หน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะท้องผูกอยู่หรือเปล่า วิธีพิชิตอาการท้องผูกที่คุณก็ทำได้
โดย : นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ
นอกจาก อ่านเอา จะอยากให้ทุกคนมีความสุขกับนิยายออนไลน์สนุกๆ แล้ว เรายังอยากให้ทุกคนมีสุขภาพกายที่ดีควบคู่ไปกับสุขภาพใจที่ยอดเยี่ยม จึงผุดคอลัมน์ “สุขภาพดีกับหมอโอ๊ต” โดย นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ มาให้ทุกคนได้อ่านและดูแลตัวเองและคนที่รัก เพื่อการใช้ชีวิตที่ดี เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเกรดเอ
…………………………………………..
ทางการแพทย์นิยามว่า ถ้าถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เรียกว่ามีอาการท้องผูก”
ท้องผูกเป็นอาการที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่เราจะพบได้บ่อยๆ ในเด็กและผู้สูงอายุ แท้ที่จริงแล้วในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้บ้างอยู่แล้ว แต่ถ้าหากอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นเป็นประจำ นี่ไม่ใช่เรื่องปกติแล้วละครับ
ท้องผูกคืออะไร แบบไหนที่เรียกว่าท้องผูก แบบนี้เรามาทำความรู้จักกับอาการท้องผูกกันก่อนนะครับ
อาการท้องผูก หมายถึงอาการที่มีความยากลำบากในการถ่ายอุจจาระ ต้องใช้เวลาในการขับถ่ายมาก ต้องใช้แรงเบ่งถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระแข็งมาก ถ่ายแล้วแต่ยังมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด หรือถ่ายยังไม่สุด หรือยังปวดท้องอยากถ่าย หรือเบ่งอยู่ตลอดเวลา
ถ้าพิจารณาจากความถี่ของการถ่ายอุจจาระ ทางการแพทย์นิยามว่า ถ้าถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เรียกว่ามีอาการท้องผูก
ท้องผูกเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้ครับ
- รับประทานอาหารที่มีกากน้อย หรือมีเส้นใยน้อยมาก ส่วนมากจะเกิดในผู้ที่ไม่ชอบกินผัก หรือระบบเคี้ยวอาหารมีปัญหา หากท้องผูกเกิดจากสาเหตุนี้ ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายครับ นั่นก็คือพยายามรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น หากรู้สึกว่าผัดสดเหนียว เคี้ยวยาก ก็สามารถต้มหรือนำไปปรุงจนสุกก็จะช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้น สำหรับเด็กๆ ที่ไม่ชอบรับประทานผักนั้น ผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ อาจพยายามหาวิธีเชิญชวนให้บุตรหลานของท่าน รับประทานผักในรูปแบบต่างๆ กัน ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารหลายอย่างที่ทำมาจากผัก อร่อย รับประทานง่าย ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วยนะครับ
- ดื่มน้ำในปริมาณน้อยเกินไป น้ำดื่มถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เซลล์ของร่างกายมีน้ำเป็นองค์ประกอบไม่ต่ำกว่า 70% ในผู้สูงอายุมักจะดื่มน้ำน้อย เนื่องจากศูนย์ที่กระตุ้นให้รู้สึกหิวน้ำทำงานไม่ค่อยดี ผู้สูงอายุจึงไม่ค่อยรู้สึกหิวน้ำ และในบางรายมีปัญหาเรื่องกลั้นปัสสาวะลำบากหรือกลั้นไม่อยู่ ผู้สูงอายุก็เลยพยายามจะดื่มน้ำให้น้อยลง เมื่อร่างกายได้น้ำน้อย ไม่พอใช้ ร่างกายก็จะพยายามดูดน้ำจากอาหารในลำไส้ ทำให้กากอาหารแข็งมากขึ้น ทำให้ถ่ายออกยาก เกิดอาการท้องผูกตามมา
- ไม่ได้ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือเคยชินกับการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ หลายคนถ้าพบว่าห้องน้ำไม่สะอาด หรือเดินทางนอกสถานที่ จะไม่อยากเข้าห้องน้ำ เมื่อปวดอุจจาระก็กลั้นเอาไว้ ขอแนะนำว่าหากปวดอุจจาระในเวลาไหน ก็ควรไปถ่ายเวลานั้น เพราะถ้าหากเกิดปวดถ่าย แต่ไม่สามารถจะไปขับถ่ายได้ เช่น กำลังอยู่ในงานเลี้ยง หรืออยู่ในที่ที่ไม่มีห้องน้ำที่สะอาดพอ ทำให้ต้องกลั้นเอาไว้ หรือบางคนกำลังทำงานอดิเรกอยู่เพลินๆ ดูทีวีเพลินๆ ก็ไม่อยากลุกไปถ่าย ทำแบบนี้บ่อยๆ ร่างกายก็จะเกิดการจดจำ และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท้องผูกได้ครับ
- การรับประทานอาหารหรือยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสม, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, ยาแก้ไอ หรือยาแก้ปวดบางชนิด กรณีนี้ต้องปรึกษาแพทย์นะครับ อย่าพยายามแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อยาระบายมารับประทาน เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และอาจทำให้ติดยาระบายได้ครับ
- มีโรคทางกายบางโรค ที่มีผลทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น คนไข้เบาหวานที่เป็นมานาน โรคที่ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ และภาวะแคลเซียมในเลือดสูงก็จะทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์นะครับ
เห็นไหมครับว่าเรื่องท้องผูกในบางครั้งอาจไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง ถ้าเราทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ก็สามารถแก้ไขให้ระบบขับถ่ายกลับมาเป็นปกติได้
มีอาหารและผลไม้หลายอย่างที่ช่วยระบายท้อง หากเกิดอาการท้องผูกลองรับประทานมะละกอ ส้ม พรุน สับปะรด และองุ่น ก็เป็นทางเลือกที่ดี
ไม่แนะนำให้ใช้ยาระบายหากไม่จำเป็น มีคนไข้จำนวนมากที่ติดสมุนไพรช่วยขับถ่าย ยาระบาย เพราะรับประทานเป็นประจำจนลำไส้ไม่ทำงานด้วยตัวเอง แต่ต้องรอให้มีสารมากระตุ้น อันนี้อันตรายครับ เพราะมีแนวโน้มว่าจะต้องกินยาเหล่านั้นไปตลอด แถมกินไประยะหนึ่งแล้วจะต้องเพิ่มปริมาณอีกด้วย เพราะกินเท่าเดิมเริ่มไม่ได้ผล
หากมีข้อสงสัย หรือมีปัญหาเรื่องท้องผูก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำของท่านจะดีที่สุดครับ
- READ กินแคลเซียม...ดีหรือเปล่านะ
- READ ดื่มน้ำร้อนหรือดื่มน้ำเย็น แบบไหนดีกว่ากันนะ?
- READ Good Sleep…Good health “นอนอย่างไร ให้สุขภาพดี”
- READ ออฟฟิศซินโดรม ภัยร้ายของเหล่าคนทำงาน
- READ ผู้สูงวัยไม่ควรขับรถ...จริงหรือไม่
- READ ตัดแขนเพราะกินปลาดิบ!
- READ ผิวแห้ง ไม่สบายตัว เป็นเรื่องปกติของผู้สูงวัยจริงหรือไม่
- READ รู้ไหมมีประโยชน์อย่างไรบ้าง? ขมิ้นชัน สมุนไพรแสนมหัศจรรย์
- READ 7 ข้อควรรู้สำหรับคุณแม่ที่กำลังจะมีน้อง
- READ สัตว์เลี้ยงกับผู้สูงวัย
- READ ขี้ลืมขนาดนี้ ผิดปกติหรือเปล่า...แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?
- READ เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนสูงของคนเราจะลดลง…จริงหรือไม่
- READ ปัสสาวะราด…ทำยังไงดีล่ะ
- READ หน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะท้องผูกอยู่หรือเปล่า วิธีพิชิตอาการท้องผูกที่คุณก็ทำได้
- READ วิธีจำกัดบริเวณตนเอง ในสถานการณ์ COVID-19
- READ 7 ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับไวรัส COVID – 19
- READ รู้ไหม โกโก้และช็อกโกแลตแตกต่างกัน และมีประโยชน์อย่างไร
- READ "อินทผลัม" มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร กินมากๆ แล้วจะดีหรือไม่?
- READ สารพันมหัศจรรย์แห่งถั่ว ประโยชน์ควรรู้ และวิธีบริโภคถั่วให้ได้ประโยชน์สูงสุด