
น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 6 : อียิปต์แบบตะโกน
โดย : พิมพ์อักษรา
คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ และเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ไม่ประวัติศาสตร์บ้าง วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง แต่ละดินแดนที่ได้ประสบพบเจอ เสมือนให้ผู้อ่านได้ท่องเที่ยวดื่มด่ำไปด้วยกัน ผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า เปิดโลก เปิดตา และเปิดใจ และที่สำคัญคือเพลิดเพลิน เหมือนชื่อของผู้เขียนนั่นเอง
เรือเทียบท่าเมืองลักซอร์ (Luxor) ตั้งแต่เมื่อคืน ให้เราได้ประเดิมด้วยการเที่ยววิหารลักซอร์ตอนกลางคืนแบบเย็นตาเย็นใจ สบายเนื้อสบายตัว มาเช้านี้พวกเราได้รับคำเตือนแกมขู่เล็กน้อยว่า วันนี้เราจะเที่ยวกันแบบจัดหนักจัดเต็ม จะได้เห็นแบบอียิปต์แบบซูเปอร์อียิปต์ อียิปต์แบบตะโกน และอยู่กลางแจ้งเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เตรียมกันแดดกันร้อนไปให้เต็มที่ได้เลย
ฉันผู้ไม่ค่อยทนต่อแสงแดดก็เตรียมหมวก เตรียมแว่นกันแดดอย่างดี และตั้งใจจะสวมเสื้อแขนยาวขายาวให้ปกป้องผิวให้ได้มากที่สุด แต่ก็ลังเลเพราะโปรแกรมวันนี้จะเที่ยวแบบอียิปต์จัดๆ สมควรที่จะแต่งชุดสไตล์พื้นเมืองให้เข้ากับบรรยากาศ ฉันก็เลยนึกถึงเดรสพื้นเมืองที่ซื้อและต่อราคาจากตลาดช่วงวันแรกที่มาถึง ตัวหนึ่งยาวปิดคลุมมิดชิดตอบโจทย์ที่สุด แต่สวมไปแล้วตอนไปวิหารอาบูซิมเบล ก็เหลืออีกตัวเป็นสีขาวล้วนน่าจะถ่ายรูปออกมาสวย แต่อาจจะไม่กันแดดมากและคลุมปิดไม่หมด ถึงอย่างนั้นก็น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวและถ่ายรูปในวันนี้
เราเริ่มที่แรกของวันที่วิหารคาร์นัค (Karnak Temple) น่าจะเป็นหนึ่งในไฮไลต์โบราณสถานอียิปต์เลยก็ว่าได้ ค่าที่ทั้งเก่าแก่ ใหญ่โตมหึมา และรายละเอียดซับซ้อนจัดเต็ม สมกับที่คุณวิวบอกตั้งแต่วันแรกๆ ว่าอยากให้พวกเรามาเจอวิหารคาร์นัคเสียก่อน จะได้รู้ว่าอียิปต์แบบตะโกนนั้นเป็นอย่างไร
วิหารคาร์นัคอยู่ไม่ไกลจากวิหารลักซอร์ จากด้านหน้าวิหารลักซอร์มีถนนที่มีสฟิงซ์ตั้งเรียงรายอยู่ ตลอดทางซึ่งเป็นทางเดินที่เราได้ไปถ่ายรูปเล่นเมื่อวานตอนกลางคืนนั่นเอง และถนนเส้นนี้ทอดยาวเชื่อมต่อกับวิหารคาร์นัคที่เรากำลังจะไป คุณวิวเล่าว่า สมัยโบราณถนนเส้นนี้ใช้เคลื่อนขบวนแห่เรือประดิษฐานรูปสลักเทพเจ้าอามุนจากวิหารคาร์นัคเข้าไปทำพิธียังห้องลับในวิหารลักซอร์อีกด้วย
พอย่างเท้าเข้าไปถึงบริเวณวิหารคาร์นัค เห็นซุ้มประตูทางเข้าใหญ่โตโอฬารที่เรียกว่าไพลอน (Pylon) และเสาสูงต้นมหึมาเรียงทอดไปด้านหลัง ฉันก็อ้าปากค้าง เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงเรียกว่าอียิปต์แบบตะโกน ไม่เพียงแต่ฉันเท่านั้น ทุกคนก็พร้อมใจกันส่งเสียง “โอ้โห…” และ “ว้าววว” กันโดยพร้อมเพรียง และยกมือถือมาถ่ายรูปกันแทบไม่ทัน
ขณะที่ชาวคณะค่อยๆ ก้าวเดินไปตามทางในวิหาร คุณวิวกับไกด์ก็เล่าความเป็นมาของที่นี่ให้ฟัง ว่าวิหารคาร์นัคสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่เทพอามุน (Amun) หรือสุริยเทพ เทพีมุต (Mut) เทพีมารดาและราชินีแห่งเทพทั้งปวง และเทพมอนตู (Montu) (1) เทพแห่งสงคราม โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ช่วง 2,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล และขยายต่อเติมเรื่อยมากว่า 1,500 ปีโดยฟาโรห์กว่าสามสิบพระองค์ โดยมีฟาโรห์องค์ดังๆ ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ คือฟาโรห์ฮัตเชปซุต (Hatshepsut) ฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (Thutmose III) และฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramses II) ครอบคลุมพื้นที่ราวหกพันตารางเมตร จากนั้นก็มีการบูรณะต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยโรมันเข้าปกครองอียิปต์ ซึ่งกินเวลาร่วมสองพันปี ทำให้ต่อเติมวิหารคาร์นัคขยายไปเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่วิหารกว้างขวางใหญ่โตติดอันดับสิ่งก่อสร้างอันแสนยิ่งใหญ่ของอียิปต์รองจากพีระมิดแห่งกีซา
ภายในแบ่งเป็นวิหาร 3 แห่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ได้แก่ วิหารเทพอามุน วิหารเทพีมุต และวิหารเทพมอนตู ตัววิหารประกอบด้วยซุ้มประตูทางเข้า เสาโอเบลิสก์ ห้องเสาหินขนาดใหญ่ (Hypostyle Hall) รูปสลักหินและวิหารประกอบต่างๆ
แค่ซุ้มประตูหรือไพลอนก็มีปาเข้าไป 10 แห่งแล้ว เนื่องจากมีฟาโรห์หลายองค์สร้างต่อเนื่องกันมา
เราเริ่มต้นวิหารคาร์นัคกันที่เสาโอเบลิสก์ที่ฟาโรห์ฮัตเชปซุตสร้างขึ้น… เราจะได้ยินชื่อฟาโรห์หญิงองค์นี้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างทริปนี้ และฉันเองก็สนใจท่านเป็นพิเศษเพราะเคยอ่านนวนิยายเรื่อง ธุวตารา ของลักษณวดี ซึ่งเล่าเรื่องของฟาโรห์หญิงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ผู้นี้ไว้สนุกมาก ดังนั้น เวลาได้ยินชื่อฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุตพระองค์นี้ฉันจะหูผึ่งทันที
เดี๋ยวเราค่อยกล่าวถึงประวัติของพระนางอย่างละเอียดขึ้นในบทต่อไปแล้วกัน แต่เอาเป็นว่าตอนนี้ฉันได้รู้เพิ่มเติมว่าฮัตเชปซุตมีส่วนสำคัญในการสร้างบูรณะวิหารคาร์นัคอย่างมาก เพราะพระนางมิได้แค่ครองราชย์ในฐานะฟาโรห์หญิงผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังทุ่มเททรัพยากร ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการบูรณะ ขยายและสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ภายในวิหารคาร์นัคเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้เป็น “ผู้ปกครองโดยชอบธรรมที่ได้รับเลือกจากเทพอามุน” เนื่องจากอามุนเป็นเทพประจำราชวงศ์ การที่พระนางสร้างวิหารคาร์นัคก็เท่ากับบูชาเทพอามุน เพิ่มความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครอง ทั้งยังเป็นการประกาศอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางไปในตัว เหตุที่พระนางต้องทุ่มเทขนาดนี้เพราะสมัยนั้น การมีฟาโรห์เป็นหญิงถือว่าขัดธรรมเนียมโบราณอย่างรุนแรง พระนางจึงต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับให้ได้
ส่วนเสาโอเบลิสก์ที่ว่าตั้งอยู่กลางแจ้ง กลางแดดร้อนเปรี้ยง แต่ฉันก็สู้ตายเพราะใช่ว่าจะเห็นกันได้ง่าย ๆ เสาต้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานโดดเด่นที่สุดของพระนาง มีขนาดมหึมา สูงใหญ่กว่า 29 เมตร สร้างจากหินแกรนิตสีชมพูจากเมืองอัสวาน และถือว่าเป็นหนึ่งในเสาโอเบลิสก์ที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของอียิปต์ต้นหนึ่งเลยทีเดียว
ส่วนสำคัญที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่คือวิหารอามุนซึ่งอยู่ระหว่างซุ้มประตูที่ 2 และ 3 จะมีสถาปัตยกรรมสำคัญอย่าง Great Hypostyle Hall คือห้องโถงที่มีเสาหินขนาดมหึมาถึง 134 ต้น บางตนตรงหัวเสาสลักรูปดอกปาปิรุสประดับไว้ แต่ละต้นสลักอักษรภาพแสดงวิถีชีวิต ความเชื่อ ตำนานและพิธีกรรมไว้อย่างละเอียด บางต้นยังปรากฏสีคมชัด ฉันตื่นตาตื่นใจกับโถงเสานี้จนต้องขอเดินใช้เวลาสำรวจเกินครึ่งชั่วโมง ความสูงท่วมหัวเหมือนจะสุดคอแหงนนี้ทำให้รู้สึกว่ามนุษย์เรานี่ช่างตัวเล็กจ้อยเสียจริง สมแล้วที่สร้างเป็นวิหารบูชาเทพเจ้า เพราะความมหึมาอลังการของสถาปัตยกรรมตรงหน้าสะท้อนความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าเหนือมวลมนุษย์และศรัทธาของมนุษย์ต่อทวยเทพได้อย่างชัดเจน
อียิปต์แบบตะโกนมันเป็นอย่างนี้นี่เอง
เชิงอรรถ :
(1) บางแหล่งข้อมูลบอกว่าบูชาเทพคอนซู (Khonsu) หรือเทพดวงจันทร์
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 6 : อียิปต์แบบตะโกน
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 5 : วิหารแห่งการแก้แค้น
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 4 : วิหารแห่งเทพจระเข้
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 3 : อาบูซิมเบล - อนุสรณ์แห่งรามเสสที่ 2
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 2 : ฟิเล วิหารที่รอดจากใต้น้ำ
- READ น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 1 : โอเบลิสก์ที่โลกลืม
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "มอนเตเนโกร เมืองในปราการขุนเขาสีดำ"
- READ เล่าเรื่องบอลข่าน "จักรพรรดิดิโอคลิเชียนผู้โหดร้าย"
- READ แสงสุดท้ายที่ตาพรหม "ปราสาทรากไม้ลึกลับกลางพงไพร"
- READ "See Ankor Wat and Die" แก๊งนางอัปสรในนครวัด
- READ "Sbeitla" หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน
- READ Siberia – Frozen Baikal ความลับของทะเลสาบเยือกแข็ง
- READ ฤดูร้อนกลางทะเลทรายสีขาว : มุยเน่
- READ ดินแดนแห่งอามาริเทสึ เทพีแห่งแสงอาทิตย์ และ หุบเขาทาคาชิโฮะ อุทยานแห่งทวยเทพ [Amano Iwato & Takachiho Gorge]
- READ Peles Castle ปราสาทน้อยกลางป่าสน งดงามแบบไม่ตะโกน
- READ ปราสาทแดรกคูล่ากับวลาดจอมเสียบ
- READ Unseen Italy : Matera เมืองที่เหลืองเหมือนกระดาษเก่า
- READ เมืองลึกลับในเงื้อมเขา
- READ เพราะเชียงตุงไม่ใช่ดอยตุง
- READ เร้นลับหลังคาโลก