ขี้ลืมขนาดนี้ ผิดปกติหรือเปล่า…แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?

ขี้ลืมขนาดนี้ ผิดปกติหรือเปล่า…แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?

โดย : นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ

Loading

นอกจาก อ่านเอา จะอยากให้ทุกคนมีความสุขกับนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังอยากให้ทุกคนมีสุขภาพกายที่ดีควบคู่ไปกับสุขภาพใจที่ยอดเยี่ยม จึงผุดคอลัมน์ “สุขภาพดีกับหมอโอ๊ต” โดย นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ มาให้ทุกคนได้อ่านและดูแลตัวเองและคนที่รัก เพื่อการใช้ชีวิตที่ดี เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเกรดเอ

…………………………………………..

“จริงหรือไม่

ที่ผู้สูงวัยมีอาการหลงลืมได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว

 

ขี้ลืมขนาดนี้ ผิดปกติหรือเปล่า… แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น หลายคนพบว่าตัวเองขี้ลืมกว่าเก่า เอากุญแจบ้านไปวางไว้ที่ไหนนะ ปิดประตูรั้ว ปิดแก๊สแล้วหรือยัง

จริงหรือไม่ที่ผู้สูงวัยมีอาการหลงลืมได้มากกว่าวัยหนุ่มสาว ความเข้าใจนี้เป็นความจริงครับ

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์สมองและระบบต่างๆ จะทำงานช้าลงไปตามวัย รวมถึงสมองส่วนความจำ ดังนั้น เราจึงพบว่าเมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะขี้หลงขี้ลืมได้ง่าย

หลายคนอาจกังวลว่า นี่เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์หรือเปล่า ขอตอบว่า ถ้าเป็นการหลงลืมทั่วๆ ไป เช่น ลืมชื่อคนที่เพิ่งเคยพบกัน ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นการหลงลืมที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ

แต่ถ้าหากเป็นการหลงลืมบางอย่าง เช่น เห็นปากกาแล้วนึกไม่ออกว่าของสิ่งนี้ใช้ทำอะไร เห็นสุนัขแล้วนึกไม่ออกว่าสัตว์ชนิดนี้เรียกว่าอะไร นี่คือการหลงลืมที่ผิดปกติ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ แบบนี้ต้องไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมนะครับ

สำหรับอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นตามวัยนั้น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย มีคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารสมองและความจำดังนี้ครับ

 

ทิปต่างๆ เพื่อบริหารสมองและความจำ

1. สร้างความเชื่อมโยง เพื่อกระตุ้นความทรงจำ เมื่อพบหรือรู้จักผู้คนใหม่ๆ พยายามจดจำชื่อของพวกเขา โดยสร้างความเชื่อมโยงกับสิ่งของต่างๆ เช่น ชื่อดุจดาว ก็ให้คิดว่าผู้หญิงคนนี้เหมือนกับดวงดาว ชื่อเกรียงไกร ก็ให้คิดว่าผู้ชายคนนี้มีพละกำลังแข็งแกร่ง เป็นต้น วิธีบริหารสมองแบบนี้อาจยากและไม่คุ้นเคยในช่วงแรก แต่ถ้าหากลองทำดูบ่อยๆ จนเคยชิน พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นสมองและความจำได้เป็นอย่างดีครับ

2. เก็บสิ่งของไว้ในที่เดิมเป็นประจำ ลองเก็บสิ่งของต่างๆ เช่น กุญแจรถยนต์ กุญแจบ้าน สมุด ปากกา เอาไว้ในที่เดิมเป็นประจำ การทำเช่นนี้ นอกจากเป็นการฝึกความจำแล้ว ยังช่วยลดความกังวลเรื่องหาของไม่พบหรือหลงลืมสิ่งของอีกด้วยนะครับ

3. ใช้เครื่องมือช่วยจำ เช่น จดวันสำคัญต่างๆ ของตนเองและคนรอบข้างลงในปฏิทิน หรือตั้งค่าในโทรศัพท์มือถือเอาไว้ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น เพื่อช่วยลดความกังวลว่าจะลืมวันสำคัญของคนสำคัญครับ

 

4. สร้างสัญลักษณ์ในการช่วยจำ บางครั้งตัวเลขยาวๆ อย่างเช่น ทะเบียนรถยนต์ เป็นสิ่งที่จำได้ยาก โดยเฉพาะในผู้สูงวัย การสร้างสัญลักษณ์ช่วยจำจะทำให้ท่านจดจำตัวเลขที่มีความสำคัญได้ง่ายขึ้น เช่น ทะเบียนรถ 1 ทร 20 เราอาจสร้างสัญลักษณ์ช่วยจำเป็น ‘1 ทุเรียน มี 20 ลูก’ เป็นต้น

5. อ่านหนังสือทุกวัน และพยายามสรุปสิ่งที่อ่านเป็นประเด็น อาจจะสรุปในใจหรือจดออกมาเป็นตัวหนังสือก็ได้ สิ่งนี้จะช่วยให้สมองทุกส่วนทำงานประสานกันเป็นอย่างดีครับ

6. ฝึกบริหารสมองและความจำในชีวิตประจำวัน เมื่อจะออกไปซื้อของนอกบ้าน ให้จดรายการเอาไว้ว่าจะซื้ออะไรบ้าง ระหว่างทางให้ทดลองนึกทวนรายการสิ่งของที่จะซื้อในใจ เป็นการบริหารสมองและช่วยทดสอบความจำได้เป็นอย่างดีครับ

7. ย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น เมื่อพบว่าตัวเองลืมอะไรบางอย่าง เช่น หากเดินเข้าไปในห้อง แล้วเกิดลืมว่าเดินเข้ามาทำอะไร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ย้อนกลับไปที่ประตูแล้วลองเดินเข้ามาใหม่ ช้าๆ ระหว่างนั้นพยายามนึกทบทวนไปด้วยครับว่าเราเข้ามาทำไม อาจจะต้องทำแบบนี้ซ้ำสองสามครั้ง พบว่าไม่นานก็จะนึกออกในที่สุด

เคล็ดลับทั้ง 7 ข้อนี้ แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ และถ้าหากเราสามารถทำได้ ก็จะช่วยบริหารสมอง บริหารความจำของเราได้เป็นอย่างดีครับ

 

Don`t copy text!