูกของเขาที่เป็น ‘ลูกครึ่ง’ ในสยามเติบโตได้อย่างงดงามที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากและกลายเป็นข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้จะทำงานในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งวิลเลียมเรียกเหมารวมว่า ‘งานราชการ’ หรือ ‘งานของหลวง’ คือภาษาไทย การปกครองแบบใหม่ที่เรียกว่าเทศาภิบาลทำให้แว่นแคว้นต่าง ๆ มีศูนย์บัญชาการรวมกันที่กรุงเทพมหานครหรือบางกอก

จำนวนข้าราชการหรือ ‘คนของหลวง’ จึงมีมากขึ้น เพราะนอกจากจะประจำที่บางกอกแล้วยังถูกส่งมาปกครองมณฑลต่าง ๆ แต่ละมณฑลก็ครอบคลุมหลายเมือง ซึ่งในเวลาต่อมาเมืองเหล่านั้นก็ถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น ‘จังหวัด’ มาถึงปัจจุบัน

ในช่วงเวลานี้คนรุ่นใหม่ต้องเรียน ‘ภาษาไทย’ เพื่อใช้ในการสอบเข้ารับราชการและได้การยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้ ในโรงเรียนจึงมีวิชาอ่านเขียนภาษาไทยซึ่งในมณฑลต่าง ๆ ประสบปัญหาอย่างเดียวกันคือสำเนียงที่เพี้ยนแปร่งตามความเคยชินของการใช้ภาษาถิ่นเดิม

กลายเป็นความขบขันสำหรับผู้ฟังและเป็นความอับอายของผู้พูดที่ต้องพยายามฝึกใช้ภาษาไทยมิให้สำเนียงเพี้ยน

ลูก ๆ ของวิลเลียมไม่มีปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษหรือคำพื้นเมือง เมื่อใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งก็ออกสำเนียงถูกต้องไม่เพี้ยนแปร่ง หากหลับตาฟังเด็ก ๆ อู้คำเมือง ก็ไม่ต่างจากเด็กทั่วไปเลยพูดเลยทีเดียว แต่ลูกของวิลเลียมประสบปัญหาในการเรียนภาษาไทย ซ้ำครูในโรงเรียนก็ไม่เคร่งครัดกับวิชานี้ จึงทำให้วิลเลียมคิดหนักขึ้นที่จะส่งลูกไปอยู่โรงเรียนประจำที่การเรียนการสอนมีแบบแผนและมีสังคมที่ดีกว่า ถ้าไม่ใช่อัสสัมชัญที่บางกอก ก็อาจจะส่งไปเรียนที่เซนต์เซเวียร์ที่ปีนังซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

นอกจากเรื่องการศึกษาที่มีแบบแผนและภาษาไทยแล้ว วิลเลียมมองว่าธรรมเนียมอย่างสากลก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ลูก ๆ ของเขามีภาษีดีกว่าเด็กคนอื่น

ที่เห็นเช่นนี้เพราะพระเจ้ากรุงสยามกำลังนำธรรมเนียมต่าง ๆ อย่างตะวันตก หรือว่าให้เจาะจงกว่านั้นก็คือแบบแผนปฏิบัติอย่างอังกฤษมาผสมผสานให้เข้ากับขนบเดิมของสยาม เริ่มจากในราชสำนักมาสู่สังคมชนชั้นสูง แล้วจึงแผ่ขยายออกไป วิลเลียมอดคิดเชิงตำหนิกลาย ๆ มิได้ว่าในขณะที่พระเจ้ากรุงสยาม หรือที่คนสยามเรียกว่า ‘ในหลวง’ พยายามแทรกซึมผสมผสาน ชนชั้นสูงบางกลุ่มก็ก้าวหน้าเกินตัว ประพฤติตนยิ่งกว่าชาวอังกฤษแท้ ๆ เสียอีก

หากกระนั้นวิลเลียมก็เล็งเห็นว่าต่อไปคนเหล่านี้จะมีบทบาทเทียบเท่าหรือมากกว่าพระเจ้ากรุงสยามด้วยซ้ำ เขาจึงต้องฝึกฝนลูก ๆ ให้เป็นผู้ที่รู้จริงเรื่องขนบธรรมเนียมอย่างชาวอังกฤษแท้ เพื่อจะได้เข้าสังคมกับคนเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นและเป็นที่ยอมรับ

ในหนึ่งสัปดาห์วิลเลียมจึงกำหนดให้อย่างน้อยสองวันที่ทุกคนต้องเข้าโต๊ะแบบอังกฤษ กินอาหารด้วยมีดและส้อม บทสนทนาบนโต๊ะอาหารก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดแม้แต่การอุทาน โดยวิลเลียมและลีรอยจะคอยแก้ไขการใช้ภาษาให้ถูกต้องทั้งไวยากรณ์และคำศัพท์

โอลิเวอร์เคยลองดีด้วยการชวนคุยอย่างสนุกสนานโดยใช้คำสแลง วิลเลียมมองนิ่งนัยน์ตาดุจนโอลิเวอร์หยุดทันทีและห่อตัวลงไปตักซุปเข้าปากอย่างไม่รู้จะทำอะไรดีกว่านั้น ก็ไม่วายถูกเอ็ดว่าแม้แต่ยามตักซุปก็ต้องนั่งหลังตรง นับแต่นั้นโอลิเวอร์ก็ไม่กล้าลองดีบนโต๊ะอาหารอีก

แต่แอบสอนคำสแลงที่เจ็บแสบแก่เด็ก ๆ ยามวิลเลียมเผลอ และกำชับว่าอย่าเอ่ยออกมาต่อหน้าพ่อนาย

ผู้โดดเด่นในการใช้ภาษาคือรอยเมือง

เด็กหนุ่มใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าน้อง ๆ รู้คำศัพท์ชั้นสูงมาก เพราะลุงลีรอยคอยแก้ไขให้ และหมอสจ๊วตส่งหนังสืออ่านเล่นดี ๆ มาให้บ่อย ๆ ส่วนภาษาไทยรอยเมืองก็แตกฉานด้วยจับจุดได้ว่าโครงสร้างรูปประโยคเหมือนภาษาอังกฤษ เขาจึงหมั่นท่องคำศัพท์และพบว่าหลายคำมีรากเดียวกับภาษาถิ่นที่คุ้นเคย คำยาก ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในวรรคดีร้อยกรองเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต ซึ่งรอยเมืองได้เรียนรู้การอ่านและการผันกริยาแบบบาลีจากตา…หนานทิพย์ และหลวงลุงที่นายแม่มุ่ยและน้าแดงเรียกว่า ‘ตุ๊พี่’

ความสามารถเชิงภาษานี้ปรากฏในชื่อของน้องชายทั้งสามตอนที่วิลเลียมพาลูก ๆ ไปจดทะเบียนรับรองบุตร ชื่อเรียกคำเดี่ยวโดด ๆ กลายเป็นชื่อเล่น แต่มีชื่อตัวที่ไพเราะจนวิลเลียมยังแปลกใจ ไม่คิดว่ารอยเมืองจะแตกฉานได้ถึงเพียงนี้

ม่อน แปลว่าภูเขา อยู่ในมณฑลพายัพ จึงได้ชื่อ ภูพายัพ

มาย แปลว่าจิตใจ ได้ชื่อเป็นภาษาบาลีที่อ่านอย่างไทยได้ว่า เจตสิก

ส่วนหมอกมิได้ชื่อเหมันต์ แต่ใช้ชื่อ สิสิระ แปลว่าฤดูแห่งน้ำค้าง

 

เสียงร้องของมาลีทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่อาจข่มตาหลับได้อีกเลย มุ่ยผวาควานหาลูกก่อนอื่นใด สัมผัสเนื้อตัวลูกสาวร้อนยิ่งกว่าไฟก็สะดุ้ง เลิกมุ้งหาไม้ขีดจุดเทียนไข วิลเลียมเพ่งพิศดูใกล้ ๆ ก็พบว่าลูกสาวหน้าแดงตัวแดงอย่างคนเป็นไข้สูง เหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า

มาลีไม่อาจลืมตา แต่ปากร้องด้วยความทรมานแต่ว่า “เจ็บ ๆ หนูเจ็บ”

พี่ ๆ ของหนูน้อยตื่นมาดูกันทั้งหมด รอยเมือง ม่อน มาย หมอก แต่เกาะกลุ่มกันอยู่ห่าง ๆ ชะเง้อมอง เพราะรู้กันว่าเวลาที่ใครสักคนในบ้านป่วย แม่จะฉุนเฉียวขึ้นมาเพราะความเป็นห่วง จนพานไม่สบใจกับอะไรสักอย่างที่กีดขวางอยู่ตรงนั้น ไม่ว่าจะขวางทาง หรือพูดจาไม่เข้าหู

หมอกสงสารน้องและไม่อยากให้แม่ฉุนเฉียวขึ้นมา จึงรีบวิ่งไปตักน้ำใส่ชามกระเบื้องใบใหญ่พร้อมผ้าสะอาดพาดขอบประคองไปส่งให้แม่ เพราะลูกทุกคนเห็นจนลำดับได้ว่าสิ่งที่แม่จะนึกออกและทำเป็นสิ่งแรกคือการเช็ดตัว

มุ่ยสะบัดหน้าเมื่อรู้สึกว่ามีเงาแวบไหวอยู่ข้าง ๆ ถ้อยคำด้วยอารมณ์พุ่งมารออยู่ที่ปาก แต่ครั้นเห็นหน้าลูกชายส่งชามกระเบื้องบรรจุน้ำใสส่งให้ คำพูดทั้งหลายก็มลายไป สีหน้าของหมอกยังกึ่งกล้ากึ่งกลัวเมื่อบอกว่า

“หมอกเอาน้ำมาให้แม่เช็ดตัวน้อง”

มุ่ยยิ้มน้อย ๆ เป็นการขอบใจ รับไปจากมือลูกที่แขนเริ่มสั่นน้อย ๆ เพราะอ่อนแรง หมอกถือว่าครั้งนี้แม่ไม่ว่าอะไรจึงไม่ล่าถอย คอยเอียงหน้ามองดูแม่เช็ดตัวน้องจนเสียงร้องค่อยหายไป

“น้ำฝนเย็นกว่าน้ำบ่อไหมแม่ หมอกตักน้ำฝนในโอ่งมา”

“บ่รู้ คงเย็นกว่าละมัง น้องเงียบไปละ”

วิลเลียมจุดตะเกียงเข้ามาวางใกล้ ๆ พินิจหน้าลูกสาวอย่างถ้วนถี่ก็พบว่ามีจุดแดง ๆ ผุดขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ไรผม เป็นจุดแดงเข้มกว่าส่วนอื่น

“สงสัยจะออกหัด” วิลเลียมรำพึงกับตัวเอง แต่มุ่ยมิได้สนใจฟัง เช็ดตัวเสร็จก็ลุกไปชงยามาป้อนให้ลูก

“อะไรนั่น มุ่ยให้ลูกกินอะไร”

“ยาเขียว”

“ยาอะไร” เสียงของวิลเลียมเข้มขึ้น “ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร ให้ลูกกินยาสุ่มสี่สุ่มห้าได้ยังไง”

“ยะหยังจะบ่ได้ ตอนน้อย…เมื่อเป็นเด็ก…เป็นไข้ตัวร้อนอย่างนี้ กินยาเขียวสองสามวันก็หาย” มุ่ยเสียงแข็งไม่ต่างกัน

“แต่ลูกอาจไม่ได้เป็นไข้ตัวร้อนอย่างเดียว ควรจะรอให้หมอมาตรวจเสียก่อน”

มุ่ยมองหน้าสามี มองออกไปนอกหน้าต่างที่ดวงจันทร์ยังแขวนอยู่บนฟ้า หันกลับมามองสามีอีกครั้ง

“หมอจะมาเมื่อใด กว่าจะแจ้ง…รุ่งสาง…ถ้าลูกเป็นหยังนักกว่านี้ นายห้างจะทนผ่อได้กา” แววตาของมุ่ยเอาเรื่องอย่างที่เคยเป็นมา “ผญ๋าปัญญาเฮาก็มีเท่าอี้ละ ถ้านายห้างบ่เปิงใจ๋…ไม่ชอบใจ…ก็เซาะหาหนทางที่ดีกว่านี้เอาเองเต๊อะ สี่ห้าปีผ่านมา เฮาคนเดียวเลี้ยงลูกห้าคน หวิดตายกันมาแล้วทั้งนั้น เฮายังเลี้ยงของเฮามาได้”

ครานั้นเองที่วิลเลียมรู้สึกว่ามุ่ยมีความคับข้องใจเก็บอัดไว้ในใจตัวเป็นอันมาก ถ้อยคำที่เขาพูดโดยที่ไม่ได้คิดว่าเป็นการตำหนิ กลับเป็นการถอดสลักระเบิดที่อัดอั้นในใจของภรรยาให้พรั่งพรูออกมา ลีรอยขึ้นมาถึงตอนที่มุ่ยโต้กลับเสียงดังก็ชะงักนิ่ง ครั้นวิลเลียมหันมามอง ลีรอยจึงสบตาพยักหน้าให้เพื่อนน้อย ๆ เพื่อบอกว่าอย่าเพิ่งเถียงเอาชนะมุ่ยในตอนนี้เลย

ยาคงออกฤทธิ์จึงทำให้มาลีสงบไปได้ชั่วคราว ไม่ร้องด้วยความเจ็บปวดแต่เพ้อ

“ป้อนาย…ป้อนายไปไหน”

เสียงร้องของลูกทำให้วิลเลียมหันกลับมามอง

“ป้อนายบ่ฮักข้าเจ้า ป้อนายบ่ปิ๊กมาหาข้าเจ้าแล้ว…” น้ำเสียงนั้นมีความน้อยเนื้อต่ำใจเจือด้วยความหวังลึก ๆ ว่าสักวันพ่อนายจะกลับมา

ความรู้สึกหลากหลายพลุ่งขึ้นมาอัดที่อกของวิลเลียม ภายใต้แสงวับแวมของตะเกียง เขาเห็นหยาดน้ำคลอในหน่วยตาของมุ่ย ภรรยาจ้องหน้านิ่งเฉย ก่อนจะโผไปแนบหน้าตนกับหน้าลูกสาวปลอบเบา ๆ

“ป้อนายบ่ได้หนีไปไหน ป้อนายเข้าป่าไปหาดอกเอื้องมาฝากมาลี วันพูกป้อนายก็ปิ๊กมาละเน่อ”

“บ่เอาดอกเอื้อง จะเอาจ๊างน้อย…ช้างน้อย” มาลีงอแงครึมครางตอบเป็นเรื่องเป็นราว

ครั้นเงียบไป วิลเลียมจึงถามภรรยา

“มาลีถามหาพ่อแบบนี้บ่อยหรือ”

มุ่ยไม่ตอบ ความหมั่นไส้แกมขวางหน้านายห้างสามียังกรุ่นอยู่ในอารมณ์

“ฉันจะไปตามหมอมาเดี๋ยวนี้” วิลเลียมร้องสั่งปะเลให้เตรียมม้า

ครั้นวิลเลียมลงจากเรือน เสียงควบม้าห่างออกไปแล้ว ลีรอยจึงเอ่ยออกมา

“มุ่ยก็รู้ว่าหมอบริกส์ไม่อยู่ตอนนี้ วิลเลียมไปตามตัวก็ไม่พบใคร นอกจากแขกยาม”

“จ้างเขาหยัง…ก็ช่างเขาปะไร” มุ่ยว่า “จะไปควานหาหมอเทวดาที่ไหนมาฮักษาก็เจิญเต๊อะ”

 



Don`t copy text!