มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
โดย : ตัวแน่น
นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………………………………
เคยนึกงงๆ สงสัยกันไหมว่ามูลค่าของผลงานศิลปะแต่ละชิ้นนั้นใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวกำหนด เข้าใจอยู่ว่าผลงานศิลปะไม่ใช่ข้าวสารอาหารแห้งที่มีราคากลางให้อ้างอิง แต่ทำไมบางทีผลงานศิลปะของศิลปินคนเดียวกันแท้ๆ ชิ้นนี้ขายได้พันเดียว ในขณะที่อีกชิ้นขายได้ล้านนึง มันต้องมีหลักการอะไรบางอย่างสิน่า คงไม่ได้ตั้งราคาขึ้นมามั่วๆ ซั่วๆ เป็นแน่
จากที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากเซียนๆ รุ่นเก๋าในวงการ ผนวกกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ซื้องานศิลปะผิดราคาบ้างถูกราคาบ้างตามมีตามเกิด พอมาย้อนคิดสรตะดูแล้วเลยกะว่าจะลองจำแนกเกณฑ์ในการประเมินมูลค่างานศิลปะออกมาเป็นข้อๆ แล้วท่องให้ขึ้นใจ คราวหน้าคราวหลังจะได้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการจับจ่าย เอาล่ะ เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ เรามาเริ่มไล่เรียงกันเลยดีกว่าว่ามีเกณฑ์อะไรที่เราคิดออกแล้วเอามาบอกต่อกันบ้าง
ศิลปิน
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าใจจริงเราไม่อยากให้นักสะสมศิลปะพากันบ้าแบรนด์ แห่แหนไปซื้อหาแต่ผลงานของศิลปินที่ดังเปรี้ยงปร้าง ประเภทที่ได้ยินชื่อปุ๊บชาวบ้านร้านตลาดต้องร้องอ๋อปั๊บ เพราะขืนเป็นแบบนี้ศิลปินรุ่นใหม่ๆ มีหวังไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดกันพอดี แต่ถึงอย่างไรก็คงปฏิเสธเกณฑ์ข้อนี้ไม่ได้เพราะใครๆ ก็รู้ว่ามูลค่าของผลงานศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับตัวศิลปินเต็มๆ ยิ่งศิลปินมีชื่อเสียงมากขึ้นเท่าไหร่ มูลค่าของผลงานก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าศิลปินดังในวันนี้จะมีชื่อเสียง และขายผลงานได้ในราคาสูงตลอดไป เพราะถ้าวันหน้าไม่ขยันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องหรือขาดการโปรโมต ไม่แน่วันดีคืนดีก็สามารถเสื่อมความนิยมและถูกโลกลืมได้เหมือนกัน เท่าที่ดูๆ มาศิลปินที่ผลงานจะมีมูลค่าไปตลอดกาลนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับว่ามีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ศิลปะในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และอยู่ในคอลเลกชันสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ศิลปินประเภทนี้จะอีกกี่สิบหรือกี่ร้อยปีข้างหน้า ผลงานก็จะยังมีราคาแน่นอน
วัสดุ
ผลงานศิลปะชิ้นนั้นจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับวัสดุที่เอามาทำด้วย เป็นเรื่องคอมมอนเซนส์ถ้าประติมากรรมแบบเดียวกันที่หล่อจากทองจะมีราคาแพงกว่าชิ้นที่หล่อจากเหล็ก แต่ก็มีหลายครั้งที่ราคาค่าวัสดุนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากแต่พอกลายเป็นผลงานศิลปะแล้วกลับมีมูลค่าแตกต่างกันลิบลับถึงแม้จะเป็นฝีมือของศิลปินคนเดียวกันแท้ๆ ในศิลปะหมวดจิตรกรรมวาดๆ เขียนๆ โดยปกติสิ่งที่มีมูลค่าน้อยที่สุดในสายตาคนซื้อคือผลงานบนกระดาษ ที่มักจะถูกมองว่ามีราคาถูกที่สุดคือสเกตช์ที่วาดด้วยดินสอ และปากกา แพงขึ้นมาคือสีน้ำ และสีโปสเตอร์ แพงขึ้นมาอีกนิดคือสีฝุ่น และสีปาสเตล ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่ากระดาษนั้นเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ แล้วนับว่าเก็บรักษายากและเปราะบาง ส่วนงานจิตรกรรมที่มีราคาสูงกว่าคืองานที่วาดลงบนผ้าใบ จะระบายด้วยสีน้ำมันหรือสีอคริลิกก็ได้ เพราะมีความคงทนถาวรไม่แพ้กันเท่าไหร่ ถ้าเก็บดีๆ ก็อยู่ได้หลายร้อยปีไม่มีพัง ส่วนตัวเราชอบผลงานศิลปะที่วาดจากสีน้ำมันกว่าสีอคริลิกหน่อยตรงที่สีจะดูหนา และมีเนื้อมากกว่า แถมนานๆ ไปยังแตกลายงาดูขลังและสวยดีไปอีกแบบ แต่เกณฑ์ในการตีมูลค่าผลงานศิลปะด้วยวัสดุที่เล่าไปแล้วนั้นก็ไม่ใช่เรื่องตายตัวแบบนี้เสมอไป มีศิลปินบางท่านที่ผลงานบนกระดาษแพงกว่าบนผ้าใบ เพราะถนัดเทคนิคการวาดบนกระดาษมากกว่าภาพเลยออกมาสวยกว่าแบบนี้ก็เคยเห็นอยู่ ถ้าแค่นี้ยังงงกันไม่พอ ศิลปะในยุคสมัยใหม่นี้ยังมีผลงานอีกมากที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัสดุแปลกๆ อีกนับร้อยแปด การจะตีมูลค่าก็พาลจะยิ่งยากขึ้นไปทุกวัน
ขนาด
ใครว่าขนาดไม่สำคัญ สำหรับเรื่องผลงานศิลปะแล้ว ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งทำยาก ยิ่งใช้เวลาสร้างนาน ใช้วัสดุมาก ทำให้มีต้นทุนสูง แม้แต่ศิลปินเองเลยยังต้องขายราคาแพงกว่าชิ้นเล็ก แถมทำชิ้นใหญ่ยักษ์ออกมาก็ไม่ใช่จะขายกันง่ายๆ เพราะมีราคาแพง คนซื้อส่วนใหญ่ไม่มีที่วาง เลยจะมีทำก็เฉพาะให้กับงานแสดงใหญ่ๆ พิพิธภัณฑ์ และลูกค้าวีไอพีที่มีกำลังซื้อและที่เก็บ เพราะเหตุนี้ผลงานชิ้นใหญ่ก็เลยมีน้อยกลายเป็นของหายากขึ้นไปอีก นานๆ ไปคราวนี้พอจะเปลี่ยนมือกันแต่ละทีเจ้าของเก่าก็เงินถุงเงินถังกันทั้งนั้น ถูกๆ เขาก็คงไม่ยอมปล่อย จะซื้องานชิ้นใหญ่เบ้งก็เลยต้องกัดฟันทำใจกันหน่อย
ของแท้ ของเทียม
ของอะไรก็ตามในโลกถ้าขายได้ราคา ประเดี๋ยวเดียวก็ต้องมีมิจฉาชีพหัวใสก๊อปของสิ่งนั้นขึ้นมาหลอกขายเข้าจนได้ ยิ่งผลงานศิลปะนี่มีคนทำเก๊มาตั้งแต่ปีมะโว้แล้วจนของจริงของเทียมนั้นแทบจะแยกกันไม่ออก เพื่อแก้ปัญหานี้ ในเมืองนอกเขามีบริษัทที่ให้บริการรับตรวจสอบว่าชิ้นไหนแท้ชิ้นไหนเทียมโดยผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ มิหนำซ้ำยิ่งถ้าเป็นผลงานของศิลปินดังๆ เขาจะมีองค์กรที่รวบรวมข้อมูลผลงานทุกชิ้นแล้วพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรียกว่า Catalogue raisonné ถ้าผลงานชิ้นไหนอยู่ในแคตตาล็อกที่ว่านี้แล้วก็อุ่นใจได้ แต่ถ้าชิ้นไหนยังไม่อยู่ก็สามารถส่งไปให้คณะกรรมการขององค์กรเขาช่วยตรวจสอบได้ ถ้าเป็นของแท้แต่ข้อมูลตกหล่นก็จะมีการอัพเดตและพิมพ์เผยแพร่ออกมาในหนังสือเวอร์ชันใหม่ให้รู้ทั่วกัน ส่วนถ้าเก๊เขาก็จะส่งคืน หรือบางองค์กรก็สุดโหดถ้าเขาฟันธงว่าผลงานเป็นของเลียนแบบเขาจะทำลายให้เสร็จสรรพสิ้นซาก นักสะสมเจ้าของผลงานต่อให้ซื้อมาแพงหูฉี่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งทำตาปริบๆ ส่วนในเมืองไทยฐานข้อมูลที่เป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ยังไม่มีเลยต้องใช้วิธีการแบบบ้านๆกันไปก่อน ถ้าศิลปินที่สร้างผลงานยังอยู่ก็ไปถามเขาเถอะอย่าไปเคอะเขิน แต่ถ้าศิลปินตายไปแล้วก็ถามผู้รู้ที่เชื่อถือได้หลายๆ ตาช่วยกันดู เดี๋ยวนี้ส่งไลน์ถามไถ่กันง่ายจะตายไป
แฟชั่น
รสนิยมของคนซื้อที่เปลี่ยนไปอาจทำให้มูลค่าของงานศิลปะมีขึ้นมีลงได้ ยุคหนึ่งคนอาจจะชอบซื้อหาภาพวิว ภาพดอกไม้ มาประดับบ้านช่องห้องหอ แขวนภาพไว้เหนือโซฟาสีทองอร่าอร่ามแบบหลุยส์ ที่ตั้งอยู่ข้างๆ บันไดเวียนเหล็กดัดจากศักดิ์สิทธิ์อัลลอย ภาพแนวแอ็บสแตร็กที่ดูไม่รู้เรื่องเคยไม่มีใครสนใจ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป สไตล์บ้านสมัยใหม่เริ่มเป็นแนวมินิมัลโล่งๆ โพลนๆ ภาพแนวนามธรรมก็เลยกลายเป็นดูเหมาะกับบ้านมากกว่า ยิ่งหลังๆ นี้กระแสสตรีทอาร์ตที่เคยดูเลอะๆ เทอะๆ ตามกำแพง และคอนเท็มโพรารีอาร์ต ผลงานประเภทที่บางทีถ้าไม่บอกก็แทบไม่รู้เลยว่าไอ้ที่ยืนดูอยู่คืองานศิลปะกำลังอินเทรนด์ พอมีผู้สนใจเพิ่มขึ้นราคาก็เลยพุ่งพรวดพราด
สภาพ
งานแท้แต่สภาพยับเยินนั้นส่งผลให้มูลค่าตกลงไม่มากก็น้อย ผลงานศิลปะโดยเฉพาะชิ้นเก่าๆที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลานานอาจจะมีสีหลุดล่อน ผ้าใบหย่อนยานขาดวิ่น กระดาษเหลืองเป็นดอกดวง ถ้ามองดูแล้วขัดหูขัดตา แนะว่าให้ไปหาชิ้นที่สภาพดีน่าจะเวิร์กกว่า แต่ถ้าชิ้นที่สภาพไม่ค่อยจะสมประกอบนั้นมันโดนใจจริงๆ ถ้าไม่ซื้อไปจะลงแดงชักดิ้นชักงอตาย ก็ลองใช้เหตุผลเรื่องสภาพนี่แหละในการเจรจาต่อรองราคา พอได้มาแล้วถ้ายังขัดหูขัดตาก็ส่งไปซ่อม เพราะผลงานศิลปะส่วนมากถ้าหากไม่เสียหายจนเกินเยียวยาก็สามารถใช้บริการนักอนุรักษ์งานศิลปะที่เชี่ยวชาญช่วยซ่อมแซมให้กลับมาเช้งกระเด๊ะดั่งเดิมได้ แต่ค่าซ่อมโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นก็ไม่ใช่ถูกๆ จะให้ชัวร์ควรเช็กให้ดีก่อนเพราะบางทีราคาค่าซ่อมนั้นอาจจะแพงกว่าราคาที่จ่ายไปสำหรับผลงานศิลปะชิ้นนั้นซะอีก แต่ก็มีบางทีอีกเหมือนกันที่ความเยินอาจจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลงานชิ้นนั้นได้ เช่น ภาพผลงาน ถวัลย์ ดัชนี ยุคบุกเบิก ที่ถูกนักเรียนช่างกลเอามีดคัตเตอร์กรีดจนขาดเพราะไม่เข้าใจเนื้อหาจนกลายเป็นข่าวดังเปรี้ยงปร้าง รอยคัตเตอร์บนภาพชุดนี้ยิ่งทำให้ภาพมีค่าขึ้นไปอีก ถ้าใครมีแนะว่าอย่าซ่อม ได้โปรดทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ เก๋าดี
จำนวน
ของหายากที่มีจำนวนน้อยย่อมมีราคากว่าของหาง่ายที่มีจำนวนมาก นี่เป็นสาเหตุที่ผลงานศิลปะกลับกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ของสะสมอื่นๆ อย่างรถยนต์ ไวน์ นาฬิกา ต่อให้จะลิมิเต็ดเอดิชันยังไงก็มักจะผลิตขึ้นมาเวอร์ชันละหลายๆ ชิ้น พลาดชิ้นนี้ไปเดี๋ยววันหน้าก็มีชิ้นใหม่ที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะมาให้เลือกซื้ออีก ต่างกับผลงานศิลปะอย่างภาพวาดและงานแกะสลัก ที่ศิลปินมักจะบรรจงสร้างขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว จะทำซ้ำอีกทีก็ไม่เหมือน ผลงานประเภทนี้เลยมีราคาแพงที่สุด ส่วนงานศิลปะประเภทที่ทำขึ้นมาได้หลายๆ ชิ้น อย่างภาพพิมพ์ งานประติมากรรมรูปหล่อ ภาพถ่าย เวลาจะซื้อก็ให้ดูที่เลขเอดิชันซึ่งส่วนใหญ่จะเขียนไว้บนชิ้นงานข้างๆ กับลายเซ็นว่าเขาทำขึ้นมากี่ชิ้น ถ้าเขียน 2/5 ก็แสดงว่าชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 2 จากทั้งหมด 5 ชิ้น ยิ่งจำนวนผลิตน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งมีค่าเท่านั้น ส่วนประเภทที่ไม่ใส่เลขเอดิชันนี่ต้องระวังให้หนัก เพราะวันดีคืนดีศิลปินหรือทายาทอาจจะนึกครึ้มอกครึ้มใจปั๊มชิ้นที่เหมือนกันออกมาขายจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ พาให้ผลงานศิลปะเวอร์ชันนั้นด้อยค่าลงไปในทันที
เรื่องราว
ใครๆ ก็ชอบของที่มีสตอรี เอาแบบที่โม้เมาท์เล่าให้ใครๆ ฟังได้เป็นชั่วโมง ประมาณว่าภาพวาดชิ้นนี้เป็นชิ้นดัง วาดขึ้นมาในวันที่ศิลปินทุกข์ยากที่สุดไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าวหรือซื้อสี เลยกัดนิ้วเอาเลือดของตัวเองวาดภาพบนแผ่นสังกะสีที่เต็มไปด้วยสนิม ทรมานทรกรรมค่อยๆ เอานิ้วขูดๆ อยู่เดือนกว่า เสร็จแล้วส่งประกวดได้รางวัลมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ยังไม่ทันจะไปรับรางวัลศิลปินก็ตายก่อนเพราะสนิมเข้านิ้วเป็นบาดทะยัก หลังจากนั้นผลงานก็หายสาบสูญไป จนผีศิลปินไปเข้าฝันทำให้มีคนไปพบกลายเป็นแผ่นมุงหลังคาบ้าน ถูกกู้กลับมาเอาไปตระเวนแสดงทั่วโลก แม้แต่ปีกัสโซมาเห็นยังกล่าวชื่นชม เรื่องราวอะไรทำนองนี้ย่อมทำให้ผลงานศิลปะชิ้นนั้นมีค่ากว่าอีกชิ้นที่ศิลปินตื่นเช้ามากินกาแฟ แล้ววาดภาพอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำอยู่ชั่วโมงนึงจนเสร็จ จบ
ที่มา
ผลงานศิลปะที่มีที่มาที่ไปนั้นมีค่ามากกว่าชิ้นที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ในเมืองนอกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า provenance ลำดับที่มาช่วยให้เราสืบย้อนกลับไปถึงเจ้าของงานศิลปะคนก่อนๆ เรื่อยไปจนถึงศิลปินที่ผลิตงานชิ้นนั้นออกมา เป็นการคอนเฟิร์มว่าผลงานที่ว่าเป็นของแท้แน่นอน และไม่ได้ถูกปล้นจี้ขโมยมา ยิ่งถ้าเจ้าของคนก่อนๆ เป็นผู้มีชื่อเสียง หรือเป็นเซียนที่ได้รับการยอมรับในวงการ แบบเดียวกับพระสมเด็จองค์เสี่ยนั้นเสี่ยนี้ ผลงานศิลปะชิ้นนั้นก็จะยิ่งมีค่า ในเมืองไทยเวลาผลงานศิลปะมีการเปลี่ยนมือ หลายครั้งที่เจ้าของเก่าก็มักไม่ค่อยยอมออกหน้าหรือให้ข้อมูล เพราะเขินกลัวคนมองว่าเอาสมบัติมาขายกิน เรื่อง provenance ในบ้านเราเลยยังเป็นเรื่องคลุมเครือ นอกจากลำดับเจ้าของเก่าแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือข้อมูลว่าผลงานชิ้นนั้นเคยไปจัดแสดงที่ไหน ลงสูจิบัตรหรือหนังสือเล่มไหนอย่างไรบ้าง ยิ่งเยอะยิ่งดัง ยิ่งดังยิ่งดี เก็บรวบรวมให้เป็นสารระบบ วันไหนจะหาข้อมูลจะได้หาเจอง่ายๆ
เนื้อหา
ภาพอะไรที่ถูกจริตคนหมู่มากมักขายง่าย และมีราคาแพงกว่า อย่างเช่น ภาพหญิงงาม ทิวทัศน์ ดอกไม้ ที่สวยสด สิงโต เสือ กระทิง ม้า ที่ดูน่าเกรงขาม นั้นเป็นที่นิยมกว่าภาพคนแก่หงำเหงือก ซากศพ สิ่งปฏิกูล ตุ๊กแก แมลงสาบ ตะขาบ คางคก ที่ดูน่าเกลียดน่ากลัว ส่วนสีสันของภาพก็มีส่วน มีผลวิจัยออกมาว่าภาพสีฉูดฉาดสดใสโดยเฉพาะสีแดงนั้นขายได้ราคาที่สุด ส่วนประเภทที่สีตุ่นๆ ดูช้ำเลือดช้ำหนองนั้นขายยากหน่อยเพราะไม่ค่อยจะเตะตาซักเท่าไหร่
มนต์สะกด
ผลงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมนั้นสามารถสะกดผู้ที่ได้พบเห็นเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย ยิ่งเราได้เห็นผลงานศิลปะชิ้นดีๆ ผ่านตามากๆ เราก็จะยิ่งเข้าใจและแยกแยะได้ว่าผลงานศิลปะชั้นเลิศที่สมควรเชิดชูให้เป็นสมบัติอันน่าหวงแหนของมวลมนุษยชาตินั้นแตกต่างกับผลงานแบบบ้านๆ ที่เอาไว้แขวนห้องส้วมอย่างไร
สำหรับเรา ไอ้มนต์สะกดนี่แหละอันตรายที่สุด เพราะพออยู่ในภวังค์ทีไร สุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็เสียสตางค์ซื้อผลงานศิลปะชิ้นนั้นกลับมาบ้านแทบทุกที ข้อพิจารณาอื่นๆ ที่อุตส่าห์ไล่เรียงมาซะยืดยาวนั้นพอเอาเข้าจริงก็ลืมหมด ขนาดราคงราคายังลืมต่อเลย ดั่งคำพระที่ว่า ‘มีสติไม่เสียสตางค์ สติพังผนังไม่พอให้แขวนภาพ’ เจริญพร
- READ เพิ่งรู้ว่ารักชาติ ในงาน ‘อาร์ตบาเซิล’ (Art Basel)
- READ นักสะสมศิลปะไทย คิดยังไงกับ NFT?
- READ ภาพใดอันประเสริฐขอให้มูลค่าจงตกถึงท่านร้อยเท่าพันทวี
- READ สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ
- READ มัธยัสถ์แต่จัดจ้าน สไตล์สีน้ำของ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
- READ ศิลป์ พีระศรี บิ๊กแบงแห่งเอกภพวงการศิลปะไทย
- READ ถวัลย์ ดัชนี นายคนภูเขาที่เรารัก
- READ วงการศิลปะ ปะทะไวรัสมรณะ
- READ จ่าง แซ่ตั้ง ฮิปปี้เรียกพี่ อินดี้เรียกพ่อ
- READ เวนิสเบียนนาเล่ งานอาร์ทแห่งมวลมนุษยชาติ
- READ มูลค่าของงานศิลปะ กะกันยังไง ใช้อะไรมาวัด
- READ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปิน
- READ ส่องศิลป์ถิ่นอิเหนา
- READ 'สตรีทอาร์ต' อดีตพ่อทุกสถาบัน ปัจจุบันขวัญใจปวงชน
- READ สวัสดิ์ ตันติสุข ความสุขที่คุณดูได้
- READ คาร์โล ริโกลี กับ 6 ดรุณีที่ซ่อนเร้น
- READ เรื่องบ้านๆ ของการประมูล
- READ แวนโก๊ะเมืองไทย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ
- READ เรื่องหลอนหลอน ของ เหม เวชกร
- READ เรเนสซองส์เมืองไทย นำพาชาติสู่ความศิวิไลซ์
- READ ชลูด นิ่มเสมอ ยอดมนุษย์อาวุธเพียบ
- READ ชีวิตที่ครบรสดั่งบทละครของ เฟื้อ หริพิทักษ์
- READ เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านทำให้เราตัณหากลับ กับเดินร้องไห้ได้
- READ จำรัส เกียรติก้อง ราชาแห่งภาพเหมือน
- READ ยลศิลป์ไทยในต่างแดน
- READ อยากให้ศิลปินไทยนอนตายตาหลับ
- READ อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม
- READ สาดกรด พ่นสี ฉี่ใส่ วีรกรรมของมนุษย์บ๊องที่จ้องจองเวรศิลปะ
- READ รำมะนาที่มีชีวิตของ ชิต เหรียญประชา
- READ ดูเพลิน เงินงอก เสน่ห์ของการลงทุนในงานศิลปะ
- READ ตื่นรู้เพราะดูหนัง...ชีวิตที่พลิกผันของ ประเทือง เอมเจริญ
- READ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ลมหายใจของศิลปะไทย
- READ มณเฑียร บุญมา จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์
- READ มิติที่เหนือจริง ของ ทวี นันทขว้าง
- READ จงเอื้อมเด็ดดอกฟ้า อย่าเป็นหมามองเครื่องบิน ราคาศิลปะไทยในตลาดโลก
- READ ลาวัณย์ อุปอินทร์ จิตรกรผู้งามเลิศในปฐพี
- READ นักระบำที่สาบสูญ ของ เขียน ยิ้มศิริ
- READ แม่บ้านมหัศจรรย์ มีเซียม ยิบอินซอย
- READ ไทยนั่ง ฝรั่งวาด ภาพเหมือนบุคคลยุคบุกเบิกของไทย
- READ ขรัวอินโข่ง รุ่งอรุณของศิลปะไทยสมัยใหม่
- READ เก๊ทั้งกระบิ มะเร็งร้ายที่บั่นทอนวงการศิลปะ
- READ กิ้งก่าปริศนา ของ ถวัลย์ ดัชนี