เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล “ประทีปอธิษฐาน”
โดย : เนียรปาตี
เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ
จุดหมายสำคัญของการเดินทางอยู่ที่สถานีผูกแพเมืองปากน้ำโพ
ท่อนซุงไหลไปตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากสีสนิมทว่ามิได้คล่องไปตลอดทาง เพราบางช่วงสายน้ำคดเคี้ยว บางช่วงกว้างใหญ่ บางช่วงเล็กแคบ บางช่วงมีเกาะแก่งขวางกลาง และอีกบางช่วงเป็นวังน้ำวน คนล่องซุงมาตามแม่น้ำต้องรู้จุดยุทธศาสตร์ในการขนส่งท่อนไม้ บางช่วงมีอันตราย บางจุดท่อนไม้มักไปติดขวางทางน้ำ
ปัง!
ซุงยาวท่อนหนึ่งกระแทกโขดหินก้อนโตริมแม่น้ำ หมุนคว้างไปติดกับตลิ่งอีกฝั่ง แม่น้ำถูกปิดกั้นทันที ซุงที่ไหลตามมาก็กระแทกเข้าอย่างแรง เสียงบูม บูม บูม…กึกก้องต่อเนื่องไปไม่หยุด พร้อมกับท่อนซุงที่ค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาติดแล้วหยุดนิ่ง โยกโยนขึ้นลงตามแรงกระเพื่อมของผิวน้ำ
“มันเป็นเรื่องธรรมดาของการล่องไม้ ไอ้เสือหนุ่ม” มิสเตอร์อีแวนเดอร์เย้าพลางตบบ่าวิลเลียมผู้เห็นว่าเกิดปัญหาขึ้นอีกแล้ว ท่อนซุงลอยเข้ามาติดค้าง ทำให้เกิดการกองสุมทับกันของซุงและเศษไม้ไผ่รวมไปถึงเศษขยะอื่น ๆ ด้วย ในขณะที่มิสเตอร์อีแวนเดอร์เหมือนเด็กหนุ่มรอเวลาที่จะได้ผจญภัยด่านใหม่ในเกมการเดินทางนี้เสียที ก้าวเท้าที่เปลือยเปล่าไปตามท่อนซุงเพื่อสำรวจรอบบริเวณ
อีกคนหนึ่งที่เห็นเป็นเรื่องสนุกมากกว่าปัญหาในการขนส่งคือโทมัส เขาเล็งไปยังริมฝั่งด้านหนึ่งแล้วจึงชี้ให้วิลเลียมดู
“นั่นแน่ะ มากันแล้ว”
ช้างหลายเชือกเรียงแถวอยู่ริมตลิ่ง จากแพกลางน้ำที่วิลเลียมยืนอยู่ เขาจำได้หลายหน้าว่าเป็นคนเลี้ยงช้างที่ปางไม้ ผู้นำช้างสองเชือกที่ตัวใหญ่แข็งแรงกว่าใครเพื่อนคือเมืองและปะเล พลันความโล่งใจว่าปัญหานี้ก็จะแก้ได้เหมือนเช่นเคยมาก็รินไหลสู่ความรู้สึกของนายห้างหนุ่ม
โทมัสบอกให้วิลเลียมพาเบ็ตตี้ขึ้นไปอยู่บนฝั่ง และคอยดูแลความเรียบร้อยตรงนั้น
“ขืนอยู่ตรงนี้ก็เกะกะเปล่า ๆ” โทมัสว่าขณะวิลเลียมประคองเบ็ตตี้ให้เหยียบซุงที่ลอยติดกันเป็นแพขึ้นไปบนฝั่ง คำพูดนั้นจึงฟังไม่ชัดว่าเขาเหน็บแนมใคร แต่ประโยคสุดท้ายพูดกับวิลเลียมแน่
“จะเป็นผู้จัดการสถานีป่าไม้ แค่รู้เรื่องตัดไม้ไม่พอหรอก ต้องรู้จักจุดยุทธศาสตร์ของแม่น้ำด้วย ถ้าปล่อยซุงไหลไปตามกระแสน้ำอย่างเดียว ไม่ซุงสองท่อนชนกันพังเสียหาย ก็ไหลออกไปนอกเส้นทางตามหาไม่พบ ทีนี้เข้าใจหรือยังล่ะ ว่าทำไมพวกคนเลี้ยงช้างต้องล่วงหน้ามาคอยที่ตรงนี้”
คำพูดกลั้วหัวเราะของโทมัสทำให้วิลเลียมรู้ว่าเขามีนัยอื่นแฝงอยู่นอกเหนือจากการสอนยุทธวิธีในการทำงานป่าไม้ แต่การปล่อยให้โทมัสพูดไปดีกว่าที่เขาจะต่อล้อต่อเถียง วิลเลียมจึงเพียงยิ้มและโค้งศีรษะรับคำสอน
กำลังคนและกำลังช้างพร้อมแล้ว ปฏิบัติการงัดซุงเพื่อเปิดทางน้ำจึงเริ่มต้น
เมืองและปะเลมาถึงเมื่อเย็นวานคอยทีอยู่แล้ว เพราะจุดนี้มีแก่งใหญ่อยู่กลางน้ำและมักเป็นสาเหตุให้ซุงพุ่งชนและเปลี่ยนทิศจนติดขวางทางน้ำไหล ให้สัญญาณอย่างรู้มือกันดี ปะเลบังคับปู้คำตุ่นลุยน้ำไปอีกฟากฝั่ง ส่วนเมืองบังคับปู้คำแสนอยู่ฟากนี้ ครั้นพร้อมแล้ว ช้างพลายสองเชือกก็สอดงาเพื่องัดท่อนซุงที่ติดขวางออกไป
ปะเลให้สัญญาณงัดสองครั้ง ทว่าเมืองไม่อาจบังคับปู้คำแสนให้งัดด้วยจังหวะที่สัมพันธ์กันได้
“ปู้คำแสนงายาวเกินไป งัดบ่ได้” เมืองร้องบอก วิลเลียมอยู่ฝั่งเดียวกับเมืองและปู้คำแสนตรงเข้ามาถามสาเหตุและวิธีแก้ปัญหา ก็ได้คำตอบจากเมืองว่า “ต้องตัดงาออก”
“ตัดงา!”
วิลเลียมอึ้งไป ร้องทวนคำตอบออกมาเสียงดัง โดยไม่ต้องมีใครอธิบายเขาก็รู้ว่าการตัดงาปู้คำแสนเป็นเรื่องใหญ่ เขาอาจไม่รู้เรื่องความเชื่อของคนที่นี่ในการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ใหญ่ แต่เขารู้แน่ว่ามุ่ยจะต้องสะเทือนใจในเรื่องนี้ เพราะมุ่ยรักปู้คำแสนมากพอ ๆ กับไอ้หมูสองตัวนั่น
“ไม่มีทางอื่นหรือ” วิลเลียมพยายามหาวิธีที่จะไม่ต้องตัดงาปู้คำแสน
เมืองส่ายหน้า ชี้ให้เขาสังเกตโขลงช้างที่พามา ที่มีงาก็เป็นเพียงขนายหรืองาเล็ก ไม่ใหญ่และแข็งแรงพอจะงัดซุงท่อนใหญ่ได้ เมืองโน้มตัวแนบลงกับคอช้าง กอดปู้คำแสนด้วยความรักใคร่ ช้างตัวใหญ่คงรู้ถึงกระแสที่ส่งไป ปู้คำแสนจึงชูงวงร้องเสียงดังก้องป่า
ปะเลละจากหลังปู้คำตุ่นมาช่วยตัดงาปู้คำแสน แม้ตัดแค่เพียงปลายงา แต่เมืองก็ไม่กล้าและใจแข็งพอที่จะลงมือเอง
วิลเลียมมองภาพนั้นอย่างใจลอย นึกไปถึงมุ่ย สะดุ้งเมื่อเมืองเข้ามาสะกิด ส่งปลายงาสีขาวคู่หนึ่งให้เขา
“ฝากนายห้างเก็บงาปู้คำแสนด้วย กลับปางไม้แล้วผมจะนำไปคืนมุ่ยเอง”
“ขอบใจมาก เมือง” วิลเลียมบอกเสียงเบา สะเทือนใจเมื่อเห็นขอบตาบวมแดงของเมือง “ฉันจะรักษาไว้อย่างดี เทียบเท่าชีวิตของฉันเลยทีเดียว”
เมืองและปะเลกลับไปประจำคอช้างอีกครั้ง คราวนี้ไม่มีอะไรติดขัด
ทางน้ำถูกเปิด กระแสน้ำเชี่ยวกรากดุจเดิม
เหล่าควาญช้างต้องเร่งไสช้างขึ้นฝั่งให้พ้นจากวิถีอันตราย ซุงหลายท่อนไหลไปกระแทกตลิ่งและกระทบกันเองเสียงกึกก้อง ผสานกับแรงอัดมหาศาลของสายน้ำเชี่ยว ชั่วประเดี๋ยวต่อมาเสียงถล่มของฝั่งแม่น้ำก็ดังระทึกสนั่นหวั่นไหว พร้อมกับกับโล่งใจที่พ้นอันตรายมาได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด
ควาญทั้งหลายกำกับช้างให้ถลันลงไปในแม่น้ำอีกครั้งเพื่อจัดระเบียบท่อนซุงที่ลอยกระจัดกระจาย เบนทิศทางให้ไปรวมกันอยู่กลางแม่น้ำด้วยงวงและงา ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังมิให้ท่อนซุงที่พุ่งมานั้นกระแทกอัดช้างไปกระทบกับโขดหินหรือตลิ่งอีก
หากท่อนซุงเหล่านี้ลอยไปไม่ถึงบางกอกไม่ว่าจะเพราะเสียหายหรือสูญหาย นั่นก็แปลว่ารายได้มหาศาลก็พลอยสูญไปด้วย
นายห้างหลายคนแยกไปประจำอยู่ที่สถานีทำแพตามแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สถานีทำแพนี้จะอยู่ตามริมแม่น้ำในบริเวณทางใต้ของแก่งหรือจุดที่แม่น้ำสายนั้นขยายกว้างขึ้น และทางข้างหน้าไม่มีโค้งลดเลี้ยวที่จะทำให้แพซุงติดอีก สถานีทำแพในสยามยึดตามลำน้ำสายสำคัญ หากล่องซุงมาทางแม่น้ำยม สถานีทำแพแห่งแรกจะอยู่ที่สวรรคโลก สถานีที่สองอยู่ที่สุโขทัย ส่วนซุงที่มาจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังจะมีสถานีผูกแพที่ระแหง อีกแห่งคือกำแพงเพชร และสถานีสุดท้ายของการผูกแพซุงไม่ว่าจะล่องไม้มาจากแม่น้ำสายใด ก็จะมาชุมนุมกันอยู่ที่เดียวคือ ปากน้ำโพ
ที่สถานีทำแพ ซุงของแต่ละบริษัทที่ลอยมาตามน้ำจะถูกคัดแยกตามการตีตราที่ท่อนไม้แล้วผูกติดกันเป็นแพด้วยไม้รวกและเชือกเส้นใหญ่ คนงานที่ทำหน้าที่นี้เหมือนปลา ใช้ชีวิตในน้ำตลอดวันได้อย่างคล่องแคล่ว ขนาดของแพจะใหญ่ขึ้นตามความกว้างของแม่น้ำ เมื่อถึงปากน้ำโพ แพลูกหนึ่งอาจมีไม้สักถึง ๑๖๐ ท่อน แบ่งเป็น ๑๐ ตอน แต่ละตอนยึดไว้ด้วยไม้รวกราว ๑๖ ท่อน ตอนกลางของแพจะมีท่อนซุงวางเรียงกันไว้มากที่สุด ส่วนขอบแพจะผูกซุงหลวม ๆ ไว้เป็นเสมือนกันชน คนถ่อแพก็จะช่วยกันคัดท้ายให้แพแต่ละลูกไหลเรียงกันไป เมื่อถึงบางกอกจึงดูคล้ายงูใหญ่เลื้อยไปตามลำน้ำเจ้าพระยา
สิ่งหนึ่งที่วิลเลียมได้เรียนรู้จากช่างต่อแพก็คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยแพออกจากสถานี เพราะหากปล่อยเร็วเกินไปในช่วงที่ระดับน้ำยังขึ้นสูง หรือในช่วงที่ฝนยังตกกระหน่ำสม่ำเสมอ แพที่ปล่อยไปอาจแตกเพราะน้ำเชี่ยวจัด หรือไม่ก็ไหลออกนอกขบวนไปติดฝั่งแม่น้ำ แต่ครั้นจะรอเวลาให้เนิ่นนานจนน้ำลด ก็อาจทำให้แพลอยไปไม่ถึงจุดหมายได้ เพราะกระแสน้ำอ่อนแรงเกินกว่าจะพาเจ้างูใหญ่เลื้อยไปถึงจุดหมายได้ทันเวลา
กว่าเหล่าผู้จัดการป่าไม้จะส่งต่องานให้ออฟฟิศหลักที่บางกอก เดินทางคืนสู่สถานีป่าไม้ที่อยู่ประจำ คืนวันก็ล่วงเลยเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนหรือเดือนสิบสองตามการนับอย่างคนสยาม ที่ใช้จันทรคติหรือการโคจรของดวงจันทร์เป็นหลักในการกำหนดเดือนปี
สถานีป่าไม้วันนี้ดูเงียบเหงา ส่วนหนึ่งเพราะคนงานลากลับบ้านแล้ว รอมารับจ้างใหม่ในปีหน้า เช่นเดียวกับช้างที่เช่ามาก็ส่งคืนเจ้าของ แต่วิลเลียมรู้ตัวเองว่าความเงียบเหงาที่เกาะกุมความหัวใจของเขายามนี้เกิดมาจากมุ่ย
วิลเลียมไม่พบมุ่ยมาสามวันแล้ว
ครั้งสุดท้ายที่เขาเห็นใบหน้างามอาบรอยยิ้มสดใสคือวันที่เขากลับมาที่ปางไม้ มุ่ยวิ่งออกมาต้อนรับทุกคนกลับบ้าน แล้วมุ่ยก็ผิดสังเกตเมื่อมองหน้าพี่ชาย พลางแลตามไปที่ช้างใหญ่ปู้คำแสน ปลายงาโค้งงามบัดนี้มีรอยตัด เมืองใช้จังหวะนั้นโยนภาระการบอกสาเหตุมาให้เขา
วิลเลียมส่งปลายงาสีขาวคู่นั้นให้มุ่ย บอกถึงความจำเป็นที่ต้องตัดงา
มุ่ยไม่ได้โกรธหรือโทษว่าเป็นความผิดของเขา แต่มุ่ยก็หงอยเหงาเซื่องซึมไปนับแต่นาทีนั้น ตลอดทั้งวันมุ่ยขลุกอยู่แต่ที่คอกช้าง ลูบกอดปู้คำแสนราวจะกล่าวปลอบและขอบใจในความเสียสละนี้ ที่ดวงตาของมุ่ยมีน้ำมาคลอคลองอยู่เป็นระยะ ทว่าเจ้าตัวไม่ยอมให้หยาดร่วงลงมาแม้สักหยด
แล้วมุ่ยก็หายหน้าไปจนถึงวันนี้ นับเวลาได้สามวัน
“อย่าเศร้าใจไปเลย หนุ่มน้อย” มิสเตอร์อีแวนเดอร์ปลอบ ไม่ทุกข์ร้อนกับการหายหน้าไปของสาวน้อย “มาดูอะไรนี่แน่ะ”
วิลเลียมตามมิสเตอร์อีแวนเดอร์ไปตามคำชวน ฝ่ายนั้นทำท่าทีตื่นเต้นเหมือนเด็กที่อยากจะอวดของสำคัญให้เพื่อนดู ครั้นวิลเลียมแสดงท่าทีสนใจใคร่รู้ตอบ มิสเตอร์อีแวนเดอร์ก็เปิดผ้าคลุมออก สิ่งที่อยู่ตรงนั้นคือเรือสำเภาลำเล็ก โครงเป็นไม้ไผ่หุ้มกระดาษขาว ด้วยฝีมือของอีแวนเดอร์ที่เชี่ยวชาญการต่อเรือเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว เรือสำเภาประดิษฐ์ลำนั้นจึงไม่ผิดกับสำเภาย่อส่วนที่งดงาม
คนงานที่ยังพักอยู่ที่สถานีป่าไม้แบกต้นกล้วยมาเรียงไว้ มิสเตอร์อีแวนเดอร์ก็สั่งการทันที
“ตัดให้เท่ากันแล้วผูกเป็นแพ”
คนรับคำสั่งลงมืออย่างคล่องแคล่ว แทบจะไม่รอให้จบคำสั่ง เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องทำสิ่งใด
“ใช้ต้นกล้วยผูกเป็นแพหรือทุ่น ลอยน้ำดีกว่าไม้ไผ่” มิสเตอร์อีแวนเดอร์อธิบาย
นายห้างหนุ่มพยักหน้ารับรู้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามิสเตอร์อีแวนเดอร์สร้างเรือสำเภาจำลองนี้ทำไม จะว่าเขาทำรับขวัญลูก นางหนูก็ยังไม่ใกล้คลอดในเร็ววันนี้
ท่าทีรับรู้แต่ไม่เข้าใจกระจ่างแจ้งของวิลเลียมทำให้มิสเตอร์อีแวนเดอร์ระเบิดหัวเราะออกมา
“ขอโทษทีพ่อหนุ่มน้อย ฉันก็มัวแต่อยากอวดเรือของฉันจนลืมบอกไปว่าวันนี้เป็นวันอะไร”
“วันอะไรครับ” วิลเลียมย้อนถาม
“วันยี่เป็ง คืนนี้จะมีล่องเรือกันที่ท่าช้างเผือก” มิสเตอร์อีแวนเดอร์หันไปถามคนงานที่กำลังแทงไม้รวกผ่านต้นกล้วยหลายลำให้ติดกันเป็นแพ “พวกแกเรียกว่าอะไรนะ”
“ล่องสะเปา” คนงานตอบมาเสียงฉะฉาน
“ใช่ ๆ ล่องสะเปา เป็นประเพณี…” มิสเตอร์อีแวนเดอร์กำลังจะอธิบายว่าประเพณีนี้คืออะไร แต่วิลเลียมเกิดความคิดสว่างขึ้นมาว่า ถ้ามิสเตอร์อีแวนเดอร์ซุ่มซ่อนทำเรือสำเภาเล็กเพื่อนำไปร่วมในงานคืนนี้ ก็แปลว่ามุ่ยก็ต้องแอบซุ่มทำเรือสำเภาของตนเองเหมือนกัน
“คืนนี้ทุกคนจะไปชุมนุมกันที่ท่าน้ำหรือครับ” น้ำเสียงของวิลเลียมกระตือรือร้นขึ้น
“ใช่สิ คอยดูนะวิลเลียม เรือของฉันต้องชนะหลุยส์” มิสเตอร์อีแวนเดอร์มั่นใจ “หลุยส์อาจจะเก่งกว่าฉันเรื่องขี่ม้า แต่เรื่องต่อเรือฉันไม่เป็นสองรองใคร”
“ขอให้คุณสมใจปรารถนา แล้วคืนนี้พบกันที่ท่าน้ำ”
วิลเลียมอวยพรและตัดบทจากมิสเตอร์อีแวนเดอร์ บัดนี้เขารู้แล้วว่ามุ่ยมิได้หายหน้าไปเพราะเสียใจเรื่องช้างถูกตัดงาและพานหลบหน้าเขา แต่มุ่ยคงไปซุ่มแอบทำเรือสำเภาของตัวเองแน่ ๆ มีไม่กี่แห่งหรอกที่มุ่ยจะไป
นายห้างหนุ่มควบม้าตรงไปที่บ้านหมอสจ๊วตก่อน พบมิสซิสสจ๊วตกำลังสอนเบ็ตตี้ทำกระทงจากกลีบดอกไม้ เขาจึงควบม้าไปยังจุดต่อไป…วัดที่หนานทิพย์พ่อของมุ่ยมาบูรณะอยู่
บริเวณวัดคึกคักไปด้วยผู้คนซึ่งล้วนแต่เป็นคนงานของหนานทิพย์ ทว่าวันนี้เหล่าคนงานมิได้อยู่กับการแกะสลักไม้และเขียนลายทอง แต่ส่วนหนึ่งช่วยกันประดับเรือจำลองเช่นเดียวกับมิสเตอร์อีแวนเดอร์ อีกส่วนหนึ่งล้อมวงเล่นดนตรีจังหวะสนุกสนาน
เมืองอยู่ร่วมด้วยในวงดนตรี วันนี้เขามิใช่เสมียนของบริษัท แต่เป็นคนเป่าปี่ที่ลีลาพลิ้วไหวดุจสายน้ำที่ไหลรินต่อเนื่องไม่สะดุด อีกคนหนึ่งในวงที่ทำให้วิลเลียมประหลาดใจคือลีรอย เพื่อนรักของเขาเป่าหีบเพลงคลอไปกับทำนองของวงดนตรีพื้นเมืองอันเครื่องดนตรีหลักคือสะล้อและซึง
ลีรอยโบกมือให้เมื่อเห็นวิลเลียมชักม้าเข้ามาในลานวัด แต่ไม่ละจากวงดนตรี
วิลเลียมผูกม้าไว้ค่อย ๆ เดินส่ายตาแลหามุ่ย จนตะวันคล้อยแดดลบลาก็ไม่เห็นว่า ‘ไอ้ตัวร้าย’ จะวิ่งซุกซนอยู่ในบริเวณนั้น
ดวงจันทร์กลมเยี่ยมขอบฟ้าส่องแสงนวล หนานทิพย์ตบมือให้สัญญาณว่าถึงเวลาตั้งขบวนแห่ไปยังท่าน้ำ คนงานก็ขยับตัวแบกเรือขึ้นบ่า ถัดมาเป็นกลุ่มนักดนตรี…ลีรอยสนุกกับการร่วมวงอยู่ตรงนั้น วิลเลียมหันไปยังทางเดินมืด ๆ ที่กลุ่มคนเดินออกมาตั้งแถวอยู่หน้าขบวน
สาวน้อยทั้งนั้นอยู่ในชุดพื้นเมืองนุ่งซิ่นทอลายงดงาม ในมือถือประทีป และบางคนถือเทียนไขที่ผูกไว้เป็นกำ
วิลเลียมตะลึงมองจ้องจับนางผู้อยู่หัวขบวน
เขาไม่เห็นมุ่ยหรือไอ้ตัวร้าย สายตาของนายห้างหนุ่มยามนี้เห็นแต่สาวน้อยผู้มีใบหน้าเรียวงามผ่องนวลยามต้องแสงจันทร์ผสานกับแสงจากดวงประทีปที่นางถือ ผมยาวดำขลับดุจเส้นไหมรวบจนตึงเกล้าเป็นมวยไว้ด้านหลัง ประดับด้วยกล้วยไม้สีม่วงจางที่เขาจำชื่อได้ขึ้นใจ
ว่าคนถิ่นนี้เรียกมันว่า เอื้องฟ้ามุ่ย
ขบวนแห่เคลื่อนจากวัดไปยังท่าน้ำอย่างเชื่องช้า ทว่าวิลเลียมเพลินตามองตามไม่เบื่อเลย แสงจันทร์วันเพ็ญเดือนสิบสองที่คนถิ่นนี้เรียกว่ายี่เป็งอาบแสงนวลสีเงินยวงเย็นตาไปทั่วบริเวณ ท้องฟ้าสุกสกาวด้วยแสงดาวดวงเล็กดวงใหญ่ ในขณะที่บนผืนดินและสายน้ำมีแสงระยิบพริบพรายจากดวงประทีป เป็นบรรยากาศที่ชวนให้คิดว่ากำลังเพลินอยู่ในห้วงฝัน
โดยเฉพาะหญิงงามผู้นั้นที่ตรึงสายตาของเขามิให้ถ่ายถอน
ริมฝั่งแม่น้ำวังตรงท่าช้างเผือก (1) เป็นที่ชุมนุมของคนละกอนคืนนี้ ริมฝั่งสว่างไสวด้วยแสงไต้ ตะเกียง และโคมแขวน ในสายน้ำดวงไฟเล็ก ๆ ล่องไหลไปตามกระแสชลวิบวาวไปตลอดแนว ขบวนแห่เรือมาจากทุกทิศ แต่มาต่อเข้าเป็นขบวนเดียวเมื่อจะลงไปที่ท่าน้ำ โดยขบวนนำเป็นขบวนจากคุ้มเจ้าหลวง สะเปารูปเรือสำเภานั้นงดงามวิจิตรยิ่งกว่าของผู้ใด ดุจว่าชุมนุมสล่า…ช่างฝีมือ มาฝากฝีไม้ลายมือไว้ด้วยกัน ยกย่องให้เป็น ‘สะเปาหลวง’
สำเภาของเจ้าหลวงมลังเมืองด้วยแสงประทีปและโคมกระดาษดวงเล็กดวงใหญ่ที่แขวนเป็นราวประดับกระโดง ภายในบรรจุเครื่องใช้หลายอย่างทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า อีกทั้งข้าวปลาอาหารหวานคาวผลไม้ และยังมีรูปปั้นช้างม้าวัวควาย และรูปปั้นคนหญิงชายเป็นบริวารใส่ร่วมไป
“นายน่าจะได้เห็นพิธีเมื่อเช้า” ลีรอยเตร่เข้ามาบอกวิลเลียมถึงสิ่งที่ตนได้เห็นมา เมืองเป็นผู้พาเขาไปที่คุ้มก่อนจะไปชุมนุมที่วัดเพื่อตกแต่งสะเปาของหนานทิพย์ “เจ้าหลวงกับคนที่คุ้มสระผม แล้วก็ตัดผมตัดเล็บใส่ลงไปในเรือนี่ด้วย เขาเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นการทำบุญเพื่อให้มีกินมีใช้ในโลกหน้า”
วิลเลียมฟังทว่าไม่อาจละสายตาจากนางรำผู้ฟ้อนนำขบวนของหนานทิพย์ที่อยู่ต่อจากขบวนสะเปาหลวง
เสียงประโคมดนตรีดังขึ้นดุจจะยุส่งอะไรสักอย่าง ครั้นหันไปมองขบวนถัดไป วิลเลียมและลีรอยก็เห็นหลุยส์และอีแวนเดอร์ควบม้านำขบวนเรือของตน พยายามจะแซงหน้าอีกฝ่ายให้ได้ ในเวลานั้นเองเขาจึงสังเกตเห็นว่ามีเรือสำเภาจำลองของบริษัทอื่น ๆ ที่ได้สัมปทานป่าไม้มาร่วมในประเพณีนี้ด้วย
ท่าทีไม่ยอมลงให้กันระหว่างมิสเตอร์อีแวนเดอร์และหลุยส์เป็นเรื่องชวนขัน
ขบวนแห่สะเปาของทั้งคู่มาถึงจุดร่วมต่อขบวนในเวลาเดียวกัน ไม่มีใครยอมให้ใครนำไปก่อน สุดท้ายแล้วทั้งสองขบวนก็เคลื่อนเคียงกันไปจนถึงริมฝั่งน้ำ ทว่าระหว่างนั้นก็ยังคุยข่มกันไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็น…เรือฉันสวยกว่า…เรือฉันลอยน้ำได้ดีกว่า
แล้วก็จบลงที่การท้าดวลตามเคย
“มาคอยดูกัน ว่าเรือของใครจะชนะ”
ครั้นยกสะเปาวางไว้ริมฝั่งน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้ชมความงามแล้ว มิสเตอร์อีแวนเดอร์ก็พานางหนูเดินช้า ๆ ไปที่สะเปาหลวง เจ้านางนกน้อยปรายตามองนางบริวารเก่าด้วยสายตาชิงชัง…ทั้งรักทั้งเกลียด…ที่ขัดลูกตาที่สุดก็คือท้องป่องที่ยืนค้ำออกมา เป็นภาพไม่ชวนมองที่สุดเท่าที่เคยพบและไม่ต้องการให้บริวารแวดล้อมของตนต้องมีสภาพเช่นนั้น
นางหนูยกมือไหว้สา เจ้านางนกน้อยก็เหยียดปากรับ
“ไอ้มารหัวขน…ลูกมึง จะโผล่ออกมาเมื่อใด แม่มันฮ่อนไปฮ่อนมาจะอี้…แรดไปแรดมา…มันบ่ต๋ายห่าในท้องมึงแล้วกา”
นางหนูเม้มริมฝีปากแน่นไม่โต้ตอบ แต่มิสเตอร์อีแวนเดอร์รีบปกป้องภรรยา
“เจ้านาง ระวังวาจาด้วย กรุณาให้เกียรติภรรยาของผม และคืนนี้เป็นค่ำคืนที่ดี ไม่ควรพูดอะไรที่ไม่เป็นมงคล”
“มึงรู้ก่ ว่าปากกูหมานนัก” เจ้านางว่าคำพูดของตนเป็นวาจาสิทธิ์ ว่าอย่างใดไม่ผิดไปจากนั้น “ไอ้กุลาคอแดง กูขอให้มึงบ่ได้อยู่เจอหน้าลูก คืนนี้…ก็ขอให้สะเปามึงก๊าน…แพ้…สะเปาของมิตสะหลวย”
ว่าจบเจ้านางนกน้อยก็สะบัดหน้าจากไป
วิลเลียมไม่สนใจว่าเรือของใครจะเป็นฝ่ายชนะ สายตาและสายใจของเขาจดจ่อที่สาวน้อยผู้ประดับกล้วยไม้สีอ่อนจางนั้นมากกว่า ครั้นขบวนลุถึงริมฝั่งน้ำ ชาวบ้านแยกย้ายกันไปสนุกสนานตามอัธยาศัย วิลเลียมก็ตรงไปหามุ่ยทันที
“เธอเปลี่ยนไปจนฉันแทบจำไม่ได้ ไม่คิดว่าจะได้เห็นมุ่ยอย่างนี้”
มุ่ยเหลียวซ้ายแลขวา ครั้นแน่ใจว่าบิดาไม่อยู่แถวนี้…คงพบเพื่อนฝูงสล่าด้วยกันแล้วเจรจาพาทีติดลม…ก็กระซิบบอกวิลเลียมเสียงเบาว่า
“ถ้าบ่ถูกพ่อเข…บังคับ ฝันไปเต๊อะ ว่าจะเห็นเฮาฟ้อนนำแห่สะเปา”
“เจ้าเรียกว่าอะไรนะ” วิลเลียมถามขณะพยายามกลั้นหัวเราะกับคำตอบที่มุ่ยบอกอย่างอัดอั้นว่าถูกหนานทิพย์บังคับให้มาฟ้อนนำขบวนแห่เรือ
“สะเปา” มุ่ยทวนคำ “สะเปา ก็คือเรือสำเภา ฮีตเก่าทางนี้…ประเพณีดั้งเดิม…เฮามีป๋าเวณีบูชาแม่น้ำ ที่เวียงละกอนเรานี้เรียกประเพณีล่องสะเปา ก็คือล่องเรือสำเภาบูชาแม่น้ำไงเล่า”
วิลเลียมเข้าใจแจ่มแจ้งในตอนนี้แล้วว่า เหตุใดชาวบ้านจึงทำเรือจำลองมาล่องแม่น้ำวังในคืนยี่เป็ง
มุ่ยยังคงเล่าต่อไปขณะที่วิลเลียมเดินเคียงไปตามริมฝั่ง
“เฮาล่องสะเปาเพื่อลอยทุกข์โศกและบูชาแม่คงคา” มุ่ยคิดว่าวิลเลียมคงไม่รู้จัก จึงสรุปง่าย ๆ ว่า “เทพเจ้าแห่งสายน้ำน่ะ ขอขมาที่เฮาเคยทำสิ่งบ่ดีต่อแม่น้ำ แล้วก็ยังบูชาพระพุทธบาทที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา เป็นการรำลึกถึงองค์ผะเจ้า…พระพุทธเจ้า”
วิลเลียมไม่แปลกใจเรื่องนี้ วิถีชีวิตของคนที่นี่ผูกพันกับสายน้ำ แม้แต่เขาและเพื่อนพ้องที่มาอาศัยทำมาหากินด้วยการขอสัมปทานป่าไม้ ก็ยังต้องอาศัยกระแสน้ำพัดพาท่อนซุงไปยังสถานีปลายทาง
“มีความเชื่อกันว่า ถ้าเฮาตายไป สะเปาใหญ่นี้จะพาเฮาล่องไปสู่โลกหน้า ข้ามแม่น้ำไปสู่สวรรค์ เปรียบเหมือนนั่งเรือข้ามจากวัฏฏะสงสารไปสู่นิพพาน”
วิลเลียมฟังบางคำไม่เข้าใจนัก แต่ก็พอรู้ความหมายของมัน พลันนึกว่าก็คงคล้าย ๆ กับเรื่องของแครอนคนแจวเรือของเฮเดสเทพแห่งความตาย ซึ่งจะพาวิญญาณล่องไปตามแม่น้ำสติกซ์หรือแม่น้ำแอเคอรอนในเทพปกรณัมกรีก
“เฮาจึงเอาข้าวของต่าง ๆ ใส่เรือไว้เพื่อใช้ในภพหน้า และฝากไปถึงดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว”
ครั้นมุ่ยเล่าและชวนให้สังเกต วิลเลียมจึงเห็นว่าสะเปาที่ชาวบ้านนำมาลอยบูชาแม่น้ำนั้น นอกจากทำจำลองเป็นรูปเรือแล้ว ยังทำเป็นรูปนกที่ชวนให้เขานึกถึงเรือไวกิ้ง สะเปาแบบนี้ประดิษฐ์จากกาบกล้วยตัดแต่งฉลุลายแล้วนำมาประกอบเป็นรูปนก บ้างก็ประดิษฐ์จากเปลือกมะพร้าว นอกจากอาหารหวานคาวข้าวตอกดอกไม้และประทีบดวงไฟจุดสว่างแล้ว การล่องสะเปารูปนกยังมีความหมายต่างจากสะเปารูปเรือ
“เชื่อกันว่าเป็นการบูชาแม่กาเผือกของผะเจ้า ๕ องค์”
มุ่ยเล่าตำนานการทำผางประทีป หรือที่คนพื้นเมืองออกเสียงว่า ผางผะตี๊ด ให้วิลเลียมฟังอย่างย่นย่อว่าตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา นานมาแล้วมีแม่กาเผือกทำรังที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา แม่กาออกไข่ห้าฟองซึ่งต่อมาคือพระพุทธเจ้าห้าองค์ วันหนึ่งที่แม่กาออกไปหาอาหารเกิดพายุพัด ไข่ทั้งห้าฟองพลัดหายไปคนละทิศแต่มีผู้พบและเลี้ยงไว้ ไข่ทั้งห้าฟักออกมาเป็นชายทั้งห้าคน จนกระทั่งวันคืนผ่านไปนับได้ราวสิบหกปี ชายหนุ่มทั้งห้าต่างขออนุญาตผู้ที่เลี้ยงตนเข้าป่าบวชเป็นฤาษี และพบกันโดยบังเอิญในวันหนึ่งจึงรู้ว่าทั้งห้าเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน นางกาเผือกผู้มารดานั้นตรอมใจตายตั้งแต่หาไข่ไม่พบ ฤาษีทั้งห้าจึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้พบแม่สักครั้ง นางกาเผือกก็ปรากฏร่างเป็นสตรีต่อหน้าลูกทั้งห้า เมื่อถึงคราจะจากกัน บุตรชายทั้งห้าขอกราบเท้ามารดา นางกาเผือกจึงยื่นเท้าให้ และใช้ฝ้ายขาวหรือสายสิญจน์ฟั่นเป็นเกลียวสามแฉกเหมือนตีนกา มอบให้แก่ลูกทั้งห้าเป็นสิ่งเชื่อมโยงการระลึกถึง
“ตอนนี้เฮาอยู่ในยุคสมัยผะเจ้าองค์ที่สี่” มุ่ยมิได้บอกว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้คือ พระโคตม หรือสิทธัตถะโคตม เพราะคงจะยุ่งยากเกินไปที่นายห้างหนุ่มจะจดจำได้ คงเล่าต่อไปถึงที่มาของประเพณีนี้ในอีกความเชื่อหนึ่ง
“ทางหละพูน” อีกครั้งที่มุ่ยเรียกชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักคุ้นหู แทนที่จะเอ่ยถึงเมืองหริภุญไชย “ก็มีล่องสะเปานี้เหมือนกัน ตำนานว่าเมื่อนานมาแล้วเกิดห่า ชาวบ้านล้มต๋ายกันเป็นใบไม้ร่วง เลยอพยพไปอยู่ที่เมืองหงสา เมื่อห่าซาแล้วก็กลับมา แต่ก็มีหลายคนบ่ได้กลับมาเพราะลงหลักปักฐานอยู่ที่หงสาแล้ว การล่องสะเปานี้จึงเหมือนการรำลึกถึงญาติพี่น้องที่อยู่ทางปู้น”
มุ่ยชี้ให้วิลเลียมดูทางโค้งน้ำลิบ ๆ นั้น แล้วกระซิบว่า
“ของที่ใส่ในสะเปามันก็เหมือนทำทาน แต่มันไปบ่ถึงโลกหน้าหรอก นายห้างดูหั้นแล่…ดูตรงนั้นสิ”
ตรงนั้น…มีเด็กน้อยเด็กหนุ่มลอยคออยู่ ครั้นสะเปาน้อยลอยผ่านไป เด็กเหล่านั้นก็หยิบข้าวของที่บรรจุในสะเปาใส่กระเป๋าย่ามของตน
วิลเลียมยังเพลินกับเรื่องเล่าของมุ่ย แต่แล้วก็ถูกขัดด้วยเสียงอ่อนใสทักมากับสายลมเย็นริมแม่น้ำ
“ฉันตามหาเสียทั่ว” เบ็ตตี้ว่าพลางบอกสาเหตุที่ตนมาถึงช้า “มิสซิสสจ๊วตนะสิมัวแต่อุ้ยอ้าย ทักทายคนนั้นคนนี้ไม่รู้จบ”
เบ็ตตี้แสร้งทำเหมือนมุ่ยไม่อยู่ตรงนั้น
“ฉันทำเรือเล็กมาให้เธอด้วย เราไปตรงนั้นกันเถอะ” ตรงนั้นที่เบ็ตตี้ว่า คือบริเวณที่ชาวตะวันตกชุมนุมกันอยู่ “กำลังลงขันกันสนุกเชียวว่าเรือของหลุยส์หรืออีแวนเดอร์จะชนะ พวกเราแพลนว่าลอยเรือด้วยกันเสร็จแล้วจะไปปาร์ตี้กันที่คลับเฮาส์ นาน ๆ ทีได้มีโอกาสสังสรรค์กันเฉพาะชาวตะวันตก จริงไหมจ๊ะ”
คำถามสุดท้ายนั้นเบ็ตตี้จงใจชม้ายตาไปทางมุ่ย บอกให้รู้ว่าจะกันให้ออกไปจากวง แต่วิลเลียมไม่คล้อยตามไปด้วย ส่ายตาแลหาเพื่อน
“ลีรอยอยู่ไหน น่าจะมาลอยเรือด้วยกัน ตอนแห่ขบวนก็ยังเดินคุยกันมาดี ๆ อยู่”
“นี่ก็อีกคน” เบ็ตตี้พ่นลมหายใจอย่างไม่ปิดบังด้วยความระอา “เธออย่าเสียเวลาตามหาหรือคอยเลย นู่นแน่ะ อยู่กับเมือง กับพวกคนงานนู่นแน่ะ”
วิลเลียมหันไปยังทิศที่เบ็ตตี้พยักหน้าบอกพลางค้อน หนุ่ม ๆ กำลังรมควันให้โคมกระดาษตึง
“เขากำลังจะลอยว่าวไฟ” มุ่ยบอก
ไม่กี่อึดใจต่อจากนั้น โคมไฟก็ลอยขึ้นไปเป็นสายหลายดวงประดับผืนฟ้าดุจดารางาม
“การปล่อยว่าวไฟ เราก็อธิษฐานขอพรเหมือนกัน” มุ่ยบอกแก่วิลเลียม เขามองตามโคมลอยขึ้นฟ้าแล้วอ้อยอิ่งแขวนบนอากาศอยู่อย่างนั้น พลันโคมดวงหนึ่งก็ลุกไหม้ ในนาทีต่อมาก็ร่วงลงสู่ผืนน้ำ
เบ็ตตี้หัวเราะน้อย ๆ อย่างขบขัน
“สงสัยคำอธิษฐานของคนที่ปล่อยโคมดวงนั้นจะไปไม่ถึงสวรรค์ ไม่สมหวังเสียแล้ว”
ในขณะเดียวกับที่โคมดวงนั้นถูกไฟเผาร่วงลงมา ในกลุ่มชายหนุ่มที่รมควันปล่อยโคมสู่ฟ้า เมืองและลีรอยแอบจับมือบีบน้อย ๆ ให้กำลังใจแก่กัน เพราะโคมที่ไหม้นั้น คือโคมดวงที่ชายหนุ่มทั้งคู่อธิษฐานร่วมกันว่าขอให้เส้นทางของเขาราบรื่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม
ริมฝั่งน้ำแวววามไปด้วยแสงประทีปโคมไฟ มุ่ยจุดธูปและเทียนปักลงไปในสะเปาน้อยของตน เบ็ตตี้ไม่อาจชักชวนหรืออีกนัยหนึ่งคือแยกวิลเลียมให้ไปชุมนุมในกลุ่มชาวตะวันตกได้ เพราะเขายืนยันว่าจะลอยเรือกับมุ่ย เบ็ตตี้จึงยื่นสะเปาที่หล่อนทำมาเผื่อเขาและบอกไปว่า
“ถ้าอย่างนั้นก็ลอยด้วยกันตรงนี้ละ”
มุ่ยบอกแก่ชาวอังกฤษทั้งคู่
“นายห้าง แหม่ม อธิษฐานก่อนลอยเน่อ”
วิลเลียมพยักหน้ารับ มองดูมุ่ยผู้บัดนี้ห่างไกลจากการเป็นไอ้ตัวร้าย เพราะสาวงามผู้นั้นนิ่งสงบยามยกสะเปารูปนกแกะจากหยวกกล้วยขึ้นจบศีรษะ เขาทำอย่างเดียวกัน ชำเลืองมองอีกข้าง หญิงสาวผู้เดินทางมาจากที่เดียวกับเขาก็ยกเรือน้อยอธิษฐาน แต่ก็เห็นว่าหล่อนไม่ศรัทธานัก
สะเปาสามอันวางลงบนผืนน้ำ ล่องเคียงกันไปจนเกือบลับตา
“เธออธิษฐานขออะไรจากเทพีแห่งสายน้ำ” วิลเลียมถามเบ็ตตี้
“ฉันขอให้เราเรื่องของ ‘เรา’ ลงเอยอย่างเรียบร้อยเสียที” เบ็ตตี้จงใจเน้นคำว่า เรา ให้รู้ว่าหมายถึงหล่อนกับวิลเลียมเท่านั้น “หรืออย่างน้อย ขอให้เราพ้นไปจากความป่าเถื่อนที่นี่”
ครั้นหล่อนถามกลับ วิลเลียมก็บอกอย่างไม่บิดบังว่า
“ฉันขอฝากชีวิตไว้กับผืนดินและผืนน้ำที่นี่”
“แหม…เธอขอเสียอย่างกับว่าชั่วชีวิตนี้จะไม่กลับไปอังกฤษอีกแล้วนั่นละ” เบ็ตตี้ว่าสนุก “แต่เอาเถอะ ไม่ว่าเธอจะอยู่ที่ไหน ฉันก็จะเป็นภรรยาที่ดีของเธอเสมอ”
“แล้วเธออธิษฐานว่าอย่างไร มุ่ย”
สายลมเย็นพัดมาชายน้ำ หอบกลิ่นหอมของดอกไม้ปะปนมาด้วย
“เฮาขอว่า ไม่ว่านายห้างจะไปที่ใด ขอให้นายห้างปิ๊กมา…คืนกลับมา” มุ่ยหยุดนิดหนึ่งก่อนบอกว่า “การปิ๊กมา แปลว่านายห้างปลอดภัยดี”
วิลเลียมอยากกอดมุ่ยเข้าไว้แนบอก หากเบ็ตตี้ไม่อยู่ตรงนั้น เขาคงทำตามใจปรารถนาไปแล้ว
งานล่องสะเปายังคงครื้นไปถึงดึก ดวงประทีปที่จุดนำคำอธิษฐานของแต่ละคนเลื่อนไหลไปตามกระแสน้ำพัดพา
ในจุดที่เด็กหนุ่มชุมนุมลอยคอเพื่อหยิบข้าวของจากสะเปา ระหว่างเฝ้ารอก็เล่นน้ำกันสนุกจนลืมความหนาวเย็นของอากาศ แรงกระเพื่อมจากน้ำส่งให้สะเปาสามลำที่ลอยเรียงเคียงกันมาแยกจากกัน
สะเปาของเบ็ตตี้ถูกคลื่นน้ำพัดออกไปไกลแสนไกล
เช่นเดียวกับสะเปาของวิลเลียมและมุ่ยที่แยกห่างและล่องไหลไปตามกระแสธาร
จนรุ่งอรุโณทัยท้องฟ้าระบายด้วยแสงฉาน ริมฝั่งน้ำด้านหนึ่ง สะเปาของทั้งคู่จึงได้มาบรรจบพบกันอีกครา
วันเวลาต่อจากนั้นเป็นบรรยากาศแห่งความรื่นเริงและพักผ่อนของบรรดานายห้างปางไม้ สถานที่พบปะสังสรรค์เวียนกันไปสามแห่งคือที่คลับเฮาส์ บ้านของหมอสจ๊วต และบ้านของหลุยส์ แต่ความสำราญนี้มีอันต้องสะดุดลงในคืนวันคริสต์มาส
เชิงอรรถ :
(1) ท่าช้างเผือก ปัจจุบันคือบริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ค่ายเชลย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ผู้ลี้ภัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เอเชียบูรพา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "๒๔๗๕ นายห้างรุ่นใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ภารกิจ ๓๕๙ วัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ผ่าจ้าน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "สงกรานต์เชียงใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "พบและพราก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "นายห้างคนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย " ไม้แปลกป่า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "ต้นตระกูล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "คนแปลกหน้า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "การตัดสินใจครั้งสุดท้าย?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ศักดิ์ศรีของใคร?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ทอฟฟีแอปเปิ้ล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "สงครามกับความรัก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ลูกชายคนโต"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ฝันสลาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ว่าที่เจ้าสาว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ร้อยเล่ห์เพทุบาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "หัวใจร้อนรุ่มดังสุมไฟ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ตัดหัวเสียบประจาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "คนทรยศ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "พะกาเงี้ยว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ดวงดาวที่ดับสูญ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ประทีปอธิษฐาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "วิมานลอย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ลมหายใจสุดท้าย”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ผู้มาเยือน”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ซุ่มซ่อนในดอนดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ชีวิตในปางไม้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "เสี่ยวช้าง-เสี่ยวคน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ช้างที่หายไป"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ข่าวด่วน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "We go native"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เดิมพันที่ข่วงโปโล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "ฝรั่งต้นคอแดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เลียบละกอน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "Blue Vanda คือ ฟ้ามุ่ย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "ดำเนินไพร-นางในฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "พบกันวันฝนโปรย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ความลับของเบ็ตตี้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "สมาคมเถ้าศักดิ์สิทธิ์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ตามรอยพ่อและตา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "หญิงสาวจากโอริสสา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "โลกใบใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "แรงใจและไฟฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "บ้านใหม่-เพื่อนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ปฐมบทของวิลเลียม บรูค"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ครอบครัวในอินเดีย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "เวียงวนาลัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "แกรนด์ปา"