แสนฟ้าพันธุ์คำ บทที่ 11 : โรงยาหลวง

แสนฟ้าพันธุ์คำ บทที่ 11 : โรงยาหลวง

โดย : ดาราวดี

Loading

แสนฟ้าพันธุ์คำ โดย ดาราวดี ผลงานจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 4 เรื่องราวของสาวชาวเหนือที่เกิดในครอบครัวชนบทที่ยากจน ทำให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้สังคมปิตาธิปไตยและการตกเขียวมนุษย์ หากแต่เธอกลับยืนหยัดถึงสิทธิในการมีชีวิตของตนเอง “แสนฟ้าพันธุ์คำ” นวนิยายที่เขียนจากเค้าโครงชีวิตจริงอีกหนึ่งเรื่องที่อ่านได้ใน anowl.co

รถยนต์พระที่นั่งค่อยๆ ขับเคลื่อนไปบนท้องถนนที่มีแต่สายหมอกปกคลุมในตอนเช้า ไม่นานก็เลี้ยวเข้าสู่เขตรั้วโรงเรียนที่เต็มไปด้วยบรรดาเด็กๆ ในชุดนักเรียนเครื่องแบบเดียวกัน ครูชาวต่างชาติที่เป็นชาวตะวันตกเสียส่วนใหญ่กำลังยืนรอรับนักเรียนอยู่ที่บริเวณบันไดทางโค้งตรงหน้าตึก

โรงเรียนคอนแวนต์สำหรับชนชั้นสูงแห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่สนามหญ้าเดียวกันกับโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีชื่อเดียวกับชื่อโรงเรียน นั่นก็คือ Our Lady of Mount Carmel’

อาคารเรียนสไตล์ตะวันตกสูงสองชั้น หลังคาทรงโดมสูงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ข้างๆ กันมีเรือนหลังเล็กๆ ของแม่ชีอธิการของโรงเรียนตั้งอยู่ เรือนไม้โบราณประดับด้วยฉลุไม้ลวดลายอ่อนช้อยและลายเรขาคณิต ส่วนอาคารหมู่ที่แยกออกจากตึกเรียนไปทางเลียบริมลำคลอง จะเป็นหอพักของนักเรียนประจำ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกหลานของพวกพวกคหบดีข้าราชการ หรือบรรดาบุตรหลานของเจ้าฟ้าต่างเมืองที่ถูกส่งมาเรียนหนังสือยังที่นี่

“สะ…สูอย่าลืมมารับข้าให้ตรงเวลานะ ขะ…ข้าบ่อยากยืนรอนานๆ”

เจ้าสุนันต่าทรงมักย้ำกับจันทร์หล้าเป็นประโยคเดิมเหมือนดังเช่นทุกวัน ซึ่งนางพี่เลี้ยงก็ได้แต่เพียงนึกขำให้กับความย้ำคิดย้ำทำของเจ้าหญิงท่าน ก่อนจะขยับจัดแจงป้ายชื่อ SUSANNA’ ที่ติดอยู่ตรงเสื้อคาร์ดิแกนให้เข้าที่ พลางตกปากรับคำเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเป็นกังวลจนเกินไป

“ข้าบ่ลืม เจ้าปลาบ่ดีเป็นกังวล ข้าจะมารอท่านอยู่หน้าตึกทันทีที่ระฆังตีเลิกโรงเรียน”

“เจ้าสิมกับเจ้าแผ่นมักล้อข้า หะ…หากว่าข้ากลับทีหลังพวกนาง”

“ข้าจะรีบมา เพื่อบ่ให้ใครล้อท่านได้ ไปกันเถอะ ใกล้จะถึงเวลาเข้าเรียนแล้ว”

ครั้นส่งเจ้าสุนันต่าขึ้นตึกเรียนเรียบร้อยแล้ว จันทร์หล้าจึงเดินกลับมาบอกพ่อบ้านให้กลับไปก่อน เพราะนางจะไปพบหมอที่โรงพยาบาลหลวงต่อ ว่าแล้วนางก็เดินกางร่มลายดอกไม้ไปตามทางเล็กๆ ด้านหลังของตัวโบสถ์ เพื่อวนอ้อมตัดผ่านป่าช้าคริสต์ซึ่งเป็นทางลัด พวกชาวเมืองเรียกที่นี่ว่า ‘สุสาน’ บางครั้งก็เรียก ‘ป่าช้า’ ป่าช้าคริสต์ไม่ได้น่ากลัวและวังเวงเหมือนป่าช้าทั่วไป ที่นี่เงียบสงบและเต็มไปด้วยดอกไม้สีแดงที่ปลูกขึ้นเต็มแปลงดิน จันทร์หล้ามักจะเดินลัดเลาะมาทางเส้นนี้เสมอ ทุกครั้งที่มีเหตุให้ต้องผ่านทางไปที่โรงพยาบาล เสียงระฆังตีเข้าชั้นเรียนดังกังวานมาเป็นฉากหลัง

จันทร์หล้าชอบโรงเรียนของเจ้าสุนันต่า ชอบพอๆ กับการได้มีโอกาสมาเดินเล่นที่ป่าช้าคริสต์แห่งนี้หญิงสาวชอบความสุขสงบของที่นี่ และรู้สึกว่าความตายของชาวคริสต์นี้บางทีก็ช่างสุนทรียะ หลุมศพทุกหลุมล้วนหันหัวไปทางทิศตะวันตก นั่นหมายถึงพวกเขาจะหันหน้ารับแสงแดดตอนเช้าทุกวัน แม้ชีพจะวางวายไปแล้วก็ตาม

ไม่อยากใช้คำว่าเดินเที่ยวชม หากแต่จันทร์หล้าอดไม่ได้ที่จะหยุดดูแผ่นป้ายบนหลุมศพแต่ละหลุมที่จะมีรูปแบบแตกต่างกันไป บนแผ่นหินแกะสลักนั้น นอกจากจะมีรายนามของเจ้าของร่างที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ ก็ยังมีถ้อยคำอาลัยที่ถูกสลักจารึกไว้บนแผ่นหินพวกนั้นด้วย

เจ้าสุนันต่าเคยบอกกับนาง ส่วนใหญ่ร่างที่ถูกฝังยังป่าช้าคริสต์แห่งนี้ เป็นชาวต่างชาติผู้เดินทางจากบ้านมาไกลยังอีกซีกโลกหนึ่ง ฉะนั้นแล้วการเสียชีวิตที่ต่างแดนก่อนจะกลับถึงบ้านจึงเป็นอะไรที่เศร้าสร้อยมาก คำจารึกบนหลุมศพส่วนใหญ่จึงมักเป็นคำอาลัยที่ทั้งแสนซึ้งและปลอบประโลมใจคนอ่านไปพร้อมๆ กัน ซึ่งบางครั้งขบขัน บางครั้งก็แสนเศร้า

การได้มารับส่งเจ้าสุนันต่าที่โรงเรียนเป็นประจำทุกวัน ทำให้จันทร์หล้าได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ หลายอย่าง และได้ซึมซับกับคำว่าโรงเรียนอย่างไม่รู้ตัว พานทำให้นึกถึงบรรยากาศของการท่องจำ การขีดเขียนเรียนตำราหนังสือ แถมการติดตามเจ้าหญิงมาโรงเรียนยังทำให้ทั้งสองสนิทสนมกันมากขึ้น

แม้หลายคนจะมองว่าการรับมือกับเจ้าหญิงขี้โรคที่เอาแต่พระทัยนั้นจะเป็นเรื่องยาก แต่นางกลับมองว่าท่านเป็นเพียงเด็กสาวที่ต้องการความรักและการเอาใจใส่ ด้วยเพราะเป็นลูกคนกลางที่ไม่มีอะไรโดดเด่นสู้พี่ชายได้ ส่วนพระมารดาก็มัวแต่ดูแลอนุชาที่ร่างกายพิการ จนบางทีละเลยดูแลเอาใจใส่ เจ้าสุนันต่าเลยแสดงออกมาว่าเป็นคนเอาแต่ใจในบางครั้ง แต่แท้จริงแล้วท่านเป็นเด็กที่น่ารักและมักห่วงใยคนอื่น แม้จะเป็นคนขี้กังวลในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น เรื่องสีของโบผูกผมที่จะต้องไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน หรือพระกระยาหารที่เป็นเนื้อปลาจะต้องเอาก้างออกจนหมดเท่านั้นจึงจะทรงยอมเสวย

สองข้อเท้าเล็กขาวโผล่เลยปลายผ้าซิ่นก้าวไวฉับๆ ไปตามทางเล็กๆ จนกระทั่งมาโผล่ตรงสามแยกวัดแขก ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวแขกขาว แขกดำและชาวจีน และเพราะเป็นย่านเขตการค้าเสรี เลยทำให้มีศาสนสถานตั้งอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งมัสยิด เทวาลัยและศาลเจ้าจีนก็จัดตั้งอยู่ในแหล่งบริเวณเดียวกัน

บนท้องถนนเวลานี้เต็มไปด้วยผู้คนขวักไขว่และยานพาหนะของผู้คนที่สัญจรไปมา ทั้งเกวียน สามล้อและรถประจำทางเก่าๆ กลางถนนมีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบสีเขียวขี้ม้าคอยโบกรถให้คนข้าม

โรงพยาบาลหลวงของแสนฟ้าอยู่ตรงข้ามกับวัดแขก ชื่อว่าโรงพยาบาลหลวงเพราะมีเจ้าฟ้าเป็นผู้อุปถัมป์ โรงพยาบาลเป็นอาคารชั้นเดียวสภาพกลางเก่ากลางใหม่ ทาผนังด้านนอกเป็นสีฟ้าแต่กลับทาสีเขียวที่ผนังด้านใน ภายในอาคารมีทั้งห้องตรวจรักษาไข้ ห้องผ่าตัดและห้องพักผู้ป่วยจัดอยู่เป็นส่วนๆ ตลอดปีกซ้ายขวาของตัวอาคาร โรงพยาบาลหลังใหญ่หากแต่มีหมอประจำอยู่เพียงคนเดียว พร้อมกับพยาบาลผู้ช่วยสาวชาวกะเหรี่ยงที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อีกสี่คน

“ท่านหมออยู่ที่ห้องยา”

นางพยาบาลคนหนึ่งเงยหน้าขึ้นมาจากสมุดระเบียนคนไข้ แจ้งบอก จันทร์หล้ากล่าวขอบคุณหล่อน ก่อนจะเดินมาตามโถงทางเดินที่เป็นทางเชื่อมไปยังส่วนปีกของอาคารที่เงียบเชียบ ระหว่างเดินผ่านห้องพักผู้ป่วยที่มีเตียงคนไข้อยู่ประมาณสิบเตียง หญิงสาวก็อดไม่ได้ที่จะหวนรำลึกถึงตอนที่ตนเองเคยมารักษาตัวอยู่ที่นี่

…ณ เตียงคนไข้หมายเลขสี่ จันทร์หล้าเคยเป็นผู้ป่วยอนาถาไร้ญาติ นอนหายใจรวยรินและมีชีวิตอยู่ได้วันต่อวันด้วยยาเม็ดควินินและแอลกอฮอล์ล้างแผลเท่านั้น

นางนอนสลบไปเป็นอาทิตย์จากอาการไข้สูงและบาดแผลฉกรรจ์ จนกระทั่งร่างกายรักษาตัวเองในที่สุด อาการจึงค่อยๆ ทุเลาลง กำลังวังชาค่อยๆ ฟื้นกลับคืนมา แต่ทว่า เมื่อตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ก็ต้องพบว่าตนพลัดถิ่นมายังดินแดนแห่งใหม่แห่งนี้เสียแล้ว

หญิงสาวเดินตามทางเดินมาเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงสวนหย่อมที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ที่ตรงนั้นมีชุดโต๊ะเก้าอี้น้ำชาเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงมุมของน้ำพุและสวนดอกไม้ จันทร์หล้าหวนรำลึกอีกครั้ง ไม่เคยลืมว่าที่ตรงนั้นเคยเป็นที่ที่นางได้พบกับเจ้าชายาเป็นครั้งแรก และได้กราบถวายตัวเป็นข้ารับใช้ของท่านที่นั่น

ในวันนั้น นางพยาบาลพานางออกมาที่สวนหย่อมทั้งชุดคนไข้ เพื่อมาพบกับหมอกุปป้าที่กำลังนั่งดื่มน้ำชาและปราศรัยอยู่กับหญิงสูงศักดิ์แปลกหน้า ท่านแต่งกายด้วยเสื้อผ้าไหมปักลายและนุ่งซิ่นแพรปังลิ้นสีฟ้าลายนกยูงรำแพนหาง จัดแต่งทรงผมดำขลับแค่เกล้ามวยเรียบๆ ไว้ที่ท้ายทอย

‘หากรักษาตัวหายดีแล้ว สูมีที่ไปหรือไม่’

สตรีท่านนั้นถามออกคำแรกเมื่อเห็นนางมาถึง แม้จะเป็นสำเนียงที่แตกต่างอยู่พอสมควร แต่ก็พอเข้าใจได้ จันทร์หล้าที่นั่งคุกเข่าอยู่บนพื้นหญ้าส่ายหน้าว่าไม่มีที่จะไป หากนางพยาบาลที่นั่งอยู่ด้านหลังรีบเข้ามาสะกิดว่าให้พูดตอบท่านเป็นสำเนียงวาจาด้วยเป็นธรรมเนียมมารยาท

‘บ่มีเจ้า’

‘ขยับเข้ามาให้ข้าเห็นหน้าตาใกล้ๆ ที’

ว่าแล้วเรียวมือบางที่หอมอวลไปด้วยกลิ่นดอกไม้สูงส่งก็ยื่นมาแตะจับเข้าตรงคาง ก่อนจะเอียงดูซ้ายขวา พินิจใบหน้าอันซูบผอมและซีดเซียวของคนป่วยเป็นเวลาเนิ่นนาน แล้วจึงให้ความเห็น

‘หน้าตาและสำเนียงภาษาบ่ใช่คนถิ่นนี้ เอาเถอะ คนเขาฝากฝังสูไว้กับข้าแล้ว สูไปอยู่กับข้า’

‘เจ้านางท่านนี้คือคนที่คอยอุปถัมภ์นางมาตลอดระยะเวลาที่รักษาตัวอยู่ที่นี่…’ ท่านหมอกุปป้าเอ่ยแนะนำตัวสตรีท่านนั้นกับจันทร์หล้า ‘…เจ้านางท่านจะเมตตารับนางเข้าไปอุปการะต่ออยู่ในตำหนักของท่าน นางจะไปกับท่านหรือไม่’

‘ไปเจ้า’ หญิงสาวลนลานตอบรับข้อเสนอจนเสียงสั่นแบบไม่ต้องยั้งคิด แค่ได้ยินว่าไม่ใช่ชายแดนที่เคยถูกจับตัวไปอยู่ก่อนหน้านั้นก็ถือว่าไปได้ทั้งหมด

‘แต่ไปอยู่กับท่านบ่ใช่อยู่เปล่า ต้องทำงานรับใช้ท่าน เป็นข้ารองบาททำงานทุกประการตามแต่ท่านจะสั่ง สวามิภักดิ์ต่อท่าน ปฏิบัติต่อท่านอย่างซื่อสัตย์ อย่าได้คิดคดทรยศท่านเด็ดขาด นางทำได้หรือไม่’

‘ข้าเจ้าทำได้…’

‘ดี สูชื่อว่าใด’ เจ้านางที่ประทับอยู่บนเก้าอี้ก็ทรงพยักหน้าลง ยิ้มพราย หันมาถาม

‘ข้าเจ้าชื่อจันทร์หล้า’

‘เอาละจันทร์หล้า พรุ่งนี้ข้าจะส่งคนมารับสู สูบ่ต้องเป็นกังวล จงเตรียมตัวไว้ หมอกุปป้าจะช่วยสูจัดการทุกอย่าง’

‘กราบบาทเจ้าท่านเสียสิ นี่คือ เจ้าสอาดองค์…ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่นาง’

สิ้นเสียงท่านหมอ หญิงสาวรีบยกมือพนมขึ้นเหนือหัวแล้วก้มลงกราบแทบบาทที่โผล่เลยซิ่นแพรผืนงาม สะอื้นร่ำไห้ด้วยใจตื้นตันจนน้ำตาไหลหยดนองพื้น ก่อนจะเงยหน้าขึ้นมาสบพระเนตรพระแม่อารี ผู้มีใบหน้าและพระนามที่แสนไพเราะกว่านามใดที่เคยได้ยินมาในโลกหล้า

…สอาดองค์

 

นายแพทย์ชาวอินเดียกำลังง่วนอยู่กับกระปุกยาเล็กๆ นับร้อยที่วางเรียงรายอยู่ในตะกร้าพลาสติก ครั้นพอเงยหน้าขึ้นมาก็เห็นหญิงสาวที่เคยคุ้นหน้าคุ้นตามายืนด้อมๆ มองๆ อยู่ตรงช่องกระจก เห็นดังนั้นแล้ว เขาจึงกุลีกุจอเปิดประตูออกมาทักทายนางอย่างประหลาดใจ

“เฮ้ ดูซิว่าใครมาหาหมอแต่เช้า แมวน้อยเก้าชีวิตนี่เอง”

“ข้าเองท่านหมอ” จันทร์หล้ายิ้มแย้มตอบ

“กลับมาจากหมอกใหม่ตั้งแต่เมื่อไหร่กันล่ะ”

“กลับมาตั้งแต่อาทิตย์ก่อนแล้วท่านหมอ”

“เห็นเจ้าอามท่านเงียบๆ ไป หมอเลยคิดไปว่าท่านยังบ่ทันกลับมาจากต่างเมืองเสียอีก”

“เจ้านางท่านมีพระญาติตามมาจากหมอกใหม่ พวกท่านเพิ่งกลับไปเมื่อวานนี้นี่เอง” ว่าแล้วหญิงสาวก็จึงหยิบของจากในถุงผ้าออกมามอบให้ “…เจ้าอามฝากมาให้ท่าน เป็นของฝากจากเมืองหมอกใหม่”

“โอ้ ว้าว ยินจ่มข้า ยินจ่มข้า”

หมอกุปป้ากล่าวขอบคุณเป็นสำเนียงภาษาอังกฤษผสมไทอย่างกระตือรือร้น ก่อนจะรับของมาเปิดดู ด้านในกล่องที่ห่อด้วยกระดาษลูกฟูก เป็นชุดกาน้ำชาและจานกระเบื้องลวดลายเข้าชุด อีกผ้าพันคอขนสัตว์เนื้อดีมีราคาอีกผืน นี่คงจะเป็นของฝากที่เจ้านางท่านประทานมอบให้ภรรยาของเขาด้วยเช่นกัน

“โปรดเรียนเจ้านาง ว่าวันมะรืนหมอกับภรรยาจะขอเข้าเฝ้าท่านที่หอตอนช่วงบ่าย”

หญิงสาวพยักหน้ารับทราบ ก่อนจะเดินตามท่านหมอไปยังอีกฝั่งของอาคาร เข้ามาในห้องตรวจไข้ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ภายในมีเตียงตรวจ ผ้าม่านและโต๊ะเก้าอี้ที่ตั้งอยู่ตรงมุม

นอกจากอุปกรณ์รักษาทางการแพทย์แล้ว ภายในห้องนั้นยังมีหิ้งบวงสรวงที่ทำด้วยไม้ขนาดพอดีประดับอยู่ ด้านบนมีเครื่องสังเวยที่เป็นผลไม้ พวกกล้วย อ้อย อีกขนมหวานและพวงมาลัยดอกดาวเรือง วางสักการะด้านหน้ารูปวาดเทพีทางศาสนาฮินดูองค์หนึ่ง พระองค์มีแปดกรและประทับนั่งอยู่บนหลังเสือ

“ข้าฝันถึงเรื่องเก่าๆ อีกแล้วท่านหมอ แถมเห็นภาพแปลกๆ อยู่บ่อยๆ หูก็แว่วได้ยินแต่เสียงดนตรี”

“แล้วยาแก้โศกที่หมอให้ไปก่อนหน้านี้ล่ะ…”

“ยังทานอยู่ บ่ขาดเลยสักวัน” หญิงสาวเสียงแผ่วลง “…แต่ก็ยังฝันเห็นตอนที่ถูกคนพวกนั้นทำร้ายอยู่ดี”

“ตื่นขึ้นมาตอนกลางดึกบ่อยๆ ด้วยใช่ไหม”

จันทร์หล้าพยักหน้าว่าใช่ “…แถมบางทีข้าก็ยังรู้สึกเจ็บปวดที่แผลเก่าอีกต่างหาก”

ว่าแล้วหมอกุปป้าก็ขอใช้หูฟังแพทย์เพื่อตรวจฟังการเต้นของหัวใจ ก่อนจะให้หญิงสาวขึ้นไปนอนบนเตียง เพื่อตรวจดูรอยแผลเป็นที่ดูเหมือนตะขาบตัวใหญ่ที่กำลังนอนซ่อนตัวอยู่บนศีรษะ แผลเป็นยาวถึงสิบเอ็ดเข็มนี้ท่านเย็บและตัดไหมเองกับมือ ระหว่างที่เคาะๆ ไปรอบๆ ศีรษะ หมอก็ถามคนไข้อีกครั้งว่ารู้สึกเจ็บตรงไหนหรือไม่

“แผลบ่แดง บ่อักเสบ หายสนิทดีแล้วนี่นา บ่มีอันใดน่าเป็นห่วง”

“แล้วเหตุใด บางครั้งข้าถึงยังรู้สึกเจ็บอยู่หนอท่านหมอ”

“ที่ว่าเจ็บแปลบที่แผลเป็นครั้งคราว นั่นอาจจะเป็นเพราะจิตใต้สำนึกยังสั่งร่างกาย”

“จิตสั่งกายหรือ”

“ใช่ จิตสั่งกาย มักจะเกิดจากความวิตกกังวลของคนไข้ แต่ก็…บ่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงอะไรมากนัก แต่ส่วนที่หมอเป็นกังวล คือการที่นางยังฝันเห็นเรื่องเลวร้ายในอดีตซ้ำๆ นั่นต่างหาก”

“ทำไมหรือ”

“การฝันเห็นถึงอดีตหรือเรื่องราวครั้งเก่าซ้ำๆ มันเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า จิตใจของนางยังเก็บงำเรื่องราวบางอย่างไว้ในใจ และเป็นสัญญาณเตือนว่าเรื่องราวเหล่านั้น ต้องได้รับการรักษาเสียที”

ใบหน้างามละห้อยลงอย่างเลื่อนลอย “ข้าจะหายขาดจากโรคนี้ไหม อาการมันเป็นๆ หายๆ ตอนอยู่ที่แสนฟ้ามันหายไป แต่พอไปหมอกใหม่มันกลับเป็นหนัก”

“จะรักษาโรคพวกนี้ต้องใช้เวลาและกินหยูกยาควบคู่กับการทำจิตใจให้เข้มแข็ง บางทีการได้ไปเยือนเมืองหมอกใหม่อาจจะทำให้นางไปเจอสิ่งที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำ ภาพเก่าๆ เหล่านั้น มันก็เลยยังย้อนวนกลับไปกลับมา ที่ภาษาหมอเรียกว่า แฟลชแบ็ก

“หรือว่า ข้ายังมีเรื่องอันใดที่ยังติดค้างคาใจอยู่อีกหรือ” หญิงสาววินิจฉัยตัวเองเสียงเบา

“ก็อาจจะมีส่วน…” ท่านหมอเม้มริมฝีปากแล้วยิ้มอารี “นางอยากเล่าให้หมอฟังอีกไหมล่ะ”

ว่าแล้วหมอกุปป้าก็รีบเรียกหานางพยาบาล เพื่อจะสั่งให้ไปเตรียมยาและเตียงไว้ยังห้องตรวจไข้อีกห้องหนึ่ง ท่านหยิบเอาสมุดเล่มหนาเล่มหนึ่งขึ้นมาจากลิ้นชักใต้โต๊ะ จันทร์หล้าแอบชำเลืองมองสิ่งที่หมอจดลงไปอยู่ในที หากแต่ก็อ่านลายมือหมอไม่ออก

เขาเงยหน้าขึ้นมาถาม

“หากจำเป็นที่จะต้องกลับไปนึกถึงเรื่องเหล่านั้นอีกครั้ง นางพร้อมที่จะกลับไปนึกถึงมันใช่ไหม…”

“ข้าต้องรื้อฟื้นความทรงจำอย่างนั้นหรือ ทั้งหมดเลยหรือ”

“ใช่ เพราะหมอต้องการให้นางเล่ามันออกมาให้หมด ต่อจากครั้งก่อนที่นางเล่าว่าถูกพวกโจรจับตัวไปไว้ที่เซฟเฮาส์แถวชายแดน ตอนนั้น พวกมัน…แตะต้องร่างกายนางหรือไม่”

หมอเลี่ยงคำว่าข่มขืน หากแต่จันทร์หล้าก็เข้าใจ นางส่ายหน้า

“บ่ได้แตะต้องตัวหรอกท่านหมอ แต่พวกมันพาข้าไปขาย”

หมอกุปป้าเพียงชะงักไปเพียงครู่ พยายามสำรวมท่าทาง ก่อนจะเขียนบันทึกลงไปในสมุดเล่มนั้น

“เอาละ นางตามหมอมา”

 



Don`t copy text!