
เวียงวนาลัย บทที่ ๑๔ ลำนำแห่งชีวิต “เรื่องเจ้าปัญหา”
โดย : เนียรปาตี
เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ
เด็กหญิงวัยหกขวบผู้มีชื่อแปลกว่า ‘ปาร์กกิง’ เป็นศูนย์รวมความรักของคนทั้งบ้าน พ่อนายวิลเลียมและแม่นายมุ่ยเอ็นดูหลานสาวคนนี้ด้วยเป็นลูกกำพร้า พ่อไปช่วยรบในสงครามแล้วยังไม่กลับมาเสียที ส่วนมาลีผู้เป็นแม่ยึดเอาลูกสาวเป็นตัวแทนของสามีที่รอคอยว่าสักวันหนึ่งเขาจะเดินเข้ามา นั่งพักบนเก้าอี้แล้วบ่นว่าวันนี้งานมากเสียเหลือเกิน ลูกสาวคอยยกน้ำเย็นมาเสิร์ฟ บอกให้พ่อไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเสียก่อน แล้วจึงลงมารับมื้อค่ำพร้อมหน้ากันพ่อแม่ลูก
ตอนที่โอลิเวอร์ตั้งชื่อลูกสาวคนแรกว่าปาร์กกิงนั้นมาลีติดจะไม่ชอบใจ ด้วยเขามีนิสัยครื้นเครงเห็นอะไรเป็นเรื่องสนุกไปเสียหมด ลามมาถึงการตั้งชื่อลูกที่ควรจะพิถีพิถันตั้งใจ วันที่มาลีเจ็บท้องคลอดทุกคนก็วุ่นวายตามหมอ โอลิเวอร์รู้ข่าวก็ทิ้งงานตรงหน้ารีบขับรถกลับบ้านทันที เสียงร้องอุแว้ดังแทบจะเป็นเวลาเดียวกับที่เขาดับเครื่องลงมาจากรถ เงยหน้าไปชั้นสองหญิงรับใช้ที่ชะแง้อยู่ตรงหน้าต่างก็ร้องเสียงตื่นเต้นยินดี
“คลอดละเจ้า แม่ญิงเจ้า”
“ปาร์กกิง” โอลิเวอร์ร้องออกมาทันที ครั้นเห็นหน้าแม่หนูน้อยครั้งแรก เขาก็เรียกนางฟ้าตัวน้อยผู้นี้ว่าปาร์กกิงจนติดปาก
มาลีปล่อยให้โอลิเวอร์เห่อลูกสาวด้วยการปล่อยให้เขาทำตามใจปรารถนา ลึก ๆ ในใจของมาลีกะไว้ว่าเมื่อลูกสาวโตขึ้นพอรู้ความบ้างแล้วค่อยเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่หลังจากพายุแห่งสงครามได้พัดพาชีวิตหนึ่งให้พลัดพรากไป มาลีก็ไม่คิดจะเปลี่ยนชื่อลูกสาวเป็นอย่างอื่นอีก เด็กหญิงจึงได้ชื่อ ปาร์กกิง บลูมเมอร์ แย้มตระกูล
ในวันหยุดนายห้างวิลเลียมอนุญาตให้คนงานในบ้านและโรงงานเฟอร์นิเจอร์พาลูกมาเล่นกับหลานสาวที่บ้านได้ เด็ก ๆ ทั้งหลายก็รอคอยวันนี้เพราะบ้านพ่อนายฝรั่งสวย กว้างขวาง และมีขนมอร่อย ๆ ให้กิน ปาร์กกิงก็ชอบที่มีเพื่อนเล่นมากมาย ในบรรดากิจกรรมทั้งหมดปาร์กิงชอบรถลากที่ตาทำให้ นายห้างวิลเลียมสร้างทางรถไฟเล็ก ๆ ไว้ที่สนามหน้าบ้าน ต่อกระบะไม้เป็นที่นั่งลากไปตามราง ผูกสายโยงไว้ด้านหนึ่ง เด็ก ๆ ผลัดกันนั่งผลัดกันจูง รอคอยให้ถึงตาตัวเองบ้างจนบางครั้งเกิดทะเลาะกัน นายห้างวิลเลียมจึงให้ต่อกระบะเล็กอีกหลายคันคล้องต่อกันเป็นรถไฟ ถูกใจหลานสาวคนโปรดยิ่งนัก
วันอาทิตย์หนึ่งกลางฤดูร้อน หลังกลับจากโบสถ์ปาร์กกิงชวนเพื่อน ๆ ไปเล่นน้ำที่บ่อหลังบ้าน คนงานโพงน้ำขึ้นมาใส่อ่างให้เด็ก ๆ แช่กันทั้งเสื้อผ้าให้คลายร้อน แต่แล้วไม่นานเนื้ออ่อน ๆ บางใสของปาร์กิงก็เป็นผื่นเห่อขึ้นมาจนแดงไปทั้งตัว เด็กคนอื่นก็มีอาการเดียวกัน ทั้งร้อนและคันเกาจนผิวถลอก ครั้นราดน้ำลงไปก็ยิ่งทำให้แสบยิ่งขึ้น
ปาร์กกิงร้องไห้เข้าไปหาแม่ในบ้าน แต่พบกับตายายก่อน พ่อนายวิลเลียมจึงปลอบหลานให้หายตกใจนางพี่เลี้ยงรายงายว่าเด็ก ๆ เล่นน้ำกันแล้วก็มีผื่นคันขึ้นอย่างนี้ นายห้างวิลเลียมจึงสั่งให้ไปเชิญหมอจากโรงพยายาบาลมารักษาเด็ก ๆ ที่นี่ สะดวกทันใจกว่าหอบเด็ก ๆ ทั้งโขยงไปที่โรงพยาบาล แม่นายมุ่ยพาหลานไปที่ห้องน้ำ อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาดและพอให้อาการแสบร้อนค่อยทุเลาลงบ้าง
เกือบครึ่งชั่วโมงกว่าหมอจะมาถึงบ้าน เด็ก ๆ ที่มีผื่นคันขึ้นตามตัวมานั่งคอยอยู่แล้วที่สนาม หมอชายหนึ่งหญิงหนึ่งทำความเคารพเจ้าของบ้านแล้วหมอชายก็ปรี่ไปดูเด็ก ๆ ลูกคนงาน ส่วนหมอหญิงมาดูอาการของการของปาร์กกิง
หล่อนบอกว่าลักษณะอาการเหมือนถูกสารเคมี คาดว่าจะปนอยู่ในน้ำที่เด็ก ๆ เล่นกัน โดยทั่วไปแล้วจะไม่แสดงอาการเร็วอย่างนี้ แต่เพราะผิวเด็กยังอ่อนบางจึงระคายเคืองได้ง่าย
มาลีมาถึงตอนที่กำลังตรวจอยู่ได้ยินว่าไม่ร้ายแรงก็ค่อยโล่งใจ หมอให้ยาทาแก้คันไว้ชโลมบาง ๆ เพื่อบรรเทา
“ประเดี๋ยวเดียวก็หาย ไม่ต้องกังวลหรอกค่ะ” ผู้เป็นหมอบอก
“ขอบคุณมากค่ะ ประทานโทษนะคะ ดิฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยพบคุณหมอที่ไหนสักที่ แต่นึกไม่ออก”
“คุณหนูมาลี บรูคใช่ไหมคะ” แพทย์หญิงถามเพื่อความแน่ใจ ครั้นมาลีพยักหน้ารับว่าใช่ หล่อนจึงบอกว่า “ดิฉันบัวเกี๋ยงค่ะ เราพบกันเมื่อตอนเด็ก ๆ แล้วก็ที่โรงเรียนพระชายา”
มาลีอุทานขึ้นมา เรื่องราวเก่าก่อนพลันผุดขึ้นมาจากความทรงจำ
“บัวเกี๋ยงเองหรือนี่ ตั้งแต่เธอได้ทุนไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้พบกันอีกเลย เจอกันวันนี้เป็นแพทย์หญิงไปเสียแล้ว”
นายแพทย์หนุ่มเดินเข้ามาหยิบยาจากกระเป๋า หมอบัวเกี๋ยงจึงถือโอกาสแนะนำ
“คนนี้คือ นายแพทย์สุพล บริรักษ์เวชการ ค่ะ”
สุพลยิ้มทักทายและกลับไปดูแลเด็ก ๆ ต่อ
เสียงงอแงจากความแสบคันผิวสงบลงแล้ว นายห้างวิลเลียมจึงพาคนงานไปสำรวจที่บ่อน้ำหลังบ้าน หมอสุพลและบัวเกี๋ยงตามไปด้วยเพราะอยากรู้สาเหตุที่เด็ก ๆ มีอาการพร้อมกัน นายห้างวิลเลียมสั่งคนงานให้โพงน้ำจากบ่อขึ้นมาดมได้กลิ่นแปลกๆ จึงสั่งให้หย่อนพะองลงบ่อแล้วให้คนงานไต่ลงไปดู ไม่นานก็มีเสียงร้องอย่างตกใจดังขึ้นมาก่อนแล้วคนในบ่อก็ไต่พรวดขึ้นมากระโดดหนีอย่างไม่คิดชีวิด
“ระเบิด! นายห้าง ก้นน้ำบ่อมีแต่ระเบิด”
คำว่าระเริดทำเสียงกรีดร้องดังระงมไปทั่ว ต่างคนต่างวิ่งหนีไปไกลที่สุดเพื่อเอารอด แต่ก็ไม่มีเสียงตูมดังขึ้น วิลเลียมสั่งให้พื้นที่รอบบ่อน้ำเป็นเขตต้องห้าม เขารีบติดต่อไปยังค่ายทหารให้มาดูเพื่อกู้ระเบิดที่ญี่ปุ่นทิ้งลงในบ่อน้ำ การกู้ระเบิดใช้เวลาเกือบสัปดาห์ โชคดีที่ระเบิดทุกลูกด้านหมดแล้ว หมอสุพลและหมอบัวเกี๋ยงมาประจำด้วยทุกวันเผื่อว่าเกิดเหตุอย่างใดจะได้ช่วยเหลือทัน
ครั้นภารกิจกู้ระเบิดกว่าห้าสิบลูกผ่านพ้นไปแล้ว นายห้างวิลเลียมจึงจัดงานเลี้ยงเล็ก ๆ เพื่อเป็นการขอบคุณทหารและหมอที่มาช่วยเหลือในครั้งนี้ มาลีจึงได้มีโอกาสได้คุยกับหมอบัวเกี๋ยงเพื่อนเก่าในวัยเด็กมากขึ้น ตื่นเต้นกับเรื่องราวที่ได้ยิน ไม่คิดว่าเด็กหญิงชาวบ้านลูกกำพร้าเมื่อครั้งก่อนโน้นจะมีชีวิตที่โลดโผน ได้รู้ชาติกำเนิดที่แท้จริงของตนเอง และสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากอเมริกา
หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว นายห้างวิลเลียมจึงเชิญแขกไปนั่งจิบเครื่องดื่มในห้องรับแขกเพื่อให้หลานสาวตัวน้อยได้อวดฝีมือการเล่นเปียโน ปาร์กกิงแต่งตัวสวยด้วยชุดสีชมพูอ่อน ผมยาวถึงหลังผูกริบบิ้นสีเดียวกับชุดเดินมานั่งตรงหน้าเปีนโน มาลียืนเท้าอยู่ข้าง ๆ เป็นกำลังใจให้ลูกสาว
ฝีมือการเล่นเปียโนของปาร์กกิงมิได้ทำให้แขกทึ่งในความสามารถ แต่เป็นเอ็นดูที่เด็กหญิงพยายามกดคีย์สีงาช้างให้เป็นเพลง มีบางช่วงกระท่อนกระแท่นเพราะลืมโน้ต แต่ปาร์กกิงก็พยายามนึกให้ออกและเล่นต่อไปจนจบ เสียงปรบมือดังขึ้นให้กำลังใจแม่หนู
“เพลงที่หนูเล่น ชื่อเพลงอะไรจ๊ะ” หมอบัวเกี๋ยงถาม
“Spanish Cavalier ค่ะ” ปาร์กกิงตอบ
“เพราะมากเลยจ้ะ หนูเล่นเพลงอื่นได้อีกไหมจ๊ะ”
“ไม่ได้ค่ะ” ปาร์กกิงส่ายหน้า แขกทั้งหลายคิดว่าเพราะหล่อนยังเยาว์ เพิ่งได้ฝึกเพียงเพลงเดียว แต่เหตุผลกลับเป็นว่า “หนูจะเล่นเพลงนี้เพลงเดียว เล่นให้เก่ง เล่นเก่งแล้วหนูจะเล่นซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ”
“ทำไมล่ะจ๊ะ” หมอบัวเกี๋ยงถามอีก
“คุณแม่บอกว่า ถ้าเล่นเพลงนี้จบ คุณพ่อจะเดินเข้าประตูมาค่ะ”
ทั้งห้องเงียบงันต่อคำตอบของเด็กน้อย มาลีหันไปหลบหน้ากับผนัง กลั้นก้อนสะอื้นที่แล่นขึ้นมาจุกที่อกจนแทบหายใจไม่ออก
โอลิเวอร์…ตอนนี้เธออยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร
When the war is over to you I’ll return. Back to my country and you dear.
บัดนี้สงครามก็ยุติแล้ว เมื่อไหร่เธอจะกลับมาหาลูกและเมีย
ปึกกระดาษบนโต๊ะทำงานของนายห้างวิลเลียมคือร่างตำราเกี่ยวกับการทำไม้ซึ่งวิลเลียมเคยเป็นที่ปรึกษาให้โรงเรียนการป่าไม้ที่แพร่ โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.๒๔๗๘ โดยพระยาพนานุจร อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้นแต่เปิดสอนอย่างเป็นทางการในปีถัดมา มีนักศึกษารวม ๒๕ คน ซึ่งมาจากการสอบแข่งขันของข้าราชการกรมป่าไม้ ผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๘ และผู้ที่สนใจงานป่าไม้ ครั้นญี่ปุ่นบุกไทยและชาวตะวันตกถูกจับไปอยู่ในค่ายเชลย วิลเลียมจึงห่างจากการสอนที่นี่ไป ช่วงสงครามเอเชียบูรพานี้เองที่โรงเรียนการป่าไม้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนระดับอนุปริญญา
วิลเลียมปล่อยวางเสียงเหน็บแนมที่ผ่านมาเข้าหูว่าที่ป่าไม้ในไทยถูกตัดจนเหี้ยนเตียน ไม่เหลือจะให้สัมปทานกันอีกต่อไปก็เพราะพวกฝรั่งตาน้ำข้าวที่เข้ามาทำไม้นี่แหละ ขูดรีดเอาประโยชน์จากป่าไปหมดสิ้น แล้วก็สร้างภาพว่าตัวเองเป็นคนดีด้วยการบอกว่าควรทำไม้อย่างถูกต้องและอนุรักษ์ผืนป่า เพื่อนนายห้างบางคนก็ไม่เห็นด้วยที่เขาจะเกี่ยวข้องกับโรงเรียนการป่าไม้นี้ ด้วยเหตุผลแกมเยาะว่ารัฐบาลสยามอยากยึดไปทำเองก็เอาไป เราจะช่วยเหลือไปทำไม ทว่าในช่วงปัจฉิมของชีวิต วิลเลียมปลงอุเบกขาต่อคำนินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังเสียแล้ว หากสิ่งที่ทำอยู่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นวิลเลียมก็ลงมือทำโดยไม่ลังเลใจ
วางมือจากการตรวจตำราชั่วคราวเพื่อพักสายตา วิลเลียมก็หยิบสมุดภาพของลีรอยมาพลิกเปิดดู บัดนี้สมุดภาพวาดดอกไม้ของลีรอยกลายเป็นสมุดบันทึกความทรงจำของเขา เล่มสุดท้ายเป็นภาพดอกไม้ที่พบในป่าเมืองเหนือของไทยหรือสยามในชื่อเดิม เล่มก่อนหน้าเป็นภาพดอกไม้ในอินเดียและพม่า เล่มแรก ๆ ฝีมือลายเส้นและพู่กันยังไม่คมเป็นดอกไม้ที่พบดาษดื่นทั่วไปในอังกฤษอย่างไอริส ทิวลิป และแดฟโฟดิล
แดฟโฟดิล…โดยเฉพาะสีเหลืองทำให้ความทรงจำของวิลเลียมย้อนกลับไปในวัยหนุ่มเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาและนักกีฬาคริกเก็ตของออกซ์ฟอร์ด สาวน้อยผู้กางร่มลูกไม้สีขาวท่ามกลางทุ่งแดฟโฟดิลคือผู้พาให้เขารู้จักอารมณ์รักอย่างหนุ่มสาว ความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นในตอนนั้นทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเกิดมาเพื่อเป็นของกันและกัน จนกระทั่งบททดสอบที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ค่อย ๆ ลอกเปลือกแต่ละชั้นเหมือนการปอกหัวหอม เพื่อจะพบว่าเมื่อได้รู้จักเบ็ตตี้ถึงตัวตนที่แท้แล้ว วิลเลียมไม่ได้รักหล่อนอย่างชายหนุ่มหลงใหลเด็กสาวแรกรุ่นอีกต่อไป ความรู้สึกที่ยังเหลือให้หล่อนตอนนี้ถ้ามีเส้นขีดแบ่งระดับความสัมพันธ์ มันก็แตะกึ่งกลางอยู่ระหว่างคนรู้จักในวัยหนุ่มกับคนแปลกหน้าคนหนึ่งเท่านั้น
หนังสือพิมพ์ที่วางอยู่บนโต๊ะวันนี้พาดหัวใหญ่ยังเป็นเรื่องการเมือง ที่หลังจากสงครามเลิกไปแล้ว ข่าวหน้าหนึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเปิดโปงเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ผู้เกี่ยวข้องก็วนเวียนอยู่แต่กลุ่มเดิมคือทหาร ตำรวจ และนักการเมือง ข่าวรอง ๆ จากนี้เป็นเรื่องทะเลาะของผัวเมียและเรื่องอาชญากรรมที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเสนอไม่เว้นแต่ละวัน
แต่ข่าวรองวันนี้สะดุดตานายห้างวิลเลียมเพราะเป็นเรื่องภาพยนตร์เพลง ‘วิมานแดนเถื่อน’ ที่เข้าโรงฉายไปแล้วสองรอบต้องยุติชั่วคราวเพราะมีการตั้งกระทู้ขึ้นมาว่าเนื้อหาของภาพยนตร์เพลงเรื่องนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติไทย
โรงภาพยนตร์ในไทยเคยฉายหนังจากต่างประเทศมาหลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ก็มากมายไม่มีเรื่องใดเป็นปัญหาจนกระทั่งถึง ‘วิมานแดนเถื่อน’ ด้วยเป็นเรื่องของหญิงอังกฤษยุควิคตอเรียนที่เดินทางมากับคณะมิชชันนารีเพื่อเป็นครูสอนหนังสือเด็ก ๆ ลูกเจ้าหลวงและชาวบ้านในปางไม้ทางภาคเหนือของสยาม ชีวิตของหล่อนโลดโผนไม่ผิดจากเรื่องผจญภัยดินแดนลี้ลับ
Banal Life หรือวิมานแดนเถื่อนในฉบับแปลภาษาไทย เขียนโดย เบ็ตตี้ บรูค ถ้อยคำโฆษณาอย่างอาจหาญตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกประกาศว่า เรื่องนี้เขียนจากเรื่องจริง ๗๕% และแต่งจากความจริง ๒๕% ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งยืนยันว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง มีหลักฐานยืนยันตามที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง ในขณะฝั่งผู้คัดค้านก็โต้แย้งว่ามันเป็นเพียง ‘นิยาย’ ที่แต่งจากการเก็บเล็กผสมน้อยเกร็ดตำนานต่าง ๆ จับแพะมาชนแกะ แล้วร้อยเรียงเป็นเรื่องใหม่หลังจากผู้เขียนเพ้อได้ที่ กลายเป็นนิทานหลอกนักวิชาการโง่ ๆ ที่เชื่อว่านั่นเป็นเรื่องจริง
การงัดหลักฐานโต้แย้งกันเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งเมื่อรอยเมืองแปลต้นฉบับ Banal Life เป็นเรื่อง ‘วิมานแดนเถื่อน’ ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ครั้นเกิดสงครามเอเชียบูรพาขึ้นการถกเถียงเรื่องนี้จึงยุติ จนกระทั่งวันนี้ วันที่ภาพยนตร์เพลงเรื่องวิมานแดนเถื่อนเข้าฉายในไทย เหมือนปลุกผีนางแหม่มเบ็ตตี้ขึ้นมาอีกครั้ง
รอยเมืองเข้ามาที่ห้องทำงานของวิลเลียมเงียบ ๆ ไม่อยากรบกวนสมาธิพ่อนาย นายห้างวิลเลียมเห็นเงาแวบไหวทางหางตาก็เหลียวไปที่ประตู พบลูกชายคนโตยืนอยู่ตรงนั้นจึงบอกให้เข้ามา
“พ่ออยากคุยกับลูกพอดี เรื่องนี้” วางหนังสือพิมพ์ลงบนโต๊ะ ภาพชื่อเรื่องหน้าโรงภาพยนตร์ประดับด้วยป้ายข้อความประท้วงให้ยุติการฉาย รอยเมืองนั่งลงบนเก้าอี้ตัวใกล้มองตามสายตาของพ่อนาย
“ที่ลูกมาพบคุณพ่อก็เพราะเรื่องนี้เหมือนกันครับ” พ่อนายวิลเลียมยกมือขึ้นให้พูดเรื่องทางเขาก่อน รอยเมืองจึงบอกต่อไปว่า “เรื่องหยุดฉายหนังก็เรื่องหนึ่ง เรื่องที่ผู้เขียนจะมาก็อีกเรื่องหนึ่งครับ”
นายห้างวิลเลียมยกคิ้วประหลาดใจ ในชีวิตที่ห่างกันไปนานจนรอยเมืองลูกของหล่อนโตและแต่งงานมีครอบครัวแล้ว มันก็เผลอคิดว่าหล่อนอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ได้ เขาไม่เคยติดตามถามไถ่หรืออยากรู้ทุกข์สุขของเบ็ตตี้ เพิ่งรู้จากปากรอยเมืองเดี๋ยวนี้เองว่าหล่อนยังมีชีวิตอยู่
“มิสซิสบรูค…คุณเบ็ตตี้น่ะครับ เธอตอบรับการมาที่ไทยแล้วครับ”
“มาทำไม?” นายห้างวิลเลียมถามออกไปทันควัน
“สมาคม…” รอยเมืองเอ่ยชื่อสมาคมหนึ่งที่สมาชิกเป็นนักวิชาการแหลายแขนง แต่ที่มากสุดคือด้านประวัติศาสตร์ “เชิญเธอมาเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์ของสยามช่วงที่เธอมาอยู่ที่นี่น่ะครับทาง สมาคมเชิญให้ลูกเป็นล่ามในคราวนี้ ไม่รู้ว่าเชิญเพราะความรู้ความสามารถ หรือเพราะเรารู้ว่า ‘เรา’ เกี่ยวข้องอะไรกัน จึงจงใจเลือกผม ทั้งที่คนเก่งภาษาอังกฤษในไทย จบนอกทั้งอังกฤษและอเมริกามากมายอยู่ในนี้ ไม่จำเป็นต้องแปล แต่เขาก็ยืนยันจะให้มีการแปลและเจาะจงให้ลูกเป็นล่าม”
“ลูกคิดว่ายังไงล่ะ พ่อหมายถึง…ลูกตอบรับงานคราวนี้ไหม”
“ลูกคิดว่าจะตอบรับ ถึงแม้จะไม่เคยคิดมาก่อนว่าในชีวิตนี้มีเขาเป็นแม่ แม่คนเดียวของลูกคือแม่นายมุ่ย พ่อของลูกก็คือพ่อนาย พ่อเมือง และพ่อลีรอย แต่ลูกก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ให้กำเนิดลูกมาคือเขา ลูกอยากพบเขาสักครั้ง อยากเห็นแววตาของเขาที่มองลูกสักครั้ง”
“ถ้าอย่างนั้นก็ตอบรับเถอะ วันงานมารับพ่อด้วย” นายห้างวิลเลียมย้ำในตอนท้าย “พ่อนายก็อยากไปพบเขาอีกสักครั้ง”
รอยเมืองแจ้งกำหนดเวทีเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนาและป่าไม้โดยมีแขกพิเศษคือ มิสซิสบรูค ผู้เขียนหนังสือวิมานแดนเถื่อนแล้ว ก่อนถึงวันนั้นนายห้างวิลเลียมจึงอ่านหนังสือที่หล่อนเขียนอีกครั้ง พบว่าเนื้อหานั้นเต็มไปเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่เบ็ตตี้ดัดแปลงให้ตัวเองกลายเป็นตัวเอก หากมองว่านี่คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนก็สวมชีวิตจิตวิญญาณของวีรสตรีจากอังกฤษยุควิคตอเรียนที่โชคชะตาพัดพาให้หล่อนมาอยู่ในปางไม้ของสยาม พานพบเรื่องป่าเถื่อนสารพันของคนที่นี่ แต่ด้วยความหาญกล้าของหล่อน ระยะเวลาไม่กี่ปีหล่อนก็ทำให้ผู้คนที่นี่กลายเป็นผู้มีอารยธรรม หล่อนเป็นผู้นำความศิวิไลซ์อย่างโลกตะวันตกมาขัดเกลาคนที่นี่จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นายห้างวิลเลียมปิดหนังสือลงเมื่ออ่านจบหน้าสุดท้าย ระบายลมใจแผ่วเบาพลางนึกถึงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้…เบ็ตตี้ หนังสือเล่มนี้ลอกเปลือกที่ห่อหุ้มภาพมายาของหล่อนให้วิลเลียมรู้ว่าแท้จริงแล้วหล่อนเป็นคนอย่างไร แสวงหาสิ่งใด และอะไรคือสิ่งที่เบ็ตตี้ต้องการในชีวิต
เบ็ตตี้ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง หล่อนต้องการให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญในทางใดและหนึ่ง และหล่อนต้องการชนะเขาด้วยการใช้นามสกุล ‘บรูค’
ประวัติย่อของผู้เขียนท้ายเล่มตอนหนึ่งระบุว่าเบ็ตตี้เป็นภรรยาของสาธุคุณโทมัส บรูค หล่อนติดตามช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของท่านสาธุคุณในอินเดียและติดตามไปถึงอเมริกา วิลเลียมเคยถามรอยเมืองถึงเรื่องนี้ว่ามีเค้ามูลข้อเท็จจริงอย่างไร เพราะท่านสาธุคุณโทมัส บรูค พี่ชายของเขานั้นเป็นผู้ที่เคร่งครัดเจ้าระเบียบและติดจะขี้รำคาญ พี่โทมัสมิได้รังเกียจสตรีหรือนิยมเสน่หาในเพศเดียวกัน แต่เขามิได้เอาใจใส่เรื่องพวกนี้เลยต่างหาก ฉะนั้น เรื่องที่พี่โทมัสจะรับเอาเบ็ตตี้มาเป็นภรรยาออกหน้าเช่นนี้ดูจะผิดวิสัยอยู่จนแทบจะพูดได้ว่าเป็นไปไม่ได้
“เรื่องนี้ก็ยังคลุมเครืออยู่ครับ พ่อนาย” รอยเมืองบอกบิดา “ข้อมูลเชิงลึกกว่านี้บอกว่าเธอแต่งงานใหม่กับบรรณาธิการนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของอเมริกัน มีลูกด้วยกันสองหรือสามคนผมก็จำได้ไม่แม่น แต่เธอมีข้อแลกเปลี่ยนในการสมรสใหม่ครั้งนี้ว่าขอใช้นามสกุลเดิมของสามี คือ บรูค เพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอยังเทิดทูนสามีที่เป็นสาธุคุณไม่เสื่อมคลาย”
สมาคมที่จัดงานเลือกใช้หอประชุมของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นที่จัดงาน ในวันที่มิสซิสเบ็ตตี้ บรูค ปรากฏตัว หน้าหอประชุมมีคนกลุ่มหนึ่งชูป้ายประท้วงและขับไล่หล่อน แต่ก็ไม่มากและรุนแรงถึงขั้นต้องคุ้มกันแน่นหนา บนเวทีเสวนาในหัวข้อสตรีวิคตอเรียผู้ท่องแดนบูรพาแบ่งเป็นหลายหัวข้อย่อย หัวข้อแรก ๆ เป็นกลุ่มนักวิชาการที่พูดถึงสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นสยามจากมุมมองของชาวตะวันตก มีการคัดค้านโต้แย้งถกเถียงด้วยหลักฐานใหม่ แล้วจบท้ายให้ไปขบคิดกันต่อ จนกระทั่งถึงหัวข้อสุดท้ายจึงเป็นการพูดคุยกับมิสซิสบรูค ดำเนินการเสวนาโดยนักวิชาการวัยห้าสิบกว่าคนหนึ่ง ส่วนรอยเมืองเป็นเพียงผู้สรุปเนื้อหาเป็นระยะเท่านั้น
“ทำไมเราไม่คุยภาษาอังกฤษกันไปเลยล่ะครับ ในเมื่อคนที่เข้าฟังส่วนใหญ่ก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ทั้งนั้น” รอยเมืองเคยเสนอเรื่องนี้ไป มิใช่เขาจะบ่ายเบี่ยงหรือถอนตัวจากการเป็นล่ามหรือผู้สรุปเนื้อหา แต่ผู้ฟังส่วนใหญ่ซึ่งถ้านับจำนวนจริง ๆ แล้วคงมีเพียงกระหยิบมือล้วนแล้วแต่เรียกตนเองว่า ‘ปัญญาชน’ หรือ ‘นักเรียนนอก’ กันทั้งนั้น แต่ผู้จัดงานก็ยังยืนยันให้เขาทำหน้าที่นี้อยู่
“ลูกมารู้เองทีหลังครับ พ่อนาย ว่าบางคนที่จะฟังด้วยนี่นะไม่รู้หรือเข้าใจภาษาอังกฤษสักเท่าไหร่หรอก” รอยเมืองบอกบิดา ครั้นถึงช่วงการสนทนากับมิสซิสเบ็ตตี้ บรูค นายห้างวิลเลียมจึงสังเกตอากัปกิริยาของผู้ฟังในหอประชุมก็ได้เห็นจริงอย่างที่รอยเมืองเล่า นักวิชาการบางคนทำท่าว่ารู้เรื่องฟังออกไปอย่างนั้นเองด้วยการพยักหน้าให้ถูกจังหวะ หัวเราะเมื่อคนส่วนใหญ่ขำ แล้วก็ทำทีซุบซิบถกเถียงในประเด็นที่บนเวทีกำลังพูดกันอยู่
“หน้าที่ของกะเหรี่ยง ขมุ คะฉิ่น และชิน ในปางไม้ต่างกันอย่างไรคะ” สตรีวัยใกล้สามสิบคนหนึ่งยกมือถาม จากน้ำเสียงที่หล่อนใช้ชัดเจนว่าตั้งใจต้อนเบ็ตตี้ให้จนมุม
เบ็ตตี้ บรูคยิ้มให้แก่ผู้ถามและตอบไปว่า
“ชาวพื้นถิ่นในสยามมีมากมาย พวกเขามีวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน บางอย่างก็น่าประทับใจ แต่บางอย่าง…ฉันในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจ ว่าพวกเขาทำแบบนั้นไปทำไม”
รอยยิ้มน้อย ๆ ผุดขึ้นที่มุมปากของผู้ถาม นึกอยู่แล้วว่าแหม่มเบ็ตตี้คงไม่อาจอธิบายได้อย่างกระจ่างแจ้ง แต่ใช้วิธีตอบให้ครอบคลุมไว้ก่อนเพื่อเอาตัวรอด นักวิชาการหญิงคนนั้นจึงยิงกระสุนหนึ่งนัดในคำพูดของหล่อนว่า
“ถ้าอย่างนั้น ดิฉันจะสรุปแบบนี้ได้ไหมคะว่า ที่แหม่มถึงชาวพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ แหม่มไม่ได้รู้จักพวกเขาอย่างถ่องแท้เลย เช่นในตอนหนึ่งที่คุณอธิบายการแต่งกายของคนงานในปางไม้ซึ่งเป็นการแต่งกายของกะเหรี่ยง แต่วิถีปฏิบัติที่พวกเขาทำอยู่นั้นเป็นวิถีขมุ”
“ดิฉันจำไม่ได้ว่าเนื้อหานี้อยู่ตรงบทไหน ฉันขอกลับไปทบทวนดูอีกครั้งหนึ่งก่อน แล้วหากเราได้พบกันอีก ดิฉันจะให้คำตอบที่กระจ่างแก่คุณ” มิสซิสเบ็ตตี้ บรูค ตอบพร้อมรอยยิ้ม พอใจที่เห็นคนบางส่วนมีสีหน้าไม่พอใจที่นักวิชาการหญิงผู้นั้นต้องคำถามอย่างจงใจทำให้ตนเองเสียหน้า ทว่าหล่อนผู้นั้นยังไม่หยุด
“ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอให้แหม่มตอบเพียงคำถามเดียว คนรับใช้ที่ชื่อปะเลเป็นชาวอะไรคะ”
มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเล็กน้อยจากการเชิญตัวสตรีผู้ลุกขึ้นตั้งคำถามออกจากห้องประชุม รอยเมืองชำเลืองมองสตรีสูงวัยที่นั่งกลางเวทีก็เห็นว่าหล่อนมีสีหน้าไม่สู้ดีนักเมื่อถูกจี้ทว่าพยายามเกลื่อนไว้ด้วยรอยยิ้ม ผู้ดำเนินรายการแก้สถานการณ์ด้วยการตั้งประเด็นใหม่
“เราอยากให้คุณเล่าถึงการเป็นครูสอนหนังสือในคุ้มหลวงหน่อยครับ ในบท English Governess น่าสนใจมาก” เขาแสร้งใส่อารมรณ์ขันเล็กน้อยเมื่อหยอกในที่ประชุมว่า “อันนี้ไม่มีในชุดคำถามนะครับ แต่ผมอยากรู้ส่วนตัว”
เสียงหัวเราะดังหึ่ง ๆ ทั่วหอประชุมรับมุกตลกนั้น มิสซิสเบ็ตตี้ บรูค ก็พลอยยิ้มได้มากขึ้น
“เมื่อมาถึงสยามฉันยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงจุดไหนของโลก แม้ว่าฉันจะจดจำภาพแผนที่ได้แต่ก็ไม่อาจระบุให้ชัดเจนลงไปว่ายืนอยู่จุดไหนของประเทศนี้ รอบด้านมีแต่ป่าไม้เต็มไปหมด ที่อินเดีย…ท่านสาธุคุณโทมัสเขียนหนังสือรับรองให้ฉันถือไปมอบแก่มิสเตอร์สจ๊วตเพื่อนของท่านที่สยาม น้องชายของท่านกำลังจะไปทำงานที่นั่น ท่านจึงฝากฝังฉันกับเขาให้เดินทางไปด้วยกันจนถึงเมืองละกอน ฉันจึงได้พบครอบครัวสจ๊วต มิสซิสสจ๊วตดีกับฉันมากและทำให้ฉันอุ่นใจว่ามีสังคมชาวอังกฤษให้ได้พึ่งพาอาศัยกันอยู่บ้างในดินแดนที่ฉันไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน หมอสจ๊วตสนิทสนมกับเจ้าหลวงหลายองค์ในแถบนั้น ในวันหนึ่งฉันจึงได้รับข่าวว่า ท่านเจ้าหลวงให้ฉันเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกหลานของท่านที่เป็นหญิง ฉันขอให้ท่านจัดที่พักใกล้คุ้มหลวงเพื่อสะดวกในการเดินทาง ท่านจึงยกคุ้มหลังหนึ่งให้ฉันอยู่ซึ่งพอฉันรู้ก็ตกใจ เพราะนั่นเป็นคุ้มของปรินเซสนกน้อย ธิดาสุดที่รักของเจ้าหลวง แต่ท่านยืนยันว่านี่เป็นการแสดงเกียรติอย่างสูงแก่ครูของลูก ๆ ท่าน”
“เจ้านางนกน้อยผู้นี้ คือผู้ที่แหม่มเขียนถึงในบท Secret Harem ใช่ไหมครับ”
“ใช่ค่ะ เป็นฮาเร็มที่มีแต่ผู้หญิง แล้วคนในนั้นก็มีสัมพันธ์กันอย่างหญิงกับชาย” เบ็ตตี้ บรูคตอบ
“เราจะไม่ข้ามไปเรื่องฮาเร็มในตอนนี้นะครับ” เขาเลี้ยวกลับ “บรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างไรบ้างครับแหม่ม”
“ก่อนอื่นฉันต้องบอกว่า แม้ฉันจะเป็นครูสอนให้แก่ลูกหลานของเจ้าหลวง แต่ก็มีพวกข้าทาสมานั่งเรียนด้วย พวกนี้สมองทึบ หัวช้า แต่ก็อยากรู้อยากเห็นเป็นที่หนึ่ง พอสงสัยอะไรก็ทะลึ่งพรวดถามขึ้นมา มีอยู่คนหนึ่งเป็นลูกสาวนายพรานช่างไม้ ท่านเจ้าหลวงจ้างมาให้บูรณะวัดประจำตระกูลของท่าน นายช่างเอาลูกสาวติดมาด้วยจากเมืองชายแดน แล้วก็ขอเจ้าหลวงให้ลูกสาวของเขาเรียนกับฉันด้วย”
นายห้างวิลเลียมขยับตัวอยู่ในมุมอับของที่นั่งในห้องประชุม หากรอยเมืองก็ลอบเห็นว่าพ่อนายตั้งใจฟังจุดนี้ แหม่มเบ็ตตี้ บรูคยังพูดต่อไป
“นับว่าเป็นลูกศิษย์ที่ชวนปวดหัวที่สุดจนฉันคิดว่าถ้าฝึกลิงป่าให้เชื่องคงจะง่ายกว่านี้” เสียงหัวเราะหึ่งในห้องประชุมดังขึ้น แต่วิลเลียมไม่ขำไปด้วย “ฉันพยายามอย่างมากที่จะขัดเกลาเด็กคนให้ดีขึ้น แม้รู้ว่าปลายทางคือความสิ้นหวัง แต่ในวันที่ฉันต้องจากสยามไป เด็กหญิงลูกสาวช่างไม้คนนี้กลับเข้ามากอดฉันร้องไห้ ขอร้องไม่ให้ฉันไป ครั้นฉันยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องไป เธอจึงขอหนังสือเล่มหนึ่งไว้เป็นสิ่งแทนใจให้ระลึกถึงฉัน”
“เด็กหญิงคนนั้นชื่ออะไรครับ แหม่มจำได้ไหม”
“ฉันต้องจำชื่อของลูกศิษย์คนนี้ได้อย่างแน่นอน เธอมีชื่อภาษาถิ่นที่ออกเสียงยาก เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง เราจึงเรียกเธอว่าแวนด้า บางครั้งก็เรียกเต็มยศว่า บลูแวนด้า”
“บลูแวนด้าก็คือฟ้ามุ่ยนะครับท่านผู้ฟัง” ผู้ดำเนินรายการอธิบายเอง
แม้อยู่ในเงามืดแต่รอยเมืองก็เห็นว่าสีหน้าพ่อนายไม่พอใจ เกรงว่าพ่อนายจะทะลึ่งพรวดยืนขึ้นมาชี้หน้าแก้ต่างให้แม่นายว่าสิ่งที่แหม่มเบ็ตตี้พูดอยู่นี้เป็นเรื่องโกหก
“หนังสือที่แหม่มให้เธอไปคือหนังสืออะไรครับ”
“กระท่อมน้อยของลุงทอมค่ะ” หล่อนเอ่ยถึงหนังสือเรื่อง Uncle Tom’s Cabin ของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน “ฉันไม่คิดว่าเธอจะอ่านมันหรอกเพราะมันทั้งยาวและหนาและเป็นเรื่องยากที่ศีรษะน้อย ๆ ของเธอจะเข้าใจ แต่ฉันต้องแปลกใจมากเมื่อวันหนึ่งฉันได้รับจดหมายจากเธอ แวนด้าน้อยของฉัน เธอเขียนมาเล่าว่าอ่านจบแล้วและอ่านซ้ำอีกหลายรอบ ฉันทึ่งและหมดความสงสัย เพราะส่วนที่แวนด้าเขียนมาบอกชัดว่าเธออ่านและเข้าใจมันจริง ๆ เธอคงจะอินกับเรื่องนี้มากถึงขนาดที่ลงชื่อท้ายจดหมายว่า แวนด้า บีเชอร์ สโตว์”
เสียงหัวเราะหึ่งดังขึ้นอีกครั้ง ก่อนมือหนึ่งจะชูขึ้นจากที่นั่งในมุมอับ ถามคำถามโดยไม่ยืนขึ้นแสดงตัวว่า
“แหม่มยังเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้ไหมครับ คงมีใครหลายคนอยากเห็น”
เบ็ตตี้ตัวแข็งชาเหมือนฉับพลันเลือดในตัวกลายเป็นน้ำแข็ง บางคนในที่ประชุมเข้าใจว่าหล่อนกำลังถูกต้อนอีกครั้ง ทว่าเบ็ตตี้อึ้งเพราะจำเสียงนั้นได้ ให้เวลาและอายุล่วงเลยไปแค่ไหน เบ็ตตี้ก็จดจำเสียงของวิลเลียม บรูค ได้เสมอ หากหล่อนก็รวบรวมกำลังใจมิให้เสียงสั่นตอบเขาพร้อมกับคนอื่นในห้องประชุมว่า
“นี่เป็นเรื่องที่ฉันเสียดายมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าฉันจะเก็บของพวกนั้นให้ดี ไฟไหม้บ้านของฉันที่อเมริกา ทุกอย่างถูกเผาไหม้จนไม่เหลือสิ่งใดนอกจากชีวิตของฉันกับลูก ๆ เท่านั้น ส่วนสามีของฉัน…เขา…” หล่อนปล่อยประโยคนั้นหายไปในลำคอพร้อมสีหน้าแสดงว่าการเอ่ยเรื่องที่กระทบใจแสนสาหัสนี้ทำได้ยากยิ่ง
ทั้งห้องประชุมเงียบราวจะให้กำลังใจแหม่มเบ็ตตี้จากเรื่องสะเทือนใจนั้น ไม่กี่นาทีต่อมาผู้ดำเนินรายการก็ปิดการเสวนา
รอยเมืองตรงมาหาพ่อนายวิลเลียมทันทีที่เขาปลีกตัวจากคณะผู้จัดงานได้ บอกกับพ่อนายว่าแหม่มเบ็ตตี้พักที่โรงแรมใด และหล่อนเชิญให้พ่อนายไปพบเป็นการส่วนตัว
นายห้างวิลเลียมบอกแก่ลูกชายผู้รอฟังคำตอบ
“บอกเขาว่า พ่อรับคำเชิญ”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๔ ลำนำแห่งชีวิต "ที่สุดขอบฟ้า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๔ ลำนำแห่งชีวิต "รักที่ไม่หวนคืน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๔ ลำนำแห่งชีวิต "เรื่องเจ้าปัญหา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เสียงนกจากพราก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เทมปุระ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "องค์กรวี"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ค่ายเชลย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "ผู้ลี้ภัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "เอเชียบูรพา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๓ รอยบูรพา "๒๔๗๕ นายห้างรุ่นใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ภารกิจ ๓๕๙ วัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "ผ่าจ้าน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๒ ชีวิตบทใหม่ "สงกรานต์เชียงใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "พบและพราก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "นายห้างคนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย " ไม้แปลกป่า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "ต้นตระกูล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๑ แผ่นดินสุดท้าย "คนแปลกหน้า"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "การตัดสินใจครั้งสุดท้าย?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ศักดิ์ศรีของใคร?"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "ทอฟฟีแอปเปิ้ล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑๐ สู่สมรภูมิ "สงครามกับความรัก"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ลูกชายคนโต"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ฝันสลาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ว่าที่เจ้าสาว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "ร้อยเล่ห์เพทุบาย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๙ เจ้าสาววิกตอเรียน "หัวใจร้อนรุ่มดังสุมไฟ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ตัดหัวเสียบประจาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "คนทรยศ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "พะกาเงี้ยว"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ดวงดาวที่ดับสูญ"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "ประทีปอธิษฐาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๘ ตามกระแสชล "วิมานลอย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ลมหายใจสุดท้าย”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร “ผู้มาเยือน”
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ซุ่มซ่อนในดอนดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๗ พิมานพงไพร "ชีวิตในปางไม้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "เสี่ยวช้าง-เสี่ยวคน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ช้างที่หายไป"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "ข่าวด่วน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๖ ผูกเสี่ยวเกลียวสัมพันธ์ "We go native"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เดิมพันที่ข่วงโปโล"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "ฝรั่งต้นคอแดง"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๕ มิตซ่ากุลาเผือก "เลียบละกอน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "Blue Vanda คือ ฟ้ามุ่ย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "ดำเนินไพร-นางในฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๔ เอื้องป่าเวียงละกอน "พบกันวันฝนโปรย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ความลับของเบ็ตตี้"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "สมาคมเถ้าศักดิ์สิทธิ์"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "ตามรอยพ่อและตา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "หญิงสาวจากโอริสสา"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ "โลกใบใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "แรงใจและไฟฝัน"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "บ้านใหม่-เพื่อนใหม่"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ปฐมบทของวิลเลียม บรูค"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๒ : ไฟฝันเมื่อวันเยาว์ "ครอบครัวในอินเดีย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "เวียงวนาลัย"
- READ เวียงวนาลัย บทที่ ๑ : ปัจจุบันของวันวาน "แกรนด์ปา"