แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้ได้ อ่านออนไลน์
กราบเรียนลุงป้าน้าอาที่เคารพรัก หากแม้นวันใดท่านนั่งมองท้องฟ้าแล้วถอนหายใจเฮือก รู้สึกเปลี้ยๆ เหมือนกำลังจะหมดไฟ ขอให้ลองนึกถึงเรื่องราวที่จะขอเล่าต่อไปนี้ เรื่องราวสุดพิเศษของแม่บ้านอายุทะลุสี่สิบท่านหนึ่ง ที่จากเดิมแทบจะไม่มีพื้นเพทางศิลปะมาก่อนเลย อยู่ดีๆ ก็ฮึดขึ้นมาจัดหนัก มุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานมากมาย จนกลายเป็นศิลปินอันดับต้นๆ ของชาติไทยในเวลาแค่หลักเดือน แม่บ้านมหัศจรรย์ท่านนี้มีนามว่า มีเซียม ยิบอินซอย
เดิมทีชีวิตของมีเซียมก็ไม่ต่างจากแม่บ้านปกติทั่วไป พบรัก แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก ดูแลบ้าน ทำสวน เธอมีลูก 5 คน แต่โชคร้ายหน่อยที่ลูกคนที่ 2 ของเธอป่วยเป็นโรคโปลิโอ หลังจากลองพยายามขวนขวายหาหมอรักษาในเมืองไทยแต่อาการก็ไม่ยักจะดีขึ้น คุณแม่มีเซียมในวัย 40 หน่อยๆ จึงพาลูกบินลัดฟ้าไปรักษาตัวที่ยุโรป และอยู่เคียงคู่คอยดูแลอาการเป็นเวลาปีเศษ ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศเธอได้มีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ และได้เห็นผลงานศิลปะดังๆ ชิ้นสำคัญของโลกมากมาย มีเซียมค้นพบว่าแนวศิลปะที่เธอหลงใหลเป็นพิเศษคือแนว ‘อิมเพรสชันนิสต์’ ที่ใช้สีสันรุนแรงปาดด้วยฝีแปรงที่หนักแน่นบนผืนผ้าใบ ดูน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับตัวเธอเป็นยิ่งนัก
“แจกันดอกไม้” พ.ศ. 2510 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 70 x 60 เซนติเมตร
เมื่อมีเซียมกลับมาเมืองไทยในราวปี พ.ศ. 2491 เพราะติดตากับงานศิลปะแนวแปลกใหม่ที่พบเห็นในต่างแดน เธอมาพิจารณามองดูภาพวาดที่เธอเคยซื้อหามาประดับบ้านตัวเองในสมัยก่อนๆ ไอ้ที่เคยรู้สึกว่าสวยไฉนคราวนี้ถึงดูหงอยๆ จืดชืด ขาดรสชาติไปถนัดตา เมื่อไปเดินเลือกหาภาพวาดตามแกลเลอรีต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นมีที่ถูกตาต้องใจเลยสักภาพ เมื่อเป็นซะอย่างนี้ มีเซียมเลยกะว่าจะวาดภาพขึ้นมาในแบบที่ชอบ แล้วเอามาแขวนฝาบ้านตัวเองซะเลย ไม่ต้องง้อใครให้เมื่อยตุ้ม
ก่อนหน้านี้พื้นฐานทางศิลปะที่มีเซียมมี คือการออกแบบเครื่องประดับและเสื้อผ้ากระหยุมกระหยิมใส่เองเท่านั้น พอตั้งใจจะวาดภาพเลยต้องไปหาครูมาสอนก่อน ด้วยคำแนะนำของเพื่อน มีเซียมได้พบกับ มูเน ซาโตมิ ทูตวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่มีดีกรีด้านศิลปะจากประเทศฝรั่งเศส มูเนตกลงปลงใจจะรับเธอเป็นลูกศิษย์ ในวันแรกที่มีเซียมไปเรียนวาดภาพที่บ้านของมูเน เธอหอบเฟรมผ้าใบ พู่กัน และสีไปพะรุงพะรัง มูเนบอกให้เธอค่อยๆ เอาดินสอปากกามาฝึกร่างภาพบนกระดาษให้ถนัดก่อนแล้วถึงเริ่มหัดระบายสี แต่มีเซียมไม่ยอม เธอให้เหตุผลว่าเธอแก่ปูนนี้แล้วไม่มีเวลาในชีวิตเยอะแยะมานั่งเริ่มทีละเสต็ปเหมือนวัยรุ่นหรอก จึงจะขอเรียนลัดเลย
เมื่อเจอลูกศิษย์รุ่นอาวุโสยืนกรานมาซะหนักแน่นขนาดนี้ มูเนเลยต้องตามใจ ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน แต่มีเซียมก็เริ่มเรียนศิลปะอย่างจริงจังครั้งแรกในชีวิตโดยการวาดภาพสีน้ำมันเลย พอยิ่งวาดก็ยิ่งติด อินจัดขนาดรู้สึกเศร้าโศกทุกครั้งที่ต้องวางพู่กันไปนอน มีเซียมชอบวาดวิวและมุมต่างๆ รอบๆ บ้าน เธอวาดของเธอแทบทุกวัน จากภาพแรกๆ ที่ดูไม่ได้เรื่องเหมือนไก่เขี่ย ฝึกไปบ่อยๆ ก็เริ่มดูเป็นมนุษย์มนาดูสวยขึ้นเป็นลำดับ คงเป็นเพราะมีเซียมเป็นคนที่มีรสนิยมดีเป็นทุนเดิม อีกทั้งได้เคยเห็นของสวยงามจากทั่วโลกมามาก มิหนำซ้ำยังกล้าลองผิดลองถูกถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ที่แท้จริงผ่านสีและจังหวะพู่กันออกมา ถึงภาพจะดูเบี้ยวๆ บูดๆ ซะหน่อยเพราะไม่มีพื้นฐานการดรออิ้ง แต่งานศิลปะของเธอกลับมีเอกลักษณ์อย่างน่าประหลาด
“วิถีแห่งความฝัน” รางวัลเหรียญทองการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2492
(ภาพจาก หนังสือ สวนศิลป มีเซียม ยิบอินซอย)
พอย่างเข้าเดือนที่สิบในการเรียนวาดภาพ มูเนก็คะยั้นคะยอให้มีเซียมลองส่งผลงานศิลปะเข้าร่วมการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งครั้งนั้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2492 ภาพแรกที่ส่งชิงรางวัลเป็นภาพวาดวิวซอยชิดลม วาดด้วยสีน้ำมันหนาๆ แบบฉับไวในแนวอิมเพรสชันนิสต์ ในภาพเห็นเป็นทางเดินคดเคี้ยวลึกเข้าไปสุดลูกหูลูกตา ทางเดินนั้นขนาบข้างไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านโน้มเข้าหากันอย่างฝืนๆ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ให้ความรู้สึกลึกลับแบบแปลกๆ ภาพนี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘วิถีแห่งความฝัน’ เมื่อถึงวันตัดสินปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง พอได้รับเกียรติยศสูงสุดของชาติในทางศิลปะเช่นนี้ มีเซียมทั้งดีใจและตกใจกับรางวัลที่อยู่ดีๆ ก็ได้รับอย่างไม่เคยคาดคิด แต่ในเวลาเดียวกันในอีกมุมหนึ่ง เธอกลับรู้สึกเครียดเพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เธอได้รับอาจจะเป็นแค่ความฟลุก ถ้าส่งงานศิลปะเข้าประกวดครั้งหน้าก็ไม่แน่ว่าจะได้รับรางวัลอีก เธออาจจะถูกครหาว่าเป็นแค่ศิลปินภาพเดียว ดังตูมเดียว เหมือนพลุแล้วก็ดับหายไป
เมื่อถึงการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2 มีเซียมก็ตัดสินใจส่งผลงานศิลปะเข้าประชันอีกอย่างลุ้นระทึก คราวนี้เธอส่งภาพวิวบนเกาะฮาวายเข้าชิงชัยกับเหล่าปรมาจารย์ยอดมนุษย์ในวงการศิลปะของไทยอีกมากมาย เมื่อผลออกมามีเซียมก็ได้รับรางวัลเหรียญทองอีก เป็นการพิสูจน์ว่าเธอเป็นศิลปินที่มีความสามารถอย่างแท้จริง สร้างความมั่นใจให้เธออีกเป็นกอง และในปีถัดมา ณ การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 คุณภาพผลงานของมีเซียมก็ยังคงเส้นคงวา ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลเหรียญทองจากภาพวิวทะเลที่เธอส่งเข้าร่วมงาน สรุปรวมว่าได้รับรางวัลเหรียญทอง 3 ปีซ้อน ตามกฎของงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ถ้าหากศิลปินท่านไหนได้รับรางวัลเหรียญทองครบ 3 ครั้ง จะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ซึ่งนับว่าเจ๋งที่สุดในวงการศิลปะสมัยนั้น (แต่ก่อนยังไม่มีตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ) มีเซียม ยิบอินซอย จึงถูกจับพลัดจับผลูกลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของประเทศไทยไปแบบตั้งตัวไม่ทัน
มีเซียม ยิบอินซอย (ซ้าย) มูเน ซาโตมิ (กลาง) ศิลป์ พีระศรี (ขวา)
(ภาพจาก หนังสือ สวนศิลป มีเซียม ยิบอินซอย)
พอมีเซียมได้ขึ้นหิ้งเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว มีข้อบังคับว่าศิลปินระดับนี้ไม่สามารถส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติได้อีก แต่ความอินในอาร์ตก็ยังเต็มเปี่ยม เธอจึงผันตัวไปเป็นกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของงานแทน และก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะส่งมาโชว์เฉยๆ แบบไม่เอารางวัลในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งต่อๆ มาอีกหลายต่อหลายปี
มีเซียมทุ่มเทเขียนภาพสีน้ำมันอยู่หลายปี เริ่มรู้สึกจำเจ เกิดอาการเซ็งเข้าครอบงำ เลยตัดสินใจไปปรึกษา ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ อาจารยศิลป์แนะนำให้มีเซียมหันมาฝึกการดรออิ้งเพื่อช่วยให้ฝีมือการวาดภาพพัฒนาขึ้นไปอีก แต่มีเซียมต้องการจะเรียนรู้วิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ ดูบ้าง โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่อาจารย์ศิลป์เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อาจารย์ศิลป์ก็รับปากจะสอนปั้นรูปให้ โดยมีข้อแม้ว่าถ้าจะมาเรียนกับท่านต้องไม่มีการเรียนลัดตัดตอนเหมือนสมัยที่เธอฝึกระบายสีน้ำมันอีก เธอต้องมาปั้นดินเป็นรูปหัวคนแบบกรีก แบบโรมัน ให้ได้เป็นร้อยๆ หัวเพื่อฝึกพื้นฐานให้แม่นยำก่อน ท่านถึงจะยอมให้มีเซียมปั้นงานสร้างสรรค์ของตัวเองได้
ด้วยหลักสูตรการสอนที่เคร่งครัดจากอาจารย์ศิลป์ ทำให้มีเซียมเบื่อจัดจนแทบจะเลิกล้มความตั้งใจที่จะเป็นประติมากร แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นโชคดีสำหรับเธอแต่ไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่าสำหรับอาจารย์ศิลป์ วันหนึ่งอาจารย์ศิลป์เกิดป่วยเป็นหวัด ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชควบคุมการฝึกฝนของเธอที่มหาวิทยาลัยศิลปากรนับสัปดาห์ ในช่วงปล่อยผีนี้เองที่มีเซียมได้สังเกตเห็นแม่บ้านของมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ดูมีโครงหน้าน่าสนใจ มีเซียมเลยคะยั้นคะยอขอให้แม่บ้านมาช่วยเป็นแบบปั้น มีเซียมปั้นหัวแม่บ้านอยู่หลายวันจนเสร็จสมตามประสงค์ เมื่ออาจารย์ศิลป์หายหวัดกลับมาเห็นรูปปั้นแม่บ้านฝีมือของเธอที่มหาวิทยาลัย ก็รู้สึกไว้วางใจในฝีมือและอนุญาตให้กลับไปทำงานต่อเองที่บ้านได้ ไว้ถ้าสงสัยอะไรก็ค่อยมาปรึกษา
งานแสดงเดี่ยวที่ สยามสมาคม พ.ศ. 2506
(ภาพจาก หนังสือ สวนศิลป มีเซียม ยิบอินซอย)
ด้วยหัวใจที่พองโต มีเซียมเลยลุยแหลก ปั้นหล่องานศิลปะแทบทุกวัน หวังว่าจะเอามาประดับให้เต็มสวนรอบๆ บ้านเช่นเดียวกับภาพวาดของเธอ ผลงานประติมากรรมของมีเซียมก็เป็นแบบอิมเพรสชันนิสต์ด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก โอกุสต์ รอแด็ง ประติมากรที่มีเซียมชื่นชอบเป็นพิเศษ รูปปั้นของเธอมักเป็นรูปคนในอิริยาบถต่างๆ ทั้งปีนป่าย กลิ้งเกลือก หกคะเมนตีลังกา แต่ละคนมีคอยืดๆ แขนเรียวๆ ในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนไม่ซ้ำใคร เห็นแต่ไกลก็เดาได้ว่านี่คือฝีมือของเธอ ผลงานประติมากรรมของมีเซียมจึงมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะไม่น้อยกว่าภาพเขียนของเธอเลย
ในบั้นปลายชีวิตมีเซียมยังคงมุมานะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง เธอได้รับเชิญไปร่วมแสดงผลงานศิลปะในงานต่างๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศบ่อยครั้ง ได้รับตำแหน่งอัศวินสาขาศิลปศาสตร์จากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาประติมากรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และตั้งแต่เริ่มเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะ เธอยังเป็นผู้อุปถัมภ์กิจกรรมทางศิลปะอยู่เนืองๆ เขียนบทความ ตั้งกองทุน และสนับสนุนศิลปินรุ่นต่อๆ มา สร้างคุโณปการให้กับวงการศิลปะของไทยอย่างมากมาย
นี่แหละเรื่องราวของแม่บ้านมหัศจรรย์ที่กำลังจะเข้าวัยทองแต่กลับมองว่าอายุก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข ตราบใดที่หัวใจยังสาวยังหนุ่ม มีความรักบวกกับความมุมานะในสิ่งที่ทำ ก็ไม่สายเกินไปที่จะริเริ่มอะไรใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จแซงหน้าคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้แบบชิลๆ
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี