เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ “สงครามกับความรัก”
โดย : เนียรปาตี
เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ
ชีวิตนายห้างปางไม้ที่แพร่ไม่มีอะไรมากนอกจากเฝ้าดูลูก ๆ เติบโต รอยเมืองเป็นลูกเก๊าหรือพี่ใหญ่ ถัดมาคือม่อน ชื่อนี้ภาษาเหนือหมายถึงภูเขา แต่วิลเลียมไม่ค่อยชอบนักเพราะไพล่นึกไปถึงคำอังกฤษว่า Demon ซึ่งหมายถึงปีศาจมากกว่า แต่ลูกคนนี้ก็เป็นเด็กดีอยู่ในโอวาทพ่อแม่และเข้ากันได้ดีกับพี่ชาย จนมีลูกคนถัดมาวิลเลียมจึงลดความตะขิดตะขวงใจเรื่องความหมายของชื่อนั้นไป ลูกชายคนที่สามชื่อมาย วิลเลียมไม่ค้านชื่อนี้เพราะหากสะกดว่า Mind ก็มีความหมายที่ดี ส่วนทางฝั่งภรรยา มายคือแมลงตระกูลเดียวกับเม่าแต่ตัวเล็กกว่า เรียกแมงมาย ลูกชายคนสุดท้ายชื่อหมอกเพราะเกิดตอนใกล้รุ่งในฤดูหนาวที่หมอกลงจัด คนที่นี่เรียกหมอกว่าเหมย น้ำค้างก็เรียกน้ำเหมย แต่มุ่ยว่าเหมยเป็นชื่อผู้หญิง แล้วลูกสาวเจ๊กส่วนใหญ่ก็ชื่อดอกเหมย ลูกชายคนนี้จึงชื่อว่าหมอก
สมาคมชาวตะวันตกที่แพร่ไม่คึกคักเท่าเชียงใหม่หรือละกอน วิลเลียมจึงไปฉลองคริสต์มาสกับเพื่อนฝูงที่สโมสรยิมคานาที่เชียงใหม่และละกอนสปอร์ตคลับที่ลำปาง ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นใครเป็นเจ้าภาพ และทุกปีวิลเลียมจะมีเรื่องราวของลูกชายคนใหม่มาเล่าสู่เพื่อนฝูง
ทว่าคริสต์มาสปีนี้ที่สโมสรงดจัดงานรื่นเริง แม้จะยังแข่งขันโปโลประจำปีแต่บรรยากาศก็กร่อย
สาเหตุหลักเกิดจากข่าวสงครามในยุโรปที่ได้ปะทุขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ปีนั้นคือ พ.ศ.๒๔๕๗ สยามผลัดแผ่นดินแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ขึ้นครองราชย์มาได้ ๓ ปี ชาวตะวันตกต่างยินดีที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ของสยามเคยเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แล้วนิวัติสู่สยามพร้อมธรรมเนียมปฏิบัติและจารีตอย่างตะวันตกมาพัฒนาสยามให้มีความศิวิไลซ์
“ผ่านมา ๕ เดือนแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะเลิกเลย”
โทมัสเคาะนิ้วกับโต๊ะบ่นอย่างฉุนเฉียว เพราะคิดว่าความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นเพียงสงครามเล็ก ๆ เป็นคู่ต่อสู้ที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกัน อังกฤษสั่งสอนพอให้รู้ฤทธิ์แล้วก็คงจะเลิกไป นายห้างวัยหนุ่มหลายคนจึงลางานในสถานีป่าไม้ไปสมัครเป็นทหารอาสา เพราะจะได้แต่เครื่องแบบโก้ ๆ ไว้อวดสาว ๆ และถือโอกาสได้ไปเยือนต่างถิ่น ซึ่งเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่าย ๆ โทมัสและนายห้างคนอื่น ๆ ยังอวยชัยให้พรก่อนเดินทาง ปลุกขวัญว่า
“สงครามเท่านี้ ไม่เห็นต้องมาถึงมือพวกเรา แต่เอาเถอะ นี่คือเกียรติศักดิ์ของชาวอังกฤษ ไปสั่งสอนให้มันรู้ว่าอย่าคิดต่อกรกับพวกเรา ถึงอย่างไรอังกฤษก็ต้องยิ่งใหญ่กว่าอาณาจักรไรซ์วันยังค่ำ เพราะจักรวรรดิของเราคือดินแดนที่อาทิตย์ไม่เคยตกดิน” โทมัสตบบ่านายห้างหนุ่มเหล่านั้นราวตนเองเป็นกัปตัน “ฉันจะเตรียมไก่งวงไว้ต้อนรับพวกเธอกลับมาฉลองคริสต์มาส”
แต่ในวันนี้…ผ่านมา ๕ เดือนแล้ว สงครามยังไม่สิ้นสุดและมีทีท่าจะบานปลาย ไก่อบหลายตัวเย็นชืดอยู่บนโต๊ะอาหาร
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งในคืนงานเลี้ยงวันคริสต์มาส
ข่าวร้ายที่สุดที่ได้รับจนทำให้บรรยากาศหม่นซึม คือข่าวนายห้างหนุ่มที่อาสาไปรบเพื่อรับใช้ชาติได้สละชีพและเลือดเนื้อไว้ที่สนามรบ
“ใครจะคิดว่าสถานการณ์จะพลิกผัน” วิลเลียมรำพึงออกมาคล้ายใจลอยหากเขาก็สรุปความจากจดหมายที่ส่งมาเล่าให้เพื่อนพ้องฟัง
“พวกเรา” เขาหมายถึงกองทัพสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส “ถูกกองทัพเยอรมันบุกตีเข้ามาจากพรมแดนเดิมทางตอนเหนือ เข้ามาในเขตฝรั่งเศสถึง ๖๐ กว่าไมล์”
“เราต้องไม่ปล่อยให้พวกเยอรมันได้ใจ เห็นทีต้องกลับไปสั่งสอนพวกมันเสียหน่อยแล้ว”
โทมัสชักชวนเพื่อนพ้องให้กลับอังกฤษเพื่อรับใช้ชาติ หลายคนพยักหน้ารับอย่างฮึกเหิมเต็มที่ ทว่าเมื่อเขากวาดตามาถึงวิลเลียมก็สะดุด
“นายลังเลอะไรอยู่หรือ” โทมัสไม่อ้อมค้อม ถามเข้าเป้า “เป็นห่วงลูกเมียทางนี้สินะ”
วิลเลียมไม่มีคำตอบในวันนั้น ไม่กี่วันต่อมาเหล่านายห้างทั้งหลายนำโดยโทมัสก็เดินทางกลับอังกฤษ มีถ้อยคำล่ำลากึ่งเหน็บแนม กึ่งโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจแก่วิลเลียม
หลายคำยังก้องติดหูเมื่อเขาเดินทางกลับบ้าน
‘ชีวิตนี้จะมีอะไรเป็นเกียรติไปกว่าการได้เป็นทหารรับใช้ชาติ’
‘พวกที่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ชาติ ก็ดีแล้วที่เขาไม่กลับไป’
ในวัยใกล้ ๔๐ ปี วิลเลียมนึกถึงตัวเองในวัยหนุ่ม ครั้งนั้นเขาดั้นด้นไปอินเดียเพื่อจะสอบตำรวจให้ได้อย่างน้าอีวาน ความฝันนี้ยังฝังลึกอยู่ในใจไม่เลือนหาย จนกระทั่งวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้แต่งเครื่องแบบในฐานะทหารอังกฤษผู้พร้อมพลีกายรับใช้ชาติ
วิลเลียมกลับบ้านที่แพร่หลังฉลองคริสต์มาสและปีใหม่พร้อมกับความคิดว่าจะลางานที่สถานีป่าไม้เพื่อกลับอังกฤษไปเป็นอาสาสมัครของทัพรับมือกับเยอรมันดีหรือไม่ ในระหว่างนั้นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งไว้ให้เขายังอยู่ที่แพร่ก็คือลูกชายสี่คนที่วิ่งเล่นล้อมหน้าล้อมหลังร้องไชโยที่พ่อกลับบ้าน เสียงเรียก ‘ป้อนาย’ หรือพ่อนายดังแข่งกัน รบเร้าถามหาของฝาก
มุ่ยส่งยิ้มมาให้ก่อนแล้วจึงค่อยเดินลงมาหาช้า ๆ เพราะท้องโย้
จากลูกคนที่สี่ไม่คิดว่าจะท้องอีก จนหมอกโตวิ่งได้แล้ว มุ่ยก็ท้องลูกอีกคน
นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่วิลเลียมต้องคิดหนักว่าจะใช้ชีวิตครอบครัวที่นี่ต่อไป ไม่รับรู้ต่อสงครามที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง แม้ว่าที่ตรงนั้นจะเป็นมาตุภูมิของเขา
หรือมุ่งมั่นกลับไปอาสารับใช้ชาติ มิให้เสียชื่อว่าเกิดมาเป็นชาวอังกฤษ
ช่วงเวลานี้วิลเลียมไม่มีแก่ใจจะทำงานปางไม้ หากคอยติดตามข่าวสงครามระหว่างอังกฤษและเยอรมันอย่างจดจ่อ ขัดใจอยู่แต่ว่ากว่าข่าวจะมาถึงสยาม เหตุการณ์นั้นก็ผ่านมาหลายเดือน
เป็นอีกครั้งที่บรรดานายห้างปางไม้สละทิ้งซึ่งการเป็นพนักงานของบริษัทต่าง ๆ หากสมานฉันท์กันในนามชาวอังกฤษหรือชาวสหราชอาณาจักเสมอกันหมด กิจกรรมพบปะนัดหมายถี่ขึ้นทั้งที่ละกอนและเชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าของสงครามครั้งนี้
อังกฤษเป็นฝ่ายเสียเปรียบหลายประการโดยเฉพาะเรื่องขาดกำลังพล จึงทำให้ต้องปลุกระดมเพื่อชักชวนให้เป็นอาสาสมัครรับใช้ชาติ รู้กันโดยทั่วไปในชื่อ ‘การรณรงค์รักชาติ’ หรือ Patriotic League การรณรงค์นี้จัดขึ้นหลายที่ทั้งในอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์ รวมถึงประเทศในเครือจักรภพอย่างอินเดียและพม่า และประเทศที่มีชาวอังกฤษไปตั้งหลักแหล่งอย่างหัวเมืองเหนือของสยามอย่างเชียงใหม่และละกอน
วิลเลียมและเพื่อนพ้องนายห้างรู้ว่าการนัดหมายที่สโมสรยิมคานาวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์รักชาติ แต่สิ่งที่เขาไม่คาดคิดมาก่อนก็คือ จะได้พบเจอคนสองคนที่เขาแทบจะลืมเลือนไปแล้ว
หนึ่งคือน้าอีวาน ที่บัดนี้เปลี่ยนจากชุดตำรวจมาเป็นชุดทหาร หากนั่นก็ไม่เท่ากับอีกคนหนึ่งที่ก่อความประหลาดใจให้วิลเลียมมากกว่า บุคคลที่สองนี้คือ นายพลไรอัน บรูค ลุงของเขานั่นเอง
“เกือบหนึ่งปีมาแล้วที่สงครามได้อุบัติขึ้น”
นายพลไรอันเริ่มอารัมภบทถึงความขัดแย้งระหว่างสหราชอาณาจักรและเยอรมันที่กลายเป็นสงครามใหญ่ ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๗
“พี่น้องทั้งหลาย สถานการณ์ของเราตอนนี้ไม่สู้ดี โดยเฉพาะแนวรบฝั่งตะวันตกตอนเหนือของฝรั่งเศส เราขาดกำลังพลจนเข้าขั้นวิกฤต เวลานี้เราต้องการกำลังพลมาเสริมกองทัพ ไม่ว่าพวกท่านจะอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ หากเลือดในกายท่านเป็นเลือดของชาวสหราชอาณาจักร ท่านย่อมภูมิใจเสมอมามิใช่หรือ แล้วบัดนี้ เมื่อประเทศต้องการท่าน ไฉนท่านจึงลังเลที่จะเข้าร่วมกองทัพเพื่อปกป้องแผ่นดินของเรา”
“มันจำเป็นด้วยหรือที่ต้องทำสงคราม ผมไม่เห็นประโยชน์อะไรนอกจากความสูญเสีย”
วิลเลียมถามออกไป
“สงครามคือความถูกต้อง” นายพลไรอันว่า “สงครามเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ท่านเคยกินอยู่อย่างสุขสบาย นอนหลับภายใต้ผ้าห่มอุ่น ท่านจึงคิดว่าสงครามเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาถึงบ้าน กระทำกิริยาเลวทรามต่ำช้า มาพังบ้านท่าน มายึดบ้านท่านเป็นที่สุขสำราญและบังคับลูกสาวท่านให้ความสุขแก่พวกมัน ท่านจะยืนนิ่งดูดายโดยไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องบ้านและลูกสาวที่ท่านรักหรือ” เขานิ่งไปเมื่อรู้ว่าทุกคนตั้งใจฟัง
“หากเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมา เชื่อแน่ว่าเราจะไม่มีทางเพลี่ยงพล้ำ แต่นี่เป็นเพราะฝ่ายเยอรมันเป็นพวกอสัตย์ ชิงชัยเอาด้วยเล่ห์กล เราจึงตกอยู่สถานการณ์เช่นนี้” นายพลไรอันเว้นจังหวะนิดหนึ่ง ทอดเสียงอาลัย “ฉันขอแจ้งข่าวอันน่าสลดใจแก่พวกท่านให้ทราบว่า เหล่านายห้างจากที่นี่…ที่ไปเป็นอาสาสมัครทหาร ได้ฝากชีวิตไว้เป็นเกียรติแก่มาตุภูมิแล้ว”
ความหมายของคำพูดคือบุคคลเหล่านั้นได้ฝากชีวิตไว้ในสนามรบแล้ว ทุกคนเข้าใจตรงกันจึงนิ่งงันไป วิลเลียมเองที่ครางชื่อใครคนหนึ่งออกมา
“โทมัส…”
นายพลไรอันพยักหน้า ยืนว่าถูกต้องแล้ว เล่าอย่างรวบรัดแล้วยื่นรายชื่อทหารในหน่วยนั้นให้ดู
“มีการสังหารที่หมู่บ้านฮูจช์” หมู่บ้านนั้นอยู่ในเบลเยียม “โทมัสอยู่ในหน่วยนั้นด้วย”
“ถ้าเรื่องนี้ทำให้พวกท่านสะเทือนใจ ฉันขอเล่าถึงความไร้มนุษยธรรมของเยอรมันให้พวกท่านฟังอีกสักเรื่องหนึ่ง เผื่อว่าท่านจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรจะสละชีพเพื่อชาติอย่างไร” นายพลไรอันเล่าต่อไปถึงการล่มเรือโดยสารและเรือบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “เรือลูซิทาเนียเดินทางจากนิวยอร์กมายังอังกฤษ แต่ถูกเรือดำน้ำยู-20 ของเยอรมันยิงจมลงทางใต้ของไอร์แลนด์”
“มีใครรอดชีวิตไหมครับ” วิลเลียมถามออกไปทั้งที่รู้ว่าโง่ที่สุด
นายพลไรอันส่ายหน้า บอกความเสียหายที่เกิดขึ้น
“พลเรือนราวหนึ่งพันสองร้อยคน ผู้หญิง…และเด็ก”
วิลเลียมหลับตาเพื่อมิให้น้ำตารินไหลจากดวงตาที่แสบร้อน กัดฟันอย่างคั่งแค้นจนกรามขึ้นเป็นสัน มือที่กำหมัดสั่นเส้นเลือดปูดโปน
“พวกเยอรมัน…ช่างไร้มนุษยธรรม” วิลเลียมต่อว่า “ช่างไม่มีสัจจะกันเสียเลย ข้อตกลงการเดินเรือระหว่างประเทศก็มีอยู่ ว่าห้ามโจมตีเรือที่ขนส่งพลเรือน”
“เยอรมันอ้างว่าลูซิทาเนียขนอาวุธ” นายพลไรอันบอกเสียงเรียบ
“ใครจะเชื่อได้ล่ะ เรือจมอยู่ใต้มหาสมุทรแล้ว จะมีใครบ้าดำลงไปพิสูจน์กัน” วิลเลียมยังเชื่อว่าเยอรมันเป็นฝ่ายผิดคำพูด ไม่รักษาข้อตกลง (1) “พิสูจน์หลักฐานกันไม่ได้ จะหาข้ออ้างมาให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกยังไงก็ได้”
ในเรือโดยสารลำนั้นมีชาวอเมริกันอยู่ด้วย อังกฤษจึงโหมเรื่องนี้เพื่อให้อเมริกาเป็นพันธมิตรเข้าร่วมทำสงคราม และปลุกเร้าจิตวิญญาณของชาวอังกฤษที่ถูกหยามเกียรติด้วยศัตรูของชาติ เรียกร้องไปยังทุกแห่งบนโลกที่มีชาวอังกฤษอาศัยอยู่ เพื่อให้ละทิ้งความสุขส่วนตัวแล้วไปอาสาสมัครรับใช้ชาติ
ครานี้…ความคิดที่จะกลับไปอังกฤษของวิลเลียมเข้มข้นชัดเจนยิ่งกว่าที่ผ่านมา
นายพลไรอันจบการรณรงค์ครั้งนั้นด้วยคำเชิญชวน
“กองทัพสหราชอาณาจักรยิ่งใหญ่เกรียงไกร เรามีอาวุธมากมายที่ประเคนใส่ฝ่ายนั้น เราขาดแต่เพียงมือของพวกท่าน มือที่จะจับปืนประทับบ่า ป้อนทอฟฟีแอปเปิ้ลให้พวกมัน”
บ้านพักปางไม้ที่แพร่ต้อนรับผู้มาเยือนสองคน น้าอีวานดูจะพอใจที่ได้เห็นลูก ๆ ของวิลเลียม ในขณะที่นายพลไรอันผู้เป็นลุงมองด้วยท่าทางเรียบนิ่ง แต่ก็เดาได้ว่าไม่ชอบใจนัก เมื่อเห็นสภาพของลีรอยผู้เป็นเพื่อนรักของหลานชายก็ยิ่งชวนให้รู้สึกว่า
“หลานไม่ควรเสียเวลาอยู่ที่นี่นานนัก กลับไปอังกฤษ หลานจะมีประโยชน์กับประเทศมากกว่า”
นายพลไรอันกลับไปในวันต่อมา ตอกย้ำให้หลานชายรู้ว่าที่แห่งนี้ไม่มีค่าพอที่จะเสียเวลาชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ การสละชีพของโทมัสและเพื่อนนายห้างคนอื่น ๆ นั้นมีเกียรติและมีค่าแก่ประเทศมากกว่าคนอังกฤษที่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว
ส่วนน้าอีวานมิได้มุ่งชักชวนให้เขาไปทำสงคราม แต่ดีใจที่ได้พบหน้าลีรอยอีกครั้งที่แพร่ หลังมื้อค่ำวันนั้นเมื่อนายพลไรอันแยกไปพักผ่อนแล้ว น้าอีวานจึงชวนลีรอยและวิลเลียมมานั่งคุยกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอีกเมื่อไหร่
“น้าดีใจที่ได้เห็นว่าหลานมีครอบครัวที่ดี”
คำพูดนี้กินนัยไปถึงเรื่องลูกชายคนโต ซึ่งน้าอีวานรู้เบื้องหลังเรื่องนี้ดี เพราะเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น…วันที่เบ็ตตี้ถึงอินเดียและจากไปอย่างไร้ร่องรอย
“น้าอีวานเล่าให้ผมฟังหน่อยได้ไหมว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร” วิลเลียมขอร้อง
น้าอีวานหันมาทางลีรอย ยกคิ้วสูงแทนคำถามว่า…เธอไม่เคยเล่าเรื่องนี้หรือ…ลีรอยก็เพียงแต่นิ่งระบายลมหายใจออกมา
“ตอนที่เบ็ตตี้ถึงอินเดีย หล่อนท้องได้หลายเดือนแล้ว” น้าอีวานเริ่มเรื่อง “ทีแรกหล่อนตั้งใจเดินทางต่อไปถึงอังกฤษ แต่ระหว่างรอเปลี่ยนเรือที่อินเดีย หล่อนมีอาการป่วยที่ไม่พร้อมสำหรับการเดินทางไกล หลานคงยังจำเพื่อนเก่าได้…มัลลิกากับมาจิด” น้าอีวานรอให้วิลเลียมพยักหน้าว่าจำได้จึงเล่าต่อ “ทั้งสองคนมาเปิดโรงหมออยู่ที่ท่าเรือ กิจการไปได้ดีเพราะรักษาราคาถูกให้กับพวกจับกังแถวท่าเรือ น้ารู้ว่าทั้งสองต้องขัดแย้งกับที่บ้านพอดู แต่ก็รั้นที่จะทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ”
“วันที่เบ็ตตี้เป็นลมที่ท่าเรือ น้าอยู่ที่นั่นพอดีจึงได้พบทุกคน มัลลิกาตรวจครรภ์ดูแล้วเป็นห่วงกลัวจะเป็นอันตรายถ้าต้องเดินทางรอนแรมอีกหลายเดือน ควรรอให้คลอดเสียก่อน หล่อนจึงรั้งแกมบังคับให้เบ็ตตี้อยู่ที่นั่น…จนคลอดลูกชาย พักฟื้นพอแข็งแรงดีแล้ว หล่อนก็หายตัวไป”
“หายไปไหนครับ” วิลเลียมถาม ทั้งที่เขาก็เคยถามลีรอยและได้คำตอบว่าไม่รู้
น้าอีวานก็ไม่รู้เช่นกัน แต่สันนิษฐานว่า
“เบ็ตตี้อาจเดินทางไปกับบาทหลวงคนหนึ่งที่หล่อนพบในตอนนั้น ช่วงสองเดือนสุดท้ายก่อนคลอด เบ็ตตี้มักไปที่โบสถ์ประจำ และแสดงให้เห็นชัดว่าหล่อนใฝ่ในศาสนามาก บางที…เบ็ตตี้อาจอุทิศตนให้แก่พระผู้เป็นเจ้าแล้วก็ได้”
ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นอีก โดยเฉพาะลีรอย
หลังจากนั้นวิลเลียมก็ไม่เคยเอ่ยถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเพื่อนรักอีกเลย
ทุกเย็นหลังมื้อค่ำชาวบ้านละแวกนั้นจะได้ยินเสียงดนตรีดังมาจากบ้านนายห้าง ครั้นเจอเด็ก ๆ ลูกชายนายห้างที่ตลาดบ้าง ที่วัดบ้าง ก็จะถามว่าเพลงที่ได้ยินบ่อย ๆ คือเพลงอะไร และบางคนก็มักจะขอให้ร้องให้ฟังบ้าง ฟังแล้วก็กลั้นขำเพราะเอ็นดูท่าทางของมายและหมอกที่ร้องแข่งหรือประสานเสียงไม่แน่ชัดนัก เด็ก ๆ ก็ยินดีร้องตามคำขอเพราะได้ค่าตอบแทนเป็นขนมไม่เคยขาด
เพื่อนฝูงเด็กชาวบ้านก็ขอให้สอนให้บ้างเพราะอยากรู้ภาษาอังกฤษ
ผู้ที่เรียนรู้ได้เร็วที่สุดทั้งเรื่องภาษาและดนตรีคือรอยเมือง ลูกชายคนโต
ตั้งแต่จำความได้ รอยเมืองก็ถูกฟูมฟักจากหลายคนซึ่งล้วนแย่งเด็กชายเป็นของรัก นับแต่หนานทิพย์ที่ดีใจตั้งแต่หลานพูดคำแรกว่า ‘อุ๊ย’ อันหมายถึงปู่ย่าตายายได้ หนานทิพย์ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะรับหลานไปเลี้ยงเองที่เมืองระแหงคราวละ ๓ เดือน
ที่เมืองระแหง…รอยเมืองได้เรียนภาษาบาลีจากหลวงลุงและหลวงพี่ รอยเมืองจึงเป็นเด็กที่พูดจาฉะฉานได้หลายภาษาที่ใช้กันในเวลานั้น โดยเฉพาะภาษาไทยที่หลวงพี่กวดขันเป็นพิเศษ
คนต่อมาที่คอยดึงรอยเมืองมาไว้กับตัวคือลีรอย
ลุงลีรอยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ดี แต่บางทีก็เขม่นกับลุงปะเลที่มักเอาช้างมาล่อให้รอยเมืองไขว้เขวไม่จดจ่อกับตำราภาษาอังกฤษ ครั้นรอยเมืองเอนเอียงมาทางคอกช้าง ลุงปะเลก็จะรีบฉวยร่างเล็กขึ้นขี่คอ เดินโยกปุเลง ๆ ไปที่คอกช้างทันที
เมื่อมุ่ยมีลูกคนที่สอง สาม สี่ จึงค่อยลดปัญหาแย่งหลานรักกันไปได้บ้าง
ค่ำนี้วิลเลียมให้รอยเมืองเล่นเปียโนแบบฉายเดี่ยว หลังจากที่เขาสอนให้เล่นท่อนสั้น ๆ มาหลายวัน
โน้ตเพลง Spanish Cavalier จำไม่ยาก รอยเมืองหัดไม่กี่หนก็จำได้ เพราะตลอดทั้งเพลงก็เล่นแบบเดิมซ้ำไปมา มือน้อยกดคีย์เปียโนไล่เสียงแล้วหันมาบอกบิดา
“หนูคิดว่าเสียงมันเพี้ยน”
วิลเลียมพยักหน้าทว่ายังมีรอยยิ้ม
“นิดหน่อยน่ะลูก พ่อยังแทบฟังไม่ออกเลยว่าเพี้ยน อากาศที่นี่ทั้งร้อนทั้งร้อนชื้น เปียโนมันก็เลยเสียงเพี้ยน” แล้วเขาก็ให้สัญญาว่า “พ่อจะหาช่างมาจูนเปียโนให้”
รอยเมืองเล่นช่วงต้นแล้ว ม่อน มาย หมอก ก็ประสานเสียงแข่งกันเป็นเพลง
“I’m off to war, to the war I must go. To fight for my country and you, dear.”
แล้วทุกคนก็หันไปทางมุ่ย คราวนี้วิลเลียมประสานเสียงด้วย
“Say darling say. When I’m far away, sometimes you may think of me, dear.”
ลีรอยเดินขึ้นบันไดมาเงียบ ๆ ได้ยินวิลเลียมและลูก ๆ ร้องเพลงกันอยู่ เขารู้ว่าวิลเลียมมิได้รื่นรมย์เต็มที่ แต่เพราะคิดว่าถ้าต้องจากครอบครัวไปวันใดวันหนึ่ง วิลเลียมจะใช้เวลาที่ได้อยู่ด้วยกันนี้อย่างมีความสุขที่สุด
ครั้นเห็นลีรอยขึ้นบันไดมามุ่ยก็ยิ้มต้อนรับ บอกลูก ๆ ให้ทักทายลุงลีรอยและกล่าวราตรีสวัสดิ์ เพราะรู้ว่าเพื่อนรักสองคนคงมีเรื่องหารือกันตามลำพัง
เวลาที่จะได้อยู่ด้วยกันสั้นลงทุกที
“นายตัดสินใจดีแน่แล้วหรือ นายก็รู้ว่าการไปสงครามอาจหมายถึง…” ลีรอยปล่อยประโยคสุดท้ายให้หายไปกับสายลม
“ฉันรู้ดี แต่ฉันไม่อาจนิ่งเฉยที่จะเห็นแผ่นดินของเราถูกย่ำยีจากพวกศัตรูได้ แค่ได้ฟังข่าวจากแดนไกลฉันยังทนไม่ได้ แล้วคนที่อยู่ตรงนั้นเล่า จะทุกข์ร้อนแค่ไหน” วิลเลียมอธิบาย
“ฉันคิดว่าจะไปอังกฤษกับนาย จำได้ไหม เราเคยสัญญาว่าจะเป็นเงาของกันและกัน เราจะไม่ทอดทิ้งกันไม่ว่ายามสุขหรือยามทุกข์”
“ฉันจำได้ ลีรอย และฉันก็เชื่อว่านายยังรักษาคำพูดเสมอ” เขานิ่งไปนิดหนึ่ง “แต่สถานการณ์ตอนนี้ต่างไป ฉันมิได้อยู่ตัวคนเดียวอีกแล้ว แต่ฉันมีลูกและเมียที่ต้องดูแล”
วิลเลียมหันมาทางลีรอย เอื้อมกุมมือเพื่อนบีบแน่น
“นายอย่าตามฉันไปสงครามเลย นายจงอยู่ที่นี่ ฉันฝากนายดูแลครอบครัวของฉัน จนกว่าฉันจะกลับมา” คราวนี้วิลเลียมนิ่งไปนานกว่าจะเอ่ยต่อ “แต่ถ้าหากว่าโชคร้าย ฉันไม่ได้กลับมาที่นี่อีก ฉันขอให้นายรับเป็นพ่อของลูก ๆ ฉัน ฉันเชื่อว่ามุ่ยจะไม่ขัดข้อง เราทั้งสองต่างเคยเป็นเด็กกำพร้า นายก็รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร ฉันไม่อยากให้ลูกฉันต้องกำพร้าพ่อ”
ลีรอยนิ่งไปเม้มปากแน่น จะแปลว่าเขาดื้อแพ่งไม่ยอมรับคำขอนั้นหรือจำใจยอมทำตามก็ได้ทั้งสิ้น
ในที่สุดเขาก็เอ่ยออกมา
“ถ้านายไม่กลับมา ฉันจะพาเมียและลูกของนายไปที่อังกฤษ หากนายฝากชีวิตไว้ในสมรภูมิแล้ว ฉันก็จะตามหาหลุมฝังศพนายให้พบ แล้วให้มุ่ยวางช่อดอกไม้ที่หลุมศพของนาย”
วิลเลียมลุกขึ้นกอดเพื่อนด้วยความซาบซึ้งใจ
ลีรอยขอบตาร้อนผ่าวน้ำตาไหลซึมออกมา
“แต่ถ้านายได้หวนกลับคืนมาที่นี่อีกครั้ง ฉันอยากขอให้นายนำสิ่งหนึ่งมาให้ฉัน”
“อะไรหรือ” วิลเลียมถาม ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องลำบากยากใจ
ครั้นลีรอยบอกความประสงค์เขาก็ประหลาดใจ ทว่ามิได้ซักถามเหตุผล คงรับปากแต่เพียงว่า…ฉันจะนำมันมาให้นาย
สิ่งที่ลีรอยขอให้เขานำกลับมาจากอังกฤษด้วยคือ ต้นสตรอว์เบอร์รี
มุ่ยยังไม่หลับเมื่อวิลเลียมเข้ามาในห้อง ถามเบา ๆ ว่าลีรอยกลับไปแล้วหรือเขาก็แค่พยักหน้าน้อย ๆ แทนคำตอบ มองดูลูกสาวตัวน้อยที่หลับปุ๋ยอยู่ในอ้อมกอดแม่ มุ่ยขยับตัวลุกนั่ง ระวังมิให้กระเทือนปลุกลูกน้อย แสงตะเกียงวับวามจับผิวหน้าหญิงสาวที่แม้ให้กำเนิดทารกมาแล้วถึง ๔ คนก็ยังดูนวลลออ ทำให้จิตใจของวิลเลียมหวามไหวกับเส้นทางที่เขาจะเดินต่อไป
เป็นที่แน่ใจแล้วว่าวิลเลียมจะกลับอังกฤษเพื่อร่วมรบกับกองทัพ
วิลเลียมขยับเข้าไปใกล้ภรรยา รวบร่างหล่อนมากอดไว้โดยไม่เอ่ยคำใดออกมาทั้งสิ้น คงให้แต่สัมผัสนั้นบอกเล่าความรู้สึกทุกอย่างแทนคำพูด…เนิ่นนานกว่ามุ่ยจะขยับตัว ลุกไปเปิดกำปั่นที่วางไว้บนตั่งมุมห้อง หยิบของในนั้นออกมาส่งให้สามี
“งาของปู้คำแสน” มุ่ยยื่นงากิ่งหนึ่งให้วิลเลียมบอกว่า “หมู่เฮาเชื่อว่า งาช้างนี้ข่ามขลัง นายห้างเอาติดตัวไปตวย จะได้แคล้วคลาดปลอดภัย”
ความห่วงใยยังไม่หมดเท่านี้ มุ่ยส่งแหวนวงหนึ่งให้เขารับไว้
“แหวนพิรอดหางช้าง เชื่อกันว่าช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ตุ๊ลุงให้ข้าเจ้าไว้ ข้าเจ้าขอให้นายห้าง ถ้านายห้างบ่ใส่ติดนิ้วไว้ ก็พกติดตัวเน่อ”
วิลเลียมรวบร่างภรรยาเข้ามากอดอีกครา ทว่าหนนี้แนบแน่นดุจจะให้ร่างบางนั้นกลืนหายผสานอยู่ในกายของเขา
“ยินดีจ๊าดนัก” วิลเลียมพึมพำขณะจูบศีรษะภรรยาอย่างรักใคร่ ถือโอกาสโน้มน้าวหล่อนอีกครั้งในสิ่งที่เขาไม่เคยทำสำเร็จ “อีกสองวันจะถึงกำหนดเดินทาง ฉันอยากให้มุ่ยจดทะเบียนกับฉัน” เขาหมายถึงทะเบียนสมรส “ถ้ามุ่ยตกลง พรุ่งนี้ฉันจะรีบไปพาตัวท่านกงสุลมาจัดการให้เรียบร้อย”
“อย่าเลยนายห้าง กระดาษแผ่นเดียว เหนี่ยวใจเฮาไว้บ่ได้ดอก” มุ่ยยืนยันเช่นที่เคยมา “ถ้านายห้างฮักเฮา ฮักลูก บ่ว่าเฮาจะจดทะเบียนหรือไม่ นายห้างก็บ่เปลี่ยนไปแม่นก่”
“ไม่มีวัน” วิลเลียมยืนยัน
“ถ้าเช่นนั้นก็บ่มีประโยชน์ต้องอู้เรื่องนี้แหม” มุ่ยว่า “นายห้างจำคืนวันล่องสะเปาได้ก่ เฮาอธิษฐานว่า บ่ว่านายห้างจะไปอยู่แห่งหนใด ขอให้นายห้างปิ๊กคืนมาสู่เฮา บัดนี้ บ่ได้มีแต่ข้าเจ้าแล้ว นายห้างยังมีลูกแหมห้าคนกองหา ข้าเจ้ากับลูกจะคอยนายห้างปิ๊กคืนมาเน่อ”
เช้าวันที่วิลเลียมต้องออกเดินทางทุกคนมาส่งกันพร้อมหน้า ทั้งภรรยา ลูกทั้ง ๕ ลีรอย และหมูสองตัวที่บัดนี้เฒ่าชราเต็มที วิลเลียมกอดลาลูกทุกคนโดยเฉพาะลูกสาวคนเล็ก ฝากฝังลีรอยให้ดูแลครอบครัวของเขา และตบหัวไอ้เลี่ยมกับนังเบ็ดเบา ๆ พูดจาหยอกล้อเพื่อกลบเกลื่อนบรรยากาศเศร้าหมองให้เป็นการจากลาที่ครื้นเครง
กันยายนปีนั้นฝนปลายฤดูยังโปรยสาย แต่วิลเลียมต้องบอกลาครอบครัวอย่างอาลัยเพื่อทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของชาวสหราชอาณาจักร แมรีหรือมาลีลูกสาวคนสุดท้องเพิ่งมีอายุได้ ๔ เดือน แม้เจ้าตัวจะยังไม่รู้ความแต่ก็เป็นที่รักหนักหนาของผู้เป็นพ่อ
คณะของเขาจับเรือกลไฟเดินทางไปเมืองโคลัมโบที่ศรีลังกา แล้วเปลี่ยนไปลงเรือเดินสมุทรที่มาจากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เรือเอสเอสมาโลจาพานายห้างป่าไม้และเพื่อนพ้องไปยังสหราชอาณาจักร ปีนั้นวิลเลียมฉลองวันเกิดบนเรือ หนึ่งวันก่อนที่เรือจะเทียบท่าที่เมืองพลีมัธทางตอนใต้ของอังกฤษ เขาจำวันได้แม่นเพราะมันหลังวันเกิดเขาหนึ่งวันนั่นเอง
๑๙ ตุลาคม ๒๔๕๙ เท้าของวิลเลียมเหยียบแผ่นดินอังกฤษอีกครั้ง
บรรยากาศรอบตัวครึ้มหม่นเพราะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ลมแรงและหนาวเย็น ประกอบกับภาวะสงครามที่ทำให้หาความชื่นบานไม่พบในอาณาบริเวณที่กวาดสายตาแลไป
คืนก่อนเรือเทียบท่าคือวันเกิดของเขา หลังการฉลองสิ้นสุดลง แยกย้ายเข้าเคบินส่วนตัว วิลเลียมก็มองกระดาษที่ได้รับแจกมาอย่างชั่งใจว่าจะกรอกอย่างไรดี พรุ่งนี้ก่อนขึ้นฝั่งหรืออีกนัยหนึ่งคือด่านตรวจคนเข้าเมือง เขาต้องแสดงเอกสารนี้แก่เจ้าพนักงาน
การเข้าเมืองพลีมัธต้องกรอกเอกสารที่ระบุ ‘ถิ่นพำนักถาวรที่ตั้งใจไว้ในอนาคต’ อันเป็นการเผื่อไว้ติดตามในภายหน้า หรือหากเกิดเหตุไม่คาดคิดจากสงคราม ทางการจะได้จัดสรรที่พำนักให้ในประเทศที่พึงประสงค์ ตัวเลือกข้อนี้มี ๔ ประเทศซึ่งเป็นดินแดนของสหราชอาณาจักร แน่นอนว่าไม่มีสยาม
ส่วนตัวเลือกที่ห้าระบุว่า ‘ต่างประเทศ’
วิลเลียมจ้องมองตัวเลือกทั้งห้าอย่างใคร่ครวญ ไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดเมื่อไร ไม่รู้ว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เมื่อสิ้นสงคราม เขาจะได้กลับไปสยาม…ได้พบหน้าลูกเมียอีกครั้งหนึ่งหรือ
เขาอยากหวนคืนกลับไปหาครอบครัวที่แพร่ แต่ไม่มีสิ่งใดหรือใครรับประกันได้
วิลเลียมกรอกเอกสารเกือบครบถ้วนก่อนหลับตาลงในคืนนั้น เหลือเพียงการตัดสินใจว่าเขาจะเลือกพำนักที่ไหนในอนาคต จนกระทั่งเช้าวันต่อมา เห็นท่าเรือพลีมัธใกล้เข้ามาทุกที เขาต้องกรอกเอกสารให้สมบูรณ์
เส้นปากกาหนาหนักขีดลงไปที่ช่องหนึ่งก่อนเขาจะยื่นส่งให้พนักงานตรวจ
เขาเลือก…อังกฤษ
เชิงอรรถ :
(1) กรณีนี้ในเวลาต่อมาอีกหลายปีให้หลัง มีความพยายามกู้ซากเรือและพบอาวุธสงครามจำนวนมากในเรือลูซิทาเนีย (Lusitania)
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ค่ายเชลย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ผู้ลี้ภัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เอเชียบูรพา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "๒๔๗๕ นายห้างรุ่นใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ภารกิจ ๓๕๙ วัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ผ่าจ้าน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "สงกรานต์เชียงใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "พบและพราก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "นายห้างคนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย " ไม้แปลกป่า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "ต้นตระกูล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "คนแปลกหน้า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "การตัดสินใจครั้งสุดท้าย?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ศักดิ์ศรีของใคร?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ทอฟฟีแอปเปิ้ล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "สงครามกับความรัก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ลูกชายคนโต"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ฝันสลาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ว่าที่เจ้าสาว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ร้อยเล่ห์เพทุบาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "หัวใจร้อนรุ่มดังสุมไฟ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ตัดหัวเสียบประจาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "คนทรยศ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "พะกาเงี้ยว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ดวงดาวที่ดับสูญ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ประทีปอธิษฐาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "วิมานลอย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ลมหายใจสุดท้าย”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ผู้มาเยือน”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ซุ่มซ่อนในดอนดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ชีวิตในปางไม้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "เสี่ยวช้าง-เสี่ยวคน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ช้างที่หายไป"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ข่าวด่วน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "We go native"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เดิมพันที่ข่วงโปโล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "ฝรั่งต้นคอแดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เลียบละกอน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "Blue Vanda คือ ฟ้ามุ่ย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "ดำเนินไพร-นางในฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "พบกันวันฝนโปรย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ความลับของเบ็ตตี้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "สมาคมเถ้าศักดิ์สิทธิ์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ตามรอยพ่อและตา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "หญิงสาวจากโอริสสา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "โลกใบใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "แรงใจและไฟฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "บ้านใหม่-เพื่อนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ปฐมบทของวิลเลียม บรูค"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ครอบครัวในอินเดีย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "เวียงวนาลัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "แกรนด์ปา"