ปราสาทแดรกคูล่ากับวลาดจอมเสียบ
โดย : พิมพ์อักษรา
เที่ยวเพลิน เดินทาง คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ และเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ไม่ประวัติศาสตร์บ้าง วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง แต่ละดินแดนที่ได้ประสบพบเจอ เสมือนให้ผู้อ่านได้ท่องเที่ยวดื่มด่ำไปด้วยกัน ผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า เปิดโลก เปิดตา และเปิดใจ และที่สำคัญคือเพลิดเพลิน เหมือนชื่อของผู้เขียนนั่นเอง
หลังจากไปเที่ยวในฤดูร้อนจัดและหนาวจัดมาแล้ว ครั้งนี้ฉันเลือกเดินทางไปในประเทศที่มีสี่ฤดูกาล ทิวทัศน์งดงาม มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเรื่องราวน่าสนใจ ในฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นหนึ่งในฤดูที่ฉันชอบมากที่สุด เพราะนอกจากจะได้เห็นใบไม้เปลี่ยนเป็นสีส้มสีแดงร่วงหล่นผลัดใบแล้ว อากาศยังเย็นสบายกำลังดีให้ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบตัว ไอเย็นแต่พอประมาณทำให้เดินเที่ยวเล่นชมเมือง ขึ้นเขา สำรวจเมืองได้สบาย ๆ
ฉันเลือกมาโรมาเนีย ต้นเดือนพฤศจิกายน กลางค่อนไปทางปลายฤดูใบไม้ร่วง
โรมาเนีย ที่พอได้ยินชื่อคนมักจะถามว่ามันอยู่ที่ไหน อยู่ยุโรปใช่ไหม และใช่… โรมาเนียอยู่ในยุโรปตะวันออก และถ้าเป็นคนที่พอคุ้นเคยอยู่บ้าง ได้ยินชื่อโรมาเนีย ก็จะพูดถึง “เมืองแดรกคูล่า” ขึ้นมาทันที
โรมาเนียแทบจะเป็นภาพจำดินแดนแห่งผีดูดเลือดไปแล้ว และก็เป็นจุดขายให้กับประเทศนี้ไปด้วย ฉันเองเมื่อเลือกเดินทางมาที่นี่ก็ตื่นเต้นจะได้มาเยือนปราสาทแดรกคูล่ากับเขาเหมือนกัน
เราออกเดินทางจากเมืองบราซอฟ (Brasov) มาสู่เมืองบราน (Bran) อันเป็นที่ตั้งของ Bran Castle หรือปราสาทบรานแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาสามสิบนาที เมืองบรานเป็นเมืองเล็ก ๆ กลางหุบเขา แวดล้อมด้วยบ้านเรือนเล็ก ๆ น่ารักเหมือนสมัยโบราณ ฉากหลังเป็นภูเขาที่แต่งแต้มด้วยใบไม้สีส้มแดงที่เตรียมผลัดใบ มียอดปราสาทบรานให้เห็นอยู่กลางเงื้อมเขา เสมือนหลุดไปในเทพนิยายทีเดียว
ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทหินยุคกลางสไตล์โกธิก คือเป็นทรงสูงทึบทะมึน ดูดุดัน เย็นชา ตามลักษณะสิ่งก่อสร้างยุคนั้น นอกจากนี้ปราสาทแห่งนี้ยังเป็นทั้งป้อมปราการ ด่านศุลกากรและพระราชวังฤดูร้อนอีกด้วย แม้ปราสาทบรานจะไม่ได้ใหญ่โตมากเหมือนปราสาทราชวังดัง ๆ ของโลก แต่ก็ผ่านเรื่องราวสลักสำคัญไม่น้อยในหน้าประวัติศาสตร์ไม่แพ้ที่ใดในโลก
พวกเราต้องต่อคิวเข้าชมปราสาทซึ่งจะแบ่งกลุ่มเข้าไปไม่ให้แออัดกันมาก เพราะตัวปราสาทจะค่อนข้างมืด เพดานเตี้ย และมีแต่ทางเดินแคบ ๆ เต็มไปหมด ไม่รวมห้องลับ ห้องใต้ดิน ห้องพิเศษ ห้องเก็บอาวุธอะไรต่อมิอะไรที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเตรียมพร้อมต่อการทำศึกสงคราม มิใช่ปราสาทที่สร้างในยุคสมัยแห่งความสงบมั่นคงรุ่มรวยที่ปราสาทราชวังจะสะท้อนถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวยและวิจิตรหรูหรา สำแดงแสนยานุภาพและอารยธรรมยิ่งใหญ่
แต่แม้จะเป็นปราสาทที่เป็นป้อมปราการยามศึก ก็ยังเห็นความซับซ้อนในโครงสร้างที่มีแต่ห้องลับ ทางเดินลับ และอุโมงค์ลับ ตู้ลับอันคาดไม่ถึงเต็มไปหมด ความอลังการส่วนใหญ่คือคลังเก็บอาวุธโบราณที่พวกเราได้แต่ทึ่ง เพราะรวมอาวุธหลายหลายชนิดจากประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก มีกระทั่งดาบญี่ปุ่น!
แล้วปราสาทบรานแห่งนี้เกี่ยวอะไรกับแดรกคูล่า ผีดูดเลือดได้
จุดเริ่มต้นมาจากเจ้าของปราสาทแห่งนี้ คือเจ้าชายวลาดที่ 3 แห่งวาลาเคียนั่นเอง
เจ้าชายวลาดที่ 3 เป็นที่รู้จักในนามวลาด เทเปส (Vlad Tepes) หรือ วลาด ดราคูล (Vlad Dracul)
ส่วนคำว่า “แดรกคูล่า” เป็นนามที่ได้มาจากเจ้าชายวลาดที่ 1 ซึ่งได้มาจากการทำความดีความชอบกล้าหาญในสงครามกับเติร์กจนได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดิซิกิสมุนด์แห่งนูเรมเบิร์กให้เป็นอัศวินมังกร (Knight of Dragon’s Order) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตกทอดถึงทายาทด้วย (ดรากอนและดราคูลคือรากศัพท์คำเดียวกัน) โอรสของเจ้าชายวลาดที่ 1 เองจึงได้รับฉายาว่า “แดรกคูลา” ซึ่งหมายถึง บุตรของมังกร (Son of Dragon) ไปด้วย ในขณะที่ฝ่ายเยอรมัน ศัตรูของวาลาเคียเรียกว่าเป็นบุตรของปีศาจมากกว่า
เจ้าชายวลาดที่ 3 ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1431 เป็นโอรสคนกลางของเจ้าชายวลาดที่ 2 ทรงถือกำเนิดในดินแดนวาลาเคียหรือโรมาเนียในปัจจุบัน ต้นตระกูลของเจ้าชายวลาดที่ 3 เป็นผู้กอบกู้เอกราชแคว้นวาลาเคียจากฮังการีในปี ค.ศ. 1310 และปกครองวาลาเคียเป็นต้นมา แต่ก็ตกเป็นประเทศราชแห่งอาณาจักรออตโตมันในเวลาต่อมา
วลาด ดรากูล หรือ วลาด แดรกคูลา ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันภายใต้จักรวรรดิออตโตมันในฐานะประเทศราชเมื่อมีอายุได้ 13 ชันษาเป็นเวลาถึง 4 ปี ส่วนในวาลาเคียนั้น การสืบราชบัลลังก์ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องสืบตามสายเลือดหรือลำดับรัชทายาท แต่จะมาจากการเลือกตั้งโดยเหล่าขุนนางจากตระกูลต่าง ๆ ดังนั้นจึงเกิดศึกชิงบัลลังก์และลอบสังหารอยู่เรื่อยมา ครั้นถึงสมัยเจ้าชายวลาดที่ 3 พระราชบิดาของพระองค์คือเจ้าชายวลาดที่ 2 และพระเชษฐาคือเจ้าชายเมียร์ชาที่ 2 (Mirchea II) ถูกขุนนางฮังการีลอบปลงประชนม์ในค.ศ 1447 จักรวรรดิออตโตมันจึงส่งกองทัพมากำจัดอิทธิพลฮังการีโดยมายึดวาลาเคีย และแต่งตั้งวลาดที่ 3 เป็นเจ้าชายครองรัฐวาลาเคียภายใต้อาณัติจักรวรรดิออตโตมัน แต่พระองค์ก็ต้องเสียบัลลังก์อีกครั้ง ความโหดร้ายของสงครามที่เจ้าชายวลาดที่ 3 ประสบพบเจอ ประกอบกับเหตุการณ์ที่ครอบครัวถูกสังหาร ส่งผลให้พระองค์สะสมความกลัวและความคับแค้นจนแปรเปลี่ยนอุปนิสัยเป็นความโหดร้ายอำมหิตเลือดเย็น ดังนั้นเมื่อพระองค์กลับมาทวงบัลลังก์วาลาเคียได้อีกครั้งในปีค.ศ. 1456 จึงปกครองบ้านเมืองด้วยความเหี้ยมโหดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามอย่างปรัชญาการปกครองออตโตมันที่พระองค์เคยได้ใช้ชีวิตในฐานะองค์ประกันมาก่อน
ความเหี้ยมอำมหิตของเจ้าชายวลาดที่ 3 ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งออตโตมันส่งทูตมาเจรจาเรียกบรรณาการวาลาเคียในฐานะประเทศราช วลาดที่ 3 ก็สังหารคณะทูตทั้งหมดด้วยการเสียบเหล็กแหลมเสียบประจานไว้หน้าประตูเมือง ทำเช่นนี้อยู่หลายหน ไม่ว่าข้าศึก ราชทูตใดจากฝ่ายตรงข้ามมาก็กระทำเช่นนี้ทั้งสิ้น ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของพระองค์ยิ่งทวีความโหดร้ายขึ้นจนได้ฉายาว่า “วลาดจอมเสียบ” (Vlad the Impaler)
แต่ความโหดอำมหิตของเจ้าชายวลาดที่ 3 ก็ไม่เกี่ยวกับการที่พระองค์เป็นผีดูดเลือดอย่างท่านเคาต์แดรกคูล่าสักนิด
แล้วเรื่องลือเล่าอ้างของท่านเคาต์ดูดเลือดนั้นเริ่มได้อย่างไร
สุดท้าย ปรากฏว่ามาจากนิยายของบราม สโตเกอร์ นักเขียนชาวไอริช เขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องแดรกคูล่าจากบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างเจ้าชายนักรบวลาด เทเปส และความเหี้ยมโหดของพระองค์มาผูกเป็นเรื่องท่านเคาต์แดรกคูลา ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยลักษณะที่กลางวันนอนในโลงศพ และกลางคืนลุกขึ้นมาดูดเลือดเหยื่อที่มักเป็นหญิงสาวสวย
ถ้าเป็นเจ้าชายวลาดที่ 3 นี่เราก็อาจมีเคืองนะ เพราะถึงจะโหดเหี้ยมอำมหิตก็เป็นในฐานะชายชาตินักรบที่ปกครองปกป้องบ้านเมือง ไม่ใช่ผีร้ายดูดเลือดคนเห็นอาหาร
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องแต่งของผีดูดเลือดแดรกคูลานี้ทำให้ปราสาทบรานของพระองค์เป็นที่รู้จัก เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศโรมาเนียและแทบจะเป็นภาพจำสำคัญของประเทศนี้ไปโดยปริยาย
การท่องเที่ยวเองก็ใช้เรื่องนี้เป็นจุดขาย ตลอดทางในปราสาท จะมีตัวละครนักแสดงแต่งตัวเป็นปีศาจมาสร้างซีนหลอนให้ตกใจ และให้เราถ่ายรูปเป็นระยะ เมื่อประกอบกับทางเดินอุโมงค์แคบ ๆ ห้องเก็บศัตราวุธ และความมืดรอบ ๆ ก็ได้บรรยากาศหลอนสะพรึงอยู่ไม่น้อยเลย
เมื่อเราลงมาข้างล่างเดินเล่นรอบ ๆ เก็บบรรยากาศ ก็เห็นฉากจำลองเหล็กแหลมที่แดงที่วลาดจอมเสียบใช้เสียบข้าศึกศัตรู แต่มีแต่เหล็กแหลม ไม่ได้มีหุ่นคนจำลองมาด้วย ไม่อย่างนั้นคงน่าสะพรึงกลัวกว่านี้
เมื่อมองจากภายนอก ปราสาทบรานแห่งนี้ก็เหมือนปราสาทโกธิกเก่าแก่ธรรมดาหลังหนึ่ง ขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่ได้งามวิจิตรหรูหรา ออกจะแข็งกระด้างหน่อย ๆ ด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่อยู่กลางขุนเขาและบ้านเรือนน่ารักรายล้อม แวดล้อมด้วยทิวไม้สีส้ม แดง เหลืองผลัดใบร่วงหล่นทุกหนทุกแห่ง บรานจึงเหมือนปราสาทน้อยน่ารักในเทพนิยายไปโดยปริยาย ไม่มีเค้าเลยสักนิดว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นปราสาทป้อมปราการที่เป็นสังเวียนเลือดแห่งการประหัตประหารอันโหดร้าย มีผู้ปกครองเป็นกษัตริย์บ้าเลือดกระหายสงครามและอำมหิตจนได้สมญานามว่าจอมเสียบ
และก็ไม่มีสิ่งใดเชื่อมโยงปราสาทหลังน้อยกลางทิวทัศน์งดงามในบรรยากาศสงบเงียบนี้กับท่านเคาต์แดรกคูลา ผีดูดเลือดเลยด้วยซ้ำ
- READ ปราสาทแดรกคูล่ากับวลาดจอมเสียบ
- READ Siberia – Frozen Baikal ความลับของทะเลสาบเยือกแข็ง
- READ ฤดูร้อนกลางทะเลทรายสีขาว : มุยเน่
- READ ดินแดนแห่งอามาริเทสึ เทพีแห่งแสงอาทิตย์ และ หุบเขาทาคาชิโฮะ อุทยานแห่งทวยเทพ [Amano Iwato & Takachiho Gorge]
- READ Unseen Italy : Matera เมืองที่เหลืองเหมือนกระดาษเก่า
- READ เมืองลึกลับในเงื้อมเขา
- READ เพราะเชียงตุงไม่ใช่ดอยตุง
- READ เร้นลับหลังคาโลก
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "มอนเตเนโกร เมืองในปราการขุนเขาสีดำ"
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "จักรพรรดิดิโอคลิเชียนผู้โหดร้าย"
- READ แสงสุดท้ายที่ตาพรหม "ปราสาทรากไม้ลึกลับกลางพงไพร"
- READ "See Ankor Wat and Die" แก๊งนางอัปสรในนครวัด
- READ "Sbeitla" หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน