ดื่มน้ำร้อนหรือดื่มน้ำเย็น แบบไหนดีกว่ากันนะ?

ดื่มน้ำร้อนหรือดื่มน้ำเย็น แบบไหนดีกว่ากันนะ?

โดย : นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ

Loading

นอกจาก อ่านเอา จะอยากให้ทุกคนมีความสุขกับนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังอยากให้ทุกคนมีสุขภาพกายที่ดีควบคู่ไปกับสุขภาพใจที่ยอดเยี่ยม จึงผุดคอลัมน์ “สุขภาพดีกับหมอโอ๊ต” โดย นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ มาให้ทุกคนได้อ่านและดูแลตัวเองและคนที่รัก เพื่อการใช้ชีวิตที่ดี เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเกรดเอ

…………………………………………..

คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบดื่มน้ำร้อน บางคนชอบดื่มน้ำเย็น เคยสงสัยไหมครับว่าที่จริงแล้ว น้ำร้อนกับน้ำเย็น อะไรมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ากัน วิจัยของ Dr. Neha Sanwalka กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนศาสตร์จากโรงพยาบาล Jehangir Hospital ประเทศอินเดีย (1) มีคำตอบที่น่าสนใจครับ

คุณหมอ Neha พบว่าที่จริงแล้วทั้งน้ำอุ่นและน้ำเย็นล้วนมีประโยชน์ทั้งคู่ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกดื่มน้ำแบบไหนในสภาวะเช่นไร น้ำอุ่นช่วยส่งเสริมให้ระบบย่อยอาหารทำงานง่ายขึ้น เนื่องเพราะว่าอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกายของคนเรา ขณะที่น้ำเย็นมีประโยชน์มากในคนที่เป็นลมแดด ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายที่สูงให้กลับลงมาเป็นปกติโดยเร็ว

เมื่อคนเราดื่มน้ำเข้าไป ระบบต่างๆ ในตัวของคนเรา จะช่วยกันปรับอุณหภูมิของน้ำดื่มให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกายมากที่สุด เพื่อที่การย่อยและดูดซึมจะเป็นได้โดยสะดวก การดื่มน้ำอุ่นหรือดื่มน้ำเย็นจึงส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันครับ

 

ข้อดีของการดื่มน้ำอุ่นๆ มีดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น การแพทย์แผนตะวันออกไม่ว่าจะเป็นอายุรเวทย์ของอินเดียหรือแพทย์แผนจีน ล้วนมีข้อแนะนำเหมือนกัน ให้เราดื่มน้ำอุ่นวันละ 1 แก้วในตอนเช้าที่ตื่นนอน อุณหภูมิอุ่นๆ ของน้ำจะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการทำงานของระบบทางเดินอาหาร กับทั้งป้องกันท้องผูกได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ
  • น้ำอุ่นยังช่วยให้เกิดความสดชื่น ผิวพรรณสดใส คุณสามารถเพิ่มรสและกลิ่นได้ด้วยการฝานมะนาวเติมลงไปในน้ำอุ่นก่อนจะดื่มครับ
  • อุณหภูมิอุ่นๆ ของน้ำ จะช่วยลดอาการแน่นจมูก หายใจไม่สะดวกของคนที่เป็นภูมิแพ้ได้ดีมาก
  • น้ำอุ่นมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือช่วยให้หลอดเลือดต่างๆ ในร่างกายขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ สะดวกขึ้น นั่นหมายความว่าหากเรามีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยง ช่วยลดอาการอ่อนล้าและลดปวดได้เป็นอย่างดีครับ

และงาน วิจัยฉบับเดียวกันของคุณหมอ Neha บอกให้เรารู้ว่าการดื่มน้ำเย็น จะมีประโยชน์มากๆ ในกรณีดังต่อไปนี้ครับ

  • การออกกำลังกายหนักๆ จะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น การดื่มน้ำเย็นๆ หลังการออกกำลังกายจะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น และอุณหภูมิลดลงเป็นปกติได้โดยเร็วครับ
  • การอยู่ในสถานที่อุณหภูมิสูงๆ หรือฤดูร้อนที่อากาศร้อนมากกว่าปกติ การดื่มน้ำเย็นจะช่วยป้องกันตัวเราจากการเป็นลมแดดครับ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาพบว่าร่างกายสามารถดูดซึมน้ำเย็นได้เร็วกว่าน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นครับ
  • นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า การดื่มน้ำเย็นเป็นประจำมีผลช่วยลดน้ำหนักได้โดยทางอ้อม นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำเย็นมีผลกระตุ้นให้ร่างกายมีกระบวนการเมตาบอลิซึมหรือเผาผลาญสารอาหารมากขึ้น การดื่มน้ำเย็นและอาบน้ำเย็น จึงช่วยให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น มีผลช่วยลดน้ำหนักไปด้วยในตัว

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรดีที่สุดและไม่มีอะไรแย่ที่สุด น้ำอุ่นก็มีประโยชน์ในแบบของน้ำอุ่น และน้ำเย็นก็มีประโยชน์ในแบบของน้ำเย็น ถ้าจะสรุปกันอีกทีคงต้องบอกว่า น้ำเย็นจะมีประโยชน์มากๆ หลังจากการออกกำลังกาย เพราะช่วยให้ร่างกาย cool down ลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าดื่มน้ำเย็นทันทีหลังจากรับประทานอาหารอิ่มอาจจะไม่เหมาะ เพราะร่างกายต้องทำงานหนักในการปรับอุณหภูมิของอาหารให้เข้าสู่สมดุล

อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีข้อมูลเพียงพอที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจ ว่าเวลาดื่มน้ำแต่ละแก้ว คุณควรเลือกดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น ถึงจะมีประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย

 

รู้หรือไม่ ??

  • มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากน้ำแข็งมานานหลายร้อยปีแล้ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้ว่ากองทัพเรือของเจิ้งเหอถนอมอาหารด้วยการตัดเอาน้ำแข็งมาจากแม่น้ำที่แข็งตัวในฤดูหนาว ใส่ลงไปในท้องเรือ เปลี่ยนให้ห้องใต้ท้องเรือซึ่งบุด้วยทองแดง กลายเป็นห้องเย็นขนาดย่อมๆ เพื่อแช่อาหารสดให้กับกองทัพระหว่างออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ทำนองเดียวกับกองเรือของวาสโกดากามาและนักเดินทางโดยทางเรือที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนก็ใช้วิธีเดียวกัน
  • สำหรับคนไทย มีบันทึกเกี่ยวกับน้ำแข็งอย่างเป็นทางการในช่วงราวรัชกาลที่ 5 แต่มีเอกสารและจดหมายหลายฉบับของบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือ Dutch VOC (Vereenigde Oost-indische Compagnie) ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา มีเนื้อความพูดถึงการตัดเอาน้ำแข็งมาจากแม่น้ำในฤดูหนาว สำหรับนำมาใช้ถนอมอาหารในการเดินเรือ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่าคนไทยอาจจะรู้จักน้ำแข็งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

เชิงอรรถ :

(1) Water Intake, Dietary Fibre, Defecatory Habits and its Association with Chronic Functional Constipation

V Jangid, M Godhia, N Sanwalka, A Shukla. Current Research in Nutrition and Food Science 4 (2), 90

 

Don`t copy text!