
อย่าลืมทัดดอกไม้ก่อนหอน
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง
ชื่อเรื่องอาจทำให้งุนงงเล็กน้อย สำหรับมิตรรักนักอ่านรุ่นอายุไม่เกิน 40 ปี แต่สำหรับวัยรุ่นแรกแย้มอายุ 50 กว่าขึ้นไปนั้นจะเข้าใจได้ทันทีว่าประโยค ‘ทัดดอกไม้บนเรือนผม’ เป็นวลีมาจากเพลงยุคฮิปปี้เฟื่องฟู นั่นคือเพลง San Francisco ของสก็อต แม็คเคนซี โดยเฉพาะท่อนที่ร้องกระหึ่มทั้งโลกว่า “If you’re going to San Francisco. Be sure to wear some flowers in your hair”
เดินทอดน่องไปตามถนนในซานฟรานซิสโก อาจได้ยินเสียงแซกโซโฟนแผ่วโหยมากับสายลมยามเย็น ควรระวังหลังเล็กน้อย เพราะพวก Homeless ประชิดขอเงิน หากขอไม่ได้ก็กรรโชกเอาดื้อๆ อย่าลืมทอดตาลงต่ำๆ มองพื้น นอกจากขี้หมาประปรายแล้วยังมีขี้คน เปรอะรอยกลางเสียงสบถด่าของยามเฝ้าหน้าโรงแรมห้าดาวที่ต้องเอาน้ำชำระล้างแทบทุกเช้า
ฝูงฮิปปี้เดินปะปนไปกับนักธุรกิจ ดุจดั่งดอกไม้หลากสีท่ามกลางกองทัพสูทสีขรึม ความฝันล่องลอยอยู่ในดวงตาฉ่ำเยิ้ม อาจจะอยู่ระหว่างเดินทางกลับไปแหล่งซ่องสุมลือชื่อบนถนนสายบุปผาชน Haight-Ashbury รับรองว่า ที่นี่มีบ้องกัญชาหลากสีหลากสไตล์ในราคามิตรภาพ
เราอาจไม่ได้กลิ่นดอกไม้บนหมวกรวยรื่นเหมือนในบทเพลง San Francisco แต่ได้กลิ่นกัญชาอวลซ่านมาจากซานฟรานซิสโกเบย์ ท่าจอดเรือแรกที่คนจีนจากเซี่ยงไฮ้ลอยทะเลมาด้วยแววหวังไหวระริกในดวงตาว่า ณ แผ่นดินอีกฝั่งฟากหนึ่งนี้ปูลาดด้วยทองคำ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า คนที่เดินสวนไปมานั้นหน้าตาเป็นจีนเสียหกในสิบ ที่เหลือเป็นฝรั่งและเม็กซิกัน
ยุคตื่นทองพลิกโฉมประวัติศาสตร์ซานฟรานซิสโกชั่วข้ามคืน แล้วจากเมืองที่รุ่งเรืองมาจากยุคตื่นทองผันมาสู่สวรรค์ชั้นกัญชาวดีของฮิปปี้ได้อย่างไร หากอยากเข้าใจรากเหง้าและกำเนิดบุปผาชนอย่างแท้จริงแล้ว คงต้องย้อนกลับไปสู่ยุคบีตเจนเนอเรชัน คือ ประมาณ 1950s-1960s
จุดเริ่มต้นของฮิปปี้ในอเมริกาเริ่มต้นมาจากกลุ่มนักเขียนกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มบีต’ หรือบีตเจเนอเรชัน ซึ่งเป็นกลุ่มนักเขียนอเมริกันที่มารวมตัวกันในปลายทศวรรษ 1950s ต่อเนื่องไปจนถึงปี 1960s
ในปี ค.ศ.1948 แจ็ก เคอร์แซค คิดคำว่าบีตเจเนอเรชันขึ้น เพื่อเอาไว้เรียกกลุ่มนักเขียนขบถต่อสังคม ไม่ยอมโอนอ่อนตามสังคมอย่างเชื่องๆ เหมือนคนในยุคนั้นที่ทำทุกอย่างตามกระแสสังคม โดยเอาคำมาจากนวนิยายของ John Clellon Holmes เรื่อง GO มาใช้เรียกกลุ่มตนเอง
คำว่า ‘บีต’ (Beat) เป็นสแลงที่มีความหมายหลายนัย เป็นได้ทั้งคำเรียกกลุ่มพวกหัวขโมย ขี้ยา และบรรดาตัวแสบต่างๆ แต่สำหรับกลุ่มบีตแล้ว หมายถึงกลุ่มคนที่ค้นพบตัวเองและไม่เดินตามหลังใคร ถือเป็นกลุ่มชนที่มีแนวทางของตัวเองอย่างเด่นชัดโดยไม่สนใจกระแสสังคม
นักเขียนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ‘บีตนิกส์’ (Beatniks) วรรณกรรมที่เป็นหัวใจหลักของกลุ่มบีตเจเนอเรชันคือ รวมบทกวี ‘หอน’ ของอลัน กิลสเบิร์ก (1956) เนคลันซ์ (1959) ของวิลเลียม เอส. บอห์โรห์ และ ออน เดอะ โร้ด (1957) ของแจ็ก เคอร์แซค ทั้งสามเล่มนี้เป็นเหมือนคัมภีร์หลักแห่งบีทเจนเนอเรชั่นเลยก็ว่าได้
กลุ่มบีตเจเนอเรชันทำให้ความนิยมวิถีขบถกระจายตัวกว้างขวางในกลุ่มหนุ่มสาว กลายเป็นกลุ่มชนทวนกระแสที่น่าจับตามองในอเมริกายุคนั้น ด้วยความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สิ่งควบคู่มากับบทกวีและงานเขียนยุคบีตเจเนอเรชัน คือกัญชาและ LSD สอดไส้ชีวิตอันประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสีและชีวิตเสรีไร้ขอบเขตของเหล่าบุปผาชน
จากกลุ่มนักเขียนขบถเล็กๆ ที่เรียกตนเองว่าบีตนิกส์ เริ่มมีแนวร่วมทวนกระแสสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะฝั่งซานฟรานซิสโกทำให้ร้านหนังสือ City Lights Bookstore อันเปรียบเสมือนบ้านหรือสวนดอกไม้แห่งกลุ่มบีตเจเนอเรชัน บนถนนโคลัมบัส ย่าน North Beach คับแคบไปถนัดใจ
ฉันเดินตามกลิ่นกัญชามาแถบ North Beach หยุดยืนหน้าร้านหนังสือเลขที่ 261 บนถนนโคลัมบัส City Lights Bookstore ร้านหนังสือสำหรับคนรักการอ่านและรักการ ‘หอน’ อาจเป็นร้านเดียวในโลกที่แปะป้ายว่า Books not bombs (หนังสือไม่ใช่ลูกระเบิด) และ Have a seat and read a book (หาที่นั่งแล้วอ่านหนังสือสักเล่ม) ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ร้านนี้เป็นรังเก่าของพวกกวีบีตเจเนอเรชัน อย่าง Jack Kerouac และ Allen Ginsberg ผู้ซึ่งเป็นหัวหอกแห่งการ ‘หอน’ ในยุค 50s City Lights Bookstore ไม่ใช่เป็นแค่ร้านหนังสือ แต่เป็นแหล่งเพาะกวีบุปผาชนในยุค 50s สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ร้านนี้ก่อตั้งโดย ปีเตอร์ ดี มาร์ติน ( Peter D. Martin ) และกวีลอเรนซ์ เฟอร์ลิงเกตติ (Lawrence Ferlinghetti) ในปี 1953
กวียุคบีตเจเนอเรชันเปรียบเสมือนคบเพลิงแห่งปัญญาที่ลุกโพลง รุ่งโรจน์จรัสจ้าทั่วอเมริกาจนทุกคนต้องจับตามอง เนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็นระหว่างอเมริกาและรัสเซีย วรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมตกอยู่ในความมืดมนซึมเซา ประชาชนถูกทำให้ ‘เชื่อง’ โดยปราศจากการตั้งคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามเรื่องสงคราม หากใครอยากวิพากษ์สังคมอาจถูกตั้งข้อหา ‘เป็นภัยต่อสังคม’ ได้ง่ายๆ
แต่เหล่ากวีบีตกล้าลุกขึ้นท้าทาย วิพากษ์ทั้งสังคมอเมริกาและสังคมโลก เพื่อมุ่งหวังปลุกจิตวิญญาณอเมริกันชนให้คืนสู่เสรีภาพแห่งการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ บทกวีกลุ่มบีตเน้นความไร้ฉันทลักษณ์ ไร้รูปแบบตายตัว บทกวีไม่จำเป็นต้องใช้คำสละสลวย ขอเพียงแต่สามารถกระชากความคิดและอารมณ์ให้ตระหนักถึงสาระแห่งการดำรงอยู่

กวีที่โด่งดังในยุคบีตคือ Allen Ginsberg เป็นแกนนำในการก่อตั้งกลุ่มนักเขียนบีต สร้างงานวรรณกรรมทวนกระแสและวิพากษ์สังคมอเมริกายุคนั้นอย่างถึงแก่น กวีนิพนธ์เล่มแรกคือ Howl (หอน) เมื่อตีพิมพ์ครั้งแรก อัลเลนถูกจับด้วยข้อกล่าวหาใช้คำหยาบคาย เล่มนี้ฉันซื้อมานานแล้ว ภาษาเอาเรื่องตามที่ถูกกล่าวหานั่นแหละ ส่วนเฟอร์ลิงเก็ตติ ผู้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ก็โดนจับด้วยเช่นกัน ด้วยข้อหาก่อความไม่สงบให้สังคม เพราะทางการคิดว่าเสียง ‘หอน’ นั้นทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม ทำให้สองกวีต้องเข้าไปนั่งเขียนบทกวีในคุกอยู่พักหนึ่ง
ต่อมาหนังสือเล่มนี้กลายเป็นกวีนิพนธ์ที่โด่งดังเล่มหนึ่งแห่งโลกวรรณกรรม และได้รับการแปลหลายภาษาทั่วโลกด้วยเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมทั้งต่อต้านสงครามเวียตตนาม อีกทั้งตัวอัลเลนเองเคยถูกจับหลายต่อหลายครั้งจากการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่ครั้งที่เป็นสีสันให้โลกวรรณกรรมจดจำไปนานคือ เคยโดนจับข้อหาแก้ผ้าอ่านบทกวีในที่สาธารณะ
ผลของการ ‘หอน’ ทำให้ร้านนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์วรรณศิลป์ของอเมริกาและเป็นสถานที่สำคัญทั้งของเหล่าบุปผาชน ไม่เฉพาะแต่หนอนหนังสือเท่านั้น ร้านนี้กลายเป็นสถานที่หนึ่งในซานฟรานซิสโกที่ศิลปินและกวีต้องหาโอกาสมาเยือน
ด้วยเสียงหอนครั้งแรกในฐานะกวี โดยกวีรุ่นหลังได้สืบทอดลีลาการ ‘หอน’ จากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ร้านหนังสือ City Lights Bookstore กลายเป็นตำนานแห่งการ ‘หอน’ มาจนถึงทุกวันนี้
- READ อย่าลืมทัดดอกไม้ก่อนหอน
- READ วันที่แม่น้ำกลายเป็นสีเขียว
- READ เทศกาลคลำไข่
- READ ประธานาธิบดีแสนรักและแสนชัง
- READ เรื่องของเฮียดำลง (ที่ไม่ใช่พุตตาล)
- READ พลาดท่าเสียของดี
- READ เมื่ออเมริกันฝันหาคุก
- READ บ้านหลอกผีที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ
- READ กำแพงขาวดำในเมืองสนธยา
- READ ขี้หมาพารวย
- READ อาหารสันหลังยาว
- READ โลกนี้ยังมีมนุษย์ถ้ำ
- READ ฮาร์ดไซเดอร์..หอมผลไม้ในฟองเบียร์
- READ อาณานิคมล่องหน
- READ ผู้ปรีชาชาญนั้นผลิตเบียร์
- READ ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
- READ อุรังอุตังเฒ่า..เราจะคิดถึงเธอ
- READ มลรัฐวูล์ฟเวอรีน
- READ ประโยชน์ของเบียร์ที่เมียไม่รู้
- READ โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
- READ เมียบังเกิดเกล้า
- READ จับงูบูชาพระเจ้า
- READ ภาษามหาระทวย
- READ อินเดียนแดงที่โลกลืม