
น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 7 : อียิปต์แบบตะโกนดังๆ ว่า ‘ทำถึง’
โดย : พิมพ์อักษรา
คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ และเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ไม่ประวัติศาสตร์บ้าง วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง แต่ละดินแดนที่ได้ประสบพบเจอ เสมือนให้ผู้อ่านได้ท่องเที่ยวดื่มด่ำไปด้วยกัน ผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า เปิดโลก เปิดตา และเปิดใจ และที่สำคัญคือเพลิดเพลิน เหมือนชื่อของผู้เขียนนั่นเอง
จากวิหารคาร์นัค เราก็เดินทางไปสู่อียิปต์ตะโกนที่ถัดไป มีชื่อว่าวิหาร “เมดิเน็ตฮาบู (Medinet Habu)” เป็นวิหารที่จัดอยู่ในประเภท Mortuary Temple หรือวิหารที่ใช้ประกอบพิธีศพ แวบแรกที่ได้ยินคำนิยาม ฉันก็สะดุดหู เพราะไม่เคยได้ยินวิหารประเภทนี้มาก่อน จนได้รับคำอธิบายว่า Mortuary Temple หรือ Funerary Temple เป็นวิหารลักษณะเฉพาะที่พบได้ในสถาปัตยกรรมอียิปต์โบราณ
แรกเริ่มเดิมทีในสมัยอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) และ อาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) ของอียิปต์ซึ่งกินเวลายาวนานหลายพันปีก่อนหน้านี้ วิหารประกอบพิธีศพมักจะสร้างอยู่ใกล้พีระมิดซึ่งมักใช้เป็นสุสานหลวงด้วย แต่พอมาถึงสมัยอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ราวสามพันห้าร้อยปีมาแล้ว บรรดาฟาโรห์ไม่ค่อยสร้างพีระมิดกันแล้ว และย้ายสุสานฝังพระศพไปที่หุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) กันหมด โดยจะสร้างวิหารประกอบพิธีศพแยกไว้อีกที่ต่างหาก
ที่เมดิเน็ตฮาบู แห่งนี้ก็เป็นวิหารประกอบพิธีศพในยุคอาณาจักรใหม่ สร้างเป็นอนุสรณ์สถานของฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramses III)
เราได้ยินชื่อฟาโรห์รามเสสที่ 2 กันมาแล้วในตอนที่ฉันพาไปเยือนวิหารอาบูซิมเบล แต่วันนี้เราพูดถึงรามเสสที่ 3 ซึ่งไม่ได้เป็นโอรสของรามเสสที่ 2 หากแต่ห่างกันราว 4 ยุค ถ้าฟาโรห์รามเสสที่ 2 ขึ้นชื่อเรื่องเป็นฟาโรห์นักรบและนักปกครองผู้เก่งกาจละก็ ฟาโรห์รามเสสที่ 3 นั้นกลับมีภาพจำและชื่อเสียงเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิตมากกว่าความเป็นนักรบนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้รามเสสที่ 2
ด้านนอกวิหารแห่งนี้ดูเล็กผิดหูผิดตาจนน่าแปลกใจ แต่พอผ่านบานประตูแรกเข้าไปเท่านั้นละ ความแกรนด์อียิปต์ของเมดิเน็ตฮาบูก็ตะโกนใส่ฉันทันที ก็ตั้งแต่ซุ้มประตูใหญ่ไพลอน (มาถึงตอนนี้ เราได้ยินคำว่าไพลอนบ่อยมาก มีทุกวิหาร) ส่วนวิหารหลังนี้มี 2 ไพลอน ถัดจากไพลอนแรกเข้าไปก็จะเป็นลานกลางวิหาร ห้องโถงเสา จนไปถึงห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ด้านในสุดของวิหาร
ฉันสังเกตว่ารูปสลักรวมถึงภาพแกะสลักในวิหารแห่งนี้ค่อนข้างคมชัดทั้งรูปร่าง ร่องลึก และสีที่ยังสดสมบูรณ์อยู่มากแม้ผ่านกาลเวลามากว่าสามพันปี มัคคุเทศก์เลยอธิบายเพิ่มเติมว่าที่เรารู้สึกว่ามันชัดและสดมากนั้นก็ถูกแล้ว เพราะเทคนิคที่ใช้นั้นเป็นการสลักลึกหรือ Sunk Relief นั่นเอง…
เทคนิคแพรวพราว วิทยาการล้ำหน้าจริง ๆ ถึงยังรักษามาได้จนถึงวันนี้
ถัดจากลานกลางวิหารจะเป็นไพลอนที่สอง ด้านซ้ายของไพลอนแกะสลักเป็นภาพของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ลากดึงเชลยศึกจำนวนมาก ซึ่งโดนลามเชือกเข้าไว้ด้วยกันมาถวายต่อเทพอามุน (Amun) และเทพีมุท (Mut) เราจะเริ่มได้เห็นการเล่าเรื่องราวความโหดของรามเสสที่ 3 ผ่านบรรดาภาพสลักทั้งหลาย มีทั้งรูปที่พระองค์กำลังตัดหัวศัตรูอยู่มากมาย เราจะสังเกตได้ว่ารูปร่างหน้าตาศัตรูจะเปลี่ยนลักษณะไปเรื่อย ๆ ตามชนชาติ อันแสดงให้เห็นว่าฟาโรห์ผู้นี้มีชัยชนะต่อหลายกลุ่มชน หลายดินแดนนั่นเอง
ส่วนที่ฉันประทับใจนั้นกลับเป็นความวิจิตรประณีตตามเสาและผนังมากกว่า เพราะเต็มไปด้วยการแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าต่าง ๆ แทบทุกภาพยังคงสีสันสวยงามและร่องลึกคมชัดเจนมีมิติ ชวนให้นึกจินตนาการต่อไปว่า ณ ปัจจุบันยังสวยงามยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ในอดีตคงยิ่งงดงามวิจิตรอลังการกว่าหลายเท่าตัวนัก เมื่อชมแล้วก็ยากจะถอนสายตาไปได้ อยากจะเห็นฝีมือคนทำเสียจริง จนบางแวบอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นฝีมือมนุษย์จริงนะหรือ…
ฉันพยายามถ่ายภาพเก็บไว้เป็นบันทึกความทรงจำ แต่ถ่ายเท่าไรก็ไม่สวยเท่าที่ตาเห็น สมแล้วที่ต้องมาเห็นด้วยตาตนเองให้ได้

อากาศเริ่มร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่นับว่ายังดีที่เมดิเน็ตฮาบูยังมีส่วนที่เป็นร่มเงาให้ได้หลบแดดอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นความมหัศจรรย์ของวิหารแห่งนี้ก็ผลักดันให้ฉันกลั้นใจออกจากหลังคาบังแดด เดินผ่านจากลานกลางวิหารที่สอง เพื่อจะไปชมห้องโถงเสาขนาดใหญ่และห้องบูชาศักดิ์สิทธิ์ (เราได้เห็นห้องโถงเสามาแล้วในตอนก่อนหน้านี้) ซึ่งปัจจุบันส่วนหลังคา ผนังห้อง และโถงเสาแทบไม่หลงเหลือให้เห็นแล้ว ก็เลยจะเหลือแค่ฐานเสาเรียงกันแบบนี้ ก็ดูแปลกตาไปอีกแบบ
อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่าวิหารแห่งนี้เป็นวิหารแห่งฟาโรห์รามเสสที่ 3 ก็ต้องเล่าภูมิหลังของพระองค์สักหน่อย เริ่มจากที่พระองค์เป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 20 ซึ่งนับว่าอยู่ในยุคอาณาจักรใหม่ เป็นพระโอรสของ ฟาโรห์เซติที่ 2 (Setnakhte) พระองค์พยายามฟื้นฟูอำนาจอียิปต์ให้รุ่งเรือง แข็งแกร่ง เกรียงไกรเหมือนในรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 และทรงถือเป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายที่มีอำนาจแข็งแกร่งในยุคอาณาจักรใหม่ พระองค์ยังทรงเป็นที่รู้จักจากสงครามป้องกันประเทศกับ “ชาวทะเล” (Sea Peoples) และการปฏิรูปเศรษฐกิจและศาสนาอีกด้วย
ที่น่าสนใจคือเรื่อง “ชาวทะเล” นี่ละ ซึ่งบางแหล่งกล่าวว่าเป็นชาวตุรกีกับชาวปาเลสไตน์ แต่หลักฐานหลายแหล่งนิยามชาวทะเลที่รุกรานอียิปต์ว่าเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนจากยุโรปตอนโต้และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และฟาโรห์รามเสสที่ 3 พระองค์นี้ก็นำกองทัพอียิปต์เข้าต่อสู้จนเอาชนะศัตรูได้ อย่างที่เราได้เห็นจากภาพแกะสลักในวิหารแห่งนี้ที่บันทึกชัยชนะของพระองค์ไว้อย่างละเอียด
นอกจากการป้องกันทางทะเลแล้ว พระองค์ยังต้องทำสงครามป้องกันทางบกป้องกันอียิปต์จากการรุกรานของชาวลิเบียอีกด้วย และก็ทรงนำชัยชนะปราบกองทัพลิเบียได้สำเร็จ
ถึงกระนั้น พระองค์กลับมีชีวิตบั้นปลายอันน่าเศร้า เนื่องจากทรงถูกลอบปลงพระชนม์โดยคนในด้วยกันเอง มีพระมเหสีรองทียี (Tiye) ที่ต้องการให้พระโอรสของพระนางขึ้นครองราชย์แทนเป็นแกนนำ และผู้สมรู้ร่วมคิดอีก 28 คน จึงมีการเรียกแผนลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ว่า “The Harem Conspiracy”
ฟังแล้วฉันก็รู้สึกเศร้าขึ้นมา… ทรงชนะข้าศึกศัตรูทั้งทางบกทางทะเล แต่สุดท้ายถูกคนในครอบครัวทรยศหักหลัง
มีหลักฐานจากมัมมี่พระศพของพระองค์ว่าสิ้นพระชนม์จากการถูกเชือดพระศอ ซึ่งฉันก็มีโอกาสได้เห็นมัมมี่พระศพนั้นในวันสุดท้ายของทริปนี้อีกด้วย เรียกได้ว่าพอได้มาเยือนอนุสรณ์สถานของพระองค์ ได้รับรู้เรื่องราววีรกรรมและประวัติพระองค์มาก่อน พอได้เห็นพระศพที่เป็นหลักฐานจากเรื่องเล่านั้นก็ทำให้ ‘อิน’ มากขึ้นหลายเท่าเลย
ฉันถึงชอบได้ฟังเรื่องราวความเป็นมานี่ละ เพราะจะทำให้เที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ได้สนุก
ประวัติศาสตร์อียิปต์เองก็มีมนตร์เสน่ห์ในตัวเอง ในความเป็นปริศนาลึกลับ น่าค้นหา
เอาเป็นว่า อียิปต์แบบตะโกนแห่งที่สองนี่ก็ ‘ทำถึง’ จริงๆ
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 7 : อียิปต์แบบตะโกนดังๆ ว่า ‘ทำถึง’
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 6 : อียิปต์แบบตะโกน
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 5 : วิหารแห่งการแก้แค้น
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 4 : วิหารแห่งเทพจระเข้
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 3 : อาบูซิมเบล - อนุสรณ์แห่งรามเสสที่ 2
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 2 : ฟิเล วิหารที่รอดจากใต้น้ำ
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 1 : โอเบลิสก์ที่โลกลืม
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "มอนเตเนโกร เมืองในปราการขุนเขาสีดำ"
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "จักรพรรดิดิโอคลิเชียนผู้โหดร้าย"
- READ แสงสุดท้ายที่ตาพรหม "ปราสาทรากไม้ลึกลับกลางพงไพร"
- READ "See Ankor Wat and Die" แก๊งนางอัปสรในนครวัด
- READ "Sbeitla" หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน
- READ Siberia – Frozen Baikal ความลับของทะเลสาบเยือกแข็ง
- READ ฤดูร้อนกลางทะเลทรายสีขาว : มุยเน่
- READ ดินแดนแห่งอามาริเทสึ เทพีแห่งแสงอาทิตย์ และ หุบเขาทาคาชิโฮะ อุทยานแห่งทวยเทพ [Amano Iwato & Takachiho Gorge]
- READ Peles Castle ปราสาทน้อยกลางป่าสน งดงามแบบไม่ตะโกน
- READ ปราสาทแดรกคูล่ากับวลาดจอมเสียบ
- READ Unseen Italy : Matera เมืองที่เหลืองเหมือนกระดาษเก่า
- READ เมืองลึกลับในเงื้อมเขา
- READ เพราะเชียงตุงไม่ใช่ดอยตุง
- READ เร้นลับหลังคาโลก