ผู้ชอบดูการละเล่นเป็นนิสัย

ผู้ชอบดูการละเล่นเป็นนิสัย

โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้

Loading

“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง

เมื่อเอ่ยถึงละครบรอดเวย์ ชาวบ้านร้านถิ่นที่วันๆ คิดแต่เรื่องทำมาหากินต่างเบ้หน้าไปตามกัน เพราะคิดว่าคงต้องปีนบันไดฟังนั่งชูคอแน่นอน ตอนแรกฉันเองก็คิดแบบนั้นนั่นแหละ แต่ลึกๆ แล้วนึกฝันอยากดูละครบรอดเวย์สักหนมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพราะชื่นชอบเหลือเกินกับบทเพลงประกอบละคร The Phantom of the Opera กรอเทปฟังแล้วฟังเล่าไม่รู้เบื่อจนเทปยืด นับตั้งแต่วันที่ได้ฟังเพลงละคร The Phantom of the Opera ก็แอบหวังลมๆ แล้งๆ ว่า สักวันจะเก็บเงินไปอเมริกา เพื่อดูละครเรื่องนี้ให้บรรลุความฝันของตัวเอง เวลานั้นไม่เคยคิดว่าย้ายมาอยู่บนแผ่นดินแปลกหน้า อันเป็นต้นกำเนิดของละครบรอดเวย์

หลายคนไม่เข้าใจว่าละครบรอดเวย์แตกต่างจากละครประเภทอื่นอย่างไร ขออธิบายคร่าวๆ ว่าละครบรอดเวย์เป็นละครเพลงยอดนิยมของอเมริกา โดยมีการกำหนดรูปแบบการแสดง เพลง และการเต้นรำตายตัว ไม่ว่าจะเปิดการแสดงกี่รอบก็ตาม ชื่อ ‘บรอดเวย์’ นำมาจากชื่อถนนสายหนึ่งในนิวยอร์กทั้งสายที่เรืองรองอลังการด้วยโรงละครสองฝั่งฟาก

วงการภาพยนตร์มักนำเรื่องราวจากละครเพลงบรอดเวย์มาทำเป็นภาพยนตร์ ส่วนมากประสบความสำเร็จได้รางวัลอยู่เสมอ เช่น เรื่อง West Side Story, The Sound of Music, South Pacific, The King and I และ Chicago

นอกจากเปิดการแสดงยืนโรงในนิวยอร์กแล้ว ละครบรอดเวย์ออกเดินสายตระเวนแสดงตามเมืองต่างๆ ที่มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมทั่วอเมริกา ส่วนค่าตั๋วนี่บอกได้คำเดียวว่าแพงเอาการทีเดียว เลยทำให้ชาวบ้านร้านถิ่นมองว่าเป็นการแสดงของชนชั้นสูงโดยปริยาย ทั้งที่ละครบรอดเวย์นั้นแสนสนุก ดูได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนราคาก็ลดหลั่นไป ตั้งแต่ราคาแพงหูฉี่จนถึงราคาที่พอจ่ายได้

ถือเป็นความโชคดีใหญ่หลวงที่เมืองบ้านนอกสุดกู่ของฉันติดข่ายเมืองวัฒธรรมด้วย เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยชั้นนำและมีโรงละครเก่าสวยคลาสสิกตั้งอยู่ เป็นที่ต้องใจของคณะละครบรอดเวย์ คณะละครบรอดเวย์เลยมาเปิดการแสดงทุกปี

ช่วงปีแรกๆ ที่มาอเมริกาเป็นช่วงสร้างครอบครัว จะแล่นไปซื้อตั๋วละครแพงๆ ก็เกรงใจกระเป๋าสตางค์มิใช่น้อย เลยได้แต่มองตาละห้อยเพราะความเป็นคนเบี้ยน้อยหอยเหี่ยว

วันหนึ่งเจอส้มหล่นเต็มหัวแม่ตีน เพื่อนสามีคิดเอาใจเมีย ด้วยการแอบไปซื้อตั๋วละครบรอดเวย์ให้เมียรัก แต่กลับปรากฏว่านางเมียร้ายแสนรักตะโกนด่าลั่นบ้าน พาลทะเลาะจนบ้านแทบแตก แล้วไม่ยอมไปดูละครกับผัวตัวเอง สุดท้ายผัวผู้แสนซื่อเลยเดินหน้าแห้ง เอาตั๋วละครมาให้สามีฉันฟรีๆ พร้อมนินทาเมียอีกหลายกระบุง

ฉันเลยมีโอกาสดูละครบรอดเวย์ครั้งแรกเพราะความฟลุก คือเมื่อครั้งที่มาเปิดการแสดงในเมืองนี่แหละ เป็นเรื่องราวขำๆ ฮาๆ แห่งยุคปี ค.ศ. 1960-1970 เรื่อง แฮร์สเปรย์ หลังจากวันนั้น บ้านเราก็หลงใหลละครบรอดเวย์จนกลายเป็นพวกดูการละเล่นเป็นนิสัย ตั้งใจมั่นว่าจากนี้ต่อไปจะต้องดูละครบรอดเวย์ทุกปี

การจองตั๋วละครบรอดเวย์ในเมืองที่ฉันอยู่มีสามระดับ พวกที่จองตั๋วแบบเหมารายฤดูกาลแสดง ได้เลือกที่นั่งหน้าสุด จากนั้นจะกั๊กตั๋วให้พวกที่ซื้อตั๋วละครพร้อมดินเนอร์ กลุ่มที่สองนี้แหละ ได้นั่งแถวหน้าถัดจากพวกแรก ส่วนพวกที่สาม จองบัตรตามยถากรรมแบบใครจองก่อนได้ก่อน แบ่งชนชั้นกันตามราคาตั๋ว

ฉันจองตั๋วแบบที่สองนี่แหละ ยอมจ่ายแพงหน่อย แต่ได้นั่งข้างหน้าและมีมื้อเย็นให้กินอิ่มหมีตีพุงก่อนดูละคร นานๆ จะได้ดูละครบรอดเวย์ทั้งที งานนี้ต้องทุ่มทุนสร้างหน่อย ลงทุนถอดกางเกงยีนส์ เสื้อกล้ามตราห่านคู่ และรองเท้าแตะคีบตราดาวเทียมที่อุตส่าห์ลากมาจากเมืองไทย จัดแจงอาบน้ำขัดขี้ไคลให้งามผ่องพร้อมแต่งองค์ทรงเครื่องไปดูละคร

การดูละครบรอดเวย์ ไม่ใช่แค่มาดูละครเท่านั้น ผู้คนยังแต่งตัวเริ่ดมาประชันกันด้วย ครั้งแรกๆ ฉันไปดูละครอย่างเจียมๆ แอบยืนตรงประตู คอยดูรถลีมูซีนมาจอดข้างหน้าโรงละคร แต่ละนางที่ลงจากรถใส่เสื้อโค้ตขนมิ้งค์ ส่วนฉันมีแต่เสื้อโค้ตขนหมา เพราะหมาวายร้ายที่บ้านชอบแอบขึ้นมานอนบนเสื้อหนาวบ่อยๆ เสื้อโค้ตที่มีเลยกลายเป็นเสื้อขนหมาโดยไม่ตั้งใจ

นับตั้งแต่ดูละครบรอดเวย์เรื่องแรกจนถึงวันนี้ บอกเลยว่าดูมากว่า 20 เรื่อง ปีกลายอยากดู The Lion King ต้องลงทุนขับรถไปนอนค้างอ้างแรมในโรงแรมเพื่อดูละครเรื่องนี้อีกรัฐหนึ่ง จริงๆ แล้ว The Lion King เคยมาเปิดแสดงในเมือง แต่เป็นช่วงโควิดขวิดโลก เลยต้องยกเลิกและคืนเงินค่าตั๋ว เมื่อบรอดเวย์เปิดการแสดงเรื่องนี้อีกหน อารมณ์คงประมาณหมั่นไส้ เลยกระโดดข้ามรัฐฉันไปแสดงอีกรัฐหนึ่งซะงั้น

ปีนี้ละครบรอดเวย์วนกลับมาแสดงในเมืองที่อาศัยอยู่ ประเดิมด้วยเรื่อง The Addams Family มีหรือที่เราจะพลาด สามีนั้นแจ้นไปจองตั๋วแถวหน้า แต่ได้มาแค่แถวที่สาม อย่างที่บอกแหละว่าสองแถวหน้าจะกันที่ไว้ให้เหล่าแฟนคลับบรอดเวย์ตัวจริง การแต่งตัวไปดูละครปี พ.ศ. นี้ไม่ค่อยเคร่งครัดเหมือนสมัยก่อนว่าต้องแต่งตัวดี แต่ก็มีคนคนจำนวนไม่น้อยที่แต่งตัวแต่งยศ สามีฉันอยากแต่งตัวเป็นอีตา Gomez Addams แต่ฉันอยากให้สามีแต่งตัวเป็น Cousin It เสียดายที่ขนหัวไม่ยาวไม่ดกปรกพื้นเหมือน Cousin It

เปิดฉากแรกด้วยเพลงประจำที่ทุกคนจำได้ดี จากนั้นก็เปิดตัวนักแสดงที่ออกมาเต็มเวที มากันหมดแม้กระทั่งมือผีและ Cousin It ละครบรอดเวย์เรื่องนี้มีเนื้อหาแตกต่างจากหนังทั้ง 3 ภาคที่สร้าง แต่ยังคงเค้าเดิมอยู่ เนื้อเรื่องในละครผูกโยงถึงลูกสาวตระกูลอดัมส์ผูกสมัครรักใคร่กับหนุ่มหน้ามลคนธรรมดาที่ไม่ค่อยบ้าบอเหมือนครอบครัวเธอ

เมื่อฝ่ายชายขอเธอแต่งงาน เลยต้องพาพ่อแม่ฝ่ายชายมาบ้านตระกูลอดัมส์ ซึ่งในละครเวที ไม่ได้มีแค่พ่อ แม่ ลูกชาย ย่า มือผี และซอมบี้คนรับใช้อย่างในหนัง แต่ยกโขยงผีประจำตระกูลมาช่วยเต้นทุกฉากอย่างสนุกสนานบันเทิง จากนั้นเรื่องวุ่นๆ ก็ตามมา

เมื่อเวนส์เดย์ขอร้องให้ทุกคนในครอบครัวทำตัว ‘ปกติ’ เพื่อให้ครอบครัวฝ่ายชายที่มาจากโอไฮโอไม่รู้สึกว่าตระกูลอดัมส์คือตระกูลที่ผียังหลบ น้องชายเวนส์เดย์รับไม่ได้ เลยพยายามทำลายความสัมพันธ์ ด้วยยาพิษที่บีบให้พี่สาวแสดงนิสัยด้านร้ายออกมา แต่ไม่อาจยับยั้งการแต่งงานได้ ก่อนแต่งงาน เวนส์เดย์ขอให้ผูกตาเธอแล้วยิงธนูไปที่แอปเปิลบนหัวว่าที่เจ้าบ่าว แทนการตอบรับคำแต่งงาน ช่างสมเป็นลูกสาวตระกูลอดัมส์สุดๆ หลังจากนั้นเป็นฉากแต่งงานอันเอิกเกริกพร้อมฝูงผีในตระกูล

การแสดงและการเต้นทุกฉากยังสนุกเฮฮาสมเป็นละครบรอดเวย์ คนดูขำกันจนน้ำตาไหล มุขตลกบางมุขต้องเป็นคนอเมริกันเท่านั้นถึงจะเข้าใจ แสบๆ คันๆ ตามสไตล์บรอดเวย์ ในฐานะที่ชอบดูละครบรอดเวย์ อยากเชิญชวนให้ดูละครสักหน หากมีโอกาส อย่าคิดว่าภาษาอังกฤษไม่ดี แล้วจะดูไม่รู้เรื่อง ภาษาละครเป็นภาษาสากล ถึงไม่เข้าใจการสนทนาโต้ตอบในบทเพลงก็ยังดูรู้เรื่อง และละครบรอดเวย์ไม่ใช่สิ่งสูงส่งจนเข้าถึงไม่ได้แต่อย่างใด

 

Don`t copy text!