น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 8 : อียิปต์แบบตะโกน “ฮัตเชปซุต ฟาโรห์หญิงผู้ยิ่งใหญ่”

น้ำไนล์ ทะเลทราย พีระมิด ตอนที่ 8 : อียิปต์แบบตะโกน “ฮัตเชปซุต ฟาโรห์หญิงผู้ยิ่งใหญ่”

โดย : พิมพ์อักษรา

Loading

คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ และเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ไม่ประวัติศาสตร์บ้าง วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง แต่ละดินแดนที่ได้ประสบพบเจอ เสมือนให้ผู้อ่านได้ท่องเที่ยวดื่มด่ำไปด้วยกัน ผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า เปิดโลก เปิดตา และเปิดใจ และที่สำคัญคือเพลิดเพลิน เหมือนชื่อของผู้เขียนนั่นเอง

อย่างที่ฉันได้เกริ่นไปให้ตื่นเต้นว่าต่อจากนี้จะเป็นการเที่ยวอียิปต์แบบตะโกน หลังจากเปิดด้วยวิหารคาร์นัคอันใหญ่โตโอฬารและวิหารเมดิเนต ฮาบูให้เลือดลมสูบฉีดกันแล้ว สถานที่ต่อมาก็รับไม้ต่อให้พวกเราตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน

แดดเริ่มสาดแสงแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รถเริ่มเข้าสู่เขตแดนแห่งความเวิ้งว้าง ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นภูเขาหิน และผืนดินผืนทรายแห้งแล้ง จนเมื่อรถมาหยุดอยู่ใจกลางความว่างเปล่ากลางแจ้ง ไร้เขตร่มเงาใด ๆ ฉันก็เริ่มใจเสีย ไม่ใช่เพราะกลัวหรืออะไร แต่เห็นแดดแล้วใจมันบาง มองไม่เห็นอาคารใด ๆ ที่เราจะเข้าไปหลบหาร่มเงาได้เลย

ไหนล่ะ สุสาน… วิหารฟาโรห์ฮัตเชปซุต หรือ เดียร์อัลบารี (Deir al-Bahri)

แต่เมื่อลงจากรถ พ้นเหลี่ยมมุมรถบัสที่บังตาไว้ ฉันก็ถึงบางอ้อ… ยืนอึ้งตาค้างไปอีกเช่นเคย

เบื้องหน้าขณะนี้คือภูเขาหินมหึมาทอดตัวเป็นแนวยาวราวกับโอบล้อมไว้รอบด้าน สลักเป็นรูปฟาโรห์ทั้งภูเขา ตัววิหารสร้างอยู่บนภูเขาหินด้วยการสกัดและเจาะเข้าไปนั่นเอง ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะอ้าปากค้างได้บ่อยเท่ามาที่อียิปต์อีกแล้ว ก็ภาพตรงหน้ามันยิ่งใหญ่จนพูดไม่ออก จะบอกว่าเป็นฝีมือมนุษย์ก็รู้สึกเหลือเชื่อ พลังแห่งศรัทธานั้นทำได้ถึงขนาดนี้เชียว

ไม่เพียงแต่พลังศรัทธาแรงกล้าเท่านั้น ยังต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก และวิทยาการขั้นสูงในการก่อสร้างหลากหลายแขนง ทั้งวิศวกรรม ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถาปัตยกรรม และอะไรต่ออะไรอีกมาก

พวกเราเริ่มขยับเท้าก้าวเดิน… จากจุดที่เรายืนอยู่จนถึงตัววิหารนั้นที่จริงไม่ไกลมาก แต่พอเจออากาศร้อนฉ่า แดดแผดเผา ก็ดูราวระยะทางนั้นทอดไกลออกไปเป็นกิโล โชคดีที่เพื่อนรอบคอบ หยิบร่มขึ้นมากางและชวนฉันให้มาเดินใต้ร่มด้วยกัน…

กราบน้ำใจงาม… อย่างน้อยถนอมผิวไปได้บ้าง

ระหว่างเดิน ภาพสถาปัตยกรรมที่สร้างบนธรรมชาติตรงหน้าก็เข้าใกล้พวกเรามากขึ้น ยิ่งเห็นว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ นั้นตัวเล็กจ้อยเหลือเกิน และความยิ่งใหญ่ตรงหน้านั้นคือสุสาน… สุสานของกษัตริย์ผู้ปกครอง ฟาโรห์หญิงพระองค์นี้ช่างยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน

จำที่ฉันเกริ่นเรื่องฟาโรห์หญิงองค์นี้ไว้ตอนเที่ยววิหารคาร์นัคได้ไหมคะ พระนางชื่อฮัตเชปซุต เป็นฟาโรห์หญิงองค์แรกในประวัติศาสตร์อียิปต์ และเป็นนักปกครองที่เก่งกาจรอบด้าน นำพาอียิปต์ไปสู่ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรในรัชสมัยของพระนาง และการสร้างสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่อลังการอย่างวิหารคาร์นัคนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าและสำแดงพระบรมเดชานุภาพของพระนางให้เป็นที่ประจักษ์

ความพิเศษอยู่ที่การขึ้นครองราชย์ของฮัตเชปซุตนี่แหละค่ะ ด้วยความที่พระนางเป็นสตรี การที่ผู้หญิงจะขึ้นครองบัลลังก์ได้นั้นผิดธรรมเนียมจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่พระนางก็ทรง “ทำได้” โดยอาศัยปัจจัยหลายๆ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพระปรีชาสามารถนั่นเอง

เมื่อเดินมาถึงวิหารซึ่งก็อยู่ในภูเขาหินกลางแจ้งนั้นก็ยังไม่มีร่มเงาอยู่ดี ต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกกว่าจะถึงส่วนวิหารซึ่งสร้างลักษณะระเบียงซ้อนสามชั้นดูแปลกตาดี

วินาทีที่กำลังเดินขึ้นบันไดนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนฉากในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่ตัวละครเดินขึ้นบันไดปราสาทหรือวิหารมหึมา คล้ายตัวฉันเองหลุดเข้าไปในโลกโบราณนั้นเลย

นี่ละ วิหารฮัตเชปซุต วิหารที่เป็นสุสานประกอบพระศพของพระนาง (Mortuary Temple of Hatshepsut)

มาถึงที่แล้วก็ขอเกริ่นความเป็นมาของพระนางไว้สักหน่อย ฉันเคยอ่านนวนิยายเรื่องธุวตารา ของลักษณวดี (หรือที่เรารู้จักกันในนามปากกา ทมยันตี) ซึ่งเป็นเรื่องของฟาโรห์ฮัตเชปซุตผู้นี้ จำได้ว่าสนุกมาก หักเหลี่ยมเฉือนคมกันสุด ๆ แต่ก็ยังมีกลิ่นอายโรแมนติก ขี้เล่นหลายรสชาติมาก ๆ แม้เป็นนวนิยายซึ่งหมายถึงเรื่องแต่ง แต่ผู้เขียนเขียนสนุกมากจนฉันเชื่อไปแล้วว่าเป็นเรื่องจริง ดังนั้น เมื่อต่อมา ได้อ่านและศึกษาเรื่องราวของพระนางตามหลักฐานประวัติศาสตร์ มีเล่าแตกต่างจากนิยายธุวตาราไปหลายประการ ฉันก็แอบเสียดายหน่อย ๆ

เอาเป็นว่า พระนางฮัตเชปซุตประสูติในสมัยอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ซึ่งถึงจะเรียกว่าอาณาจักรใหม่แต่ก็เก่าแก่โบราณกว่าสามพันห้าร้อยปีมาแล้ว เป็นพระนัดดา (หลานตา) ของฟาโรห์อาห์โมสผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 18 ส่วนพระบิดาของพระนางคือคือฟาโรห์ทุตโมส เป็นนายทหารที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเชื้อพระวงศ์ ฮัตเชปซุตเป็นพระธิดาองค์โตของฟาโรห์ทุตโมสกับราชินีอาเมส พระมเหสีเอก ฟาโรห์ทุตโมสยังมีพระโอรสกับราชินีอีกองค์หนึ่ง นั่นคือทุตโมสที่สอง ซึ่งต่อมาได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ฮัตเชปซุตจึงได้อภิเษกกับทุตโมสที่สองซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดา และมีพระธิดาด้วยกันเพียงองค์เดียว ขณะที่พระนางไอซิสชายารองของทุตโมสที่สองกลับมีพระโอรสถวายได้คือทุตโมสที่สาม ซึ่งต่อมาได้สืบราชสมบัติต่อจากทุตโมสที่สองนั่นเอง

ฟาโรห์ทุตโมสที่สองสุขภาพไม่ค่อยดี ครองราชย์ไม่นานก็สิ้นพระชนม์ ทุตโมสที่สามจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา ฮัตเชปซุตจึงทรงทำหน้าที่เป็นราชินีผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ ประวัติศาสตร์เล่าไว้ว่าในตอนแรกฮัตเชปซุตทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระราชบุตรเลี้ยง แต่ผ่านไปไม่กี่ปี พระนางก็ทรงแสดงบทบาทเป็น “ฟาโรห์” ผู้ครองพระราชอำนาจสูงสุด ขณะที่พระราชบุตรเลี้ยงซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจเจริญพระชันษาแล้ว กลับถูกลิดรอนพระราชอำนาจให้เป็นที่สองรองจากพระองค์ พระนางทรงปกครองบ้านเมืองต่อมารวมระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปี

ฟังดูแล้วเหมือนพระนางทรงเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย เอาเปรียบลูกเลี้ยงแถมฉวยโอกาสแย่งอำนาจมาเป็นของตนอีกต่างหาก ทำให้ต่อมาเมื่อทุตโมสที่สามได้ขึ้นครองราชย์จึงแก้แค้นด้วยการพยายามทำลายและลบหลักฐานเกี่ยวกับการมีอยู่และความยิ่งใหญ่ของพระนางออกจากประวัติศาสตร์ ดังที่เราจะเห็นได้จากโบราณสถานมากมาย เช่น ในวิหารคาร์นัคที่เพิ่งไปเยือนนี้เช่นกัน แต่พยายามลบเท่าไร ก็ลบได้ไม่หมด จึงยังพอหลงเหลือหลักฐานมาให้คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้ศึกษากัน

แต่… ถ้าอ่านในนิยาย ซึ่งฮัตเชปซุตเป็นนางเอก พระนางไม่ใช่แม่เลี้ยงใจร้าย ในเรื่องนั้นผู้เขียนได้ปูพื้นให้เห็นกลการเมืองซับซ้อนภายในราชสำนัก เทน้ำหนักไปในทางว่าฝ่ายของทุตโมสที่สามนั้นเป็นตัวร้าย และร้ายลึกเสียด้วย เนื่องจากถูกฝั่งพระมารดาปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเยาว์ ทำให้มีจิตริษยาเกลียดชังและมองฮัตเชปซุตในแง่ร้ายมาแต่ไหนแต่ไร ผู้เขียนร้อยเรียงให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลและที่มาที่ไปว่าเหตุใดฮัตเชปซุตถึงรู้สึกว่าตนมีสิทธิครองบัลลังก์ในฐานะฟาโรห์ และเหตุใดจึงต้องถ่ายอำนาจจากทุตโมสที่สาม

กลับมาที่วิหารสุสานตรงหน้าฉัน ก่อนที่จะกลายเป็นเล่านิยายไปเสียก่อน มัคคุเทศก์อธิบายให้เราฟังว่า สถาปัตยกรรมของที่นี่สร้างเป็นแบบระเบียงซ้อนกัน 3 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากวิหารอื่น ๆ ในอียิปต์โบราณ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วิหารแห่งเมนทูโฮเทปที่ 2 (Mentuhotep II) ประกอบไปด้วยทางเดินนำเข้าสู่วิหาร ตามด้วย ลานด้านล่าง (First Terrace) มีเสาเรียงเป็นระเบียบ และรูปปั้นของฮัตเชปซุต ลานกลาง (Second Terrace) ลานด้านบน (Third Terrace) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเทพอามุนสถิตอยู่ ด้านในสุดเป็นห้องบูชาเทพอามุน เทพีฮาเธอร์และเทพอานูบิส และส่วนสุดท้ายคืออุโมงค์ที่เชื่อมไปสู่สุสานลับของพระนางฮัตเชปซุต ซึ่งแน่นอน เราไปไม่ถึงตรงนั้นหรอก อยู่แค่ลานด้านล่างแค่นั้นเอง

จุดประสงค์หลักในการสร้างวิหารแห่งนี้ คือเพื่อเป็นวิหารประกอบพิธีศพ (Mortuary Temple) ของฟาโรห์ฮัตเชปซุต แต่ก่อนหน้านี้พระนางได้สร้างเพื่อเป็นวิหารบูชาเทพอามุน-รา เป็นการแสดงอำนาจและความชอบธรรมของพระนางในฐานะฟาโรห์หญิง เนื่องจากทรงถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากฟาโรห์อาห์โมสผู้เป็นพระอัยกา ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าฟาโรห์สืบเชื้อสายมาจากเทพอย่างเทพอามุน พระนางจึงมีสิทธิสืบบัลลังก์มากกว่าทุตโมสที่สาม การสร้างศาสนสถานหรือสถาปัตยกรรมที่บูชาเทพอามุนจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำเทวสิทธิ์ของพระนางยิ่งขึ้น

ภายในวิหารมีภาพวาดและรูปสลักบอกเล่าบันทึกเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระนางที่น่าสนใจหลายส่วน ไกด์กับคุณวิวได้ชี้ชวนและเล่าให้ชาวคณะฟังยืดยาว แต่พวกเราที่ทั้งร้อนและเหนื่อย แต่ก็ตื่นตาตื่นใจจนแยกกันไปถ่ายรูปก็เลยฟังและจับใจความได้บางส่วน ฉันเองก็จำได้นิดหน่อย อาศัยมาย้อนศึกษาหาข้อมูลเพิ่มในภายหลัง

อย่างเช่นภาพสลักการเดินทางไปดินแดนปุนต์  ซึ่งปัจจุบันคาดว่าอยู่ในเอธิโอเปียหรือโซมาเลีย ในภาพแสดงให้เห็นเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้าต่าง ๆ เช่น ทองคำ งาช้าง ไม้หอม และสัตว์แปลก ๆ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความสามารถด้านการค้าของอียิปต์โบราณ ทำให้เห็นว่าในสมัยพระนางฮัตเชปซุตนั้นอียิปต์ได้เดินเรือออกไปไกลมาก ไกลว่าฟาโรห์องค์ใดที่ผ่านมาทั้งสิ้น

นอกจากนั้นยังมีภาพการประสูติของพระนาง แสดงให้เห็นว่าทรงสืบเชื้อสายจากเทพอามุนโดยตรง ยิ่งตอกย้ำเทวสิทธิ์ของพระนางในการขึ้นเป็นฟาโรห์

ปริศนาอีกประการของวิหารแห่งนี้คือความลึกลับของที่เก็บพระศพของพระนาง ว่ากันว่าสุสานของพระนางถูกออกแบบให้ลึกลับซับซ้อนเพื่อไม่ให้หาพระศพเจอได้โดยง่าย ประการหนึ่งก็เพราะพระนางทรงทราบดีถึงความเกลียดชังที่ทุตโมสที่สามมีต่อตน และคาดหมายได้ว่าเมื่อสิ้นพระนาง สิ่งแรกที่ลูกเลี้ยงจะทำก็คือทำลายพระศพ ซึ่งสิ่งที่ทรงคาดการณ์ไว้ก็เกิดขึ้นจริง ทำให้เมื่อทุตโมสที่สามขึ้นครองราชย์ พระองค์พยายามตามหาพระศพฮัตเชปซุตชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่ก็ไม่พบร่างของพระนางตลอดรัชสมัย

ผู้ออกแบบวิหารอันยิ่งใหญ่และสุสานอันลึกลับซับซ้อนนี้คือนักบวชนามเซนมุต ผู้ที่มีข่าวลือซุบซิบในประวัติศาสตร์ว่าเป็นชู้รักลับ ๆ ของฮัตเชปซุต สถาปัตยกรรมใด ๆ ของพระนางจึงออกมายิ่งใหญ่และซับซ้อน เต็มไปด้วยกลลวงและปริศนามากมาย อีกทั้งยังปรากฏรูปเซนมุตบนจิตรกรรมวิหารด้วย ยิ่งทำให้ข่าวลือนี้มีมูลเอามาก ๆ

แต่… ในฐานะคนอ่านนิยาย ในเรื่องธุวตารา ไม่ได้เล่าถึงเซนมุตในแง่ชู้รักเลย ตรงกันข้าม นักบวชเซนมุตเป็นทั้งนักบวชและเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษาคนสนิทที่ฟาโรห์หญิงไว้ใจมากที่สุด เป็นตัวละครหนึ่งที่ฉันชอบมาก ๆ เลย พอประวัติศาสตร์ออกมาว่าเขาอาจจะเป็นชู้รักของพระนางก็ได้ ฉันก็เสียดายหน่อย ๆ

ขอเก็บเซนมุตตามจินตนาการในนิยายก็แล้วกัน

 

Don`t copy text!