ทำไมต้องเรียกว่า??

ทำไมต้องเรียกว่า??

โดย : Blossom Hoya

Loading

ไดอารี่เที่ยงวัน by Blossom Hoya กับการบันทึกช่วงเวลาว่างๆ ยามขี้เกียจหลังมื้อกลางวันที่ขอแชร์เรื่องราวอยากเล่าตามใจคนเขียน ไม่มีธีม ไม่มีประเด็นหลัก เพราะเที่ยงวันจะทำอะไรก็ได้ และทุกยามว่างคือเวลาทองแห่งการพักผ่อน … มาเติมพลังชีวิตไปกับอ่านเอาและย่ากันนะคะ

เคยไหมคะ นั่งเฉยๆ สมองก็ดันไปเผลอคิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง บางทีก็เกิดสงสัยเรื่องบางอย่างที่ร้อยวันพันปีไม่เคยสงสัย อย่างกลางวันนี้ย่ากินแก้วมังกรอยู่ ก็เกิดสงสัยขึ้นมา ทำไมต้องเรียกว่าแก้วมังกร หันไปมองถุงกล้วยแขกก็คิด…ทำไมต้องเรียกว่ากล้วยแขก ทำไมไม่เรียกกล้วยทอด แต่มันไม่จบแค่นี้น่ะสิ เพราะมีคำอื่นๆ ที่หาข้อมูลไปแล้วเจอ พอเจอแล้วก็อ๋อออออ เป็นแบบนี้นี่เอง

เรียก “แก้วมังกร” เพราะผลมีรูปร่างคล้ายลูกแก้วที่มีเปลวไฟที่อยู่ระหว่างมังกร 2 ตัว ที่หันหน้าเข้าหากัน โดยเปลวไฟบนลูกแก้วมีลักษณะคล้ายกับกลีบที่ติดอยู่บนผลของแก้วมังกร แต่บางข้อมูลบอกง่ายๆ แบบไม่ต้องลงสตอรี่ยาวๆ ว่า ก็เปลือกของแก้วมังกรเหมือนเกล็ดมังกร ย่าก็สงสัยต่อว่าคนที่คิดแบบนี้ เขาเคยเห็นมังกรเหรอเนี่ย?

เรียก “กล้วยแขก” เพราะคนอินเดียที่เราชอบเรียกว่า คนแขกเป็นคนทำ!! แล้วชาวเราคนไทยก็รับวัฒนธรรมการปรุงอาหารมาจากประเทศนี้เข้าอย่างจัง โดยเฉพาะเมนูทอด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกล้วยทอด เราก็เลยเรียกว่า กล้วยแขก!

แต่มีอีกข้อมูลหนึ่งบอกว่า คำว่า ‘แขก’ ในภาษาไทยแต่เดิมหมายถึง “แปลก” ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และการที่เรียกผู้มาเยือนว่า “แขก” ก็หมายถึงคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่เจ้าบ้านหรือเป็นคนต่างถิ่น เลยสันนิษฐานว่า “กล้วยแขก” ก็น่าจะหมายถึง การปรุงกล้วยด้วยวิธีการที่แปลกออกไปจากอาหารคาวหวานแบบเดิมๆ

จากกล้วยแขก เลยเถิดมาที่ “กล้วยน้ำว้า” น้ำว้าคืออะไร? ว่ากันว่า ชื่อของกล้วยพันธุ์นี้มาจากแหล่งกำเนิดคือ แถวๆ แม่น้ำว้าหรือลำน้ำว้าที่ไหลผ่านอำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน โดยแม่น้ำว้าไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอเวียงสา แถวๆ ปากน้ำของลำน้ำว้าที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างกว้างมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ต่างๆ

นั่งต่ออีกนิด เพราะเวลาพักยังเหลืออีกหน่อย ก็นึกไปถึงข้าวกลางวันที่เพิ่งกินไปเมื่อกี้ ก็เอ…ทำไมต้องเรียก “ข้าวเจ้า” เอ้า…เดาออกไหมคะ เฉลยแบบไม่ต้องรอนานว่า เมื่อก่อนข้าวที่เกี่ยวมาจะนำข้าวเปลือกมาตำในครกให้เปลือกหลุดออกไปกลายเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือที่มีสีขุ่นๆ ไม่ขาวสวย พอมีการสีข้าวเข้ามา ทำให้ได้ข้าวขาวสวย แต่ราคาค่าสีข้าวก็แพงมาก จะมีก็แต่ชนชั้นเจ้านายเท่านั้นที่มีกำลังจะจ่าย ชาวบ้านเลยเรียกข้าวที่สีจนขาวว่า “ข้าวเจ้า”

หลุดจากเรื่องอาหารการกินมาสักนิด เอาเป็นเรื่องรอบตัวกันบ้าง ห้องสมุดที่สมัยเรียนต้องเข้าบ่อยๆ ทำไมถึงเรียกแบบนั้น ก็ในเมื่อใน “ห้องสมุด” เต็มไปด้วยหนังสือ แล้วสมุดก็ใช้จดนั่นนี่ แต่หนังสือคือมีไว้ให้อ่านไม่ได้ไว้เขียนอะไรแบบนั้น หาข้อมูลไปก็ได้เรื่องค่ะ

“สมุด” เป็นคำไทยดั้งเดิมที่ใช้เรียกแผ่นกระดาษที่พับทบไปมาใช้สำหรับเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงไว้ด้วยลายมือ  พอเขียนเสร็จก็จะพับเป็นปึกหนาประมาณ 2-3 นิ้วแล้วเรียกว่า ‘สมุด’ ซึ่งกระดาษปึกหนึ่งที่เขียนเสร็จคือ “หนังสือ” สถานที่เก็บรวมรวบสมุดจึงได้ชื่อว่า “ห้องสมุดหรือหอสมุด” ยังไงละคะ

มาอีกคำที่ได้ยินบ๊อยบ่อยในช่วงหลังๆ คำๆ นั้นคือ “เมถุน” ตอนแรกย่าก็งงว่า เมถุนคือมิถุนายนไม่ใช่เหรอ ทำไมพอพระทำผิดวินัยไปยุ่งกับสีกา ถึงใช้คำว่าเสพเมถุน

ข้อมูลที่หาได้บอกว่า ‘เมถุน’ ในภาษาไทยมี 2 ความหมาย คือ

“เมถุน” อ่านว่า เม-ถุ-นะ มาจากภาบาลี หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ ใช้เฉพาะกับภิกษุโดยเฉพาะ

“เมถุน” เป็นชื่อราศีลำดับที่ 3 ในจักรราศีมาจากภาษาสันสกฤตว่า มิถุน อ่านว่า มิ-ถุ-นะ แปลว่า คู่หรือฝาแฝด ซึ่งถ้านึกไปถึงภาพของกลุ่มดาวในจักรราศีก็คือภาพคนคู่นั่นเอง

ฉะนั้น คำว่า เมถุน ซึ่งเป็นชื่อราศี จึงเป็นคนละคำกับ เมถุน ในที่สื่อความหมายถึงการเสพเมถุน เพราะมีที่มาและความหมายแตกต่างกันเพราะแบบนี้ยังไงละคะ ทีนี้คงอยู่ที่ว่าตอนใช้งานเนี่ย ใช้ในบริบทไหน

ความจริงแล้ว ความสงสัยของย่ายังไม่หมด แต่หมดเวลาพักเบรคแล้วจริงๆ ว่างๆ ย่าค่อยมาหาข้อมูลเพิ่มความรู้เติมหยักสมองให้ตัวเองใหม่ละกัน มีคำไหนน่าสนใจ จะเอามาฝากอีกนะคะ

 

Don`t copy text!