เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ “ภารกิจ ๓๕๙ วัน”

เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ “ภารกิจ ๓๕๙ วัน”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

เช้าวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2470 ที่สถานีรถไฟนครสวรรค์ เป็นวันที่วิลเลียมและโอลิเวอร์ไม่มีวันลืม เพราะเป็นวันที่ได้รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 7 แม้เป็นการเข้าเฝ้าเพียงระยะสั้นๆ ข้างตู้รถไฟสีขาวที่ประทับก็ยังตรึงอยู่ในใจมิรู้ลืม นับเป็นช่วงจังหวะพอดีที่โอลิเวอร์ซึ่งบัดนี้เป็นผู้จัดการสถานีป่าไม้ต้องลงมาปากน้ำโพเพื่อคอยต้อนรับใครคนหนึ่งที่ไม่อยากพบแต่ไม่อาจเลี่ยงได้ ในขณะที่วิลเลียมติดตามมาด้วยเพื่อคอยประสานเป็นคนกลาง เพราะรู้อยู่ว่าโอลิเวอร์อารมณ์ร้อนเพียงใด

สามวันหลังจากได้ชื่นชมพระบารมีของพระเจ้ากรุงสยามองค์ที่ 7 มิสเตอร์เฮนรีผู้จัดการทั่วไปของบริษัทซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็นำผู้ตรวจการของบริษัทจากเมืองบอมเบย์ที่อินเดีย นั่งรถไฟจากหัวลำโพงขึ้นมาถึงนครสวรรค์ เพื่อตรวจตราสภาพการทำงานป่าไม้ที่แท้จริงของที่นี่

ผู้ตรวจการรายนี้คือมิสเตอร์วอลเตอร์

โอลิเวอร์ไม่ชอบหน้าตั้งแต่แรกเห็น คงเป็นเพราะสายตาของมิสเตอร์วอลเตอร์ดูจะสอดส่ายทุกอย่างรอบตัวอย่างจับผิด บนโต๊ะอาหารเขาใช้ปลายนิ้วเขี่ยด้ามมีดเบาๆ ให้ขยับตรงแนวโดยไม่เอ่ยอะไร แต่ทำให้คนที่จัดการเรื่องนี้รู้ว่าถูกตำหนิในความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เช่นเดียวกับที่พนักงานคนหนึ่งเจอเพราะกลัดกระดุมแค่ครึ่งเม็ดด้วยความรีบร้อนจะออกมาต้อนรับ มิสเตอร์วอลเตอร์ก็แค่มองจนทั่ว กว่าเจ้าตัวจะหาสาเหตุพบก็รู้สึกว่าทั้งร่างเย็นเฉียบไปด้วยความกลัว

ตลอดระยะเวลาเกือบเดือนที่โอลิเวอร์ต้องติดตามผู้ตรวจการไปยังป่าต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่อึดอัด ดีที่วิลเลียมอยู่ด้วย จึงมีคนคอยเตือนสติมิให้วู่วามด้วยความรำคาญความมากพิธีของผู้ตรวจการ และเป็นที่ระบายความอัดอั้นตันใจรายวันได้

มิสเตอร์วอลเตอร์กลับอินเดียแล้วเขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รายงานสามสิบกว่าหน้านั้นมีรายละเอียดถี่ยิบที่บางเรื่องออกจะเกินความจำเป็น เพราะพาดพิงไปถึงตัวบุคคลและตำหนิความบกพร่องต่างๆ อย่างอดคิดมิได้ว่าเขาช่างอุดมไปด้วยอคติ

วิลเลียมอ่านรายงานฉบับนั้นทุกตัวอักษรแล้วตัดสินใจทันทีว่าโอลิเวอร์ไม่ควรเห็นเอกสารฉบับนี้ เขาจึงบอกผู้จัดการหนุ่มแค่เพียงสาระสำคัญที่บริษัทมีเป็นคำสั่งให้ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนเท่านั้น

มีท่อนซุงตกค้างระหว่างทางน้ำจากป่ามาถึงสถานีผูกแพที่ปากน้ำโพจำนวนมาก บางท่อนตกค้างสะสมมาตั้งแต่ก่อนมีสงครามในยุโรป จนบัดดี้ผ่านมากว่าสิบปี บางท่อนผุพังหากก็ยังแปรรูปได้ วิลเลียมอธิบายคำสั่งอีกครั้งหลังจากที่โอลิเวอร์ดูเอกสารฉบับย่อที่คัดลอกมาแล้ว

“เราต้องขนไม้ตกค้างทั้งหมดไปที่บางกอกก่อนหมดสัญญา” วิลเลียมว่า “มิเช่นนั้นเราจะต้องเสียค่าภาคหลวงให้รัฐบาลสยามสำหรับท่อนซุงตกค้างเหล่านี้เพิ่มอีกท่อนละหกรูปี กำไรของบริษัทจะหายไปอีกไม่น้อย”

“ไม้ที่ตกค้างมีอยู่เท่าไรครับ” โอลิเวอร์ถาม ไม่กังวลมากนักเพราะเดี๋ยวนี้มีรถไฟช่วยในการขนซุง สะดวกกว่าการใช้ช้างชักลากไม้ออกจากป่า

“ห้าหมื่นกว่าท่อน” วิลเลียมบอกพลางชี้ไปยังตัวเลขที่ชัดเจนบนเอกสาร

โอลิเวอร์อ้าปากค้าง ไม่นึกว่าจะมากมายขนาดนี้ พลางคำนวณว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะขนไม้ทั้งหมดนี้ออกจากป่าได้ ตกใจเป็นคำรบสองเมื่อวิลเลียมบอกว่า

“ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2471”

โอลิเวอร์ครึมครางเสียงอ่อย

“ประมาณสามปี หวังว่าเราจะทำสำเร็จ”

“นี่เป็นหน้าที่ของเธอ โอลิเวอร์” วิลเลียมตบบ่าให้กำลังใจเด็กหนุ่มก่อนลุกออกไปจากโต๊ะทำงาน ทิ้งไว้แต่กระดาษแผ่นน้อยที่ระบุรายละเอียดของสิ่งที่โอลิเวอร์ต้องจัดการให้แล้วเสร็จทันเวลา

 

วิลเลียมเห็นใจโอลิเวอร์เหมือนกันที่ต้องรับผิดชอบภารกิจนี้ อันที่จริงท่อนซุงตกค้างเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน สาเหตุหนึ่งเกิดจากธรรมชาติ คือการกัดเซาะฝั่งจากกระแสน้ำ ทำให้ระยะห่างจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งขยายกว้างขึ้นถึงกว่า 320 เมตร ส่งผลให้ในปีหลังๆ พื้นที่ป่าเขาที่รับน้ำฝนไม่กว้างพอจะป้อนปริมาณน้ำฝนลงแม่น้ำให้ลึกพอที่ลอยซุงขนาดมหึมาเส้นผ่านศูนย์กลางกว่าหนึ่งเมตรได้ ยิ่งปีไหนฝนแล้งน้ำน้อย ยิ่งกระทบต่อการล่องซุงมาก

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการบริหารผิดพลาดของผู้จัดการทั่วไปที่บางกอก ที่ปล่อยให้ซุงตกค้างกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสะสมมาหลายปี ซุงที่ตกค้างส่วนใหญ่อยู่ที่ป่าเมืองเสริมและป่าแม่ลี้ ผู้จัดการทั่วไปมิได้จัดการนายห้างผู้ดูแลพื้นที่นั้นอย่างเข้มงวด คงปล่อยให้ชี้แจงปัญหาไปแกนๆ รับทราบแล้วก็เท่านั้น ทว่าในเวลาต่อมามันกลับกลายเป็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

หนึ่งในต้นตอของปัญหาคือโทมัส ผู้บัดนี้ฝากชีวิตและวิญญาณไว้ในสมรภูมิรบแล้ว เช่นเดียวกับนายห้างคนอื่นๆ ที่อาสาไปเป็นทหารร่วมรบ ไม่ต้องกลับมารับผิดชอบปัญหาอะไรที่สยามอีก

เรื่องนี้วิลเลียมเหนื่อยหน่ายใจ เพราะคนเป็น ‘ผู้ใหญ่’ หรือมีอาวุโสมากก็เป็นพวกดื้อดึง ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เป็นพวกชอบบ่ายเบี่ยงเลี่ยงปัญหา อย่างคราวที่ต้องจัดการคนงานให้ลากไม้ เคราะห์ร้ายปีนั้นเจอคนงานหัวหมอ แกล้งแข็งข้อไม่ยอมทำตาม นายห้างผู้ควบคุมแทนที่จะจัดการให้ได้งานตามเป้า กลับโอนอ่อนผ่อนถ่ายยอมให้คนงานเอาเปรียบได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก

โอลิเวอร์ตรงเข้ามาทิ้งตัวลงบนเก้าอี้ โยนหมวกลงบนโต๊ะแต่พลาดไปจึงร่วงเค้เก้อยู่บนพื้น แต่เจ้าตัวก็ไม่คิดจะเก็บขึ้นมา อาการนั้นบอกให้วิลเลียมรู้ว่าการเจรจาของโอลิเวอร์กับผู้ใหญ่รายหนึ่งไม่บรรลุผล

“เขาไม่ยอมไป” โอลิเวอร์เข้าเรื่องทันที ‘เขา’ ที่ว่านี้ คือผู้จัดการปางไม้อาวุโสที่สูงทั้งอายุและชั่วโมงการทำงาน หากความรับผิดชอบต่ำในสายตาของนายห้างหนุ่มเลือดร้อน เขาไปสอบถาม…ว่าให้ถูกคือไปแจ้งกำหนดการเข้าป่าทำ ‘นีปปิ้ง’ หรือเช็กสต็อกไม้เมื่อผู้ตรวจการมาถึง นอกจากอ้างว่าสังขารร่วงโรย ไม่อำนวยให้ตรวจป่าได้ “เขายังอ้างอีกนะ ว่าต้องคอยส่งเสด็จในหลวงออกจากเชียงใหม่”

“ผู้ตรวจการว่ายังไงบ้างล่ะ” วิลเลียมถาม

“ก็อยากยื่นซองขาวให้ออกไปพักผ่อนยาวๆ น่ะสิ” โอลิเวอร์บ่นฉิว “ติดอยู่นิดเดียวว่า อีกไม่กี่เดือนก็จะเกษียณอายุงานแล้ว ก็ปล่อยให้อยู่ไป แต่ผมไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมเราต้องเกรงใจพวกผู้ใหญ่แบบนี้ด้วย ไม่ทำประโยชน์อะไรให้แล้วยังเป็นตัวถ่วงเสียอีก ที่เราต้องมาแก้ปัญหาซุงตกค้างนี่ก็ไม่ใช่เพราะความไม่ใส่ใจต่องานของผู้ใหญ่พวกนี้หรอกหรือ”

ความโมโหกลายเป็นแรงผลักดันให้โอลิเวอร์ตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้สำเร็จ

โอลิเวอร์เริ่มแก้ปัญหาโดยใช้เกวียนเทียมควายขนซุงจากฝั่งแม่น้ำลี้มายังฝั่งแม่น้ำปิง แต่ทั้งปีขนถ่ายได้เพียง 891 ท่อนเท่านั้น เพราะระยะทางไกล

“ถ้าเราปรับปรุงเส้นทางน้ำไหลจะดีกว่าไหม” โอลิเวอร์ปรึกษาวิลเลียมเมื่อเวลาผ่านไปแล้วพบว่าวิธีการที่ทำมาไม่ได้ผล

“ร่องน้ำยาวตั้งยี่สิบหกกิโลเมตร ต้องใช้ช้างและกุลีจำนวนมาก” วิลเลียมว่าพลางเขียนลงบนกระดาษประกอบการอธิบายให้เห็นที่มาก่อนสรุปว่า “อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยสี่ถึงห้าปี จึงจะขนซุงได้หมด แต่สัมปทานของเราจะหมดในสามปีนี้แล้ว”

“ถ้าเราขนไม่ทัน ทั้งดอกเบี้ย ทั้งค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกอานเลย” โอวิเวอร์สะบัดอารมณ์ไปยังนายห้างปางไม้คนเก่าก่อนที่สุมหมกปัญหาไว้ให้เขาต้องมาแก้ไขในวันนี้ “ใช้ช้างใช้ควายก็จ่ายแพง ล่องซุงไปตามลำน้ำก็ต้องรอฟ้าฝน ถ้าเราขนซุงด้วยรถไฟได้ก็คงดีสินะ”

“รถไฟ!” ทั้งสองคนอุทานขึ้นมาพร้อมกันเมื่อเห็นหนทางกระจ่างใส สยามมีรถไฟใช้และมาถึงเชียงใหม่แล้ว แต่รางรถไฟยังอยู่บนเส้นทางหลัก

วิลเลียมเอ่ยต่อไปว่า

“ถ้าเราวางรางรถไฟเพื่อขนซุงออกจากป่า เลียบน้ำแม่ลี้แล้วไปล่องซุงที่แม่น้ำปิงได้ ซุงห้าหมื่นกว่าท่อนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย”

“แล้วเราจะเริ่มจากตรงไหนก่อนล่ะครับ” โอลิเวอร์ถาม

วิลเลียมยิ้มอย่างสมใจ

“เริ่มจากดูบันทึกและสมุดวาดเขียนของลีรอย”

 

ลีรอยช่วยเหลือเพียงอธิบายภาพวาดของเขาที่สอดคล้องกับบันทึกของมิสเตอร์เคนเนธ เกรเอม เกิร์ดเนอร์ ผู้เคยมาเป็นนายห้างปางไม้อยู่ช่วงหนึ่ง ด้วยนิสัยรักสันโดษ ชอบอยู่เงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร มิสเตอร์เกิร์ดเนอร์จึงมีเพื่อนน้อย ทว่าในจำนวนน้อยนั้นมีลีรอยรวมอยู่ด้วย ทั้งสองคนต่างถูกอัธยาศัยใจคอกันดี มักมีเรื่องอะไรแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ บางครั้งสองคนก็เหมือนจะเดินเล่นไปเรื่อยๆ สุดแต่ว่ากำลังขาจะพาไปถึงไหน

หามีใครรู้ว่านั่นคือการสำรวจเส้นทาง จดบันทึก และร่างภาพเพื่อทำแผนที่

ก่อนหน้านี้มิสเตอร์เกิร์ดเนอร์เคยเป็นผู้อำนวยการกรมแผนที่ของรัฐบาลสยาม ประสบการณ์ด้านการสำรวจจึงโชกโชน บันทึกเส้นทางบริเวณแม่น้ำลี้และแผนการวางแนวเส้นทางรถไฟจึงช่วยวิลเลียมและโอลิเวอร์ได้มาก

สองบุรุษต่างวัยเริ่มงานสำรวจแม่น้ำลี้อย่างละเอียดอีกครั้งในเดือนธันวาคมปี 2469 เริ่มจากบ้านโฮ่งเพื่อหาเส้นทางที่สั้นที่สุดไปสู่แม่น้ำปิง โดยต้องเป็นทางลาดชันไม่เกิน 1 ใน 120 และมีส่วนโค้งรัศมีไม่น้อยกว่า 200 เมตร วิลเลียมและโอลิเวอร์หาโอกาสไปพบมิสเตอร์เกิร์ดเนอร์เป็นระยะเพื่ออธิบายสิ่งที่เขาพบมา ฝ่ายที่ปรึกษาคงฟังเงียบๆ ไม่คัดค้าน เมื่อใดที่เขาตอบ หมายความว่าวิลเลียมและโอลิเวอร์มาถูกทางแล้ว และมักจบลงด้วยการให้ข้อเสนอแนะแบบพูดลอยๆ

เช่นครั้งนี้ เขาว่า

“ถ้าทำแบบนี้ได้ ก็จะขนซุงได้เที่ยวละห้าสิบตัน โดยขบวนรถตู้ขนาดน้ำหนักสิบห้าตัน วิ่ง ยี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง”

การสร้างรางรถไฟไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ทว่าเวลาที่จำกัดทำให้ต้องเร่งรีบ ยอมลงทุนจ้างแรงงานจำนวนมาก บริเวณลุ่มแม่น้ำลี้ในยามนี้จึงคึกคักไปด้วยแรงงานจากต่างถิ่น เกวียนเทียมวัวเทียมควาย ช้าง ลูกจ้างของบริษัทและผู้รับเหมาช่วงกับบริษัท ซึ่งมีทั้งคนจากเมืองเสริม คนเมือง พม่า เงี้ยว ขมุ

โอลิเวอร์สนิทสนมกับคนงานขมุมาแต่ครั้งอยู่แพร่ จึงเจรจาจ้างงานผ่านนายหน้าไม่ยากนัก ขมุพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากหลวงพระบางหรือหลวงน้ำทาของลาว ทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นปีๆ ตกปีละ 70 ถึง 80 รูปีต่อคน โดยจ่ายล่วงหน้าให้คนละ 5 รูปี ไว้กับนายหน้าของคนงาน (1)

ในความคิดของโอลิเวอร์ เขาเห็นว่าคนงานขมุเป็นพวกที่น่าคบมากที่สุด

“พวกนี้ขยันขันแข็งแต่อ่อนโยน หน้าตาก็เกลี้ยงเกลา ดูมีจิตใจดี”

เวลาที่คนงานอยู่ปะปนกัน โอลิเวอร์ก็แยกได้ไม่ยาก เพราะขมุจะไว้ผมยาวม้วนเป็นปมไว้ข้างศีรษะ โพกหัวด้วยผ้าเพื่อป้องกันเหงื่อไหลเข้าตา เสื้อผ้าที่สวมคือเสื้อคอกลมผูกเชือกแขนสามส่วนและกางเกงม่อฮ่อมขาก๊วยสามส่วน

ชาวขมุเองก็ชอบทำงานรับจ้างบริษัทฝรั่งเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่ม ในสมัยนั้นคนงานยังไม่รู้จักคำว่า ‘สวัสดิการ’ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับนอกเหนือจากค่าจ้างแล้วยังมีข้าวสาร ยาสูบ เกลือและพริก ไว้สำหรับกินอยู่ ค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากนี้จึงไม่มาก ค่าจ้างที่ได้มาก็เก็บได้เป็นกอบเป็นกำ

เส้นทางรถไฟสายหลักถูกกำหนดให้วิ่งจากต้นทางที่อำเภอบ้านโฮ่ง (2) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านหลังดอยหลังถ้ำ อ้อมไปลงแม่น้ำปิงที่บ้านท่าหลุกใต้ วิลเลียมจ้างกุลีถึงหกร้อยคนในการปรับพื้นให้ได้ระดับ อัดดินให้แน่น เจาะเขา สร้างสะพาน ก่อนจะปูทับด้วยหินกรวดและวางไม้หมอนในเดือนธันวาคม 2470 และวางรางในเดือนมกราคม 2471 ติดตั้งสวิตช์ต่างๆ แล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ในเดือนเมษายน

ขณะที่วิลเลียมดูแลการสร้างเส้นทางหลัก โอลิเวอร์ก็ดูแลการวางรางเล็กตามทุ่งนาและบริเวณเนินทรายริมสายน้ำระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำลี้อีกหลายจุดเพื่อเชื่อมกับเส้นทางหลัก รางนี้เป็นรางชั่วคราวสำหรับขนซุงในจุดนั้น เมื่อแล้วเสร็จก็รื้อไปวางที่จุดอื่นต่อไป

เส้นทางรถไฟสายนี้มีความยาวทั้งสิ้นราว 75 กิโลเมตร แยกเป็นเส้นทางสายหลัก 24 กิโลเมตร และเส้นทางแยกคู่ขนานเพื่อใช้บรรทุกท่อนซุง 17 ช่วง ช่วงละ 250 เมตร รวมกับเส้นทางชั่วคราวตามทุ่งนาอีกเกือบ 11 กิโลเมตร และตามเนินทรายกว้างใหญ่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำลี้อีก 36 กิโลเมตร

หลังงานปี๋ใหม่หรือที่คนสยามเรียกว่าตรุษสงกรานต์ ภารกิจขนซุงห้าหมื่นกว่าท่อนแข่งกับเวลาสิ้นสุดสัมปทานจึงเริ่มต้น

 

มุ่ยกับมาลีในวัยเริ่มเป็นสาวจี๋…แรกแย้มมาเยี่ยมพ่อนายวิลเลียมสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพราะการเดินทางจากเชียงใหม่มาบ้านโฮ่งนั้นแม้ไม่ไกลแต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าสะดวก ในช่วงแรกมุ่ยทำกับข้าวมาขายคนงานในราคาย่อมเยา เช่นเดียวกับสาวๆ ในหมู่บ้านใกล้ๆ กันนั้นก็ทำอาหารหาบมาขาย ที่พบได้ทุกเจ้าคือข้าวราดแกงไก่ ขายกันจานละ 2 สตางค์ ฝ่ายคนงานก็นึกสนุกชวนกันลงคะแนนว่าแกงไก่ของแม่ค้าเจ้าไหนอร่อยถูกปากที่สุด

หากที่ถูกปากแล้วยังถูกใจคนงานกลับมิใช่แกงไก่ แต่เป็นเหล้าของนายแม่

คนงานเรียกมุ่ยภรรยาของนายห้างว่า ‘นายแม่’ ในขณะที่ชาวบ้านเรียกมุ่ยว่า ‘แม่เลี้ยง’ แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ถือเป็นการยกย่องทั้งคู่ มุ่ยขายกับข้าวไม่กี่ครั้งก็เป็นอันต้องเลิก มิใช่เพราะรสชาติไม่ถูกปาก แต่เพราะได้ยินเสียงลอยลมจากแม่ค้าสาวใหญ่คนหนึ่งว่า

“นายห้างเป็นคนจ้างงาน เมียนายห้างขายกับข้าว พวกกุลีมันก็อุดหนุนแต่แม่เลี้ยงน่ะสิ เผื่อว่านายห้างจะได้เมตตานักขึ้น”

แรกได้ยินมุ่ยก็โกรธ แต่ทบทวนอีกครั้งก็เห็นจริงจึงเลิกขายไป แต่แจกข้าวหมากและเหล้าเป็นการสมนาคุณตอบแทนน้ำใจคนงานแทน

วันที่จะจบงานใหญ่เป็นวันที่คนงานรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะมีลาภปากจากนายแม่ วันถัดไปเป็นวันหยุดให้พักผ่อนเอาแรงเพื่อเตรียมตัวทำงานในช่วงต่อไป ในวันจบงานนี้คนงานจึงขมีขมันเป็นพิเศษ ยิ่งเมื่อเห็นนายแม่กับลูกสาวควบม้านำมาก่อน ตามมาด้วยลุงปะเลบังคับวัวเทียมเกวียนบรรทุกไหเหล้าเข้ามาที่ไซต์งาน คนงานก็ดูจะมีกำลังฮึดเฮือกสุดท้ายขึ้นมาทันที

เสร็จงานแล้วกุลีทั้งหลายก็เรียงแถวมารับแบ่งเหล้า ถือกระบอกไม้ไผ่ไว้มั่นไม่ให้เหล้าของนายแม่กระฉอกไปแม้แต่หยดเดียว บางคนใจป้ำก็ควักเงินค่าแรงซื้อกับแกล้มจากแม่ค้าหน้าแฉล้มที่เจ้าหล่อนก็รู้ว่าวันนี้เป็นวันจบงาน แทนที่จะแกงไก่มาขาย ก็เปลี่ยนรายการเป็นกับแกล้มหลายชนิด

สนุกสนานเบิกบานกันไปทุกหมู่เหล่า หย่อนใจกันเต็มที่ก่อนตะลุยงานขั้นต่อไป

ระยะเวลาที่คืบไปในช่วงนี้ทำให้มีคู่รักใหม่เกิดขึ้นหลายคู่ พิธีมงคลเกิดเป็นระยะ จนเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในอีกสามปีต่อมา คนงานที่เดินทางมารับจ้างก็สร้างครอบครัว ลงหลักปักฐานกับคนที่นี่ก็หลายคน

 

มาลีฉายแววเฉลียวฉลาดแต่เด็ก เห็นคนงานรุมซื้ออาหารจากแม่ค้าก็คำนวณแล้วเอ่ยขึ้นมาตอนกินข้าวเย็นร่วมโต๊ะกับบิดาในวันหนึ่งว่า

“ข้าวจานละสองสตางค์ ถ้าต้องซื้อกินทั้งสามมื้อ เดือนหนึ่งก็ไม่ถึงสองบาท ทั้งปีก็ไม่เกิน ยี่สิบสองบาท” เด็กหญิงนับนิ้วไปขณะปากก็พูดจ๋อยๆ หันไปถาม ‘พี่โอ’ ว่า

“กุลีพวกนี้ได้ค่าจ้างวันละเท่าไรคะ”

“ปีละแปดสิบรูปีจ้ะ” โอลิเวอร์ตอบ

มาลีทำคิ้วย่นแล้วคำนวณใหม่ เพราะค่าเงินแถบหรือเงินรูปีกับเงินบาทของสยามไม่เท่ากัน เทียบกันแล้ว 1 รูปี เท่ากับ 81 สตางค์ สมองของเด็กหญิงแม้จะปราดเปรื่องแต่ก็ไม่ต้องการคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน จึงคำนวณแค่ 80 สตางค์ แล้วว่า “ค่ากินของคนงานทั้งปียี่สิบเจ็ดบาท ที่เหลือก็เป็นเงินเก็บ โอ้โห…เป็นเศรษฐีกันทั้งนั้น”

คำถามต่อไปเด็กหญิงหันไปทางบิดา

“เราส่งไม้ไปขายได้เท่าไรคะ”

วิลเลียมอดเย้าลูกสาวกับภรรยาไม่ได้

“สงสัยปล่อยให้อยู่กับลีรอยมานาน วิชาการบัญชีได้มาหมด” หากแล้ววิลเลียมก็ตอบคำถามลูกสาว “ไม้ท่อนเหล่านี้ ถ้าแปรรูปเป็นแผ่นกระดานแล้วส่งไปขายที่ลิเวอร์พูล ก็ตกอยู่ราวสามร้อยบาทจ้ะ”

มาลีอ้าปากกว้าง ไม่คิดว่ามูลค่าจะมหาศาลเช่นนี้ ขณะเดียวกันเมื่อมองไปยังกุลีที่นั่งล้อมวงกินข้าว ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ใบจากพ่นควันปุ๋ย เคล้าเสียงหัวเราะกันอยู่นั้น พลันสีหน้าของมาลีก็เปลี่ยนไปเมื่อนึกถึงว่าค่าจ้างแรงงานกับรายได้ของบริษัทของพ่อช่างต่างกันไกลโข แต่สมองน้อยๆ ในขณะนั้นไม่สามารถประมวลความคิดนี้ออกมาเป็นคำพูดได้

มาลีรู้แต่อารมณ์ของตนเองว่า…ไม่ค่อยชอบใจ

 

สงกรานต์ปีนั้นวิลเลียมปล่อยให้คนงานได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัวอย่างเต็มที่ เพราะภารกิจใหญ่รออยู่ ครั้นวันพญาวันล่วงแล้ว อันถือเป็นการผ่านสู่ปีใหม่อย่างสมบูรณ์ การขนซุงตกค้างกว่าห้าหมื่นท่อนจึงเริ่มขึ้น

การขนซุงนับจากวันที่ 16 เมษายน 2471 ใช้เวลาปีกว่าสิ้นสุดเมื่อ 10 กรกฎาคมในปีถัดมา หากนับเฉพาะช่วงเวลาขนซุงก็กินเวลาไป 359 วัน

การขนซุงด้วยรถไฟเล็กเป็นงานเชิงเทคนิคพอๆ กับการใช้แรงงานแบกหาม ที่สถานีป่าไม้ยามนี้จึงเต็มไปด้วย ‘ช่าง’ หลายอย่าง ทั้งช่างสำรวจ ช่างก่อสร้าง ช่างเครื่องยนต์ ช่างไม้ รวมถึงคนขับรถไฟ 4 คน และคนงานวางรางรถไฟ ส่วนควาญช้างและกุลีที่อยู่มาแต่เดิมก็ยังคงอยู่ทำงานต่อไป

ในตอนนี้เองที่บริษัทได้ต้อนรับคนทำงานใหม่ๆ ทั้งรับเป็นพนักงานประจำบริษัทหรือนายห้างรุ่นใหม่ และคนที่มารับจ้างชั่วคราวตามสัญญา หนึ่งในคนกลุ่มหลังนี้คือ ปรันต์ เพื่อนของเคนเนธ จูเนียร์ ผู้เป็นบุตรชายของมิสเตอร์เกิร์ดเนอร์ ทั้งคู่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากเซนต์ เซเวียร์ ที่ปีนัง เมื่อมาเป็นแขกที่บ้านวิลเลียม มาลีก็ออกจะปลื้มพี่ปรันต์อยู่มาก

มากจนคนบางคนขวางเด็กหนุ่มจากปีนังผู้นี้เหลือกำลัง

การวางแผนขนส่งทั้งหมดพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเป็นที่ตั้ง

“รัฐบาลสยามขึ้นค่าภาคหลวงและภาษีที่บริษัททำไม้ต้องจ่ายให้รัฐบาลค่อนข้างต่ำ คือเรียกเก็บเพียงท่อนละ 13.03 บาท สำหรับซุงที่ลอยลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เรียกเก็บอัตรานี้มากว่าสิบห้าปี เพิ่งปรับขึ้นในนี้ปีนี้เอง” ซึ่งก็คือปี 2471 โอลิเวอร์ว่าต่อไป “ค่าภาคหลวงขึ้นอีกหกรูปี หรือประมาณ 4.88 บาท ว่ากันที่จริงก็ไม่กระทบบริษัทเท่าไรหรอก”

หากเสียงนั้นสะบัดน้อยๆ ประชดประชันรัฐบาลสยามผ่านไปทางปรันต์ ซึ่งโอลิเวอร์ถือว่าเด็กหนุ่มเป็นตัวแทนของสยามทั้งหมด

ฝ่ายถูกว่ากระทบนั่งนิ่ง ไม่โต้แย้งหรือแก้ต่างแทนรัฐบาลสยามแต่อย่างใด ปรันต์เองก็รู้ว่าที่รัฐบาลขึ้นค่าภาคหลวงเช่นนี้เป็นกุศโลบายต่างประเทศที่ค่อนข้างรัดกุม รัฐบาลกำลังควบคุมชาวต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในสยามอย่าง ‘อิสระ’ จนถึงขั้นเลยเถิดบานปลาย ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการจะเอาให้ได้ดังใจประสงค์ไปเสียทุกอย่าง

วิลเลียมค่อนข้างพอใจเมื่ออ่านรายงานว่าหัวรถจักรฮัดส์เวลล์ คลาร์ก สามหัวสามารถขนซุงเฉลี่ยได้วันละ 166.59 ตัน หรือซุงกว่า 90 ท่อนต่อวัน โดยขนไปลงแม่น้ำปิงได้ 33,425 ท่อน รวมกับที่ล่องไปตามลำน้ำด้วยวิธีดั้งเดิม ให้กระแสน้ำพัดพาไปในช่วงฤดูน้ำหลากอีก 14,156 ท่อน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2472 ก็ขนซุงไปได้ทั้งสิ้น 47,581 ท่อน

“เหลือที่ติดค้างอยู่ตามลำน้ำ 3,990 ท่อน” โอลิเวอร์รายงานตามบัญชีแล้ววิเคราะห์ต่อไปว่า “ในจำนวนนี้ สามพันกว่าท่อนค้างอยู่เหนือบ้านดงมะเฟืองไปจนถึงปากแม่น้ำลี้ ไม่น่ามีปัญหาถ้าเราจะรอให้กระแสน้ำพัดพาไปตามปกติในช่วงน้ำหลากปีหน้า”

วิลเลียมเห็นพ้องตามนั้น เพราะแม่น้ำบริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงให้ลึกพอที่จะลอยท่อนซุงได้แล้ว

 

ปฏิบัติการขนส่งนี้แทบว่าราบรื่นดี มีเพียงครั้งเดียวที่เกิดเหตุระทึกขวัญ

ในคราวนั้นเป็นวันที่ปรันต์ป่วย ปกติแล้วเด็กหนุ่มมีหน้าที่ควบคุมหัวรถจักรรวมถึงขับเองด้วย ทว่าวันที่เขาป่วย ลูกมือคนหนึ่งที่ช่วยเขามานานเพราะใฝ่ฝันจะได้ขับบ้างทำหน้าที่แทน โอกาสนี้ทำให้เด็กหนุ่มทั้งตื่นเต้นและมันมือ

ขณะที่รถวิ่งไปตามรางปกติ พลันมีรถบรรทุกคันหนึ่งขับมาขวางเส้นทางรถไฟ

“ชะ ไอ้นี่ไม่เจียมกะลาหัว” เด็กหนุ่มร้องออกมาอย่างคะนอง แทนที่เขาจะเปิดหวูดเตือนให้รถคันนั้นถอยไปและแตะเบรกรถไฟให้หยุด เขากลับปล่อยให้รถไฟพุ่งชนเสยรถคันที่ขวางหน้าเข้าอย่างจัง

“จะได้รู้ว่าใครหมู่ใครจ่า”

โครม! เสียงกัมปนาทดังระเบิดเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง โอลิเวอร์ผวากับเสียงที่ได้ยิน มีอาการคลุ้มคลั่งฉับพลันด้วยโรคเชลล์ล็อกหรือโรคผวาระเบิดที่เป็นมาตั้งแต่เข้าร่วมรบในสงคราม

รถบรรทุกกระเด็นไปทางหนึ่ง ขบวนรถขนซุงที่ยาวกว่าร้อยเมตรกระดอนตกราง ท่อนซุงระเนระนาด พนักงานผู้ควบคุมเบรกรถไฟถูกแรงกระแทกอัดตายคาที่ ในขณะที่เด็กหนุ่มมือมัจจุราชลากโอลิเวอร์มาอยู่ตรงที่นั่งคนขับก่อนตนเองจะแอบหลบหนีไปช่วงชุลมุน

เรื่องรถไฟชนรถบรรทุกที่ขวางรางจึงแซ่ออกไปว่า…ฝรั่งสติไม่ดีขับรถชนชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เห็นชาวบ้านเป็นผักปลา จะแกล้งเล่นอย่างคะนองจึงถึงแก่ชีวิตอย่างไรก็ได้ เพราะถือว่าตัวเองเป็นใหญ่ มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบโดยอ้างความเป็นคนขาวและการได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสยามในการทำงานที่นี่…แผ่นดินของคนอื่นที่ตัวมาพึ่งบารมีในหลวงแท้ๆ

แม้ว่าปรันต์จะคอยแก้ความเข้าใจผิดของชาวบ้านว่าโอลิเวอร์ขับรถไฟไม่ได้ ก็กลายเป็นถูกกล่าวหาว่าเป็นคนสยามที่ฝักใฝ่เอาใจหนุนช่วยพวกฝรั่งตาน้ำข้าว คำแก้ต่างของปรันต์จึงถูกนำไปเสริมเหตุผลว่า เพราะมันขับหัวรถจักรไม่เป็นน่ะซี ถึงพุ่งไปอย่างนั้น คงคิดว่าชนแล้วก็พุ่งต่อไปได้ กรรมตามทันตาเห็น ซุงของมันก็กระดอนกระเด็นเกลื่อนพื้นเหมือนกัน

นับแต่ครั้งนั้น ปรันต์ก็ไม่ยอมให้ใครทำหน้าที่ขับรถจักรแทนเขาอีก และพร้อมกันนั้น ความสัมพันธ์ของโอลิเวอร์กับปรันต์ที่ดูจะไม่กินเส้นกันก็ค่อยๆ ดีขึ้น

ฝนโปรยลงมาชะผืนป่าและทุ่งนาให้ชุ่มฉ่ำ วิลเลียมพิมพ์รายงานถึงผู้จัดการทั่วไปที่กรุงเทพฯ จำนวนสิบห้าหน้ากระดาษ เขาสรุปค่าใช้จ่ายในตอนท้ายแจกแจงรายละเอียดชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในการขนซุงไม่รวมค่าบริหารจัดการ ตกเฉลี่ยท่อนละ 23.07 รูปี หรือ 18.76 บาท ซุงแต่ละท่อนหนัก 1.79 ตัน แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากราคาไม้แผ่นกระดานที่ส่งออกซึ่งตกตันละ 187 บาท จึงอาจถือได้ว่า แม้บริษัทจะได้กำไรน้อยลงบ้าง ทว่านี่ก็เป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย

 

ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาและมีคนมาทาบทามให้เป็นครูในโรงเรียนสังกัดกระทรวงธรรมการ รอยเมืองก็เป็นครูอยู่ได้พักหนึ่งก็ลาออกด้วยสาเหตุที่เล่ากันเป็นเรื่องซุบซิบชนิดรู้กันทั่ว ว่าเป็นเพราะไปลงโทษลูกหลานเจ้านาย กลายเป็นเรื่องพูดกันใหญ่โตว่าเขาทำไม่ถูกต้อง แม้ต่อมาหม่อมเจ้าผู้บิดาของนักเรียนที่ถูกลงโทษจะบอกว่ารอยเมืองทำถูกแล้ว ท่านไม่เห็นด้วยและเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าครูใหญ่มีนโยบายห้ามครูลงโทษนักเรียนที่เป็นลูกหลานเชื้อสายเจ้านาย…ท่านว่าทำไม่ถูกต้อง คนทำผิดไม่ว่าใครก็สมควรต้องรับโทษเสมอกัน

หากกระนั้นครูรอยเมืองก็ยืนยันขอลาออกจากการเป็นครู หันไปทำหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง เขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์รายวันและแปลหนังสือภาษาต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ที่รอยเมืองทำงานอยู่นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเช่นเดียวกับอีกหลายฉบับที่เนื้อหาสำคัญตอนนี้คือการพูดถึงประชาธิปไตย

ในวันที่รอยเมืองมาเยี่ยมพ่อนายวิลเลียมที่บ้านเชียงใหม่ครั้งล่าสุด เขาจึงเอ่ยเสียงเบาทว่าน้ำเสียงนั้นจริงจังระคนหวาดหวั่นอยู่ลึกๆ

“เห็นทีคราวนี้จะยึดอำนาจแน่ๆ ครับคุณพ่อ แม้ว่าเขาพยายามจะทำกันเงียบๆ แต่ข่าวมันก็หลุดมาถึงพวกหนังสือพิมพ์จนได้”

“ชาวบ้านที่นั่นระแคะระคายกันไหม” วิลเลียมหมายถึงชาวบางกอก

รอยเมืองส่ายหน้า

“คงยังไม่ทราบกันหรอกครับ อย่างมากก็คงสรุปเอาง่ายๆ ว่าทหารแบ่งพวกแล้วตีกันเอง” รอยเมืองระบายลมหายใจออกมาช้าๆ “แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ทางนี้ก็คงได้รับผลกระทบไปด้วย ในเมื่อมณฑลพายัพเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เมื่อศูนย์กลางการปกครองเปลี่ยนไป เราก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องนี้เหมือนกัน”

“รอยเมืองกำลังจะบอกอะไรพ่อ” วิลเลียมเริ่มเข้าใจวัตถุประสงค์ของลูกชายคนโต…ลูกของเบ็ตตี้

“ผมอยากให้พ่อพาแม่และน้องๆ ไปอยู่ที่อังกฤษชั่วคราว”

วิลเลียมนิ่งจนแทบลืมหายใจ จ้องลึกเข้าไปในตาของรอยเมือง

“เรื่องมันจะร้ายกว่าที่คิดไว้ใช่ไหม…โอ…เดโมเครซี”

 

เชิงอรรถ : 

(1) ค่าเงินในขณะนั้น 1 รูปี มีค่าเท่ากับ 81 สตางค์

(2) บ้านโฮ่งนี้ ปัจจุบันคือแยกหอนาฬิกา อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

 



Don`t copy text!