ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
“…ระเด่น ซาเล่ห์ นั้นเปรียบได้ดั่ง ขรัวอินโข่ง
เพราะเป็นศิลปินคนแรกที่ วาดภาพในรูปแบบสมัยใหม่
ฉีกกฎจากแนวประเพณีแบบดั้งเดิม
และมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดี ยวกัน
คือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมั ยรัชกาลที่ 4″
เราไม่เคยเลย ไม่เคยคิดที่จะไปจาการ์ตา เพราะโดนล้างสมองมาว่าที่นั่นคนเยอะ รถติด มีมลพิษ อาหารก็งั้นๆ ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรให้ดู แล้วตูจะถ่อสังขารไปทำไม จนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ดีๆ เราก็มานั่งจับเจ่าอยู่บนเครื่องการบินไทยมุ่งหน้าจากสุวรรณภูมิ ไปจาการ์ตาหน้าตาเฉย ที่จู่ๆ เกิดเหตุไม่คาดฝันเช่นนี้ได้เพราะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีเพื่อนมาบิลต์ว่าพ่องานอาร์ตจาการ์ตา (Art Jakarta) เขาอยากจะขอเชิญคณะนักสะสมศิลปะชาวไทยตาดำๆ อย่างพวกเราไปร่วมงานที่เขาจัด แถมสัญญิงสัญญาว่าจะพาเราไปเที่ยวที่ต่างๆ นานา โชว์ว่าวงการศิลปะของเขามีดียังไง มิหนำซ้ำยังใจป้ำออกค่าที่พักให้เราฟรีอีก ด้วยความอยากรู้อยากเห็นผนวกกับความงกอีกเล็กน้อย เราจึงเซย์เยสตอบตกลงไปแทบจะทันที
ผ่านไป 3 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากหลับไป 2 งีบ เครื่องบินค่อยๆ ลดระดับเพื่อร่อนลงจอดที่สนามบินซูการ์โนฮัตตา เรามองออกไปนอกหน้าต่าง ทั้งๆ ที่เป็นเวลากลางวันแสกๆ แต่อากาศมันดูสลัวๆ เหมือนเมืองกำลังถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน เอาล่ะสิยังไม่ทันไรเลย นี่เราคิดถูกที่มาจาร์กาตาไหมเนี่ย พอลงจากเครื่อง รับกระเป๋า ผ่านด่าน ตม. เป็นที่เรียบร้อย ก็ขึ้นรถแวนที่เขาเตรียมไว้เพื่อมุ่งสู่โรงแรมที่พัก ถนนหนทางของจาการ์ตานั้นรถโคตรติดอย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาไม่มีผิด โชคยังดีที่คนขับรถแวนคันของเรานั้นสวมวิญญาณสิงห์มอเตอร์ไซค์ ลืมไปว่าตัวเองกำลังขับรถคันกว้างเท่าเลนอยู่ เลาะซ้าย ปาดขวา ปีนฟุตบาท ไอ้เราก็ตื่นเต้นลุ้นระทึกตลอดทางจนมาถึงที่หมายด้วยร่างกายครบสามสิบสอง
เจ้าภาพชาวอินโด คงจะเห็นว่าพวกเราบ้าศิลปะ กลัวจะอาร์ตกันไม่พอ เลยจัดให้อยู่โรงแรม อาร์โทเต็ล (Artotel) ให้มันรู้แล้วรู้รอด โรงแรมนี้เขาก็อาร์ตจริงๆ สมชื่อ มีทั้งภาพวาด รูปปั้น และอะไรต่อมิอะไรประดับไว้ทั่วโรงแรมไปหมด ไอ้ที่ประหลาดสุดคือตรงหน้าทางเข้าห้องส้วมชั้น 2 มีถุงปุ๋ยผูกเชือกห้อยลงมาจากฝ้า ตรงถุงมีรูเจาะไว้ และถุงด้านที่เป็นรูหันเข้าหากำแพงที่มีกระจกเงาแขวนอยู่ อารมณ์ว่าศิลปินที่มาแขวนถุงปุ๋ยต้องการให้คนที่ปวดท้องกำลังจะวิ่งปรู๊ดเข้าห้องน้ำ หรือคนที่่เสร็จกิจแล้ว เอาหัวสอดเข้าไปในถุงปุ๋ยที่ห้อยต่องแต่งอยู่แล้วมองหน้าตัวเองที่เห็นแต่ลูกกะตากับถุงปุ๋ยในกระจก อะไรมันจะคอนเซ็ปชวลอาร์ตกันขนาดนั้น นี่ถ้าเราไม่เข้าใจไม่อะพริชิเอตจะถือว่าดักดานหรือเปล่าหนอ คิดดังนั้นเราจึงเอาหัวตัวเองใส่เข้าไปแล้วถ่ายรูปเซลฟีพอเป็นพิธี
มาถึงวันแรกไม่ได้มีตารางอะไร เขาให้เราเดินเตร็ดเตร่ชมเมืองกันเองตามอัธยาศัย เพื่อให้เข้าใจศิลปะของบ้านเขาให้ทะลุปรุโปร่ง เราจึงตัดสินใจไปดูพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินโดนีเซียเป็นที่แรก พอลองเสิร์ชดู กูเกิ้ลแมปบอกว่าอยู่ไม่ไกล เดินไปได้สบายๆไม่ต้องโบกแท็กซี่ให้เปลืองเงินรูเปียห์ พอเอาเข้าจริงเดินไปแค่กิโลกว่าแต่รู้สึกเหมือน 5 กิโลเพราะทั้งร้อนทั้งฝุ่นตลบ ในที่สุดก็หอบร่างตุปัดคุเป๋ไปถึงสนามหญ้าหน้าตึกพิพิธภัณฑ์จนได้ ณ ตรงนั้นเราสังเกตเห็นช้างสำริดตัวเขื่องตั้งอยู่บนแท่นปูนสูงตระหง่าน พอเรากระเถิบเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นป้ายเขียนเป็นภาษาไทยว่า ‘ของสิ่งซึ่ง สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระราชทานให้แก่เมืองปัตตาเวียเป็นที่ระลึกถึงครั้งเมื่อคราวเสด็จมาเมืองนี้’ เรายกมือไหว้ช้างตัวเขียวๆ ตัวนั้นด้วยความตื้นตันใจ
ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่นั่นก็ถูกแสนถูก เราจ่ายกันไปคนละหมื่นรูเปียห์ หรือเท่ากับเงินไทยประมาณ 20 บาทนิดๆ ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ถูกแบ่งเป็น 2 ตึก ตึกเก่าและตึกใหม่ ในตึกเก่ามีพระพุทธรูป กับเทวรูปโบราณแกะสลักจากหินศิลปะแบบชวา และบาหลี ไซส์บิ๊กเบิ้มจัดเรียงกันให้พรึ่บแบบไม่มีกั๊ก คาดเดาเอาจากสายตาน่าจะมีไม่น้อยกว่า 500 ชิ้น ส่วนตึกใหม่นั้นเน้นโบราณวัตถุชิ้นเล็กๆ มีตั้งแต่ขวานหิน หอกสำริด หม้อไห ยุคก่อนประวัติศาสตร์ศิลปะวัตถุจากชาวเผ่าบนเกาะต่างๆ นับหมื่นเกาะของอินโดนีเซีย ไล่เรียงจนมาถึงเครื่องไม้เครื่องมือและเฟอร์นิเจอร์ที่ชาวดัตช์นำเข้ามาตอนสมัยล่าอาณานิคม วันนั้นเราได้เข้าใจความเป็นมาและได้เห็นสมบัติล้ำค่าของชาติเขาเป็นพันๆ ชิ้นในราคาค่าตั๋วพอๆ กับโค้กหนึ่งกระป๋อง คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม
คืนนั้นด้วยคำแนะนำจากเพื่อนที่ไปจาการ์ตาบ่อยๆ เราเลยลองไปนั่งดื่มด่ำบรรยากาศบนตึกที่สูงที่สุดของเมืองเขาในร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์เปรู ใช่ อ่านไม่ผิดหรอก ญี่ปุ่นสไตล์เปรู อาหารที่สวาปามไปวันนั้นมันญี่ปุ่นยังไงเปรูยังไงไม่สามารถอธิบายได้เพราะจวบจนวันนี้เราก็ยังงงๆ อยู่เลย
วันรุ่งขึ้นเราต้องแหกขี้ตาตื่นลงมารอที่ล็อบบี้แต่เช้าเพื่อขึ้นรถไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ตามโปรแกรมที่เขาจัดไว้ให้ ระหว่างที่รอรถเราได้เจอมนุษย์คลั่งศิลปะจากทั่วโลกที่เขาเชิญมา มีทั้งหัวดำ หัวทอง ตัวดำ ตัวขาว แทบจะทุกชาติทุกภาษา แสดงให้เห็นว่าวงการศิลปะของประเทศเขานั้นมีผู้สนใจจากทั่วโลก ดูอินเตอร์มากๆ ต่างจากบ้านเราที่จัดงานศิลปะแต่ละทีรับประกันได้ว่าผู้ชม 99.99% เป็นไทยแท้แต่กำเนิดไม่มีชาติอื่นใดมาปะปนให้เสียเอกราช
ตามตารางเช้านี้ ที่แรกที่เขาจะพาเราไปคือหอศิลป์แห่งชาติ รถตู้คันที่เรานั่งก็พาลัดเลาะฝ่ารถติดไปถึงยังพิพิธภัณฑ์ที่มีช้างสำริดหน้าตาคุ้นๆ ตั้งอยู่ด้านหน้า เอ๊ะในหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่น่าจะพระราชทานช้างไปตั้งอยู่หน้าตึกทุกตึกในอินโดนีเซียเป็นแน่ เล็งไปเล็งมา อ้าวนี่มันตึกพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เราเพิ่งมาเมื่อวานนี่หว่า ไม่ใช่หอศิลป์แห่งชาติที่เขาต้องพาเราไป เราเลยต้องออกโรงอธิบายให้ทั้งไกด์ทั้งคนขับผู้กำลังมึนงงว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกับหอศิลป์แห่งชาตินี่มันคนละอย่างกัน และตั้งอยู่คนละที่ พลางเอานิ้วจิ้มจุดหมายที่ถูกต้องในแผนที่ให้เขาดู เฮ้ย นี่เราเชี่ยวชาญเส้นทางในกรุงจาการ์ตา มหานครที่เราไม่เคยคิดจะมาตั้งแต่เมื่อกันไหร่เนี่ย
เพราะหลงทาง คณะของเราเลยมาถึงที่หอศิลป์แห่งชาติช้ากว่าคณะอื่นๆ ที่มานั่งรอตบยุงอยู่สักพักแล้ว พอมากันครบ ภัณฑารักษ์ที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องปรื๋อก็พาพวกเราเดินชม เขาเล่าให้เราฟังว่าอาคารหอศิลป์แห่งชาตินี้เป็นตึกเก่าสไตล์โคโลเนียลที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1817 เพื่อเป็นที่พักอาศัยของชาวดัตช์ ต่อมาอาคารก็ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงเรียน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นค่ายทหาร จนเมื่อปี ค.ศ. 1999 รัฐบาลอินโดนีเซียมีไอเดียจะจัดตั้งหอศิลป์แห่งชาติขึ้น อาคารเก่าแก่ที่มีมนต์ขลังอีกทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองแห่งนี้จึงถูกรีโนเวทใหม่เพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปะ โดยยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบเดิมเอาไว้ให้เหมือนเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วตอนที่อาคารนี้ถูกสร้างขึ้นมา ผลงานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดงในหอศิลป์แห่งชาตินั้นถูกจัดเรียงจากเก่าไปหาใหม่ เพื่อให้คนดูเข้าใจพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในอินโดนีเซีย เริ่มด้วยภาพวาดแบบฝรั่งจ๋าที่มีอายุเกือบ 200 ปี ภาพวาดที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมพื้นเมืองซึ่งส่วนมากเป็นภาพระบำรำฟ้อนและวิถีชีวิตประจำวัน ไล่เรียงมาจนถึงภาพวาดยุคต่อต้านจักรวรรดินิยม ซึ่งมักเป็นภาพการกดขี่ข่มเหง และภาพวีรบุรุษทางการเมือง ต่อด้วยผลงานจากยุคที่ประเทศอินโดนีเซียหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นแล้ว งานศิลปะของชาติเขาก็ยิ่งมีวิวัฒนาการต่อไปอย่างก้าวกระโดด เกิดศิลปินที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักในระดับสากลเพียบ
ในห้องจัดแสดงห้องแรกสุดนี่เขาแขวนภาพวาดสีน้ำมันของ ระเด่น ซาเลห์ (Raden Saleh) ศิลปินชาวอินโดนีเซียคนแรกที่เริ่มวาดภาพสไตล์ตะวันตก และเป็นคนแรกที่ได้ไปเรียนในสถาบันศิลปะของยุโรป ด้วยฝีไม้ลายมือที่ไม่แพ้ฝรั่ง หลังเรียนจบ ซาเลห์จึงถูกว่าจ้างให้อยู่ต่อเพื่อวาดภาพให้กษัตริย์และเจ้าขุนมูลนายของยุโรปต่ออีกหลายปีก่อนจะกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิดในเกาะชวา นอกจากจะสามารถวาดภาพบุคคลในอิริยาบถต่างๆได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ซาเลห์ยังมีชื่อเสียงในการวาดภาพสัตว์ป่าให้ดูดุดัน และถ่ายทอดบรรยากาศวิวทิวทัศน์ของอินโดนีเซียลงบนผืนผ้าใบ ถ้าให้เทียบกับศิลปินของบ้านเรา ระเด่น ซาเลห์ นั้นเปรียบได้ดั่งขรัวอินโข่ง เพราะเป็นศิลปินคนแรกที่วาดภาพในรูปแบบสมัยใหม่ ฉีกกฎจากแนวประเพณีแบบดั้งเดิม และมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน คือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ 4
ปัจจุบันผลงานของ ระเด่น ซาเลห์ เป็นที่หมายปองของพิพิธภัณฑ์และนักสะสมรุ่นใหญ่ ด้วยความสวยงามผนวกกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อไหร่ที่มีผลงานออกมาประมูลรับประกันว่าต้องเกิดปรากฏการณ์ช็อกซีเนมาให้ต้องอ้าปากค้าง อย่างภาพวาดของซาเลห์ชิ้นล่าสุดที่เพิ่งประมูลกันไปในฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว วันดีคืนดีมีคนไปเจอซุกๆ ไว้ ไม่คิดว่าจะมีราคาอะไรมากมายเลยเอาไปส่งให้บริษัทประมูลเล็กๆของท้องถิ่นที่ปกติจะประมูลของหลักพันหลักหมื่นให้ลองจัดประมูลดู จากราคาเริ่มต้นหลักแสน ปรากฏว่าในเวลาเพียงไม่กี่นาที ผลการประมูลดันไปจบที่เกือบๆ 360 ล้านบาท กลายเป็นผลงานศิลปะของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ชิ้นที่ได้ราคาสูงที่สุดในการประมูลเป็นประวัติการณ์
ผลงานของศิลปินอินโดอีกท่านที่ถูกจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์แห่งชาติ และยังคุ้นหูนักสะสมศิลปะชาวไทย คือ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ศิลปินท่านนี้มีฝีมือในการวาดบุคคลจนมีชื่อเสียงดังเปรี้ยงปร้างจนถูกเชิญให้ไปวาดภาพบุคคลสำคัญในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ ระเด่น บาซูกิ ได้เข้ามาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ของไทยอีกหลายภาพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงวางพระราชหฤทัยในฝีมือของศิลปินท่านนี้มากจนถึงกับเสด็จมาเป็นแบบให้วาดจากพระองค์จริงหลายต่อหลายครั้ง ถ้าให้ลองเปรียบเทียบกับศิลปินไทย ระเด่น บาซูกิ ก็น่าจะเปรียบได้ดั่ง จำรัส เกียรติก้องเวอร์ชันอินโด
ศิลปินที่เราชอบมากๆ ท่านถัดมา ที่เราถือว่ามีบุญได้เห็นผลงานยุคเก่าของท่านคืออาฟฟานดี้ (Affandi) ด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์ได้อารมณ์ รูปร่างหน้าตา หนวดเครา และสไตล์การดำเนินชีวิต ทำให้เราชอบเอาอาฟฟานดี้มาเปรียบกับ ถวัลย์ ดัชนี ผลงานของอาฟฟานดี้ที่เราเคยเห็นบ่อยๆ มักเป็นภาพวาดที่วาดด้วยนิ้ว มีลายเส้นขยุกขยุยไม่ซ้ำใคร ซึ่งถ้าวาดคนก็ห่างไกลจากความเหมือน ดูไม่รู้ว่าเป็นหน้าตัวอะไรด้วยซ้ำ แต่ภาพวาดฝีมืออาฟฟานดี้ที่ถูกแสดงไว้ที่นี่เป็นภาพยุคแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมในการวาดบุคคล ทั้งสีหน้าทั้งแววตาดูมีชีวิตชีวามาก ทำเอาเรายืนอึ้งอยู่หน้าภาพวาดนั้นพักใหญ่
เอาแค่พอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน ขืนให้ค่อยๆ เล่าถึงศิลปินทีละคนมีหวังได้อ่านกันจนตาแฉะเพราะวันนั้นเราได้เห็นผลงานศิลปะฝีมือศิลปินคนสำคัญของอินโดนับร้อย จากที่เราไม่เคยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะอินโดมาก่อนเลย วันนั้นก็ถึงกับตรัสรู้กันไปเลยทีเดียว
เสร็จจากหอศิลป์แห่งชาติ รถตู้ก็พาเราเดินทางฝ่ามวลมหารถยนต์และมอเตอร์ไซค์นับล้านบนท้องถนนต่อไปยังจุดหมายถัดไปคือห้างลอตเต้ เปล่าเขาไม่ได้จะให้เรามาช้อปปิ้งนะ แต่จะพาเรามาชมพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเจ้าของห้าง เราขึ้นลิฟต์ข้างๆ ร้าน H&M ไปยังชั้นบนสุด และก็ได้พบกับพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งจะมีสลับสับเปลี่ยนกันมาให้ตื่นตาตื่นใจเรื่อยๆ ครั้งนี้เราได้ชมนิทรรศการรวบรวมผลงานของหนึ่งในศิลปินชาวอินโดนีเซียที่มีชื่อเสียงที่สุดนามว่า เฮนดรา กูนาวาน (Hendra Gunawan) เฮนดรามีเอกลักษณ์ในการวาดผู้คน เทศกาลงานต่างๆ และทิวทัศน์ท้องถิ่นด้วยสีและเส้นสายที่ไม่ซ้ำใคร ถ้าให้เทียบกับศิลปินไทยเราว่าผลงานเฮนดรานั้นมีเนื้อหา และอารมณ์คล้ายๆ เฉลิม นาคีรักษ์ ในนิทรรศการมีผลงานของเฮนดราทั้งชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ และชิ้นโคตรใหญ่ เอามาโชว์ไว้ให้ดูเป็นร้อยชิ้น ไล่เรียงจากผลงานยุคแรกๆ ที่ศิลปินยังใช้สีโทนน้ำตาลตุ่นๆ อยู่ ตามด้วยผลงานยุคที่ติดคุก 13 ปีเพราะดันไปฝักใฝ่การเมืองขั้วตรงข้าม เราเห็นผลงานชุดนี้แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมภาพที่เฮนดราวาดขณะถูกจองจำกลับมีสีสันที่ดูฉูดฉาดสดใสขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า และไม่ได้ดูเศร้าหมองเลย ตามตบท้ายด้วยผลงานยุคที่เฮนดราพ้นคุกออกมาแล้ว ยุคนี้เฮนดราสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหญ่ยักษ์ออกมาหลายชิ้น บางชิ้นที่จัดแสดงอยู่ยังวาดไม่เสร็จด้วยซ้ำ และก็จะยังคงค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น เพราะเฮนดราได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983
นิทรรศการนี้เจ๋งตรงที่เขามีฉายภาพเคลื่อนไหวลงไปบนกำแพง ฉายภาพสามมิติจำลองฉากการวาดภาพในคุก ด้วยลูกเล่นต่างๆไม่ได้สักแต่จะแขวนภาพเรียงๆ กัน ที่นี่ก็เลยดูสนุกไม่น่าเบื่อ และอีกอย่างที่น่าทึ่งคือทางพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ไปยืมผลงานศิลปะของเฮนดรามาจากไหน เพราะทุกชิ้นเป็นสมบัติของเจ้าของห้างที่ชื่อมิสเตอร์ซิพูทรา (Ciputra) ล้วนๆ เราถามเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ว่าที่เอามาโชว์นี่คือภาพวาดเฮนดราทั้งหมดที่เฮียแกมีหรือยัง เจ้าหน้าที่พลันตอบด้วยสีหน้านิ่งๆว่า ที่เห็นนี่แค่จิ๊บจ๊อย ในบ้านยังมีเก็บไว้อีกเพียบ เห็นเฮียซิพูทราหลงใหลในผลงานของเฮนดราและคอยกว้านซื้อมาทั้งกุรุสจากทั่วทุกสารทิศขนาดนี้ ถ้าใครอยากได้บ้างก็คงเหนื่อยหน่อยเพราะต้องแข่งกับเฮียเขา เป็นซะอย่างนี้ก็ไม่แปลกที่ราคาผลงานศิลปะของเฮนดราในตลาดจะแพงหูฉี่
ขากลับไกด์ของเราพาเดินทะลุห้างไปโผล่ในลอบบี้โรงแรมแรฟเฟิลส์ที่อยู่ติดกันเพื่อจะไปขึ้นรถ เพิ่งจะเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วย เฮนดรา กูนาวาน ไม่ถึงอึดใจ ผลงานเฮนดราก็ยังตามมาหลอกหลอนต่อ เพราะทั้งบนฝ้าห้องโถงที่ใช้รอลิฟต์ กำแพงห้องจัดเลี้ยง ต่างก็เป็นภาพผลงานเฮนดราทั้งนั้น ส่วนชิ้นที่พิเศษที่สุดอยู่ตรงกำแพงล็อบบี้ตรงข้ามกับประตูที่เรารอรถพอดี เป็นผลงานศิลปะฝีมือเฮนดราที่มีขนาดสูงประมาณตึก 2 ชั้น ผลงานชิ้นนี้สร้างจากแผ่นกระเบื้องโมเสกชิ้นเล็กจิ๋วเอามาเรียงต่อกันจนเป็นภาพผู้หญิง 3 คนที่มีสีสวยๆ และมีเส้นสายดูเลื้อยๆในสไตล์ของเฮนดรา เห็นอย่างงี้แล้วก็เดาได้ไม่ยากเลยว่าโรงแรมนี้ต้องเป็นของมิสเตอร์ซิพูตราด้วยแน่นอน
พอขึ้นรถกันครบทุกคนไม่ตกหล่นแล้ว จุดหมายต่อไปคืองานอาร์ตจาการ์ตาที่จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าจาการ์ตา อารมณ์ประมาณไบเทคบางนา หรือเมืองทองธานี งานนี้จัดต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นับได้ว่าเป็นงานอาร์ตแฟร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะมีแขกเหรื่อทั้งแกลเลอรี ภัณฑารักษ์ นักสะสมศิลปะ นักข่าว นักเขียน ในแวดวงศิลปะจากทั่วโลกมาร่วมงาน พอรถมาส่งเราที่หน้างาน สิ่งแรกที่สังเกตเห็นคือพุ่มดอกไม้จัดเป็นวงๆ พร้อมขาตั้ง และมีข้อความเขียนไว้บนผ้าที่คาดเอาไว้ดูคล้ายๆพวงหรีดวางเรียงรายเต็มหน้างานไปหมด เราก็งงๆว่ามันคืออะไร เหลียวซ้ายแลขวาก็ไม่เห็นมีใครตาย ข้อความที่เขียนไว้บนพวงหรีดก็อ่านไม่ออกเพราะเป็นภาษาอินโด กว่าจะถึงบางอ้อก็ตอนที่เหลือบไปเห็นบางพุ่มดอกไม้มีข้อความภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า ‘Congratulations’ เลยได้ความรู้ใหม่ว่าพุ่มดอกไม้หน้าตาเหมือนพวงหรีดที่นี่เขาเอาไว้ใช้แสดงความยินดี
ภายในงานอาร์ตจาการ์ตานั้นถูกจัดเป็นบูธย่อยๆ ราว 100 บูธ แต่ละบูธเป็นพื้นที่ของแกลเลอรีเพื่อใช้จัดแสดงและขายผลงานศิลปะฝีมือศิลปินในสังกัดของตัวเอง ผลงานที่เห็นแทบทั้งหมดเป็นผลงานใหม่คอลเลกชันล่าสุดจากศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นจะมีอยู่บูธเดียวที่เน้นขายผลงานระดับโอลด์มาสเตอร์โดยศิลปินชื่อดังที่ล่วงลับไปแล้ว เดินๆ ดูแกลเลอรีที่มาออกบูธนั้นมีมาจากหลากหลายประเทศมาก ทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงแกลเลอรีจากเมืองไทยก็มีไปร่วมงานกับเขาเหมือนกัน ผลงานของศิลปินไทยที่เราเห็นเอามาขายถึงที่นี่แกลเลอรีก็เลือกเอาที่ดูอินเตอร์หน่อย อย่างเช่น มิตร ใจอินทร์, ชาติชาย ปุยเปีย ประมาณนั้น ราคาผลงานศิลปะที่เขาขนมาขายก็ไม่ได้แพงอะไร ส่วนใหญ่จะอยู่ในหลักหมื่นหลักแสน พอจะให้ซื้อหาไปแขวนบ้านได้ ไม่ถึงกับเอาเป็นเอาตายไปข้างหนึ่ง นอกจากจะขายของแล้ว ในงานเขาก็มีเวทีเสวนา ประมูลการกุศล และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปดให้ดูกันเพลินๆ เดินได้ทั้งวัน
งานอาร์ตจาการ์ตานี้น่าจะฮิตติดอันดับชาติเขาเลย เพราะมีคนที่มาร่วมงานเนืองแน่นมากๆ เทียบได้กับงานกาชาดบ้านเรา คนส่วนใหญ่มาเดินดูกินน้ำกินหนมเฉยๆ แต่ก็มีอีกมากที่มาซื้อหาจับจองผลงานศิลปะเพียงพอให้แกลเลอรีเขามีปัญญาที่จะมาร่วมงานได้ทุกๆ ปี ทำให้เห็นได้เลยว่าวงการศิลปะของอินโดนีเซียนี่เขาแข็งแรง และเป็นระบบแบบตะวันตก คือศิลปินสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาก็ขายผ่านแกลเลอรี ส่วนแกลเลอรีก็มีหน้าที่ทำการตลาดให้ศิลปิน ใครถนัดอะไรก็ทำไปแบ่งหน้าที่กันชัดเจน
หลังจากเดินดูพิพิธภัณฑ์ พ่วงกับงานอาร์ตจาการ์ตาหลายรอบจนขาลาก วันรุ่งขึ้นทางเจ้าภาพเขาก็พาเราไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อื่นๆ ต่อ เมืองนี้พิพิธภัณฑ์เขาเยอะจริงๆ ทั้งของราษฎร์ของหลวงดูกันไม่หวาดไม่ไหว วันนี้เราได้ไปพิพิธภัณฑ์ มาคัน ‘Museum MACAN’ ที่ตั้งอยู่ ณ ชั้นบนสุดของตึกสำนักงานสุดทันสมัย ผลงานศิลปะที่จัดแสดง ณ แห่งนี้ก็จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเรื่อยๆ คนมาดูจะได้ไม่เบื่อและมาซ้ำได้บ่อยๆ ชิ้นที่เราได้เห็นมีทั้งที่ดูเข้าใจได้เช่น ผลงานศิลปะที่เอาบุหรี่นับล้านมวนมาเรียงเป็นรูปหนังเสือขนาดเท่ากับสนามบาส และที่ดูยังไงก็ไม่เก็ต อย่างผลงานชิ้นที่เอาเศษขยะมาสุมๆไว้ที่มุมห้อง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เขาไม่ได้จัดแสดงแต่ของศิลปินอินโดอย่างเดียว ศิลปินดังๆ จากทั่วโลกเขาก็สรรหามาเก็บไว้ วันนี้เราเลยได้เซลฟีถ่ายรูปคู่กับผลงานศิลปะของ ซาวูกิ (Zao Wou-Ki), ยาโยอิ คูซามะ (Yayoi Kusama), ลูซิโอ ฟอนทานา (Lucio Fontana), และบิ๊กเนมระดับพระกาฬอีกเป็นเบือ ถามไปถามมาก็เลยได้รู้ว่าเจ้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ชื่อว่ามิสเตอร์ฮาร์ยันโต อดิโคโซโม (Haryanto Adikoesoemo)ไม่รู้อ่านถูกรึเปล่า ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นเจ้าของตึกนี่แหละ พอจะสร้างตึกขึ้นมา ก็เลยอยากให้มีพื้นที่เก็บรักษาและจัดแสดงผลงานศิลปะที่ซื้อหามาจนล้นบ้านให้ชาวประชาได้ชื่นชม ดีกว่าซุกเอาไว้ดูเองคนเดียว
ดึกๆ ดื่นๆ ภารกิจตะลุยดูอาร์ตก็ยังไม่เสร็จสิ้น คืนนั้นคณะของเราถูกรับเชิญให้ไปบ้านของ เด็ดดี้ คูซามา (Deddy Kusama) นักสะสมผลงานศิลปะชาวอินโดนีเซีย เราเรียกแกร็บแล้วนั่งอัดกันในรถเพื่อไปยังหมู่บ้านที่ติดกับสนามกอล์ฟย่านชานกรุงจาการ์ตา บ้านเด็ดดี้หาไม่ยากเพราะมีรถจอดหน้าบ้านยาวไปถึงหน้าปากซอย แถมยังมีรถปั่นไฟคันเบ้อเริ่มหลายคันจอดเรียงรายอยู่ข้างบ้านเหมือนข้างในจะมีคอนเสิร์ตงานเปิดเอเชียนเกมส์อย่างไงอย่างงั้น พวกเราเดินลงจากรถด้วยความงงๆ เพราะบ้านเฮียเขาใหญ่อย่างกับวัง ด้านหน้าบ้านมีลานกว้างพอจะเตะบอลได้ รายล้อมไปด้วยสวนที่มีผลงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ๆ นับสิบ กับหมาจริงๆ ตัวเท่าหมีอีกคู่หนึ่งที่นอนนิ่งมากเหมือนเป็นหมาปลอม ตรงหน้าประตูบ้านมีโต๊ะรีเซ็ปชันให้ลงทะเบียน เรารู้สึกเหมือนมางานแต่งงานมากจนเกือบจะเขียนคำอวยพรลงสมุดไปแล้ว หลังลงชื่อหยอดนามบัตรเสร็จสรรพ เราก็เดินไปตามทางเข้าบ้านที่มีนิทรรศการศิลปะขนาดย่อมๆ จัดเอาไว้ให้แขกดูเรียกน้ำย่อย แผงลอยชั่วคราวแบบพับเก็บได้ถูกเอามาวางเรียงรายกันแบบไม่กลัวแดดกลัวฝนเพื่อใช้แขวนภาพวาดประมาณ 50 ชิ้น ที่เตะตาเรามากที่สุดคือผลงานภาพวาดยุคเริ่มแรกของมาสรีอาดี้ (Masriadi) ที่เป็นรูปคนตัวล่ำๆ ดำๆ อันเป็นซิกเนเจอร์ของเขา ผลงานของมาสรีอาดี้มีแขวนไว้หลายภาพแบบเบียดๆ เอียงบ้าง ตรงบ้าง เหมือนไม่มีราคาอะไร ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้แต่ละชิ้นมีมูลค่าหลัก 10 ล้านบาททั้งนั้น
เรามุ่งหน้าต่อเพื่อเดินเข้าสู่บริเวณบ้านด้านใน ตามข้างทางมีประติมากรรมเรียงรายสลับไปกับนกแก้วตัวเป็นๆ บ้างก็อยู่บนขอน บ้างก็อยู่ในกรง จนมาถึงเวทีใหญ่ยักษ์ที่เด็ดดี้จัดไว้เพื่อต้อนรับแขก บนเวทีมีการแสดงดนตรี สลับกับระบำพื้นเมืองจากเกาะต่างๆของอินโด แถมยังมีกายกรรมให้ดูอีก คณะเรามองหน้ากันด้วยความตกตะลึงพรึงเพริดว่าอะไรมันจะขนาดนั้น ระหว่างที่แขกเหรื่อกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมบนเวที เราก็มุดขวาทะลุซ้ายไปดูผลงานศิลปะชิ้นอื่นๆ ที่เจ้าบ้านจัดแสดงไว้ บนสนามก็มีแผงแบบเดียวกับหน้าบ้าน แขวนภาพวาดเอาไว้อีกนับไม่ถ้วน เราใช้จังหวะชุลมุนมุดต่อจนลงไปโผล่ในห้องใต้ดินที่มีทั้งภาพวาด ประติมากรรม และอะไรต่อมิอะไรเก็บไว้อีกเพียบ ในนั้นเราได้เห็นผลงานยุคเก่าของมาสรีอาดี้, เฮนดรา กูนาวาน, อาฟฟานดี้, รวมถึงผลงานของศิลปินต่างชาติชื่อดังอย่าง ยาโยอิ คูซามะ และคนอื่นๆ ที่เราไม่รู้จักแต่รับรองว่าไม่ใช่บ้านๆ อีกนับไม่ถ้วนจนลายตาไปหมด
เราได้เห็นเด็ดดี้ขึ้นเวทีร้องเพลงและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานศิลปะชิ้นเด็ดๆ ที่เก็บไว้ เฮียแกเล่าว่าเริ่มเก็บมาหลายสิบปีแล้ว เวลาชอบผลงานของใครก็จะตามอุดหนุนอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่นมาสรีอาดี้ เฮียเขาชอบตั้งแต่ยังไม่ดัง เคยซื้อภาพวาดกันอยู่ในราคาชิ้นละไม่กี่หมื่นบาท ผ่านมา 20 ปีตอนนี้พอมีชื่อเสียงแล้ว ถึงภาพจะราคาหลักสิบล้าน เด็ดดี้ก็ยังตามซื้อตามหาอยู่ เป็นคนอื่นถ้าเคยซื้อผลงานศิลปินคนหนึ่งในราคาหลักหมื่น อยู่ดีๆ หากผลงานราคาขึ้นเป็นสิบเท่าก็คงเลิกซื้อกันไปแล้ว แถมดีไม่ดีจะเทขายออกมาทำกำไรอีกต่างหาก เพราะมีคนอย่างเฮียเขาเต็มอินโดนีเซียนี่แหละเลยไม่น่าแปลกใจที่ผลงานศิลปะในบ้านเขาจะราคาพุ่งทะยานแซงบ้านเราไปถึงไหนต่อไหน
หลังจากร่ำลาเจ้าของบ้านพอเป็นพิธี คืนนั้นเรานั่งรถกลับโรงแรมอย่างอิ่มอกอิ่มใจ ได้เรียนรู้ว่าวงการศิลปะของอินโดนีเซียนั้นมีที่มาอย่างไร และคึกคักและเป็นเรื่องเป็นราวกันแค่ไหน จนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงวงการศิลปะบ้านเราว่าอยากให้เมืองไทยมีงานแสดงศิลปะใหญ่โตเชิญคนทั่วโลกมาได้ อยากเห็นแกลเลอรีมีลูกค้าไม่ขาดสายให้อยู่กันได้ ไม่ใช่เปิดๆ ปิดๆ อย่างที่เป็นอยู่ อยากให้มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วบ้านทั่วเมืองเหมือนอย่างเขา ให้นักสะสมศิลปะเลิกหมก เลิกเก็บผลงานแบบลับๆ ล่อๆ แล้วแบ่งปันให้สาธารณชนได้ชื่นชมและเรียนรู้ และอยากให้มีนักสะสมใจป้ำเยอะๆ เจียดสตางค์จากที่เคยซื้อรถสปอร์ต นาฬิกา เพชรนิลจินดา มาสนับสนุนศิลปินไทยให้ไปถึงดวงดาวเยอะๆ สิ่งที่หวังเอาไว้นี้เราว่าไม่ใช่เรื่องเว่อร์วังอะไรเลย เป็นไปได้ง่ายๆ ถ้าทุกฝ่ายมาร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน
วันถัดมา ตามตารางเจ้าภาพเขายังจะพาไปดูพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งอื่นๆ อีกก่อนจะยอมปล่อยให้เราขึ้นเครื่องบินกลับกลับเมืองไทยในตอนเย็น แต่เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมาเราเห็นงานอาร์ตเยอะเหลือเกิน ขืนถ้าไปดูเพิ่มอีกมีหวังคลื่นเหียนอาเจียนอ้วกแตกอ้วกแตนเป็นแน่ วันนี้เราเลยตัดสินใจกระชากอารมณ์ตัวเองโดยการโบกรถแท็กซี่ไปสวนสัตว์จาการ์ตา กะว่าจะไปดูมังกรโคโมโด สัตว์พื้นเมืองของอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ภาพจำสุดท้ายของเราในการมาจาการ์ตาครั้งนี้เลยไม่ใช่ภาพผลงานศิลปะที่ดูงดงามจรรโลงใจ แต่กลับเป็นตัวเงินตัวทองไซส์ใหญ่เท่าไอ้เข้ นอนแผ่หราแลบลิ้นแผล็บๆ ซับน้ำลายยืดๆ ติดตาตรึงใจขนาดขากลับนอนหลับอยู่บนเครื่องบินยังเก็บเอามาฝัน
อย่างนี้เขาเรียกว่าฝันดีหรือฝันร้าย ใครรู้ช่วยบอกที
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี