เทศกาลคลำไข่
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง
ในอเมริกามีคำกล่าวติดตลกว่า คนในครอบครัวจะมาเจอกันปีละสามหนคือ วันอีสเตอร์ วันขอบคุณพระเจ้า และวันคริสต์มาส เพราะเป็นวันหยุดสำคัญแห่งชาติ พอถึงเดือนมีนาคม ทุกคนเตรียมฉลองอีสเตอร์ เด็กๆ จะได้ตะกร้าของขวัญที่เรียกว่าตะกร้าอีสเตอร์ บรรจุช็อกโกแลตรูปกระต่ายหรือไข่ และของเล่นนานาชนิด จึงเป็นเทศกาลที่เด็กๆ เฝ้ารอ
คำว่า ‘อีสเตอร์’ มาจากคำว่า ‘Eostre’ ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิของพวกทูโทนิค อันเป็นเทพเจ้าของเยอรมันและเป็นเทพแห่งการฟื้นคืนชีพ ก่อนถึงช่วงใบไม้ผลินั้นเป็นฤดูหนาว ซึ่งดินแดนครึ่งโลกจมอยู่ใต้หิมะมาหลายเดือน พอถึงฤดูใบไม้ผลิ หิมะละลาย ต้นไม้ผลิใบอีกครั้งเป็นสัญญาณการฟื้นคืนชีวิตใหม่ ฤดูใบไม้ผลิจึงถูกนำมาเปรียบกับการฟื้นจากความตายของพระเยซูด้วย
วันอีสเตอร์อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คือระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน แต่หากศึกษาความเป็นมาที่แท้จริงของเทศกาลนี้แล้วพบว่าเป็นเทศกาลที่พัฒนามาจากเทศกาล ‘ปัสกา’ หรือพาสโอเวอร์ของยิว ซึ่งเทศกาลปัสกานี้เป็นเทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงการหลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์นั่นเอง
ปี ค.ศ. 325 จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งอาณาจักรโรมันตัดสินว่าเทศกาลอีสเตอร์ควรต้องตรงกับวันอาทิตย์ เพราะพระเยซูถูกตรึงกางแขนวันวันศุกร์ ดังนั้นหากพระองค์คืนชีพสองวันต่อมาจะต้องเป็นวันอาทิตย์
วันอีสเตอร์ที่กำหนดว่าต้องตรงกับวันอาทิตย์นั้น จะต้องเป็นวันอาทิตย์แรกหลังพระจันทร์เต็มดวงในวัน Spring Equinox ซึ่งเป็นวันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดง่ายๆ คือต้องฉลองวันอีสเตอร์หลังจากวันที่ 21 มีนาคม โดยต้องอยู่ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม-25 เมษายนของทุกปี
สำหรับคนไทยอาจแปลกใจว่า มีด้วยเหรอที่กลางวันกับกลางคืนไม่เท่ากัน เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แต่ประเทศที่อยู่ในเขตหนาว ช่วงหน้าร้อน กลางวันจะยาวนานมาก กว่าพระอาทิตย์ตกดินก็ล่วงเข้าสี่ทุ่มหรือบางแห่งเที่ยงคืน ในช่วงหน้าหนาว กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน เพียงแค่สี่หรือห้าโมงเย็นก็มืดราวกับกลางคืน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเวลาตามฤดูที่แตกต่างกัน ไม่เหมือนเมืองไทยที่ไม่ต้องปรับเข็มนาฬิกาให้เร็วขึ้นหรือช้าลงตามฤดูกาล
ขณะที่ศาสนาคริสต์แผ่ขยายทั่วทวีปยุโรป มีการผสานความเชื่อของชาวเพเกนเข้ากับความเชื่อของศาสนาคริสต์ด้วย เช่นการใช้คำว่าอีสเตอร์ (Easter) อาจจะมาจากชื่อเทพแห่งฤดูใบไม้ผลิและความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังนำไปสู่ประเพณีการซ่อนไข่อีสเตอร์
ไข่เป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่ จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นหลักทั่วไปของธรรมชาติ เช่น ลูกเจี๊ยบออกมาจากไข่เสมือนการย่างเข้าสู่ชีวิตใหม่และการเจริญเติบโต คาดว่าชาวคริสต์รับเอาไข่มาเป็นส่วนหนึ่งในธรรมเนียมเทศกาลอีสเตอร์ช่วงศตวรรษที่ 13
สีแดงที่ใช้ระบายเปลือกไข่เป็นสัญลักษณ์แทนการปรากฏตัวของพระคริสต์จากหลุมฝังพระศพ การย้อมเปลือกไข่เป็นสีแดงเพื่อแทนพระโลหิตหยาดรินต้องไม้กางเขน ระบายสีแล้วปอกไข่แบ่งกันกิน ความนิยมกินไข่ในวันดังกล่าว เพราะเชื่อว่าการกินไข่จะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่ชีวิต
กิจกรรมวันอีสเตอร์ เริ่มจากการไปรวมตัวกันที่โบสถ์เพื่อสวดมนต์และร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ทุกครอบครัวตกแต่งไข่เป็นลวดลายสีสันต่างๆ เพื่อมอบให้แก่กัน บางโบสถ์จัดกิจกรรมและร่วมรับประทานอาหารเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ รวมไปถึงจัดเกมสนุกๆ โดยเฉพาะเด็กๆ ค้นหาไข่อีสเตอร์
สมัยก่อนนำไข่ต้มที่ระบายสีต่างๆ ไปซ่อนเอาไว้ในพุ่มไม้หรือกอหญ้าเพื่อให้เด็กๆ ค้นหา ช่วงเวลาแบบนี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในวันอีสเตอร์ร่วมกัน ระยะหลังใช้ไข่พลาสติกที่ใส่ขนมเอาไว้ข้างในแทน เด็กๆ จะพยายามตามล่าหาไข่อีสเตอร์ให้ได้มากที่สุดเพื่อสะสมขนมข้างใน เป็นการแข่งขันที่ไม่ได้เน้นแพ้หรือชนะ แต่ใครหาไข่ได้มากที่สุดก็ได้ขนมเป็นรางวัล
ประเพณีการคลำไข่อีสเตอร์หลากสี กลายเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมระดับประเทศในอเมริกา โดยเฉพาะประเพณีการกลิ้งไข่อีสเตอร์
ในปี ค.ศ. 1876 สภาคองเกรสออกกฎห้ามเด็กๆ เล่นคลำไข่ในพื้นที่ของสภา ดังนั้นประธานาธิบดีรัทเธอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ จึงเปิดสนามหญ้าของทำเนียบขาวให้เด็กๆ เข้ามาเล่นกัน หลังจากนั้นประเพณีกลิ้งไข่อีสเตอร์ก็กลายเป็นประเพณีประจำปีในทำเนียบขาว โดยประธานาธิบดีจะมาร่วมเล่นสนุกกับเด็กๆ ด้วยทุกปีอย่างสนุกสนาน
นอกจากเด็กๆ สนุกกับการหาไข่อีสเตอร์แล้ว วันนี้ถือเป็นอีกวันที่ทุกคนในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ในอเมริกามักอบแฮมเป็นหลัก รับประทานคู่กับสลัดหรือมันฝรั่งอบ เด็กๆ จะได้ตะกร้าของขวัญ ภายในบรรจุขนมและของเล่น ส่วนมากแล้วจะบรรจุของที่เกี่ยวกับเทศกาลอีสเตอร์ เช่น ไข่หรือกระต่ายที่ทำมาจากช็อกโกแลต หรือขนมหวานที่เรียกว่าเจลลีบีนรสต่างๆ เพราะมีรูปร่างเหมือนไข่
บางตำนานมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไข่อีสเตอร์ว่ามีที่มาจากมารี แมกดาลีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ติดตามพระเยซู มารีนำตะกร้าใส่ไข่ไปให้ทหารโรมัน เพื่อขอร้องให้ทหารเหล่านั้นลดการกระทำเหี้ยมโหดต่อพระเยซู เมื่อน้ำตาของเธอหยดลงบนไข่ในตะกร้าก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น น้ำตาที่หยาดลงรดเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่มีสีสันสวยงาม ประเทศแถบยุโรปบางประเทศไม่นิยมระบายสีไข่อีสเตอร์หลายสี แต่จะระบายด้วยสีแดงสีเดียว เป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระโลหิตของพระเจ้า
ช่วงศตวรรษที่ 16 พ่อแม่บอกลูกๆ ว่า ถ้าทำตัวเป็นเด็กดี กระต่ายอีสเตอร์จะมาวางไข่หลากสีไว้ที่บ้าน เด็กๆ เลยทำรังไว้ในบ้านเพื่อล่อให้กระต่ายเข้ามา นี่เองเป็นที่มาของประเพณีการล่าไข่อีสเตอร์และตะกร้าไข่อีสเตอร์ การความเชื่อเรื่องกระต่ายอีสเตอร์ที่ทำให้เด็กๆ อยากล่าไข่อีสเตอร์เพื่อให้เต็มตะกร้าไวๆ ผู้ใหญ่เลยหาทางช่วยเหลือเด็กๆ เติมตะกร้าอีสเตอร์ให้เต็มได้ง่ายขึ้น
แม้ว่าเทศกาลอีสเตอร์จะเป็นวันแห่งความปีติของชาวคริสต์ ในการเฉลิมฉลองการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู แต่ระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมานี้ทำให้ธรรมเนียมประเพณีใหม่ๆ ถูกผนวกเข้ามา บ้างเป็นประเพณีทางศาสนา และบ้างเป็นประเพณีเพื่อความสนุกสนาน แต่อีสเตอร์ยังเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิที่แสนแจ่มใส
- READ อย่าลืมทัดดอกไม้ก่อนหอน
- READ วันที่แม่น้ำกลายเป็นสีเขียว
- READ เทศกาลคลำไข่
- READ ประธานาธิบดีแสนรักและแสนชัง
- READ เรื่องของเฮียดำลง (ที่ไม่ใช่พุตตาล)
- READ พลาดท่าเสียของดี
- READ เมื่ออเมริกันฝันหาคุก
- READ บ้านหลอกผีที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ
- READ กำแพงขาวดำในเมืองสนธยา
- READ ขี้หมาพารวย
- READ อาหารสันหลังยาว
- READ โลกนี้ยังมีมนุษย์ถ้ำ
- READ ฮาร์ดไซเดอร์..หอมผลไม้ในฟองเบียร์
- READ อาณานิคมล่องหน
- READ ผู้ปรีชาชาญนั้นผลิตเบียร์
- READ ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
- READ อุรังอุตังเฒ่า..เราจะคิดถึงเธอ
- READ มลรัฐวูล์ฟเวอรีน
- READ ประโยชน์ของเบียร์ที่เมียไม่รู้
- READ โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
- READ เมียบังเกิดเกล้า
- READ จับงูบูชาพระเจ้า
- READ ภาษามหาระทวย
- READ อินเดียนแดงที่โลกลืม