เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ “หญิงสาวจากโอริสสา”

เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ “หญิงสาวจากโอริสสา”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

ผลสอบบรรจุนายตำรวจแห่งเบงกอลประกาศหลังจากวันสอบเพียงไม่นาน ลีรอยเบิกบานที่สอบได้ หากก็ไม่เต็มที่เพราะวิลเลียมพลาดหวัง สอบได้ลำดับที่สี่

“เขารับแค่สามเท่านั้น” วิลเลียมพึมพำเสียดายแต่รีบสลัดอารมณ์หม่นทิ้งโดยเร็ว “ฉันยินดีกับนายด้วย ลีรอย”

“ฉันไม่คิดว่าจะสอบติด คะแนนเราคงห่างกันไม่มาก ถ้าฉันสละสิทธิ์ นายก็จะได้ตำแหน่งแทน”

น้ำเสียงลีรอยจริงจังจนวิลเลียมต้องรีบปราม

“นายอย่าทำอย่างนั้นนะ ถ้าฉันได้เป็นตำรวจเพราะนายสละสิทธิ์ ฉันก็คงไม่สบายใจเหมือนกัน”

“ฉันว่าลีรอยคิดถูกแล้ว” เบ็ตตี้เอ่ยขึ้นมา “ลีรอยไม่ได้ตั้งใจจะเป็นตำรวจอยู่แล้วนี่ แค่สมัครสอบเป็นเพื่อนเธอเท่านั้น” หล่อนปรายตาไปยังลีรอยแทนคำพูดว่า…จริงไหม…ก่อนจบประโยคว่า “ถ้าลีรอยไม่สอบด้วย คนที่ได้อันดับสามก็ต้องเป็นเธอ วิลเลียม”

“ปกติแล้ววิลเลียมเก่งกว่าฉันหลายเท่า” ลีรอยปรารภขึ้นมาเรียบๆ หากประโยคต่อมาเขาจงใจว่าไปยังหญิงสาวหนึ่งเดียวในที่นี้ “ถ้าวิลเลียมไม่ต้องคอยพะวงเรื่องของเธอ เขาก็คงสมองปลอดโปร่ง ทำข้อสอบได้ดีกว่านี้”

น้าอีวานเห็นเบ็ตตี้คอแข็งขึ้นมาและลีรอยเหมือนจะไม่ยอมลงให้ เลยรีบตัดบทด้วยการถามถึงแผนการต่อไปในอนาคต

“หลานจะทำยังไงต่อไป กลับอังกฤษ หรืออยู่ที่นี่”

วิลเลียมนิ่งไปไม่นานนักก็ให้คำตอบ เพราะเขาเคยเผื่อใจอยู่ว่าถ้ามีเหตุอันใดทำให้เขาสอบตำรวจไม่ได้ ก็มีสิ่งที่ใคร่ทำ เป็นอีกหนึ่งความปรารถนาในชีวิต

“ผมจะอยู่ที่นี่ รอสอบครั้งใหม่” วิลเลียมกวาดสายตาไปทั่วทุกหน้าบนโต๊ะอาหารแล้วมาจบที่น้าชาย “ระหว่างนี้ผมจะไปที่ติรุเนลเวลลี ผมอยากเห็นโบสถ์ที่พ่อสร้าง”

น้าอีวานพยักหน้าอย่างเข้าใจความคิดของหลานชายทะลุปรุโปร่งโดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากกว่านั้น

“ผมอ่านบันทึกของพ่อกับตาหลายเที่ยว นี่เป็นโอกาสดีที่สุด”

เบ็ตตี้ยังฉงนในขณะที่ลีรอยนึกถึงบันทึกเล่มนั้นออก

มันเป็นหนังสือที่วิลเลียมติดตัวไว้เสมอไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ผู้เขียนเล่มหนึ่งคือบิดาของเขา เล่าเรื่องราวชีวิตของสาธุคุณชาวอังกฤษผู้มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่เมืองติรุเนลเวลลี ทางใต้ของอินเดีย วิลเลียมจึงเรียกมันว่าเป็น ‘บันทึกของพ่อ’ และอีกเล่มหนึ่งเขียนโดยผู้เป็นตา

“หลายเรื่องในนั้น พ่อของหลานแปลจากภาษาทมิฬ” น้าอีวานบอก…เมื่อเอ่ยถึงภาษาทมิฬ เขาออกเสียงคล้ายๆ…ตามิล…มากกว่า “น้าชายพยายามฝึกฝนเรียนภาษาทมิฬด้วยตนเองจนแตกฉาน”

“ผมจะขอรบกวนน้าอีวานจองตั๋วรถไฟให้ผมหน่อย”

“อย่าห่วงเรื่องนั้นเลยหลาน น้ามีคนที่รู้จักทำงานที่สถานีรถไฟ จองชั้นหนึ่งนะ จะได้นั่งสบายหน่อย หลานคิดว่าจะเดินทางตอนไหนล่ะ”

“ได้เร็วเท่าไรยิ่งดีครับ แต่น้าอีวานไม่ต้องซื้อตั๋วชั้นหนึ่งหรอก ชั้นสามผมก็นั่งได้”

คราวนี้น้าอีวานส่ายหน้าน้อยๆ อมยิ้มมองด้วยแววตาเวทนาเด็กผู้ยังไม่รู้เดียงสา

“หลานยังไม่รู้จักรถไฟอินเดีย มันไม่เหมือนที่อังกฤษหรอกนะ”

“จากบันทึกของพ่อ และที่ผมเห็นมากับตาเมื่อมาถึงนี่ คนที่นี่ก็ยังแบ่งชนชั้นวรรณะกันอยู่นี่ครับ คนต่างวรรณะกัน เขาไม่ยอมนั่งปนกันบนรถไฟแน่ๆ”

น้าอีวานหัวเราะหึซ่อนคำตอบ ทิ้งท้ายไว้เพียง

“บางเรื่อง…เราก็จะรู้และเข้าใจเมื่อได้ประสบด้วยตนเอง”

 

ชาวอังกฤษสามคนเป็นหนุ่มสองหญิงหนึ่งหิ้วกระเป๋าเดินทางคนละใบมาถึงตั้งแต่สถานีรถไฟยังไม่เปิด ทว่าคนรอซื้อตั๋วเบียดเสียดเยียดยัดแออัดอยู่หน้าช่องขายตั๋วจนแทบไม่มีที่ว่างให้แทรกเข้าไป หากกระนั้นบางคนก็นั่งเอนสบายสูบบารากู่เพลินใจ พ่นควันกลิ่นฉุนเป็นสายให้ลอยคลุ้งไปในอากาศ

เบ็ตตี้มองภาพตรงหน้าอย่างเวทนา เหมือนขอทานยาจกกำลังรออาหารจากโรงทาน ในขณะที่วิลเลียมยังบ่นลีรอยไม่หยุดปาก

“นายมันบ้าไปแล้ว ไม่ควรทำอย่างนี้…ไม่ควรเลยจริงๆ”

“นายก็บ้าเหมือนกัน” ลีรอยสวน “เพราะนายไม่ไปรายงานตัว ไอ้คนลำดับที่ห้าเลยได้บรรจุแทน”

“สรุปว่าเราบ้ากันทั้งคู่” วิลเลียมจบเรื่องด้วยเสียงหัวเราะ

ทันใดนั้นความเคลื่อนไหวก็ปรากฏแก่สายตา คนมากมายที่ออแน่นอยู่แล้วยิ่งเบียดดันเข้าไปที่ช่องขายตั๋วเมื่อประตูบานเล็กเปิดออก มือผอมดำกำเงินยื่นเข้าไปแทบกระแทกหน้าพนักงานขายตั๋ว

“ยังกะขอทาน” เบ็ตตี้อดปากไว้ไม่อยู่

หน้าช่องขายตั๋ววุ่นวายเป็นกาหล พนักงานขายตั๋วมือเป็นระวิง ทั้งรับเงิน ออกตั๋ว และคอยปัดป่ายมือที่แทรกแซงเข้ามาอย่างไร้ระเบียบ แล้วยังต้องตะโกนเตือนอยู่เป็นระยะทั้งที่รู้ว่าไร้ผล ความสับสนดำเนินไปพักใหญ่จึงสงบลงเมื่อตั๋วขายหมด ผู้ที่ได้ตั๋วกรูกันไปที่ชานชาลา ส่วนผู้ที่พลาดบางคนกลับบ้าน บางคนก็ปักหลักใกล้ๆ รอซื้อตั๋วรอบต่อไป

วิลเลียมจำชายผอมผู้สูบบารากู่นั้นได้ เห็นแกทรุดตัวลงกับพื้นตั้งท่าจะสูบรอบใหม่ จึงบอกกับลีรอยขันๆ

“ถ้าแกไม่เอาแต่สูบยา ก็คงเข้าไปแย่งซื้อตั๋วได้สักใบหรอก”

เบ็ตตี้ไม่ขันด้วย หล่อนอยากหลีกหนีไปจากตรงนี้ไวๆ ดีแล้วที่ตาแก่ขี้ยาผู้นั้นมิได้โดยสารไปเที่ยวเดียวกับหล่อน

“เราไปที่ชานชาลากันเถอะ แค่ซื้อตั๋วยังขนาดนี้ ฉันไม่อยากนึกเลยว่า ตอนอยู่บนรถไฟจะเป็นอย่างไร”

ความหวาดระแวงของเบ็ตตี้ประจักษ์ชัดในนาทีที่ทั้งสามลุถึงชานชาลา จังหวะเดียวกับที่รถไฟเข้าเทียบ ผู้โดยสารชั้นสามก็กรูกันขึ้นไปจับจองที่นั่งเหมือนฝูงแกะโง่ๆ ถูกต้อนเข้าคอก จะกระแทกกระทั้นกันอย่างไรไม่มีใครสน หญิงสาวเห็นบางคนถีบถองกันที่ทางขึ้น บางคู่ก็วางมวยกันเพราะแย่งที่นั่ง โยนสัมภาระออกมานอกหน้าต่างเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้กลับลงไปเอา ไม่มีใครสนใจกฎหรือกติกาใดๆ

“อย่างนี้เองเล่า น้าอีวานถึงว่า รถไฟเป็นที่สลายวรรณะของคนอินเดีย” วิลเลียมปรารภขึ้นมา

“นั่นสิ คนชุดขาวนั้นเป็นพราหมณ์แน่ๆ แต่ที่เหลือไม่รู้ว่าอยู่วรรณะไหนกันบ้าง” ลีรอยหัวเราะออกมา “บันทึกของพ่อนายบอกว่า ชนชั้นอื่นต้องอยู่ห่างจากพราหมณ์อย่างน้อยสามเมตรไม่ใช่เหรอ”

“คงไม่มีทางแล้วละ” วิลเลียมว่า มองเข้าไปยังขบวนรถที่บัดนี้ที่นั่งเต็ม คนที่เหลือจึงต้องยืนและโหนราวเบียดกันแน่นจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ ส่วนที่ยังค้างอยู่ก็ปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคา

“ว้าย!” เบ็ตตี้ร้องขึ้นมา “อย่าบอกนะว่าจะเกาะอยู่บนนั้นตอนรถไฟวิ่ง ได้ร่วงลงมาตายกันบ้างหรอก ฉันทนเห็นอะไรแบบนี้ไม่ไหวแล้ว เรารีบไปที่โบกี้ของเราเถอะ หวังว่ามันจะศิวิไลซ์กว่านี้นะ”

ความวุ่นวายเริ่มซาลงเมื่อเดินห่างออกมาจากชานชาลาชั้นสาม แต่ยังห่างไกลจากคำว่าสงบ เพราะเสียงนกหวีดจากการ์ดรถไฟที่กรีดแหลมพร้อมร่างใหญ่หน้าตาถมึงทึงดังอยู่เป็นระยะ คอยจัดการผู้โดยสารชั้นสามที่ไม่ได้ที่นั่งจึงทะลึ่งเข้ามาถึงชั้นหนึ่ง

วิลเลียม เบ็ตตี้ และลีรอยทิ้งตัวลงบนที่นั่งตู้โดยสารชั้นหนึ่งอย่างโล่งใจที่ไม่ต้องเผชิญปัญหาแย่งชิงที่นั่ง เก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง ดูผู้โดยสารที่ทยอยขึ้นรถไฟ จากเครื่องแต่งกายบอกได้ทันทีว่าเป็นผู้มีฐานะ ห่างไกลจากผู้โดยสารชั้นสามที่มองไปทางใดก็เห็นแต่ความอัตคัดแผ่ไปทุกกระเบียดนิ้ว

สายตาสามคู่จับจ้องไปยังจุดเดียวกัน

ชายร่างกำยำสี่คนแต่งกายอย่างคนรับใช้บ้านผู้มีอันจะกินแบกเสลี่ยงคันหนึ่งเคลื่อนเข้ามา ผ้าขาวปิดกั้นไว้โดยรอบไม่เห็นว่าผู้อยู่ด้านในคือใคร ต่อเมื่อเสลี่ยงหยุดที่ชานชาลา ชายอีกคนใครเครื่องแต่งกายภูมิฐาน นัยว่าน่าจะเป็นหัวหน้าพ่อบ้านหรือองครักษ์ก็แหวกม่านขาวให้สตรีร่างบางในพัสตราภรณ์งามวิจิตรก้าวลงมา

ประกายจากเครื่องประดับกระทบสายตา เช่นเดียวกับเสียงกรุ๋งกริ๋งจากเครื่องประดับเหล่านั้นกระทบหูตลอดอิริยาบถที่หล่อนก้าวลงจากเสลี่ยงมาหยุดยังที่นั่งบนรถไฟ ข้างกับผู้โดยสารชาวอังกฤษสามคน

คนรับใช้ของหล่อนเก็บสัมภาระให้แล้วก็ยังยืนระวังตรง คอยอารักขาผู้เป็นนาย จนกระทั่งถึงเวลารถไฟออก เขาจึงก้าวลงไปในวินาทีสุดท้าย

หญิงสาวผู้นั้นระบายลมหายใจยาวอย่างโล่งใจ เป็นลมหายใจที่บอกว่านี่ถึงเวลาที่หล่อนรอคอยเสียที

เวลาของการได้อิสรภาพ

รอยยิ้มเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพอย่างดี เพียงเวลาไม่นานหล่อนก็แนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ชาวอังกฤษ

“ฉันชื่อ มัลลิกา”

“พวกเราเห็นขบวนที่มาส่ง แต่ไม่คิดว่าคุณจะเดินทางคนเดียว” วิลเลียมเอ่ยออกมา หากไม่วายชำเลืองไปยังที่นั่งอื่นว่าจะมีคนของหล่อนอยู่บนขบวนรถอีกหรือไม่ นัยว่าคอยอารักขาอยู่ห่างๆ

มัลลิกาพอจะเดาสายตาท่าทางของหนุ่มอังกฤษออก จึงบอกขันๆ

“ไม่มีคนอื่นซุ่มอยู่ตรงไหนหรอก ฉันเดินทางคนเดียว รู้ไหม…ฉันรอเวลานี้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เวลาที่จะได้เป็นอิสระกับตัวเองบ้าง แม้จะเป็นแค่ชั่วเวลานั่งรถไฟก็เถอะ”

“ภาษาอังกฤษของคุณดีมาก” วิลเลียมเอ่ยชม

“เป็นความต้องการของบริติชราชมิใช่หรือคะ” หล่อนไม่เชิงย้อนแต่ก็ซ่อนนัยบางอย่างในน้ำเสียงที่คนฟังยังนึกไม่ออกว่าคืออะไร

“พอจำความได้ ฉันก็หัดพูดภาษาอังกฤษ พร้อมกับที่ฉันต้องเรียนภาษาฮินดี บาลี สันสกฤต หรือตามิล”

คำสุดท้ายวิลเลียมรู้แล้วว่าหมายถึงภาษาทมิฬ

“คุณรู้หลายภาษาดีจัง” ลีรอยเอ่ยชม

“รู้มาก…ก็ช่วยให้คุยกับคนอื่นได้มาก เข้าใจคนอื่นได้มาก” หล่อนเว้นจังหวะไปนิดหนึ่งก่อนพูดต่อ “อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีหลายภาษา หลายวัฒนธรรม ฉันอยากรู้ให้ได้มากที่สุด แต่ตอนนี้ฉันคิดว่า…ฉันสนใจภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาอื่น”

เบ็ตตี้คอแข็งขึ้นมาเมื่อเห็นว่าสายตาของมัลลิกาที่มองมายังวิลเลียมเป็นประกายวาว

“ภาษาของเราเพราะมาก คุณคงสนใจเพราะอย่างนี้ แต่เท่าที่คุณใช้ก็ดีมากแล้ว ฉันคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่านี้ก็ได้” เบ็ตตี้ดักคอ

“พูดถึงเพราะแล้ว ฉันว่าภาษาฝรั่งเศสเพราะกว่านะคะ” มัลลิกาแสดงความเห็นปนสนุก ทว่าเบ็ตตี้มั่นใจว่าถูกย้อน

“ขออภัยที่เสียมารยาท ไม่ทราบว่าคุณมีครอบครัวหรือยังคะ ทราบมาว่าทางถิ่นนี้แต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย”

“ยังค่ะ ดิฉันโสด” แม้จะตอบคำถามเบ็ตตี้แต่สายตาของมัลลิกาส่งไปยังวิลเลียม “และยังไม่มีคู่หมั้น”

“คุณจะเดินทางไปไหนครับ” วิลเลียมพยายามแก้เก้อด้วยการถามปลายทางของหล่อน “พวกเราจะไปที่ติรุเนลเวลลี”

แววปราโมทย์ปรากฏบนดวงหน้าของมัลลิกา

“จริงหรือคะ ช่างบังเอิญเสียจริง ที่ปลายทางของฉันก็เป็นติรุเนลเวลลี”

“คุณอยู่ที่นั่นเหรอครับ” น้ำเสียงของวิลเลียมตื่นเต้น

“มิได้ค่ะ แต่ญาติของฉันอยู่ที่นั่น ไปคราวนี้ฉันก็พักกับญาติ” หล่อนทำท่านึกอยู่ครู่หนึ่งก็เสนอขึ้นมา “ถ้าพวกคุณยังไม่มีที่พัก ดิฉันขอเชิญนะคะ ถ้าเป็นแขกของดิฉัน จะพักกี่คืนก็ได้”

คำเชื้อเชิญของมัลลิกาตอกย้ำว่าหล่อนมีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับใด

“คุณไปเยี่ยมญาติเหรอครับ” วิลเลียมถามต่อ

“ไม่เชิงหรอกค่ะ ฉันตั้งใจจะไปดูโบสถ์เซนต์ปอล” มือเรียวที่เขียนลวดลายเฮนน่าจนพร้อยประดับด้วยแหวนทุกนิ้วและต่อสายมายังกำไลหลายวงล้วงเข้าไปในกระเป๋าใบเล็ก หยิบหนังสือเล่มหนึ่งออกมาที่พอวิลเลียมเห็นหน้าปกก็รู้ทันทีว่าเป็นบันทึกของพ่อ แต่เป็นฉบับภาษาทมิฬ

“ท่านสาธุคุณแอชลีย์บันทึกไว้ในนี้สนุกมาก จนฉันอยากไปเห็นกับตาตัวเองสักครั้ง ถ้าโชคดี อาจได้พบท่านด้วย”

“ไม่ได้พบหรอกครับ” วิลเลียมตอบทันที ครั้นมัลลิกาเบิกตาที่เขียนขอบดำคมกว้าง เอียงหน้าสงสัย เขาก็บอกให้หล่อนรู้ว่า “คุณพ่อเสียนานแล้ว”

ในชั้นแรก มัลลิกาคิดว่า ‘คุณพ่อ’ ที่หนุ่มอังกฤษเอ่ยถึงนั้นเป็นการเรียกท่านสาธุคุณ จนกระทั่งเขาขยายในประโยคต่อมา

“สาธุคุณแอชลีย์ บรูค คือพ่อของผมเอง”

สีหน้าประหลาดใจของมัลลิกาแปรเป็นยินดีที่ได้พบทายาทของผู้เขียนหนังสือที่หล่อนปลื้ม

“คุณพักที่ไหนคะ พอจะทราบแน่ๆ ไหม” มัลลิกาคะยั้นคะยอถามจะเอาคำตอบให้ได้ ไม่สนใจว่าสีหน้าเบ็ตตี้ชักจะตึงขึ้นทุกทีจากคำถามรุกเร้าของหล่อน

ลีรอยเปิดกระเป๋าใบเล็กหยิบตั๋วที่พักออกมากาง มัลลิกาตาวาวร้องอุทานเป็นคำอะไรสักอย่างที่ฟังไม่ออก แต่รู้ว่าถูกใจ

“ที่นี่เป็นโรงแรมของน้าชายดิฉันเองค่ะ ฉันถึงบอกไงคะว่ายินดีต้อนรับ และจะพักนานแค่ไหนก็ได้” มือเรียวคว้าหนังสือมาประทับไว้แนบอก “ท่านสาธุคุณคงดลใจเป็นแน่ ไม่อย่างนั้นมันจะเอิญได้ขนาดนี้หรือคะ”

เบ็ตตี้อยากจะโต้กลับบ้างแต่ยังนึกไม่ออกว่าควรทำอย่างไร เสียงกระดิ่งดังขึ้นหันเหความสนใจพอดี

“อีกสักครู่เขาจะเสิร์ฟน้ำชาแล้วค่ะ” มัลลิกาบอกพร้อมเชื้อเชิญ “ถ้าไม่รังเกียจ…เรารู้จักกันแล้ว เป็นเพื่อนกันแล้ว แบ่งมานั่งด้านนี้คนนึงก็ได้นะคะ จะได้ไม่เบียดกัน ที่ตรงนี้ไม่มีใครมานั่งแน่ๆ เพราะฉันซื้อเหมาทั้งสี่ที่”

“เพื่อนั่งคนเดียวหรือคะ” เบ็ตตี้ถาม

“ใช่ค่ะ” มัลลิกายิ้มหวานพลางถาม “ใครจะมานั่งตรงนี้ดีคะ คุณวิลเลียม คุณลีรอย หรือคุณเบ็ตตี้”

“ดิฉันไปดีกว่าค่ะ จะได้ไม่น่าเกลียด ที่ประเทศของเรา เรามีธรรมเนียมเรื่องสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีพอสมควร ในการวางตัวเป็นคนอังกฤษที่ดี”

เบ็ตตี้ถือโอกาสอบรมเรื่องแนวปฏิบัติอย่างวิคตอเรียนที่อีกฝ่ายควรทราบ หากแล้วกลับพูดไม่ออกคล้ายมีก้อนแข็งแล่นมาจุกที่คอเมื่อมัลลิกาถามหน้าตาซื่อแต่แววตาพราวระยับ

“ธรรมเนียมของสตรีที่ดีนั้น ไม่นับรวมกับที่ผู้หญิงคนหนึ่ง เดินทางไปไหนต่อไหนกับผู้ชายถึงสองคนที่ไม่ใช่สามีหรือญาติของตนเองใช่ไหมคะ”

เบ็ตตี้อยากจะร้องออกมาเดี๋ยวนั้น แต่พนักงานยกถาดเงินเงาวับเสิร์ฟชุดชาให้เสียก่อน หล่อนจึงเงียบและได้โอกาสย้อนบ้างด้วยการถามว่า

“บนรถไฟนี้เสิร์ฟชาแบบอังกฤษหรืออินเดียคะ ถ้าเสิร์ฟแบบอินเดีย เห็นทีดิฉันคงต้องเสียมารยาท เพราะชินกับชาแบบอังกฤษมาตลอดชีวิต จนไม่คิดว่าจะมีชาที่ไหนดีกว่าชาอังกฤษอีกแล้ว”

มัลลิกายิ้มพราย รินชาจากกาลงถ้วยด้วยกิริยาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีว่าเป็นธรรมเนียมแบบอังกฤษ หากแต่ชานั้นปรุงอย่างอินเดีย คือใส่นม หล่อนยกขึ้นสูดกลิ่นหอมและจิบพอรู้รส

“แต่เท่าที่ดิฉันทราบ ใบชาชั้นดีที่อังกฤษนำเข้ามากที่สุดก็เป็นใบชาจากซีลอนและอัสสัมไม่ใช่หรือคะ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จะมีเหตุผลอะไร ที่คุณจะไม่ลองรสชาติแบบดั้งเดิมของใบชาที่ดีที่สุดในอังกฤษล่ะคะ”

เบ็ตตี้กำมือแน่นจนเจ็บเกร็งเหมือนเห็นมัลลิกาปรายตามองด้วยประกายระยิบ มุมปากเหยียดแย้มน้อยๆ ขณะที่หล่อนทำท่าจิบชาอย่างกรีดกรายอย่างเพลินอารมณ์

 



Don`t copy text!