“Sbeitla” หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน

“Sbeitla” หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

เรายังอยู่ในตูนิเซีย ดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยอารยธรรมโรมัน ผสมผสานกับความพื้นถิ่นเบอร์เบอร์และอารยธรรมคาร์เธจ เป็นศูนย์กลางและรอยต่อของอารยธรรมเก่าแก่ของโลกที่คนไม่ค่อยรู้

ยังคงท่องไปในเมืองโบราณ เมื่อรู้สึกว่าที่นี่เก่าแล้ว ก็จะมีที่ที่เก่ากว่า ไกลกว่า ลึกลับกว่าเสมอ

เช้านี้ถึงทีของสบิทลา (Sbeitla) เมืองโบราณในอาณานิคมโรมันอีกแห่ง หรือเรียกว่า “ซากเมืองโบราณ” อาจจะถูกกว่าเนื่องจากแม้เป็นเมืองโบราณแต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว และส่วนที่เรามาเยือนกันก็คือซากปรักหักพังที่นับว่าสมบูรณ์อยู่มากนั่นเอง

เช่นเคย ทุกสถานที่ท่องเที่ยวทั้งประวัติศาสตร์และไม่ประวัติศาสตร์ของตูนิเซียค่อนข้างเงียบเหงา ยิ่งขับรถออกมานอกเมืองยิ่งคนบางตา นักท่องเที่ยวไม่มีเลยด้วยซ้ำ น่าเศร้าแทนคนที่นี่เหมือนกัน

ตอนพวกเรามาถึงสบิทลา แดดเริ่มร้อนแต่มีละอองฝนปรอย เป็นอากาศที่ออกจะประหลาด ชื้นก็ไม่ใช่ ร้อนก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องใส่เสื้อกันหนาวกันลมใด ๆ ซากเมืองโบราณอยู่ต่ำลงไปจากพื้นถนน พอถึงแล้วต้องลงบันไดต่อกันไปอีกหน่อย    ตอนนั้นมีแค่คนงานท้องถิ่นที่มาดูแลสวน ตัดแต่งกิ่งไม้และดูแลความเรียบร้อย พวกเราเลยเดินตามอาจารย์ที่เป็นไกด์ของเราเข้าไปในเขตเมืองโบราณนั้นเหมือนลูกเป็ดเดินตามฝูง คือถ้ามัวแต่ถ่ายรูปหรือชักช้า นอกจากจะพลาดที่อาจารย์บรรยายแล้วยังอาจหลงทางได้ เพราะซากเมืองนี้ทั้งกว้าง ทั้งซับซ้อน แต่ละส่วนมีเรื่องราวที่มาละเอียดแบบที่ต้องตั้งใจฟังไม่ให้พลาด แต่ก็จำไม่ได้อยู่ดี มัวแต่ตื่นตาตื่นใจกับความอลังการซับซ้อนของเมืองจนอาจทำให้คลาดจากกลุ่มได้ง่าย ๆ

สบิทลาเคยเป็นเมืองหลวงตูนิเซียในปี ค.ศ. 646  หลังกองกำลังอาหรับรบชนะอาณาจักรไบแซนไทน์ เป็นการเปิดศักราชการพิชิตแอฟริกาตอนเหนือของชาวมุสลิม

ความรู้ประวัติศาสตร์ของฉันเริ่มตีกันมั่ว เริ่มจำไม่ได้ว่าทำไมอาหรับกับไบแซนไทน์ถึงตีกันนะ หันไปถามชาวแก๊งที่ไปด้วยกัน แต่ละคนก็อึก ๆ อัก ๆ เพราะยุคสมัย รายละเอียดบุคคลในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นทั้งเยอะและจำยาก แต่เอาเป็นว่าตูนิเซียผ่านอะไรมามาก ผ่านการถูกครอบครองจากหลายกลุ่มชนหลายอารยธรรม หนึ่งในกลุ่มที่อยู่ยาวนานและมีอิทธิพลสูงต่อระบบการปกครอง อารยธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปะคือโรมัน และไบแซนไทน์ขณะนั้นก็คือโรมันตะวันออก ดังนั้นสบิทลาที่กลายเป็นเมืองหลวงตูนิเซียในยุคนั้น เป็นช่วงที่ชาวมุสลิมอาหรับเอาชนะโรมันได้นั่นเอง

แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในสบิทลาก็ยังเห็นร่องรอยอิทธิพลโรมันเต็มไปหมดอยู่ดี ให้อารมณ์เหมือนครั้งมาเยือนปอมเปอีในอิตาลี อะโครโพลิสที่อิหร่านและตุรกี คือมีทั้งความเป็นเทวสถาน สนามกีฬา สถานบันเทิง ลานกลางเมือง และความเป็นเมือง

ไหน  ๆ ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยนอกจากคณะพวกเรา ฉันก็เลยขอเวลาอ้อยอิ่งค่อย ๆ ชมไปทีละส่วนพร้อมเก็บเกี่ยวบรรยากาศ ทำให้เดินช้ากว่าเพื่อน ร้อนถึงอาจารย์ (ที่เป็นมัคคุเทศก์) ที่เดินไปไกลแล้วต้องย้อนกลับมา ‘ต้อน’ ลูกเป็ดให้กลับเข้าฝูง พร้อมเล่าเกร็ดความรู้อธิบายส่วนต่าง ๆ ที่ได้พูดไปแล้วซ้ำอีกรอบ

ตอนเดินผ่านซุ้มประตูเมืองเข้าไปกับมัคคุเทศก์ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังผ่านประตูมิติเวลากลับไปสู่โลกโบราณ เพราะรอบด้านมีแต่ร่องรอยของเมืองเก่า เหมือนฉันตกอยู่ในวงล้อมของเมืองเก่าโรมันโดยไม่มีข้อสงสัย

สบิทลาคงต้องเคยรุ่งเรืองเอามาก ๆ หรือเรียกว่าอยู่ในยุคที่โรมันเฟื่องฟู ตั้งแต่กำแพงซุ้มประตูอลังการ ป้อมปราการ โรงละครกลางแจ้ง ฟอรัมกลางเมือง โบสถ์คริสต์ อีกทั้งยังมีโรงอาบน้ำเอย อ่างอาบน้ำที่ปูพื้นด้วยเซรามิกลวดลายต่าง ๆ เอย วิหารเทพเอย นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นตลาดและทางเดินที่ปูด้วยก้อนหินแบบโรมันแท้ ๆ

เป็นที่ทราบกันว่า ถนนของพวกโรมันแข็งแรงและใช้มาได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน ถนนปูหินในเมืองสบิทลานี้เป็นหลักฐานชั้นดี

นี่คือซากเมืองโบราณยิ่งใหญ่ที่แทบไม่มีคนรู้ ตั้งอยู่เงียบสงบปราศจากนักท่องเที่ยว  อยู่ใจกลางความเวิ้งว้างรอบด้าน ไร้การรุกรานทำลาย ผ่านกาลเวลาอยู่ตรงนั้น ฉันจึงค่อย ๆ ดื่มด่ำสำรวจซากเมืองได้เต็มอิ่ม ไม่ติดนักท่องเที่ยว ไม่ต้องรีบทำเวลา ไม่ต้องเบียดเสียดกะใคร

ลืมไปว่าต้องเดินตามฝูง

ฝูงไปไหนกันแล้วก็ไม่รู้ เหลือแต่ฉันกับชาวแก๊งอีกสองคนรวมเป็นสาม โชคดีที่คุณมัคคุเทศก์ของเรายังอยู่ด้วย พอเห็นว่าใกล้เวลานัดแล้ว เขาก็เลยบอกให้พวกเรากลับไปรอที่รถได้เลย เขาจะไปตามกลุ่มสมาชิกที่เหลือให้

แวบแรกที่ได้ยิน ฉันก็อึ้ง นึกในใจว่าพวกเราจะกลับกันถูกไหมนะ ที่นี่กว้างมากและซับซ้อนกว่าที่คิด แต่ก็ปรึกษากันว่า มันก็ดูเป็นพื้นที่โล่ง เป็นทางราบ พวกเราน่าจะพอไหวกันอยู่จึงตกลงและเริ่มเดินกลับ แดดก็เริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้ละอองฝนบาง ๆ ขาดเม็ดไปนานแล้ว

ปรากฏว่า ครั้นเงยหน้าขึ้นมาอีกที… ที่นี่ที่ไหนคะนี่ ไม่ใช่จุดที่คิดไว้ มันควรจะมีรถบัสของพวกเราอยู่ตรงนั้นแต่ก็ไม่มี! ทีนี้ก็เลิ่กลั่กตกใจ หันซ้ายหันขวา ตายแล้ว… มาหลงทางที่ไหนไม่หลง มาหลงกลางเมืองโบราณสบิทลา!

โทรหาใครก็ไม่รับ พวกเราสามคนก็เริ่มใหม่ ลองเส้นทางใหม่ ซ้าย ขวา วนไปมาอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง ก็คิดว่าเจอจุดที่เป็นจุดตั้งต้นตอนเรามาถึงแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นรถบัส

สักพัก อาจารย์ของพวกเราก็พาชาวแก๊งที่เหลือเดินเรียงแถวผ่านซุ้มโบราณ ผ่านแนวบันไดหินขึ้นมา พร้อมโบกธงไหว ๆ โผล่มา  ฉันก็ค่อยโล่งใจ… นึกว่าต้องหลงมิติอยู่กลางซากเมืองโบราณแล้ว

ฉันขึ้นรถเตรียมตัวกลับ อำลาสบิทล่าอันยิ่งใหญ่ แสงแดดยามเย็นย้อมผืนผ้ากลายเป็นสีส้ม เป็นฉากหลังล้อไปกับสีอิฐเหลืองอมส้มของเมืองโบราณแห่งนี้ ฉันหันไปมองสบิทล่าอีกหน เก็บความประทับใจนี้ไว้หลังจากดื่มด่ำกับมันมาหลายชั่วโมง

แล้วทุกอย่างก็กลับสู่ความเงียบงันเช่นนั้นตอนเราหันหลังกลับไป

มรดกโลกอันยิ่งใหญ่ ตั้งตระหง่านกลางความเงียบงัน โดดเดี่ยว แต่งดงาม

ถึงหลงทาง แต่ก็หลงรักมากเลยละ สบิทลา…

 

Don`t copy text!