เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “เสียงนกจากพราก”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา “เสียงนกจากพราก”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

วิลเลียมอยากออกไปจากค่ายเชลยเพราะทนไม่ไหวที่คนรอบตัวเขาต่างทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อช่วยเหลือกันให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปให้ได้ แต่ตัวเขาเองแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเรี่ยไรเงินช่วยเหลือจากคนในค่ายเป็นทุนสำหรับซื้ออาหารและยาไปให้เชลยในค่ายอื่น ยิ่งเมื่อมาลีลูกสาวนำข่าวจากาญจนบุรีมาให้พร้อมรอยน้ำตา ความคิดจะแหกค่ายกลับไปพร้อมลูกสาวก็พลุ่งขึ้นมาทุกครั้ง

“นี่คงเป็นฉบับสุดท้ายจากโอลิเวอร์แล้วค่ะ” มาลีบอกทั้งน้ำตา นัยน์ตาของหล่อนบวมช้ำจากการร้องไห้ไม่รู้ว่ากี่หนจากการเป็นผู้ส่งสารนี้ สิ่งที่มาลีทำเป็นเรื่องเสี่ยง แต่ก็หล่อนก็ว่า “ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ แต่ก็ยอมเสี่ยง ดีกว่านิ่งดูไปเฉย ๆ รอความหวังอะไรก็ไม่รู้”

สิ่งที่มาลีทำไม่ผิดกับสายลับ การส่งสารจากโอลิเวอร์มายังครอบครัวไม่ใช่การบอกเล่าทุกข์สุขหรือขอความช่วยเหลือกันอย่างธรรมดา แต่มีนัยแฝงที่พอจะเดาออกว่าเชลยในค่ายคิดอ่านประการใด เมืองจะครองจีวรไปบิณฑบาตหน้าค่ายให้เชลยชาวไทยใส่บาตร มีต่างชาติปะปนมาบ้าง ของใส่บาตรมิได้วิเศษอย่างไร แต่ในของเหล่านั้นมี ‘สาร’ ซุกซ่อนอยู่ บางครั้งก็ลักลอบส่งกันยามนายบุญผ่องส่งของให้กองทัพญี่ปุ่นหรือแม่นายมุ่ยส่งเหล้าตามกำหนด

เมื่อได้รับสารมามาลีจะคัดลอกลงกระดาษและเผาต้นฉบับทิ้งไม่ให้เหลือซากแม้หล่อนอยากจะเก็บลายมือของสามีไว้เป็นที่ระลึกเตือนใจให้นึกถึงเขา แต่มาลีก็ไม่อยากประมาทหากว่าวันหนึ่งทหารญี่ปุ่นจับได้และพบว่าเป็นลายมือของโอลิเวอร์ เขาจะถูกลงทรมานยิ่งกว่าที่ได้รับตอนนี้

ในบันทึกที่มาลีคัดลอกและนำมาส่งให้พ่อนายวิลเลียมบางช่วงที่สะเทือนใจจึงมีคราบน้ำตาหยดเปื้อนหมึกอยู่ วิลเลียมเข้าใจความรู้สึกของลูกสาวดี เพราะตัวเขาเองเมื่ออ่านไปถึงจุดนั้นก็สะเทือนใจไม่แพ้กัน

‘สาร’ ของโอลิเวอร์ถูกส่งต่อให้รับรู้กันในหมู่เชลยอังกฤษ และแน่นอนว่ามันถูกแพร่ออกไปยัง ‘กลุ่มลับ’ ที่ดำเนินการอยู่นอกค่าย เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รู้ว่าจุดยุทธศาสตร์ในพม่าอยู่ที่ไหนบ้าง ทัพญี่ปุ่นจู่โจมด้วยวิธีไหน ปฏิบัติการอย่างไร

วิลเลียมอ่านจดหมายที่ลูกสาวบอกว่าเป็นฉบับสุดท้ายจบแล้วก็มืออ่อนร่วงลงมาที่ตัก เงยหน้ามองก็เห็นว่าน้ำตาของมาลีเอ่อคลออยู่แล้วที่หน่วยตา

“ลีรอยกับโอลิเวอร์จะหนี” เสียงของวิลเลียมแผ่วเบาแทบไม่พ้นลำคอ แต่ก็มีฤทธิ์ทำให้มาลีพยักหน้ารับรองและปล่อยให้น้ำตาร่วงลงมา

“พ่อนาย…หนูกลัวว่า…หนูจะไม่ได้พบหน้าโอลิเวอร์อีก…ตลอดชีวิต”

วิลเลียมพูดไม่ออก ได้แต่รับร่างมาลีที่โผเข้ากอดสะอึกสะอื้นอยู่กับอกพ่อ ลูบหัวลูบหลังปลอบโยนทั้งที่ตัวเองก็หวั่นวิตกในเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้น

การที่โอลิเวอร์และลีรอยจะหายหน้าไปตลอดชีวิตอาจเป็นไปได้สองทาง คือ หนีรอดไปได้แต่ไม่มีโอกาสติดต่อกลับมาอีกด้วยไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน กับอีกกรณีหนึ่งคือหนีไม่รอด เสียชีวิตอยู่กลางทางก่อนจะได้พบกับอิสรภาพ

ยิ่งโอลิเวอร์เคยถูกจับมาแล้วครั้งหนึ่ง มีอะไรรับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย

 

บันทึกของโอลิเวอร์นำไปสู่ข้อสรุปที่เคยคิดกันว่าสาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่าได้อย่างง่ายดายหลังจากชนะอังกฤษที่บริทิชมลายูเพราะความช่วยเหลือของพม่าเอง พม่าถูกปกครองใต้ร่มเงาจักรวรรดิอังกฤษมายาวนานแต่ก็มิได้สามิภักดิ์ ทว่ารอคอยเวลาปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ เมื่อญี่ปุ่นสัญญาว่าถ้าเอาชนะกองทัพอังกฤษหรือฝ่ายสัมพันธมิตรได้ พม่าก็จะหลุดพ้นจากการตกอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ ‘ดีล’ หรือข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและพม่าที่ต้องการเอาชนะอังกฤษจึงเกิดขึ้น

“ความผิดพลาดของอังกฤษคือเราไม่เคยทำความเข้าใจคนในพม่า” วิลเลียมเคยตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาในการสนทนาครั้งหนึ่ง หลายเสียงสนับสนุนและยอมรับว่าอังกฤษดำเนินการผิดพลาดในการปกครองพม่า ‘คนพม่า’ นั้นเป็นเพียงชนกลุ่มเดียว แต่ ‘กลุ่มชน’ อีกหลายกลุ่ม เช่นว่า กะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน ฉาน ต่างก็ปกครองตัวเองเกือบเป็นเอกเทศ ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นคนพม่าแบบที่อังกฤษคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ความสมานฉันท์ของกลุ่มชนในพม่าไม่เคยรวมกันได้อย่างแน่นเหนียว เมื่อครั้งนี้มีโอกาสที่จะเรียกร้องอิสรภาพของตนเองคืนจากอังกฤษและกลับไปสู่การปกครองตนเองอย่างเดิม โดยญี่ปุ่นเสนอตนว่าจะเป็นผู้นำ “เป็นใครก็ต้องยอมรับข้อเสนอนี้”

หากทัพอังกฤษไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นในพม่าได้ ก็ต้องพยายามสุดความสามารถมิให้บุกขึ้นไปได้ถึงอินเดีย

 

บันทึกของโอลิเวอร์…

วันที่ผมข้ามจากแม่สายเข้าพม่าแทบจะเป็นกลุ่มสุดท้ายของผู้ลี้ภัย สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด พม่าไม่ใช่ฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งของอังกฤษอีกต่อไป ในทางตรงข้ามเห็นได้ชัดว่าคนพม่าเอาใจฝักใฝ่กองทัพญี่ปุ่น ช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้อย่างลับ ๆ และออกหน้า ครั้นกองทัพอังกฤษในบริทิชมลายูพ่ายแพ้ เพียงสองสัปดาห์กองทัพญี่ปุ่นก็กรีฑาผ่านเมืองกลันตัน ปาดังเบซาร์ เบตง และสะเดา เข้าสู่ภาคใต้ของไทยทั้งทางรถไฟและรถบรรทุก มีเครื่องบินรบของญี่ปุ่นที่สงขลาคอยอำนวยความสะดวกในการเดินทัพ

เชลยอังกฤษในคราวนี้มีราวห้าหมื่นคน

มันช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าอัปยศอดสู ผมไม่เคยคิดเลยว่ากองทัพอังกฤษที่เกรียงไกรจะตกเป็นเบี้ยล่างของไอ้ฝูงลิงเหลืองแคระแกร็นเช่นนี้ ทัพอังกฤษไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นได้ ต้องถอยร่นจากภาคใต้ของพม่าขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาชีวิตไว้กู้ศักดิ์ศรีของเรา

ผมสมัครเข้าร่วมกองทัพอังกฤษเพื่อปกป้องอาณานิคมพม่า คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เรา..ทหารสามกองร้อย คือกองร้อย A กองร้อย C และกองร้อยบังคับการ สังกัดกองพันทหารพม่าที่ ๓ ตั้งแนวต้านทานด้านใต้มิให้กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามาได้ กลางเดือนมกราคมพวกเราจึงนั่งรถไฟจากย่างกุ้งสู่มะละแหม่ง ขบวนรถที่ผมนั่งไปมีชาวอังกฤษเพียงสี่คนเท่านั้นรวมผมด้วย ที่เหลือเป็นกะเหรี่ยงและคะฉิ่น ส่วนกองร้อย B และกองร้อย D ถูกส่งไปป้องกันที่มะริดทางใต้ของพม่าก่อนหน้านั้นแล้ว

ที่มะละแหม่งกองพันทหารพม่าที่ ๓ ที่ผมสังกัดเข้าไปอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกองพลน้อยพม่าที่ ๒ แรก ๆ เราก็ลาดตระเวนพื้นที่ด้านตะวันออกและด้านใต้ของเมือง ต่อมาจึงมีคำสั่งให้ตั้งแนวป้องกันเมืองเพื่อรับกองทัพญี่ปุ่นที่บุกเข้ามาจากชายแดนไทย กองพันพม่าที่ ๓ รับผิดชอบด้านเหนือ ด้านตะวันออกและด้านใต้บางส่วนของเมือง ที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของกองพันพม่าที่ ๗ กองพันพม่าที่ ๘ และกองพัน ๔/๑๒ ของกรมรักษาดินแดน

พวกเราได้รับข่าวร้ายว่าเพื่อนทหารสองกองร้อยของกองพันพม่าที่ ๓ ที่ถูกส่งไปมะริดเพื่อช่วยรบที่ทวายถูกทหารญี่ปุ่นบดขยี้จนย่อยยับ บางส่วนเสียชีวิต คนที่รอดกลับมาย่างกุ้งได้ก็บาดเจ็บสาหัส ทหารกะเหรี่ยงของกองร้อย B หากไม่เสียชีวิตก็สูญหายไปทั้งหมด ส่วนกองร้อย D เหลือทหารชินกลับมาแค่ ๓๐ นาย ผมยังจำได้ถึงภาพทหารนายสิบหัวหน้าหมู่ล่อคนหนึ่งที่มีชีวิตรอดมาถึงมะละแหม่งพร้อมอานล่อที่เขาแบกมาด้วยอาการอย่างคนเสียสติ แต่ล่อคู่ใจของเขามิได้กลับมาด้วย

สิ้นเดือนมกราคม ๑๙๔๒ ทหารญี่ปุ่นก็ตีเข้ามะละแหม่งจากทางใต้ด้วยปืนครก กองร้อย A ที่เป็นทหารกะเหรี่ยงใต้บังคับบัญชาของนายทหารอังกฤษไม่อาจต้านทานได้ เสียทหารไปมาก ทหารบางหมวดไม่เหลือแม้แต่คนเดียว เราจึงต้องจัดแนวต้านใหม่ให้ร่นเข้าชิดเมืองย่างกุ้งยิ่งขึ้น ประกอบด้วยกองร้อย C และทหารจากกองร้อยกองบังคับการกองพันพม่าที่ ๓ เป็นหลัก

แนวต้านใหม่นี้วางตัวตามแนวเหนือใต้บริเวณชายเมืองด้านตะวันออก แนวหลังไปทางทิศตะวันตกเป็นสันเขาด้านตะวันออกของมะละแหม่ง ด้านเหนือติดปากแม่น้ำอัตตะรัน และด้านตะวันตกติดแม่น้ำสาละวิน แต่กองร้อย A เห็นว่าตำแหน่งที่ตนอยู่ไม่ปลอดภัย จึงถอนกำลังถอยไปด้านเหนือของกองร้อยกองบังคับการกองพันพม่าที่ ๓ ภายใต้สถานการณ์นี้หากเราต้านทานไม่อยู่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกเข้าทางด้านตะวันออกได้อย่างรวดเร็ว ยิงปืนครกเข้าใส่กองบังคับการกองพันได้อย่างแม่นยำ หน่วยเหนือจึงมีคำสั่งลงมาให้กองพันพม่าที่ ๓ ถอยมาทางตะวันตกข้ามสันเขามาปิดช่องว่างระหว่างกองพันพม่าที่ ๗ และกองพันที่ ๔/๑๒ ของกรมรักษาดินแดน

ตอนที่คำสั่งมาถึงเป็นเวลาหกโมงเย็นแล้ว รอบด้านเริ่มมืดจึงยิ่งโกลาหลเป็นสองเท่า แม้จะเหลือทหารไม่มากแต่การถอนกำลังไปสู่ตำแหน่งที่ไม่คุ้นเคยในเวลาพลบค่ำมิใช่เรื่องง่าย แล้วยังอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องกระสุน และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ อีกเล่า จนปัญญาจะขนไปได้ทั้งหมด ต้องเลือกเฉพาะที่จำเป็นและกำลังพลลำเลียงไหว ส่วนที่เหลือจำใจต้องทิ้งไว้ทั้งที่รู้ว่าจะกลายเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายศัตรูได้มีอาวุธเพิ่ม เราเร่งตั้งแนวต้านใหม่เสร็จราวห้าทุ่ม กองร้อย C ของกองพันพม่าที่ ๓ ตั้งฐานอยู่ในวัดแห่งหนึ่งที่ด้านหลังติดแนวเขาชันและยังใกล้กับกองพันที่ ๔/๑๒ ของกรมรักษาดินแดน นับเป็นชัยภูมิที่ดีมาก กองร้อยกองบังคับการกองพันพม่าที่ ๓ อยู่เลยไปทางทิศเหนือใกล้กับกองพันพม่าที่ ๗ ส่วนกองร้อย A ไม่เหลืออยู่อีกแล้ว

เช้าวันสุดท้ายของเดือนมกราคมเริ่มต้นด้วยข่าวร้าย หมวดปืนเล็กที่ตั้งด่านบนถนนเล็ก ๆ ที่ตัดผ่านแนวเขามาจากด้านตะวันออกของเมืองถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าตายหมด มีทหารนายเดียวที่บาดเจ็บสาหัสแต่ยังพยามยามรักษาชีวิตเพื่อมาแจ้งข่าวแก่เราก่อนเขาสิ้นใจ

ในโชคร้ายมีโชคดี…สำหรับผู้อยู่ถูกที่ถูกเวลา สถานการณ์นี้ทำให้การสื่อสารตัดขาดลง ถนนสายนี้เป็นเส้นแบ่งระหว่างกองร้อย C กับกองร้อยบังคับการ กองร้อย C ไม่สามารถติดต่อกับผู้บังคับบัญชากองพันพม่าที่ ๓ ได้อีกต่อไปเพราะญี่ปุ่นยึดพื้นที่ไว้หมด พวกเขาจึงติดต่อกับกองพัน ๔/๑๒ กรมรักษาดินแดนแทน ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังจากมะละแหม่ง แล้วไปขึ้นเรือที่ท่าเทียบเรือในเช้านั้นตั้งแต่เวลา ๐๘.๔๕ นาฬิกา

เป็นโชคร้ายของกองร้อยบังคับการ กองพันพม่าที่ ๓ ที่การสื่อสารถูกตัดขาดและผมอยู่ในกลุ่มนี้ กว่าคำสั่งให้ไปขึ้นเรืออพยพมาถึงก็เป็นเวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ให้ใส่ตีนหมาหรือสวมรองเท้าของเฮอร์มิสก็ไปไม่ทัน ท่าเรืออยู่ห่างจากฐานที่มั่นของเราพอสมควร หากกระนั้นเราก็รีบถอนกำลังพร้อมกับเอาชีวิตรอดจากห่ากระสุนทั้งปืนครกและปืนกลเบาจากทหารญี่ปุ่นที่สาดรัวใส่ไม่ยั้ง

เราไปถึงท่าเทียบเรือแต่ไม่ทันเรือเที่ยวสุดท้าย

เรือที่ท่าเรือเมาะตะมะซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเราก็ถูกยิงถล่มเช่นกัน ออกจากท่ามารับพวกที่เหลือไม่ได้ ทหารของกองร้อยบังคับการกองพันพม่าที่ ๓ จึงต้องใช้รหัสสุดท้ายคือ ตัวใครตัวมัน บางคนกระโจนลงสู่แม่น้ำสาละวินที่กว้างใหญ่แล้วก็เสียชีวิตไปด้วยสายน้ำเชี่ยวกรากและกระสุนปืน บางคนรวมถึงผมลัดเลาะซ่อนตัวตามชายฝั่งขึ้นไปทางเหนือ พันโทนายหนึ่งที่หนีมาด้วยกันชวนให้ซ่อนตัวอยู่นิ่ง ๆ รอจนกว่าจะมืดแล้วค่อยแอบนั่งแพฝ่าความมืดเสี่ยงตาย แต่ผมคิดว่าไม่ว่าทางไหนก็เสี่ยงตายไม่ต่างกัน ผมจึงตัดสินใจเดินขึ้นเหนือต่อ ผลปรากฏอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ พันโทนายนั้นข้ามไปยังเมาะตะมะได้สำเร็จ ส่วนผมเดินเข้าสู่วงล้อมกับดักกองทัพญี่ปุ่นและถูกจับมาอยู่ในค่ายเชลยนี้

การปะทะกันครั้งนี้สรุปว่าอังกฤษป้องกันเมืองมะละแหม่งเอาไว้ไม่ได้ ซ้ำยังเสียกำลังทหารพื้นถิ่นไม่ว่าจะกะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน และทหารอังกฤษไปไม่น้อย กองพันพม่าที่ ๓ ที่รอดชีวิตไปรวมตัวกันอีกครั้งที่เมืองโจโท จากเดิมที่เคยมีอยู่ห้ากองร้อยเหลือกำลังพลเพียงประมาณสองร้อยคน มีคำสั่งให้นำกำลังทางหารขึ้นเหนือไปป้องกันทางข้ามแม่น้ำสะโตง จากนั้นจึงไปสมทบกับกองพันพม่าที่ ๗ ที่อยู่ใต้เมืองตองอูลงมาประมาณ ๖๐ กิโลเมตร

แม้ผมจะอยู่ในค่ายเชลยแต่ข่าวความพ่ายแพ้ของอังกฤษก็โจษไปทั่ว ดุจมันจะใช้โอกาสนี้เย้ยหยันเราให้รู้ว่าบัดนี้ผู้ที่เป็นเจ้าจักรวรรดิใหม่คือใคร ผมถูกจับได้ไม่นานทหารญี่ปุ่นก็ฉลองชัยที่สามารถข้ามแม่น้ำสะโตงและเข้ายึดกรุงย่างกุ้งได้เมื่อต้นเดือนมีนาคม

ถึงตอนนี้ผมรู้แล้วว่าสภาพบ้านแตกเปนอย่างไร เป้าหมายเดียวของคนที่ยังมีลมหายใจคือหนีให้รอด ไม่เฉพาะทหารในกองทัพเท่านั้น แต่คนทั่วไปไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนชรา ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษหรืออินเดียในพม่าต่างหาทางหนีกันอย่างฉุกละหุก

 

“ก็ตรงกับที่เราได้ข้อมลูมา” ไอเดนเอ่ยขึ้นในวงสนทนาถึงเรื่องคนในพม่าที่หนีไปอินเดียเพื่อเอาชีวิตรอดจากญี่ปุ่น “ทั้งรถไฟ เรือเมล์ เครื่องบิน แย่งกันขึ้นเหยียบกันตายไม่รู้เท่าไหร่ แต่ละเที่ยวยัดกันจนแทบขยับไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะขาดใจตายก่อนถึงปลายทางหรือเปล่า พวกที่รอไม่ไหวหรือแย่งขึ้นไม่ได้ก็แบกของพะรุงพะรังเดินเท้ากันไป”

ท่านกงสุลพิจารณาช่วงเวลาที่โอลิเวอร์บันทึกไว้ประกอบกับข่าวสารการทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรก็สรุปว่า “นับว่าญี่ปุ่นเดินเกมไว ขนาดกองทัพอังกฤษขยับแนวต้านขึ้นเหนือไปตั้งมั่นใกล้เมืองมัณฑะเลย์ก็ยังต้านทานไม่ไหว ต้องถอนทัพข้ามแม่น้ำซินด์วินทางตอนเหนือของพม่าขึ้นเหนือต่อไปอีก เข้าไปตั้งฐานที่มั่นในเมืองอิมผาลและเมืองโกหิมาของอินเดียกลางเดือนพฤษภาคม…ห้าเดือนเท่านั้นเอง”

เรื่องโอลิเวอร์และลีรอยวางแผนหนีรบกวนจิตใจวิลเลียมไม่รู้จบ เขาอยากให้ทั้งสองหนีรอดปลอดภัย ทั้งคู่เคยใช้ชีวิตในปางไม้ย่อมรู้วิธีเอาตัวรอดในป่าได้อย่างแน่นอน แต่นั่นเป็นในสถานการณ์ปกติ ทว่าบัดนี้ทั้งลีรอยและโอลิเวอร์สังขารร่วงโรยจากการถูกทารุณกรรมหลายอย่าง แค่จะประคองตัวเดินก็คงลำบากมากแล้ว ไหนเลยจะหลบหลีกพวกญี่ปุ่นได้

เสียงหวอดังขึ้น พักหลังนี้ดังถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เชลยทั้งหลายวิ่งชุลมุนเข้าหลุมหลบภัย พวกผู้คุมวิ่งหนี ชาวบ้านก็หาที่ปลอดภัยกำบัง

“ไม่ว่าใครก็รักตัวกลัวตายทั้งนั้น” ไอเดนร้องขึ้นมาในหลุมที่เบียดกันแน่น “ลูกระเบิดไม่มีตา ทิ้งลงตรงไหนมันก็ทำลายตรงนั้น ตายกันหมดไม่ว่าฝ่ายไหน”

วิลเลียมคิดเช่นเดียวกัน หลังเสียงหวอปลอดภัยดังขึ้นทุกคนสำรวจว่าตนเองยังปลอดภัยดีหรือไม่แล้วจึงประเมินความเสียหาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน พื้นที่สำคัญที่เป็นฐานที่มั่นของญี่ปุ่นต่างถูกบอมบ์ ดูเหมือนเทพแห่งสงครามได้ย้ายข้างมาถือธงชัยโบกให้ฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ถ้าลีรอยและโอลิเวอร์จะหนีไปช่วงเวลานี้…บางทีอาจเหมาะที่สุดแล้วก็ได้

สงครามยังดำเนินต่อไปภายใต้ความหวาดระแวงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดมายามใด ค่ายกักกันที่ธรรมศาสตร์จึงยกเลิกไป เชลยบางคนถูกปล่อยให้เป็นอิสระ บางคนถูกส่งไปอยู่ที่ค่ายเชลยที่วชิราวุธวิทยาลัยแทน

 

ทันทีที่ถูกปล่อยจากค่ายเชลยธรรมศาสตร์วิลเลียมก็ฝากไอเดนให้รีบกลับเชียงใหม่ ไปดูความเรียบร้อยหรือความเสียหายทางนั้น ทั้งบ้านและโรงงานเฟอร์นิเจอร์

“เธอเห็นว่าควรทำสิ่งใดก็ลงมือได้เลย ไม่ต้องคอย ลุงเชื่อใจเธอ”

ไอเดนรับคำเพราะตนเองก็เป็นห่วงทั้งครอบครัวและทรัพย์สินที่บ้านเช่นกัน เสียหายนั้นแน่ละ แต่อยากเห็นกับตาว่า ‘ซาก’ ที่เหลืออยู่นั้นจะเป็นอย่างไร

ฝากฝังไอเดนเรียบร้อยแล้ววิลเลียมก็รีบเดินทางไปกาญจนบุรี เขาเชื่อว่าการปล่อยเชลยจากค่ายกักกันเป็นสัญญาณที่ดี บางทีสงครามอาจถึงเวลาสิ้นสุดแล้วก็เป็นได้ หากเป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ลีรอยและโอลิเวอร์ก็ไม่จำเป็นต้องหนี

หาบ้านนายบุญผ่องไม่ยาก ทุกคนมีสีหน้าประหลาดใจระคนตื่นเต้นยินดีที่เขาปรากฏตัว วิลเลียมกวาดตามองทุกหน้า มุ่ยภรรยา มาลีลูกลาว และรอยเมืองลูกชายคนโตยังอยู่ที่นั่น แต่เมืองหายไป

“เมืองอยู่ไหน หรือว่า…”

สีหน้านิ่งของทุกคนทำให้วิลเลียมรู้ทันทีว่าเขามาถึงช้าเกินไป

“พวกเชลยถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟวันก่อนนี้เอง” มุ่ยบอกกับเขา มองสำรวจสามีที่ซูบผอมลงไปแต่ยังห่างไกลจากคำว่าขี้โรคถ้าเทียบกับลีรอยและโอลิเวอร์ที่เห็นครั้งสุดท้ายไม่ต่างกับโครงกระดูกเดินได้ “อ้ายเมืองก็ไปแล้ว ถ้าบุญยังมี…เฮาคงได้ปะกันแหม…พบกันใหม่” เสียงมุ่ยอ่อนเบาลงดุจปลอบใจตัวเอง “บ่ได้เจอชาตินี้ ก็เจอกันชาติหน้าละกันเน่อ”

เป็นไม่กี่ครั้งในชีวิตที่วิลเลียมรู้สึกว่าอยู่ ๆ โลกก็มืด ตัวเขาเองเหมือนจมดิ่งลงไปสู่ก้นลึกที่เวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุด จนเมื่อลืมตาตื่นขึ้นอีกครั้งเขาหวังจะได้ยินใครสักคนบอกว่าวันนี้นายห้างตื่นสาย ข้าวงาย…มื้อเช้า…เตรียมไว้นานจนเย็นหมดแล้ว ทว่าสิ่งที่เขาได้พบคือความจริง ความจริงที่ว่าเมือง ลีรอย และโอลิเวอร์หนีไปแล้ว และสงครามยังคงดำเนินต่อไป

หากมนุษย์เราจะมีญาณวิเศษหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เราคงวางแผนชีวิตได้ดีกว่านี้ ตอนที่วิทยุประกาศข่าวญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม เสียงชาวบ้านเฮลั่น สถานการณ์พลิกผันทหารญี่ปุ่นเป็นฝ่ายหนีตาย กลายเป็นเชลยสงคราม ทว่าวิลเลียมฟังข่าวนั้นด้วยน้ำตาซึมนึกถึงคนที่หนีไป รำพึงกับตัวเองแค่ว่า…ถ้ารออีกนิด อีกนิดเดียวก็ไม่ต้องหนี

สงครามเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อญี่ปุ่นลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ ภายหลังจากกองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อน่ารักว่าเด็กชายตัวน้อยหรือ ‘ลิตเติลบอย’ ถล่มญี่ปุ่นที่เมืองฮิโรชิมาในวันที่ ๖ สิงหาคม และตามมาด้วยชายอ้วนหรือ ‘แฟตแมน’ ถล่มเมืองนางาซากิในวันที่ ๙ สิงหาคม นับเป็นการเอาคืนที่ญี่ปุ่นเคยทิ้งระบิดที่เพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ หรือเมื่อสี่ปีก่อนอันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในคราวนี้ ความย่อยยับเหลือประมาณทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๑๕ สิงหาคม

 

ชีวิตของวิลเลียมในแต่ละวันหมดไปกับการฟื้นฟูบ้านและโรงงานเฟอร์นิเจอร์ให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด พร้อมกับคอยฟังข่าวของคนคุ้นเคยว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ทุกคืนหลังมื้อค่ำวิลเลียมชอบชวนมุ่ยมานั่งหน้าเตาผิง บอกเล่าเรื่องราวที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญในช่วงสงคราม บางเรื่องก็เล่าซ้ำหลายหนแต่ทุกครั้งที่เล่าต่างฝ่ายต่างก็ตื่นเต้นราวกับเพิ่งได้ยินครั้งแรกหรือถามรายละเอียดที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อน ความโหดร้ายที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอดในแต่ละเหตุการณ์ เมื่อมาพูดกันวันนี้ก็ไม่ต่างจากนิทานผจญภัยสักเรื่องหนึ่ง บางวันวิลเลียมและมุ่ยก็เพียงแต่นั่งเงียบ ๆ ถึงเวลาพักผ่อนก็จูงมือกันเข้าห้องนอน

“มุ่ยรู้ไหม” ถามไปอย่างนั้น มุ่ยรู้ว่าสามีมิได้ต้องการคำตอบ เพียงแค่เกริ่นนำจึงนิ่งฟังให้เขาพูดต่อ “หลายคนได้เหรียญกล้าหาญ”

มุ่ยเพียงแต่ยิ้มเมื่อสามีเล่าให้ฟังว่าช่วงสงครามมีปฏิบัติการพิเศษหลายกลุ่ม ที่รู้จักกันดีก็อย่างเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกา ส่วนคนอังกฤษและชาวตะวันตกที่มีส่วนร่วมกับกองทัพนั้นเมื่อสิ้นสงครามก็ได้รับการเชิดชูเกียรติ เลื่อนยศหรือมอบเหรียญกล้าหาญแล้วแต่ผลงานที่ได้ฝากไว้ ครั้นเล่าจบวิลเลียมก็จะถอนใจช้า ๆ ตบหลังมือภรรยาเบา ๆ

มุ่ยเดาความคิดของสามีได้ เขาคงอยากบอกว่าถ้าฉันได้เหรียญอะไรสักอย่างหนึ่งมุ่ยคงปลื้มใจและเป็นเกียรติแก่ตระกูลของเรา แต่มุ่ยไม่เคยต้องการสิ่งเหล่านั้น

“แค่นายห้างมีชีวิตรอดปิ๊กมา เฮาก็บ่ต้องการอะหยังแหมแล้ว” น้ำเสียงของมุ่ยจริงจัง “นายห้างรู้ก่ ตอนที่นายห้างมายืนตรงหน้า เฮากึ๊ดว่าฝันไป พอรู้ตัวแล้วว่าเป็นนายห้างแต๊ ๆ เราก็ตั้งใจเอาไว้เลยว่าจากนี้ต่อไป เฮาจะบ่ห่างนายห้างไปไหนแหม สิ่งเดียวที่จะแยกเฮาจากนายห้างได้ ก็คือความต๋ายเท่าอั้น”

วิลเลียมจูบหน้าผากมุ่ยแผ่วเบาและเนิ่นนาน ให้นางรู้ว่าเขาขอบคุณและซาบซึ้งเพียงใด

ข่าวคราวส่วนใหญ่ที่ได้รับรู้หลังสงครามคือบั้นปลายของแต่ละคนที่อยู่ด้วยกันในค่ายเชลย จะว่าไปแล้วก็มีเพียงสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเลือกกลับไปอยู่บ้านเกิด แม้บอกว่าจะกลับมาสยามหรือประเทศไทยอีกหากมีโอกาส แต่คนเหล่านั้นก็ไม่เคยกลับมา อีกกลุ่มหนึ่งขอใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยตราบแผ่นดินกลบหน้าเช่นนายห้างวิลเลียม บรูค

“ท่านกงสุลกลับเชียงใหม่ได้สามเดือนก็ถึงแก่กรรม” วิลเลียมรำพึง “ท่านอายุมากแล้ว แม้ค่ายกักกันที่ธรรมศาสตร์จะไม่ลำบากทารุณอย่างค่ายที่ญี่ปุ่นคุมเอง แต่คนแก่อยู่ในที่อุดอู้อย่างนั้น ขาดอิสรภาพถึงสามปี ที่ไหนจะทนได้ ต่อให้ไม่มีโรคภัยเข้ามาทำร้าย ร่างกายก็ทรุดโทรมลงไปอยู่ดี ด้วยสถานะและสภาพแวดล้อมที่อยู่มีแต่ฉุดให้กำลังใจเหี่ยวเฉาลงไปทุกวินาที”

กรณีของท่านกงสุลยังนับว่าเบาเมื่อเทียบกับมิสเตอร์จิลล์ที่สุขภาพไม่ดีตั้งแต่เริ่มอยู่ในค่ายกักกัน จนต้องยอมให้ออกมาพักรักษาตัวที่บ้านภายใต้การควบคุมของตำรวจ หลังสงครามเลิกไม่นานก็ถึงแก่กรรม อีกคนหนึ่งเส้นเลือดในสมองแตกตั้งแต่อยู่ในค่าย สุขภาพทรุดโทรมลงไปทุกวัน สี่เดือนให้หลังก็เสียชีวิตไปไล่เลี่ยกับท่านกงสุล

“ฮาร์ตลีย์ผิดหวังหนัก ไม่ขออยู่ที่นี่อีก” วิลเลียมเล่าถึงนายห้างหนุ่มที่เบียดกันในรถไฟตอนถูกคุมตัวไปค่ายเชลย เมื่อสงครามเลิกก็รีบกลับไปดูบ้านและทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ปรากฏว่าไม่มีเหลือ ซ้ำยังต้องเสียภาษีคนตายและภาษีทรัพย์สินตกทอดอีก มิสเตอร์ฮาร์ตลีย์จึงตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่ลอนดอนด้วยเหตุผลว่า ที่นี่ไม่มีความหมายอะไรต่อเขาอีกนอกจากฝันร้ายในช่วงหนึ่งของชีวิต

วิลเลียมดึงมือมุ่ยมากุมไว้ลูบเบา ๆ ราวจะให้สัมผัสลึกล้ำซึมซาบเข้าไปในหัวใจ

“ฉันดีใจที่มุ่ยยอมจดทะเบียนสมรสกับฉัน ถ้าฉันตายไปทรัพย์สินทั้งหมดของฉันก็ยังเป็นของมุ่ยและลูก ไม่เป็นของรัฐบาลอังกฤษอย่างมิสเตอร์ซิลเวอร์สมิตธ์”

เรื่องนี้โจษขานกันใหญ่โตในกรุงเทพฯ รอยเมืองเป็นเพื่อนกับหลานของมิสเตอร์ซิลเวอร์สมิตธ์ เขาเล่ารายละเอียดให้พ่อนายและแม่นายฟังหลังการแบ่งมรดกสิ้นสุดแล้ว เรื่องของนายห้างช่างทำเครื่องเงินผู้นี้เฉกเช่นชาวอังกฤษอีกหลายคนที่ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกับหญิงไทย ทำงานและใช้ชีวิตอย่างคนไทย สร้างฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคงมายาวนานถึงชั้นหลาน แต่การแต่งงานกับหญิงไทยมิได้รับรองจากสถานทูต ลูกที่เกิดมาจึงไม่ได้รับรองจากสถานทูต เมื่อสิ้นมิสเตอร์ซิลเวอร์สมิตธ์แล้วคนในครอบครัวจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากกอดกันร้องไห้มองคนของสถานขนสมบัติทั้งหมดลงหีบส่งกลับไปอังกฤษ

“ทั้งลูกทั้งหลานโกรธแค้นจนประกาศว่าจะไม่ใช้ชื่ออังกฤษที่พ่อที่ปู่ตั้งให้ แม้หน้าตาจะเป็นลูกครึ่งค่อนไปทางอังกฤษก็ยังย้ำอยู่ว่าเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์” รอยเมืองเล่าให้พ่อนายฟังว่าเพื่อนของเขาที่เป็นหลานปู่ของมิสเตอร์ซิลเวอร์สมิตธ์แค้นใจมากจึงลั่นวาจาออกไปอย่างนั้น

“วันหนึ่งข้างหน้าฉันก็ต้องตาย ชีวิตฉันเฉียดตายมาไม่รู้กี่ครั้ง ที่ยังอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ก็เพราะพระผู้เป็นเจ้าเมตตาให้ฉันยังมีโอกาสได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นต่อไป อย่างเรื่องโรงเรียนป่าไม้ที่แพร่ ฉันก็จะช่วยเหลือเต็มที่ตราบใดที่ฉันยังมีแรงกำลังอยู่ แต่ที่ว่าฉันจะไม่ตายเลยย่อมเป็นไปไม่ได้”

“บางที…พระเจ้าของนายห้างจะให้โอกาสได้อยู่รอเจอคนที่กองหา…รอคอย” มุ่ยว่า

“ลีรอยกับโอลิเวอร์เงียบหายไปเลย” วิลเลียมเอ่ยเสียงเบาอยู่ในลำคอ “เมืองเล่า ได้ข่าวเมืองบ้างหรือเปล่า”

มุ่ยส่ายหน้าแทนคำตอบ ไม่มีใครรู้เลยว่าแผนการของเมืองที่จะไปดักพบและช่วยพากันหนีไปสำเร็จหรือไม่ พวกเขาอาจพบหรือไม่พบกัน แผนการนั้นอาจสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่อาจมีใครรู้ได้

สายลมกลางคืนพัดเอาความเย็นชื้นจากน้ำค้างผ่านหน้าต่างเข้ามาด้วย เสียงไก่ขันยามดึกไม่ต่างกับเสียงนกจากพราก วิลเลียมโอบร่างของมุ่ยมาแนบไว้กับอก ให้กำลังใจและความหวังในการรอคอยครั้งนี้ว่า

“ถ้าเราไม่ได้รับข่าวใด ๆ นั่นถือว่าเป็นข่าวดี บางที…ตอนนี้พวกเขาอาจอยู่รอดปลอดภัยในที่สุขสงบที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ก็ได้”

วิลเลียมมองออกไปนอกหน้าต่าง นวลจันทร์เพ็ญเย็นตาที่ห่มคลุมรัติกาลช่วยให้จิตใจของเขาค่อยสงบลง อธิษฐานในใจว่าก่อนตนจะถึงลมหายใจสุดท้าย ขอได้รู้ข่าวคราวของทั้งสามคนสักครั้งก็ยังดี

 



Don`t copy text!