นิราศรักสองนครา บทที่ 1 : สองฝั่งน้ำ
โดย : ปรียนันทนา
นิราศรักสองนครา โดย ปรียนันทนา เรื่องราวของโชติ หญิงสาวชาวสยาม กับทางเลือกสองทาง ความรักของชายหญิงกับความรักหวงแหนแผ่นดินเกิด เธอจะเลือกทางใด และหากไม่สามารถเลือกได้ จะมีหนทางใดที่ใจสองดวงจะมาบรรจบพบกัน ณ จุดที่ลงตัวได้หรือไม่ นวนิยายออนไลน์ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านพร้อมกันที่นี่ anowl.co
หญิงสาวผิวสองสีเนียนละเอียด ผมของเธอตัดสั้นไว้ปีกและมีทัดหูตามสมัยนิยม ต่างหูดอกพิกุลช่วยเสริมใบหน้าที่งดงามตามธรรมชาติให้ยิ่งโดดเด่น ดวงตากลมโตมีประกายสุกใสเป็นนิจ เธอนั่งตรงข้ามกับสตรีผิวขาวจมูกโด่งผู้กำลังจดจ่อกับงานเย็บปักตรงหน้า ลักษณะท่าทางรวมทั้งการแต่งกายของทั้งสองต่างกันเพราะฝ่ายแรกสวมเสื้อแขนยาวสีงาช้างห่มทับด้วยสไบสีชาด ท่อนล่างนุ่งโจงลวดลายงดงามตามแบบฉบับลูกสาวบ้านขุนนาง กำไลข้อเท้าบ่งบอกว่าหญิงสาวยังมิได้ออกเรือน ส่วนอีกฝ่ายผู้มีอาวุโสกว่าเป็นสตรีชาวอเมริกันหน้าตาใจดี แต่งกายเช่นชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในสยามแม้อากาศมิได้เย็นเท่าบ้านเกิดหากพวกเธอยังคงเคยชินกับการแต่งกายเช่นนั้น ผิวขาวและผมสีน้ำตาลอ่อนเช่นเดียวกับดวงตาที่ทอประกายเมตตาอยู่เสมอยามสนทนากับทุกคน
“สวยไหมจ๊ะ” เธอเงยหน้าสบตากับหญิงสาวแล้วถามเป็นภาษาอังกฤษ หญิงสาวผู้มีใบหน้าหวานคมประหนึ่งภาพเขียนรายนี้คือแม่โชติ หลานสาวคุณหญิงของท่านพระยาผู้เคยทำหน้าที่อุปทูตเมื่อคราวที่คิงมงกุฎส่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อสองปีก่อน บุตรชายของท่านได้เคยมาเรียนภาษาอังกฤษกับเพื่อนสามีซึ่งเป็นมิชชันนารีด้วยกันทำให้หญิงสาวผู้มีศักดิ์เป็นพี่สาวรายนี้สนใจอยากมาเรียนกับเธอซึ่งเปิดสอนเด็กหญิงชาวสยามด้วย แม่โชติเป็นหญิงสาวที่มีความกระตือรือร้นสนใจในสิ่งใหม่ๆ แม้งานเย็บปักอาจไม่คล่องแคล่วแต่หญิงสาวก็ทำได้ไม่อายใคร ส่วนเรื่องที่โดดเด่นกลับเป็นการสนทนาภาษาอังกฤษซึ่งหญิงสาวพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น เหตุนี้ย่อมเรียกได้ว่าเจ้าหล่อนเป็นศิษย์รักของครูมากทีเดียว
“สวยค่ะ ครูคะ ฉันขอถามสักหน่อยเถิด” หญิงสาววางมือจากงานถักริมผ้าเช็ดหน้าแล้วจ้องหน้ามิสซิสเฮาส์อย่างจริงจัง
“ครูได้ข่าวเรื่องกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ที่จะมาหรือไม่คะ” แววตากระตือรือร้นเปลี่ยนเป็นความจริงจัง
“ได้ยินสิ ว่าแต่เธอเกี่ยวข้องทางใดกับเรื่องนี้จึงต้องมาซักไซ้ฉันผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่เป็นเพียงครูสอนภาษาของเธอเท่านั้น”
“หาจริงดังนั้นไม่ค่ะ เพราะครูต้องรู้มากกว่าใครด้วยเรื่องนี้คงแพร่สะพัดไปในกลุ่มคนทั้งอังกฤษ แลอเมริกันที่อยู่ในสยาม ใช่หรือไม่คะ” อาการยิ้มแต่ไม่เอื้อนเอ่ยคำใดทำให้หญิงสาวยิ่งแน่ใจว่าอีกฝ่ายต้องรู้ข่าวนี้มาเช่นกันจึงรีบกล่าวต่อโดยไม่รอคำตอบ “ยิ่งหมอบลัดเลย์ท่านคงรู้เรื่องลึกๆ ที่เรามิรู้ใช่หรือไม่คะครู” หญิงสาวเอ่ยชื่อมิชชันนารีชาวอเมริกันอย่างชัดเจนต่างกับชาวสยามโดยทั่วไปที่มักเรียกท่านว่าหมอปลัดเล
“เธอช่างหาเหตุผลมากล่าวจนครูมิอาจปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้สินะแม่โชติ ขอถามสักนิดเถิดว่าในครอบครัวของเธอเคยมีผู้ใดกล่าวหรือไม่ว่าเธอนั้นผิดจากหญิงสยามยิ่งนัก”
“บ่อยครั้งไปค่ะ แต่ฉันว่ามิแปลกดอก เพราะคนที่พูดนั้นออกจะแปลกมิแพ้กัน” เมื่อเห็นอีกฝ่ายทำหน้าฉงนหญิงสาวจึงอธิบายต่ออย่างรวดเร็ว “ก็คุณป้าอย่างไรเล่าคะครู ท่านออกจะนำสมัยกว่าใครในเมืองเรา เพราะท่านให้พ่อชายเดินทางไปเมืองฝรั่งเศสเมื่อคราวนั้นทั้งที่คุณป้ารองแลพ่อของฉันนั้นห้ามปรามด้วยกลัวว่าหลานชายคนโปรดจะลำบาก โธ่เอ๋ย จะไปลำบากได้อย่างไร” โชติมองหน้าผู้เป็นครูแล้วพูดจาโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับเจ้าตัว “พ่อชายไปกับคุณลุง เท่ากับพ่อชายได้ไปรู้เห็นโลกกว้าง หากฉันมีโอกาสยังอยากไปบ้าง เหมือนกับที่พี่เอสเตอร์ภรรยาคุณแนเคยเดินทางไปอเมริกากับมิสแมททูนอย่างไรเล่าคะ”
โชติเอ่ยถึงนางเอสเตอร์ผู้เป็นบุตรบุญธรรมของหมอแมททูนและภรรยา เธอมีชื่อไทยว่ารอด เป็นบุตรีของพราหมณ์จากลังกากับมารดาผู้เป็นชาวไทยมีอาชีพทำสวน เมื่อบิดามารดาแยกทางกันได้พาเด็กหญิงรอดไปฝากไว้กับหมอแมททูนและภรรยา ทั้งสองจึงรับเลี้ยงและเปลี่ยนชื่อเป็นเอสเตอร์ กระนั้นคนทั่วไปกลับเรียกว่าเต๋อ แต่โชติออกเสียงเรียกชื่อใหม่ได้ชัดเจนตามที่พ่อแม่บุญธรรมชาวอเมริกาของเอสเตอร์ตั้งให้ เมื่อเอสเตอร์มีอายุได้ 14 ปี ภรรยาหมอได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่อเมริกาจึงพาเอสเตอร์ไปด้วย ตอนนี้พี่เอสเตอร์ได้แต่งงานกับคุณแนผู้เป็นลูกศิษย์ของหมอเฮาส์สามีของครูของหญิงสาวนั่นเอง
การเดินทางไปยังแดนไกลของพี่เอสเตอร์ทำให้โชติรู้สึกมีความหวังแม้รู้ว่าเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยหญิงสยามมิเหมือนชาวต่างชาติผู้สามารถเดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลได้อย่างเสรีและที่สำคัญความสามารถนี้มิได้จำกัดว่าเป็นเพศใดเพราะมีในตัวชายหญิงอย่างเท่าเทียม
“เอาละ ครูยอมรับว่าพอรู้เรื่องกงสุลฝรั่งเศสมาบ้าง แต่ก็รู้เพียงว่าจะมาเรื่องเจรจาเรื่องเมืองเขมร ท่านกงสุลคนนี้เชี่ยวชาญการดูแลดินแดนแถบนี้นักด้วยเพราะอยู่ที่ไซ่ง่อนมาหลายปีแล้ว”
“เรื่องเมืองเขมรที่ฝรั่งเศสอยากได้ไปปกครองใช่หรือไม่คะ”
“ใช่จ้ะ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องใหญ่พอควรสำหรับคิงของเธอนะแม่โชติ แต่ครูเชื่อว่าพระองค์จะทรงทำได้ดีเพราะทรงมีพระปรีชาที่สำคัญทรงมีที่ปรึกษาราชการที่เก่งหลายท่าน อีกทั้งยังมีคิงองค์ที่สองซึ่งทรงพระปรีชามากเช่นกัน ครูเชื่อว่าทั้งสองพระองค์คงหาทางออกอย่างงดงามให้สยามได้เป็นแน่”
มิสซิสเฮาส์ยิ้มให้ลูกศิษย์คนโปรดอย่างเอ็นดู หญิงสาวยิ้มตอบแล้วมองเลยไปตรงประยงค์ต้นใหญ่ที่ส่งกลิ่นหอมในสวนบ้านมิสซิสเฮาส์ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดแจ้ง เดิมทีสวนหลังบ้านนี้คงเคยรกร้างแต่เมื่อหมอเฮาส์และภรรยาย้ายมาอยู่ได้ทำการปรับปรุงดูแลให้งดงามร่มรื่น จึงเป็นสถานที่เรียนเย็บปักในวันที่มีผู้มาเรียนไม่มากเช่นวันนี้
หญิงสาวเป็นลูกศิษย์ไม่กี่คนที่มาจากครอบครัวขุนนางเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเด็กสาวและเด็กเล็กที่มีบ้านอยู่ละแวกนี้ หลายคนมาจากครอบครัวชาวสวนจึงทำให้บิดามารดาไม่อยากส่งบุตรสาวมาเรียนเขียนอ่านและงานเย็บปักสักเท่าใด มิสซิสเฮาส์ถึงกับต้องจ่ายเงินให้กับพวกเขาเหล่านั้นเพื่อเป็นแรงจูงใจในการมาเรียนเพราะสตรีชาวอเมริกันรายนี้เห็นความสำคัญของการให้การศึกษาแก่เด็กผู้หญิงไม่แพ้เด็กผู้ชาย ส่วนโชติมีความคิดไม่ต่างจากครูของเธอว่าผู้หญิงควรได้รับโอกาสให้ทำทุกเรื่องไม่แพ้ผู้ชาย แม้เธอจะความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอย่างไรเสียผู้ชายย่อมเป็นผู้นำเสมอ
ชายหนุ่มผมสีน้ำตาลเข้มประกายสีทองยามสะท้อนแสงแดดยกมือขวาขึ้นบังแดดยามแหงนหน้ามองอาคารสองชั้นริมน้ำตรงหน้า เขาเดินตามทางเดินซึ่งสองข้างทางมีไม้พุ่มสูงท่วมศีรษะตลอดแนว เบื้องหน้าคือบันไดขึ้นชั้นสองที่บัดนี้ผู้ที่นำเขามากำลังก้าวขึ้นไปด้วยท่วงท่าสง่าผ่าเผย ชายหญิงผู้ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานในสวนที่เขาเดินผ่านมาก้มหน้าไม่สบตาผู้ได้ชื่อว่าเป็นนายคนใหม่ มีเพียงคนบนตึกที่เขาคิดว่าคงเป็นคนญวนในสยามมาต้อนรับคณะผู้มาใหม่โดยมีเขาเป็นเพียงผู้ติดตามมาเพราะอยากมาดูว่าดินแดนนี้จะเหมือนหรือต่างจากอินโดจีนสักเพียงใด
กงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ที่มาประจำเมืองบางกอกแห่งนี้เคยคุ้นกับเขามาไม่น้อยเพราะรู้จักกับบิดาทำให้มิเชลอยู่อย่างสบายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อได้ยินว่าเขาต้องมาบางกอกเพื่อรับตำแหน่งและมีหน้าที่เจรจาเรื่องดินแดนเขมรมิเชลจึงถือโอกาสขอติดตามมาด้วย เขาใช้เวลาหลายเดือนก่อนหน้านี้เพื่อเก็บข้อมูลไปเขียนหนังสือ การที่ฝรั่งเศสเปิดประตูสู่ตะวันออกเพื่อผลประโยชน์ด้านต่างๆ ทำให้ทั้งหนังสือพิมพ์เขียนข่าวเรื่องดินแดนแถบนี้มาพอสมควร มิเชลเป็นคนชื่นชอบการเดินทางเพื่อแสวงหาข้อมูลมาเขียนหนังสือเขาจึงตัดสินใจมาเรียนรู้โลกกว้างแห่งนี้และโชคดีเหลือเกินที่เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของการรับตำแหน่งทำให้เขาถือโอกาสติดตามท่านโอบาเรต์มาบางกอกได้โดยสะดวก
“หลานอยู่ที่นี่ไปก่อนก็ได้ มิเชล”
“ขอบคุณท่านกงสุลมาก หากกระผมหาบ้านได้เมื่อใดจักขอออกไปเช่าอยู่เองนะขอรับ”
เขาเอ่ยเรียกตำแหน่งใหม่ของอีกฝ่ายอย่างให้เกียรติ แม้ทั้งคู่สนิทสนมรักใคร่นับถือกันมานาน แต่เมื่อฝ่ายอาวุโสกว่าได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่กงสุลจากเดิมที่เคยเป็นผู้ตรวจการกิจการพื้นเมืองที่ไซ่ง่อน มิเชลจึงเรียกขานเขาในตำแหน่งใหม่
“เรียกอาเช่นเดิมเถิดหลาน” ผู้อาวุโสกว่าเอ่ยอย่างเป็นกันเองพลางเอื้อมมือไปแตะบ่าอีกฝ่ายเบาๆ “ความจริงหากเจ้าจะอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีปัญหาเพราะถึงอย่างไรข้าอาจต้องขอให้ช่วยงานบ้าง แลข้ากับบิดาเจ้าก็นับถือกันมายาวนาน” เขาเอ่ยถึงบิดาของมิเชลผู้ที่ทำงานให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสมาตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นจักรวรรดิ บุรุษผู้นั้นอาวุโสกว่าเขาเกือบสิบปีดังนั้นมิเชลจึงเปรียบเสมือนหลานชายของเขา
“กระผมเกรงว่าจะมิสะดวกเมื่อคุณอาต้องปรึกษากิจการงานต่างๆ อีกไม่นานคงต้องมีผู้คนแวะเวียนมามิขาดสาย เรื่องงานหนังสือที่ไหว้วานนั้นมิต้องกังวล กระผมเต็มใจช่วยเหลือขอรับ”
“อย่างนั้นก็ตามแต่ใจเจ้าเถิด งานของนักเขียนเป็นเรื่องการใช้สมาธิในการทำงานมาก อาเข้าใจเพราะตอนนี้ก็กำลังรวบรวมคำศัพท์สำหรับพิมพ์เป็นพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสและอันนัม” บุรุษผู้มีลักษณะท่าทางองอาจเอ่ยเสียงดังฟังชัดถึงงานทางด้านภาษาที่เป็นพรสวรรค์ของเขาอีกหนึ่งอย่างเพราะไม่ว่าไปที่ใดในเอเชียเขาก็เรียนรู้ภาษาได้รวดเร็วทั้งภาษาจีนรวมถึงภาษาเวียดนาม
“ว่าแต่เรื่องงานของคุณอาที่ได้รับมอบให้มาเจรจานั้นท่านต้องเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามใช่หรือไม่ขอรับ” ฝ่ายแรกทุดตัวลงนั่งตรงเก้าอี้ริมหน้าต่างเพื่อรับลม
“เป็นเช่นนั้นแน่ แต่วันนี้คงต้องมีหนังสือไปหารือกับเจ้าคุณกลาโหมเสียก่อน” ดวงตาสีเข้มเป็นประกายลึกล้ำทอดมองไปเบื้องหน้าอย่างคนใช้ความคิดก่อนจะเอ่ยออกมา “ท่านกงสุลกัสเตลโนได้แจ้งว่าท่านเจ้าคุณผู้นี้มีอำนาจบารมีในสยามมากนัก” เขาเอ่ยถึงข้อมูลที่ได้รับจากกงสุลคนก่อน
อีกฝ่ายรับฟังเงียบๆ ไม่ออกความเห็นเพราะเรื่องที่ท่านโอบาเรต์เอ่ยมิได้เกี่ยวข้องทางใดกับตัวเขา แม้เขาเป็นผู้ชอบคบหาสมาคมกับคนมากมายแต่เขาก็ไม่ชอบขัดคอใคร บางเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมืองของเขามิเชลก็เห็นด้วย แต่เรื่องอื่นที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตนของใครนั้นเขาคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่เขาต้องสนใจ
“กระผมอยากออกสำรวจบ้านเมืองสักหน่อย คงจักเริ่มในวันพรุ่ง คุณอาคิดว่าอย่างไรบ้างขอรับ” ผู้มีวัยอ่อนกว่าเอ่ยเชิงหารือ
“ไม่มีปัญหา อาจะบอกให้ผู้ดูแลช่วยพาไป ว่าแต่เจ้าอยากไปทางเรือหรือทางบก”
“ได้ยินมาว่าถนนเพิ่งสร้างเสร็จใช่หรือไม่ขอรับ”
“ใช่”
“เช่นนั้นกระผมใคร่นั่งรถม้าชมเมือง ช่วยให้พวกเขาพาไปย่านชุมชนหน่อยเถิดขอรับ นำไปแล้วปล่อยไว้จนเพลาเย็นจึงไปรับกลับก็ได้”
“ควรมีบ่าวติดตามสักคนเพราะเจ้ายังพูดจาภาษาถิ่นไม่ได้”
“แต่กระผมสนทนาภาษาอังกฤษแลเวียดนามได้บ้าง ทั้งยังมีคนญวณที่พูดภาษาฝรั่งเศสอยู่ที่นี่ด้วยมิใช่หรือ”
“ใช่ แต่คนสยามใช้ภาษาไทย เป็นภาษาตระกูลเดียวกับชาวลาวที่เจ้ายังมิเคยเรียนนะมิเชล”
“หากเป็นเช่นนั้นกระผมก็ควรจะเรียนภาษาไทยด้วย ใช่หรือไม่คุณอา”
มิเชลแสดงท่าทางตื่นเต้นและกระตือรือร้นจนอีกฝ่ายอดยิ้มออกมาอย่างเอ็นดูไม่ได้ มิเชลเหมือนเด็กผู้ชายที่มักสนใจกับของเล่นใหม่ๆ อยู่เสมอ เขารักอิสระ อ่อนโยนและเป็นมิตรกับทุกคนจนบางครั้งอีกฝ่ายรู้สึกว่าชีวิตของชายหนุ่มดูเหมือนจะไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจที่ต้องใช้ความคิดเอาเสียเลย ต่างจากเขา หลุยส์ กาเบรียล โอบาเรต์ ผู้ซึ่งเร่ิมต้นทำงานในกองทัพเรือฝรั่งเศสจากนั้นได้ร่วมสงครามไครเมีย และได้เคยร่วมสำรวจแม่น้ำไนล์ ทั้งยังเข้าไปประจำการที่จีน กระทั่งมาอยู่ไซ่ง่อนก่อนมาทำหน้าที่สำคัญคือการเจรจากับสยามเรื่องดินแดนเขมรที่ฝรั่งเศสต้องการให้เป็นดินแดนในอารักขา แม้บางครั้งเขาอยากทำตัวคล้ายอีกฝ่ายแต่ด้วยภาระหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศทำให้เขากลายเป็นคนใช้ความคิดเป็นนิจเสียแล้ว
“หลานมิต้องห่วงว่าจักไม่เข้าใจภาษาสยามดอกมิเชล หลานเป็นคนหัวไวอาเชื่อว่าอีกไม่นานย่อมสนทนาได้แน่ หรือหากอยากเข้าใจได้รวดเร็วก็ควรหาหญิงสยามมาข้างกายสักคน คงไม่ยากเกินไปสำหรับเจ้าเป็นแน่มิเชล” เขาเอ่ยสัพยอกตามประสาผู้ชาย
“อย่างนั้นอาจยิ่งไม่เข้าใจกันน่ะสิขอรับ หญิงตะวันออกมิใคร่เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ขลุกอยู่แต่ในบ้าน เลี้ยงลูก กระผมมิค่อยเคยเห็นนางทำอย่างอื่น” เขาพูดจากประสบการณ์ในเวียดนามที่เพิ่งจากมา
“นั่นสินะ หญิงชายแถบนี้หากมิใช่พวกขุนนางแล้วส่วนใหญ่มักไม่ใคร่สุงสิงกับพวกเรา”
“แต่มิเป็นไรขอรับคุณอา กระผมคิดว่าอาจไปเรียนภาษากับบาทหลวงแถววัดคอนเซ็ปชั่น แลจะไปเคารพสุสานท่านปาลเลอกัวซ์ที่นั่นด้วย ได้ยินมาว่าแถวนั้นมีชาวเขมรอยู่รวมกันเป็นชุมชนขอรับ”
“ใช่แล้ว ไม่ไกลก็มีวัดเซ็นฟรังซิสซเเวียร์ที่มีชาวญวนอพยพมาก่อนเก่า คนพวกนี้มาอยู่สยามนานตั้งแต่แผ่นดินก่อน แลพระเจ้ากรุงสยามองค์ก่อนท่านให้อิสระตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นชุมชน”
“เช่นนั้นพรุ่งนี้กระผมใคร่ไปชุมชนแถบนั้นหลังจากชมนั่งรถม้าชมเมืองขอรับ”
“ได้สิ อาจะให้คนจัดเตรียมรถม้า แลได้ยินว่าใกล้กันนั้นก็มีชุมชนมอญที่นับถือพุทธด้วย เจ้าคงเดินสำรวจแถวทุ่งสามเสนอย่างเพลิดเพลินไม่น้อยเชียวแหละมิเชล”
ประกายสุกใสในดวงตาสะท้อนออกมาชัดเจน มิเชลนึกถึงวันรุ่งพรุ่งนี้ด้วยหัวใจโลดแล่น วิญญาณนักสำรวจในจิตใจลุกโชนราวกับว่า ณ บัดนี้ร่างกายของเขาเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแล้ว
เขาแทบอดใจรอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ไหว บางกอกเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาต่างจากเมืองที่เขาเคยพบเจอมา ชีวิตของชาวบ้านริมน้ำที่เขาเห็นดูเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์น่าค้นหา ผืนน้ำเบื้องหน้าระยิบเป็นประกายยามสะท้อนแสงแดดช่างงดงามน่าหลงใหลแม้จะเจิดจ้าจนบางครั้งต้องหลับตา แต่ทุกครั้งที่ลืมตามาอีกครั้งก็ยังงดงาม สายลมพัดแผ่วพาให้ม่านบังตาสีขาวขยับไหวเพียงเล็กน้อยพอให้คลายร้อน เขาเริ่มชินกับสภาพอากาศในดินแดนแถบนี้จนรู้สึกว่าเป็นความอบอุ่นมากกว่าความร้อนเช่นช่วงแรกที่ได้มาเยือน
และเขามั่นใจว่าดินแดนสยามแห่งนี้จะมีเรื่องราวให้เขาพบเจออีกมากมาย ซึ่งเขาตั้งตารอเรียนรู้อยู่ทุกขณะจิต
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 33 : โมงยามแห่งความทรงจำ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 32 : ความในใจของบุรุษทั้งสอง
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 31 : หลานสาวภริยาท่านทูต
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 30 : หญิงสาวสองคนในเมืองใหญ่
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 29 : ต่างบ้านต่างเมือง
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 28 : ก่อนถึงจุดหมาย
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 27 : ห่างกันไปไกล
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 26 : เพียงชั่วเวลาพลิกฝ่ามือ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 25 : ในความคิดคำนึง
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 24 : จังหวะของหัวใจ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 23 : การเดินทางสู่โลกกว้าง
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 22 : เรื่องประหวั่นใจ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 21 : อุปสรรคและทางออก
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 20 : โรงเรียนเด็กหญิงในสยาม
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 19 : ฤาดวงใจที่ไหวหวั่นอาจลับหาย
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 18 : ความไม่ลงตัวในจิตใจ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 17 : หวั่นใจ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 16 : มิอาจทำใจยอมรับ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 15 : สยามกับคนในร่มธงฝรั่งเศสและความสัมพันธ์ที่เริ่มเปลี่ยนไป
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 14 : เรื่องที่ไม่อาจเอ่ย
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 13 : เรื่องดีและร้ายภายในหนึ่งวัน
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 12 : สัญญาณที่ดี
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 11 : อิสระทั้งกายใจ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 10 : โอกาสของเด็กหญิง
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 9 : ท่าทีเริ่มดีขึ้น
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 8 : ความเป็นไปของชีวิต
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 7 : ผู้ก่อเหตุ
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 6 : พบกันอีกครา
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 5 : ความกังวล
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 4 : บทสนทนา
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 3 : บ้านลานย่านบางขุนพรหม
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 2 : ทุ่งสามเสน
- READ นิราศรักสองนครา บทที่ 1 : สองฝั่งน้ำ
- READ นิราศรักสองนครา : บทนำ