
พาววาว..เหลือเพียงรูปเงาบรรพชนอินเดียนแดง
โดย : เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้
“อเมริกันคัน” เรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในบางแง่มุมในอเมริกาที่หลายคนไม่เคยรู้หรือเคยรับรู้มาบ้าง แต่อาจมองไม่เห็นภาพรวมชัดเจน เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ เจ้าของคอลัมน์ที่เขียนลงในต่วยตูนมาถึง 10 ปี นำมาเขียนเล่าสู่กันฟังแบบสนุกๆ เหมือนการเล่าให้เพื่อนฟัง โดยคงบุคลิก “ต่วยตูน” ดั้งเดิมเอาไว้คือสาระและบันเทิง
โศกนาฏกรรมอินเดียนแดงเริ่มต้นจากรอยเท้าแรกของคนแปลกหน้า ชาวยุโรปหลั่งไหลเข้าสู่แผ่นดินใหม่อย่างไม่ขาดสาย พร้อมนำหายนะคือโรคระบาดร้ายแรงเข้ามาด้วย
ชาวยุโรปปล้นแผ่นดินของชนเผ่าดั้งเดิมมาเป็นของตนเอง จนแทบไม่เหลือที่อยู่ที่ยืนให้เจ้าของแผ่นดินที่แท้จริง ทั้งสองฝ่ายรบกันไปมา สุดท้ายฝรั่งดั้งโด่งก็มีชัย ครอบครองแผ่นดินใหม่นาม ‘อเมริกา’ เต็มพื้นที่ ส่วนเจ้าของบ้านดั้งเดิมถูกขีดวงให้อาศัยอยู่แต่ในเขตสงวนเสื่อมโทรม ลูกหลานอินเดียนต่างสูญเสียรากเหง้า ด้วยยาพิษของคนขาวที่แทรกซึมสู่เผ่าจากรุ่นสู่รุ่น นั่นคือการละเว้นภาษีสุราและยินยอมให้เปิดบ่อนการพนันได้เสรีโดยไม่เก็บภาษีในเขตสงวน ส่งผลให้ลูกหลานอินเดียนแดงกลายเป็นคนอ่อนแอ ติดการพนัน และเป็นพิษสุราเรื้อรัง นี่คือนิทานบทเศร้าที่เล่าขานต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
แดดฤดูร้อนเต้นระยิบบนผิวถนน ทำให้ภาพเบื้องหน้าไหวระริกจนต้องหยีตา เห็นกระโจมสีขาวหลายหลังตั้งกระจายอยู่ในป่า อันเป็นสถานที่จัดงานเต้นพาววาวของอินเดียนในบ่ายวันนี้ ทั้งฝรั่งและอินเดียนแดงบ้างไม่แดงบ้างกระจายทั่วลานกลางแจ้ง ในกระโจมศูนย์กลางวางเครื่องเสียง อินเดียนหนุ่มๆ นั่งล้อมวงตีกลองอย่างเมามัน ภายในลานจัดแสดงมีกระโจมอินเดียนแดงหรือ Teepee หลายหลังเพื่อจำลองชีวิตความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของอินเดียน
เสียงกลองตึงๆ เป็นจังหวะจะโคน เรียกผู้ชมให้ล้อมวงเข้ามาชม ฝรั่งมุงเริ่มเดินล้อมวงรอบนอกที่กั้นเชือกเอาไว้ การเต้นพาววาวส่วนใหญ่จะจัดขึ้นช่วงฤดูร้อนของอเมริกา อินเดียนที่มาเต้นพาววาวในวันนี้มาจากหลายเผ่าละแวกทะเลสาบมิชิแกน ตัวทะเลสาบกินเนื้อที่อาณาเขตหลายรัฐ คือวิสคอนซิน อิลลินอยส์ อินดีแอนา และมิชิแกน การแต่งกายของแต่ละเผ่าจึงหลากหลายออกไป เด็กผู้หญิงที่ใส่หมวกคล้ายๆ กระบังสามเหลี่ยมตรงหน้าผากมียศเทียบเท่าเจ้าหญิงของเผ่า
ขบวนแรกที่ออกมาเต้นคืออินเดียนแดงวัยชราหน้าฝรั่งพุงพลุ้ยสี่คน อีกคนยังหนุ่มหน่อยอายุประมาณสามสิบกว่าๆ แต่งชุดอินเดียนออกมายืนถือธงประจำเผ่าและธงชาติอเมริกัน แลดูย้อนแย้งชอบกล มีลุงคนหนึ่งใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ออกมาถือธงอินเดียนแดงเผ่าตนนำขบวน คาดว่าส่งชุดอินเดียนไปซักแล้วอาจจะยังไม่แห้ง เลยตัดสินใจมาแสดงสปิริตแบบไร้สังกัด เล่นเอาคนดูสับสนมากกว่าตกลงหมอนี่เป็นอินเดียนแดงแบบพาร์ตไทม์รึเปล่า
อินเดียนชราออกมากล่าวปฏิญาณตนเป็นภาษาอังกฤษฉาดฉาน ว่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายของคนขาวตลอดไป ซ้ำยังแสดงความปรีดาเสียด้วยที่อเมริกาให้โอกาสอินเดียนแดง เอ๊ะ ฟังดูแล้วก็ทะแม่งๆ นะ ความฮึกเหิมอหังการ์ของท่านปู่เครซี่ฮอสกับท่านทวดซิตติ้งบูลล์หายไปไหนหมด แต่เอาเถอะมาถึงป่านนี้แล้วความเข้มข้นของบรรพบุรุษอินเดียนที่จ้องถลกหนังหัวคนขาวคงเหลือน้อยเต็มที
เมื่อจบคำกล่าวสรรเสริญประเทศคนขาวอันยาวยืด ฝูงอินเดียนหนุ่มๆ ในเต็นท์ก็รัวกลองโหมรับกันอึงคะนึงตูมตึงลั่นปึงเข้าไปถึงตับ จากนั้นก็มีอินเดียนออกมาเต้นเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคนขาวและไม่ขาวยืนดูกันหน้าสลอน
อินเดียนแดงนิยมเต้นพาววาวต่อเนื่องตลอดทั้งวัน อาจจะยืดเวลาออกไปถึงสี่วัน คำเรียกการเต้นรำของอินเดียนแดงว่า “พาววาว” มาจากคำอินเดียนคือ “พาอู-วาอู”
คนขาวเห็นการเต้นประกอบการบำบัดรักษาโรค หรือเต้นประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียนแดง จึงเรียกการเต้นนี้ว่า “พาววาว” เมื่ออินเดียนแดงถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนของคนขาว ก็รับเอาคำว่า “พาววาว” กลับมาใช้เรียกการเต้นรำแบบนี้ของตน เหมือนการทับศัพท์ไปในตัว ทั้งที่มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาอินเดียนแดงนั่นเอง
ประมาณปี 1800 คนขายยาเร่ประมาณ “ขวดเดียวรักษาทุกโรค” ออกเร่ขายยาไปทั่วอเมริกา จ้างอินเดียนแดงมาเต้นประกอบการขาย ขณะบรรยายสรรพคุณตัวยาเพื่อสร้างความบันเทิงแก่ลูกค้า เลยยิ่งทำให้การเต้นพาววาวเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แต่ดูๆ แล้วก็น่าสงสาร เพราะจากพิธีกรรมการเต้นอันศักดิ์สิทธิ์ถูกลดทอนความขลัง เหลือแค่การเต้นประกอบการเร่ขายยา เพื่อความบันเทิงเริงใจของคนขาวเท่านั้นเอง
ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มเต้นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยไหน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากอินเดียนแดงเผ่าพอว์นี จากนั้นเผ่าอื่นๆ รับพิธีกรรมนี้มาเป็นของเผ่าตนด้วยเช่นกัน ในสมัยโบราณอินเดียนแดงจะเต้นรำในสี่วาระใหญ่ๆ คือ เพื่อบวงสรวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขอบคุณที่พืชผลสมบูรณ์ เพื่อต้อนรับนักรบผู้กล้าคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อสานสัมพันธ์เป็นพันธมิตรระหว่างเผ่า และเพื่อให้นักรบแสดงความกล้าหาญ
ความเชื่อตามขนบอินเดียนแดงหลอมรวมอยู่ในการเต้นรำด้วย แสดงมิติทั้งทางอาหาร การตีกลอง ดนตรี การร้องเพลง การสวดมนต์ และรักษาโรค การผสมผสานองค์ความรู้จากรุ่นรู้รุ่น สืบทอดรากเหง้าผ่านพิธีกรรมจึงทำให้พาววาวยังเป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน แต่ฉันคิดว่าเวลานี้ปัจจัยเงินนี่แหละที่มีส่วนผลักดันให้พาววาวยังคงอยู่ และกลายสภาพเป็นปาหี่โชว์ไปในที่สุด
ในสมัยโบราณ ผู้หญิงจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการเต้นพาววาวอย่างเด็ดขาด จึงได้แต่ยืนบ่นพึมพำกระเตงลูกเช็ดขี้มูกหลานอยู่วงนอก ขณะที่อินเดียนแดงทั้งหนุ่มทั้งแก่เต้นกันจนเหงื่อตกกีบอยู่ในวง แต่ตอนนี้ผู้หญิงได้รับการยอมรับให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเต้นพาววาวแล้ว ไม่ต้องยืนค้อนกระฟัดกระเฟียดกระเดียดกระจาดอยู่ลำพัง
ทุกวันนี้แทบไม่เหลืออินเดียนแดงหุ่นเพรียวสะโอดสะองบนหลังม้าอีกต่อไปแล้ว เหลือไว้แต่อินเดียนแดงร่างอวบระยะสุดท้ายไปถึงอ้วนฉุเพราะฤทธิ์เบียร์ หากซื้อของมึนเมาและยาสูบในเขตสงวนจะได้รับการยกเว้นภาษี ลูกหลานเผ่าพันธุ์นักรบบนหลังม้าจึงพากันสูบเสพสิ่งเหล่านี้อย่างลืมตัวลืมตาย ทุกข์หนักเข้าก็หันหน้าหากาสิโน เพราะทางการสหรัฐอนุญาตให้อินดียนแดงเปิดบ่อนเสรีได้ในดินแดนของตนเอง
อินเดียนแดงทุกวันนี้แทบไม่เหลือสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวในความเป็นนักรบผู้กล้าหาญ ทุกอย่างในอดีตเหลือไว้เพียงความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งปู่ของปู่ของปู่เคยลุกขึ้นต่อต้านคนขาวผู้รุกราน
ฉันนั่งมองกระโจมอินเดียนแดง ที่มองเห็นเลือนลางท่ามกลางแสงสุดท้ายของอาทิตย์อัสดง อดนึกถึงสุนทรพจน์ของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงในอดีตไม่ได้
“เมื่อคนผิวแดงคนสุดท้ายจากโลกนี้ไป ความทรงจำของเขาคือเงาของก้อนเมฆที่ลอยผ่านทุ่งหญ้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแผ่นดินของเขา แต่วิญญานของชาวอินเดียนแดงจะยังคงสถิตย์อยู่กับป่าเขาและท้องทะเลนี้”
จริงหรือ… ที่จิตวิญญาณของเหล่าลูกหลานอินเดียนแดงจะยังสถิตย์อยู่คู่แผ่นดินบรรพบุรุษ ท่ามกลางความหม่นมัวของรัตติกาลที่ย่างกรายเข้ามา ฉันได้ยินแต่เสียงของความเงียบ สะท้อนกลับมาในสายลมเดือนกรกฎาคม
- READ ฮอทดอกของฉัน..วันชาติของเธอ
- READ พาววาว..เหลือเพียงรูปเงาบรรพชนอินเดียนแดง
- READ คุณนายไปจ่ายตลาดแต่ไม่มีกระจาดปิดตูด
- READ สั่งอาหารยังไงให้ฝรั่งงง
- READ เมื่อตะวันตกพบตะวันออก..สนุกอย่าบอกใคร
- READ สะใภ้ผีบ้า-แม่ย่า (ฝรั่ง) งก
- READ เพื่อนบ้านแสนบันเทิง
- READ ความตายสีขาว
- READ ชีวิตแสนเศร้าของเจ้าหญิงอินเดียนแดง
- READ ผีบ้านฝรั่ง
- READ เมื่อบางใครโบยบินข้ามสะพานรุ้ง
- READ พี่เจนนี่แอนด์ขี้คันคาก
- READ เรื่องของคนคอแดง
- READ หมาขี้ย้อน
- READ วันที่แม่น้ำกลายเป็นสีเขียว
- READ ผู้ชอบดูการละเล่นเป็นนิสัย
- READ ประธานาธิบดีแสนรักและแสนชัง
- READ เทศกาลคลำไข่
- READ เรื่องของเฮียดำลง (ที่ไม่ใช่พุตตาล)
- READ อย่าลืมทัดดอกไม้ก่อนหอน
- READ พลาดท่าเสียของดี
- READ เมื่ออเมริกันฝันหาคุก
- READ กำแพงขาวดำในเมืองสนธยา
- READ บ้านหลอกผีที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ
- READ ขี้หมาพารวย
- READ อาหารสันหลังยาว
- READ โลกนี้ยังมีมนุษย์ถ้ำ
- READ ฮาร์ดไซเดอร์..หอมผลไม้ในฟองเบียร์
- READ อาณานิคมล่องหน
- READ ผู้ปรีชาชาญนั้นผลิตเบียร์
- READ ฤดูหนาวอันยาวนานในเทศกาลแห่งความสุข
- READ อุรังอุตังเฒ่า..เราจะคิดถึงเธอ
- READ มลรัฐวูล์ฟเวอรีน
- READ ประโยชน์ของเบียร์ที่เมียไม่รู้
- READ โลกทับซ้อนของคนสองแผ่นดิน
- READ เมียบังเกิดเกล้า
- READ จับงูบูชาพระเจ้า
- READ ภาษามหาระทวย
- READ อินเดียนแดงที่โลกลืม