อาณานิคมล่องหน

อาณานิคมล่องหน

โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้

Loading

“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง

ประวัติศาสตร์ของอเมริกาขับเคลื่อนด้วยการทำสงครามมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างประเทศ จารึกประวัติศาสตร์บทแรกของอเมริกานั้นคือการปล้นฆ่าและแย่งชิง ขับไล่เจ้าของแผ่นดินดั้งเดิมให้ไปอยู่ในผืนดินแร้นแค้นกันดารที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ หรือเรียกอย่างสวยหรูว่า ‘เขตสงวน’ จากนั้นก็ก่อตั้งอาณานิคมของชาติฝรั่งอั้งม้อบนฝั่งตะวันออกเรียงรายตั้งแต่แคนาดามายันฟลอริดา

ชาวยุโรปเกิดจริตบิดเบือนคิดเอาเองว่า ‘กูพบโลกใหม่’ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ใหม่อะไรเลย เพราะอินเดียนแดงอาศัยอยู่ที่นี่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

อังกฤษพยายามอย่างหนักที่จะแผ่ขยายอิทธิพลลงหลักปักฐานในแผ่นดินใหม่ จนสามารถก่อตั้งอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 17  ก่อนหน้านั้นเคยพยายามก่อตั้งอาณานิคมที่นิวฟาวด์แลนด์ในปี ค.ศ. 1583 แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศไม่ได้เลยเดินทางกลับอังกฤษ แถมเรือล่ม จึงมีการอพยพชาวอาณานิคมรุ่นที่สองไปตั้งรกรากที่อเมริกาในปี ค.ศ. 1585 โดยขึ้นฝั่งบนเกาะโรอาโนก นี่เองคือที่มาของความลึกลับในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเกาะแห่งนี้กลายเป็นตำนานที่มีแต่คำถามอันปราศคำตอบมาจนปัจจุบัน

หลับตาลง…​ แล้วนั่งไทม์แมชีนย้อนประวัติศาสตร์ด้วยกัน โดยย้อนกลับไปในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ 1584 สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษมีพระราชดำริจัดตั้งอาณานิคมถาวรขึ้นในแผ่นดินใหม่  โดยมอบหมายให้สุดหล่อ ค.ศ. นั้นอันมีนามกรว่าเซอร์วอลเตอร์ ราเลย์ ไปเดินสายหาทำเลที่ตั้งบนแผ่นดินใหม่

เซอร์วอลเตอร์เลยส่งหน่วยกล้าตายมาเสาะแสวงหาแหล่งทำเลเหมาะสม โดยหน่วยกล้าตายของเซอร์วอลเตอร์มาถึงชายฝั่งอเมริกาวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1584  จากนั้นกลับไปรายงานเจ้านายคือเซอร์วอลเตอร์ว่าพบเจออะไรบ้างบนแผ่นดินใหม่แห่งนี้

พอปีต่อมา ท่านเซอร์วอลเตอร์ก็ส่งคนมาตาย เอ๊ย… มาสำรวจอีก หนนี้ส่งผู้ดีมีตระกูลคือเซอร์ริชาร์ด แกรนด์วิลล์ คุมมาพร้อมเรืออีก 5 ลำ ไม่รู้นึกยังไงถึงเลือกเกาะโรอาโนกเป็นชัยภูมิในการตั้งถิ่นฐาน เซอร์ริชาร์ดและทีมงานเริ่มวางรากฐานสร้างบ้านแปงเมือง กะตั้งอาณานิคมถาวรของอังกฤษที่เกาะโรอาโนกนี่แหละ แต่วิสัยผู้ดีที่ร่ำรวย จะให้ถลกแขนเสื้อตอกไม้โป๊กๆ ก็กระไรอยู่ เลยกระดิกนิ้วเรียกผู้อพยพอื่นๆ มาลงมือแทน จากนั้นแต่งตั้งให้ราล์ฟ เลน น่าจะตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านอะไรทำนองนั้น พร้อมกับผู้อพยพชาวอังกฤษอีก 107 คน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่

พอตั้งผู้นำและลูกบ้านเสร็จ ท่านเซอร์ริชาร์ดก็โบกมือบ๊ายบายกลับไปอังกฤษเพื่อรายงานการสำรวจหนนี้แก่เซอร์วอลเตอร์ โดยสัญญาว่าจะกลับมาที่เกาะโรอาโนกอีกทีในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1586 คือเจอกันปีหน้า… ว่าจั่งซั้น ตั้งบ้านเรือนได้ไม่นานก็ทนหนาวทนหิวไม่ไหว ไหนจะอินเดียนแดงที่จ้องถลกหนังหัวอีก อยากกลับอังกฤษเต็มที แต่กลับไม่ได้เพราะนายยังไม่กลับมารับ โชคยังดีที่เซอร์ฟรานซิส เดรก แม่ทัพเรือชื่อดังของกองเรืออังกฤษแวะมาที่นี่หลังเสร็จสิ้นภารกิจปล้นชิงเรือสเปนในทะเลแคริบเบียน คือสเปนปล้นชนเผ่า   แล้วอังกฤษก็ดักปล้นเรือสเปนอีกที น่ารักน่าเอ็นดูกันดีในความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสเปน

ชาวอาณานิคมอดอยากปากแห้งเต็มแก่ เลยขอร้องให้เซอร์ฟรานซิสพากลับอังกฤษ ทุกคนพร้อมใจกันทิ้งอาณานิคมอย่างพร้อมเพรียงด้วยความหิวและกลัวอินเดียนแดง  ทีนี้เมื่อเซอร์ริชาร์ดเจ้าเก่ากลับมาถึงเกาะโรอาโนกตามสัญญาในปี ค.ศ. 1586 ต้องร้องเพลงว่า “ไม่เหลืออะไรเลย” ท่านเซอร์ริชาร์ดเลยเผ่นออกจากเกาะเพื่อไปรายงานเซอร์วอลเตอร์ ราเลย์ และพบว่าทั้งราล์ฟ เลน และลูกบ้านชาวเกาะโรอาโนกกลับมานั่งหน้าแป้นในอังกฤษอย่างปลอดภัยไม่โดนถลกหนังหัว

กระนั้นท่านเซอร์วอลเตอร์ ราเลย์ ยังไม่ยอมแพ้ ทุ่มทุนสร้างขนไพร่พลคนอพยพมาอีก 150 คน ล่องเรือจากอังกฤษมุ่งหน้ามาเกาะโรอาโนก นำโดยจอห์น ไวต์ ที่ยิ้มร่าผูกไมตรีกับอินเดียนแดงมาตั้งแต่ก้าวลงจากเรือ จากนั้นพยายามสร้างอาณานิคมขึ้นอีกหนหนึ่ง แล้วผูกสมัครรักใคร่กับอินเดียนแดงเผ่าโครอาทอน แต่ไม่รู้ผูกมิตรกันอีท่าไหน เกิดเงื่อนหลุดจนทำให้อินเดียนแดงเดือดแอบย่องมาฆ่าชาวอาณานิคมจนได้

เจอแบบนี้ก็สยองทั่วอาณานิคม ใครจะกล้าอยู่ในวงล้อมของอินเดียนแดงกันเล่า ชาวอาณานิคมเลยอ้อนวอนให้ไวต์กลับอังกฤษแล้วพาคนกับอาวุธมาช่วยรบกับอินเดียนแดงหน่อย ไวต์เลยแจ้นกลับแผ่นดินแม่ แต่ทิ้งคนในชุมชนไว้ 115 คน รวมหลานสาวที่เพิ่งแรกคลอดชื่อ เวอร์จิเนีย แดร์ ด้วย เด็กคนนี้ถือเป็นคนอังกฤษคนแรกที่เกิดในอเมริกา คนทั้ง 115 คน เป็นชาย 90 คน ผู้หญิง 17 คน และเด็ก 11 คน จากนั้นก็เดินทางกลับอังกฤษไปขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

โชคไม่เข้าข้างชาวอาณานิคมเกาะโรอาโนกเลยจริงๆ ช่วงนั้นเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับสเปนขึ้นพอดี คาดว่าหลังจากดักปล้นไปมา สองชาติเลยหันหน้าเข้าฟัดกันเอง อังกฤษนั้นเขม่นสเปนอยู่แล้วเรื่องครองความเป็นมหาอำนาจทางทะเล เลยจัดหนักจัดเต็ม เรือทุกลำถูกนำไปใช้ทำสงครามจนหมดสิ้น ในที่สุด สงครามก็สงบลงในปี ค.ศ. 1590 คืออีก 3 ปีให้หลัง

สงครามระหว่างสเปนกับอังกฤษจบลง ไวต์รีบหาเรือเพื่อแล่นกลับโรอาโนกทันที โดยบรรทุกคนและเสบียงมาเต็มอัตราศึก แต่เมื่อย่างเท้าเข้าสู่เกาะโรอาโนกแล้วต้องวังเวงใจ เพราะอาณานิคมว่างเปล่ารกร้าง ไม่มีร่องรอยของชาวอาณานิคมทั้ง 115 คนเลยแม้แต่น้อย มีเพียงป้อมที่ถูกทิ้งร้าง ที่แปลกกว่านั้นคือไม่มีร่องรอยการต่อสู้อย่างที่ไวต์เคยกังวล ไวต์และพลพรรคที่มากับเรือรอบใหม่สบตากัน แล้วมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ผู้คนเหล่านี้หายไปได้อย่างไร

แต่ปริศนาแห่งโรอาโนกยังไม่จบลงเท่านี้ มีอักษรแกะสลักไว้บนต้นไม้และรั้วรอบป้อมว่า “โครอาทอน” แบบเดี่ยวๆ ไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น เล่นเอาไวต์กับพรรคพวกยืนเกาหัวแกรกๆ เพราะในบรรดาชาวอาณานิคมที่หายไปนั้น มีเมีย ลูกสาวและหลานสาวของตนรวมอยู่ด้วย

นักประวัติศาสตร์พยายามตั้งข้อสันนิษฐานหลายประการ เช่น เป็นไปได้ไหมว่าถูกอินเดียนแดงฆ่าหมด หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็น่าจะมีซากศพหรือกระดูกหรือแม้แต่ร่องรอยการฝังศพอยู่บ้าง แต่นี่ไม่มีร่องรอยอะไรเลย หรือหากชาวอาณานิคมเจ็บไข้ได้ป่วยล้มตาย ก็น่าแปลกที่ไม่มีการพบซากศพหรือโครงกระดูกในบริเวณนั้นเหมือนกัน หากชาวอาณานิคมย้ายไปอยู่ที่เกาะโครอาทอนกับพวกอินเดียนแดง น่าจะมีร่องรอยเกี่ยวกับชาวอาณานิคมบนเกาะนั้นบ้าง จากการสำรวจเกาะโครอาทอนและเกาะใกล้เคียงก็ไม่ปรากฏว่าพบหลักฐานหรือสิ่งใดที่ยืนยันว่าชาวโรอาโนกอพยพมายังเกาะโครอาทอน

การหายตัวไปอย่างลึกลับของชาวอาณานิคมโรอาโนก กลายเป็นเรื่องปริศนาในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา เพราะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนใดๆ บอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น อาณานิคมแห่งโรอาโนกจึงได้รับสมญาว่าเป็นอาณานิคมที่สาบสูญมาจนทุกวันนี้ 

Don`t copy text!