เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ “โลกใบใหม่”

เวียงวนาลัย บทที่ ๓ สู่อุษาคเนย์ “โลกใบใหม่”

โดย : เนียรปาตี

Loading

เวียงวนาลัย เรื่องราวของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม เขาไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าต้องเผชิญกับอะไรมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ทั้งมิตรแท้ สงครามและความรัก มาเอาใจช่วยหนุ่มอังกฤษคนนี้กับชีวิตอันแสนจะโลดโผนในเวียงวนาลัย นวนิยายออนไลน์ โดย เนียรปาตี ที่อ่านเอาภูมิใจนำเสนอ

เรือซิมลาพาสองบัณฑิตหนุ่มหมาดใหม่วัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ออกจากลอนดอนสู่จุดหมายที่เมืองกัลกัตตาในรัฐเบงกอล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของบริติชอินเดีย

วิลเลียมเชื่อว่าน้าอีวานจะมารอรับที่ท่าเรือ แม้ว่าจดหมายแจ้งกำหนดการเดินทางของเขาไม่ได้รับคำตอบยืนยันกลับมา แต่มั่นใจว่าน้าชายพร้อมสนับสนุนทุกอย่างที่เขาคิดโดยไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด ต่างจากพี่ชายทั้งสอง ที่สิ่งใดออกนอกแนวทางที่ตนคิดแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นผิดมหันต์ และมักลงท้ายด้วยท่าทีอิดหนาระอาใจ ป่วยการโน้มน้าวให้เด็กรั้นอย่างวิลเลียมเข้าใจ จนมีคำพูดติดปากว่า…บอกไปก็เท่านั้น

ในวันที่วิลเลียมสำเร็จการศึกษา พี่ชายทั้งสองเดินทางมาแสดงความยินดีและหมายใจว่าจะพาน้องชายไปเข้าโบสถ์เพื่อสานต่อภารกิจของพระผู้เป็นเจ้า แต่วิลเลียมยืนยันว่าจะเดินทางไปผจญชีวิตที่บริติชอินเดีย พี่ชายทั้งสองก็กลับไปด้วยอาการเกือบคล้ายจะตัดหางปล่อยวัด เพียงแต่ไม่ฟึดฟัดออกมาให้เสียกิริยาท่านสาธุคุณผู้น่าเลื่อมใสเท่านั้นเอง

ลีรอยเห็นเพื่อนเกาะระเบียงเรือทอดสายตาไปไกลสุดเวิ้งฟ้า จึงยกหีบเพลงคู่ใจที่เขาพกใส่กระเป๋าเสื้อไว้เสมอขึ้นมาเป่าเป็นทำนองเศร้าแกมเหงากึ่งล้อเลียนเด็กหนุ่มผู้พรากไกลจากหญิงคนรัก

หญิงสาวไม่ได้มาส่งที่ท่าเรือตามสัญญา วิลเลียมผิดหวังเล็กน้อยเมื่อกวาดสายตาไปทั่วบริเวณก็ไม่พบดวงหน้าของกุหลาบอังกฤษดอกนั้น

ตอนที่วิลเลียมบอกเบ็ตตี้ว่าเขาตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไปสมัครเป็นตำรวจที่เบงกอล เบ็ตตี้ตื่นเต้นและยินดีราวกับว่าเขาสอบได้แล้ว หากครู่ต่อมาหล่อนก็สลดไป ด้วยมันหมายความว่าถึงเวลาพลัดพราก ไม่รู้จะได้พบกันอีกเมื่อไร อย่างน้อยก็ห้าปี

ห้าปีที่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าความรู้สึกจะยังมั่นคงเหมือนเดิม

“เธอจะมาส่งฉันไหม”

วิลเลียมถามอย่างอาลัย แม้ว่าในใจทั้งโลดและตื่นเต้นที่จะได้เดินทางสู่โลกกว้าง เบ็ตตี้เม้มปากแล้วคลายออกให้เห็นว่าฝืนยิ้มเพื่อให้เขาสบายใจ หล่อนพึมพำว่าจะมาส่งเขาที่ท่าเรือในวันเดินทาง น้ำเสียงนั้นไม่มั่นคง ทว่าวิลเลียมก็ยึดถือว่าเป็นคำสัญญา จนกระทั่งเรือถอนสมอ หวูดครางดัง ควันดำจากปล่องลอยขึ้นสู่ฟ้า วิลเลียมจึงยอมรับว่าหล่อนคงตัดใจจากเขาแน่แล้ว

“ฉันว่าเบ็ตตี้มาส่งนะ แต่เรามองไม่เห็นเอง” วิลเลียมปลอบใจตัวเองและยังคิดเข้าข้างหล่อน ลีรอยส่ายหน้าไม่เห็นด้วยที่เพื่อนยังวนเวียนคิดถึงคนรัก…แต่ไม่นานหรอก เมื่อวิลเลียมเจอสิ่งแปลกใหม่ที่บริติชอินเดีย เงาของเบ็ตตี้ก็จะค่อยๆ เลือนรางจางไปเอง

“เบ็ตตี้…” วิลเลียมครางออกมา เมื่อสุดสายตาที่ระเบียงเรือ ร่างอรชรเกาะราวดูฟองคลื่น

“นายคิดถึงเบ็ตตี้มากจนเห็นภาพหลอนเชียวเหรอ” ลีรอยว่า พลางหันไปมองทางเดียวกันแล้วเผลอครางออกมา “เบ็ตตี้!”

คราวนี้สองหนุ่มหันมามองหน้ากันเพื่อยืนยันว่าต่างมิได้ตาฝาด สาวเท้าเร็วเกือบเป็นวิ่งไปยังจุดนั้น แล้วก็พบว่า

“เบ็ตตี้ เป็นเธอจริงๆ ด้วย” น้ำเสียงวิลเลียมดีใจอย่างที่สุด “เธอมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง”

“ก็เพราะฉันมีตั๋วโดยสารเหมือนเธอน่ะสิ”

หญิงสาวตอบอย่างขำขันแกมถูกใจที่หลอกชายหนุ่มได้ คาดไว้ไม่ผิดว่าวิลเลียมจะต้องประหลาดใจมากเมื่อเห็นหล่อนบนเรือ

“ฉันขอพ่ออยู่นาน ร้องไห้จนน้ำตาแทบเป็นสายเลือด จนพ่ออ่อนใจ เธอก็รู้ว่าพ่อรักฉันมาก”

“พ่อเธอไม่น่ายอมให้ลูกสาวเดินทางไกลคนเดียวอย่างนี้ โดยที่ไม่มีจุดหมาย” ลีรอยตั้งข้อสังเกต เบ็ตตี้ชะงักไปนิดหนึ่งแต่วิลเลียมไม่สังเกตเห็น เพราะมัวแต่ดีใจที่พบหล่อน

“ใครว่าไม่มีจุดหมาย” หล่อนรีบแก้ “น้าชายของฉันทำงานบนเรือนี้ พ่อจึงอนุญาตให้ฉันติดตามน้าชายลงเรือมาเที่ยวหนึ่ง พอถึงกัลกัตตา ฉันก็มีเวลาเที่ยวเล่นในบริติชอินเดียสักพัก แล้วก็จะกลับอังกฤษพร้อมกับน้าชาย ฉันว่าจะมาส่งเธอที่ท่าเรือ ฉันก็ทำตามสัญญาแล้วยังไงล่ะ แต่ส่งที่ท่าเรือที่บริติชอินเดียนะ ไม่ใช่อังกฤษ”

สีหน้าและน้ำเสียงสดใสของหญิงสาวสลดลง วิลเลียมเอะใจว่ามีบางสิ่งที่หล่อนยังเก็บงำไว้ไม่เอ่ยออกมา

“มีอะไรหรือเปล่า เธอบอกให้ฉันรู้ได้ไหม”

“คุณพ่อยอมตามใจฉันครั้งนี้ เพื่อปลอบใจที่ฉันต้องแต่งงานกับใครคนหนึ่งเมื่อกลับอังกฤษ พี่สาวของฉันเจ้ากี้เจ้าการหาเศรษฐีหม้ายสูงวัยมาให้ฉัน คุณพ่อก็ไม่ปฏิเสธทั้งที่รู้ว่าฉันอึดอัดอย่างไร ประจวบเหมาะพอดีกับเธอจะเดินทาง คุณพ่อคงเห็นแล้วว่าเส้นทางของเราไม่มีทางบรรจบกันได้ เมื่อฉันขอร้องท่าน…ขอมาส่งเธอให้ถึงบริติชอินเดีย ท่านจึงยอม”

“อย่างนี้นี่เอง” วิลเลียมครางออกมา รู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด มีส่วนให้ชีวิตหล่อนเป็นเช่นนี้ “โอ…เบ็ตตี้ ฉันน่าจะขอเธอแต่งงานก่อน เราจะได้เดินทางมาด้วยกัน”

“อย่าโทษตัวเองเลยวิลเลียม ถ้านี่เป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เราจะได้อยู่ด้วยกัน ก็จงทำให้เป็นช่วงเวลาที่ดีสุดเถิด ทำให้เหมือน…” เบ็ตตี้ลากเสียงพลางนึกหาคำที่เหมาะสม

“พรุ่งนี้มาไม่ถึง” ลีรอยบอกเรียบๆ

“ใช่! ใช้ชีวิตวันนี้ให้มีความสุข เหมือนวันพรุ่งนี้ไม่มีอีกแล้ว”

มื้อค่ำวันนั้น หนุ่มสาวสามคนก็ชนแก้วให้กับความสุขของชีวิต

“แด่พรุ่งนี้…ที่มาไม่ถึง”

หญิงสาวพลิกตัวบนเตียงในความมืดเพื่อข่มตานอนแต่ความคิดของหล่อนยังสว่างโพลง เรือโคลงน้อยๆ จนรู้สึกได้แต่ก็ไม่ทำให้เมาเรือ ผู้โดยสารร่วมห้องที่นอนอีกเตียงหนึ่งหลับไปแล้วหลังจากที่หล่อนแวะเวียนไปจิบเหล้าในห้องผู้โดยสารชายหลายคนและกลับมาพร้อมค่าตอบแทน ล้มตัวลงบนเตียง หล่อนก็หลับไปทันที ราวกับต้องเก็บแรงให้มากเข้าไว้ เผื่อว่าใครจะมาชวนหล่อนไปจิบเหล้าที่ห้องอีก

เบ็ตตี้ไม่ถึงกับรังเกียจเพื่อนร่วมห้องที่หล่อนไม่ได้เลือก แต่ก็ไม่อยากผูกมิตรสนิทสนม เพราะเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ผู้ชายหลายคนก็คิดว่าหล่อนและแม่สาวผมแดงคนนั้นเป็นเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน ครั้งหนึ่งมีคนมาเคาะประตูห้อง แต่แม่สาวผมแดงไปจิบเหล้าที่ห้องอื่น แขกชายคนนั้นก็ถามใช้บริการจากหล่อนแทน

เบ็ตตี้อยากจะโทษน้าชายที่จับหล่อนให้มาพักกับโสเภณีเร่ร่อนอย่างนี้ ครั้นจะต่อว่าก็หมดโอกาส เพราะเขามิได้อยู่บนเรือลำนี้อย่างที่หล่อนบอกใครๆ น้าชายของหล่อนเป็นแค่คนขายตั๋วเท่านั้น และหรือหากมีโอกาสพบหน้า หล่อนก็แทบจะเห็นภาพเขาตะคอกกลับมาทันที

‘มีที่นอนชั้นสองก็ดีแค่ไหนแล้ว หรืออยากจะไปกองรวมกันอยู่ที่ชั้นสาม’

หญิงสาวพยายามข่มใจ กลืนก้อนแข็งลงคอ นึกย้อนไปเมื่อสัปดาห์ก่อนที่หล่อนขอร้องน้าชายให้หาตั๋วโดยสารเรือซิมลาให้ เขาคาดคั้นจนรู้เหตุผลที่แท้จริงก็แทบจับตัวหล่อนเขย่าเพื่อให้สติ ประกาศกร้าวว่าไม่มีวันช่วยเหลือ เบ็ตตี้จึงจ้างเด็กหนุ่มท่าทางดูเป็นผู้ดีที่เตร่อยู่แถวท่าเรือไปซื้อตั๋วให้ เขากลับมาพร้อมกับตั๋วเรือชั้นสอง

‘พักกับผู้โดยสารอีกคนหนึ่ง เป็นใครผมไม่รู้นะ แต่ผมบอกว่าซื้อให้พี่สาว’

ความหมายของเด็กหนุ่มก็คือ เผื่อผู้ที่จัดการเรื่องห้องพักจะได้จัดให้หล่อนอยู่ร่วมกับผู้หญิงเหมือนกัน

โชคดีเป็นของเบ็ตตี้ ในสัปดาห์นั้นมีญาติคนหนึ่งเสียชีวิต พ่อกับแม่ต้องไปร่วมพิธีฝังศพอีกเมืองหนึ่ง เบ็ตตี้จึงอาสาอยู่เฝ้าบ้าน หล่อนมีข้ออ้างที่ฟังขึ้นว่าไม่ถูกกับญาติผู้นั้นมาแต่ไหนแต่ไร ขอไม่ไปร่วมพิธีให้คนอื่นลำบากใจจะดีกว่า

ครั้นลับตาคนในบ้าน เบ็ตตี้ก็เก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าเดินทางสองใบ เสียดายว่าไม่อาจขนเสื้อผ้างามๆ หลายชุดไปด้วยได้ จึงเลือกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผู้หญิงตัวคนเดียวจะหิ้วกระเป๋าสองใบเดินทางไปสุดขอบโลก หญิงสาวไม่รอช้าแม้แต่นาทีเดียว กลัวว่าบิดาจะย้อนกลับมาด้วยเหตุอันใดก็ตาม หล่อนไม่อยากเสี่ยง เก็บกระเป๋าเรียบร้อยก็เรียกรถรับจ้างไปส่งที่ท่าเรือ เช่าห้องราคาถูกแถวนั้นรอให้ถึงวันเดินทาง

ผู้โดยสารชั้นสองค่อนข้างแออัด แม้จะดีกว่าชั้นสามแต่ก็ลำบากอยู่ดี ก่อนขึ้นเรือต้องเรียงแถวอ้าปากให้ตรวจฟัน สางผมเพื่อดูว่าไม่เป็นเหา ราวกับว่าผู้โดยสารชั้นนี้เป็นพาหะของโรคร้าย เบ็ตตี้วางกระเป๋าส่งตั๋วให้ผู้ตรวจ เขารับไปดูแล้วส่งคืน ตาสองคู่จึงประสานกัน

‘เบ็ตตี้!’

‘คุณน้า!’

เขาชะงักดุจหาถ้อยคำไม่เจอ สมองตื้อไปชั่วขณะ ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี ก็มีเสียงตะโกนจากผู้โดยสารที่เข้าแถวรอกระชากสติเขากลับคืน

‘ทำอะไรอยู่โว้ย ทำไมชักช้านัก เดี๋ยวก็ตกเรือหรอก’

เสียงพึมพำทำนองเดียวกันดังไล่ต่อกันเป็นระลอกคลื่น เบ็ตตี้ย่อตัวลงหิ้วกระเป๋า วางท่าคอแข็งดุจผู้โดยสารชั้นหนึ่งถามกะลาสีต๊อกต๋อย

‘เรียบร้อยแล้วใช่ไหมคะ’

น้าชายของหล่อนมองนิ่ง แววตาที่ส่งมาแทบจะเป็นตัวแทนของบิดาหล่อน หากเขาก็ตอบเพียงสั้นๆ

‘ขอให้เดินทางปลอดภัย’

เบ็ตตี้นึกถึงอนาคตต่อไปว่า หล่อนจะทำอย่างไรดีเมื่อเรือเทียบท่าแล้ว จะไปที่ไหน พักกับใคร…แน่ละ เป้าหมายของหล่อนคือติดตามวิลเลียมไปทุกที่ แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออก ว่าจะหาข้ออ้างอย่างไร

ภาวนาให้ในเวลาที่เหลืออยู่นี้คิดออกด้วยเถิด…หญิงสาวให้กำลังใจตัวเอง

 

น้าอีวานมาคอยรับที่ท่าเรือตามคาด วิลเลียมแนะนำลีรอยและเบ็ตตี้ให้รู้จักแล้วช่วยกันขนสัมภาระไปที่รถม้า เห็นสีหน้าเป็นกังวลของหญิงสาว วิลเลียมจึงถามออกไปตรงๆ

“มีอะไรหรือเปล่า เธอบอกน้าชายแล้วใช่ไหม ว่าจะไปกับพวกเรา”

“คือ…” หญิงสาวยังไม่ตอบในทันที

“หรือเธออยากให้เรายืนยันกับน้าชายของเธอ ว่าเราจะมาส่งอย่างปลอดภัย ทันเรือเที่ยวกลับอังกฤษแน่ๆ”

เบ็ตตี้ทรุดลงไปกับพื้นยอมือปิดหน้าร้องไห้

“วิลเลียม ฉันเสียใจที่ต้องบอกว่าน้าชายฉันไม่ได้มากับเรือลำนี้ วันที่เดินทาง ญาติของเราคนหนึ่งเสียชีวิต น้าชายจึงตัดสินใจไปร่วมพิธีฝังศพ แต่ฉันอยู่บนเรือแล้ว” หล่อนสะอึกสะอื้น ตอนที่หนุ่มๆ กำลังขนกระเป๋าไปที่รถม้า หล่อนกวาดสายตาอย่างรวดเร็วก็พบป้ายบอกทางโรงแรมอยู่ลิบๆ “น้าชายให้ใบจองที่พักไว้ที่พอร์ตโฮเต็ล ฉันคิดว่าน่าจะอยู่ใกล้ๆ ท่าเรือ”

“อยู่ตรงสุดทางเดินนั่นแหละ” น้าอีวานบอกพลางชี้ “พวกเราไปส่งหนูที่นั่น พักผ่อนเสียก่อน แล้วค่อยนัดหมายพบปะกันอีกที”

เบ็ตตี้ปาดน้ำตา สีหน้าบอกชัดว่าโล่งใจและขอบคุณอยู่ในที ครั้นไปถึงที่โรงแรมก็พบปัญหาอีก หญิงสาวค้นดูกระเป๋าจนทั่วก็ไม่พบเอกสารการจองห้องพัก สอบถามกับพนักงาน ฝ่ายนั้นก็ส่ายหน้า ตรวจแล้วตรวจอีกก็ไม่พบว่าน้าชายของหล่อนจองห้องพักไว้

“ผู้หญิงคนนั้นต้องขโมยใบจองโรงแรมของฉันไปแน่ๆ” หล่อนครางออกมา ค้นข้าวของอีกครั้ง คราวนี้ตกใจหนักกว่าเดิม “ตั๋วเรือเที่ยวกลับของฉันก็ถูกขโมยไปด้วย”

วิลเลียมและลีรอยรู้ว่า ‘ผู้หญิงคนนั้น’ ที่เบ็ตตี้เอ่ยถึง คือโสเภณีที่พักห้องเดียวกับหล่อนตลอดการเดินทาง เป็นไปได้มากที่…ผู้หญิงอย่างนั้นจะทำเรื่องเลวทราม ถ้าหล่อนเที่ยวนอนกับใครต่อใครแลกเงินได้ การขโมยตั๋วเรือและใบจองที่พักก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาดคิด

“เราคอยที่นี่สักพักดีไหม ถ้าหล่อนมาเช็กอิน เราจะได้รวบตัวเสียเลย” ลีรอยเสนอขึ้นมา

เบ็ตตี้อ้าปากค้างอย่างคาดไม่ถึง แล้วหยาดน้ำจากตาก็ร่วงลงสู่แก้มขาวเนียนอมชมพูแบบที่เรียกกันว่าสีพีชแอนด์ครีม น้ำเสียงแสดงความอึดอัดใจยวดยิ่ง

“ฉันไม่อยากปะทะกับผู้หญิงคนนั้น เธอคงไม่รู้ว่า…” ท่าทางของหญิงสาวอึดอัดหนักขึ้นไปอีก “อย่าให้ฉันเล่าเลยว่า เมื่ออยู่ด้วยกันสองคนในห้องพัก ผู้หญิงคนนั้นทำกิริยาน่ารังเกียจกับฉันเพียงใด ถ้าจะกรุณา ช่วยพาฉันไปจากตรงนี้ก่อนที่หล่อนจะมาพบดีกว่า”

วิลเลียมเห็นร่างของสตรีผู้นั้นวอบแวบอยู่ในฝูงชนพื้นเมืองดำคล้ำที่อยู่ในชุดสีฉูดฉาดก็ร้องขึ้นมา

“หล่อนอยู่นั่น!”

เขาตั้งท่าจะปราดออกไปรวบตัวแต่เบ็ตตี้ดึงแขนไว้ทัน

“อย่าเลยวิลเลียม อีกเดี๋ยวหล่อนคงเข้ามาที่นี่ เธอรีบพาฉันออกไปก่อนเถิด” หันมาทางหนุ่มใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือ “นะคะคุณน้า ช่วยพาหนูไปจากที่นี่ อย่าให้ผู้หญิงคนนั้นมาพบหนู หนูทนฟังถ้อยคำจากปากคนอย่างหล่อนไม่ได้”

น้าอีวานพยักหน้า พาหล่อนออกจากโรงแรม รถม้าพาคนทั้งหมดห่างไปจากท่าเรือ พร้อมกับความโล่งใจของเบ็ตตี้

บ้านพักของน้าอีวานแม้ไม่โอ่อ่าใหญ่โตอย่างบ้านคหบดี แต่ก็ดีกว่าที่พักของตำรวจทั่วไปและชาวบ้านในถิ่นนี้ อาหารอย่างง่ายเตรียมพร้อมไว้แล้ว มีเพียงขนมปัง นมสด น้ำชา กล้วย และมะม่วงสุก น้าอีวานให้เหตุผลว่าถ้ากินอย่างคนที่นี่อาจท้องเสียเพราะท้องยังปรับตัวไม่ได้

“หลานมีเวลาเตรียมตัวสอบแค่หนึ่งสัปดาห์ น้าคิดว่าไม่ควรเสี่ยงกินอาหารที่ไม่คุ้นเคยในระยะนี้”

วิลเลียมไม่ค้าน บิขนมปังส่งเข้าปากแล้วเบิกตากว้างเพราะอร่อยกว่าที่คาดไว้

“ไม่ยักแห้ง แข็ง แต่กลับนุ่มและหวานน้อยๆ เหมือนอะไร…นึกไม่ออก”

น้าอีวานอมยิ้มน้อยๆ เบ็ตตี้ลองชิมบ้างก็บอกว่า

“รสเค็มน้อยๆ นี้มาจากเนยเค็มแน่ๆ แต่รสหวานและความเนียนนุ่นมันๆ นี้” พลันหล่อนก็นึกขึ้นได้ จึงร้องออกมาเกรงว่าจะลืมเสียก่อน “มันฝรั่ง มันฝรั่งใช่ไหมคะ”

“ถูกต้อง” น้าอีวานตอบ “ขนมปังมันอาลู…มันฝรั่งนั่นแหละ แต่คนที่นี่ว่าอาลู เป็นภาษาฮินดี อาหารอินเดียไม่ได้มีแค่นานหรือโรตีไว้จิ้มกินกับดาลเท่านั้นหรอกนะ” อย่างสุดท้ายเขาหมายถึงแกงข้น “ยังมีขนมปังอีกหลายชนิดที่รสชาติวิเศษมาก คนอินเดียทำอาหารจากแป้งและมันสารพัดชนิดได้หลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว”

“นี่นมวัวใช่ไหมครับ” ลีรอยถามบ้าง น้าอีวานก็พยักหน้าว่าใช่

“น้าให้เขาส่งนมวัวทุกวันช่วงที่หลานอยู่ที่นี่ นมแพะ…อย่าเพิ่งลองเลย กลิ่นมันแรงและอาจทำให้ท้องเสีย พอๆ กับแกะนั่นแหละ กระเพาะยังไม่คุ้นเคย กินเข้าไปจะเสาะท้องเอาได้”

“ระหว่างที่สองคนนี้เตรียมตัวสอบ หนูจะดูแลเรื่องอาหารก็ให้ค่ะ จะได้แบ่งเบาน้าอีวานลงบ้าง เริ่มจากพรุ่งนี้หนูทำมันบดหรือแพนเค้กให้รับดูนะคะ” เบ็ตตี้เสนอ

“แล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไป” ลีรอยถามขึ้นมา เบ็ตตี้หน้าตึงครู่หนึ่งแล้วแปรกลับมาเป็นยิ้มแย้ม หากในหัวกำลังคิดหาทางต่อไป

จังหวะพอดีกับที่น้าอีวานเอ่ยขึ้นมา หญิงสาวจึงสบช่องไหลต่อไปได้

“เรือยังจอดเทียบท่าอีกหลายวัน เอาอย่างนี้สิ เบ็ตตี้เขียนจดหมายบอกน้าชาย ว่าหนูอยู่ที่นี่ ให้ตำบลที่อยู่ไว้ แล้วฝากคนของบริษัทเดินเรือมอบให้น้าของหลานเมื่อเรือโดยสารเทียบท่า”

“ขอบคุณน้าอีวานมากค่ะ หนูกำลังจนปัญญาทีเดียว หนูจะรีบเขียนจดหมายเสียแต่คืนนี้เลย”

ในวันถัดมา น้าอีวานก็พาวิลเลียมและลีรอยไปสมัครสอบ ชายหนุ่มทั้งคู่มารู้ภายหลังว่าที่น้าอีวานไม่พาหลานไปพักรวมกับนายตำรวจอื่นๆ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาว่าน้าอีวานใช้เส้นสายพาหลานเข้ามาเป็นตำรวจ กลับถึงบ้าน น้าอีวานก็หอบหนังสือตั้งใหญ่มาวาง คั่นส่วนที่สำคัญไว้ เพราะในเวลาจำกัดคงไม่สามารถอ่านได้หมด

ล่วงเข้าวันที่สามที่มาถึงอินเดีย น้าอีวานจึงพาวิลเลียมและเพื่อนของหลานชายไปที่ท่าเรืออีกครั้งเพื่อจัดการธุระของเบ็ตตี้ หญิงสาวเตรียมจดหมายไว้พร้อมแล้ว เมื่อถึงออฟฟิศที่ท่าเรือหล่อนขอเข้าไปติดต่อตามลำพัง ราวยี่สิบนาทีหล่อนจึงกลับออกมาด้วยใบหน้าเริงรื่น บอกทุกคนว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี

“วันที่มาถึงก็มีเหตุให้ต้องรีบร้อนออกไป” น้าอีวานปรารภขึ้นมา “ไหนๆ วันนี้ก็ออกมาที่ท่าเรือแล้ว ถือโอกาสเรียนนอกสถานที่เสียเลยนะ”

ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วย เพราะจะว่าไปแล้ว ท่าเรือก็เป็นจุดที่มีคนหลากหลายมาชุมนุม มีอะไรให้มองให้สังเกตอยู่ไม่น้อย น้าอีวานชี้ชวนให้ดูหลายอย่างที่ควรสังเกตแล้วจึงกลับเข้าไปในเมือง

วิลเลียมไม่มีอาการตื่นบรรยากาศใหม่อย่างที่เรียกว่าคัลเจอร์ช็อก เพราะสภาพของถนนไคลฟ์ในเมืองกัลกัตตาไม่ผิดอะไรกับอังกฤษ ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมโอ่อ่าและรถม้าหลายคันบนท้องถนน จะต่างไปเล็กน้อยก็เพียงแค่ผู้บนที่เดินสวนกันไปมาที่หน้าตาและเสื้อผ้าเป็นอย่างคนพื้นถิ่นอินเดียที่เขาก็พอจะคุ้นเคยบ้างแล้วจากผู้โดยสารบนเรือ

หากสิ่งที่ทำให้ชายหนุ่มประหลาดใจคือคนที่นี่สามารถเทินของไว้บนศีรษะขณะก้าวเดินได้โดยไม่ร่วงหล่น ของเหล่านั้นอย่างเบาก็พวกหม้อน้ำ พับผ้า หรือตะกร้าใบเขื่อง ส่วนอย่างหนักก็เป็นลังขนาดใหญ่หรือกระเป๋าหนัง ซ้ำยังซ้อนหลายใบจนคิดว่าประเดี๋ยวคงร่วงลงมากองกับพื้นแน่ๆ แต่ก็ไม่มีสักคนเดียวที่ทำของร่วง วิลเลียมเห็นบางคนใช้มือข้างหนึ่งประคอง ทว่าอีกไม่น้อยเมื่อเทินของบนศีรษะและปรับสมดุลได้แล้ว ก็เดินไปอย่างปกติตัวปลิว ราวกับว่าของบนหัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

“ในผ้าโพกผมนั้นต้องมีอะไรแน่ๆ” วิลเลียมปรารภออกมากับลีรอย ทว่าน้าอีวานหัวเราะขัน

“ไม่มีอะไรหรอก อย่างมากที่สุดก็แค่วงแหวนพันผ้าครอบลงไปบนศีรษะเพื่อใช้เป็นฐานเท่านั้น”

น้าอีวานชี้ไปยังสาวอินเดียผอมเกร็งในส่าหรีสีส้มสดสลับเขียวที่เดินตัวปลิวขณะที่ศีรษะเทินหม้อทองเหลืองบรรจุน้ำอยู่เต็มให้สังเกตวงแหวนรอบหัวนั้น ซึ่งวิลเลียมก็มองว่ามันมิใช่เครื่องทุ่นแรงหรือช่วยบรรเทาความเจ็บได้เลย ฉะนั้นจึงมองว่านี่เป็นความสามารถที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของคนอินเดีย

“ผู้ชายยังมีผ้าโพกหนาพันไว้ แต่ผู้หญิงมีแค่ผ้าบางๆ คลุมเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย” วิลเลียมรำพึงออกมา

“ชุดที่ผู้หญิงใส่นั้นเรียกว่าส่าหรี เป็นผ้าผืนยาวหลายหลาผืนเดียวห่มพันร่างกาย ส่วนผ้าโพกผมผู้ชาย เรียกว่า พากรี” น้าอีวานอธิบายพลางชี้ให้หลานชายดูผ้าโพกผมหลายแบบ เชื่อว่าวิลเลียมและเพื่อนเห็นว่ามันก็คือผ้าโพกหัวแบบเดียวกัน “ถ้าเข้าไปดูใกล้ๆ เห็นลวดลายและวิธีการโพก จะบอกได้ว่ามาจากรัฐไหน เพราะแต่ละที่มีวิธีโพกพากรีที่ต่างกัน”

ในจังหวะนั้นมีแถวตำรวจเดินผ่านมาพอดี น้าอีวานจึงชี้ให้หลานชายกับเพื่อนดู

“แม้แต่ตำรวจที่อินเดีย ยูนิฟอร์มแต่ละที่ก็แตกต่างกัน”

“ดูที่พากรีน่ะหรือครับ” วิลเลียมถามเพื่อความแน่ใจ

“ใช่…ดูพากรีจะสังเกตง่ายที่สุด ส่วนชุดสีกากีนั้น ดูรวมๆ ก็คล้ายกัน ไว้หลานสอบเป็นตำรวจได้ ก็จะรู้เองว่าเครื่องแบบสีกากีของตำรวจแต่ละรัฐแตกต่างกันอย่างไร อ้อ! มีที่บอมเบย์เท่านั้น ที่ตำรวจอินเดียใช้เครื่องแบบสีน้ำเงินเหมือนกับบริติชราช”

ลีรอยแสดงความคิดเห็นของตนออกไปบ้าง เมื่อเห็นแถวตำรวจที่ผ่านไปนั้น ผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษยังแต่งเครื่องแบบสีน้ำเงินเข้มอย่างที่เขาคุ้นเคย

“ทำไมตำรวจที่นี่ต้องแต่งสีกากีด้วยล่ะครับ ทั้งที่เขาก็เป็นตำรวจของบริติชราช หรือเพื่อต้องการแยกให้เด็ดขาดระหว่างหัวหน้าและลูกน้องครับ ผมคิดว่าไม่จำเป็นเลย เพราะหน้าตาของคนที่นี่ก็แตกต่างจากคนอังกฤษอยู่แล้ว”

“แต่ถ้าเป็นเธอก็ไม่แน่นะ” หญิงสาวหนึ่งเดียวเอ่ยขึ้นมา ดวงหน้าและยิ้มหวานของหล่อนส่งไปยังลีรอย ทว่าถ้อยคำของหล่อนทำให้ผู้ฟังระคายหูเพราะสะกิดจุดด้อยของเขา “ถ้าเธอผิวคล้ำกว่านี้ อาจจะกลืนกับคนที่นี่จนแยกไม่ออกก็ได้ คนอังกฤษน้อยนักที่จะมีผมดำเหมือนขนราเวนส์อย่างเธอ”

ลีรอยแสร้งทำเป็นไม่ใส่ใจคำพูดนั้น น้าอีวานก็ไม่อยากให้เกิดการปะทะขึ้น จึงเล่าถึงที่มาของเครื่องแบบสีทรายของตำรวจอินเดียให้ฟัง

“อย่างที่หลานว่าก็ถูกต้อง เพื่อจะได้แยกชัดเจนระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง” ซึ่งนัยที่เขาไม่บอกออกมาตรงๆ ก็คือเพื่อแยกระหว่างชาวอังกฤษและอินเดีย “อีกอย่าง สีนี้เหมือนสีทะเลทรายและภูมิประเทศในถิ่นนี้ที่แห้งแล้งและมีแต่ฝุ่น ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมากกว่าชุดสีกรมท่าของตำรวจอังกฤษ ส่วนเครื่องแบบสีขาวนั้น อนุญาตเฉพาะชาวอังกฤษเท่านั้น”

วิลเลียมและลีรอยสังเกตผู้คนที่สวนไปมาอีกครั้งอย่างพิจารณาขึ้น โดยเฉพาะบุรุษ พยายามมองหาความแตกต่างของการโพกพากรี และเมื่อใดที่ผู้สวนมาเป็นตำรวจ ทั้งสองจะสนใจเป็นพิเศษ อีกสองวันถัดมาเมื่อถึงเวลามื้อค่ำ วิลเลียมก็บอกข้อสังเกตของเขาต่อน้าชายว่า

“เครื่องแบบตำรวจที่นี่ จะว่าไปก็คล้ายกับที่อังกฤษนะครับ เหมือนกับทหารองครักษ์ที่พระราชวังบักกิ้งแฮม เพียงแต่เป็นสีกากี และแทนที่จะสวมหมวก ก็เป็นผ้าโพกหัวแทน”

ผู้เป็นน้าชายพยักหน้าฟังอย่างพอใจ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่หลานชายกำลังประมวลความรู้เพื่อเตรียมสอบบรรจุเป็นนายตำรวจที่เบงกอลในอีกไม่กี่วันนี้

“มีอะไรที่แตกต่างอีกไหม”

ถ้าน้าอีวานถามอย่างนี้ แสดงว่ายังไม่หมด แต่วิลเลียมนึกไม่ออก ลีรอยจึงบอกข้อสังเกตของตนเองบ้าง

“เครื่องหมายประดับยศอย่างอาร์มแขน อินทรธนู และพากรีใช่ไหมครับ”

แล้ววิลเลียมก็ร้องขึ้นมาอย่างนึกออกในฉับพลัน

“ใช่! พากรี ลวดลายพากรีของตำรวจแต่ละยศแตกต่างกัน”

รอยยิ้มของน้าอีวานกว้างขึ้น อาการพยักหน้าหนักแน่นเพื่อตอกย้ำว่าที่เด็กหนุ่มสองคนสังเกตมาถูกต้อง หากเขาก็ยังบอกต่อไป

“น้าคิดว่าหลานคงมิได้สนใจดูที่เท้า ชั้นยศของตำรวจยังดูได้จากการสวมถุงเท้าและรองเท้า ถ้าเป็นชั้นสามัญจะสวมถุงเท้าหรือพันหน้าแข้ง บางคนเปลือยเท้า บางคนสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าหนังหุ้มส้น แต่ถ้าเป็นนายตำรวจยศสูงขึ้นจึงจะสวมบูตหนังสูงถึงเข่า”

วิลเลียมและลีรอยหันหากันแล้วส่งสายตาสารภาพต่อน้าอีวานว่ามิได้สังเกตตรงจุดนี้จริงๆ น้าอีวานเพียงยิ้มจางๆ แต่หามีรอยตำหนิไม่ ซ้ำถือโอกาสให้ข้อคิดไปว่า

“ถ้าจะทำอะไรก็ตามที จงสำรวจให้ถ้วนทั่ว อย่ามองข้ามหรือละเว้นรายละเอียดเล็กน้อยว่าไม่สำคัญ อย่ามองแต่ที่สูงจนลืมมองว่าที่ต่ำเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่อยู่สูงเสียดฟ้า ก็ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่ำมิใช่หรือ…การเป็นตำรวจ หลานต้องคล่องแคล่วว่องไว มิใช่แค่การเคลื่อนไหวเดินเหิน แต่ยังหมายถึงการสังเกตและเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้ได้มากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนตัดสินใจ แต่ให้เด็ดขาดและรวดเร็วในการตัดสินใจ” น้าอีวานมองหน้าเด็กหนุ่มทั้งสองนิ่งก่อนถามออกไป

“หลานพร้อมหรือยังสำหรับการสอบครั้งนี้”

“คิดว่าพร้อมแล้วครับ” วิลเลียมตอบ

“ทำไมถึงคิดว่าล่ะ คำตอบนี้สะท้อนความไม่เด็ดเดี่ยว”

ชายหนุ่มหันไปทางดวงหน้าที่กระจ่างนวลด้วยแสงเทียน นึกหาคำพูดที่จะไม่เป็นการกล่าวร้ายหรือตำหนิหล่อน…เขาไม่ได้คิดไปถึงอย่างนั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความกังวลที่เขามีอยู่มีสาเหตุมาจากหล่อน

“ผมเป็นกังวลเรื่องเบ็ตตี้”

วิลเลียมตอบออกไปในที่สุด

 



Don`t copy text!