เพราะเชียงตุงไม่ใช่ดอยตุง
โดย : พิมพ์อักษรา
คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ และเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ไม่ประวัติศาสตร์บ้าง วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง แต่ละดินแดนที่ได้ประสบพบเจอ เสมือนให้ผู้อ่านได้ท่องเที่ยวดื่มด่ำไปด้วยกัน ผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า เปิดโลก เปิดตา และเปิดใจ และที่สำคัญคือเพลิดเพลิน เหมือนชื่อของผู้เขียนนั่นเอง
สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านเรายังไม่สงบเท่าไร ดูข่าวทีไรก็หนักใจ อดนึกถึงบ้านเมืองสุขสงบที่เคยไปเยี่ยมเยือนเมื่อก่อนไม่ได้ โดยเฉพาะละแวกของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างในเชียงตุง
ฉันเคยไปเยือนเชียงตุงเมื่อหลายปีก่อน และสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เหมือนพลัดเข้าไปอยู่ในอีกโลกโดยสิ้นเชิง เสมือนกาลเวลาได้หยุดนิ่งไปหลายสิบปี ในดินแดนป่าเขาห่างไกลที่ไร้การเจือปนของโลกวัตถุนิยมและเทคโนโลยีภายนอกโดยสิ้นเชิง
และใช่ ฉันเคยพูดแบบนี้กับอีกหลายเมืองโบราณที่ผ่านมา เช่น เมืองกอเทอร์ในมอนเตเนโกร
แต่นั่นไม่เหมือนกันเลย เพราะที่เชียงตุงฉันได้เข้าไปคลุกคลีใช้ชีวิตกับคนที่นั่นจริง ๆ เกือบหนึ่งสัปดาห์เชียวนะ
สำหรับดินแดนกันดารห่างไกลที่เหมือนตัดขาดจากโลกข้างนอกอย่างนั้น ห้าวันก็นับว่านานมาก
เป็นหนึ่งในที่ที่ฉันประทับใจในความสงบงดงามและบริสุทธิ์มาก
หลายคนยังสับสนว่าเชียงตุงคือที่ไหน มักสับสนกับดอยตุง
ดอยตุงอยู่ประเทศไทย แต่เชียงตุงปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า
เดิมเชียงตุงไม่ใช่พม่า ในอดีตเชียงตุงเป็นรัฐอิสระของตัวเอง มีหลากหลายกลุ่มชนเข้ามาตั้งรกรากอาศัย และผลัดกันครอบครองเป็นใหญ่ ปัจจุบันเชียงตุงอยู่ในเขตรัฐฉานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพม่า แต่ฉันจะไม่ขอพูดถึงปัญหาการเมืองในเรื่องเล่านี้ เนื่องจากมันละเอียดซับซ้อน และฉันอยากรำลึกและให้คนได้รู้จักเชียงตุงอย่างที่ฉันได้รู้จักและสัมผัส
เชียงตุงมีชัยภูมิที่ดี มีภูเขา แม่น้ำ และที่ราบอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและสร้างอาณาจักร พญามังรายจึงสร้างเมืองเชียงตุงขึ้น แต่ต่อมาก็ตระหนักถึงภัยอันตรายจากอิทธิพลของมองโกล ที่ปกครองจีนอยู่ขณะนั้น ทรงเล็งเห็นว่าเชียงตุงใกล้จีนเกินไป จึงถอยร่นมาสร้างเมืองที่เชียงใหม่ และส่งพระญาติมาปกครองเชียงตุงแทน
ดังนั้น จึงถือว่าล้านนาเชียงใหม่ กับเชียงตุงเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน ชาวเมืองเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน เราเรียกกลุ่มชนนี้ว่า “ไทยเขิน” หมายถึงชาวเชียงใหม่ที่อยู่เชียงตุง
นอกจากกลุ่มชาวไทยเขินแล้วยังมี “ไทยใหญ่” ซึ่งเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ มี “ไทยเหนือ” หรือ “ไทยเหนอ” และเผ่าอื่น ๆ อีกเช่น อาข่า อาขื่อ อาขิ่น ปะหล่อง
ปัจจุบันเผ่าเหล่านี้อยู่รวมกันอย่างสันติ มีวัฒนธรรมสอดคล้องและแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่ก้าวก่ายหรือรังแกกัน
การเดินทางไปเชียงตุงก็ไม่ง่ายนัก ฉันออกเดินทางจากเชียงใหม่ไปถึงอำเภอแม่สาย เชียงรายแล้วต้องข้ามชายแดนท่าขี้เหล็กไปถึงพม่า จากนั้นนั่งรถต่อไปอีกเกือบห้าชั่วโมงจึงจะเข้าสู่เขตเชียงตุง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนา ทุ่งหญ้าเขียวขจี โอบล้อมด้วยขุนเขาและต้นไม้ใหญ่ อากาศดี ธรรมชาติยังสะอาดบริสุทธิ์ มองเห็นนาข้าวขั้นบันไดยาวสุดลูกหูลูกตา ยิ่งเข้าเขตเชียงตุงเท่าไรยิ่งเห็นทุ่งนาป่าเขาผืนยาวเหยียดและผืนป่าสูงแน่นทึบอย่างที่ไม่มีทางเห็นในเมืองไทยแน่ ๆ เพราะผืนป่าทุ่งนาส่วนใหญ่ในไทยล้วนถูกจับจองดัดแปลงไปหมด อย่างไรก็ต้องเห็นรีสอร์ต ร้านกาแฟหรือจุดเรียกนักท่องเที่ยว นายทุนทั้งหลายจะไม่มีทางปล่อยพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่อุดมสมบูรณ์ไว้เฉยเป็นแน่ จะต้องซื้อมาทำอะไรสักอย่าง
แต่ที่เชียงตุงเรายังเห็นผืนป่าผืนนากว้างไกลสีเขียวและเหลืองทองไกลสุดสายตาทำให้ประจักษ์ชัดถึงคำว่า “อุดมสมบูรณ์” อย่างแท้จริง
ในตัวเมืองเชียงตุงก็จะมีความเป็นเมือง ให้ความรู้สึกเหมือนเมืองเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดบ้านเราเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน แต่นั่งรถออกไปนอกเมืองก็จะเป็นทุ่งนาป่าเขา มีเผ่าต่าง ๆ อยู่กระจัดกระจาย พวกเขามีลักษณะบ้านเรือนและความเชื่อแตกต่างกันไป เช่นบ้านของชาวปะหล่องหรือกะเหรี่ยงคอยาวจะเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง มีการใช้ดินก่อสร้างด้วยบางส่วน ส่วนชาวไทยเหนอจะสร้างบ้านด้วยดินแบบดั้งเดิม และปัจจุบันก็ยังคงลักษณะบ้านแบบนั้นไว้อยู่
พวกเราพักกันกลางเมือง ติดตลาด ตอนเช้าก็เดินไปหาของกินได้ง่าย ๆ ส่วนใหญ่มีแต่ผักผลไม้ซึ่งเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง แต่พอเห็นวางบนพื้นเปื้อนฝุ่น ฉันก็เริ่มลังเล จะหันไปหาหมูปิ้งก็ให้กังขาหน่อย ๆ ว่าจะเคยอยู่บนพื้นมาก่อนหรือไม่
แต่ละวันของพวกเราหมดไปกับการไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนเผ่าต่าง ๆ พวกเขาล้วนใจดีให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้เข้ามาเยี่ยมชมบ้านแท้ ๆ ดั้งเดิมของเขาด้วยความเต็มใจ ฉันได้เห็นความเรียบง่าย ดั้งเดิม ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก ไร้สิ่งล่อตาลวงใจ ไฟฟ้าก็แทบไม่มีใช้ถือเป็นของหายากต้องใช้กันอย่างประหยัด พอได้ทดลองอยู่เองก็ต้องกลั้นใจไม่น้อย เพราะมีทั้งเรื่องฝุ่น เรื่องความสะอาด เรื่องมดแมลงและสัตว์สารพัดชนิด ช่วงเวลาที่ต้องเข้าห้องน้ำจะเป็นเวลาที่ฉันต้องทำใจมากที่สุด
หากให้นึกถึงเรื่องที่ตราตรึงในใจมากที่สุด คงเป็นครั้งที่คณะพวกเรานั่งรถผ่านทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่งที่หน้าตาเหมือนภูเขาอีกหลายลูกเพื่อไปกราบไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ในวัดเล็ก ๆ ที่มีตำนานเล่าขานพิสดารไว้มากมาย ขณะนั้นเป็นเวลาย่ำค่ำ รอบข้างมีแต่ความมืด ไร้แสงไฟสักดวง มีเพียงแสงจันทร์สว่างกลางฟ้า ไร้สรรพสำเนียงนอกจากเสียงล้อรถชาวเราบดไปตามถนนขรุขระขึ้นดอย
และแม้เป็นวัดเล็ก ๆ แต่กลับสะอาดสะอ้าน และเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นสวยงาม มีองค์พระที่งดงามอ่อนช้อย ดูสงบเรียบง่ายหากก็ประณีต พวกเราจะสวดมนต์และเวียนเทียนกันที่นี่ จะนั่งสมาธิสงบกันหน้าองค์พระปฏิมา ไม่ต้องมีพิธีกรรมเสริมใด ๆ ให้วุ่นวาย มีเพียงศรัทธา ความสงบ และความอิ่มเอมสุขใจเท่านั้น
จากนั้นชาวบ้านที่รู้ว่าเราจะขึ้นมาไหว้พระที่นี่ ก็เตรียมหุงหาอาหารไว้ต้อนรับด้วยน้ำใจล้วน ปราศจากการปรุงแต่งหวังผลหรือเรียกร้องเงินทองใด ๆ สำรับวันนั้นเป็นกับข้าวหลายอย่าง ทั้งยำผัก ผัดผัก ยำหมูยำไก่สารพัดรูปแบบ รสชาติอร่อยมาก ย้อมใจพวกเราจากก๋วยเตี๋ยวรสชืดในเมืองได้เป็นอย่างดี ภาพขณะที่พวกเราล้อมวงทานอาหารกันกลางแสงเทียนในวัดยังตราตรึงในใจฉันอยู่จนถึงทุกวันนี้
หากเมื่อตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ฉันไม่กล้าที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าบัดนี้ เชียงตุงอันสุขสงบที่ฉันเคยสัมผัสจะเป็นอย่างไรบ้าง แม้จะรู้ว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปรไปตามกาลเวลา ก็อดใจหายไม่ได้อยู่ดี
ขอความสงบสุขนั้นกลับคืนเชียงตุงโดยเร็วด้วยเถิด
- READ ดินแดนแห่งอามาริเทสึ เทพีแห่งแสงอาทิตย์ และ หุบเขาทาคาชิโฮะ อุทยานแห่งทวยเทพ [Amano Iwato & Takachiho Gorge]
- READ Unseen Italy : Matera เมืองที่เหลืองเหมือนกระดาษเก่า
- READ เมืองลึกลับในเงื้อมเขา
- READ เพราะเชียงตุงไม่ใช่ดอยตุง
- READ เร้นลับหลังคาโลก
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "มอนเตเนโกร เมืองในปราการขุนเขาสีดำ"
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "จักรพรรดิดิโอคลิเชียนผู้โหดร้าย"
- READ แสงสุดท้ายที่ตาพรหม "ปราสาทรากไม้ลึกลับกลางพงไพร"
- READ "See Ankor Wat and Die" แก๊งนางอัปสรในนครวัด
- READ "Sbeitla" หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน