เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“ในงานประมูลระดับนานาชาติที่ภาพวาดชิ้นนั้นประมูลได้ 10 ล้าน
ภาพวาดชิ้นนู้นประมูลได้ 100 ล้าน
ภาพวาดชิ้นโน้นประมูลได้ 1000 ล้าน
เสพข่าวพรรณนี้เข้าไปมากๆ จนทำให้รู้สึกราวกับว่า…
การประมูลศิลปะเป็นเรื่องของมหาเศรษฐี “
ในงานประมูลระดับนานาชาติที่ภาพวาดชิ้นนั้นประมูลได้ 10 ล้าน ภาพวาดชิ้นนู้นประมูลได้ 100 ล้าน ภาพวาดชิ้นโน้นประมูลได้ 1,000 ล้าน เสพข่าวพรรค์นี้เข้าไปมากๆ จนทำให้รู้สึกราวกับว่าการประมูลศิลปะเป็นเรื่องของมหาเศรษฐี เจ้าชายอาหรับ ผู้นำเผด็จการ ดาราฮอลลีวูด ที่ต้องมีเงินเป็นกองเท่าภูเขาเลากาแบบที่ใช้ชาตินี้ยันชาติหน้าก็ไม่หมดถึงจะมีสิทธิ์ไปเอี่ยวได้ ชาวบ้านตาดำๆ ธรรมดาที่มีใจรักศิลปะอย่างเราคงไม่น่าจะมีปัญญาไปข้องเกี่ยวอะไร แต่ด้วยต่อมเผือกที่อยากจะรู้อยากจะเห็นไปหมดเสียแทบทุกเรื่อง เราเลยลองทำตัวเบลอๆ เข้าไปมีส่วนร่วมกับเขาบ้าง และแล้วหลังจากที่ไปเสนอหน้ามาหลายงานจึงได้เรียนรู้ว่าการประมูลศิลปะระดับอินเตอร์นั้นเป็นเรื่องง่ายๆ และบ้านๆ กว่าที่เราคิดไว้เยอะ ใครๆ ก็ร่วมวงได้ไม่ยาก จนเราอยากจะแนะนำให้ทุกคนลองไปประมูลเล่นดูเป็นประสบการณ์สนุกๆ สักครั้งด้วยซ้ำไป
ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรถ้าพาดหัวข่าวจะเลือกนำเสนอแต่ผลการประมูลที่จบไปด้วยราคาแบบอภิมหาบรมโคตรสูง เพราะถ้าขืนออกข่าวไปว่าภาพวาดชิ้นนี้ประมูลขายไปได้ 5,000 ชิ้นนั้นประมูลไปได้ 8,000 คงไม่มีใครสนใจ เปลืองเนื้อที่ข่าวเสียเปล่าๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผลงานศิลปะมากมายมหาศาลในการประมูลทั่วโลกนั้นไม่ได้มีราคาสูงโด่เด่อะไร ไอ้พวกชิ้นที่แพงจัดๆ นั้นมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับของราคาที่จับต้องได้ ถ้าอยากจะดูว่าของที่เขาประมูลกันนั้นมีอะไรบ้างและราคาเท่าไหร่ ก็ลองเข้าไปส่องดูได้ในเว็บไซต์ของบริษัทประมูลต่างๆได้ บริษัทที่ใหญ่โตกว่าเขาเพื่อนก็เห็นจะมีคริสตีส์ (Christies) กับซอเธอบีส์ (Sotheby’s) ส่วนที่ย่อมๆ ลงมาก็อย่างเช่นบอนแฮมส์ (Bonhams), ฟิลลิปส์ (Phillips), เฮอริเทจ อ็อกชันส์ (Heritage Auctions), และอีกมากมายร้อยแปด ในเว็บไซต์ของบริษัทเหล่านี้เราจะเห็นลิสต์วันที่ของงานประมูลที่กำลังใกล้เข้ามา เห็นรูปภาพและรายละเอียดของที่ถูกส่งเข้าประมูล ซึ่งของพวกนี้ไม่ได้มีแค่ผลงานศิลปะ แต่มีหมดตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ เคยเห็นแม้กระทั่งจรวดขีปนาวุธพิสัยไกล มัมมี่อียิปต์ หรืออึศิลปินอัดกระป๋อง ของอะไรมีราคาขายได้รับประกันว่าเคยมีคนเอามาประมูลแล้วทั้งนั้น ของทุกชิ้นที่ถูกส่งเข้าประมูลจะมีราคาประเมินที่กำหนดขึ้นมาโดยผู้เชี่ยวชาญโชว์หราเอาไว้ด้วย คนซื้อจะได้ไม่ต้องเดาเอามั่วๆ ว่าของแต่ละชิ้นนั้นมีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ ราคาประเมินที่โชว์ไว้ส่วนมากทางบริษัทเขาจะตั้งต่ำกว่าราคาตลาดไว้หน่อยจะได้กระตุ้นให้คนเข้ามาประมูลเยอะๆ เป็นการเรียกแขก
สมมุติว่าเพื่อนๆ พี่ๆ ลุงป้าน้าอาเข้าไปดูในเว็บไซต์แล้วเกิดถูกอกถูกใจอยากได้สมบัติบ้ามานอนกอดที่บ้านอีกสักชิ้นสองชิ้น วิธีการถัดไปก็ไม่ยากแค่อีเมลหรือโทร.ไปลงทะเบียนกับบริษัทประมูลเจ้านั้นได้เลย บริษัทนานาชาติพวกนี้บางเจ้าเขามีออฟฟิศที่เมืองไทยด้วยอย่างคริสตีส์และซอเธอบีส์ ก็คุยง่ายหน่อย สิ่งที่เขาจะขอคือสำเนาบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต บิลค่าน้ำค่าไฟที่มีชื่อเราอยู่ โชว์ว่าเราเป็นมนุษย์ที่น่าเชื่อถือมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และบางครั้งเขาอาจจะขอดูยอดเงินฝากในบัญชีธนาคารที่มียอดอย่างน้อยเท่ากับราคาประเมินต่ำสุดของสิ่งที่เราอยากจะประมูล แค่นี้ก็เรียบร้อยเตรียมตัวเสียตังค์ได้
ก่อนวันประมูลบริษัทแม่งานมักจะมีการจัดแสดงของที่จะประมูลให้ผู้ที่สนใจให้มาส่องดูรายละเอียดหยุมหยิมจากชิ้นจริงเสียก่อน ถ้าเป็นเจ้าใหญ่ๆ และของเป็นชิ้นสำคัญ เขามักจะเอาไปตระเวนโชว์ทั่วโลก งานโชว์นี้บางทีก็จัดยิ่งใหญ่อลังการเวิ่นเว้อมากจนแค่ไปเดินดูเฉยๆ ก็รู้สึกว่าชาตินี้เกิดมาไม่เสียชาติเกิดแล้ว อย่างล่าสุดเราได้มีบุญไปดูงานโชว์ของที่กำลังจะถูกประมูลโดยซอเธอบีส์ที่ฮ่องกง บริษัทพี่แกเล่นเหมาคอนเวนชันฮอลล์ทั้งชั้นขนาดพอๆ กับเมืองทองธานี แล้วขนเอากรุสมบัติที่ว่าเด็ดสะระตี่ที่สุดในสามโลกมาโชว์กันให้พรึ่บ มีทั้งเพชรเม็ดโตขนาดเท่ามะยงชิดที่ส่องประกายวูบวาบทำเอาตาเราแทบบอด โครงกระดูกช้างแมมมอธอายุหลายหมื่นปีที่เจอครบทุกชิ้นแม้กระทั่งปลายนิ้วก้อย ถ้วยน้ำชาโบราณที่ขนาดฮ่องเต้ยังไม่กล้าหยิบเอามาใช้ ที่เราถูกใจที่สุดเห็นจะเป็นโซนที่จัดแสดงงานศิลปะ ที่ไม่รู้ไปสรรหากันมาจากไหน มีครบทั้งปีกัสโซ, โมเนต์, แวนโก๊ะ, เรอนัวร์, เซซาน, โกแก็ง, มาติส, โมดิจิอานี, วอร์ฮอล ฯลฯ ให้ไล่เรียงแค่ชื่อคงเต็มหน้าไม่ต้องเล่าเรื่องอื่นกันพอดี การจะได้เห็นของพวกนี้ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์หลายแห่งเขาเก็บตังค์ แต่งานโชว์อย่างนี้เขาให้ดูฟรี เพราะบริษัทประมูลเขาอยากจะขายของไม่ได้อยากจะขายตั๋ว
พอถึงวันประมูลถ้าเราโผล่ไปร่วมงานเอง หลังจากลงทะเบียนเขาจะเอากระดาษที่มีหมายเลขของเราตัวโตๆ ให้ไว้แผ่นหนึ่งกับแคตตาล็อกของที่จะประมูลกัน จากนั้นเราก็ไปสถิตอยู่ในมุมเหมาะๆ ฮวงจุ้ยดีๆ ในห้องจัดการประมูล ห้องนี้ทุกบริษัทจะเซตอัพคล้ายๆ กัน คือมีเก้าอี้เยอะๆให้เราเลือกนั่ง ด้านหน้ามีเวทีที่มีโพเดียมกับค้อนที่ใช้เคาะจบการประมูล ฉากเวทีมีจอแสดงภาพและราคาของที่กำลังประมูลอยู่ วิธีการประมูลก็แสนจะซิมเปิ้ล พอถึงรายการของที่เราอยากได้ ถ้าเราอยากเสนอราคาก็แค่ชูกระดาษที่มีตัวเลขประจำตัวเราขึ้นมาตอนที่ผู้ดำเนินงานบนเวทีขานตัวเลขราคาที่เราสู้ไหว สลับกันยกสลับกันชูสู้กันไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครเสนอราคาที่สูงกว่า ผู้ดำเนินการประมูลก็จะนับถอยหลังก่อนจะเอาค้อนทุบโต๊ะเสียงดังป๊อกเป็นการสิ้นสุดการประมูลของของชิ้นนั้น ขอเตือนไว้ก่อนด้วยความหวังดีว่าเวลาประมูลอย่าลืมคิดงบไว้ในใจหรือจะให้ดีเขียนเอาไว้ดูกันลืมด้วยล่ะ ไม่ใช่จังหวะนั้นอารมณ์พาไปอะดรีนาลีนพุ่งพล่านเผลอยกป้ายไปเรื่อยๆ สู้กับคู่แข่งที่บ้าเลือดพอๆ กันเดี๋ยวต้องขายบ้านขายรถมาจ่ายจะซวยไม่ใช่น้อย
ส่วนใครที่ไม่สะดวกบินลัดฟ้าไปประมูลด้วยตนเองก็ไม่ใช่ปัญหา ถึงตัวจะนอนล่อนจ้อนอยู่กับบ้านแต่เราก็สามารถจะร่วมประมูลได้ด้วยวิธีง่ายๆ หลายวิธี วิธีแรกคือบอกเจ้าหน้าที่บริษัทประมูลไว้ล่วงหน้าว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นชิ้นนี้ในราคาเต็มที่ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ พอถึงเวลาประมูลจริงถ้าไม่มีใครให้สูงกว่าราคาที่เราเสนอไปเราก็จะชนะ และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราให้ราคาสูงสุดไว้ที่ 10 บาทแล้วเราจะต้องจ่าย 10 บาท สมมติกฎของการประมูลคือขยับราคาขึ้นทีละ 1 บาท ถ้าคู่แข่งของเราสู้ราคาสูงสุดที่ 8 บาทแล้วไม่สู้ต่อ เราในฐานะผู้ชนะจะต้องจ่ายมากกว่าเขา 1 บาท รวมเป็น 9 บาท หวังว่าคงไม่งง
วิธีที่ 2 คือการประมูลทางโทรศัพท์ ทำได้โดยการบอกเจ้าหน้าที่ของบริษัทประมูลว่าเราสนใจของชิ้นไหนบ้างแล้วทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้เขา พองานประมูลใกล้จะเริ่มจะมีเจ้าหน้าที่ลองโทร.มาหาเราก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าเบอร์โทรศัพท์ของเราใช้ได้ สัญญาณดีฟังรู้เรื่อง หลังจากนั้นสักพักพอใกล้ๆ จะถึงคิวของที่เราแจ้งไว้ว่าสนใจกำลังจะถูกเอาขึ้นประมูลเจ้าหน้าที่คนเดิมจะโทร.มาใหม่แล้วทำหน้าที่ยกป้ายแทนเรา บอกให้ลุยก็ลุยบอกให้หยุดก็หยุด เป็นดั่งร่างทรงอวตารของเราที่ยืนอยู่ในงาน
อีกวิธีสำหรับคนที่ไปเสนอหน้าในงานประมูลเองไม่ได้แต่อยากจะมีส่วนร่วม คือเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทประมูลแล้วแฝงตัวเสนอราคาแข่งกับคนในห้องประมูลแบบสดๆ ทางออนไลน์ ในห้องประมูลจะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนั่งจ้องอยู่หน้าจอตลอดเวลาแล้วจะคอยยกมือประมูลแทนคนที่เสนอราคามาแบบสดๆ ทางอินเทอร์เน็ต แต่วิธีนี้เราไม่เคยใช้เพราะเน็ตบ้านเราสัญญาณขาดๆ หายๆ ดูหนังกระตุกกึกๆ กักๆ ไม่เคยจบเลยสักเรื่อง ขืนเราไปประมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์มีหวังแพ้แหงแก๋
หลังเสร็จสิ้นภารกิจถ้าหากของชิ้นนั้นเราเป็นผู้ชนะการประมูล ก็นัดแนะจ่ายตังค์กันซะให้เรียบร้อย จะจ่ายเงินสด บัตรเครดิต หรือจะโอนเงินก็ได้ตามแต่สะดวก อีกข้อที่ให้พึงระลึกเอาไว้เสมอคือตอนจ่ายตังค์จากราคาที่เราประมูลได้ทางบริษัทเขาจะบวกค่าดำเนินการไปอีกประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่นโยบายของแต่ละบริษัท เพราะฉะนั้น เวลาประมูลก็ให้คิดถึงค่าต๋งนี้เผื่อเอาไว้ด้วย ค่าใช้จ่ายอีกส่วนถ้าหากเราประมูลของมาจากต่างประเทศคือค่าขนส่งกับภาษีนำเข้า เจ้าที่จัดประมูลเขาแนะนำบริษัทชิปปิ้งให้ได้ แต่ถ้าเราจะหาบริษัทชิปปิ้งที่ถูกอกถูกใจเองเขาก็ไม่ว่า
คราวนี้พอรู้วิธีการประมูลกันแล้ว คำถามต่อไปคือ เราจะไปประมูลอะไรกันดี? อันนี้ก็แล้วแต่ชอบแล้วแต่ถนัด ส่วนตัวเรานิยมไปตามประมูลผลงานของศิลปินไทยด้วยหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือเราไม่มีปัญญาจะไปประมูลผลงานศิลปะชิ้นท็อปๆ ของศิลปินระดับโลกได้ ถ้าฟิตจัดๆ น้ำหน้าอย่างเราอย่างมากก็อาจจะซื้อได้แค่ผลงานชิ้นง่อยๆ ของศิลปินฝรั่งดังๆ ในขณะที่เงินจำนวนเท่ากันถ้าเอามาลงทุนในผลงานศิลปะฝีมือชาวไทยรับประกันว่าได้ชิ้นเจ๋งๆ ของศิลปินที่เก่งที่สุดในประเทศได้เลย เราจึงถือคติที่ว่า เป็นหัวหมาดีกว่าหางมังกร
เหตุผลถัดไปที่เราสนใจการประมูลศิลปะไทยในต่างประเทศเพราะบางทีก็มีลูกฟลุคได้ผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมของชาติในราคาเด็กวาด เพราะในอดีตผลงานศิลปะไทยระดับสุดยอดมากมายถูกซื้อไปในราคาไม่แพงโดยชาวต่างชาติแล้วกระจัดกระจายออกไปอยู่ในต่างประเทศ พอเจ้าของงานศิลปะตายลูกหลานก็ชอบนักชอบหนาที่จะเอามาประมูลขายแล้วตั้งราคาแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดินแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ พอผลงานศิลปินไทยอยู่ดีๆ หลงไปโผล่ในงานประมูลไกลๆ ที่ไหนในโลกสักแห่งที่คนแถวนั้นเขาไม่อินด้วย เล็ดรอดสายตานักสะสมชาวไทยไป ราคาประมูลก็มักจะจบแบบแทบจะได้เปล่าจนน่าตกใจ
อีกเหตุผลที่เราพยายามจะร่วมประมูลเสมอทุกครั้งถ้ามีโอกาสเพราะเราต้องการจะช่วยพยุงและผลักดันราคาผลงานศิลปะไทยให้สูงๆ เข้าไว้ ในต่างประเทศเวลาใครจะตีมูลค่าผลงานศิลปะเขามักจะดูจากสถิติราคาในงานประมูลระดับสากลเป็นหลัก ที่ผ่านมาผลงานศิลปะบ้านเรามีราคาแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราชอบซื้อขายกันเองแบบส่วนตั๊วส่วนตัว ชาวโลกไม่ได้รับรู้ข้อมูลพวกนี้ด้วย ผลงานศิลปะไทยในตลาดสากลเลยไปไม่ถึงไหน ต่างกับชาติเพื่อนบ้านในเอเชียที่เขารู้งาน ใช้ประโยชน์จากการประมูลเป็น ราคาผลงานศิลปะของเขาเลยกระโดดไปไกลเกือบจะเท่าศิลปินดังๆ ของฝรั่ง เพราะเป็นซะอย่างนี้เราจึงควรช่วยกันไปประมูลคนละไม้คนละมือสร้างมาตรฐานราคาให้ชาวโลกเห็นกันถ้วนทั่วว่างานศิลปะของเราไม่ใช่สิวๆ
แบไต๋มาซะขนาดนี้หวังว่าจะได้เห็นคนไทยไปร่วมงานประมูลกันเยอะๆ วงการจะได้คึกคัก ผลงานศิลปะไทยจะได้มีราคา แต่ถ้าวันหน้าวันหลังไปจ๊ะเอ๋กันเห็นเรามือสั่นงันงกยกป้ายประมูลอะไรอยู่ก็อย่าใจร้ายใจดำกระหน่ำเสนอราคาแข่งกับเราเลย คนกันเองทั้งนั้น ขอเถอะนะ พลีสสสสส
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี