เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ “ผ่าจ้าน”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ “ผ่าจ้าน”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ในวันที่คุณหนูมาลีเจริญวัยรู้ความมากขึ้นทุกที ปะเลก็เข้าสู่วัยปลาย หากกระนั้นการฝึกปู้นาย…ช้างประจำตัวคุณหนูมาลีที่เรียกได้ว่าเติบโตเคียงกันมา ปะเลก็จัดแจงแต่งเตรียมทุกอย่างให้พร้อมทั้งหาควาญตีนประจำช้างที่ฝึก ดูการตั้งโรงพิธี คะยั้นคะยอหมอช้างฝีมือดีที่เจ้าตัวปฏิเสธเพราะวางมือแล้ว ปะเลก็ลากตัวมาทำพิธีจนได้ เพื่อให้คุณหนูมาลีคนเดียว

ในวันทำพิธีที่เรียกกันว่า ‘ผ่าจ้าน’ นายห้างวิลเลียมและมาลีพร้อมด้วยโอลิเวอร์ยืนดูอยู่บนระเบียงไม้ เห็นทั่วลานที่มีโรงพิธีและเสาต้นใหญ่ผูกโยงกันไว้เป็นคอก

“เรายังต้องฝึกช้างทำไม ในเมื่อตอนนี้มีรถลากแล้ว”

โอลิเวอร์สงสัยเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกช้างลากซุงอีก ในเมื่อขณะนี้มีเครื่องทุ่นแรงหลายอย่างในการทำไม้ เช่นเลื่อยไฟฟ้าก็สะดวกกว่าการใช้คนชักใบเลื่อยสองข้างอย่างการชักเย่อ ซ้ำยังทุ่นเวลาไปได้มากโข ถ้าจะพูดถึงการขนไม้ รถไฟรางเล็กก็ใช้กันเป็นปกติเพื่อลำเลียงซุงออกจากป่า

เรื่องรถไฟเล็กขนซุงนี้ บริษัททำไม้ริเริ่มก่อนที่สยามจะวางรางรถไฟเสียอีก

โอลิเวอร์จึงเห็นว่าการฝึกช้างลากซุงเป็นเรื่องเสียเวลา หาประโยชน์ได้น้อย แต่ก็อยากมาดูกับตาสักครั้งเพื่อความบันเทิง อย่างน้อยจะได้รู้ว่าช้างตัวโตที่ชักลากไม้ท่อนใหญ่เกินคนโอบถูกฝึกมาอย่างไร หากกระนั้นก็ไม่วายพึมพำในคอว่า

“ช้างตัวโต เยื้องย่างเชื่องช้าน่ารำคาญ”

“เธอยังไม่เคยเห็นช้างตกมัน” วิลเลียมทำเสียงหึๆ อยู่ในคอ “เวลานั้นให้วิ่งสุดฝีเท้าก็อาจถูกเหยียบได้ เธอรู้ไหมว่าในภูมิประเทศที่เป็นเนิน ช้างคล่องแคล่วกว่าม้า ม้าอาจจะวิ่งเร็วในที่ราบ แต่ในป่าโดยเฉพาะที่เนิน ช้างดีกว่า”

ปู้นายเป็นช้างน้อยอายุ 5 ปี ถือว่ากำลังดีที่จะเริ่มฝึกไว้ใช้งาน เพราะกว่าจะเชี่ยวชำนาญก็ต้องใช้เวลามากโข บางเชือกต้องฝึกจนอายุ 15 ปี จึงจะทำงานหนักได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการแยกลูกช้างออกจากแม่ ตั้งแต่เกิดลูกช้าจะรวมฝูงอยู่กับแม่ นอกจากแม่แท้ๆ ที่ให้กำเนิดแล้วก็ยังมี ‘แม่ฮับ’ หรือแม่รับคล้ายกับแม่ทูนหัวของมนุษย์คอยประกบ การผ่าจ้านหรือแยกลูกช้างออกจากฝูง จึงยากตรงที่ลูกช้างติดแม่ และบางตัวทั้งแม่เกิดและแม่ฮับก็กันท่าพวกควาญ ปกป้องลูกตัวเองเต็มที่

ปู้นายอยู่รวมโขลงจึงเห็นชัดว่าสูงประมาณครึ่งตัวแม่ ควาญผู้หนึ่งประจำบนหลังนางพังแม่แล้ว ครั้นปะเลให้สัญญาณว่าพร้อม ควาญบนหลังช้างพลายงาขาวอีกเชือกจึงไสไปขนาบข้าง ปู้นายอยู่ตรงกลางระหว่างแม่กับลุงพลาย ควาญสองคนไสให้เดินเกาะกลุ่มไปถึงหน้าคอก

‘คอก’ ที่เตรียมไว้ประกอบด้วยเสาใหญ่สี่ต้น แยกเป็นสองคู่ แต่ละคู่ฝังเอียงเข้าหากันโดยใช้ไม้แผ่นหนาเจาะรูยึดสลักที่หัวเสา ระยะห่างระหว่างเสาคู่หน้าพอดีตัวช้าง ส่วนระยะห่างเสาคู่หลังชิดกันจนช้างลอดผ่านไม่ได้ ด้านบนสอดคานไม้เข้าในรูเสาแต่ละต้นที่เจาะไว้ เพื่อยึดเสาคู่หน้าและหลังให้กลายเป็นคอกคับพอดีตัวช้าง ต่อเมื่อช้างน้อยเข้าคอกไปแล้วจึงสอดแท่งไม้ระหว่างเสาคู่หน้า กั้นขาหลังของช้างไม่ให้ถอยได้

เชือกป่านเส้นใหญ่เท่าข้อมือทำเป็นบ่วงคล้องคอเตรียมไว้แล้ว เมื่อปู้นายมาถึงหน้าคอกกุลีและแก่ช้างช่วยกันคล้องคอดึงเข้าคอก ช้างพลายที่ประกบมาใช้งวงและหัวช่วยดัน ทว่ายามนี้ปู้นายรู้ตัวแล้วว่าจะถูกพันธนาการ จึงดิ้นสะบัดฟาดงวงซ้ายขวา คนดึงบาศอ่อนแรงอ่อนล้า ส่ายหน้าแก่กันว่าช้างน้อยตัวเท่านี้แต่มีแรงกำลังมหาศาลจวนเจียนต้านทานไม่ไหว

ปู้นายหลุดจากบ่วงคล้องคอไปได้ก็แจ้นไปซุกหลบหลังแม่ แก่ช้างต้องนำกุลีตีไม้รวกให้เกิดเสียงขณะตีวงล้อมเช่นเดียวกับการไล่ราว ควาญบนหลังช้างพลายก็ไสให้ประกบปู้นายกับแม่อีกรอบ เพื่อให้กุลีเอาเชือกคล้องคอใหม่ แม้ร่วมมือร่วมใจกันสี่ห้าคนก็ยังไม่พ้นทุลักทุเล

เสียงช้างร้องดังไกลมาจากแนวป่า ก็รู้ว่านางช้างที่เป็นแม่ฮับรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอกออกมาจากโขลง อีกเดี๋ยวคงรี่กลับมาในเวลาไม่นานนี้ เหล่ากุลีจึงต้องยิ่งเร่งทำเวลา

เกือบสองชั่วโมงผ่านไปกับการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับช้างน้อยปู้นาย ในตอนท้ายจึงทั้งดึงทั้งดันให้เข้าคอกได้ กุลีรีบสอดแท่งไม้ระหว่างเสาคู่หน้าเพื่อกั้นด้านหลัง ครั้นปู้น้อยรู้ว่าถูกขัง ขยับไปทางใดไม่ได้ก็แผดร้องโวยวายพยายามปีนคานคอกออกมา เหล่าแก่ช้างต่างส่ายหน้าพึมพำแก่กัน

“มันหยังมาหลึกนัก…ช่างดื้ออะไรอย่างนี้”

เห็นทีต้องจัดการอีกขั้นเพราะปู้นายไม่สงบเสงี่ยม คนทำพิธีจึงให้สัญญาณ กุลีโยนเชือกป่านพาดหลังและลำตัว สอดเชือกไปใต้คานทั้งสองด้านและช่วยกันประสานกำลังดึงรั้งสุดแรงเพื่อให้ปู้นายกลับมาอยู่ในคอกดังเดิม

ปู้นายคงรู้ว่าสู้ด้วยกำลังต่อไปก็ไร้ประโยชน์ จึงทิ้งตัวลงนั่งราวเด็กถูกขัดใจ แสดงท่าทีดื้อแพ่งตาใสประท้วงไปไม่ยอมลุก

แม่ช้างเห็นลูกถูกต้อนเข้าคอกและยังถูกเชือกรั้งลงมาให้อยู่กับที่ก็มีอาการหงุดหงิด ส่งเสียงร้องไม่พอใจ ฟาดงวงฟึดฟัดไปมา สี่ขามุ่งไปยังคอกเพื่อช่วยลูก กุลีตีไม้รวกไล่ให้ห่างไป ควาญบนคอก็สับขอไสให้ออกไปทางอื่น แต่แม่ช้างก็ขัดขืน จนเมื่อจัดการปู้นายให้อยู่ในคอกได้ กุลีทั้งหลายก็ช่วยกันคล้องโซ่เส้นใหญ่ที่ขาลากพาดึงออกไป

มาลีน้ำตาไหล สงสารทั้งนางพังแม่และปู้นายเพื่อนรัก

“ถ้ามาลีต้องถูกแยกกับพ่อนายแม่นายแบบนี้ มาลีไม่รู้จะทำยังไง”

วิลเลียมหันมาปลอบลูก

“ปู้นายไม่ได้ถูกแยกจากแม่ตลอดไปหรอกลูก แยกชั่วคราวตอนฝึกเท่านั้นเอง เหมือนที่มาลีกับพี่ๆ ไปโรงเรียน ช่วงกลางวันมาลีอยู่ที่โรงเรียน แต่ตอนเย็นก็กลับมาอยู่กับพ่อแม่”

“มาลีโชคดีกว่าพี่ๆ เพราะได้อยู่กับพ่อนายแม่นายทุกวัน พี่ๆ อยู่ไกล ไม่ได้กลับมาบ่อยๆ” ว่าแล้วก็ซุกหน้ากับอกพ่อนาย ดุจเข้าใจว่าอ้อมอกของบุพการีมีค่าอบอุ่นและปลอดภัยเพียงใด แค่เห็นช้างน้อยถูกพรากจากแม่เพื่อฝึกฝนทำงานไม้ น้ำตาของมาลียังไหลออกมาเพราะสงสารและเวทนา

ปู้นายสงบแล้ว มาลีคิดว่าเพื่อนน่าเศร้าซึม จึงปรี่ไปที่คอกท่ามกลางความหวาดระแวงของเหล่ากุลีว่าลูกสาวนายห้างจะได้รับอันตราย ด้วยปู้นายยามนี้มีอารมณ์ไม่ปกติ ปะเลเข้าไปดูแลใกล้ชิดเมื่อมาลีเอื้อมมือไปแตะหัวปู้นายเบาๆ

“เราจะมาแอ่วหาทุกวันเน่อ” ยามคุยกับปู้นายมาลีมักใช้คำเมือง เพราะเชื่อว่าปู้นายเป็นช้างถิ่นนี้ ต้องอู้คำเมืองถึงจะเข้าใจ

ไม่ว่าความเข้าใจของมาลีจะถูกต้องหรือไม่ แต่สายใยแห่งมิตรภาพคงสื่อถึงกัน ปู้นายครางอือๆ ดุจจะฟ้องและบอกว่าไม่เป็นไรไปพร้อมกัน

ในยามต่อมานั้นสายตาของมาลีก็สะดุดกับเด็กชายที่เคยล้อตนที่วัดยืนอยู่ข้างบิดา มาลีจึงเพิ่งรู้ว่าบุญปั๋นเป็นลูกชายของนายควาญช้างคนหนึ่ง

บุญปั๋นจำมาลีได้และความละอายต่อสิ่งที่เคยทำไว้ยังฝังใจอยู่ เมื่อเอ่ยสิ่งสำคัญที่เป็นหน้าที่ของตนจึงไม่เต็มเสียง

“เฮามาฝึกเป็นควาญปู้นาย”

มาลีหันไปหาพ่อนายวิลเลียมและลุงปะเล เด็กชายนี่หรือจะมาฝึกปู้นาย…แม้เขาจะแก่วัยกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังดูเป็นเด็กที่ไม่น่าจะทำอะไรได้ในสายตาของมาลี

ปะเลอธิบายว่า

“เวลาฝึกช้าง จะฝึกควาญที่ดูแลไปพร้อมกัน ควาญผู้นั้นจะดูแลช้างเชือกนี้ไปตลอดชีวิต”

สายตามาลีมีคำถามว่าเลือกอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าคนนี้คือควาญคู่ชีวิตกัน

ไม่มีคำตอบสำหรับสายตามีคำถามนั้น แต่บุญปั๋นเดินเข้าไปใกล้ปู้นายแตะหัวเบาๆ จากนั้นซบหน้าแนบนิ่ง ผู้เป็นบิดาส่งเชือกให้ลูกชาย บุญปั๋นรับมาแล้วนำไปผูกขาทั้งสี่ของปู้นายตรึงไว้กับเสา เสร็จแล้วจึงเข้าไปในคอกปีนขึ้นนั่งขี่คอ

ถ้าช้างเชือกนั้นไม่รับจะสะบัดหลุด บางเชือกจึงถูกงดอาหารจนหิวโหย ถูกขอเหล็กสับหัวให้ยอมจำนนต่อควาญ ในขณะที่บางเชือกยอมรับเพื่อนพันธนาการนั้นโดยดุษณี

บุญปั๋นโชคดี ปู้นายไม่ขัดขืน หมอช้างจึงร่ายมนตราลงอาคม

เป็นอันเสร็จพิธีผ่าจ้านและสมานไมตรีระหว่างช้างและควาญคู่ชีวีอย่างเป็นทางการ

“คุณหนูบ่ต้องกังวลเน่อ เฮาจะดูแลปู้นายอย่างดี” บุญปั๋นว่า ขมุบขมิบปากราวชั่งใจว่าจะเอ่ยดีหรือไม่ สุดท้ายก็เปล่งออกมา “เฮาขอสูมา…ขอโทษ ที่เคยอู้ล้อคุณหนูเน่อ”

“บ่เป็นหยัง ฝากดูแลปู้นายตวย แล้วเฮาจะมาแอ่วหา…มาเยี่ยมบ่อยๆ”

มาลีเหงาหงอยไปชั่วพักแต่เมื่อมีเรื่องใหม่ที่สนุกสนานผ่านเข้ามาก็ลืมเรื่องเก่าได้ ตามประสาเด็กที่ไม่เก็บอะไรไว้เนิ่นนาน เดือนวันที่ผันผ่าน มาลีติดตามพ่อนายวิลเลียมไปที่ปางช้างยามสุดสัปดาห์อาทิตย์เว้นอาทิตย์ บุญปั๋นรายงานความคืบหน้าของการฝึก

“ตอนนี้ตกปลอกแล้ว”

“ตกปลอกคืออะไร” มาลีถาม

บุญปั๋นชี้ให้ดูที่ขาหน้าของปู้นาย บัดนี้มีปลอกสวมอยู่ มาลีก็พยักหน้าเข้าใจ บุญปั๋นรายงานต่อไปราวกับเป็นหน้าที่ต้องเสนอแก่ผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด

“ช่วงแรกต้องฝึกให้คุ้นกับคนขึ้นขี่หลัง บางคนขึ้นนั่งบ่ได้ มันบ่ยอม”

“ถ้าเป็นเรา ปู้นายยอม” มาลีสวนทันควัน

บุญปั๋นพยักหน้าส่งสายตาให้มาลีตามไป ครั้นแล้วเด็กหนุ่มก็ส่งเสียงทำสัญญาณบางอย่าง ช้างน้อยปู้นายก็ยกเท้าหน้าให้มาลีไต่ขึ้นไปขี่คอ เป็นที่น่าประหลาดใจนัก เพราะก่อนหน้านี้ลุงปะเลเป็นคนอุ้มขึ้นหลังช้าง

“เธอฝึกมันเองเหรอ”

บุญปั๋นพยักหน้ายิ้มแฉ่งอย่างภูมิใจ

“ในช่วงแรกต้องฝึกให้รู้จักคำสั่งต่างๆ ก่อน พาเดินไปเดินมา เข้าป่า ลงห้วย พ่อสอนให้สังเกตว่าช้างแต่ละตัวถนัดอย่างใด บางตัวเตียว…เดินทางราบได้ บางตัวเก่งงัดไม้ แต่บ่เก่งลากซุง” บุญปั๋นหยุดนิดหนึ่งก่อนบอกสิ่งเขาพบจากการฝึกปู้นาย “มันบ่ค่อยให้ใครขี่คอมันนัก ถ้ามันบ่ชอบใจก็สะบัดตกหมด ลุงแก่ช้างบอกว่า ช้างอย่างนี้ใช้งานตามลำน้ำบ่ได้ เหมาะใช้กับการลากไม้เท่าอั้น”

“แล้วจะฝึกลากไม้เมื่อใด”

“ต้องให้คุ้นกับสายคอ สายหาง และโซ่ก่อน” บุญปั๋นหมายถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาแต่งเข้ากับตัวช้างเพื่อใช้งานในลักษณะแตกต่างกัน “จากนั้นจึงค่อยฝึกชักลากไม้ท่อนเล็กๆ ปู้นายมีงา ต้องฝึกงัดขอนไม้ด้วย”

“ต้องฝึกนานไหม” มาลีถาม

“สักสามสี่ปีนั่นละ” บุญปั๋นตอบ

“พ่อว่าเดี๋ยวนี้ต้องฝึกให้มันบ่ตื่นเสียงเลื่อยด้วย เลื่อยไฟฟ้าเสียงดัง บ้างครั้งช้างตื่น ล่น…กระเจิงเข้าป่าเข้าห้วยกันหมดเลย”

มาลียังเพลินกับการสนทนา จนปะเลบอกว่าถึงเวลาคนเลี้ยงช้างพาช้างไปอาบน้ำ มาลีตามไปดูครู่หนึ่งแล้วจึงปลีกตัวออกมา กลับบ้านไปกับพ่อนาย

 

สโมสรเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวอังกฤษ ที่ลำปางมีละกอนสปอร์ตคลับ ที่เชียงใหม่ก็มีสโมสรยิมคานา เป็นที่พบปะสังสรรค์ของชาวยุโรปมาเล่นกีฬาอย่างเทนนิส โปโล สควอช กอล์ฟ และเล่นไพ่หรืออ่านหนังสือ สมาชิกส่วนใหญ่คือบรรดานายห้างและผู้จัดการป่าไม้ของบริษัทต่างๆ กงสุลอังกฤษ ที่ปรึกษากฎหมาย เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้สยามที่เป็นชาวอังกฤษ รวมแล้วกว่ายี่สิบคน ไม่มีคนท้องถิ่นเข้าไปปะปนใช้บริการ เพราะการเป็นสมาชิกต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริหารสโมสรก่อน ผู้ที่จะมาเยือนสโมสรหากมิใช่พวก ‘ตาน้ำข้าว’ หรือ ‘ฝรั่งดั้งขอ’ หรือ ‘กุลาเผือก’ อย่างที่คนที่นี่เรียก ก็มักจะเป็นแขกพิเศษหรือแขกกิตติมศักดิ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงอิทธิพลในสยามทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายบางพระองค์ และเชื้อเครือเจ้าล้านนาบางพระองค์ที่ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอยู่

หนึ่งในแขกพิเศษนี้คือหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชมณฑลพายัพ

บรรยากาศภายในสโมสรจึงค่อนข้างเป็นไปอย่างมีพิธีรีตองที่ทำให้โอลิเวอร์อึดอัดขัดใจ แอบมาค่อนแคะกับวิลเลียมอย่างจงใจให้ ‘ผู้ใหญ่’ บางคนที่เขาเหม็นหน้าบังเอิญได้ยิน

“ที่นี่คือสโมสรสำหรับหย่อนใจแน่หรือ ผมว่าบรรยากาศมันเหมือนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนประจำเล็กๆ ของอังกฤษยังไงยังงั้น จะทำอะไรก็มีคนมาคอยจับผิดกวดขันเรื่องกิริยามารยาทอยู่ตลอดเวลา”

ผู้ถูกว่ากระทบหน้าตึงขึงตามองมายังโอลิเวอร์ เจ้าตัวแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ ในขณะที่วิลเลียมแม้ไม่หันไปมองก็รู้ได้จากรังสีที่แผ่นออกมาจากศาสนาจารย์ท่านนั้นว่าคงหน้าตาแดงก่ำ วิลเลียมจึงขยับเข้าไปปรามโอลิเวอร์เสียงเข้มทว่าแผ่วเบา ด้วยการทำทีช่วยจัดโบไทด์ผูกคอให้เข้าที่

“ระวังคำพูดของเธอหน่อย”

คุณลีรอยเคยเตือนแล้วว่าสังคมชาวตะวันตกที่เชียงใหม่เป็นสังคมเจ้ายศเจ้าอย่างที่น่ารังเกียจ ครั้นได้มาสัมผัสเอง โอลิเวอร์ก็รับรองให้คำเตือนของลีรอยเป็นความจริง เพราะครั้งแรกที่วิลเลียมแจ้งว่าคณะกรรมการบริหารสโมสรได้ยอมรับให้โอลิเวอร์เป็นสมาชิกสโมสรแล้ว ในวันเลี้ยงอาหารค่ำ วิลเลียมก็เคี่ยวเข็ญให้สวมชุดสูทรัดคอสีขาวพอดีตัวซึ่งเขาไม่ได้สวมมานาน ซ้ำยังต้องผูกไทเรียบร้อย ดูงดงามสง่าอย่างหนุ่มอังกฤษเมื่อมองเงาสะท้อนในกระจก แต่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของที่นี่

เพียงแค่ออกจากบ้าน ร่างกายภายใต้ชุดสูทเต็มพิธีการนั้นก็ชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ

โอลิเวอร์อดทนนั่งร่วมโต๊ะที่แม้จะมีคนนั่งรวมกันกว่าสิบคนแต่มีผู้อาวุโสเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ผูกขาดการสนทนา

“ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมการมาอยู่ที่นี่นานกว่าคนอื่น พลอยทำให้เขาสำคัญตัวผิด คิดว่าฉลาดเลิศล้ำกว่าคนอื่นไปได้ จนคนอื่นต้องเกรงใจกลัวลานกันไปหมด”

คำท้ายๆ วิลเลียมอดคิดไม่ได้ว่า ‘คนอื่น’ นั้น เหมารวมตัวเองเข้าไปด้วย

โอลิเวอร์จึงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแกะดำของสโมสร แต่เจ้าตัวก็ไม่ยี่หระเพราะถือว่าไม่เห็นต้องง้อ เขาไม่ได้ติดใจไพ่บริดจ์หรือเทนนิส แม้แต่โปโล เขามีทางอื่นไปอีกมากมายสำหรับการแสวงหาความสำราญเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

เมื่อมีงานเลี้ยงพิเศษที่สโมสรคราใด โอลิเวอร์จึงมักบ่ายเบี่ยงหลบนั่นหลีกนี่ จนบางทีก็บอกวิลเลียมไปตรงๆ ว่า

“ผมไม่อยากไปนั่งปั้นหน้าเป็นเด็กมัธยมอยู่บนโต๊ะกินข้าว”

มีเพียงครั้งเดียวที่โอลิเวอร์ประทับใจกับการร่วมโต๊ะอย่างมีพิธีรีตอง ซ้ำเจ้าภาพยังเป็นเจ้านายชาวสยามอีก ในครั้งนั้น…ทีแรกโอวิเวอร์ก็ยังอิดออดที่วิลเลียมเคี่ยวเข็ญให้เขาสวมเสื้อคอแข็งสีขาว ผูกหูกระต่าย และสวมดินเนอร์แจ็กเก็ตอย่างเรียบร้อยเต็มยศ ระหว่างที่นั่งรถม้าวิลเลียมจึงเฉลยว่าเจ้าภาพดินเนอร์วันนี้คือหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร โอลิเวอร์จึงสงบเสงี่ยมลงแต่ในใจตื่นเต้นอยากรู้ว่าพวกเจ้านายสยามจะรับรองแขกชาวตะวันตกอย่างไร

ดินเนอร์ในวันนั้นกลายเป็นความประทับไม่รู้ลืมของโอลิเวอร์

คณะของวิลเลียมมีอยู่ 4 คน นั่งมาในรถม้าคันเดียวกันของบริษัท ครั้นถึงตำหนักตำรวจในเครื่องแบบเต็มยศประดับบั้งพร้อมปืนติดดาบยืนประจำอยู่ที่หน้าประตูรั้ว แสดงท่าวันทยาวุธแล้วจึงเปิดทางให้รถม้าแล่นเข้าไปเทียบถึงหน้าตำหนัก เด็กสาวรับใช้ในชุดเสื้อสีขาวสะอาดตา นุ่งผ้าซิ่นสีเหลืองสดใส มาคอยรับช่วงรับแขกต่อเชิญไปยังห้องโถงใหญ่ซึ่งแขกทั้งหมดรวมกันอยู่ที่นั่นแล้ว

เมื่อคณะของวิลเลียมเข้าไป นัยว่าเป็นคณะสุดท้ายที่มาถึง หม่อมเจ้าบวรเดชก็ลุกขึ้นต้อนรับ เชิญให้รับเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อยกันก่อน

แขกส่วนใหญ่ในห้องโถงต่างรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะสังคมชาวตะวันตกในเชียงใหม่จะว่ากว้างก็กว้าง จะว่าแคบก็แคบ ทุกคนรู้จักกันหมด บางคราวก็เป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจ แต่บางคราวก็เป็นเพื่อนร่วมชาติแลกเปลี่ยนสังสรรค์ประสบการณ์ชีวิตในป่าแต่ละแห่งสู่กันฟัง มีบางคนเท่านั้นที่ไม่คุ้นหน้า หรือบางคนที่อาจได้ยินชื่อเสียงกิตติศัพท์กันมา ก็เพิ่งมีโอกาสได้พบหน้าเห็นตัวจริงก็วันนี้

วิลเลียมรับเหล้าองุ่นจอกน้อยมาถือไว้แล้วจึงแนะนำคนในคณะของตัวเองไล่เรียงไปจนมาถึงโอลิเวอร์ก็อดขันกับท่าทีของเด็กหนุ่มไม่ได้ เพราะโอลิเวอร์ยืนตัวเกร็งต่อหน้าเจ้านายของสยาม ไม่ทำเก่งเหมือนเมื่ออยู่ที่สโมสร แนะนำแล้ววิลเลียมจึงแกล้งยกแก้วขึ้นจิบเพื่อปิดบังความขบขัน

สนทนากันด้วยเรื่องทั่วไปสักครู่ หม่อมเจ้าบวรเดชก็เปรยถึงเรื่องสงครามในยุโรป วิลเลียมและโอลิเวอร์จึงกลายเป็นตัวเอกในการสนทนานี้ด้วยเป็นทหารผ่านศึกมาทั้งคู่ ฝ่ายหม่อมเจ้าบวรเดชเองก็กล่าวถึงสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับอังกฤษที่มีต่อกันว่า ในคราวนั้นสยามก็ส่งทหารจำนวนหนึ่งไปร่วมรบ

ครั้นเหล้าเรียกน้ำย่อยเริ่มออกฤทธิ์ เจ้าภาพก็เชิญไปที่ห้องอาหารซึ่งจัดเลี้ยงเป็นโต๊ะยาวอย่างยุโรป คนสยามเรียกธรรมเนียมการเชิญแขกมารับประทานอาหารที่บ้านและสังสรรค์เช่นนี้ว่า ‘การเลี้ยงโต๊ะ’ ในกรุงเทพฯ ตามบ้านขุนนางผู้มีฐานะจัดกันบ่อย ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ แต่ที่เชียงใหม่นี้ยังมิได้ถือเป็นธรรมเนียมนิยมกันมากนัก

จบจากอาหารมื้อหลักบนโต๊ะยาวแล้ว แต่ยังคุยกันไม่หนำใจ

โอลิเวอร์มองเจ้าภาพอย่างทึ่งและนึกนิยมจนออกนอกหน้า เขารู้สึกว่ามารยาทสากลของเจ้านายชาวสยามผู้นี้เป็นไปอย่างแนบเนียน ไม่ขัดเขินประดักประเดินเหมือนคนที่นี่หลายคนที่พยายามทำตัวเป็นฝรั่งเพราะเห่อ อาหารค่ำมื้อนั้นเป็นอาหารยุโรป เด็กเดินโต๊ะเสิร์ฟอย่างรู้ธรรมเนียมการรับประทานอย่างตะวันตก หมดจดงดงามตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อยไปจนของหวานคือพุดดิ้งรสชาติหวานละมุน ส่วนเครื่องดื่มนั้นมีบาร์ตั้งไว้อยู่มุมหนึ่ง แขกสามารถเลือกตามความพอใจได้ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ชั้นดี บรั่นดี วิสกี้ ชา และกาแฟ

บทสนทนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องประสบการณ์ในการทำไม้ของนายห้างแต่ละคน บางเรื่องก็พิลึกพิลั่นชวนอัศจรรย์ใจและเรียกอารมณ์ขันไปพร้อมกัน บางเรื่องจบลงด้วยความเศร้า บางคราวหากเรื่องนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่หม่อมเจ้าบวรเดชเคยเสด็จไปตรวจราชการ ก็จะทรงถามไถ่ถึงหัวหน้าหมู่บ้านแห่งนั้น อันเป็นการแสดงว่าทรงรู้จักจริงๆ

“ฉันไม่ค่อยชอบทำงานอยู่แต่ในห้องตลอดปี รอแต่รับรายงานแล้วนำมาตีความโดยไม่ออกเดินทางไปดูให้เห็นสภาพที่แท้จริง”

ถ้อยรับสั่งเช่นนี้ทำให้โอลิเวอร์ยิ่งนิยมขึ้นไปอีกว่าท่านมิใช่เจ้านายที่หยิบหย่งรับแต่สบายอยู่ในออฟฟิศ คอยอ่านรายงานที่ผู้เขียนจะแต่งเติมเสริมเรื่องหรือบิดเบือนไปอย่างไรก็ได้

จบมื้อค่ำแล้วแขกแบ่งออกเป็นสองวง วงแรกนั่งล้อมโต๊ะกันเล่นไพ่บริดจ์ อีกวงหนึ่งเล่นบิลเลียดที่ห้องข้างๆ หม่อมเจ้าผู้เป็นเจ้าภาพเดินไปสนทนาระหว่างสองห้อง คนรับใช้ถือถาดเงินบริการเครื่องดื่มอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

กลับบ้านในคืนนั้น โอลิเวอร์ยังอดเล่าความประทับใจให้นายแม่มุ่ยกับมาลีฟังไม่ได้

“เจ้าภาพของเราช่างมีเสน่ห์เสียจริง ศิวิไลซ์ ความรู้กว้างขวาง เจรจาเรื่องใดก็รอบรู้ไปเสียหมด เข้าใจธรรมเนียมและความรู้สึกนึกคิดของพวกเราชาวอังกฤษอย่างลึกซึ้งจริงๆ”

วิลเลียมอดขันท่าทีปลื้มจนปิดไม่มิดของโอลิเวอร์ไม่ได้

“ท่านเติบโตที่อังกฤษนี่นา พระบิดาของท่านเป็นอัครราชทูตประจำอังกฤษ ท่านเองก็เป็นศิษย์เก่าฮาร์โรว์ จบจากสถาบันการทหารวูลวิช แล้วก็เคยรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตในฝรั่งเศสมาแล้ว ก็ไม่แปลกหรอกที่ท่านจะเข้าใจธรรมเนียมตะวันตกอย่างลึกซึ้ง”

“ตอนที่อยู่ในห้องบิลเลียด ได้ยินแต่เสียงท่านเจรจากับวงไพ่บริดจ์ ผมยังนึกเลยว่า ถ้าได้ยินแต่เสียงพูด ไม่เห็นตัว เป็นใครก็คงคิดว่านี่เป็นเสียงคนอังกฤษแท้ๆ ไม่มีตรงไหนเพี้ยงแปร่งจะให้คิดได้เลยว่าคนพูดนี้เป็นชาวสยาม”

ความปลื้มในตัวหม่อมเจ้าบวรเดชนี้ยังติดตามโอลิเวอร์ไปอีกหลายวัน และมาลีคือผู้รับฟังที่โอลิเวอร์เล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ

มื้อค่ำที่สโมสรยิมคานาวันนี้น่าเบื่อเช่นเคยไม่ว่าจะบนโต๊ะดินเนอร์หรือเมื่อย้ายล้อมวงสูบซิการ์แกล้มวิสกี้ โอลิเวอร์อ้าปากหาวหวอดอย่างจงใจแสดงออกว่าเขาเบื่อจริงๆ ไม่สนใจสายตาตำหนิของเหล่าสุภาพบุรุษผู้สูงวัย เช่นเดียวกับคนเหล่านั้นที่ก็เอือมระอากับพฤติกรรมของนายห้างหนุ่มคนนี้

เกือบจะผล็อยหลับคาเก้าอี้ ก็บังเอิญสะดุดหูกับเรื่องที่สนทนากันอยู่ที่นับว่าเป็นเรื่องใหม่

“ได้ยินมาว่าคิงองค์นี้จะเปลี่ยนสยามให้เป็นเดโมเครซี…ประชาธิปไตย”

ใครคนหนึ่งทำเสียงหึๆ ในคอ ก่อนตอบไปว่า

“รูเมอร์พวกนี้มีมาหลายทาง” เขาหมายถึงข่าวลือ “บ้างก็ว่าในหลวงจะเปลี่ยนเอง บ้างก็ว่าถูกบีบให้ต้องเปลี่ยน สยามเป็นแอบโซลูตโมนาคี” ผู้พูดเอ่ยคำที่หมายถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด อยู่เหนือกฎหมาย…King can do no wrong…กษัตริย์ทำอะไรก็ไม่ผิด”

มีเสียงซักถามกันไปมาว่ากระแสข่าวลือเรื่องใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ สุดท้ายก็ลงเอยที่ข้อสรุปว่า

“ไม่ว่าจะเป็นยังไง พวกเราก็เสียประโยชน์จากการต่อสัมปทานป่าไม้อยู่ดี อีกไม่นานนี้หรอก คงได้เห็นกัน”

เสียงนั้นกระทบมาถึงโอลิเวอร์ที่ทำท่าทียียวนกวนประสาท

“พวกนายห้างรุ่นใหม่ๆ คงไม่รู้หรอก ว่าพวกเราต้องต่อสู้แค่ไหนกับการเอาเปรียบเห็นแก่ได้ของรัฐบาลสยาม”

โอลิเวอร์ทำปากขมุบมิบแสร้งทำเป็นละเมอเพื่อจะบอกว่าเขาได้ยินทุกคำที่ว่ากระทบ…แต่ไม่ใส่ใจ



Don`t copy text!