ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาทั้งหมด บางเรื่องเป็นแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้ คือสาระและบันเทิง
ช่วงเวลาแห่งความสุขทุกปีของอเมริกันคือช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในเดือนพฤศจิกายน ลากยาวไปถึงวันปีใหม่ บรรยากาศแบบนี้อิ่มอวลด้วยความสุขอันหอมหวาน ผู้คนดูอบอุ่นอ่อนโยนและใส่ใจกันเป็นพิเศษ
เคยขับรถไปซื้อกาแฟร้านแมคโดนัลด์โดยไม่ต้องลงจากรถ แต่ขับไปต่อคิวนอกร้าน ขณะที่ควักเงินมาจ่ายค่ากาแฟ พนักงานขายในร้านบอกว่าไม่ต้องจ่าย เพราะรถคันข้างหน้าจ่ายแทนให้แล้ว ได้ฟังก็ปีติตื้นตัน ไม่ได้ชื่นใจที่ได้กินฟรี แต่เต็มตื้นที่โลกเราไม่แล้งน้ำใจจนเกินไปนัก
ในซูเปอร์มาร์เกตจะมีซานตาคลอสลึกลับแอบจ่ายเงินให้คนที่ต่อแถวข้างหลัง ถือเป็นของขวัญที่ผู้คนมอบให้กันอย่างไม่เฉพาะเจาะจง น้ำใจส่งท้ายปีจากคนแปลกหน้าถือเป็นความงดงามที่คนตัวเล็กอย่างเราสามารถมอบให้กันในเทศกาลเปี่ยมสุขแห่งปี
ทุกคนพร้อมใจตกแต่งบ้านเรือน ด้วยการประดับประดาหน้าบ้านด้วยไฟหลอดเล็กๆ สีเขียวสลับแดง โดยยึดโทนสีหลักของเทศกาลคริสต์มาสแต่โบราณคือเขียวและแดง ซึ่งเป็นการใช้สีในเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนา สีแดงถือเป็นสัญลักษณ์ของพระโลหิตของพระเยซู ส่วนสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตนิรันดร์
ขณะที่ชาวคริสต์ตกแต่งบ้านเรือนด้วยสีแดงและสีเขียว ชาวยิวในอเมริกาก็ตกแต่งบ้านเรือนด้วยสีน้ำเงินและขาว อันเป็นสีประจำชาติอิสราเอล เพราะช่วงนี้คือเทศกาลที่เรียกว่า ‘ฮานุกกะห์’ (Hanukkah) หรือเทศกาลแห่งแสงไฟของชาวยิว ช่วงเวลาเฉลิมฉลองนั้นยาวนานถึง 8 วันติดต่อกัน และเด็กๆ จะได้ขนมและของเล่นทุกวันจนครบแปดวัน
จะว่าไปแล้วเทศกาลฮานุกกะห์ของชาวยิวใกล้กับวันคริสต์มาสของทุกปี บางปีตรงหรือคาบเกี่ยวกัน ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมักเรียกเทศกาลนี้ว่าเป็นวันคริสต์มาสของชาวยิว ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับความเชื่อของชาวคริสต์เลยด้วยซ้ำ
นอกจากตกแต่งบ้านด้วยหลอดไฟสีฟ้ากับสีเงิน ข้างหน้าต่างมีเชิงเทียนรูปทรงแปลกตางดงามที่เรียก ‘มะโนรา’ แยกออกเป็น 8 กิ่งให้ปักเทียน 8 เล่ม เพื่อระลึกถึงปาฏิหาริย์แห่งแสงสว่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานถึง 8 วัน เสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของผู้ศรัทธาที่ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติจักรวรรดินิยมกรีก
มีเรื่องเล่าขำๆ ว่า ร้านอาหารฝรั่งทุกร้านปิดหมดช่วงคริสต์มาส ร้านอาหารที่เปิดขายวันนี้เลยมีแต่ร้านอาหารจีน ชาวยิวในอเมริกาเลยออกไปรับประทานอาหารจีนกันทั้งครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องล้อเล่นสนุกๆ บางคนไม่มีโอกาสกลับไปหาครอบครัวก็ถือโอกาสไปร้านอาหารจีน กินดื่มร่วมกับเพื่อนอย่างสนุกสนานไปด้วย
ช่วงเทศกาลของทั้งสองศาสนาในวาระเดียวกันเช่นนี้ เวลาไปจับจ่ายซื้อของที่ไหน พนักงานในร้านมักอวยพรรวมกันว่า Happy Holidays เนื่องจากชาวอเมริกันไม่ได้เป็นชาวคริสต์ทุกคนและคาบเกี่ยวกับเทศกาลฉลองของชาวยิวด้วย จึงเลือกที่จะใช้คำกลางๆ มาเรียกเทศกาลปลายเดือนธันวาคม
การส่งท้ายปีมักจะมีการแสดงละครเรื่องที่เกี่ยวกับข้องกับคริสต์มาส โดยเฉพาะการแสดงบัลเลต์เรื่องเดอะนัตแคร็กเกอร์ (The Nutcracker) พ่อแม่มักพาลูกๆ ไปดูบัลเลต์เรื่องนี้กันจนแน่นโรง แม้จะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักเนื้อหาดีก็ตาม แต่ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในการเฉลิมฉลองคริสต์มาส ผู้ชมจึงมีทุกวัยแน่นขนัดทุกรอบการแสดงแต่ละเมือง
สถานีโทรทัศน์จะนำภาพยนตร์เกี่ยวกับคริสต์มาสมาฉายเป็นประจำทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติด้วยเช่นกัน ภาพยนตร์เกี่ยวกับคริสต์มาสมีหลายเรื่อง แต่ที่ขาดไมได้เห็นจะเป็นสองเรื่องนี้คือ อะ คริสต์มาส แครอล (A Christmas Carol) ซึ่งสร้างจากนวนิยายของชาลส์ ดิกเกนส์ นอกจากเรื่องนี้ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือเรื่อง อิส อะ วันเดอร์ฟูล ไลฟ์ (It’s a Wonderful Life)
ค่ำคืนแห่งเทศกาลเช่นนี้ดำเนินไปท่ามหิมะพร่างพรม บรรยากาศศักดิ์สิทธิ์กระจายตัวปกคลุม ทั่วประเทศเต็มด้วยความสุขแห่งการเฉลิมฉลอง อเมริกันทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกจะเดินทางกลับบ้านช่วงคริสต์มาส เพื่อมาร่วมฉลองกับครอบครัวท่ามกลางความเหน็บหนาวแต่รื่นรมย์ แต่บางปีหิมะสีขาวบริสุทธิ์กลายเป็นฝันร้ายสำหรับอเมริกัน
ความที่อเมริกากว้างใหญ่ไพศาล ภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว รัฐทางตอนเหนือจะหนาวจัด หิมะปกคลุมต่อเนื่องยาวนาน หน้าหนาวยาวนานถึง 8 เดือนต่อปี รัฐทางใต้จะอบอุ่นกว่า บางรัฐไม่มีหิมะตกเลยด้วยซ้ำ สำหรับคนในรัฐทางเหนือจะคุ้นชินกับหิมะมากกว่าคนรัฐทางใต้ แต่อย่างหนึ่งที่อเมริกันทำเหมือนกันคือเช็กภูมิอากาศทุกวัน หากช่วงไหนพายุหิมะเข้า จะรีบซื้ออาหารสดและแห้งตุนไว้รับสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อต้องประสบกับพายุหิมะแบบจัดหนักที่มาเยือนแทบทุกปี
ความหนาวรุนแรงส่งผลให้น้ำตกไนแอการากลายเป็นน้ำแข็ง บางเมืองอย่างบัฟฟาโล่ในรัฐนิวยอร์กถูกฝังกลบใต้หิมะสูงสองเมตร ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก ‘บอมโบเจเนซิส’ (Bombogenesis) หรือ ‘ระเบิดสภาพอากาศ’ (Bomb Cyclone) ซึ่งหมายถึงพายุไซโคลนความกดอากาศต่ำ ที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งด้านตะวันออกทุกช่วงฤดูหนาว
เมื่อเกิดบอมบ์ ไซโคลน ทำให้ความหนาววิปริตผิดปกติกระจายลงไปถึงเทกซัสและฟลอริดา ทั้งที่สองรัฐนี้ไม่เคยมีหิมะ อาจทำให้อุณหภูมิติดลบ -40 ถึง -59 เซลเซียส ซึ่งอยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิตหากออกนอกบ้าน ทางการออกประกาศเตือนว่าสามารถอยู่นอกบ้านได้ไม่เกินกี่นาที
ไทม์สแควร์ที่นิวยอร์กคือจุดยอดนิยมในการ Count Down เพื่อฉลองปีใหม่ที่ช้ากว่าชาวโลก เพราะอยู่ฝั่งตะวันตกของโลก เวลาในอเมริกาจะแตกต่างกันออกไป ที่นิวยอร์กใช้เวลา Eastern Time Zone ส่วนรัฐทางตอนกลางประเทศใช้ Central Time Zone จากนั้นไล่ไปถึง Mountain Time Zone และ Pacific Time Zone
ส่วนตามเมืองเล็กๆ ในอเมริกา อาจมีการจัดงานในบ้าน ปาร์ตี้กันเงียบๆ พอเที่ยงคืนออกมาจุดพลุเสียงปุๆ แบบไม่อึกทึกครึกโครม เพราะบางรัฐมีกฎหมายห้ามทำเสียงดังรบกวนผู้อื่นหลังเวลาสี่ทุ่ม เงียบเหงาจนอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเสียงขี้เมาเคาะขวดในเมืองไทย ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ สิ่งที่เคยคิดว่าอัปลักษณ์กลับกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในห้วงความทรงจำ
แม้จะอยู่ท่ามกลางความยากลำบากทั้งปวง แต่แสงจากดวงดาวบนยอดต้นคริสต์มาสทอประกายเจิดจ้า รับแสงเทียนจากเทียนทั้งแปดแท่งบนเชิงเทียนมะโนราของชาวอเมริกันเชื้อสายยิวบ้านหลังถัดไป ท่ามกลางหิมะโปรยปรายลงมาปกคลุมทั่วทุกหนแห่ง ทำให้โลกกลายเป็นสีขาวบริสุทธิ์อ่อนโยนราวกับเพิ่งถือกำเนิดใหม่อีกครั้ง
- READ โลกนี้ยังมีมนุษย์ถ้ำ
- READ อาณานิคมล่องหน
- READ ผู้ปรีชาชาญนั้นผลิตเบียร์
- READ ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
- READ อุรังอุตังเฒ่า..เราจะคิดถึงเธอ
- READ มลรัฐวูล์ฟเวอรีน
- READ อินเดียนแดงที่โลกลืม
- READ ประโยชน์ของเบียร์ที่เมียไม่รู้
- READ โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
- READ เมียบังเกิดเกล้า
- READ จับงูบูชาพระเจ้า
- READ ภาษามหาระทวย