ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 1 : อุปราชองค์ใหม่ (2)

ซ่อนรักในรอยกาล “ลวปุระ ทวารวดี” บทที่ 1 : อุปราชองค์ใหม่ (2)

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

ซ่อนรักในรอยกาล โดย พิมพ์อักษรา กับผลงานนวนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์อิงประวัติศาสตร์อ่านง่าย ว่าด้วยทฤษฎีหนึ่งในตำนานประวัติพระนางจามเทวีกับพระสวามีที่แทบไร้หลักฐาน ผ่านเกมการเมืองในอาณาจักรทวารวดี อันมีชายปริศนาแฝงตัวเข้ามาอยู่เบื้องหลังเกมชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่นี้ ติดตามได้ในเพจ อ่านเอา และ anowl.co

https://www.groovebooks.com/blog/นิยายใหม่จาก-groove-next-anowl-ลูกองุ่น-เปิดให้สั่งจอง-25-มี-ค-67/62

ผู้ที่ประทับเหนือบัลลังก์จันทร์เสี้ยวสูงสุดในท้องพระโรงแห่งมหาปราสาทคือพระเจ้าจักวัติวิราชแห่งลวปุระ ราชันวัยต้นห้าสิบชันษา วรกายสันทัด พระฉวีไม่ขาวไม่คล้ำ พระพักตร์อิ่มเอิบ ดวงเนตรคมกริบดุดัน หากเมื่อแย้มสรวลกลับเปล่งประกายอ่อนโยนใจดี

ผู้ประทับเยื้องถัดลงมาเบื้องขวาเป็นสตรีร่างเล็ก แต่งองค์ด้วยภูษาสีเงินอมม่วง ประดับศิราภรณ์จันทร์เสี้ยวเหนือเกศา บ่งบอกว่ามัณฑนาเทวีคืออัครมเหสีผู้ธำรงสายเลือดละโว้เต็มองค์

เยื้องต่ำลงมาอีกลำดับเป็นแถวประทับของพระประยูรญาติ พระชายาจากแคว้นต่างๆ ไปจนถึงเจ้าหญิงพระธิดา ลดหลั่นกันตามศักดิ์สถานะ

ทว่า กลับมีอาสนะหนึ่งเว้นว่างไว้…

“ป่านนี้แล้ว ชวาลาไปอยู่ที่ใดกันเล่า” พระชายาชาวรักตมปุระเอ่ยลอดไรฟันให้ได้ยินเฉพาะคนสนิท “ชะรอยจะถูกผู้ใดกลั่นแกล้งเป็นแน่ พวกเจ้าจงไปตามสืบเอาความบัดนี้”

พระพี่เลี้ยงรับคำแล้วผลุบหายไปอย่างเงียบเชียบว่องไว พระชายาเชื้อสายจันเสนได้ทีจึงเปรยขึ้นโดยแทบไม่ขยับโอษฐ์เช่นกัน

“ดูที เจ้าหญิงชวาลาคงมิเห็นความสำคัญของพิธีอภิเษกอุปราชกระมัง…มฤติกา เช่นนี้ฤๅ เจ้าหญิงผู้อวดอ้างว่าเก่งกล้าสามารถ หน้าที่เช่นนี้ยังมิรู้จักรับผิดชอบได้”

“หากมิใช่ผู้ใดกลั่นแกล้งธิดาของหม่อมฉัน ชวาลาก็คงนั่งอยู่ตรงนี้เป็นแน่เพคะ” พระชายามฤติกาตอบพระนางพันธิสาเสียงเย็น นึกเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันอย่างคับแค้น ต้องเป็นฝีมือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบรรดาราชนารีที่นั่งเรียงแถวสลอนตรงนี้เป็นแน่ หรืออาจร่วมมือกันทั้งหมดเลยก็เป็นได้ เหตุด้วยพิจารณาแล้ว เจ้าหญิงแต่ละพระองค์ที่เจริญชันษารุ่นราวคราวเดียวกันกับพระธิดาของพระนาง มิมีพระนางใดเทียบเทียมเจ้าหญิงชวาลาได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระสิริโฉม สติปัญญา ความรู้ความสามารถ ไหวพริบทักษะการเจรจา มิแปลกที่จักเห็นชวาลาเป็นเสี้ยนหนาม

พระนางปรายเนตรไปยังพระธิดาในพระชายาพันธิสา…เจ้าหญิงบุณฑรานั้นเล่า ก็เป็นเพียงสตรีพักตร์จืดชืด ฉวีซีดขาวราวคนป่วยไข้ ความคิดความอ่านอันใดก็มิมีเป็นของตน ได้แต่ส่งยิ้มอันไร้ความหมายไปตามหน้าที่ แลเท่าที่สืบความจากพระอาจารย์ทั้งหลาย พบว่าพระสติปัญญาไม่สู้ดีนัก ร่ำเรียนเขียนอ่านได้ไม่เท่าไรก็ถอดใจ นัยว่ายังดีที่ยังทรงเชี่ยวชาญการเรือนเยี่ยงกุลสตรีเท่านั้นเอง

“เช่นนี้มฤติกากำลังกล่าวหาผู้ใดเล่า แน่ใจหรือว่ามิได้แก้ต่างให้ธิดาตนเอง”

“หม่อมฉันมิบังอาจกล่าวหาผู้ใดหรอกเพคะ” เจ้าหญิงมฤติกาข่มพระทัยตอบ “จนเมื่อรู้แน่ชัดแล้วต่างหากจึงจะเอาผิดทีเดียว”

“ว่าแต่…พิธีจะเริ่มแล้ว เจ้าชายกัษษกรไปไหนเสียเล่า” เสียงกระซิบกระซาบดังมาจากฝ่ายศรีเทพ

“มิใช่มีผู้คิดการณ์อุกอาจ ขัดขวางตำแหน่งอุปราชด้วยหวังขึ้นครองเสียเองหรอกหนา”

ผู้พูดปรายตาไปทางฝั่งอู่ทองให้รู้ทั่วกันว่าหมายถึงเจ้าชายชนุดร อนุชาต่างพระมารดาของพระเจ้าจักวัติ ผู้มีประวัติอาละวาดกลางท้องพระโรงเมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อครั้งพระเจ้าจักวัติแลเหล่าเสนามาตย์มีมติเห็นพ้องต้องกันให้รับเจ้าชายจากแคว้นไชยาเป็นโอรสบุญธรรมเพื่อสืบราชบัลลังก์ต่อไปในภายหน้า

“หากมีบุญญาธิการแน่แท้แล้วไซร้ ก็คงมิมีสิ่งใดขัดขวางได้หรอกกระมัง” เจ้าหญิงทวีติยา พระพี่นางของเจ้าชายชนุดรตรัสเสียงเรียบ ดวงเนตรเฉยเมย ไร้อารมณ์ แต่แล้วกลับชะงักเมื่อพระธิดาของตนรับสั่งเรื่องน่าประหวั่นขึ้นว่า

“แล้วเหตุใดจำเพาะให้เจ้าพี่กับชวาลาหายตัวไปพร้อมกันในวันสำคัญเช่นนี้เล่า”

ข้อสังเกตของเจ้าหญิงทิพกฤตาสร้างความตึงเครียดให้แผ่ซ่านในบรรยากาศ แม้นมิอยากคิด หากก็อดประหวั่นพรั่นใจมิได้ เพราะเมื่อมิหลอกเข้าข้างตนเองเกินไป ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเจ้าหญิงชวาลาสนิทสนมกับว่าที่เจ้าอุปราชมากกว่าเจ้าหญิงองค์อื่น

เจ้าชายกัษษกรอาจถือโอกาสมงคลนี้ ประกาศเลือกพระนางชวาลาเป็นพระชายาก็เป็นได้

ขณะที่อู่ทอง จันเสน ศรีเทพกำลังพรั่นพรึงกับความเป็นไปได้นี้ เจ้าหญิงมฤติกาแห่งรักตมปุระกลับมิคิดเช่นนั้นด้วยรู้จักพระธิดาดีพอ แม้การถูกเลือกเป็นพระชายาจะเป็นสิ่งที่รักตมปุระต้องการที่สุดก็ตาม แต่พระธิดาของพระนางจักทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสแลสมพระเกียรติที่สุด ไม่มีทางที่เจ้าหญิงชวาลาจักทำเล่นพิเรนทร์ลับหลังในเรื่องที่มิได้อยู่ในกำหนดการเป็นอันขาด

ต้องมีเหตุอันใดเกิดขึ้นเป็นแน่…

คณะขุนนางแลทูตานุทูตแน่นท้องพระโรงเริ่มขยับตัวอย่างอึดอัด ความตึงเครียดก่อตัวเมื่อไม่พบว่าที่อุปราชสักที

ทว่า ก่อนความโกลาหลจักบังเกิดขึ้นนั้นเอง เสียงเป่าสังข์แลขานพระนามก็ดังขึ้นเสียก่อน

“เจ้าชายกัษษกร เจ้าหญิงชวาลาพระเจ้าข้า”

บานทวารท้องพระโรงเปิดออก สองขัตติยราชดำเนินแทบเคียงกันเข้ามา เจ้าหญิงชวาลาเป็นฝ่ายรักษาระยะห่างให้เยื้องตามหลังเจ้าชายอุปราชด้วยรู้ตำแหน่งฐานันดรตนดี พระพักตร์ทั้งสองพระองค์ดูเหน็ดเหนื่อย เสโทไหลซึมจนไรเกศาเปียกชื้น

ต่างหันมาสบเนตรกันแวบหนึ่งโดยมิได้นัดหมาย ประหนึ่งสื่อสารรู้ความในหทัยโดยมิเอื้อนเอ่ย

พระนางแย้มสรวลน้อยๆ ดวงเนตรเจ้าชายกัษษกรจึงพลอยจุดแสงเปล่งประกายยินดีและเชื่อมั่น

“เริ่มพิธีได้”

เจ้าหญิงชวาลาเสด็จประทับบนอาสนะตนพลางกวาดพระเนตรมองพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายที่มองจับมาที่พระนางเป็นตาเดียว

หนึ่งในพวกเขาเหล่านี้แล ที่เป็นผู้วางแผนทำลายเจ้าพี่เขนของเรา…

เพราะตามหมายกำหนดการนั้น หลังพระราชพิธีเสร็จสิ้น เจ้าอุปราชจักต้องนำผลงานมาถวายให้ราชันทอดพระเนตรพอเป็นพิธีตามธรรมเนียม หากจุดประสงค์แท้จริงเพื่อให้ธารกำนัลประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถในการปกครองดูแลอาณาจักร โดยมีผู้ขานอ่านรายงานไปจนถึงรายการบัญชีให้รับทราบกันถ้วนทั่วท้องพระโรง

ทว่า…เจ้าชายกัษษกรกลับเดินมาบอกพระนางในปัจฉิมยาม (1) ก่อนราชพิธีเริ่ม

‘รายงานและบัญชีสินค้าทั้งหมดที่พี่ดูแลถูกสับเปลี่ยน ดีที่พี่เฉลียวใจตรวจอ่านเสียก่อน’

‘เจ้าพี่สงสัยผู้ใดเพคะ’

เจ้าชายส่ายพักตร์ หากดวงเนตรครุ่นคิด พระนางมองออกว่ามีคนที่ทรงคาดหมายในพระทัย ทว่ามักเป็นเช่นนี้แล หากไม่มีหลักฐานหรือมั่นพระทัยแท้จริงพระองค์ก็จักไม่ออกโอษฐ์ปรักปรำผู้ใดไปก่อน

‘ยังพอมีเวลา เรามาเร่งแก้ไขกันเถิด’

‘แก้ไม่ได้หรอกวาน้อย’ เม้มพระโอษฐ์แน่น ‘มันถูกเปลี่ยนแทบทั้งหมด เราต้องทำใหม่เท่านั้น’

‘ก็ทำใหม่นั่นละเพคะ’ พระนางพยักพักตร์แข็งขัน ‘หม่อมฉันพอจำได้อยู่บ้าง พระอาจารย์ก็เคยสอนหม่อมฉันอยู่พอสมควร ให้หม่อมฉันช่วยเจ้าพี่เขนเถิด’

‘น้องจะช่วยอย่างไรวาน้อย’

‘เขียนขึ้นใหม่เพคะ’ พระนางกวาดเนตรมองทั่วห้องทรงอักษร ‘ไม่มีสิ่งใดให้เขียนได้เลย หรือหากมี ให้บันทึกยามนี้คงมิทัน เจ้าพี่ต้องเสด็จมาที่ห้องหม่อมฉันแล้วเพคะ’

กัษษกรตกพระทัย

‘แค่วาน้อยมาพบพี่ลำพังตั้งแต่ฟ้ามิสาง ก็อาจทำให้น้องเสื่อมเสียเกียรติได้แล้ว นี่น้องยัง…’

เจ้าหญิงโบกพระหัตถ์ว่อน ‘หม่อมฉันดีใจเสียอีกที่เจ้าพี่ไว้ใจให้ช่วยคิดแก้ปัญหา มิได้คิดเรื่องคนครหาใดๆ เพลานี้มิใช่ควรต้องมากังวลเรื่องนั้น เรื่องเจ้าพี่สำคัญที่สุดเพคะ’

ว่าที่เจ้าอุปราชชะงักเมื่อได้ยินวาจาอันเปี่ยมด้วยน้ำใสใจจริงนั้น สบดวงเนตรประกายแจ่มแจ๋วด้วยความเชื่อมั่นแลภักดีแล้วอุ่นพระทัยขึ้นมาในบัดดล

‘ตำหนักหม่อมฉันมีเยื่อไม้ตากแห้งจำนวนมาก พระอาจารย์สอนว่าคนแดนชมพูทวีปที่ท่านจากมาใช้วิธีนี้ในการบันทึกข้อความคำสอน เราจักใช้สิ่งนี้แทนแผ่นหนังกันเพคะ’

‘ทางไชยาก็มีใช้เหมือนกัน’ เจ้าชายจากแคว้นทางทะเลแย้มโอษฐ์เมื่อนึกถึงมาตุภูมิ

‘พวกเรารับมาจากพ่อค้าชาวถัง (2) ที่ล่องเรือลงมาค้าขาย แต่มิค่อยแพร่หลายนักเพราะบ้านเมืองพี่…เอ้อ ไชยาน่ะ ค่อนข้างชื้นมากทีเดียว เอาละ ถ้าเช่นนั้นมาเริ่มกันเถิด’

เจ้าหญิงจึงเริ่มคำนวณแผนการและมีพระดำรัสให้คมิก มหาดเล็กของเจ้าชายถ่วงเวลาไว้ก่อน

แม้แยกฝ่ายในเป็นสัดส่วนชัดเจน หากความที่รู้จักมักคุ้นกันแต่เยาว์วัย ทั้งยังเป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ทั้งสองพระองค์จึงพบปะกันได้บ่อยครั้ง มีหนทางติดต่อสื่อสารกันได้โดยมิค่อยถูกแทรกแซงนัก อีกทั้งฝ่ายรักตมปุระก็ทำเสมือนหลับตาข้างหนึ่งไปเสียต่อความสนิทสนมนั้น เพียงระมัดระวังมิให้เกินเลยจนเสื่อมเสียได้

เจ้าชายกัษษกรจึงมีวิธีส่งข่าวหาพระนางได้เมื่อพบปัญหา แลทั้งคู่ก็ ‘มีวิธี’ ผ่านเข้าเขตตำหนักของกันและกันได้เรื่อยมา

‘สามฝนที่ผ่านมา เจ้าพี่ขยายเส้นทางสินค้าของละโว้ไปได้มาก เพิ่มลูกปัดแก้วให้แพร่หลายมากขึ้น กระจายพืชพันธุ์ธัญญาหารแลจัดซื้อหาแลกเปลี่ยนได้อย่างสมดุล ผู้ใดที่กลั่นแกล้งเจ้าพี่ย่อมรู้เรื่องนี้ดี ทั้งยังต้องเห็นรายการบัญชีอย่างปรุโปร่ง แลมีความรู้ในการอ่านเขียนคำนวณอย่างดี แต่เรื่องผู้ร้ายนั้นเราค่อยสะสางกันภายหลัง ยามนี้มาช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสียก่อน’

เจ้าชายจากไชยาหยิบกิ่งไม้ที่เหลาปลายมนแล้วเริ่มขีดวงลงบนกระบะทรายที่ถูกวาดเป็นแผนที่แว่นแคว้นใกล้เคียง ตลอดจนเส้นทางขนส่งทั้งทางบกทางน้ำไว้ก่อนแล้ว ก่อนเริ่มขานชื่อแต่ละแคว้น

‘คูบัว ดงละคร เสมา ศรีมโหสถ…’

เมื่อไล่ไปจนครบก็เห็นเจ้าหญิงชวาลาจดยิกๆ ขะมักเขม้น พระองค์เลิกขนงประหลาดพระทัย

‘นั่นวาน้อยเขียนรายการสินค้าของแต่ละแห่งหรือ ตั้งมากมาย น้องจำได้หรือกระไร’

‘หม่อมฉันชอบสอดรู้ยามเจ้าพี่ทรงงานเสมอ เป็นประโยชน์ก็ครานี้’

‘แต่จำนวนนั้น…’

‘ก็คลับคล้ายคลับคลาอยู่บ้าง ไม่ถึงกับจำได้หมดเพคะ ต้องอาศัยเจ้าพี่เขนอยู่ดี’ พระนางเงยพักตร์ขึ้นแย้มสรวลขัดเขิน ‘ให้อภัยหม่อมฉันเถิด ที่บางคราพระอาจารย์ของเจ้าพี่ก็เอางานเจ้าพี่มาสอนหม่อมฉันอยู่บ่อยๆ’

องค์ชายทอดพระเนตรราชนารีโฉมงามที่เห็นกันมาแต่เล็กแต่น้อยด้วยความรู้สึกหลากหลายท่วมท้นเป็นครั้งที่เท่าไรก็เกินนับได้ ด้วยพระนางมักมีเรื่องให้อัศจรรย์ใจได้อยู่เสมอ

‘พี่จะว่ากระไรเจ้าได้’ กัษษกรทอดพระเนตรสิ่งที่พระนางเขียน จากนั้นข้อมูลในความทรงจำจึงค่อยหลั่งไหลจากโอษฐ์ทีละน้อย ต่างผลัดกันนึก วิเคราะห์ และจารลงแผ่นเยื่อไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ

‘ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง หากไม่หนีจากความเป็นจริงเท่าไรเพคะ’

คมิกถ่วงเวลาไว้จนสุดความสามารถ สุดท้ายทั้งสองพระองค์ก็เสด็จสู่ท้องพระโรงทันเวลา

 

เชิงอรรถ :

(1) นับตามเวลาแบบบาลี-สันสกฤตว่าคืนหนึ่งมี 3 ยาม แบ่งเป็นยามละ 4 ชั่วโมง ยามแรก (ปฐมยาม) เริ่มตั้งแต่18.00-22.00 ยามสอง (ทุติยยาม) เริ่ม 22.00-2.00 และยามสาม (ปัจฉิมยาม) เริ่ม 2.00-6.00 น.

(2) หมายถึงชาวจีน ในยุคนั้นตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง

 



Don`t copy text!